มะม่วงเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับสังคมชนบทในสมัยก่อน เพราะปลูกง่าย ทนแล้ง ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ยิ่งมะม่วงพื้นบ้าน เช่น แก้ว พิมเสน อกร่อง ทองดำ หนังกลางวัน แรด หัวเงน แก้มแหม่ม แก้วลืมคอน หอมทุเรียน กระบอก สำปั้น ปลาซิว ขี้ซี สามฤดู มีสารพัดสายพันธุ์จนนับไม่หวาดไม่ไหว แต่ละพันธุ์มีกลิ่นรสแตกต่างกันออกไป มะม่วงยังเป็นต้นไม้อายุยืนยาว ปลูกรุ่นทวดรุ่นเหลนยังได้กิน ทนทานจริงๆ จะมีก็แต่กาฝาก ถ้าต้นแก่ๆ เปลือกหนาๆ กาฝากก็ยังเจาะไม่ลง

กาฝากมะม่วงนั้นนิยมเอาไปทำยา โดยเอาไปตากแห้งเก็บไว้ต้มกินเป็นยา แรกๆ ยังไม่มีความรู้ว่าทำไมจึงเป็นยา ต่อมาพ่อหมอยาสอนว่ากาฝากมะม่วงนี้ดีนัก มะม่วงมีสรรพคุณอะไร สรรพคุณพวกนั้นก็ถูกกาฝากดูดมาอยู่ในตัวหมด ตั้งแต่เป็นยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวดเมื่อยยาบำรุงร่างกาย ป้องกันโรคภัยได้สารพัด ถ้าเป็นตามคำของหมอยาพื้นบ้านก็หมายความว่า ถ้ากาฝากต้นไม้ชนิดหนึ่งมีสรรพคุณอะไร ก็เชื่อมโยงไปได้ว่าต้นไม้ชนิดนั้นน่าจะมีสรรพคุณเช่นเดียวกัน แต่บ้านเราไม่ค่อยใช้กิ่ง ใบ ต้น หรือรากของมะม่วงเป็นยา นิยมใช้กาฝากมากกว่าโดยเฉพาะกาฝากมะม่วงกะล่อน เดี๋ยวนี้กาฝากมะม่วงหายากขึ้น ถ้าหากาฝากไม่ได้ ก็ใช้กิ่งใบของมะม่วงแก้ขัดได้

มะม่วง ผลไม้สุขภาพดี มีรสชาติ

มะม่วงเป็นผลไม้ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของชีวิตเด็กบ้านนอก เมื่อใดที่ลมฝนพัดมาเด็กๆ จะคว้าตะกร้าวิ่งไปที่ต้นมะม่วงกะล่อนสูงใหญ่ที่บริเวณหัวไร่ปลายนา คอยเก็บลูกที่ร่วงเอามากวน เวลากวนมะม่วงกะล่อนจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน มะม่วงหลักๆ ที่ปลูกไว้ทุกบ้านคือ แก้ว พิมเสน และอกร่อง พันธุ์อื่นๆ อาจจะเบี้ยวออกปีเว้นปีบ้าง แต่สามพันธุ์นี้มาตามนัดตลอด อกร่องบางปีลูกอาจจะน้อย แต่ก็มาอยู่ดี

มะม่วงแก้วกินได้หลายแบบ ดิบก็ไม่เปรี้ยวมาก กินกับน้ำปลาหวานอร่อย และอร่อยสุดตอนสุกปากตะกร้อ ต้องกินเดี๋ยวนั้น กรอบข้างนอกหวานข้างใน คนสมัยใหม่ไม่มีทางรู้ มะม่วงแก้วจะเอามาดองเก็บไว้กินได้ทั้งปี แต่ถ้าเอามากวนจะแข็งมาก ส่วนพิมเสนกินดิบเปรี้ยวจี๊ด เอาไว้กินสุก หรือควรเก็บไว้กินแต่ไม่อยู่ตลอดปี เพราะกินหมดก่อน

ส่วนอกร่องกินดิบไม่อร่อย กวนก็ไม่อร่อย เนื้อเป็นทรายๆ ต้องกินกับข้าวเหนียวมูล ข้าวเหนียวมะม่วงอกร่องนี้นับเป็นสุดยอดของอร่อยอย่างหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ไม่ใช่ความอร่อยอย่างเดียวที่ทำให้อาหารหวานตำรับนี้น่าทึ่ง แต่กะทิที่ใส่ลงไปยังช่วยในการดูดซึมเบต้าแคโรทีนที่มีอยู่อย่างมากมายในมะม่วงด้วย ตำรับของว่างที่สุดยอดอีกอย่างของบ้านเรา คือมะม่วงน้ำปลาหวาน ถ้ารวบรวมจริงๆ คงมีหลายสิบหรือเป็นร้อยสูตรเลยทีเดียว แค่คิดถึงก็น้ำลายสอแล้ว

