เรื่อง : ปริศนา ทับดวง ภาพ : กนกวรรณ มากเมฆ – เซคชั่นประชาชื่น นสพ.มติชนรายวัน
ฉากหวานในละครบุพเพสันนิวาส เมื่อขุนศรีวิสารวาจาอาสาเป็นไกด์ส่วนตัวพาแม่หญิงการะเกดขี่ม้าชมเมือง ไปเยือนเมืองละโว้ ราชธานีแห่งที่ 2 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“พระราชวังมี 3 ชั้น ที่เห็นยอดแหลมทรงมณฑปนั่นเป็นพระราชฐานชั้นนอก พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นท้องพระโรง มีสีหบัญชรเสด็จออกรับแขกบ้านแขกเมือง พระราชฐานชั้นกลางพระที่นั่งจันทรพิศาลเป็นที่ว่าราชการงานเมือง ถัดไปโน่นไกลๆ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประทับฝ่ายใน” คุณพี่แนะนำพระราชวังเบื้องหน้าให้แม่หญิงที่ออกอาการตื่นเต้นและฟังอย่างตั้งใจ
ฉากนี้ออกอากาศเพียงชั่วข้ามคืน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมืองละโว้ หรือลพบุรีในปัจจุบันคึกคักขึ้นทันตา มีบรรดาออเจ้ายกขบวนไปร่วมตามรอยศึกษาประวัติศาสตร์กันอย่างเนืองแน่น
“พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ตามท้องเรื่อง เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง มีรูปแบบที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปกรรมไทยและตะวันตก เจิดจรัสด้วยรูปลักษณ์สมัยใหม่ในยุคนั้น เช่น ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลม
จัดสวนตกแต่งในเขตพระราชฐานด้วยการแบ่งเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ พร้อมมีน้ำพุเตี้ยๆ ประดับสวน รูปแบบอาคารและสวนเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากราชสำนักเปอร์เซียและโมกุล
ผนังภายในพระที่นั่งบางองค์ เช่น พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทตกแต่งด้วยกระจกเงา ที่นำมาจากยุโรป
แม้กระทั่งกระเบื้องมุงหลังคาเคลือบสีเหลืองจักรพรรดิของพระที่นั่งหลายองค์ในพระราชวังก็มีผู้บันทึกไว้ว่า ยามต้องแสงพระอาทิตย์จะสะท้อนวาววับเสมือนมุงหลังคาด้วยทองคำได้โปรดฯให้ซื้อจากจีน
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้พระราชวังเมืองลพบุรีเป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อาทิ ทูตานุทูต บาทหลวง และพ่อค้านานาชาติตลอดรัชสมัยของพระองค์ เข้าใจว่าเป็นเงื่อนไขของการกำหนดให้สถาปัตยกรรมในพระราชวังเมืองลพบุรีมีรูปลักษณ์อันได้รับอิทธิพลจากหลายสายวัฒนธรรมของโลก
รวมถึงการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังแบบพระราชวังอาลิคาปู ประเทศอิหร่าน อันแสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมแบบเปอร์เซียของพระองค์ โดยพงศาวดารบอกว่า พระองค์มักประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน
เยือนแหล่งประวัติศาสตร์เมืองละโว้ทั้งที ต้องเที่ยวชมให้ครบ สถานที่สำคัญอีกแห่ง “พระที่นั่งไกรสรสีหราช” หรือ “พระที่นั่งเย็น” พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่บนเกาะริมทะเลชุบศร จึงเรียกอีกชื่อว่า “พระที่นั่งทะเลชุบศร” สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทรงสำราญพระราชอิริยาบถและทรงประพาสเพื่อคล้องช้าง
บันทึกของฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อพระองค์เสด็จประพาสล่าช้างป่า จะเสด็จฯกลับเข้ามาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้
พระที่นั่งไกรสรสีหราช มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย คือเป็นพระที่นั่งจัตุรมุข มีหลังคาเครื่องไม้แบบไทย ด้านทิศตะวันออกมีมุขเด็จยื่นออกมา คงเป็นที่ใช้รับรองแขกเมืองและบรรดาบาทหลวง
มาถึง “วัดสันเปาโล” วัดในคริสต์ศาสนาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่คณะบาทหลวงเยซุอิตจากฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ.2229 พร้อมกับคณะราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพร้อมกับใช้เป็นที่พักของคณะบาทหลวง โดยคำว่า “สันเปาโล” นี้คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า เซนต์ปอลหรือแซงต์เปาโล (Saint Paulo) นั่นเอง
และเป็นที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสนพระทัยในเรื่องดาราศาสตร์อย่างมาก เมื่อมีกลุ่มบาทหลวงที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนเข้ามาในราชอาณาจักร ก็ทรงพระกรุณาต้อนรับและให้สิทธิต่างๆ ในการตั้งกล้องสำรวจปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา เป็นหอดูดาว
โดยหอดูดาวแห่งนี้ถือได้ว่า เป็นหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งแรกของสยาม และเป็น 1 ใน 3 ของหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
วัดสันเปาโล หรือวัดเซนต์ปอล มีขนาดใหญ่พอสมควร เพราะมีหลักฐานเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปหอดูดาวที่วัดแห่งนี้ เป็นหอดูดาวแปดเหลี่ยมสูงสามชั้น ชั้นบนสุดสามารถใช้ตั้งกล้องดูดาวได้ ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยแนวบันไดและช่วงชั้นปรากฏให้เห็นที่ผนัง ส่วนอาคารอื่นๆ เช่น ที่พักของคณะบาทหลวงเยซุอิต ห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และหมู่อาคารต่างๆ ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏบนผนังส่วนที่เหลือของอาคารหอดูดาวทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงมีลักษณะของศิลปะไทยผสมอยู่ด้วย เพราะมีการใช้ลวดบัวเป็นเส้นคั่น
ในสมัยนั้นคณะบาทหลวงเยซุอิตเดินทางเข้ามาในสยามตั้งแต่ครั้งทูต เดอ โชมองต์ เข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2228 โดยพบว่า บาทหลวงตาชาร์ดมีบทบาทมากในเรื่องการเมือง เพราะได้พยายามประสานผลประโยชน์ทางการศาสนาและการเมืองกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ โดยในครั้งต่อๆ มาได้มีจดหมายลับฝากไปกับบาทหลวงตาชาร์ด เรื่องการขอบาทหลวงฝรั่งเศสให้เดินทางลับๆ เข้ามาในสยาม หลังจากที่พระเพทราชาปฏิวัติแล้ว บาทหลวงตาชาร์ดได้เป็นทูตเดินทางเข้ามาในสยามอีกครั้ง แต่ฝ่ายสยามเห็นว่าไม่ใช่การเดินทางมาพร้อมกับเรือฝรั่งเศส จึงให้บาทหลวงตาชาร์ดคอยวันที่เหมาะสมก่อน
ส่วนสถานที่สำคัญที่ออเจ้าจักพลาดมิได้เชียวหนา คือ “บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์” หรือ “บ้านวิชาเยนทร์” สถานที่สำหรับรับรองราชทูตที่มาเข้าเฝ้าฯ ที่เมืองลพบุรี และเป็นบ้านพักของ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือ “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” สมุหนายกชาวกรีก ผู้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บ้านวิชาเยนทร์ ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของพระราชวังเมืองลพบุรี บริเวณส่วนหนึ่งใช้เป็นที่พักของบรรดาราชทูตอันมาแต่เมืองไกล เช่น เปอร์เซียและฝรั่งเศส จากประตูพระราชวังมุ่งตรงสู่บ้านหลวงรับราชทูต มีวัดเสาธงทองคั่นกลาง มีตึกที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปรากฏอยู่ 2 หลัง คือ ตึกโคระส่าน และตึกปิจู ใช้เป็นที่พำนักของราชทูตเปอร์เซียส่วนหนึ่ง
ส่วนบ้านหลวงรับราชทูตตั้งอยู่บริเวณเดียวกับบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เพียงแต่มีแนวกำแพงคั่น
อาคารทั้งหมดก่ออิฐถือปูนในลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยบางหลังเป็นแบบศิลปะยุโรปแบบเรอเนสซองต์ มีหน้าจั่วรูปสามเหลี่ยม ส่วนที่เป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มีอาคารหลายหลังและประดับรอบบ้านด้วยน้ำพุ มีห้องใต้ดิน ส่วนบ้านพักของราชทูตเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน
ที่สำคัญคือ โบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาประดับกระจกสี ภายในมีแท่นบูชา มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาวเป็นศิลปะแบบไทย โบสถ์หลังนี้ถือกันว่าเป็นโบสถ์คริสต์หลังแรกในโลกที่ตกแต่งด้วยลักษณะทางศิลปะแบบพระพุทธศาสนา
เมื่อพระเพทราชาและกลุ่มขุนนางคิดก่อการปฏิวัติ ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยังคงพำนักอยู่ในบ้านแห่งนี้ แต่มีความหวาดระแวงอยู่มาก เพราะให้ทหารฝรั่งเศส 4-5 นาย เป็นทหารอารักขาความปลอดภัย ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2231 พระเพทราชาสั่งให้ทหารไปตามฟอลคอน โดยแจ้งว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงต้องการให้เข้าเฝ้าฯ แต่เมื่อเข้าประตูไปนั้นได้พบกับพระเพทราชาที่ดักรออยู่แล้ว ฟอลคอนถูกจับกุมไปทรมานและประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2231
รวมถึง “ประตูเพนียด” โบราณสถานสำคัญอีกแห่ง เป็นประตูเมืองโบราณขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเพนียดคล้องช้าง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความสมบูรณ์ สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเป็นประตูเมือง 1 ใน 2 แห่ง คือ ประตูชัยและประตูเพนียด ที่ยังหลงเหลือหลักฐานมาถึงในปัจจุบันของเมืองลพบุรี
นอกจากนี้ ในบริเวณนี้ยังมีร่องรอยเนินดินของเพนียดคล้องช้างปรากฏอยู่ โดยเพนียดคล้องช้างที่เมืองลพบุรีนี้ใช้ในการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยามาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดฯให้มีการคล้องช้างให้กับราชทูตได้ชมที่เพนียดแห่งนี้
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แต่ละแห่งในเมืองละโว้ ล้วนวิจิตรและทรงคุณค่า คุ้มค่าแก่การไปเยี่ยมเยือนยิ่งหนาออเจ้า
“มติชน อคาเดมี” พาร่วมทริปย้อนเวลาไปเฝ้าขุนหลวงนารายณ์ ณ เมืองละโว้ ตามรอยขุนศรีวิสารวาจากับแม่หญิงการะเกด สู่ราชธานีแห่งที่ 2 ไปกับ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์กรุงเก่า วันที่ 29 เมษายน 2561
ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์จากโบราณสถานสำคัญ อาทิ ประตูเพนียด พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น วัดสันเปาโล วัดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา กำเนิดหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งแรกของสยาม และเป็น 1 ใน 3 ของหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
จากนั้น มุ่งหน้าสู่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังที่ใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ก่อนมุ่งหน้าสู่บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์ สถานที่รับรองราชทูต และเป็นบ้านพักของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
สนใจติดต่อมติชน อคาเดมี โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2123, 2124, 08-2993-9097 ID Line @m.academy