กระแสออเจ้าฮิตไม่เลิก พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึงทุ่มครึ่ง

Journal ข่าวสาร

กระแสละครบุพเพสันนิวาส ฮิตไม่เลิก พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น. ให้บริการแต่งชุดไทยฟรี ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถือโอกาสทองเร่งบูรณะ จัดโครงการต่อเนื่องสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำหนังสือรวบรวมพันธุ์ไม้ในวังที่ปลูกสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นางนิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ให้สัมภาษณ์ “มติชนอคาเดมี” ว่า จากกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ มีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์อย่างมากในขณะนี้

โดยเฉพาะชาวไทย สิ่งหนึ่งที่ สังเกตเห็นและเป็นความภาคภูมิใจ คือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยนิสิต นักศึกษา นักเรียน วัยหนุ่มสาว ต่างให้ความสนใจค่อนข้างมากกว่าเดิม ผิดกว่าแต่ก่อนที่มักมากับทางโรงเรียนหรืออาจารย์พามา และยังแต่งชุดไทยมาเที่ยวกันแบบไม่เคอะเขิน

นิภา สังคนาคินทร์

นางนิภากล่าวว่า ใครที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ตอนนี้ มีกิจกรรมให้บริการชุดไทยสวมใส่ฟรี พร้อมเครื่องประดับครบครัน โดยมีไว้บริการถึง 200 ชุด ซักรีดไว้เรียบร้อย จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการ ทั้งจากจังหวัดและบุคลากรของพิพิธภัณฑ์มาช่วยแต่งตัวให้กับนักท่องเที่ยว สอนวิธีนุ่งห่มแบบไทย อีกทั้งยังจัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้เพิ่มมากขึ้นให้พอเพียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย

บริการชุดไทยฟรี

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวมากันทุกกลุ่ม เป็นอิทธิพลของละคร พอมีละครขึ้นมาคนก็อยากเข้าไปติดตามหาดูพื้นที่จริง อยากรู้ข้อเท็จจริง เมื่อก่อนนี้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1,000 คนเศษๆ แต่ตอนนี้ตัวเลขเพิ่ม 4-5 เท่าตัว เป็นมากกว่า 10,000 คน ถือว่าเยอะมาก ดังนั้น ทางเราจึงขยายเวลาเข้าชมวังนารายณ์ออกไป จากเดิมปิด 16.00 น. เป็น 18.30 น.  และถ้ายังมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวยังมากขึ้น ก็อาจจะขยายเวลาออกไปถึง 19.30 น.” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว และว่า คนที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ นอกจากมาดูนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระที่นั่งจันทรพิศาลแล้ว ยังได้รับความสนใจจากผู้คนมาตามหาดูสิ่งที่กล่าวในละคร เช่น ตึกพระเจ้าเหา ท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นต้น

พระที่นั่งจันทรพิศาล

นางนิภากล่าวต่อว่า ไม่อยากเห็นว่าพอละครจบ กิจกรรมต่างๆ ก็จบ แต่อยากให้มีกิจกรรมมาต่อยอด เพื่อความต่อเนื่องของผู้คนให้รักวัฒนธรรมไทย จึงมีโครงการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชน เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบของการเสวนา ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดเสวนาเรื่อง “ใครเป็นใครในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ซึ่งมี อาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ เป็นวิทยากร  และในเดือนเมษายนนี้จะมีกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในเมืองลพบุรี”

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เห็นว่าดีมากและอยากทำให้เป็นจริงและได้ผล ซึ่งถือโอกาสนี้ทำต่อเนื่อง คือการให้ความรู้สำหรับประชาชนในการเข้าชมโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ว่าเข้าชมอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม เป็นระเบียบและไม่ทำลายโบราณ หรือทำให้ชำรุดทรุดโทรม เช่น อย่าปืนป่าย ห้ามขูดขีดโบราณสถาน หรือการแต่งกายไม่เหมาะไม่ควร เพราะที่นี่เป็นพระราชวัง ต้องเป็นไปแบบเหมาะสมหรือถูกต้อง

