ถึงละครบุพเพสันนิวาสจะอำลาจอ แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากละครเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนยังให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังมีสิ่งให้ชวนค้นหาอีกมาก

หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า “ทำไมสมเด็จพระนารายณ์ถึงไม่ประทับอยู่ที่อยุธยา แต่ประทับอยู่ที่ละโว้แทน” เพราะจากละครจะเห็นได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ละโว้ ออกว่าราชการที่ละโว้ รวมไปถึงเสด็จสวรรคตที่ละโว้ด้วย

การมาประทับอยู่ที่ละโว้ของพระองค์นั้นไม่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่ประทับอยู่ถึงปีละ 8 เดือน ในฤดูหนาวและฤดูร้อน มีสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดสันเปาโล สถานที่มีหอดูดาวของคณะบาทหลวงเยซูอิต, พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระตำหนักเย็น พระตำหนักที่พระองค์ไว้ใช้เปลี่ยนพระอิริยาบถ และทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสและขุนนางไทย เป็นต้น จนได้ชื่อว่าละโว้นั้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยอยุธยาเลยก็ว่าได้

คำตอบของคำถามนี้ “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ เล่าให้ฟังระหว่างเป็นวิทยากรในทัวร์ย้อนเวลาพาออเจ้าไปขุนหลวงนารายณ์ที่ละโว้ จ.ลพบุรี กับ “มมติชนอคาเดมี” ว่า รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เริ่มต้นที่ปี พ.ศ.2199 ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระราชบิดา สวรรคต พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีหลักคือเจ้าฟ้าชัย เพราะฉะนั้นราชบัลลังก์ของพระเจ้าปราสาททองจึงตกไปอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย

แต่พระเจ้าปราสาททองยังมีพระอนุชา คือ พระศรีสุทธรรมราชา ส่วนสมเด็จพระนายรายณ์นั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง แต่มิได้เกิดแต่พระอัครมเหสี เท่ากับว่ายังมีคนที่มีสิทธิที่จะได้ราชบัลลังก์อีกหลายคน ดังนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองสวรรคต บัลลังก์ตกตามสิทธิโดยชอบธรรมไปอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย แต่พระศรีสุทธรรมราชาและพระนารายณ์ไม่ปรารถนาให้ราชบัลลังก์ไปตกอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย จึงร่วมกันปฏิวัติ ขณะที่เจ้าฟ้าชัยขึ้นครองราชย์เพียง 7 วันเท่านั้น จากนั้นยกพระศรีสุทธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

หลังจากนั้นอีก 3 เดือน สมเด็จพระนารายณ์ก็ปฏิวัติซ้ำ เท่ากับว่าในปี พ.ศ.2199 เกิดการปฏิวัติ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิวัติแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมเด็จพระนารายณ์ คือ การกำจัดขุนนางที่รับราชการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองที่อยุธยาไปมาก ขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงถูกกำจัดไปเกลี้ยง แล้วใช้ขุนนางรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขุนนางไทย ขุนนางแขก ที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ก็ใช้ขุนนางพวกนี้ เนื่องจากพระองค์ไม่ไว้ใจขุนนางดั้งเดิม แต่ไม่ได้แปลว่าปี พ.ศ.2199 สร้างลพบุรี แต่ท่านทิ้งเวลา 10 ปีแล้วถึงเริ่มมาสร้างเมืองนี้

ลพบุรีมาเกิดเมื่อปี พ.ศ.2209 แต่คำว่าสร้างลพบุรี ไม่ได้แปลว่าสร้างทุกอย่างในเมืองลพบุรี เพราะหลายอย่างในลพบุรีมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ป้อมปราการอาจสร้างขึ้นมาใหม่ แต่พระราชวังมีอยู่แล้ว รวมไปถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์สามยอดก็มีมาอยู่ก่อนแล้ว เพราะลพบุรีเป็นเมืองลูกหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเคยประทับมาก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น สมเด็จพระราเมศวร ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือ

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรีนี้มีอยู่แล้ว พระองค์เพียงแค่มาเสริมสร้างให้มั่นคงขึ้น และด้วยความที่มีปัญหาทางการเมืองในต้นรัชกาล พระองค์จึงพยายามหาเมืองสำรองขึ้นมาอีกหนึ่งเมือง

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไม 10 ปีแรกของการครองราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์ถึงมีปัญหา สาเหตุเป็นเพราะเกิดกบฏขึ้นมาอยู่หลายครั้งที่มาท้าทายอำนาจของพระองค์ โดยกบฏที่สำคัญคือ กบฏของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ หรือว่าพระองค์ทอง ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงรวบรวมกองกำลังพลเพื่อก่อการกบฏหลังจากสมเด็จพระนาราย์ขึ้นครองราชย์เพียง 2 เดือน แต่ยังไม่ทันได้ลงมือก็ถูกสอบสวนและจับได้ก่อน โดยพบว่ามีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมด้วย พระองค์จึงโปรดให้สำเร็จโทษพระไตรภูวนาทิตยวงศ์และขุนนางเหล่านั้นทันที

เพราะฉะนั้น 10 ปีแรก มีกบฏภายใน มีสงครามที่พระนารายณ์ต้องไปทำกับเชียงใหม่ มีเรื่องต่างๆ นานามากมาย แต่ยังไม่มีเรื่องการต่างประเทศ เพราะฉะนั้น 10 ปีแรกจึงเป็น 10 ปีที่พระองค์สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่พระองค์เอง โดยการหาเมืองใดเมืองหนึ่งในบริเวณอยุธยาให้เป็นที่ประทับแห่งที่ 2 โดยที่พระองค์เองก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาที่ประทับนี้ไว้เพื่อจุดประสงค์ใดเป็นหลักแน่ๆ แต่ขอให้มีอยู่อีกสักที่หนึ่ง ถ้ามีอะไรฉุกเฉินที่อยุธยา ต้องมาลพบุรี

การเดินทางจากอยุธยามาละโว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นจะเดินทางโดยขบวนเรือ ล่องมาทางแม่น้ำลพบุรี ซึ่งจะใช้เวลาราว 1 วันครึ่ง แต่จะมาทางม้าแบบพี่หมื่นและแม่การะเกดในละครนั้นก็ได้เช่นกัน แต่คงจะไม่เร็วแบบนั้นแน่นอน เพราะคนคงจะเมื่อยเสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะเสด็จมาขึ้นที่ท่าน้ำที่ปัจจุบันเรียกว่าท่าพระนารายณ์ เมื่อขบวนเรือทั้งหมดมาถึง จะส่งพระนารายณ์ท่านี้ ส่วนขุนนางทั้งหมดจะไปขึ้นที่ท่าถัดไป ซึ่งเรียกว่าท่าขุนนาง แต่ปัจจุบันเรียกพื้นที่ในแถบนั้นทั้งหมดว่าท่าขุนนาง

เมื่อขึ้นจากเรือ พระองค์จะประทับบนเสลี่ยงแล้วเข้าไปในบริเวณวัง ซึ่งจะผ่านทางเดินขึ้นที่เป็นเนินซึ่งปัจจุบันทำเป็นบันได เรียกว่าบันได 51 ขั้น และกลายเป็น unseen ลพบุรีไปโดยปริยาย

คำถามคือทำไมไม่ไปสุพรรณบุรี คำตอบก็คือเป็นเพราะว่าไปไม่ได้ เนื่องจากแม่น้ำท่าจีนที่ผ่านสุพรรณบุรีนั้นไม่ได้เชื่อมกับอยุธยา ขณะที่แม่น้ำลพบุรีเชื่อมโยงไปถึงอยุธยาได้ บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่ไปพิษณุโลก นั่นก็เพราะว่าพิษณุโลกไกลมาก และยังมีอำนาจเก่าดั้งเดิมของเมืองสองแควอยู่ เช่นเดียวกับกำแพงเพชรและสุโขทัย เพราะฉะนั้นความปลอดภัยคือต้องมาเมืองที่ใกล้อยุธยาที่สุด คือ ลพบุรี

และที่ไม่ไปกรุงเทพฯ และธนบุรี เพราะสองเมืองนี้ยังไม่มีความเป็นเมือง ธนบุรีในสมัยนั้น หลังรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์ยังเป็นเพียงตลาดอยู่เท่านั้น คือเป็นเพียงคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่กระจายอยู่ ไม่ใช่เมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ไม่ใช่เมืองที่มีป้อมปราการแล้ว ไม่ใช่เมืองที่มีพระมหาธาตุปักอยู่เป็นหลักของเมืองแล้ว ซึ่งการจะเลือกเมืองใดเมืองหนึ่งนั้น ท่านจะเลือกต้องเป็นเมืองที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ส่วนสิงห์บุรีก็เป็นเมืองที่ไม่มั่นคงแบบลพบุรี ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างสิงห์บุรีกับลพบุรี ท่านต้องเลือกลพบุรีอยู่แล้ว เพราะแม่น้ำที่จะใช้เดินทางไปสิงห์บุรี หรือ แม่น้ำน้อย เป็นแม่น้ำสายเล็ก และคดเคี้ยวมาก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมา จะลำบากเข้าไปอีก ทำให้ท่านเลือกลพบุรีนั่นเอง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่จะย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นจะเลือกขึ้นมาอีกสองเมือง คือ สระบุรี และลพบุรี ให้ลพบุรีเป็นเมืองทหาร จึงเกิดค่ายหารขึ้นมากมาย และให้สระบุรีเป็นเมืองศาสนา

ถึงแม้ละครบุพเพสันนิวาสจะจบไปแล้ว แต่เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามอยู่

หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งในละครเผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงพระประชวร จึงเสด็จสวรรคต แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงทางประัวัติศาสตร์กันอยู่ว่าจริงๆ แล้วสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตด้วยเหตุใด

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการประวัติศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้ระหว่างไปทัวร์ “ย้อนเวลาพาออเจ้าไปเฝ้าขุนหลวงนารายณ์ที่เมืองละโว้” จ.ลพบุรี กับ “มติชนอคาเดมี” ว่า การประชวรแล้วสวรรคต เป็นข้อสันนิษฐานข้อที่ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่เบาที่สุดในบรรดา 3 ข้อสันนิษฐาน ผู้จัดและผู้สร้างละครเลือกสันนิษฐานนี้ให้พระนารายณ์สวรรคต แต่มีข้อสันนิษฐานอีก 2 ข้อซึ่งค่อนข้างแรง อันแรกคือโดนวางยาพิษ อันที่สองคือถูกพระเพทราชาทำให้สวรรคต ซึ่งถ้าเอาสันนิษฐานนี้มา เดี๋ยวภาพอาจจะดูไม่งามได้ จึงเลือกข้อที่เบาที่สุดไว้ก่อน คือ ทรงพระประชวร และสวรรคตในที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์มานานมากว่าสวรรคตด้วยพระโรคใดกันแน่ เอกสารชิ้นเดียวที่เชื่อว่าน่าจะมีเค้ามูลอยู่คือ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นพงศาวดารสมัยอยุธยาที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ระบุเอาไว้ว่า ตอนปลายรัชกาลมีพระอาการที่ไม่ปกติ แล้วในที่สุดออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ให้เจ้าพนักงานเอามือออกจากพระศอ แล้วพระโอษฐ์ก็นิ่งสนิทไป เท่ากับว่าเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการผิดปกติ

ข้อความตรงนี้ตีความต่อไปว่า ท่านถูกทำให้สวรรคตด้วยการลอบปลงพระชนม์ ซึ่งจะขัดแย้งกันกับหมอฝรั่งที่รักษา เพราะหมอที่รักษาบอกว่าท่านถูกวางยาจากหมอจีน ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2231 ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ก่อนหน้านั้น 1 เดือน ฟอลคอนถูกจับ และก่อนหน้านั้นในเดือน พ.ค. พระเพทราชาเริ่มคิดปฏิวัติ ซึ่งคิดที่จะปฏิวัติที่ตึกพระเจ้าเหา เพราะฉะนั้นการเมืองในท้ายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จะเกิดที่ลพบุรีหมด อำนาจจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือส่วนของพระเพทราชาและขุนนางอื่นๆ ที่ไม่ชอบฝรั่ง ส่วนฝรั่งเองก็แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ คือ ฝรั่งกลุ่มฟอลคอน ฝรั่งกลุ่มนายพลเดฟาดจ์ ฝรั่งกลุ่มบาทหลวง ฝรั่งกลุ่มพ่อค้า ฝรั่งพวกนี้ต่างคนต่างเอาตัวรอดกันหมด ไม่มีใครรวมกันเป็นหนึ่ง ด้วยเหตุดังนั้นพระเพทราชาจึงฉวยโอกาสแบบนี้ปฏิวัติ

“วิษณุ เครืองาม” นอกจากจะมีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นครูบาอาจารย์ และนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่เป็นกูรูเลยทีเดียว ลีลาและความรู้ของอาจารย์วิษณุในการเขียนหนังสือไม่แพ้นักเขียนชั้นครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยาย ที่ได้ประจักษ์กันมาแล้วไม่ว่าเรื่อง “ชีวิตของประเทศ” หรือ “ข้ามสมุทร” ก็ตาม นับเป็นหนังสือขายดีติดอันดับแห่งปีเลยทีเดียว

ด้วยความรู้อันมากมาย หลากหลาย งานเขียนของ ดร.วิษณุ เครืองาม จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สองเรื่องนี้เท่านั้น แต่กำลังฟิตแอนด์ฟอร์มนวนิยายเรื่องใหม่ ซึ่งอาจารย์ถือโอกาสเปิดตัวกล่าวถึงในงาน “บุพเพเสวนา” ที่จัดขึ้นยังหอประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 เมื่อไม่นานมานี้

ก่อนจะกล่าวถึงนวนิยายที่กำลังตั้งอกตั้งใจเขียนอยู่ขณะนี้ อาจารย์วิษณุเปิดฉากกล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์ว่าถ้าถือตามนักประวัติศาสตร์ อยุธยามีกษัตริย์เพียง 33 พระองค์ สมเด็จพระนารายณ์เป็นลำดับที่ 27 แต่ถ้านับขุนวรวงศาธิราชเข้าไปด้วยจะเป็น 34 พระองค์ แล้วสมเด็จพระนารายณ์ก็จะเป็นลำดับที่ 28 “เห็นไหมว่าจะเอาอะไรกับประวัติศาสตร์กันนักกันหนา ขนาดอยุธยามีกษัตริย์กี่พระองค์ก็ยังเถียงกันเลย เพราะมีวิธีคิด วิธีนับ วิธีตีความที่แตกต่างกันออกไป ผมถือว่าอยุธยามีกษัตริย์ 34 พระองค์” แค่นี้ก็เรียกเสียงฮาได้แล้ว

ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่าสมเด็จพระนารายณ์มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่นิยาย ท่านมีชีวิตอยู่ห่างจากปัจจุบันนี้ 300 กว่าปี และมีชีวิตอยู่ห่างจากสมัยพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาประมาณ 300 ปีเช่นกัน สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ถึง 32 ปี ในช่วงที่สยามมีกษัตริย์ชื่อพระนารายณ์ ทางฝรั่งเศสก็มีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และมีการอ้างอิงถึงซึ่งกันและกัน “สิบปีที่แล้วผมไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศสกับอาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรโณ) ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจกลับมาเขียนหนังสือเรื่องข้ามสมุทร” ตอนที่ไปเที่ยวนั้น

อาจารย์วิษณุเล่าถึงไกด์หรือมัคคุเทศก์ฝรั่งเศส ว่าพาไปชมพระราชวังแวร์ซายน์ แล้วอธิบายโดยไม่สนใจว่าจะเป็นคนไทยหรือมาจากไหน เพราะในคณะมีกันหลายคน ทั้งคนต่างชาติคณะอื่น ไกด์พูดถึงพระเจ้าหลุยส์ทีไร ก็พูดถึงสมเด็จพระนารายณ์ของสยาม พอไปถึงห้องหนึ่งซึ่งเป็นห้องใหญ่โตมโหฬารมาก ไกด์ก็เล่าอย่างสนุกสนานขบขัน ว่าเมื่อสามร้อยกว่าปีมานี้ “ราชทูตไกลโพ้นจากอยุธยามาหมอบตรงนี้ มาคลานตรงนี้ แล้วลงเข่าจากตรงโน้น..ไกลมาก กว่าจะมาถึงตรงนี้ ขึ้นบันได 3 ชั้น 5 ชั้นไปยื่นพระราชสาส์นถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่งแขกจีนที่มาตื่นเต้นกันใหญ่ แสดงว่าเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์อยู่ในความรับรู้ของคนฝรั่งเศสและคนยุโรปอื่นๆ”

“ผมเคยไปที่พิพิธภัณฑ์โป๊ป ที่วาติกัน เขาก็ชี้ให้ดูว่าสิ่งของอันนี้มาจากจีน อันโน้นมาจากอินเดีย อันนั้นมาจากญี่ปุ่น ของชิ้นนี้มาจากอยุธยา ส่งมาถวายโป๊ปสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มีความเป็นจริงที่้สัมผัสได้ เข้าใจได้ ท่านเป็นกษัตริย์อยู่ 32 ปี ถือว่านานมิใช่เล่น สำหรับอยุธยาซึ่งเป็นราชธานี 417 ปี กษัตริย์อยุธยาที่อยู่ในราชสมบัติยาวนานที่สุด คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 40 ปี รองลงมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อยู่ 38 ปี รองลงมาคือสมเด็จพระนารายณ์ 32 ปี นอกจากนั้น 25 ปีบ้าง 15 ปีบ้าง 7 ปีบ้าง ไม่กี่วันก็ยังมีเลย

เพราะฉะนั้นรัชสมัยยาวนานถึง 32 ปี ถือว่ายาวนานมากที่จะสามารถทำอะไรได้เยอะ ผู้นำ กษัตริย์ รัฐบาล นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามที่สามารถอยู่นานๆ ย่อมทำอะไรได้มาก แม้ทำอะไรผิดก็แก้ไขทำใหม่ให้ถูกได้  ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ท่านยิ่งใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะท่านอยู่ในราชสมบัติถึง 42 ปี นานมากจนสามารถที่จะบันดาลอะไรได้มากต่อมาก เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และสมเด็จพระนารายณ์”

คำว่า “มหาราช” ที่มาเติมท้ายพระนามสมเด็จพระนารายณ์นั้น อาจารย์วิษณุบอกเล่ารายละเอียดว่า “เราให้ท่านเป็นมหาราช คำว่า มหาราช นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักรบประกอบวีรกรรม และวีรกรรมนั้นถ้าไม่ได้มาจากรักษาเอกราช ก็ป้องกันไม่ให้เสียเอกราช หรือมิฉะนั้นก็ได้มาจากการทำสงคราม สมเด็จพระนารายณ์อาจเป็นมหาราชที่แปลกไปจากมหาราชอื่น เพราะถ้าหยิบยกเอามหาวีรกรรมเรื่องสงคราม เรื่องรักษาเอกราชอย่างเดียว อาจมองเห็นภาพไม่ค่อยชัด สมเด็จพระนารายณ์ท่านเป็นมหาราชเพราะเอาหลายอย่างมาประกอบกัน และวิธีรักษาเอกราชของท่าน ไม่ใช่ไปทำสงคราม ไปทำยุทธหัตถี มหาวีรกรรมของท่านในการรักษาเอกราชไว้ก็คือ การใช้ชั้นเชิงทางการทูต ใช้การเจรจา ใช้รัฐประศาสนโยบายหลายอย่าง ไม่ต่างจากรัชกาลที่ 4”

“ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะเป็นกษัตริย์ ท่านผ่านการทำปฏิวัติมาแล้วสองครั้งภายในปีเดียว และในรัชสมัยพระองค์ท่านปี 2232 ก็จบลงด้วยการปฏิวัติเช่นกัน เพราะฉะนั้นเริ่มรัชสมัยก็ปฏิวัติ จบรัชสมัยก็ปฏิวัติ จึงเป็นรัชสมัยแห่งการปฏิวัติรัฐประหาร และในระหว่างครองราชย์ 32 ปีนั้น ท่านก็ผจญอยู่ในความพยายามที่จะปฏิวัติอยู่หลายครั้งจากคนอื่น”

กลับมาที่ละครบุพเพสันนิวาส มีนัยยะที่ต้องการจะเสนอว่ากรุงศรีอยุธยาหรือลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น สภาพบ้านเมืองไม่ต่างจากพาหุรัด สำเพ็ง บางลำพู หรือถนนข้าวสาร ที่มีฝรั่งมังค่า ชาวต่างประเทศเดินไปเดินมา ขี่รถม้าบ้าง ลากเกวียนบ้าง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และก็ไม่เคยปรากฏอีกหลังจากนั้นเป็นร้อยๆ ปี

“สิ่งเหล่านี้แสดงว่าเป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยชาวต่างประเทศ และทำไมคนเหล่านั้นถึงกล้ามา แล้วทำไมเราถึงกล้าให้เขาเดินเหินอยู่ได้เต็มบ้านเต็มเมือง คนไทยจะมองอย่างไรก็ตาม แต่ฝรั่งเขามองว่าสิ่งนี้คือ “เสรีภาพ” เสรีภาพในการค้าขาย เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนา พอจับเอาคำว่า “เสรีภาพ” ในการเผยแพร่ศาสนาขึ้นมา ไม่ยากเลยที่ฝรั่งยกนิ้วให้แล้วบอกว่า “ยอมรับพระมหากษัตริย์” และจะให้กษัตริย์เข้ารีต เพราะฝรั่งเขาเห่อเสรีภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งฝรั่งถึงกับทำสงครามเพื่อจะเรียกเอาเสรีภาพนี้

และพอมาถึงประเทศที่ใครมองว่าหูป่าตาเถื่อน อยู่ห่างไกล อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ในแผนที่โลก เป็นประเทศที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งก็ให้เสรีภาพจริงๆ เขาก็ต้องยอมรับ ยกย่อง และลักษณะเด่นอีกประการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือ เป็นยุคที่เราถึงขนาดติดต่อกับต่างประเทศ เชิญพระราชสาส์นไปมา เดินทางไกลแลกเปลี่ยนทูต  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินก่อนพระนารายณ์ 27 พระองค์ ไม่นึกและไม่กล้าที่จะทำ แต่สมเด็จพระนารายณ์กล้าทำ หลังสมเด็จพระนารายณ์อีกหลายรัชกาลก็ไม่กล้าคิด ไม่กล้านึก ไม่กล้าทำ อย่างมากก็กล้าทำคือค้าขายกับจีนเท่านั้น”

การส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว แต่ทำหลายครั้งแม้ว่าระยะทางจะนานไกล ไป-กลับแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นก็ตาม ซึ่งอาจารย์วิษรุกล่าวว่า คณะราชทูตคณะแรก สมเด็จพระนารายณ์ส่งไป ปี 2224 ท่านส่งไปก่อนหนึ่งคณะ คือคณะของ “ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี”

“ท่านออกญาเชิญพระราชสาส์นไป พร้อมด้วยเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองเยอะแยะมากมาย เพื่อเอาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บ้าง เอาไปโชว์บ้าง เอาไปอวดบ้าง เผลอๆ เอาไปขายบ้างเหมือนกัน ช้างก็ส่งไป เพราะอยากให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้เห็นช้างไทย ไปกันเต็มลำเรือ เพียบไปหมด ปรากฏว่าคณะทูตของออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปในปี 2224 พระนารายณ์ก็นั่งรออยู่ที่อยุธยา หายไปนานทำไมไม่กลับมา ตอนนั้นไปกับเรือฝรั่งเศสชื่อ โซเลย์ เดอ ลิยง แปลว่า “พระอาทิตย์แห่งตะวันออก”

“ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เป็นนิยายหนึ่งเรื่อง ตั้งชื่อและเขียนไว้แล้วครึ่งเล่ม ชื่อ “สุริยาแห่งบูรพทิศ” เป็นชื่อเรือที่นำออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปฝรั่งเศสและหายไป ไม่ได้ข่าว จนสมเด็จพระนารายณ์สงสัย มันจะไปมีเมียอยู่ฝรั่งเศสแล้วไม่กลับ จึงได้ตัดสินใจส่งคณะที่สองไปสืบข่าว ซึ่งคณะที่สองนี้ก็ออกเดินทางไปในปี 2226 โดยตัวราชทูต คือ ขุนวิไชยวาทิต แต่คราวนี้ไม่เชิญพระราชสาส์น เพราะคณะแรกเชิญไปแล้วและเชื่อว่าไปถึงฝรั่งเศสแล้ว ได้พบพระเจ้าหลุยส์แล้ว และมีเมียอยู่ที่ฝรั่งเศส จึงส่งออกขุนวิไชยวาทิตไปอีก มีบาทหลวงฝรั่งเศส ชื่อ วาเช่ ไปด้วย หมอนี่สำคัญ 

คณะที่สองก็ไป ลงท้ายไปประสบภัยอีกเข้าใจกันว่าโดนโจรสลัดปล้น โชคดีมีเรืออังกฤษมาช่วย ก็เลยลงเรืออังกฤษไปขึ้นบกที่ประเทศอังกฤษ กษัตริย์อังกฤษรู้เข้าทรงพระเมตตาจัดเรือข้ามช่องแคบอังกฤษไปส่งราชทูตไทยขึ้นบกที่ฝรั่งเศส และได้เข้าพบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไม่โปรดให้เข้าเฝ้าที่พระราชวังแวร์ซายน์ เพราะถือว่ามาหนนี้ไม่มีพระราชสาส์น โปรดให้เข้าเฝ้าที่โรงละคร เวลาเสด็จไปทอดพระเนตรละคร คงเป็นโอเปร่าอะไรสักเรื่อง ก็มาเฝ้าคุยกันตรงนั้น ซักกันไปถามกันมาถึงได้ข่าวว่าราชทูตคณะที่ 1 ของออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีมาไม่เคยถึงฝรั่งเศสเลย ก็เป็นอันแน่ว่าเรือไปล่มจมที่ไหนสักแห่งกลางทาง ซึ่งสันนิษฐานว่าจมแถวมาดากัสการ์ ก็มีนิยายปรัมปราเขียนเหมือนกัน ช้างก็ขึ้นบกที่นั่น มันน่าจะตามรอยพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปมาดากัสการ์ ไปดูว่ามีร่องรอยคนไทยอยู่ที่นั่นไหม..” ข้อเสนอฮาๆ ของอาจารย์วิษณุที่เรียกเสียงหัวเราะจากห้องประชุม

“ผมไม่เคยไป แต่บอกแล้วว่าผมได้แต่งนิยายไว้แล้วครึ่งเรื่อง ขณะนี้ชื่อสุริยาแห่งบูรพทิศ โดยฟันธงลงไปว่ามีคนไทยขึ้นบกที่นั่น (มาดากัสการ์) จะเป็นใครไม่สำคัญและเมื่อเป็นนิยายก็ต้องเขียนให้สนุกสิครับ คือไปมีเมียเป็นมาดากัสการ์ แล้วมีลูกอยู่ที่นั่นด้วย ก็ไม่ต้องย้อนหลังรำลึกชาติอะไรอย่างนางเอกบุพเพสันนิวาสหรอกครับ แต่เป็นคนยุคปัจจุบันนี่แหละเดินทางไปแล้วไปสืบเสาะ จนกระทั่งพบร่องรอยเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองที่เราเชิญไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไปไม่ถึงไปเรี่ยราดอยู่แถวมาดากัสการ์ นี่คือนิยายนะ เล่าให้ฟังไว้ก่อน..” อาจารย์วิษณุเกริ่นนำถึงนิยายเรื่องใหม่

อย่างไรก็ตาม ความสนุกสนานเกี่ยวกับคณะราชทูตสยามยังไม่จบ และ ดร.วิษณุเองก็ยังเล่าต่อไปอีกในหลายประเด็น ที่น่าสนใจคือเรื่องของ “ออกพระวิสุทธสุนทร” หรือโกษาธิบดี (ปาน) นั่นเอง  “ความจริงพระวิสุทธสุนทร เป็นคุณพระนี่แหละ แต่สมัยก่อนเราใช้ธรรมเนียมแบบเขมร คือเติมคำว่า “ออก” เข้าไป ก็เป็นออกพระวิสุทธสุนทร เมื่อปีที่แล้วผมตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนฯ ไปวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระราชทานที่เขมร เขาก็จัดคนมาต้อนรับ

ผมแยกจากคณะสมเด็จพระเทพรัตนฯ แล้ว เขาบอกว่ามีออกหนึ่ง ผมก็สะดุ้ง อีกคนก็ออก นั่นก็ออก สรุปเป็นออกหมด ไปถึงคนสุดท้ายหนักกว่าเพื่อน เป็น “ออกญา” ยังกะเดินออกมาจากเรื่องบุพเพสันนิวาสแน่ะ ก็สอบถามได้ความว่าเป็นคำเขมรใช้นำหน้ายศขุนนาง วันนี้เขมรฟื้นยศขุนนางขึ้นมาหมดแล้ว จนฮุนเซนก็เป็น “สมเด็จฮุนเซน” ไปแล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับพ่อค้าคหบดีเขาจะให้เป็นออก ถ้าเป็นขุนอยู่ก็ออกขุน ถ้าเป็นหลวงก็ออกหลวง เป็นพระก็ออกพระ เป็นพระยาก็เรียกออกญา ทั้งหมดนี้ไทยใช้อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทั้งนั้น ผมเลยจำว่าไทยรับมาจากเขมรแล้วก็หายไปสักพัก เขมรกลับมารับต่อไปจากไทย…”

ตัดมาถึงตอนที่ว่า “ทำไมพระนารายณ์ถึงเลือกโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต” ในพงศาวดารบอกไม่ต้องไปสงสัยอะไรหรอก เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนแนะ บอกว่าคนนี้เก่งให้ส่งไป “ทีนี้ก็อยู่ที่จะมองอย่างไรในแง่ดีแง่ร้ายต่อประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องของการตีความ ถ้าตีความแง่ดีก็ว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลม วิสัยทัศน์ดี มองการณ์ไกล รู้จักเลือกใช้คนดีคนเก่ง คนนี้ก็เก่งจริง พ่อปานนี่พูดภาษาฝรั่งเศสก็พอได้ สนใจใฝ่รู้  ถ้ามองในแง่ร้ายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์คิดจะกำจัดโกษาปาน เพราะกะว่าไปแล้วเรือล่มแน่ หรือมิฉะนั้นสูญหายกลายเป็นขึ้นเกาะมาดากัสการ์อีกคน (ฮา) ก็แล้วแต่จะมอง..”

แต่สำหรับนวนิยายเรื่องข้ามสมุทร ดร.วิษณุ เล่าว่า ได้จับเอาความในพงศาวดารที่เสาะแสวงหาคนที่หน่วยกล้าตายร่วมคณะไปอีกมาก เอาคนหนึ่งในนั้นแหละมาเป็นพระเอกเรื่องข้ามสมุทร

“ผมสู้คุณรอมแพงไม่ได้ ไม่กล้ายกเอาคนที่เป็นอุปทูต ตรีทูต มาเป็นตัวละคร ผมเอาขี้ข้าทูต..(เสียงฮา) ตอนที่ผมแต่งนิยายผมไม่เคยรู้เรื่องบุพเพสันนิวาสนะ แต่นึกอยู่เหมือนกันว่าทำไมเราไม่เอาตัวอุปทูต ตรีทูต มาเป็นตัวเอกในหนังสือ แต่ผมมานึกว่าสามคนนี้มีหัวนอนปลยเท้า เขาต้องมีลูกมีหลานสืบมาจนถึงบัดนี้แน่ๆ ขนาดตัวราชทูตโกษาปาน ใครไปเอาท่านมาแต่งส่งเดชสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะท่านคือพระบรมราชบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรี…”

“โกษาปานมีลูกคนหนึ่ง คือ พ่อขุนทอง ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาได้เป็นออกญาวรวงศาธิราช ออกญาผู้นี้มีลูกในสมัยพระเจ้าเสือ ได้รับราชการเป็นพระยาราชนิกูล ลำดับต้นสายปลายเหตุ พระยาราชนิกูลมีลูกคือ คุณทองดี ซึ่งทำเป็นเล่นไป วันนี้เรียกคุณทองดีไม่ได้ ต้องเรียก “สมเด็จพระปฐมบรมมหาราชชนก” เพราะท่านเป็นพ่อของรัชกาลที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านมีจดหมายไปถึงเซอร์จอห์น เบาริ่ง ว่าต้นตระกูลของเราสืบเชื้อสายมาจากโกษาปาน เพราะฉะนั้นโกษาปาน จะเอามาแต่งเป็นนิยายส่งเดชไม่ได้ แม้แต่หลวงกัลยาราชไมตรีก็มาแต่งส่งเดชไม่ได้ เพราะต้องมีลูกหลานสืบมาเป็นตระกูลอะไรสักตระกูลหนึ่ง ผมก็ไม่กล้าเขียนหรอก ก็ต้องเอาขี้ข้าทูตคนหนึ่งเป็นพระเอก จะได้ไม่ต้องมีใครมานับญาติด้วย

อาจารย์วิษณุกล่าวต่อไปว่า โกษาปานสามารถเอาชีวิตรอดกลับมาได้ ในพงศาวดารไทยเขียนเรื่องนี้ไว้ละเอียดชัดเจน คงมีแต่งเติมเข้าไปบ้าง เช่น ฉบับสมเด็จพระวันรัตน์ ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ บอกว่าตอนที่โกษาปานไปอยู่ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชอบใจมากเห็นว่ามาอยู่นาน ว้าเหว่ จึงพระราชทานผู้หญิงคนหนึ่งให้เป็นเมีย จนมีลูกด้วยกัน นี่ก็แต่งนิยายได้อีกเรื่องว่าลูกอยู่ที่ไหน แต่ผมวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะจริง ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ไม่น่าจริงเพราะโกษาปานไม่น่าจะอยู่ได้นานขนาดนั้นในฝรั่งเศส น่าจะอยู่ประมาณ 6 เดือน สุดท้ายโกษาปานก็กลับมา ได้ความดีความชอบ

ตอนกลับมานี่ยุ่งล่ะ ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ได้เป็นนิยายเพราะเนื่องจากฝรั่งเศสส่งทหารมาด้วยตั้ง 600 คน มีบาทหลวงเป็นอันมาก มากันขนาดนั้นอย่าว่าแต่พระเพทราชาเลย คนไทยคนไหนรู้ก็ตกใจแน่ มีทั้งปืนใหญ่ ปืนไฟ เรือตั้งหลายลำ ทหารตั้งเยอะ มีแม่ทัพฝรั่งเศสมาด้วย คือนายพลเดส์ฟาร์จ นี่คือต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์หวาดระแวง เพราะฉะนั้นการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงมีสามก๊กใหญ่ยันกันอยู่ และยังมีก๊กเล็กอีก

นอกจากพระนารายณ์แล้ว ก๊กหนึ่งที่จ้องตาเป็นมันอยู่ก็คือ ก๊กเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ก๊กที่สองก็จ้องเหมือนกัน คือ ก๊กพระเพทราชา ก๊กที่สาม คือก๊กเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งเป็นน้องพระนารายณ์แต่คนละแม่ และมีก๊กเล็กก๊กน้อยแซมอยู่ คือ ก๊กพระปีย์ ว่ากันว่าเป็นบุตรบุญธรรมที่พระนารายณ์เอามาเลี้ยง สามก๊กนี้ยันกันและจ้องมองวาระสุดท้ายของสมเด็จพระนารายณ์”

“ประวัติศาสตร์ก็บอกไว้เหมือนกันว่าทหารฝรั่งเศสอาจจะจับมือกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ แต่หนุนเจ้าฟัาอภัยทศ จริงไม่จริง ไม่รู้ เจ้าฟ้าอภัยทศเป็นน้องพระนารายณ์มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์เพราะเป็นลูกพระเจ้าปราสาททองเหมือนกัน ถ้าดูภาษีแล้วใครได้เปรียบ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้เปรียบ เพราะเป็นอัครมหาเสนาบดีสมุหนายก เทียบกับเวลานี้ก็คือนายกรัฐมนตรี ราชทินนามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็คือ เจ้าพระยาจักรี เห็นใครเป็นเจ้าพระยาจักรีให้รู้เลยว่าคือ สมุหนายก หรือนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยในเวลานั้น บังเอิญว่าท่านชื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ไม่ได้ชื่อจักรี แม้กระนั้นคนทั้งหลายก็เรียกท่านว่า จักรีฝรั่ง เพราะท่านมีคนอยู่ในอำนาจมากและคุมกรมพระคลังอีกด้วย มีเงินมาก มีอำนาจมาก พระนารายณ์ก็รักมากด้วย”

“เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนฉลาด ไต่เต้าขึ้นมาจากเด็กที่ไม่มีอะไรเลย จะบอกว่าไม่มีหัวนอนปลายเท้าก็ได้  เป็นกะลาสีเรือทำงานในเรือเพราะฉะนั้นชำนาญการค้าการเดินเรือ มารับราชการเป็นหลวงสุรสาคร ขยับเป็นออกพระฤทธิกำแหง ขยับอีกทีเป็นพระยาวิชาเยนทร์ ออกญาวิชาเยนทร์เป็นคนฉลาด ทำอะไรถูกใจพระนารายณ์ไปหมด จนกระทั่งขุนนางไทยอิจฉา ในพงศาวดารเขียนไว้เองว่าวันหนึ่งพระนารายณ์ประชุม แล้วบอกว่า “อย่าไปอิจฉาเลย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เขามีสติปัญญาหลักแหลมเกินกว่าพวกเองมากนัก”  นี่แหละสาดน้ำมันในกองเพลิงเลยนะ ที่นั่งฟังอยู่ด้วยมีพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ คำประโยคนี้เขียนในพงศาวดารทุกเล่มเลย 

ให้ทำอะไร เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็ทำได้เพราะว่าฝรั่งคุ้นกับศิลปวิทยาการ แต่คนไทยไม่คุ้น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เริ่มต้นประเดิมงานชิ้นโบว์แดงงานแรกเมื่ออยุธยาต่อเรือเสร็จ ไม่รู้จะเอาออกจากอู่ยังไง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ใช้กว้านใช้รอกจัดการลากเรือจากอู่ลงแม่น้ำได้ คนไทยตกตลึงพึงเพริด เพราะคนไทยสวดมนต์อยู่ 7 วัน กว่าจะเอาเรือลงน้ำได้”

“วันหนึ่งพระนารายณ์จะทดลองสติปัญญา ตอนนั้นในอยุธยามีปืนใหญ่สุดชื่อ พระพิรุณ ทรงอยากรู้ว่าหนักเท่าไหร่ คนไทยไม่มีปัญญาชั่ง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์รู้ว่าจะชั่งได้ยังไง ท่านเอาเรือไปลอยในน้ำแล้วขีดไว้ว่าเรือลอยมีระดับน้ำแค่นี้ แล้วเอาปืนพระพิรุณใส่ลงในเรือ ปืนหนักเรือก็จมลง ก็ขีดเอาไว้ว่าจมลงไปแค่นี้ เสร็จแล้วเอาปืนใหญ่ออกจากเรือ แล้วเอาอิฐใส่เข้าไปในเรือแทนจนกระทั่งเรือจมเท่ากับขีดที่ขีดไว้แต่เดิมตอนใส่ปืนใหญ่ จากนั้นเอาอิฐออกจากเรือ แล้วเอาอิฐไปชั่ง พอชั่งเสร็จก็ออกมาเป็นน้ำหนักของปืน ไม่ยากเลย ทำวันสองวันก็เสร็จ ประโยคนี้จึงเกิดขึ้นเพราะเรื่องชั่งปืนพระพิรุณ “อย่าไปอิจฉาเขาเลย เขาเก่งกว่าพวกเองมากนัก”

เรื่องราวพระนารายณ์ในสมัยอยุธยานั้น สนุกสนานมาก อยุธยาเป็นราชธานี 417 ปี มีเรื่องเขียนได้เยอะ มีเรื่องให้เรียนได้เยอะ แต่ถ้าคนไทยอ่านประวัติศาสตร์อยุธยา 417 ปี มองลงไปเห็นสงครามยุทธหัตถี เห็นเสียกรุงครั้งที่ 1 เสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างอื่นไม่ค่อยจะเห็น ครูบาอาจารย์ไม่ค่อยจะสอน คนไทยเรายุคนี้เกือบจะไม่รู้จักเลยว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นใคร “สำหรับผมมองว่าท่านยิ่งใหญ่เหลือเกิน จึงไม่แปลกถ้าจะให้ท่านเป็น มหาราช ด้วยซ้ำไป หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองราชย์ 38 ปี ก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน สมัยท่านฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาสยามคือโปรตุเกส

คนไทยจะมองความยิ่งใหญ่ของอยุธยาอยู่แค่นี้ รู้จักอยู่แค่นี้ว่างั้นเถอะ แต่สำหรับต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปมองมาที่ประวัติศาสตร์อยุธยานั้น เขาไม่เห็นใครเลยนอกจาก พระนารายณ์ พระองค์เดียว ใครจะทำสงครามยุทธหัตถี ชนช้าง ชนแพะ ใครแพ้ใครชนะเขาไม่รู้ด้วย จะเสียกรุงไม่เสียกรุง เขาไม่รู้ด้วย เขารู้อย่างเดียวพระนารายณ์ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ให้ฝรั่งมาสร้างโบสถ์ได้

“เวลานั้นยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ท่านยิ่งใหญ่เพียงไร พระนารายณ์ก็ยิ่งใหญ่ตามขึ้นมาเพียงนั้นในประเทศไทย และสองคนนี้มีอะไรคล้ายกันเหลือเกิน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ปารีสเบื่อมากเลยไปสร้างพระราชวังแวร์ซายน์ ห่างออกไป 25 กม. ปีหนึ่งไปอยู่หลายเดือน ด้านพระนารายณ์อยู่อยุธยาก็เบื่อเหลือเกิน ปีหนึ่งจึงไปอยู่ลพบุรี 8 เดือน เพราะฉะนั้นทั้งคู่มีอะไรคล้ายกัน

แต่เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินว่าเมื่อสิ้นสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ทุกอย่างก็จบลงพร้อมกัน และชะงักมาอีกนาน…”

ถึงแม้ละครบุพเพสันนิวาสจะลาจอไปแล้ว แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังเป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหาและศึกษาติดตามต่อ

หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของราชทูตจากฝรั่งเศส ที่ถามพระนารายณ์เกี่ยวกับการให้พระองค์เปลี่ยนศาสนา ซึ่ง รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการ เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังถึงคำตอบของสมเด็จพระนารายณ์ว่า ตอนที่เชอร์วาลิเย เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภารกิจของทูตคณะนี้คือการให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้ารีต เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์ศาสนาให้ได้ ส่วนภารกิจที่สองคือการเจรจาความด้านการค้า เพื่อที่จะขอสิทธิพิเศษบางประการจากราชสำนักอยุธยา

“โดยภารกิจแรกที่ต้องการพยายามทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้ารีต ราชทูตเองก็พยายามชักจูงสมเด็จพระนารายณ์ให้เห็นว่า การนับถือพระพุทธศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้าถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ เป็นเสมือนว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้ทรงเป็นผู้อปถัมภ์ศาสนาคริสต์อยู่แล้ว ถ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ด้วย ก็จะแสดงความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย ซึ่งเราจะเห็นความฉลาดและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์ในการตอบแบบประนีประนอม คือไม่ได้ตอบว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ในขณะเดียวกันจะทรงใช้คำว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ หากว่าพระผู้เป็นเจ้าดลบันดาลให้ทรงเปลี่ยนพระทัย แต่อย่างไรก็ดี ก็จะพระราชทานสิทธิแก่บาทหลวงในการเผยแผ่ศาสนาอยู่แล้ว”

รศ.ดร.ปรีดี กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการที่พระองค์บอกว่าจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าดลพระทัยให้เปลี่ยน ก็เป็นการตอบแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของท่านว่าท่านไม่สามารถที่จะสละศาสนาที่มีมากว่า 2,200 ปีได้ เพราะบรรพบุรุษท่านนับถือมาแล้ว อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนไปเลยก็เปลี่ยนไม่ได้ แน่นอนว่าท่านก็คงคิดอยู่แล้วว่ามีการเปลี่ยนศาสนาขึ้น ผลที่ตามมาจะส่งผลกระทบต่อสังคมค่อนข้างมาก มันอาจจะเกิดความไม่พอใจของคนในสังคม พระสงฆ์อาจจะลุกฮือขึ้นมาอีกก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ไป

“แต่จริงๆ แล้วสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงชอบศาสนาคริสต์ เพราะเวลาบาทหลวงต่างๆ มาเข้าเฝ้า จะเอาของมาถวายท่านเยอะมาก เช่น หนังสือที่ว่าด้วยรูปเคารพทางศาสนา พระคัมภีร์ไบเบิล หรืออะไรต่างๆ แล้วท่านก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ และท่านก็สนใจ เรียกบาทหลวงเข้ามาถามตลอดเวลาว่าคนนี้คือใคร คนนั้นคือใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพราะฉะนั้นท่านก็ทรงให้ความสนใจ แต่ถ้าถามว่าลึกๆ ในใจท่านอยากจะเปลี่ยนหรือเปล่า คงต้องตอบว่าท่านก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะถ้าเปลี่ยนก็ต้องรื้อโครงสร้างของสังคมไทยทั้งหมด เช่น วัดมีจำนวนลดลง แต่ขณะที่พระสงฆ์ยังมีบทบาทเยอะ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่สมเด็จพระนารายณ์จะทรงเข้ารีต เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์” รศ.ดร.ปรีดีกล่าว


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111

เรื่อง : ปริศนา ทับดวง ภาพ : กนกวรรณ มากเมฆ – เซคชั่นประชาชื่น นสพ.มติชนรายวัน


ฉากหวานในละครบุพเพสันนิวาส เมื่อขุนศรีวิสารวาจาอาสาเป็นไกด์ส่วนตัวพาแม่หญิงการะเกดขี่ม้าชมเมือง ไปเยือนเมืองละโว้ ราชธานีแห่งที่ 2 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

“พระราชวังมี 3 ชั้น ที่เห็นยอดแหลมทรงมณฑปนั่นเป็นพระราชฐานชั้นนอก พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นท้องพระโรง มีสีหบัญชรเสด็จออกรับแขกบ้านแขกเมือง พระราชฐานชั้นกลางพระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ว่าราชการงานเมือง ถัดไปโน่นไกลๆ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประทับฝ่ายใน” คุณพี่แนะนำพระราชวังเบื้องหน้าให้แม่หญิงที่ออกอาการตื่นเต้นและฟังอย่างตั้งใจ

ฉากนี้ออกอากาศเพียงชั่วข้ามคืน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมืองละโว้ หรือลพบุรีในปัจจุบันคึกคักขึ้นทันตา มีบรรดาออเจ้ายกขบวนไปร่วมตามรอยศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างเนืองแน่น

“พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ตามท้องเรื่อง เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง มีรูปแบบที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปกรรมไทยและตะวันตก เจิดจรัสด้วยรูปลักษณ์สมัยใหม่ในยุคนั้น เช่น ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลม

จัดสวนตกแต่งในเขตพระราชฐานด้วยการแบ่งเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ พร้อมมีน้ำพุเตี้ยๆ ประดับสวน รูปแบบอาคารและสวนเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากราชสำนักเปอร์เซียและโมกุล

ผนังภายในพระที่นั่งบางองค์ เช่น พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทตกแต่งด้วยกระจกเงา ที่นำมาจากยุโรป

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์

แม้กระทั่งกระเบื้องมุงหลังคาเคลือบสีเหลืองจักรพรรดิของพระที่นั่งหลายองค์ในพระราชวังก็มีผู้บันทึกไว้ว่า ยามต้องแสงพระอาทิตย์จะสะท้อนวาววับเสมือนมุงหลังคาด้วยทองคำได้โปรดฯให้ซื้อจากจีน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้พระราชวังเมืองลพบุรีเป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อาทิ ทูตานุทูต บาทหลวง และพ่อค้านานาชาติตลอดรัชสมัยของพระองค์ เข้าใจว่าเป็นเงื่อนไขของการกำหนดให้สถาปัตยกรรมในพระราชวังเมืองลพบุรีมีรูปลักษณ์อันได้รับอิทธิพลจากหลายสายวัฒนธรรมของโลก

รวมถึงการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังแบบพระราชวังอาลิคาปู ประเทศอิหร่าน อันแสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมแบบเปอร์เซียของพระองค์ โดยพงศาวดารบอกว่า พระองค์มักประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน

บริเวณพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระนารายณ์ราชนิเวศน์

เยือนแหล่งประวัติศาสตร์เมืองละโว้ทั้งที ต้องเที่ยวชมให้ครบ สถานที่สำคัญอีกแห่ง “พระที่นั่งไกรสรสีหราช” หรือ “พระที่นั่งเย็น” พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่บนเกาะริมทะเลชุบศร จึงเรียกอีกชื่อว่า “พระที่นั่งทะเลชุบศร” สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทรงสำราญพระราชอิริยาบถและทรงประพาสเพื่อคล้องช้าง

บันทึกของฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อพระองค์เสด็จประพาสล่าช้างป่า จะเสด็จฯกลับเข้ามาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้

พระที่นั่งไกรสรสีหราช มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย คือเป็นพระที่นั่งจัตุรมุข มีหลังคาเครื่องไม้แบบไทย ด้านทิศตะวันออกมีมุขเด็จยื่นออกมา คงเป็นที่ใช้รับรองแขกเมืองและบรรดาบาทหลวง

มาถึง “วัดสันเปาโล” วัดในคริสต์ศาสนาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่คณะบาทหลวงเยซุอิตจากฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ.2229 พร้อมกับคณะราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพร้อมกับใช้เป็นที่พักของคณะบาทหลวง โดยคำว่า “สันเปาโล” นี้คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า เซนต์ปอลหรือแซงต์เปาโล (Saint Paulo) นั่นเอง

และเป็นที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสนพระทัยในเรื่องดาราศาสตร์อย่างมาก เมื่อมีกลุ่มบาทหลวงที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ทรงพระกรุณาต้อนรับและให้สิทธิต่างๆ ในการตั้งกล้องสำรวจปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา เป็นหอดูดาว

โดยหอดูดาวแห่งนี้ถือได้ว่า เป็นหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งแรกของสยาม และเป็น 1 ใน 3 ของหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย

วัดสันเปาโล หรือวัดเซนต์ปอล มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะมีหลักฐานเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปหอดูดาวที่วัดแห่งนี้ เป็นหอดูดาวแปดเหลี่ยมสูงสามชั้น ชั้นบนสุดสามารถใช้ตั้งกล้องดูดาวได้ ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยแนวบันไดและช่วงชั้นปรากฏให้เห็นที่ผนัง ส่วนอาคารอื่นๆ เช่น ที่พักของคณะบาทหลวงเยซุอิต ห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และหมู่อาคารต่างๆ ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏบนผนังส่วนที่เหลือของอาคารหอดูดาวทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงมีลักษณะของศิลปะไทยผสมอยู่ด้วย เพราะมีการใช้ลวดบัวเป็นเส้นคั่น

ในสมัยนั้นคณะบาทหลวงเยซุอิตเดินทางเข้ามาในสยามตั้งแต่ครั้งทูต เดอ โชมองต์ เข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2228 โดยพบว่า บาทหลวงตาชาร์ดมีบทบาทมากในเรื่องการเมือง เพราะได้พยายามประสานผลประโยชน์ทางการศาสนาและการเมืองกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ โดยในครั้งต่อๆ มาได้มีจดหมายลับฝากไปกับบาทหลวงตาชาร์ด เรื่องการขอบาทหลวงฝรั่งเศสให้เดินทางลับๆ เข้ามาในสยาม หลังจากที่พระเพทราชาปฏิวัติแล้ว บาทหลวงตาชาร์ดได้เป็นทูตเดินทางเข้ามาในสยามอีกครั้ง แต่ฝ่ายสยามเห็นว่าไม่ใช่การเดินทางมาพร้อมกับเรือฝรั่งเศส จึงให้บาทหลวงตาชาร์ดคอยวันที่เหมาะสมก่อน

วัดสันเปาโล

ส่วนสถานที่สำคัญที่ออเจ้าจักพลาดมิได้เชียวหนา คือ “บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์” หรือ “บ้านวิชาเยนทร์” สถานที่สำหรับรับรองราชทูตที่มาเข้าเฝ้าฯ ที่เมืองลพบุรี และเป็นบ้านพักของ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือ “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” สมุหนายกชาวกรีก ผู้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

บ้านวิชาเยนทร์ ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของพระราชวังเมืองลพบุรี บริเวณส่วนหนึ่งใช้เป็นที่พักของบรรดาราชทูตอันมาแต่เมืองไกล เช่น เปอร์เซียและฝรั่งเศส จากประตูพระราชวังมุ่งตรงสู่บ้านหลวงรับราชทูต มีวัดเสาธงทองคั่นกลาง มีตึกที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปรากฏอยู่ 2 หลัง คือ ตึกโคระส่าน และตึกปิจู ใช้เป็นที่พำนักของราชทูตเปอร์เซียส่วนหนึ่ง

ส่วนบ้านหลวงรับราชทูตตั้งอยู่บริเวณเดียวกับบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เพียงแต่มีแนวกำแพงคั่น

อาคารทั้งหมดก่ออิฐถือปูนในลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยบางหลังเป็นแบบศิลปะยุโรปแบบเรอเนสซองต์ มีหน้าจั่วรูปสามเหลี่ยม ส่วนที่เป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มีอาคารหลายหลังและประดับรอบบ้านด้วยน้ำพุ มีห้องใต้ดิน ส่วนบ้านพักของราชทูตเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน

ที่สำคัญคือ โบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาประดับกระจกสี ภายในมีแท่นบูชา มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาวเป็นศิลปะแบบไทย โบสถ์หลังนี้ถือกันว่าเป็นโบสถ์คริสต์หลังแรกในโลกที่ตกแต่งด้วยลักษณะทางศิลปะแบบพระพุทธศาสนา

เมื่อพระเพทราชาและกลุ่มขุนนางคิดก่อการปฏิวัติ ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยังคงพำนักอยู่ในบ้านแห่งนี้ แต่มีความหวาดระแวงอยู่มาก เพราะให้ทหารฝรั่งเศส 4-5 นาย เป็นทหารอารักขาความปลอดภัย ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2231 พระเพทราชาสั่งให้ทหารไปตามฟอลคอน โดยแจ้งว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงต้องการให้เข้าเฝ้าฯ แต่เมื่อเข้าประตูไปนั้นได้พบกับพระเพทราชาที่ดักรออยู่แล้ว ฟอลคอนถูกจับกุมไปทรมานและประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2231

โบสถ์ในบริเวณบ้านวิชาเยนทร์

รวมถึง “ประตูเพนียด” โบราณสถานสำคัญอีกแห่ง เป็นประตูเมืองโบราณขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเพนียดคล้องช้าง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความสมบูรณ์ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเป็นประตูเมือง 1 ใน 2 แห่ง คือ ประตูชัยและประตูเพนียด ที่ยังหลงเหลือหลักฐานมาถึงในปัจจุบันของเมืองลพบุรี

นอกจากนี้ ในบริเวณนี้ยังมีร่องรอยเนินดินของเพนียดคล้องช้างปรากฏอยู่ โดยเพนียดคล้องช้างที่เมืองลพบุรีนี้ใช้ในการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยามาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดฯให้มีการคล้องช้างให้กับราชทูตได้ชมที่เพนียดแห่งนี้

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แต่ละแห่งในเมืองละโว้ ล้วนวิจิตรและทรงคุณค่า คุ้มค่าแก่การไปเยี่ยมเยือนยิ่งหนาออเจ้า

ประตูเพนียด

“มติชน อคาเดมี” พาร่วมทริปย้อนเวลาไปเฝ้าขุนหลวงนารายณ์ ณ เมืองละโว้ ตามรอยขุนศรีวิสารวาจากับแม่หญิงการะเกด สู่ราชธานีแห่งที่ 2 ไปกับ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์กรุงเก่า วันที่ 29 เมษายน 2561

ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์จากโบราณสถานสำคัญ อาทิ ประตูเพนียด พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น วัดสันเปาโล วัดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา กำเนิดหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งแรกของสยาม และเป็น 1 ใน 3 ของหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

จากนั้น มุ่งหน้าสู่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังที่ใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ก่อนมุ่งหน้าสู่บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์ สถานที่รับรองราชทูต และเป็นบ้านพักของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

สนใจติดต่อมติชน อคาเดมี โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2123, 2124, 08-2993-9097 ID Line @m.academy

แม้ละครดัง“บุพเพสันนิวาส”จบบริบูรณ์ไปเรียบร้อย แต่กระแสฟีเวอร์ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสนใจใฝ่รู้ศึกษาประวัติศาสตร์สยามครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทื่ “เมืองอโยธยา” เป็นราชธานี และเปรียบ“เมืองละโว้”เป็นราชธานีแห่งที่2

ด้วยความเจริญอย่างต่อเนื่องของ“เมืองละโว้” ทำให้เกิดการก่อสร้างใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พบว่าเมืองละโว้ตั้งอยู่ในที่ดอน ทำให้ฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จนมีระบบการจัดการน้ำเกิดขึ้น

เกร็ดความรู้จากหนังสือ “สาระน่าสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” โดยนายภูธร ภูมะธน สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ นำมาสู่การจัดการน้ำ มีการสร้างระบบเก็บกักน้ำ สร้างถังพักตะกอนและจ่ายน้ำไปตามท่อน้ำดินเผาฝังใต้ดินเพื่อใช้ในพระราชวัง อารามหลวง และบ้านขุนนาง

ระบบการจัดการน้ำเมืองละโว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งแรก คือการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำโบราณที่มีมาก่อนรัชสมัยพระองค์ คือ ทะเลชุบศร ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำปากจั่นและบังคับให้น้ำไหลตามท่อนำไปสู่ถังพักตะกอนคืออ่างแก้วและสระแก้ว จากนั้นจึงจ่ายน้ำตามท่อน้ำดินเผาที่ฝังใต้ดิน เพื่อนำไปใช้ เข้าใจว่าได้รับคำปรึกษาจากวิศวกรชาวเปอร์เซีย-โมกุล ว่ากันว่าระบบประปาเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่

บันทึกของแชรแวส ผู้พำนักในสยามระหว่างพ.ศ.2224-2228 ระบุว่า ระบบน้ำที่เมืองลพบุรีใช้เวลาสร้างนานถึง10 ปี จึงแล้วเสร็จ

ต่อมาช่วง10ปีสุดท้ายของรัชกาล(พ.ศ.2221-2231) เมืองละโว้ ได้รับการก่อสร้างใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเป็นเวลาการมาเยือนของราชทูตนานาประเทศ ทำให้อาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก มีการตกแต่งอาคารให้สวยงามด้วยสวนและน้ำพุตามแบบเปอร์เซีย-โมกุล ทำให้ความจำเป็นของการใช้น้ำยิ่งมากขึ้นอีก

โครงการแหล่งป้อนน้ำใช้สำหรับเมืองละโว้แหล่งใหม่จึงเกิดขึ้น คือ ชักน้ำจากห้วยซับเหล็ก ห่างจากเมืองละโว้ไปทางทิศตะวันออกประมาณ12กิโลเมตร ผ่านลำรางส่งน้ำแบบเปิดรูปตัวยู จนถึงสระพักตะกอนน้ำที่บ้านวังศาลา(ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี) จากนั้นจึงบังคับน้ำให้ไหลไปตามท่อน้ำดินเผา ฝังใต้ดินผ่านหอระบายแรงกดดันอากาศตรงมายังพระราชวัง โดยมีบาทหลวงฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

โครงการบริหารน้ำให้เกิดประโยชน์ สะดวกและสวยงาม ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี เป็นผลงานสำคัญในฐานะพระองค์ทรงเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในสยาม ใช้เวลาก่อสร้างและพัฒนานานเกือบ20ปี

ห็นออกมาในละคร “บุพเพสันนิวาส” อยู่หลายฉากหลายครั้ง สำหรับ “พระปีย์” ที่แสดงโดย “เก่ง ธชย” จนบางคนสงสัยว่า พระปีย์เป็นใคร? เป็นโอรสของสมเด็จพระนารายณ์จริงหรือไม่? ทำไมพระนารายณ์ทรงโปรด?

เรื่องนี้ “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน อคาเดมี” ว่า ในพงศาวดารบอกว่าสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ที่น่าจะประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่ไม่มีการปรากฏว่าพระอัครมเหสีชื่ออะไร

“อย่างไรก็ดี มีอีก 2 คนที่เข้าข่ายความเป็นพระราชโอรสด้วย คือ 1.ออกหลวงสรศักดิ์ เพราะในพงศาวดารจะพูดถึงตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปปราบหัวเมืองเหนือที่เชียงใหม่ และน่าจะทรงได้พระธิดาของกษัตริย์เชียงใหม่มาเป็นพระชายา ซึ่งต่อมาจะมีพระโอรส และพระโอรสองค์นี้จะมาประสูติแถบ จ.พิจิตร ที่โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งต่อมาก็รู้กันว่าเป็นออกหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ แล้วก็ทรงให้พระเพทราชาดูแลพระเจ้าเสือมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หรือเด็กมาก เพราะฉะนั้นพระเจ้าเสือก็น่าจะเป็นโอรสแท้ๆ แต่เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจะต่างไปจากกรณีของพระปีย์”

โดยพระปีย์น่าจะเป็นคนคุ้นเคยที่ท่านทรงรู้จักหรือคุ้นเคยมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะว่าพงศาวดารให้พระปีย์เป็นชาวบ้านแก่ง ที่พิษณุโลก แต่จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏ ทราบแต่ชื่อพ่อว่าชื่อขุนไกร แต่ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบิดาของพระปีย์เลย และไม่รู้ด้วยว่าพระปีย์เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักด้วยเหตุผลกลใด ทราบแต่ลักษณะบุคลิกว่าเป็นคนเตี้ย คนค่อมที่ทรงโปรดปรานใช้งาน และอยู่ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด

“พระปีย์ถือว่าเป็นลูกบุญธรรม ตามที่เอกสารไทยและเอกสารตะวันตกบันทึกเอาไว้ ซึ่งเอกสารทั้งคู่บันทึกไว้ว่าเป็นลูกบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในตอนปลายรัชกาลจะมีปัญหาเรื่องการเมือง เพราะว่าพระปีย์เองก็จะกลายเป็นหุ่นเชิดที่ฟอลคอนคิดว่า ถ้าสนับสนุนฝ่ายพระปีย์แล้วก็จะได้ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์ได้ เพราะหากสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระปีย์อาจจะอยู่ในข่ายของผู้ที่จะมาครองราชสมบัติต่อไป ฟอลคอนก็อาจจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังพระปีย์ แล้วหาทางกำจัดพระปีย์ต่อไปก็ได้”

ทั้งนี้ จริงๆ แล้วพงศาวดารไม่ได้บอกว่าเหตุใดสมเด็จพระนารายณ์ถึงโปรดปรานพระปีย์ แต่พระปีย์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่านมากที่สุด เช่น อยู่ในห้องข้างพระที่ เวลาที่บรรทม ก็น่าจะอยู่ใกล้ที่สุด เป็นผู้ที่คอยรับคำสั่งโดยตรงจากสมเด็จพระนารายณ์ เช่น จะบอกให้ใครเข้าเฝ้าก็ต้องบอกผ่านพระปีย์ให้ไปบอกต่ออีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระปีย์จึงน่าจะเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์ที่สุดแล้ว ด้วยเหตุนั้นจึงอาจจะยังทรงไว้วางพระทัยพระปีย์

“ผนวกกับการที่พระปีย์มีลักษณะพิเศษ คือด้วยความที่เป็นค่อม เตี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของคนที่ต้องไปรับราชการฝ่ายในอยู่แล้ว จากตามกฎหมายตราสามดวง จะมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มคนพิเศษ เช่น เตี้ย ค่อม กะเทย คนเผือก คนพวกนี้จะกลายไปป็นคนที่เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะกลายเป็นที่ไว้วางพระทัยมาก เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นคนโปรด อาจจะเป็นคำของคนสมัยหลัง เพราะเห็นว่าถ้าจะเข้านอกออกใน หรือจะพูดอะไรกับสมเด็จพระนารายณ์ ก็จะต้องพูดผ่านพระปีย์” รศ.ดร.ปรีดี กล่าว

“ภูธร ภูมะธน” ชี้ ควรถือโอกาสกระแสละครฮิต เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่แต่งไทย แต่ต้องเปิดโลกทัศน์ รู้จักนำมาพัฒนาปรับปรุงสังคม

นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของไทย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า เวลานี้ความอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่แพร่หลายกว้างขวาง คนอินจากละครจึงอยากเรียนรู้ สืบค้น ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมจากกระแสของละครที่เห็นได้ชัด คือ การแต่งกาย เวลานี้มีการแต่งกายย้อนยุคครั้งโบราณหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ สมัยอยุธยา สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มี แล้วแต่จะคิดสรรค์กันไป สรุปว่าถ้าย้อนยุคก็สอดคล้องกับอารมรณ์ของละครบุพเพสันนิวาส อย่างไรก็ตาม มองว่าที่แต่งกันอยู่นั้น ไม่ใช่การแต่งกายสมัยพระนารายณ์จริง ซึ่งสังคมไทยเวลานั้นมีหลายชั้น ตั้งแต่เจ้าไปจนกระทั่งไพร่ ทาส ระดับชั้นเหล่านี้จะแต่งกายกันคนละแบบ ส่วนการแต่งกายที่แต่งกันวันนี้ ไม่รู้ลึกๆ ว่าอยากจะสื่อหรือระลึกถึงครั้งหนึ่งไทยเราเคยรุ่งเรืองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับคนทอผ้า คนตัดผ้า คนซักรีดผ้า เป็นการขับเคลื่อนทางธุรกิจ

“แต่เรื่องที่ผมอยากให้เป็น คือประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์ มีความพิเศษยิ่ง นั่นคือ การเปิดโลกประเทศไทยสู่โลกสากล และการรับมาซึ่งวิทยาการจากชาติตะวันตก การนำเข้าบรรดาพวกนักการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีความคิดเชิงซับซ้อน ซ่อนเร้น คิดอย่าง ทำอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้การเมืองไทยยุคนั้นเมื่อ 300 ปีก่อนเริ่มเข้าสู่อารมณ์ความเป็นการเมืองในความเป็นสากลแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อบรรพรรพบุรุษเราเมื่อ 300 ปี เริ่มเรียนรู้แล้วว่าจะเจอปัญหาการเมืองแบบนี้ ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และจะแก้อย่างไร ซึ่งผมอ่านประวัติศาสตร์ยุคนี้แล้วรู้เลยว่ามีการตกหลุมพรางบ้าง กระโดดขึ้นจากหลุมพรางได้บ้าง หรือหลอกเขากลับบ้าง สิ่งเหล่านี้จากประวัติศาสตร์เป็นการสอนให้สังคมรู้จักการปรับตัว การพัฒนาตัว ผมคิดว่าบทเรียนประวัติศาสตร์นี้ต่างหากที่ควรนำมาตีแผ่ มาแฉ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อะไรที่เดินลงเหว อะไรเป็นทางเดินสู่สวรรค์ สู่ความจริงหรือความสำเร็จ เรื่องแบบนี้เรายังพูดกันน้อยในสังคมไทย”

อาจารย์ภูธร ภูมะธน

นายภูธร กล่าวอีกว่า เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบรรพบุรุษที่ดีงาม มีการสืบทอดจากอดีตเรื่อยมาถึงปัจจจุบัน ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นพรวดๆ อยู่กลางทาง เพราะฉะนั้นเรื่องของพระนารายณ์เป็นสายป่านอันยาว เป็นประสบการณ์จากอดีต จากบรรพบุรุษเรา ไม่ว่าการสร้างอาคาร วัด ถนน การจัดวางผังเมือง การจัดสาธารณูปโภค เราเริ่มเมื่อ 300 ปีที่แล้วทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คิดว่าได้โอกาสมาฟื้นฟูบูรณะปรุงแต่งให้เป็นประจักษ์พยานสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการนำมาปรับปรุงพัฒนา เพราะสถานที่ต่างๆ ที่พูดถึงในละคร โดยความเป็นจริงแล้วยังถูกละทิ้ง ละเลยอยู่ ก็จะได้ใช้โอกาสนี้บูรณะปรับปรุงเสียเลย

“เรียกว่าตอนนี้เรามีแนวร่วมเยอะมากแล้ว จะได้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ปัญหาคือผู้มีหน้าที่จะเอาตรงนี้มาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร และจะประกาศหาภาคีหรือพันธมิตรอย่างไร ถ้าทำได้ก็จะเป็นโมเดลที่ดี ที่ลุกขึ้นมาทั้งองคาพยพเพื่อจะทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของราชการอย่างเดียว หรือประชาชนก็ทู่ซี้คอยลุ้นกันว่าจะปรับปรุงพัฒนาอย่างไร” นายภูธรกล่าว

สำหรับพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี นั้น ปัจจุบันหากมองเรื่องความยั่งยืนในการอนุรักษ์หรือรักษาไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ก็ไม่เลว ยังดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย แต่สิ่งที่ควรทำ คืออาจจัดกิจกรรมเป็นรายเดือน ในหนึ่งเดือนมีกิจกรรมรายสัปดาห์หรือรายวันที่มีการย้อนยุคเข้าไปสู่สมัยพระนารายณ์ แล้วในกิจกรรมนั้นก็สอนคนที่มาชมทุกเรื่อง ทุกอย่าง อาทิ การแต่งกายทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ชนชั้นอย่างนี้แต่งแบบไหน เกี้ยวหรือลอมพอกคืออะไร เป็นเครื่องบอกตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ของคน เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ชวนกันมาแต่งไทยอย่างเดียว โดยไม่มีการเรียนรู้ผ่านการแต่งไทย

“เฉพาะวังนารายณ์การอนุรักษ์พอไปได้อยู่ แต่สิ่งที่ควรจะเพิ่มคือความรู้เรื่องพระนารายณ์ที่มากกว่านี้ การสัมพันธ์กับนานาชาติ ควรดึงเข้ามา ผมเห็นว่าที่นครนิวยอร์ก ที่เมโทรโปลิแตนส์ ตอนนี้เขามีการจัดนิทรรศการเรื่องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอเคลื่อนย้ายนิทรรศการบางส่วนมาจัดแสดงที่ประเทศไทยในระยะนี้ เพราะมีความหมายต่อประเทศเรา เนื่องจากบรรดาทูตานุทูตที่ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส หนึ่งในนั้นคือโกษาปานด้วย แต่ละคนได้เรียนรู้อะไร และเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่โกษาปานกับพระเจ้าหลุยส์เท่านั้น แต่เราจะได้เรียนรู้ว่าทูตเปอร์เซียไปทำอะไรกับพระเจ้าหลุยส์ หรือทูตจีนไปทำอะไร ซึ่งจะทำให้โลกทัศน์ของเรากว้างขวางมากยิ่งขึ้น” นายภูธร กล่าวทิ้งท้าย

รียกขานกันมานมนานหนักหนาแล้ว สำหรับคำว่า “พระเจ้าเหา” ซึ่งเป็นชื่อมาจากตึกหรืออาคารโบราณสถานตั้งอยู่ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี ที่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญที่ใครต่อใครต้องเดินทางไปดูให้เห็นกับตา เพื่อตามอย่างละครบุพเพสันนิวาส คราวที่แม่การะเกดเธอทำตาโตบอกคุณพี่หมื่น ว่าอยากเห็นตึกพระเจ้าเหา ประเด็นนี้คุณพี่หมื่นไม่ได้บอกว่าพระเจ้าเหาเป็นใคร แต่มีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ “อาจารย์ภูธร ภูมะธน” มาเฉลยให้ทราบกัน

“ผมคิดว่ารูปธรรมทั้งหลายที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ จ.ลพบุรี มีมากมายหลายที่ บางที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ดีงาม บางที่ก็ทรุดโทรม บางที่มีความหมายแต่คนไม่รู้ สำหรับกรณี ตึกพระเจ้าเหา ซึ่งตั้งอยู่ในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ อยู่ ณ มุมหนึ่งของพระราชวัง เป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งในวังนารายณ์นั้นจะมีสถาปัตยกรรมในสมัยพระนารายณ์หลายแบบ แบบไทยหรือแบบฝรั่งปนแขก หรืออะไรก็ตาม กรณีของตึกพระเจ้าเหา จะตรงกับตำแหน่งที่ระบุในแผนที่ของชาวฝรั่งเศสว่าเป็น หอพระประจำพระราชวัง…”

อาจารย์ภูธร ภูมะธน

“โดยสถาปัตยกรรมของตึกพระเจ้าเหา จะเห็นว่ามีกำแพงแก้วล้อมรอบอีก เพราะฉะนั้น น่าจะตรงกับที่ฝรั่งเศสระบุไว้ คือเป็นหอพระประจำพระราชวังแน่นอน ถามต่อไปว่าชื่อของตึกที่รู้จักกันในนาม พระเจ้าเหา นั้นคืออะไรกันแน่? ถ้าเป็นหอพระประจำพระราชวัง คำว่าพระเจ้าเหาน่าจะเป็นชื่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำอาคารหลังนี้ก็ได้ ทีนี้มีเหรอพระพุทธรูปชื่อ เหา มีการวิเคราะห์ศัพท์นี้ เพราะกังขากันมานับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ ก็ทรงตั้งคำถามนี้เช่นกัน…”