กินมะม่วง หายห่วงเรื่องท้องไส้

มะม่วงอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยมานานจนกลายเป็นผลไม้ธรรมดา แต่ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ต้องหันมามองมะม่วงในมุมใหม่ มีงานวิจัยที่ศึกษามะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ยืนยันตรงกันว่า มะม่วงมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (prebiotics) คือเป็นอาหารอย่างดีสำหรับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการใช้มะม่วงเป็นแหล่งให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ หรือเป็นอาหารสุขภาพให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและมะเร็งได้

พรีไบโอติกส์มีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล ไขมัน ช่วยดูดซับสารพิษ และเป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ ทำให้จุลินทรีย์ดีเหล่านี้แข็งแรง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ กำจัดสารพิษ สร้างวิตามินต่างๆ คงเป็นเพราะเหตุนี้เองเด็กบ้านนอกที่โตมากับดินกับทรายเมื่อ 40-50 ปีก่อนจึงไม่รู้จักกับโรคภูมิแพ้ ท้องไส้ไม่ค่อยผูก เพราะกินผักผลไม้มากมาย ถ้าท้องผูกจริงๆ ก็กินมะม่วงอ่อนจิ้มพริกเกลือกินดื่มน้ำตามลงไปมากๆ หรือกินมะม่วงสุกสัก 2-3 ลูก หรือไปเอามะม่วงกวนที่เก็บไว้ในปี๊บมาต้มน้ำกิน เติมน้ำมะขามให้เปรี้ยวนิดๆ ก็ช่วยได้แล้ว

คนโบราณเชื่อว่ามะม่วงสุกจะช่วยคนที่ธาตุอ่อนการย่อยไม่แข็งแรง รักษาริดสีดวงลำไส้ที่ทำให้ท้องเสียบ่อยๆ ถ่ายไม่เป็นเวลา ท้องลั่นท้องลม หากกินมะม่วงจะช่วยได้ ส่วนมะม่วงดิบนอกจากช่วยย่อยอาหารและช่วยระบายแล้ว ยังลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องได้อีกด้วย ในขณะที่การวิจัยสมัยใหม่พบว่า สารแมงจิเฟอริน (magiferin) ที่พบทุกส่วนของมะม่วงมีคุณสมบัติในการป้องกันผนังกระเพาะไม่ให้ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์และยาแก้อักเสบอินโดเมธาซิน (indomethacin) และมีรายงานว่าสารต้านมะเร็งจากมะม่วงมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านมได้

มะม่วง ผลไม้เป็นยา เห็นคุณค่าทั่วโลก

คนหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้กินมะม่วงเป็นแค่ผลไม้ แต่ยังใช้สรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ชาวอินเดียเชื่อว่าการรับประทานมะม่วงช่วยในการขับถ่าย ขับปัสสาวะ กระตุ้นกำหนัด ทำให้สดชื่น ชาวเซเนกัลก็เชื่อเหมือนกันว่ากินมะม่วงจะทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา ส่วนชาวปานามากินมะม่วงสุกเป็นยาช่วยระบายเหมือนๆ คนไทย สรรพคุณข้อนี้ได้รับการยืนยันจากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงซึ่งพบว่าอุดมไปด้วยใยอาหารที่เป็นพรีไบโอติกส์ วิตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในมะม่วง 100 กรัม จะมีวิตามินเอถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณที่คนเราควรได้รับต่อวัน วิตามินเอจะช่วยสร้างเยื่อบุและเซลล์ของผิวหนัง บำรุงปอด และผิว นอกจากนี้ยังอุดมด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 1 ซึ่งช่วยบำรุงประสาท และมีวิตามินอีอยู่ไม่น้อย ซึ่งช่วยในการปรับระดับฮอร์โมนของผู้หญิง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนสมัยก่อนเวลาเลือดลมจะมาเขาให้กินมะม่วงกวน ราวกับรู้ว่าในมะม่วงมีวิตามินอีอย่างนั้นแหละ

การศึกษาวิจัยประโยชน์ทางยาของมะม่วงส่วนใหญ่มุ่งไปที่คุณสมบัติของสารสำคัญที่พบในมะม่วงคือ สารแมงจิเฟอรินที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งพบในทุกส่วนของมะม่วง แต่มีมากในใบ เปลือกต้น เปลือกผล สารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน บำรุงหัวใจ ลดความดัน ต้านเบาหวาน ชะลอความชรา ต้านการอักเสบ แก้ปวด เป็นต้น ปัจจุบันประเทศคิวบามีการสกัดสารจากเปลือกต้นมะม่วงออกมาจำหน่ายเป็นอาหารเสริมในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต่างๆของร่างกาย