ตึกพระประเทียบ

นางนิภากล่าวว่า โครงการหนึ่งที่กำลังดำเนินการในปีนี้ เป็นโครงการบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอยู่ทั้งหมด 8 หลัง เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในแง่ของงานพิพิธภัณฑ์ เช่น เป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ ปรับปรุงเป็นห้องศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุด ศูนย์ศึกษาเรื่องเมืองลพบุรี หรือเป็นอาคารจัดแสดงพิเศษของพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพราะในบริเวณวังนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานและเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่เราต้องพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยพิพิธภัณฑ์

“ตอนนี้ได้เริ่มบ้างแล้ว โดยใช้บางอาคารจัดนิทรรศการผลการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะว่าในเมืองลพบุรีมีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราเจอข้าวของในไซต์งานโบราณคดีเยอะมาก ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศึกษาร่วมกับชาวต่างชาติและนักวิชาการจากกรมศิลปากร เช่น ศึกษาร่วมกับอิตาลี มีข้อมูลข้าวของที่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็ถือโอกาสนี้ทำเสียเลย”

สำหรับในปี 2562 จะมีโครงการบูรณะอิฐเก่าตามโบราณสถานในวังนารายณ์ให้แข็งแรงคงทน และบูรณะอาคารต่างๆ ที่อยู่ในพระราชวัง ไม่ว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกเลี้ยงรับรองคณะราชทูต และอาคารทิมดาบซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เวลานี้ทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ เรื่องของพื้นที่โดยรอบพระราชวังก็ต้องพัฒนาคู่กันไป เพราะคนมาเที่ยวไม่ได้มาดูแแค่โบราณสถาน แต่ยังดูภูมิทัศน์ สิ่งแวลด้อม สนามหญ้าเขียวๆ ต้นไม้ใหญ่ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวังมาอย่างยาวนาน เช่น ต้นจัน ถือเป็น 1 ใน 65 ต้น ไม้ในโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณจากจังหวัดให้มีการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ต้นจันจำนวน 1,000 ต้น เพื่อแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้สำคัญ

ต้นจันอายุเกือบ 400 ปี

“ต้นจันที่เห็นในวังนารายณ์มีอายุเกือบ 400 ปีแล้ว เชื่อกันว่าปลูกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนนี้กำลังให้นักวิชการของกรมทรัพย์มาศึกษาให้ชัดเจนว่ามีอายุเท่าไหร่กันแน่ แต่เท่าที่พบหลักฐานอาศัยจากการเทียบเคียงภาพถ่ายต้นจันต้นนี้มาหลายยุคสมัย และศึกษาเปลือกของต้นไม้ พอจะเทียบเคียงได้ว่าอายุมากกว่า 300 ปี

และไม่ใช่เฉพาะต้นจัน ยังมีต้นไม้อื่นๆ อีกหลายต้น เช่น ต้นพิกุล จามจุรี ปีป มะเกลือ ฯลฯ ที่เกิดในวังนารายณ์และต้นใหญ่มาก จึงอยากเก็บองค์ความรู้เพื่อรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือร่วมกับโบราณสถานที่อยู่ในจ.ลพบุรี ให้ความรู้และทำเป็นผังเส้นทางเดินสำหรับคนชื่นชอบต้นไม้ ให้เห็นว่าถ้าท่านอยู่ ณ จุดนี้ ถ้าเดินไปทางซ้าย ไปทางขวาจะเจอกับต้นไม้อะไรบ้าง และมีคำอธิบายของต้นไม้เหล่านั้น ซึ่งที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องของต้นไม้ใหญ่ ไม่เฉพาะช่วยให้ความร่มรื่น หากแต่เป็นเสน่ห์ของวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์”นางนิภากล่าว

ทั้งนี้ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก โดยมีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงพระราชวังนี้ว่า “….นอกจากที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่” ในการก่อสร้างพระราชวัง และ พระตำหนักที่ลพบุรีในครั้งนั้น พิจารณาจากฝีมือการออกแบบและก่อสร้าง น่าจะเกิดจากการผสมผสานทั้งช่างชาวตะวันตก ช่างหลวงไทย และช่างจากเปอร์เซีย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมช่วงนี้มีความพิเศษและน่าอัศจรรย์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีถึง 8-9 เดือน ในหนึ่งปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านการปกครอง การค้า รวมทั้งด้านภาษา วรรณกรรม และสถาปัตยกรรม สมเด็จพระนารายณ์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศตลอดรัชสมัย

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

นอกจากพระที่นั่งและตึกต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์จะสวยงามและคงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง