อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญกับประเทศไทย ทั้งในมิติของการจ้างแรงงานจำนวนมาก และสร้างรายได้จากการส่งออก ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รวมบริการ การทดสอบเพื่อขอการรับรองเครื่องหมายแสดงมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอในด้านความปลอดภัย (S-MARK), การรับรองเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag), การรับรองเครื่องหมาย Smart Fabric ภายใต้มาตรการ “SME ปัง! ตังได้คืน” เพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ และการสร้างจุดขายให้กับสินค้า เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด รวมถึงเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

S-MARK หรือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอในด้านความปลอดภัย เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่จัดจำหน่ายภายในประเทศ เช่น ผ้า/ชุดผจญเพลิง ชุดป้องกันความร้อนและเปลวไฟ   ชุดป้องกันไฟฟ้าสถิต ผ้าม่านในอาคารและรถโดยสาร ผ้าบุตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ หน้ากาก และถุงมือ ฯลฯ

Thailand Textiles Tag หรือ เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการพัฒนาคุณภาพโดยผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล ถือเป็นฉลากที่รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ ที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) ที่มีคุณภาพ โดยผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล

Smart Fabric หรือ เครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย ที่แสดงถึงการผลิตสิ่งทอที่ได้ผ่านการรับรอง Smart Fabric เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล แบ่งออกเป็น 4 ฉลาก  ได้แก่ 1. ฉลากคุณภาพสิ่งทอและความปลอดภัยจากสีและสารเคมีอันตราย 2. ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีสมบัติพิเศษ 3. ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4. ฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า

สำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอการมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพปรากฏอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ถือเป็นการสร้างจุดขายให้กับสินค้าและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด  ทำให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของลักษณะคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจน

ผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ ที่มีความสนใจพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอสู่สากล สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ได้ที่ https://bds.sme.go.th/Sme และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 1301, 0-2038-5858 หรือ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ OSS สสว. ในทุกจังหวัด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และชมรายละเอียดมาตรการ “SME ปัง! ตังได้คืน” ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=CVFRBQJOptk

 

#สสว #สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

#BDS #SMEปังตังได้คืน #SME #ส่งเสริมเข้าใจเข้าถึงความต้องการSME

#พัฒนาธุรกิจ #โอกาสทางธุรกิจ #เครื่องหมายรับรอง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ห้องวิภาวดี บอลรูม C ชั้น L โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)​แถลงข่าวเปิดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการSME  “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับโอกาสการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์  BDS

โดย สสว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้ผู้ประกอบการและร่วมจ่ายในอัตราร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอในการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ทาง  https://bds.sme.go.th/ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม อาทิ 1. กลุ่มท่องเที่ยว (Restart) เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อพลิกธุรกิจขานรับนโยบายเปิดประเทศ 2. กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food) รวมไปถึงผลิตยา และสมุนไพร 3. กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และ 4. กลุ่ม BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว กลุ่มเกษตรแปรรูป และการค้าและบริการอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 ราย มูลค่าที่สสว.ช่วยสนับสนุนในปี 2565 จำนวน  400 ล้านบาท  โดยคุณสมบัติของผู้สามารถเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลธรรมดาที่ยื่นจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับงบประมาณในการสนับสนุน สสว.แบ่งตามขนาดผลประกอบการ เป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อราย 1.วิสาหกิจรายย่อย รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2.วิสาหกิจขนาดย่อม(S) ในภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปี และในภาคอื่นๆรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี 3.วิสาหกิจขนาดย่อม SME พลัส ในภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และในภาคอื่นๆที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี

โดยหมวดค่าใช้จ่ายที่สนับสนุน อาทิ  1.หมวดพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอมาตรฐานใบอนุญาต การตรวจวิเคราะห์ประเมินต่างๆ สอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ  2.การพัฒนาช่องทางจำหน่ายและการตลาด เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความนิยม การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมกิจกรรมหรือส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่รวมการฝึกอบรม และ 3. การพัฒนาตลาดต่างประเทศ เช่น การส่งเสริมในการจัดทำแผน หรือกลยุทธ์ในการขยายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสร้างการรับรู้แบรนด์การส่งเสริมให้มีคู่ค้าในต่างประเทศ หรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ

นายวีระพงศ์ มาลัย กล่าวเปิดงานว่า ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบใหม่ โดย SME มีสิทธิเลือกในสิ่งที่ต้องการให้ช่วยสนับสนุนได้ตรงจุด บางคนผลิตสินค้าหลายปีอยากทำให้มาตรฐานสินค้าสูงขึ้น บางคนอาจเพิ่มช่องทางตลาดต่างประเทศ รวมถึง SME ขนาดเล็ก ในการพัฒนาสูตรอาหาร การขออนุญาตจาก อย. ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ก็สามารถขอรับบริการด้านนี้ โดยในภาวะวิกฤตช่วงนี้เราทราบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และอาจมีข้อจำกัดในการพัฒนาเพื่อการแข่งขันในตลาด โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยปรับแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆของธุรกิจ ได้ถูกจุดตามที่ผู้ประกอบการต้องการ และทำให้ผู้ประกอบการสามารถไปแข่งขันในตลาดได้ โดยเรามีกำหนดกรอบวงเงิน ประเภทกิจการ

“มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน คือ นอกจาก SME จะโตขึ้นจากการพัฒนาสินค้าบริการด้านมาตรฐานจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นจนปังแล้ว SME ก็ต้องได้เงินคืนด้วย วันนี้เราทราบว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องภาวะวิกฤต เราจึงช่วยอุดหนุนลดต้นทุน เป็นการได้เงินคืนสองต่อ คือ เงินได้คืน ต่อที่ 1 จากการที่ SME พัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนจาก สสว. 50 – 80% ไม่เกิน 200,000 บาท และเงินได้คืน ต่อที่ 2 คือ หลังจากที่ SME ได้รับการพัฒนาธุรกิจจากการที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ และได้กำไรรายได้จากการขายกลับมาสู่ธุรกิจ

“วันนี้เป็นการเปิดตัวมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน เต็มรูปแบบวันแรก ก่อนหน้านี้เรานำร่องในเฟสแรก เฉพาะในส่วนการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการ ในช่วงแรกๆผู้ประกอบการบางคนอาจมองว่ายุ่งยาก หรือไม่เข้าใจวิธีการว่าจะได้คืนอย่างไร วันนี้เรามีผู้ประกอบการที่ยื่นเข้ามาแล้ว 1,000 กว่าราย ได้รับการพิจารณาไปแล้ว 100 กว่าราย มาในวันนี้ทุกส่วนพร้อมแล้วเราจึงเพิ่มเรื่องการพัฒนาช่องทางตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศเข้ามาด้วย เพราะ SME หลายรายมองว่าเขาพร้อมแล้ว แต่ปัญหาคือเรื่องตลาดและช่องทาง โดยเกณฑ์ตลาดที่จะไปได้ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เราขอให้เป็นตลาดที่เป็นที่รู้จักและมีมานาน อย่างในไทยจะมี THAIFEX เป็นต้น

“นอกจากฝั่งผู้ประกอบการแล้ว เรายังมีฝั่งผู้ให้บริการทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญ กว่า 80 หน่วยงาน ที่ขึ้นบริการบนระบบแล้วกว่า 100 บริการ จะมาช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้ประกอบการ อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ อย. สมอ. เป็นต้น โดยบริการที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ บริการเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ บริการขออนุญาต อย. และบริการให้คำปรึกษาการจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น โดยหลังจากนี้ สสว. จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสและสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SME ของไทย”ผอ.สสว.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่ ผอ.สสว. กล่าวว่า จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 2 ปี โดยโครงการนี้อยากจะช่วย SME ที่แข็งแกร่งพอสมควรที่ยืนหยัดผ่านสถานการณ์โควิดมาได้จนถึงวันนี้ เพื่อให้เขาไปต่อได้ เขาจะเป็นทัพหน้าในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจ  เพราะฉะนั้น SME  6,000 รายนี้ เราอยากให้เป็นกลไกสำคัญที่เข้มแข็งเดินไปได้ มีการจ้างงาน พาซัพพลายเชนอื่นๆตามมา ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เราจะสตาร์ตประเทศ จากที่เราหยุดกันมาสักระยะ จะเห็นว่าเน้นไปเรื่องของการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง การแปรรูปอาหาร ร้านอาหาร ของที่ระลึก

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการ 1ราย สามารถขอเข้าร่วมมาตรการและใช้บริการได้มากกว่า 1 บริการหรือไม่ อาทิ การพัฒนามาตรฐานสินค้า กับ ช่องทางการตลาด ผอ.สสว. กล่าวว่า SME 1 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีสิทธิใช้บริการได้ 2 สิทธิ แต่ต้องอยู่ในวงเงินที่ สสว.อนุมัติ อย่างไรก็ดีในส่วนของ SME ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นของภาครัฐไปแล้ว จะไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับบริการและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) เพียง 3 ขั้นตอน คือ  1.ยืนยันตัวตนเป็นผู้ประกอบการตามคุณสมบัติที่โครงการระบุ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SMS และอีเมล  2.ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อได้รับการอนุมัติ  SME ต้องเลือกผู้ให้บริการที่สนใจ แล้วจึงจัดทำข้อเสนอการพัฒนาบนระบบ พร้อมแนบใบเสนอราคาตามแพ็กเกจที่เลือกมาบนระบบ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SME และอีเมล และ 3.ทำสัญญาข้อตกลงกับ สสว. และเริ่มการพัฒนากับหน่วยธุรกิจที่ได้เลือกไว้ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายที่ สสว. โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และ SME สามารถยื่นขอรับการพัฒนาได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และพัฒนาจนเสร็จสิ้นได้ถึง วันที่ 30 กันยายน 2565 โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือ โทร. 1301 หรือโทร. 0 22983190 หรือ 0 2298 3050 หรือติดต่อที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (ศูนย์ OSS ประจำจังหวัดทุกจังหวัด) 

สสว. ร่วมกับ มธ. ขับเคลื่อนกลยุทธ์อุตสาหกรรมบริการ จัดทำโครงการ “SME ปรับตัวรับมือ VUCA World (ภาคบริการ)” หนุนเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤต ด้วยนวัตกรรมการให้บริการ พร้อมรับมือทุกความผันผวนของสถานการณ์ จัดเต็มขบวนทัพกับกูรูมากฝีมือเสริมแกร่งให้เอสเอ็มอี

นายวชิระ แก้วกอ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เมื่อเกิดสภาวการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แนวโน้มยืดเยื้อของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 13 ปี ราคาน้ำมันที่ยังคงพุ่งสูงขึ้น คนไทยรายได้น้อย ในขณะที่หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ

นายวชิระ กล่าวอีกว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น ทำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญกับสถานการณ์ VUCA World อันได้แก่ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งถือเป็นสิ่งท้าทายให้ SME ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถแข่งขันและรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ จึงเกิดเป็นโครงการ “SME ปรับตัวรับมือ VUCA World (ภาคบริการ)” เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SME ในภาคการบริการ ที่เป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เราจึงได้ริเริ่ม
แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการในภาคบริการขึ้น โดยคำนึงถึงบริบทที่ผู้ประกอบการได้พบเจอในโลกที่เป็น VUCA World นี้ ซึ่งครั้งนี้ สสว. ได้ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ผ่านการเปิดโอกาสในการขยายศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เข้าร่วมอบรมและพัฒนาแผนธุรกิจ ตามบริบทของการแข่งขันและสภาเศรษฐกิจของภาคธุรกิจบริการภายใต้สถานการณ์ VUCA World เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการภายใต้รูปแบบ VUCA Proactive โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการ SME สามารถประกอบธุรกิจอย่างเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านกิจกรรมสร้างเครือข่าย (Networking) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในโครงการได้รู้จักกันเพื่อเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ และขยายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจหลังจากนี้ไป โดยผู้เข้าโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

นางสาวอรพรรณ คงมาลัย หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการทั้ง 38 กิจการ ต่างมีคุณลักษณะที่โดดเด่นเป็นของตนเอง ดังนั้นเราจึงต้องใช้เกณฑ์พิจารณาอย่างเป็นกลางในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจากกิจการมากกว่า 100 กิจการ โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ในเชิงการตลาด ความพร้อมด้านบุคลากร และศักยภาพที่จะต่อยอดหลังจากนี้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการในรอบนี้ถูกคัดเลือกมาจาก 3 ภูมิภาค โดยประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร 10 ราย กลุ่มธุรกิจโรงแรม 8 ราย กลุ่มธุรกิจสปาและ Wellness 8 ราย กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว 1 ราย และกลุ่มธุรกิจอื่นๆอีก 11 ราย ซึ่งน่าสนใจมากตรงที่ในปีนี้เรามีธุรกิจภาคบริการที่เข้าร่วมอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Wellness อย่าง Ess Wellness & Aesthetics คลินิกเสริมความงามจากใจกลางกทม. Dr.Win Rehab Clinic คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู บริษัท Kiidu ที่เป็น Platform จัดหาแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก คนดูแลผู้สูงอายุ บริษัท Speed Master ผู้ให้บริการบำรุงรักษารถยนต์ จากจังหวัดขอนแก่น Yatika Boutique ที่พักสุดเก๋สไตล์ Cottage จากเชียงดาว หรือจะเป็นบริษัท ยูนิเพสท์ ผู้ให้บริการควบคุมและกำจัดแมลงมาอย่างยาวนานกว่า 35 ปีจากเชียงใหม่

นางสาวอรพรรณ คงมาลัย หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเสริมต่อว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยร่วมดำเนินการโครงการดังกล่าว ได้พัฒนาการอบรมหลักสูตร VUCA Proactive ขึ้นมาเพราะหวังว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME ให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ VUCA World ที่ทั้งผันผวนและไม่แน่นอนนี้ไปให้ได้ จึงเน้นอย่างมากในเรื่องของการสร้าง Service Innovation การสร้าง Customer Experience ใหม่ๆ รวมถึงการนำ Digital Technology เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจภาคบริการ

“การอบรมจะเป็นการผสมผสานทั้งแบบ Offline และ Online ในรูปแบบ Offline นั้นเราก็เตรียมหลักสูตรไว้อย่างเข้มข้นสำหรับผู้ประกอบการในภาคบริการโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมในเรื่องของการบริหารบุคลากร (Team Engagement) การยกระดับธุรกิจบริการสู่โลกดิจิทัล (Service Goes Digital) การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของทางวิทยากรที่มาจากธุรกิจภาคบริการ อย่างเช่น คุณอนัญญา เหมวิจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Wellness Club Thailand และคุณณิชา จารุกิตต์ธนา (ออมสิน) เจ้าของร้าน โกปี๊ฮับ ร้านติ่มซำชลบุรีที่สามารถเติบโตได้อย่างน่าสนใจในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด อีกทั้งยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤต ธุรกิจบริการ”โดย ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย โฆษกคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา และ คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต และยังเป็นผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่จะมาช่วยกันเจาะลึกหาแนวทางว่า ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ในยุค VUCA World แถมด้วยกิจกรรม Business Matching และ Business Networking ให้กับผู้ประกอบการทั้ง 38 กิจการอีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการอบรมแบบ Online ก็ไม่ด้อยไปกว่ากันเพราะเราเตรียมมาทั้งหลักสูตร “SMEs Operation Expert” “SMEs Service Expert” “SMEs Data Expert” และ “SMEs Finance Expert” เพื่อที่จะช่วยผลักดันความรู้ทางธุรกิจให้กับทีมงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมให้แน่นขึ้นไปอีก ตลอดเดือนเมษายนนี้” นางสาวอรพรรณ คงมาลัย กล่าว

นอกจากนี้ สสว. คาดว่า ผลการดำเนินโครงการในภาพรวมจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำแผนธุรกิจที่ได้พัฒนาไปปรับใช้ในธุรกิจได้จริงและสามารถเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจของตนเองรวมไปถึง Ecosystem ของธุรกิจให้มากขึ้น นับเป็นโครงการดีๆ จากทางสสว. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME ไทยฝ่าวิกฤต VUCA World นี้ไปให้ได้ สำหรับท่านที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ Facebook : SME VUCA World จากนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2565

สสว.ติดอาวุธวิสาหกิจชุมชนยกระดับสินค้าสู่ตลาดออนไลน์

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 โดยเป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องในปีที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจฐานราก ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ กิจกรรมหลักของโครงการประกอบด้วย การอบรมด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาดูงานในสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นต้นแบบที่ดี การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการทำธุรกิจ กิจกรรมทดสอบตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สสว. ได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ปีงบประมาณ 2564 เพื่อยกระดับกลุ่มวิสาหกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในยุคที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New normal) พร้อมนำความรู้ใหม่ การตลาดออนไลน์ การวางกลยุทธ์การขายสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

โดยการดำเนินงานในปีปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับวิสาหกิจฐานรากที่เข้าร่วมโครงการเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 35 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างน้อย 150 รายกิจการ มุ่งเน้นการเสริมศักยภาพด้านการทำธุรกิจ การสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ และการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ โดยเฉพาะการทำตลาดทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น และจะตอบโจทย์ด้านการพัฒนาประเทศและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นภารกิจสำคัญของ สสว. อีกด้วย

สสว. จับมือ มศก. จัดงานทดสอบตลาด “สุดยอด SME ของดี ทริปเด็ด 77 จังหวัด” ภายใต้แนวคิด ชม ชิม ชอป ชิลล์ FEEL GOOD รวบรวมของดึ ทริปเด็ด 77 จังหวัด พบกับผู้ประกอบการจากทั่วประเทศร่วมออกร้านและจำหน่ายสินค้า และมินิคอนเสิร์ตจาก ศิลปิน Pretzelle, พลพล และ Indigo การเปิดตัวแพลตฟอร์ม Application : SME PROVINCIAL TRIPS และพบกับ Miss Tourism World Thailand 2020 ระหว่างวันที่  25-27 กันยายนนี้ ที่ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก (ราชประสงค์) คาดว่าจะสร้างรายได้ในการจัดงานครั้งนี้ได้เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด ปี 2563 (SME Provincial Champions 2020)” โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ในการดำเนินโครงการฯ เพื่อพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จโดยเน้นส่งเสริม SME และ Micro SME ทั้ง 4 กลุ่ม ที่เป็น Supply Chain ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่น มาบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ Community-Based Tourism ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรม สังคม และ

สิ่งแวดล้อม ที่เป็น DNA ของแต่ละชุมชนมาสร้างเป็น Selling Point ของการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “ชม ชิม ชอป ชิลล์ FEEL GOOD” พร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Application : SME PROVINCIAL TRIPS เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศแล้ว ยังเกิดการการจ้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง

ผอ.สสว. กล่าวต่อว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มักจะมีความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งมาตรฐานความพึงพอใจ และปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินกิจกรรมโครงการดังกล่าว สสว. ได้นำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวมาพิจารณาถึงการตอบสนองการท่องเที่ยวให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด

เช่น เรื่องการนำแนวคิดกลุ่มคลัสเตอร์ท่องเที่ยวในระดับจุลภาคมานำเสนอออกสู่ตลาด ก่อให้เกิดความหลากหลายในการตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ในระดับมหภาคด้วย เพราะในแต่ละจังหวัดล้วนมีสินค้าดี บริการเด่น ที่พักมีสไตล์ ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เมื่อนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันก็สามารถจัดเส้นทางการท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจและมีความเข้มแข็งมากขึ้น อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตพร้อมกันทั้งองคาพยพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด และภายหลังการดำเนินการ จะมีกิจกรรมทดสอบตลาดภายใต้ชื่องาน “สุดยอด SME ของดี ทริปเด็ด 77 จังหวัด” ภายใต้แนวคิด ชม ชิม ชอป ชิลล์ FEEL GOOD รวบรวมของดึ ทริปเด็ด 77 จังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าว คาดว่าจะสร้างรายได้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และกระจายรายได้จากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

“โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงผู้ประกอบการที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดในแต่ละด้านมาพัฒนา และผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในจังหวัดนั้นๆ ให้กลายเป็นคลัสเตอร์ท่องเที่ยวจังหวัด และเมื่อพัฒนารวมทั้งเชื่อมโยงได้แล้ว จึงต้องมีเครื่องมือสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และที่ท่องเที่ยวที่ร่วมมือกันเหล่านั้น ได้มีช่องทางในการนำเสนอตนเองออกสู่ตลาด ทั้งที่เป็นการให้ข้อมูลท่องเที่ยว ข้อมูลสินค้าและบริการต่างๆที่น่าสนใจ ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่คาดว่าจะมาเป็นลูกค้าได้พิจารณา และเลือกซื้อเลือกจองได้สะดวกตามความนิยม หรือกระแสโลกที่กำลังเดินทางไปสู่ความเป็น Digitalization โดยเลือกใช้ช่องทาง Online ในลักษณะของ Website หรือ Application : SME Provincial Trips เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง” ผอ.สสว. ระบุ

ดร.ศรายุทธ แสนมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายในขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา มีภาษา ท้องถิ่น มีวิถีชีวิตที่หลากหลายและน่าสนใจ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการ รวมถึงความน่าสนใจทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนา แต่งเติม เชื่อมโยง เพื่อนำมาเสนอในทิศทางที่เหมาะสม แม้ว่าการดำเนินธุรกิจจะต้องอยู่บนวิถีแห่งการแข่งขันอย่างเสรี แต่หากได้รับการเติมเต็มระหว่างกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ย่อมก่อให้เกิดภาพรวมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและก้าวข้ามคำว่า “คู่แข่ง” โดยผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกัน และจำกัดความว่าเป็นกลุ่ม Cluster ซึ่งจะสามารถเติมเต็มเกื้อหนุนและเกิดเป็นความยั่งยืนทางธุรกิจไปด้วยกันได้แน่นอน งานในครั้งนี้เราจึงจะได้เห็นความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการสะท้อนออกมาเป็นสินค้า เส้นทางท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยวที่ล้วนมีอัตลักษณ์ของตนเอง และต่างเอื้อประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

สำหรับการจัดงาน “สุดยอด SME ของดี ทริปเด็ด 77 จังหวัด” ภายใต้แนวคิด ชม ชิม ชอป ชิลล์ FEEL GOOD รวบรวมของดี ทริปเด็ด 77 จังหวัด โดยรวบรวมร้านเด่นร้านดังจากทั่วประเทศแล้ว ภายในงานยังมีการมอบโล่ต้นแบบ คลัสเตอร์ท่องเที่ยว จังหวัดจำนวน 5 รางวัล ได้แก่ 1.จังหวัดสถพรรบุรี  รางวัลไดมอลด์ คลัสเตอร์  2.จังหวัดนครปฐม รางวัลแพลตินัม คลัสเตอร์  3.จังหวัดลำปาง  รางวัลโกลด์ คลัสเตอร์  4.จังหวัดกระบี่  รางวัลซิลเวอร์คลัสเตอร์ 5.จังหวัดอุทัยธานี  รางวัลบรอนซ์ คลัส และพบกับทูตการท่องเที่ยวและกีฬา Miss Tourism World Thailand  2020  จึงขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ได้มา ชม ชิม ชอป ชิลล์ FEEL GOOD  ในงาน “สุดยอด SME ของดี ทริปเด็ด 77 จังหวัด” ระหว่าง วันที่ 25 – 27 กันยายน 2563 ณ ชั้น M ศูนย์การค้า เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก (ราชประสงค์ และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและเยี่ยมชมสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) ได้ทาง www.smepvc.com หรือ fb: SMEProvincialChampions63

สสว. พัฒนาสหกรณ์ไทยสู่ยุค 4.0 นำสินค้าสุดยอดผลงานทดสอบตลาด 14-16 กันยายน 2563 ที่ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ

สสว. คัดเลือก 100 สหกรณ์ดีเด่นทั่วประเทศ  ติดอาวุธทางความคิด พัฒนาและสร้างโมเดลธุรกิจให้กับสหกรณ์ โดยจัดทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพการผลิต-ลดต้นทุนการผลิต ก่อนจัดงานแสดงสินค้าสุดยอดผลงาน COOP Market 4.0 เพื่อรทดสอบตลาดสินค้าเด่นกว่า 50 สหกรณ์จากทุกภูมิภาค

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อํานวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ปี 2563 ว่า โครงการดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาล โดยความร่วมมือจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับสหกรณ์ไทย ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ในกลุ่มภาคเกษตร การผลิต การค้าและบริการทั่วประเทศ

ผอ. สสว. เผยอีกว่า สสว.ได้คัดเลือก 100 สหกรณ์ ที่ผ่านการคัดเลือก และมีศักยภาพที่สามารถรับการพัฒนาสู่สหกรณ์ 4.0 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ด้วยการจัดทำแผนกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ฯลฯ ก่อนจัด การแข่งขันเฟ้นหาสหกรณ์ดาวเด่น 50 ราย เพื่อเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาสู่โมเดลธุรกิจ และการเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ เช่น Shopee, Lnw Shop, JD Central, Facebook เป็นต้น

“สหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้ศึกษาดูงานการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการทำงานที่ทันสมัยแบบมืออาชีพ ทั้งการผลิตและการตลาดครบวงจร ก่อนเข้าสู่โค้งสุดท้ายคือ การนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการพัฒนา ผสานแนวคิดการตลาดตามโมเดลธุรกิจ 4.0 เพื่อทดสอบตลาด พบผู้บริโภคและผู้ซื้อตัวจริง ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางเมือง ที่ได้รับความนิยมจากนักชอปชาวไทยและต่างชาติ โดยสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่จัดแสดง และจำหน่ายสุดยอดผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์ ใน 4 โซน ได้แก่ ข้าวดีทั่วไทย ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ของใช้ Life Style อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน นี้ ณ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ” ผอ.สสว. กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดพิธีมอบรางวัล COOP Select 4.0 ให้กับสหกรณ์ที่มีโมเดลธุรกิจโดดเด่น พร้อมเป็นต้นแบบการก้าวสู่ยุค 4.0 และงานแถลงความสำเร็จของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ด้วยการทำงานแบบ New Normal ที่ สสว. พร้อมต่อยอดยกระดับสหกรณ์ไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

สสว. หนุนขับเคลื่อนสหกรณ์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานรากจับมือ 4 พันธมิตร พลิกสหกรณ์ไทย สู่ สหกรณ์ 4.0” เต็มรูปแบบ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยการให้ชุมชนได้เรียนรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ ด้วยนโยบายดังกล่าว สสว. จึงจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด “พลิกสหกรณ์ไทยสู่สหกรณ์ 4.0” แบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ผอ.สสว. เผยว่า ปีนี้ สสว. ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร โดยมีเป้าหมายสหกรณ์ 100 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตร ที่มีความพร้อมพัฒนาตนเอง เตรียมตัวเข้าสู่แพลทฟอร์มใหม่ ในยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นสหกรณ์ต้นแบบที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่เป็นแหล่งเรียนรู้ระหว่างสมาชิกสหกรณ์ต่อไปในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว บูรณาการความร่วมมือผ่าน 4 พันธมิตร ได้แก่ สสว. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ

(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ดังนี้

สสว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ และได้มอบให้สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ โดยมี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมระดับปานกลางและทั่วไปที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อเข้าร่วมโครงการ ทีเส็บ ร่วมผลักดันแหล่งผลิตและสินค้าสหกรณ์พร้อมสู่การออกตลาดในประเทศและต่างประเทศ และ บมจ.บางจาก ที่พร้อมร่วมพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับสหกรณ์เพื่อต่อยอดสินค้าเกษตรให้มีนวัตกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระจายสินค้าสู่ช่องทางเครือข่ายของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการสร้างสหกรณ์ 4.0

“สสว. มอบหมายให้ ISMED เป็นหน่วยร่วมดำเนินการในการพัฒนาสหกรณ์ ด้วยกระบวนการอบรมและเพิ่มเติมองค์ความรู้ผ่านการศึกษาดูงานที่สามารถนำไปปรับใช้กับสหกรณ์ได้ พร้อมการนำอัตลักษณ์ของตนเองมาสร้าง หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำเชิงลึก เพื่อให้สหกรณ์สามารถจัดทำแผนธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ปฎิบัติได้จริง โดยสหกรณ์ที่มีผลงานโดดเด่นจะได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดสหกรณ์ต้นแบบ หรือ COOP Select ที่พร้อมเข้าสู่การต่อยอดทางการตลาดแพลทฟอร์มต่างๆ จากทาง สสว. และเครือข่ายพันธมิตร” นายวีระพงศ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกร ทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกและชุมชน ในปีนี้กรมฯ มีโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน สหกรณ์รวบรวมสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค โดยความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับ

สสว. ในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมคัดเลือกสหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพในการแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 100 แห่ง เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 เพื่อให้สหกรณ์เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิด ด้วยวิธีดำเนินการแบบโมเดลธุรกิจยุคใหม่ สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง สนับสนุนให้สหกรณ์มีช่องทางและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ต่อไป

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มสหกรณ์เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเพื่อพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ดังนั้นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยุค 4.0 ที่จัดโดย สสว. และเครือข่ายพันธมิตร จึงเป็นการทำงานที่ช่วยเติมเต็มภารกิจของโครงการฯ และเป้าหมายของทีเส็บอย่างเหมาะสม โดยสหกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพสู่สหกรณ์ 4.0 ทีเส็บ จะทำหน้าที่ต่อยอดสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมพร้อมต้อนรับและบริการนักธุรกิจที่เข้ามาศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชม ตามภารกิจของทีเส็บที่จะนำไปต่อยอดสร้างช่องทางการตลาดการขายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศต่อไป

สสว.โชว์ผลงาน 12 โมเดลผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ที่ผ่านโครงการประชารัฐฯ เน้นโมเดลเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับชุมชนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาด และสร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจในยุค 4.0 ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดโครงการและพร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (SMEs & OTOP Transformation) ปฏิบัติการพลิกธุรกิจสู่ยุค 4.0 ว่า โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม  2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาดได้ เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงความต้องการ และการส่งต่อ แก้ปัญหาผู้ประกอบการ ทำให้มีข้อมูลองค์ความรู้ที่สร้างสรรค์ ถูกต้องชัดเจน สร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ ในยุคที่การตลาดเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 โดยผู้ประกอบการต้องสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปสร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัดเพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนต่อไป

ผอ. สสว. กล่าวว่า โครงการฯนี้ มีผู้ประกอบการ OTOP SMEทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 1,344 ราย และคัดเลือกจนเหลือจำนวน 141  ราย เพื่อเข้ารับการพัฒนาโมเดลธุรกิจด้วยกิจกรรมค่ายสร้างสรรค์รวมทั้งทดสอบความสำเร็จทางการตลาดหรือ Market Test 4 จังหวัด 4 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่ นครราชสีมา กรุงเทพ รวมทั้งการทดสอบตลาดออนไลน์บน Platform เทพช็อป และผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายคือ การเข้าร่วมแคมป์เพื่อสร้างสรรค์ และนำเสนอแผนการสร้าง New Business Model ที่สามารถทำได้จริง ซึ่งเพิ่งจัดเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการที่เข้ารอบทั้งหมดเพียง12 ราย เพื่อคัดเลือกโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดเพียง 1 รายเท่านั้น โดย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โมเดล Travelers Souvenir ARโดยคุณเกศกนก  แก้วกระจ่าง จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ซึ่งนอกจากจะได้รับการสานต่อเพื่อพัฒนาโมเดลเพิ่มเติมจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED แล้ว ยังได้รับโอกาสเข้าสู่ เทพช็อป Platform online ชื่อดังอีกด้วย

นอกจากการรับสมัครผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว สสว. ยังมีการจัดประกวดการเขียนโมเดลธุรกิจสำหรับประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษาที่สนใจแสดงฝีมือจากทั่วประเทศ ซึ่งถูกคัดเหลือเพียง12 รายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในการสร้างสรรค์แผนโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุด  โดยสสว.ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาธุรกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้ด้วยองค์ความรู้และมีทิศทางที่ชัดเจน สามารถก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจในยุค 4.0 อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนซึ่งมีผู้รับรางวัลไอเดียธุรกิจดีเด่นของระดับนักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีก 3 ผลงาน ได้แก่

  1. นางสาวสาวิตรี บำรุง จากโมเดล juice up
  2. นางสาวสุรนุช บุญจันทร์ จากโมเดล เกษตรอินทรีย์คลองตัน
  3. นางสาวสายพิล ทะวะดี จากโมเดล เกาะยอ 2 Day trip

ภายในงานยังมีการ เสวนาพิเศษหัวข้อ“การต่อยอดสุดยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน”เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ที่เข้มแข็งและยั่งยืน สสว. จึงได้จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “การต่อยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน” โดยมีวิทยากรได้แก่นายอยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบเผลิตภัณฑ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) นายพิชิต มิทราวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสรับผิดชอบสายงานการตลาดและนโยบายภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMED BANK) และนางสาวเมธปรียา คำนวณวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู  จำกัด หรือ เทพช้อป มาร่วมเปิดเผยที่มาของความสำเร็จจนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนจนได้สุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อยอดโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุนและช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ที่พร้อมตอบสนองผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

12 โมเดลธุรกิจชุมชนต้นแบบ

1.โมเดล Travelers Souvenir AR ผลงานสินค้าที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นพาเที่ยวนวัตวิถี โดยใช้ระบบ AR และ Web Block เชื่อมโยงกับสินค้าของที่ระลึกชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้านักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนมากขึ้น และยังสามารถเชื่อมต่อไปยัง Google map ที่สามารถพานักท่องเที่ยวไปยังจุดท่องเที่ยวในชุมชนได้อีกด้วย จากบริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด จ.สงขลา

2.โมเดล สินค้าปลอกหมอนทอจากไหมอีรี่ อัจฉริยะเพื่อการหลับลึก และแก้ปัญหาความเครียด ของผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ โดยการคิดค้นการใช้โปรตีนไหมเคลือบผิวปลอกหมอนและสอดไส้ด้วยปุยไหมอีรี่ที่เพิ่มความนุ่มพิเศษ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการหลับ การกดทับระหว่างการนอน โดยจะส่งการประมวลผลผ่าน App Eri Pillow ที่สามารถใช้บลูทูธ ลิงค์กับสมาร์ทโฟน หรือ เว๊บไซด์ bondonlcha.com เจ้าของผลงานคือ ร้านคุ้มสุขโข จ.ขอนแก่น

3.โมเดล Nawati การใช้แปรรูปกล้วยน้ำว้า ผลิตภัณฑ์เด่นเฉพาะจากชุมชน เป็นกล้วยเส้นทรงเครื่อง แบรนด์ Nawati เป็นการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยส่งเสริมการปลูกกล้วยในเชิงพาณิชย์ และสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่ายสู่ตลาด โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงโดยการบรรจุ QR code ที่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้ซื้อ และนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการแสกนเพื่อหาข้อมูล จุดเด่นในการผลิตโดยชุมชน เพื่อชุมชน หรือแม้แต่การสั่งซื้อพันธุ์กล้วยได้อีกด้วย ผลงานจาก บริษัท บ้านกล้วย (2017) จำกัด จ.ปัตตานี

4.โมเดล ระบบจัดการซื้อขายจิ้งหรีดล่วงหน้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ผ่านเว็บไซต์ www.จิ้งหรีดล่วงหน้า.com เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในการวางแผนการเลี้ยง ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ และป้องกันปัญหาจิ้งหรีดล้นตลาด ผลงานจาก ฟาร์มจิ้งหรีด ออลบั๊กส์ จ.ชัยภูมิ

5.โมเดล การแปรรูปรูปจมูกข้าวสารและธัญพืชเพื่อสุขภาพ แบรนด์ GABA BITES ธัญพืชผสมกาบ้าจากจมูกข้าว สูตร Gluten Free, Organic, Low sugar เป็นการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่น จมูกข้าวสาร จากชุมชนสาวะดี จ.ขอนแก่น ที่มีปริมาณกาบ้าสูงมาแปรรูปโดยผสมผสานธัญพืช เป็นสแน็คเพื่อสุขภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็คการผลิต และเรื่องราวจากท้องถิ่นผู้ผลิตผ่าน QR code ผลงานจาก หจก.ไทยรอยัล ฟู้ด จ.ขอนแก่น

6.โมเดล Bromedent การเพิ่มมูลค่าให้กับสับปะรดโดยใช้ทุกส่วน (Zero waste) ในการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าชุมชน โดยเพิ่มสารสกัดเอนไซม์สับปะรดจากผลที่ตกขนาด นำนวัตกรรมการสกัดเอนไซม์โปรมิเลน ช่วยย่อยสลายโปรตีน “ไบรโอฟิล์ม”ทำให้จุลินทรีย์ภายในปากอ่อนแอ และหลุดออก ช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบ ลดคราบพลัค และกลิ่นปาก โดยใช้ระบบ QR code เพื่อการหาข้อมูลการผลิตโดยละเอียด ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนฟาร์ม มาร์เก็ตติ้ง ปลูกสับปะรด และแปรรูปสับปะรด จ.ราชบุรี

7.โมเดล มหัศจรรย์แห่งสมุนไพร สู่ โผงเผง Facial ครีมบำรุงผิวสกัดจากโผงเผงพืชหลักของชุมชน โดยนำสารสกัดจากโผงเผง สมุนไพรป่า ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเอ็นไซม์ และเมลานินสีผิวที่เปลี่ยนไปทำให้ผิวขาวขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนผู้ปลูกต้นโผงเผง ต.มะเขือแจ้ จ.ลำพูน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าในการเข้าดูศึกษาข้อมูลการผลิต ผ่าน QR code บนบรรจุภัณฑ์ ผลงานจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศึกษาพัฒนาเกษตรกรครบวงจร จ.ลำพูน

8.โมเดล ข้าวนพเก้า ข้าว 9 พลัง ผลิตจากข้าวกล้องจาก 5 สายพันธุ์ของดีชนเผ่า ได้แก่ 1.ข้าวกล้องหอมมะลิ 2.ข้าวกล้องลืมผัว- ม้ง 3.ข้าวกล้องบือบอ-ปะกากะยอ 4.ข้าวกล้องเหล้าทูหยา-ไทยใหญ่ 5.ข้าวกล้องเงาะเลอทีมู-ล้วะ โดยตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของ 4 ชาติพันธุ์แห่งภาคเหนือ และนำผลผลิตข้าวมาส่งเสริมให้เกิดคุณภาพ ผลผลิต และนำความเป็นเกษตรอินทรีย์มาสร้างมูลเพิ่มให้สินค้า และสร้างรายได้มากขึ้นให้แก่ เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ จนได้เป็นข้าวกล้อง 5 ชาติพันธุ์ ผสมกับธัญพืช 8 ชนิด สร้างจุดขายเพื่อสุขภาพ และพัฒนาสูตรสินค้าให้มีความหลากหลาย พร้อมเผยแพร่สินค้าผ่านสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าในช่องทางออนไลน์ เว็บไซด์www.noppakaow-999.com และจัดทำ QR code ที่กล่องบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างสวยงาม ผลงาน จาก บริษัท เยี่ยมเมธากร จ.เชียงใหม่

9.โมเดล นวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง สินค้าเครื่องนอนยางพารา ที่มีการผสานภูมิปัญญาสร้างสรรค์กับนวัตกรรมโครงสร้างยางพาราแบบแยกชิ้น หลักการเดียวกับเตียงตะปูโยคี คือ การ กระจายน้ำหนักลดการกดทับได้จริง มีสันนูนเปรียบเสมือนปุ่มนวดที่สะท้อนกลับเหมือนนวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง และใช้เทคโนโลยี “โยคีดิจิทัล”คือ Healthy Community ที่ช่วยปรับสรีระของผู้ใช้ให้ห่างไกลจากโรค Office syndrome และเป็นการผลิตภายในชุมชนจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อลดอัตราการไปทำงานต่างถิ่น ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนเย็บผ้าเครื่องนอนยางพารา      เขาคีริส จ.กำแพงเพชร

10.โมเดล Linkshipper เป็น Platform Community Auto Dropship สำหรับสินค้า Halal โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตสินค้าฮาลาลและคนในชุมชนที่ต้องการเปิดร้านค้าออนไลน์แบบ Automatic เพียงแคสมัครก็จะมีเว็บไซด์พร้อมสินค้าให้ขายแบบฟรี โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการแต่งภาพ หรือ การทำเว็บไซด์เลย โดยจะเป็นสื่อกลางในการประสานชุมชนมุสลิม 200 ชุมชน ๆ ละ 50 ร้านค้าทั่วกรุงเทพ ตั้งเป้าร้านค้าฮาลาลในระบบ 10,000 ร้านค้า โดยสินค้าจะถูกคัดกรองโดยระบบอัลกอรริทึ่มของ Linkshipper เพื่อนำสินค้าขายดีจากรายการทั้งหมด ไปขึ้นในระบบของแต่ละร้านค้า เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น คาดว่า ร้านค้าที่ Active จะมีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้า 500 ร้านค้า คิดเป็นยอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท ต่อเดือน ผลงานจากบจก.วันบีลิฟ กรุงเทพฯ

11.โมเดล No Locking No Lost เป็นการนำหัตถกรรมกระจูด ที่มีคุณสมบัติทอจากเส้นใยกระจูดที่มีความเหนียวแตกต่างจากพืชจักสานชนิดอื่น ทนต่อการขีดข่วน สามารถใช้งานหนักได้ ผสานเทคโนโลยี GPS Tracking เพื่อติดตามค้นหาจากตำแหน่งที่ระบุได้ และจะมีสัญญาณเตือนหากระเป๋าอยู่ห่างจากตัวเกิน 10 เมตร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นจำนวนมาก ก็สามารถทำให้ราคาต้นทุนลดลงได้ ผลงานจาก วนิดากระจูด จ.สงขลา

12.โมเดล เห็ดโคนน้อย คอยใหญ่ การนำเห็ดโคนน้อยที่มีสรรพคุณทางการรักษาดียิ่งกว่า เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดถั่งเช่า เพราะเห็ดโคนน้อยมีสารโพลีซัคคาไลน์สูง ผสมกับเบต้ากลูติน และสารอิลิยาดีนิน ช่วยละลายไขมันในเลือด เห็ดชนิดนี้ปลูกกันมากที่จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชิ้น จึงมีการนำ Know How ในการเพาะเห็ดชนิดนี้ ด้วยมาตรฐาน GMP และสัญลักษณ์คุณภาพ Q รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร โดยการจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย และเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ในการเพาะเห็ดเกือบทุกชนิด ผลงานของ หจก.บ้านเห็ดอุตรดิตถ์ไบโอเทค

วันที่ 13 มีนาคม 2562 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED), สถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว 3 โครงการ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ ให้ได้มาตรฐานไทยด้วยการจัดการและการตลาดแบบมืออาชีพ นำไปสู่มาตรฐานโลก

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า โครงการเพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการท้ง 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) 2.โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 3.โครงการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SME (Micro to be SMEs) ทั้ง 3 โครงการมีเป้าหมายเพื่อต้องการยกระดับการทำงานเชิงลึกของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยจะเน้นในเรื่องเครื่องมือหรือวิธีการที่จะพาผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน SMEs หรือแม้ OTOP ให้ได้มาตรฐานไทย เพื่อนำสู่มาตรฐานโลกต่อไปในอนาคต

“โดยโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) เป็นโครงการที่ สสว.ดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เน้นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจและการตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ไทย ก้าวสู่มาตรฐานไทย ก่อนต่อยอดสู่มาตรฐานโลก ตามแนวคิด SME Standardization มาตรฐานไทย สู่มาตรฐานโลก” นายสุวรรณชัยกล่าว

นายธนนนท์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ แก้ปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะเรื่องการขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้โดยคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยจะอาศัยโมเดล OTOP SMEs Transformer 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้แข่งขันด้วยปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ สามารถตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าแม่นยำด้วยระบบข้อมูลเชิงลึก และสร้างเครือข่ายได้รวดเร็วและกว้างไกลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“โครงการนี้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1,200 คน จากทั่วประเทศ ให้เหลือเพียง 100 คน เข้ารับการพัฒนาเชิงลึกและสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ ก่อนนำสู่การทดสอบตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปต่อยอด ขยายผล สร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัด และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ใหม่ๆ สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) โดยผู้ที่มีแนวคิดโดดเด่นที่สุดจะได้รับการสนับสนุนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาเครือข่าย โดยผู้เชี่ยวชาญ ภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรหรือโล่รางวัลจาก สสว.” นายธนนนท์กล่าว

สำหรับ โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ให้เกิดการสร้างอาชีพ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้ในการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ด้วยการนำเครื่องมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการให้คำปรึกษาในเชิงลึกด้วยกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์

“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้มีมาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ หลังจากที่อาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดยมีการรับสมัครผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่อมดื่มระดับ 3-5 ดาว จำนวน 500 รายทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โฟกัสกรุ๊ป ระดมความคิดกับภาคเอกชนอีก 50 ราย โดยคาดว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับโครงการนี้ จะสามารถเพิ่มโอกาส ช่องทางการจำหน่าย และการขยายตัวทางธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท” นายยงยุทธกล่าว

สำหรับโครงการยกระดับชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SMEs (Micro to be SMEs) เป็นโครงการที่ สสว.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการคัดเลือกชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านสินค้าอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดและยกระดับความรู้ที่มีอัตลักษณ์เดิมที่กำลังจะหายไป ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ดร.เฉลิมพล คงจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดความรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในโครงการนี้ จะยังเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองรอง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ ศักยภาพความพร้อม และความโดดเด่นเชิงอัตลักษณ์ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการจัดการที่เหมาะสม โดยโครงการจะเน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกัน ผ่านมุมมองการวิเคราะห์และประเมินแบบ CIPP model (Context Input Process Product Model) ที่จะช่วยให้เข้าใจเข้าถึงบริบทชุมชน และทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะยกระดับตนเอง ร่วมพัฒนาไปกับผู้เชี่ยวชาญ จนนำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

สสว. ผนึกสถาบันอาหาร ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 หนุนรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรมะพร้าวต่อเนื่องจากปี 2560 หลังสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท เพิ่มเครือข่ายใหม่กลุ่มธุรกิจเกษตรกล้วย ตั้งเป้ารวม 17 เครือข่าย มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ มั่นใจ SME ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2,300 ราย คาดเกิดการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เชื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ถึง 70 ล้านบาท และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ภายใต้วงเงินงบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวและเครือข่ายกล้วย เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์

สำหรับกลุ่มเครือข่ายมะพร้าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 3,300 ราย สร้างการรวมกลุ่มได้ 26 เครือข่าย พัฒนาผู้ประสานงานเครือข่าย 80 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ส่งเสริมการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างยอดขายเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป ซึ่งในปี 2561 นี้จะเป็นการต่อยอดขยายผล โดยการคัดเลือกเครือข่ายกลุ่มมะพร้าวเดิมบางส่วนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายรายใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแผนต่อไป

ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย เป็นการดำเนินการปีแรก โดยกล้วยที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกล้วยสดของตลาดต่างประเทศ โดยพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกกล้วยสดราว 467 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41 เป็นการส่งออกไปจีนสูงสุดที่มูลค่า 340 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 65 ล้านบาท และฮ่องกง 44 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้โครงการฯ จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกกล้วย เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตามมาตรฐานการส่งออก การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเก็บรักษา การยืดอายุ การดูแลบรรจุภัณฑ์ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม(GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้ได้คุณภาพมากขึ้น ตลอดจนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในมิติของขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน เป็นต้น

“สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยรวม 17 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 10 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อเนื่อง ต่อยอดขยายผลตามแผนพัฒนาจากปี 2560 จำนวน 8 เครือข่าย และในปี 2561 นี้เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่อีก 2 เครือข่าย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกล้วย เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2561 นี้ จำนวน 7 เครือข่าย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายหรือผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จำนวนไม่น้อยกว่า 51 ราย เกิดการขยายการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจรวมกันได้ 70 ล้านบาท และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” นายสุวรรณชัย กล่าว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย ปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม 17 เครือข่ายตามเป้าหมาย แบ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมะพร้าว 1,350 ราย และอุตสาหกรรมกล้วย 950 ราย โดยสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคลัสเตอร์ การตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ หรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น

 


ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