ในอินเดียและหลายประเทศในแอฟริกามีการใช้ส่วนต่างๆ ของมะม่วงเป็นยากันอย่างแพร่หลาย คนแอฟริกันจะใช้เปลือกต้นมะม่วงต้มกินเป็นยาแก้อักเสบ แก้ปวดและเบาหวาน ส่วนในอินเดียซึ่งมะม่วงเป็นผลไม้ประจำชาติเหมือนกับฟิลิปปินส์นั้น ใช้มะม่วงเป็นยาทุกส่วน เช่น ใบมะม่วงใช้เป็นยาลดน้ำตาล เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเสียง ซึ่งเป็นสรรพคุณที่คล้ายกับบ้านเรา แม้ว่าคนไทยจะนิยมใช้กาฝากมะม่วงมากกว่า แต่ก็มีบางท้องที่นำใบมะม่วงอ่อนมาอังไฟให้กรอบ ชงน้ำร้อนแบบชาวจีนเป็นยาบำรุงร่างกาย ลดความดัน ลดเบาหวาน หรือแก้เสียงแหบแห้งด้วยการนำใบมะม่วงอ่อนมาต้มน้ำกิน นอกจากนี้ยังใช้มะม่วงทั้งห้าต้มกินเพื่อลดความดัน ส่วนเปลือกมะม่วงจะนำมาต้มกินแก้ท้องเสีย บางแห่งเก็บเปลือกผลมะม่วงนำมาตากแห้งชงน้ำกินเพื่อทำให้ชุ่มคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

มะม่วง เครื่องสำอางชั้นดีราคาประหยัด

มะม่วงใช้เป็นเครื่องสำอางได้ดี มีคุณสมบัติไม่แพ้เครื่องสำอางราคาแพงๆ วิธีใช้คือ นำมะม่วงสุกพอกหน้าไว้เท่านั้นเอง หรือนำไปปั่นให้เหลวเพื่อทาหน้าก็ได้ คุณสมบัติในการบำรุงผิวนี้เกิดจากการที่มะม่วงมีวิตามินซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง คือมีมากกว่ามะนาวถึง 3 เท่า และมีคุณสมบัติในการทำให้ผิวหน้าเรียบลื่นนุ่มชุ่มชื้น ในมะม่วงยังมีสารจำพวกน้ำตาลร่วมกับพวกกรดอะมิโนที่ช่วยคงความชุ่มชื้นไว้ที่ชั้นของผิวหนัง วิตามินเอและซีในมะม่วงยังช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว ลบรอยเหี่ยวย่นได้ดี ถ้าอยากสวยอย่างง่ายๆ ก็เพียงแต่เอามะม่วงสุกหนึ่งลูกปั่นแล้วนำมาพอกหน้า ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง สูตรนี้จะช่วยทำให้ผิวหน้าสดใส อ่อนเยาว์ได้จริงๆ ไม่ได้โฆษณาเกินจริงเหมือนโฆษณาหน้าเด้ง

ยำยอดมะม่วงอ่อน

ส่วนประกอบ

ยอดมะม่วงอ่อน ปลากระป๋อง หรือมะเขือเทศที่ผัดจนเปื่อยกับเนื้อปลาย่าง ดีปลีแห้ง พริกแห้ง ปลาแห้ง เกลือ

วิธีทำ

เก็บใบมะม่วงอ่อนมาผึ่งให้สลด พักไว้ ทำเครื่องยำโดยนำดีปลีแห้ง พริกแห้ง ปลาแห้ง ตำให้ละเอียดเข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ พักไว้ นำใบมะม่วงที่สลดดีแล้วมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ใส่ปลากระป๋องหรือมะเขือเทศที่ผัดจนเปื่อยกับเนื้อปลาย่างลงไป ปรุงรสด้วยเครื่องยำที่เราตำไว้แล้วชิมรสตามชอบ

 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN

กระแสละครบุพเพสันนิวาส ฮิตไม่เลิก พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น. ให้บริการแต่งชุดไทยฟรี ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถือโอกาสทองเร่งบูรณะ จัดโครงการต่อเนื่องสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำหนังสือรวบรวมพันธุ์ไม้ในวังที่ปลูกสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นางนิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ให้สัมภาษณ์ “มติชนอคาเดมี” ว่า จากกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ มีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์อย่างมากในขณะนี้

โดยเฉพาะชาวไทย สิ่งหนึ่งที่ สังเกตเห็นและเป็นความภาคภูมิใจ คือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยนิสิต นักศึกษา นักเรียน วัยหนุ่มสาว ต่างให้ความสนใจค่อนข้างมากกว่าเดิม ผิดกว่าแต่ก่อนที่มักมากับทางโรงเรียนหรืออาจารย์พามา และยังแต่งชุดไทยมาเที่ยวกันแบบไม่เคอะเขิน

นิภา สังคนาคินทร์

นางนิภากล่าวว่า ใครที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ตอนนี้ มีกิจกรรมให้บริการชุดไทยสวมใส่ฟรี พร้อมเครื่องประดับครบครัน โดยมีไว้บริการถึง 200 ชุด ซักรีดไว้เรียบร้อย จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการ ทั้งจากจังหวัดและบุคลากรของพิพิธภัณฑ์มาช่วยแต่งตัวให้กับนักท่องเที่ยว สอนวิธีนุ่งห่มแบบไทย อีกทั้งยังจัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้เพิ่มมากขึ้นให้พอเพียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย

บริการชุดไทยฟรี

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวมากันทุกกลุ่ม เป็นอิทธิพลของละคร พอมีละครขึ้นมาคนก็อยากเข้าไปติดตามหาดูพื้นที่จริง อยากรู้ข้อเท็จจริง เมื่อก่อนนี้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1,000 คนเศษๆ แต่ตอนนี้ตัวเลขเพิ่ม 4-5 เท่าตัว เป็นมากกว่า 10,000 คน ถือว่าเยอะมาก ดังนั้น ทางเราจึงขยายเวลาเข้าชมวังนารายณ์ออกไป จากเดิมปิด 16.00 น. เป็น 18.30 น.  และถ้ายังมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวยังมากขึ้น ก็อาจจะขยายเวลาออกไปถึง 19.30 น.” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว และว่า คนที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ นอกจากมาดูนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระที่นั่งจันทรพิศาลแล้ว ยังได้รับความสนใจจากผู้คนมาตามหาดูสิ่งที่กล่าวในละคร เช่น ตึกพระเจ้าเหา ท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นต้น

พระที่นั่งจันทรพิศาล

นางนิภากล่าวต่อว่า ไม่อยากเห็นว่าพอละครจบ กิจกรรมต่างๆ ก็จบ แต่อยากให้มีกิจกรรมมาต่อยอด เพื่อความต่อเนื่องของผู้คนให้รักวัฒนธรรมไทย จึงมีโครงการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชน เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบของการเสวนา ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดเสวนาเรื่อง “ใครเป็นใครในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ซึ่งมี อาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ เป็นวิทยากร  และในเดือนเมษายนนี้จะมีกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในเมืองลพบุรี”

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เห็นว่าดีมากและอยากทำให้เป็นจริงและได้ผล ซึ่งถือโอกาสนี้ทำต่อเนื่อง คือการให้ความรู้สำหรับประชาชนในการเข้าชมโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ว่าเข้าชมอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม เป็นระเบียบและไม่ทำลายโบราณ หรือทำให้ชำรุดทรุดโทรม เช่น อย่าปืนป่าย ห้ามขูดขีดโบราณสถาน หรือการแต่งกายไม่เหมาะไม่ควร เพราะที่นี่เป็นพระราชวัง ต้องเป็นไปแบบเหมาะสมหรือถูกต้อง

ตึกพระประเทียบ

นางนิภากล่าวว่า โครงการหนึ่งที่กำลังดำเนินการในปีนี้ เป็นโครงการบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอยู่ทั้งหมด 8 หลัง เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในแง่ของงานพิพิธภัณฑ์ เช่น เป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ ปรับปรุงเป็นห้องศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุด ศูนย์ศึกษาเรื่องเมืองลพบุรี หรือเป็นอาคารจัดแสดงพิเศษของพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพราะในบริเวณวังนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานและเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่เราต้องพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยพิพิธภัณฑ์

“ตอนนี้ได้เริ่มบ้างแล้ว โดยใช้บางอาคารจัดนิทรรศการผลการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะว่าในเมืองลพบุรีมีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราเจอข้าวของในไซต์งานโบราณคดีเยอะมาก ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศึกษาร่วมกับชาวต่างชาติและนักวิชาการจากกรมศิลปากร เช่น ศึกษาร่วมกับอิตาลี มีข้อมูลข้าวของที่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็ถือโอกาสนี้ทำเสียเลย”

สำหรับในปี 2562 จะมีโครงการบูรณะอิฐเก่าตามโบราณสถานในวังนารายณ์ให้แข็งแรงคงทน และบูรณะอาคารต่างๆ ที่อยู่ในพระราชวัง ไม่ว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกเลี้ยงรับรองคณะราชทูต และอาคารทิมดาบซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เวลานี้ทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ เรื่องของพื้นที่โดยรอบพระราชวังก็ต้องพัฒนาคู่กันไป เพราะคนมาเที่ยวไม่ได้มาดูแแค่โบราณสถาน แต่ยังดูภูมิทัศน์ สิ่งแวลด้อม สนามหญ้าเขียวๆ ต้นไม้ใหญ่ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวังมาอย่างยาวนาน เช่น ต้นจัน ถือเป็น 1 ใน 65 ต้น ไม้ในโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณจากจังหวัดให้มีการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ต้นจันจำนวน 1,000 ต้น เพื่อแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้สำคัญ

ต้นจันอายุเกือบ 400 ปี

“ต้นจันที่เห็นในวังนารายณ์มีอายุเกือบ 400 ปีแล้ว เชื่อกันว่าปลูกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนนี้กำลังให้นักวิชการของกรมทรัพย์มาศึกษาให้ชัดเจนว่ามีอายุเท่าไหร่กันแน่ แต่เท่าที่พบหลักฐานอาศัยจากการเทียบเคียงภาพถ่ายต้นจันต้นนี้มาหลายยุคสมัย และศึกษาเปลือกของต้นไม้ พอจะเทียบเคียงได้ว่าอายุมากกว่า 300 ปี

และไม่ใช่เฉพาะต้นจัน ยังมีต้นไม้อื่นๆ อีกหลายต้น เช่น ต้นพิกุล จามจุรี ปีป มะเกลือ ฯลฯ ที่เกิดในวังนารายณ์และต้นใหญ่มาก จึงอยากเก็บองค์ความรู้เพื่อรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือร่วมกับโบราณสถานที่อยู่ในจ.ลพบุรี ให้ความรู้และทำเป็นผังเส้นทางเดินสำหรับคนชื่นชอบต้นไม้ ให้เห็นว่าถ้าท่านอยู่ ณ จุดนี้ ถ้าเดินไปทางซ้าย ไปทางขวาจะเจอกับต้นไม้อะไรบ้าง และมีคำอธิบายของต้นไม้เหล่านั้น ซึ่งที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องของต้นไม้ใหญ่ ไม่เฉพาะช่วยให้ความร่มรื่น หากแต่เป็นเสน่ห์ของวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์”นางนิภากล่าว

ทั้งนี้ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก โดยมีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงพระราชวังนี้ว่า “….นอกจากที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่” ในการก่อสร้างพระราชวัง และ พระตำหนักที่ลพบุรีในครั้งนั้น พิจารณาจากฝีมือการออกแบบและก่อสร้าง น่าจะเกิดจากการผสมผสานทั้งช่างชาวตะวันตก ช่างหลวงไทย และช่างจากเปอร์เซีย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมช่วงนี้มีความพิเศษและน่าอัศจรรย์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีถึง 8-9 เดือน ในหนึ่งปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านการปกครอง การค้า รวมทั้งด้านภาษา วรรณกรรม และสถาปัตยกรรม สมเด็จพระนารายณ์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศตลอดรัชสมัย

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

นอกจากพระที่นั่งและตึกต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์จะสวยงามและคงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำภาพอินโฟกราฟิกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับพลังงานในขนมไทย โดยใช้ภาพประกอบจากละครดังที่กำลังเป็นกระแสโด่งดัง อย่างละครบุพเพสันนิวาส โดยมีตองกีมาร์ หรือเท้าทองกีบม้า ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยขึ้นมา ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน และหม้อแกง ขึ้นมา จนได้รับได้รับฉายา ”ราชินีแห่งขนมไทย”

โดยสำนักโภชนาการระบุว่า ฝอยทอง 1 แพ เท่ากับ น้ำตาล 3 ช้อนชา ได้พลังงาน 220 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 3/4 แพ

เม็ดขนุน 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 1 ช้อนชา ได้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 2 เม็ด

ทองหยอด 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 1 ช้อนชา พลังงานที่ได้ 30 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 3 เม็ด

ทองหยิบ 1 ชิ้น เท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา พลังงานที่ได้ 60 กิโลแคลอรี ไม่ควรอร่อยเกิน 1-2 ชิ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์

ด้วยว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดบ้านอยู่ใกล้ตลาด ดังนั้น จึงมีโอกาสไปเดินตลาดในตอนเช้าๆ อยู่เป็นประจำ เวลาเช้าเป็นช่วงที่แม่ค้าพ่อค้าจากท้องไร่ท้องนานำสินค้าจำพวกผักผลไม้พื้นบ้านมาวางขาย มีทั้งผักสด ปลาที่จับมาได้ หอยหลากหลายชนิด และยังของกินแปลกๆ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็น เช่น ไข่ผำ หรือ อึ่งย่าง เป็นต้น มีอย่างหนึ่งที่เคยคิดว่าไม่น่านำมาขายได้ แต่ก็ขายได้ นั่นคือ “ลูกตำลึง” ที่บอกว่าไม่น่าขายได้ เพราะมันมักขึ้นเป็นพืชริมรั้ว บ้านไหนก็มีกันทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองออกจะหายากสักหน่อยไปเสียแล้ว

มาว่ากันเรื่องของ “ใบตำลึง” ก่อน ภาษาอังกฤษเขาใช้ “Ivy Gourd” มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชปลูกในเขตร้อน และยังเป็นพืชประจำถิ่นของไทยด้วย ในแต่ละท้องถิ่นเรียกชื่อต่างกันไป ตำลึงเป็นไม้เลื้อยมีมือลักษณะคล้ายหนวดเกาะจับ หรือเลื้อยเกาะไม้หลักหรือต้นไม้ใหญ่ ตระกูลเดียวกับบวบ น้ำเต้า และแตงร้าน มีสีเขียวจัด ตำลึงมีลำต้นเดี่ยว มีลักษณะกลมๆ เจริญเติบโตได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใช้ใบและยอดอ่อนรับประทาน โดยสามารถนำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้มากมาย หลากหลายเมนู อาทิ ผัดใบตำลึง แกงอ่อมใบตำลึง แกงเลียงใบตำลึง แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ฯลฯ

ตำลึงมี 2 ชนิด คือตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย

ตำลึงตัวผู้ จะมีใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจเว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวแฉก 5 แฉก ตำลึงตัวผู้ออกดอก แต่ไม่มีลูกเหมือนตัวเมีย ตำลึงตัวผู้นี้ ถ้าคนธาตุอ่อนกินเข้าไป อาจจะทำให้ท้องเสียได้ จึงไม่นิยมรับประทาน