“เหา คืออะไร? มีการตีความกันไปต่างๆ นานา โชคดีที่คนโบราณเมื่อตีความก็มีทางออกหลายทาง หนึ่ง-เหา มาจากคำว่า “House” ที่ฝรั่งอาจเรียกหอพระว่า God’s House สอง-เหา มาจากภาษาเขมรเป็นรากศัพท์มาจากเขมร แปลว่า รวมเข้ามาหากัน เสมือนหนึ่งเป็นที่ประชุม เอาล่ะ..ในระยะหลังที่พบหลักฐานว่าที่ตรงนี้คือหอพระประจำพระราชวัง พระเจ้าเหาก็ต้องเป็นชื่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำพระราชวัง ที่ประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังนี้ ถามว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูปได้ไหม? ต้องผูกโยงไปอีกว่าตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้เสด็จไปตีดินแดนล้านนาก่อนมาสถาปนาเมืองลพบุรีให้มั่นคง แล้วมีไหมพระพุทธรูปในล้านนาที่เริ่มคำแรกว่า พระเจ้า อันนี้ธรรมดามาก ใครไปล้านนาจะรู้ว่าพระพุทธรูปสำคัญของล้านนาขึ้นต้นด้วยคำว่าพระเจ้าทั้งสิ้น อย่างพระเจ้าตนหลวง พระเจ้าเก้าตื้อ คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญประจำพื้นที่นั้นๆ…”

“คราวนี้มาถึงพระเจ้าเหา พระเจ้าเหาเป็นชื่อพระพุทธรูปแน่ๆ ส่วนคำว่า เหา มีความหมายว่าเหาบนหัว หรือมีความหมายอื่น สำหรับผมเองสันนิษฐานเลยว่า ด้วยเหตุที่ท่านยกทัพไปตีเชียงใหม่มาก่อนแล้วค่อยมาสถาปนาลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ คำว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูป ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า หาว ก็ได้ ซึ่งแปลว่าสวรรค์หรือท้องฟ้า แต่สำหรับคนภาคกลาง การออกเสียงอาจจะลำบาก จากหาวมาเป็นเหาก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น สรุปชื่อ พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานในหอพระแห่งนี้ซึ่งเป็นหอพระประจำพระราชวังนารายณ์นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นต่างไปจากอาจารย์ภูธรอีกหลายแนวคิด อาทิ แนวคิดที่อธิบายโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า คำว่า พระเจ้าเหา มาจากชื่อตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่า ‘คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่าเรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันแต่โบราณมาแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า “ตึกพระเจ้าเรียก” เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า “Convocation Hall”

ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์์ได้กระทำรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็คงจะตอบกันว่า “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ต่อมาคำว่า “ตึก” เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า “ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา” แปลว่า ‘ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือ ‘ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร’ นั่นเอง

แนวคิดเรื่องพระเจ้าเหามาจากชื่อตึกนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยระบุไว้เช่นกันว่า เคยทรงสอบถามศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้รับคำตอบว่า เป็นภาษาเขมร แปลว่าที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียก เคาน์ซิลออฟแชมเบอร์ (Council of Chamber) มาประชุม

เฉลยกันไปแล้วว่า พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของอาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ หากยังมีความเห็นต่าง ผิดแผกออกไปอีกหลายแนวคิด ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของปัญญาชนคนสยามที่จะมาวิสาสา ปรมา ญาติ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาเป็นคุณค่ากับประวัติศาสตร์ของชาติไทยต่อไป

ถ้าอยากให้นวนิยายหรือละครสักเรื่องสนุกครบรส นอกจากตัวละครเอกอย่างคู่พระนาง ที่เห็นจะขาดเสียมิได้คงเป็น “ตัวร้าย” ดังเช่นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ทำไมขุนนางฝรั่งนามว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน” บุรุษรูปงามที่รับบทโดย “หลุยส์ สก๊อต” ถึงได้ถูกมองว่าร้ายกาจนัก

ถือเป็นโชคชะตาหรือบุพเพสันนิวาสก็มิทราบได้ ที่ทำให้นักเขียนชาวฝรั่งเศส “แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์” ผู้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ “ฟอลคอนแห่งอยุธยา” ได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์ช่อง arte ของฝรั่งเศส ให้มาถ่ายทำสารคดีแนะนำจังหวัดลพบุรี บ้านเกิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบ้านพักของพระยาวิไชเยนทร์หรือฟอลคอนถึงสถานที่จริง

นานมีบุ๊คส์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 3 เล่มของแคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ คือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา ตากสิน มหาราชชาตินักรบ และ หยดน้ำตาสยาม จึงไม่พลาดที่จะไปสัมภาษณ์เธอถึงกระแสละครที่กำลังโด่งดัง ซึ่งเชื่อมโยงกับหนังสือฟอลคอนที่เธอเขียน เธอได้เปิดเผยถึงละครบุพเพสันนิวาสนี้ว่า


“ฉันไม่เคยดูละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากดู ฉันพอรู้มาว่าฟอลคอนในละครนั้นถูกมองว่าเป็นตัวร้าย ซึ่งความจริงแล้วคนไทยในสมัยนั้นก็มองฟอลคอนเป็นตัวร้ายจริงๆ ด้วยความที่เป็นคนโปรดของพระนารายณ์ การเป็นคนโปรดของกษัตริย์ทำให้มีผู้คนอิจฉาริษยา อีกทั้งตัวฟอลคอนยังมีนิสัยหยิ่งยโส แต่ฉันเชื่อว่าแท้จริงแล้วฟอลคอนรักแผ่นดินสยามด้วยใจจริง เขาพยายามเปิดประตูให้สยามติดต่อสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพื่อให้สยามปกป้องตัวเองและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพียงแต่ท่าทีการแสดงออกอาจไม่ถูกต้องนัก ด้วยความหยิ่งยโส ไม่ฟังความเห็นต่าง และฉันเชื่อว่าฟอลคอนผูกพันอย่างลึกซึ้งและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ส่วนในละครที่ฟอลคอนบังคับให้มารีแต่งงานด้วยนั้น ฉันมองว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม ฟอลคอนต่างหากที่ถูกพระนารายณ์บังคับให้แต่งงานกับมารี เพราะทรงเป็นหนี้ชาวญี่ปุ่นเป็นเงินจำนวนมาก จึงใช้การแต่งงานนี้ผ่อนผันจ่ายหนี้ ความจริงฟอลคอนไม่ได้สนใจในตัวมารีเลย แถมยังคิดว่ามารีค่อนข้างซื่อบื้อด้วยซ้ำ แต่มารีเป็นหลานสาวของยามาดะ เศรษฐีชาวญี่ปุ่น ฐานะร่ำรวย นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฟอลคอนยอมแต่งงานกับมารี เพราะขณะนั้นฟอลคอนเองก็ไม่ได้มีฐานะอะไร นอกจากเป็นพระประสงค์ของพระนารายณ์แล้ว เขาอาจแต่งงานเพื่อยกฐานะตนเองด้วย”


หากย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ ฟอลคอนแห่งอยุธยา เธอกล่าวว่า “ฉันค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับฟอลคอนด้วยความบังเอิญ ฉันไปเยี่ยมชมพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์เคยประทับ แต่บังเอิญไปพบบ้านพระยาวิไชเยนทร์เข้าก่อน พอได้เห็นบ้านพักทูตฝรั่งเศสเลยรู้สึกแปลกใจและสนใจ จากนั้นฉันจึงซื้อหนังสือมาจากพิพิธภัณฑ์และอ่านเจอว่าฟอลคอนทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่กษัตริย์ในสมัยนั้น คล้ายคลึงกับตัวฉันที่ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ประธานาธิบดี ฉันรู้สึกว่าน่าสนใจเลยศึกษาเพิ่มเติม โดยตั้งใจจะนำมาเขียนบทความเกี่ยวกับเพื่อนร่วมอาชีพในประวัติศาสตร์ แต่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น และพบว่าเรื่องราวซับซ้อนเกินกว่าจะเขียนเป็นบทความ จากบทความก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มหนาอย่างที่เห็น

“สิ่งที่ฉันพยายามทำให้ดีที่สุดในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือ ถ่ายทอดเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ใช้เวลาค้นคว้าอยู่เป็นปีก่อนเริ่มต้นเขียน และใช้เวลาเขียนอยู่ 5 ปี ระหว่างเขียน ฉันจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องที่สุด เพราะฉันเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ฉันจึงต้องทำให้มั่นใจว่าคำเรียกขานหรือคำศัพท์ต่างๆถูกต้องตามจริง โดยหลักฐานสำคัญที่ฉันศึกษา คือ จดหมายเหตุซึ่งเขียนโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ หลักฐานส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยาถูกทำลายไปพร้อมกับการเสียกรุง แต่โชคดีที่จดหมายเหตุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ฉันก็พยายามมองประวัติศาสตร์สยามในสายตาของ ‘คนนอก’ ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองอันแตกต่างที่ไม่ได้มองประวัติศาสตร์จากมุมมอง ‘ความเป็นไทย’ ตอนที่เขียนฉันพยายามเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ดังนั้นเรื่องราวจึงเล่าผ่านสายตาของคนนอกที่ไม่ลำเอียงและปราศจากอคติ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ฟอลคอนแห่งอยุธยา

เรื่องราวของฟอลคอนที่เกิดมาอาภัพ เป็นลูกผสมที่ผู้คนรังเกียจ ชีวิตของเขาต้องต่อสู้อย่างทรหด เขาออกทะเลร่อนเร่ไปกับเรือสินค้า ห่างบ้านเกิดเมืองนอนมาไกลโพ้น สู่ทวีปเอเชียที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ จากเสมียนสู่พ่อค้า และจากพ่อค้าสู่ขุนนางแห่งอยุธยา ฟอลคอนกลายเป็นขุนนางคนโปรด ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ รับใช้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างใกล้ชิด เรืองอำนาจจนหาใครอื่นในอยุธยาทัดเทียมได้ยากยิ่ง หากแต่อำนาจมักมาพร้อมความรับผิดชอบมากล้น ฟอลคอนต้องเจรจากับผู้คนหลากหลายอย่างมีชั้นเชิง ด้วยคำพูดที่ทั้งอ่อนโยนและแข็งกร้าว ทั้งอ่อนน้อมและเหยียดหยาม ทั้งปลอบโยนและข่มขู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ แต่เพื่อยังประโยชน์แก่อยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ หรือตัวเขาเองกันแน่