ส่วน ตำลึงตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ แต่จะใหญ่สมบูรณ์ ไม่เว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวเช่นกัน แต่มีลูกอ่อนด้วย สีเขียวลายขาวคล้ายแตงกวา คนนิยมรับประทานตำลึงตัวเมียมากกว่า อีกทั้งยังถือว่าตำลึงเป็นพืชสมุนไพร มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา รักษาโรคต่างๆ ได้ครอบจักรวาล เพราะนอกเหนือจากเส้นใยอาหารแล้ว ยังมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ บี1 บี2 บี3 ช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซี ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีธาตุแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก และฟันให้แข็งแรง และฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคหลอดเลือดแข็ง ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบตัน และยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยกำจัดกลิ่นตัวกลิ่นเต่าอีกด้วย

สำหรับ “ผลตำลึง” หรือ “ลูกตำลึง” เป็นผลรีๆ คล้ายแตงกวาแต่เล็กกว่า ผิวเรียบ เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้มสวย ภายในมีเมล็ดมาก รสชาติขม ฝาด ขื่น นกกาชอบกินลูกตำลึงสุกมาก

การจะกินลูกตำลึงให้อร่อย เขามีวิธี ต้องตบให้แตกก่อนแล้วบีบเมล็ดทิ้งไป จากนั้นนำไปคั้นกับเกลือ ขยำ ๆ แล้วบีบน้ำทิ้ง ทำสัก 2-3 ครั้งล้างน้ำเปล่า จึงค่อยบีบให้แห้ง พักไว้ รอใส่ลงในแกง ไม่ว่าแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ได้หมด ใช้แทนมะเขือเปราะ ผลอ่อนของตำลึงยังสามารถนำมาทำแช่อิ่มได้อีก หรือดองเค็มอมเปรี้ยว ทำเป็นผักดอง ในการนำลูกตำลึงมาทำอาหารนั้นก็มีเคล็ดลับอยู่เหมือนกัน จะทำให้แกงลูกตำลึงอร่อย คือหลังจากทุบเอาเมล็ดออกล้างน้ำเกลือแล้ว ต้องแช่น้ำปูนใส เพื่อให้เนื้อไม่เละเวลานำไปแกง

รู้จักลูกตำลึงกันแล้ว มาลองทำสูตรอาหารจากลูกตำลึงกัน นั่นคือ “แกงคั่วลูกตำลึง” (สำหรับ 4 ที่)

ส่วนประกอบ

ลูกตำลึงอ่อน 35 ลูก
กุ้งชีแฮ้ 150 กรัม
หัวกะทิ 2 ถ้วย  หางกะทิ 3 1/2 ถ้วย
เกลือดเม็ดบด  2  1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

เครื่องแกง

พริกกะเหรี่ยงสีเขียว-แดง  100 กรัม
เกลือป่น  1 ช้อนชา
กระเทียมไทยกลีบเล็ก 100 กรัม
ข่าหั่นแว่น  2 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย 1/4 ถ้วย
ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 2 ช้อนชา
กระชายหั่น 1/4 ถ้วย  กะปิ  1 ช้อนโต๊ะ
ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว

วิธีทำ

1.ทำน้ำพริกแกงโดยโขลกพริกกะเหรี่ยง เกลือ กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด เข้าด้วยกัน ตำให้ละเอียด ใส่กระชายและกะปิโขลกต่อไป ตามด้วยเนื้อปลาทูนึ่งที่แกะแล้ว ใส่เข้าไปโขลกรวมกัน ให้โขลกอย่างละเอียดจนเข้ากันดี ตักใส่ถ้วย พักไว้

2.ล้างลูกตำลึง แล้วทุบให้แตก แคะเมล็ดออกให้มากที่สุด ใส่ลูกตำลึงในอ่างผสม เทเกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะลงไปแล้วขยำจนนุ่ม พยายามเอาเมล็ดในลูกตำลึงออกให้หมด เพราะเมล็ดตำลึงมีรสเฝื่อนและฝาด จากนั้นนำไปล้างหลายๆ น้ำให้สะอาด ใส่แช่ลงในอ่างน้ำปูนใสนาน 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง

3.นำกุ้งมาแกะเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ดึงเส้นดำออกโดยไม่ต้องผ่าหลัง ล้างให้สะอาด ใส่จานพักไว้

4.ใส่หัวกะทิและหางกะทิ 1 ถ้วยลงในกระทะ ตั้งบนไฟกลาง ใส่พริกแกงลงผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอม เมื่อเดือดสักครู่ ใส่ลูกตำลึงผัดให้ทั่ว เติมหางกะทิที่เหลือปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล คนให้ทั่ว ใส่กุ้ง พอกุ้งสุก ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ

เดี๋ยวนี้เวลาไปกินอาหารที่ร้านแล้วมีหน้าจอไว้คอยให้ทัชสกรีนสั่งอาหารได้เลย ไม่ต้องเรียกพนักงาน ก็ว่าทันสมัยแล้ว แต่นวัตกรรมในคลิปนี้เรียกได้ว่ายิ่งเพิ่มความไฮเทคมากขึ้นไปอีก

โดยในคลิปเป็นโต๊ะอัจฉริยะจากร้านพิซซ่าฮัท ที่จะเป็นประสบการณ์การสั่งอาหารในอนาคต ซึ่งโต๊ะดังกล่าวเป็นหน้าจอทัชสกรีน ที่ลูกค้าสามารถดีไซน์หน้าพิซซ่าได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้โต๊ะอัจฉริยะนี้ยังสามารถจดจำลูกค้าได้อย่างอัตโนมัติผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับโต๊ะ และที่เจ๋งคือลูกค้ายังสามารถเล่นเกมไปเพลินๆ ระหว่างรอพิซซ่าเสร็จได้อีกด้วย

ทั้งนี้ พิซซ่าฮัทกำลังทำงานร่วมกันกับ Chatoic Moon Studios ในการพัฒนาโต๊ะดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง

ชมคลิป

Interactive Smart Pizza Table

Order exactly what you want on your pizza with this interactive smart table!

โพสต์โดย Futurism Food เมื่อ วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2018

ลูกตะลิงปลิงก็ถือเป็นวัตถุดิบที่ทำได้หลากหลายเมนู เอามาต้มกะทิใส่ปลาสลิดเข้ากันมากทีเดียว เพราะมีทั้งรสเค็มจากปลาสลิด รสเปรี้ยวจากตะลิงปลิง รสหวานจากกะทิ รสเผ็ดนิดๆ จากพริก แต่ละรสนั้นไม่จัด เป็นรสนวลๆ เมื่อรวมรสกันแล้วกลมกล่อม

ปลาสลิดสมัยนี้มีรสเค็มอ่อนๆ และตากแดดไม่นาน ไม่เค็มและแห้งเหมือนสมัยก่อน เลือกอาตัวโตๆ จะได้มีเนื้อมากๆ กินแล้วเต็มปากเต็มคำ

ส่วนผสม

-ปลาสลิด

-กะทิ

-ตะลิงปลิง

-เกลือหรือน้ำปลา น้ำตาลโตนด

-ตะไคร้ หอมแดง พริกเหลือง

วิธีทำ

-ย่างปลาสลิด แล้วสับเป็นชิ้น

-เอาหม้อตั้งไฟ ใส่กะทิ ต้มกับตะไคร้ทุบ ใส่หอมแดงซอย ปรุงรสด้วยเกลือป่นหรือน้ำปลา และน้ำตาลโตนด ใส่ปลาสลิดและตะลิงปลิง ต้มให้เดือดเบาๆ สักครู่เป็นอันเสร็จ

 

จากหนังสือ ปลูกเองกินเอง เมนูอร่อยจากสวนครัวคนเมือง สนพ.มติชน

ที่ผ่านมาเราคงจะรู้อยู่แล้วว่า “ไมโครเวฟ” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่ไว้ใช้ให้ความร้อนแก่อาหาร แต่ไมโครเวฟในคลิปดังกล่าวนี้ไม่เหมือนไมโครเวฟแบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะเป็นไมโครเวฟที่สามารถ “แช่แข็ง” ได้ด้วย!

โดยบริษัทที่คิดค้นไมโครเวฟดังกล่าวคือบริษัท Frigondas ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยไมโครเวฟนี้สามารถแช่เครื่องดื่มให้เย็นได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

นอกจากนี้ ความพิเศษของไมโครเวฟนี้คือสามารถทำความเย็นได้เร็วกว่าช่องแช่แข็งปกติถึง 15 เท่า โดยแก่นแท้ของไอเดียนี้เป็นการผสมผสานระหว่างไมโครเวฟและตู้แช่แข็ง (blast chiller) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พบได้ทั่วไปในครัวระดับโปรเฟสชั่นแนล ซึ่งเชฟหลายคนจะชอบใช้ เพราะสามารถแช่ฟรีซอาหารได้โดยไม่ดึงน้ำออก ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เมื่อนำอาหารออกมาละลายแล้ว อาหารยังมีรสชาติสดใหม่

อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วตามบ้านเรือนทั่วไปก็ไม่ได้ใช้ตู้แช่แข็งนี้ เนื่องจากมีขนาดใหญ่มากและการใช้งานยุ่งยาก แต่การผสมผสานระหว่างตู้แช่แข็งกับไมโครเวฟ ทำให้ครัวในบ้านทั่วไปสามารถใช้ได้

ชมคลิป

Futuristic microwave also freezes food

Your next microwave will double as a freezer.

โพสต์โดย State of the Carte เมื่อ วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2018

แกงหมูชะมวงของขึ้นชื่อเมืองชายทะเลตะวันออก แกงนี้จะทำได้ต่อเมื่อมีใบชะมวง ใบชะมวงเลือกเอาใบเพสลาดไม่แก่ไม่อ่อน หากหาใบชะมวงไม่ได้จริงๆ ใช้ใบมะขามต้นแทนได้ เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน ใบมีรสเปรี้ยวเหมือนกัน

ส่วนผสม

-ขาหมู

-หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ พริกชี้ฟ้าแห้ง กะปิ

-น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลอ้อย ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส น้ำปลา

วิธีทำ

-ต้มขาหมูให้นุ่ม

-ซอยข่าและตะไคร้

-คั่วข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม พริกแห้ง คำเครื่องแกง

-ฉีกใบชะมวงเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วขยี้เพื่อให้เปรี้ยว

-ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใส่พริกแกงลงผัดให้หอม ตามด้วยขาหมูต้ม ปรุงรสด้วยซอส น้ำตาลปี๊บ ใส่ใบชะมวง ผัดให้เข้ากัน ถ่ายใส่หม้อ เติมน้ำต้มขาหมูต้มจนเข้าเนื้อกันดี

 

จากหนังสือ ปลูกเองกินเอง เมนูอร่อยจากสวนครัวคนเมือง สนพ.มติชน

ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เอาใจนักชิม จัดงาน “Helix Dining Sawasdee Songkran 2018” คัดสรรอาหารไทยคาวหวานหาทานยาก ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอาหารไทยโบราณรวมถึงเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทย ตั้งแต่ วันที่ 13-16 เมษายน ศกนี้ ณ โซน ฮีลิกซ์ ชั้น 5 ถึง ชั้น 7 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยรวบรวมร้านอร่อยมากมายมาไว้ภายในงาน อาทิ

ล่าเตียง

“ล่าเตียงคิดเตียงน้อง นอนเตียงทองทำเมืองบน
ลดหลั่นชั้นชอบกล ยลอยากนิทรคิดแนบนอน”

กาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึง “ล่าเตียง” ของว่างไทยที่มีมาแต่โบราณ ล่าเตียงทำจากกุ้งสดสับปรุงรสด้วยเครื่องเทศไทย ห่อด้วยไข่ที่ทำเป็นแพตาข่าย
เมี่ยงดอกบัว


เมี่ยงดอกบัว
เป็นของว่างสมุนไพรของไทยซึ่งถูกดัดแปลงจากเมี่ยงคำที่รับประทานโดยทั่วไป
แต่ขนมไทยยายทวดเลือกใช้กลีบบัวแทนใบชะพลู ทำให้ได้รับรสชาติและความหอมจากกลีบดอกบัวซึ่งแตกต่างไปจากเดิม เครื่องเมี่ยงประกอบด้วย กุ้งแห้งอย่างดี ถั่วลิสงคั่ว ขิง หอมแดง มะนาว พริกขี้หนู และมะพร้าวคั่ว รับประทานกับน้ำเมี่ยงปรุงรสหวานเค็ม


แตงโมปลาแห้ง
ของว่างไทยยามบ่ายที่ให้ความสดชื่นคลายร้อน แตงโมเป็นผลไม้ฤดูร้อนเสิร์ฟพร้อมหน้า
ปลาแห้ง ซึ่งทำจากเนื้อปลาช่อนแห้งบดละเอียดและคั่วจนกระทั้งกลิ่นหอม ผสมเข้ากับน้ำตาลทรายและหอมแดงทอด ถึงแม้ว่าแตงโมปลาแห้งหารับประทานยาก แต่ยังคงเป็นของว่างที่ถูกนึกถึงเสมอในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย


ดาวล้อมเดือน
เป็นขนมไทยโบราณ ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมสีธรรมชาติ
เช่น ใบเตย อัญชัน ฟักทอง แครอท เผือก เป็นต้น และสอดไส้ด้วยถั่วเหลืองกวนที่ให้รสชาติหวานเค็มคล้ายไส้ของขนมเทียน เสิร์ฟในน้ำกะทิและโรยหน้าด้วยงาคั่ว ทำให้ดาวล้อมเดือนมีความหวานมันและหอมน่ารับประทาน

นอกเหนือจากชิมอาหารรสเลิศแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป, สาธิตการทำบุหงารำไปสด ด้วยดอกไม้ไทยนานาชนิดพร้อมน้ำปรุง, Workshop การทำปลาตะเพียน, Workshop การสานพัดไทย พร้อมชมขบวนพาเหรดอนุรักษ์ความเป็นไทย ตั้งแต่ วันที่ 13-16 เมษายน ศกนี้ ณ โซน ฮีลิกซ์ ชั้น 5 ถึง ชั้น 7 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์    

อีกหนึ่งเรื่องที่คนมักจะนึกถึงเวลาพูดถึงเรื่องโลกอนาคตก็คือ “การนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทนคน” ตั้งแต่ในระดับครัวเรือนไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม

โดยในคลิปวิดีโอดังกล่าว ถือเป็น “ครัวหุ่นยนต์” เต็มรูปแบบครัวแรกของโลก ที่จะมีแขนหุ่นยนต์ 1 คู่ คอยปรุงเมนูโปรดไว้ให้เราได้กิน เพียงแค่ผู้ใช้เลือกเมนูด้วยการแตะที่หน้าจอทีชสกรีนหรือบนแอปพลิเคชั่น

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวผ่านการเรียนรู้จากเชฟระดับมืออาชีพที่ถูกถ่ายทำการทำอาหารแบบสามมิติ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้หุ่นยนต์สามารถทำอาหารได้เหมือนที่เชฟทำอย่างไม่มีผิดเพี้ยน

สำหรับ “ครัวหุ่นยนต์” นี้จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในปี 2018

ชมคลิป

Step into a fully robotic kitchen

Fully robotic kitchens may become our chefs.

โพสต์โดย State of the Carte เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2018