“สุริยาแห่งบูรพทิศ” นิยายเรื่องใหม่ของ “วิษณุ เครืองาม”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“วิษณุ เครืองาม” นอกจากจะมีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นครูบาอาจารย์ และนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่เป็นกูรูเลยทีเดียว ลีลาและความรู้ของอาจารย์วิษณุในการเขียนหนังสือไม่แพ้นักเขียนชั้นครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยาย ที่ได้ประจักษ์กันมาแล้วไม่ว่าเรื่อง “ชีวิตของประเทศ” หรือ “ข้ามสมุทร” ก็ตาม นับเป็นหนังสือขายดีติดอันดับแห่งปีเลยทีเดียว

ด้วยความรู้อันมากมาย หลากหลาย งานเขียนของ ดร.วิษณุ เครืองาม จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สองเรื่องนี้เท่านั้น แต่กำลังฟิตแอนด์ฟอร์มนวนิยายเรื่องใหม่ ซึ่งอาจารย์ถือโอกาสเปิดตัวกล่าวถึงในงาน “บุพเพเสวนา” ที่จัดขึ้นยังหอประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 เมื่อไม่นานมานี้

ก่อนจะกล่าวถึงนวนิยายที่กำลังตั้งอกตั้งใจเขียนอยู่ขณะนี้ อาจารย์วิษณุเปิดฉากกล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์ว่าถ้าถือตามนักประวัติศาสตร์ อยุธยามีกษัตริย์เพียง 33 พระองค์ สมเด็จพระนารายณ์เป็นลำดับที่ 27 แต่ถ้านับขุนวรวงศาธิราชเข้าไปด้วยจะเป็น 34 พระองค์ แล้วสมเด็จพระนารายณ์ก็จะเป็นลำดับที่ 28 “เห็นไหมว่าจะเอาอะไรกับประวัติศาสตร์กันนักกันหนา ขนาดอยุธยามีกษัตริย์กี่พระองค์ก็ยังเถียงกันเลย เพราะมีวิธีคิด วิธีนับ วิธีตีความที่แตกต่างกันออกไป ผมถือว่าอยุธยามีกษัตริย์ 34 พระองค์” แค่นี้ก็เรียกเสียงฮาได้แล้ว

ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่าสมเด็จพระนารายณ์มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่นิยาย ท่านมีชีวิตอยู่ห่างจากปัจจุบันนี้ 300 กว่าปี และมีชีวิตอยู่ห่างจากสมัยพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาประมาณ 300 ปีเช่นกัน สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ถึง 32 ปี ในช่วงที่สยามมีกษัตริย์ชื่อพระนารายณ์ ทางฝรั่งเศสก็มีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และมีการอ้างอิงถึงซึ่งกันและกัน “สิบปีที่แล้วผมไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศสกับอาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรโณ) ทำให้ผมได้แรงบันดาลใจกลับมาเขียนหนังสือเรื่องข้ามสมุทร” ตอนที่ไปเที่ยวนั้น

อาจารย์วิษณุเล่าถึงไกด์หรือมัคคุเทศก์ฝรั่งเศส ว่าพาไปชมพระราชวังแวร์ซายน์ แล้วอธิบายโดยไม่สนใจว่าจะเป็นคนไทยหรือมาจากไหน เพราะในคณะมีกันหลายคน ทั้งคนต่างชาติคณะอื่น ไกด์พูดถึงพระเจ้าหลุยส์ทีไร ก็พูดถึงสมเด็จพระนารายณ์ของสยาม พอไปถึงห้องหนึ่งซึ่งเป็นห้องใหญ่โตมโหฬารมาก ไกด์ก็เล่าอย่างสนุกสนานขบขัน ว่าเมื่อสามร้อยกว่าปีมานี้ “ราชทูตไกลโพ้นจากอยุธยามาหมอบตรงนี้ มาคลานตรงนี้ แล้วลงเข่าจากตรงโน้น..ไกลมาก กว่าจะมาถึงตรงนี้ ขึ้นบันได 3 ชั้น 5 ชั้นไปยื่นพระราชสาส์นถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฝรั่งแขกจีนที่มาตื่นเต้นกันใหญ่ แสดงว่าเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์อยู่ในความรับรู้ของคนฝรั่งเศสและคนยุโรปอื่นๆ”

“ผมเคยไปที่พิพิธภัณฑ์โป๊ป ที่วาติกัน เขาก็ชี้ให้ดูว่าสิ่งของอันนี้มาจากจีน อันโน้นมาจากอินเดีย อันนั้นมาจากญี่ปุ่น ของชิ้นนี้มาจากอยุธยา ส่งมาถวายโป๊ปสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มีความเป็นจริงที่้สัมผัสได้ เข้าใจได้ ท่านเป็นกษัตริย์อยู่ 32 ปี ถือว่านานมิใช่เล่น สำหรับอยุธยาซึ่งเป็นราชธานี 417 ปี กษัตริย์อยุธยาที่อยู่ในราชสมบัติยาวนานที่สุด คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 40 ปี รองลงมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อยู่ 38 ปี รองลงมาคือสมเด็จพระนารายณ์ 32 ปี นอกจากนั้น 25 ปีบ้าง 15 ปีบ้าง 7 ปีบ้าง ไม่กี่วันก็ยังมีเลย

เพราะฉะนั้นรัชสมัยยาวนานถึง 32 ปี ถือว่ายาวนานมากที่จะสามารถทำอะไรได้เยอะ ผู้นำ กษัตริย์ รัฐบาล นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามที่สามารถอยู่นานๆ ย่อมทำอะไรได้มาก แม้ทำอะไรผิดก็แก้ไขทำใหม่ให้ถูกได้  ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ท่านยิ่งใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะท่านอยู่ในราชสมบัติถึง 42 ปี นานมากจนสามารถที่จะบันดาลอะไรได้มากต่อมาก เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และสมเด็จพระนารายณ์”

คำว่า “มหาราช” ที่มาเติมท้ายพระนามสมเด็จพระนารายณ์นั้น อาจารย์วิษณุบอกเล่ารายละเอียดว่า “เราให้ท่านเป็นมหาราช คำว่า มหาราช นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักรบประกอบวีรกรรม และวีรกรรมนั้นถ้าไม่ได้มาจากรักษาเอกราช ก็ป้องกันไม่ให้เสียเอกราช หรือมิฉะนั้นก็ได้มาจากการทำสงคราม สมเด็จพระนารายณ์อาจเป็นมหาราชที่แปลกไปจากมหาราชอื่น เพราะถ้าหยิบยกเอามหาวีรกรรมเรื่องสงคราม เรื่องรักษาเอกราชอย่างเดียว อาจมองเห็นภาพไม่ค่อยชัด สมเด็จพระนารายณ์ท่านเป็นมหาราชเพราะเอาหลายอย่างมาประกอบกัน และวิธีรักษาเอกราชของท่าน ไม่ใช่ไปทำสงคราม ไปทำยุทธหัตถี มหาวีรกรรมของท่านในการรักษาเอกราชไว้ก็คือ การใช้ชั้นเชิงทางการทูต ใช้การเจรจา ใช้รัฐประศาสนโยบายหลายอย่าง ไม่ต่างจากรัชกาลที่ 4”

“ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะเป็นกษัตริย์ ท่านผ่านการทำปฏิวัติมาแล้วสองครั้งภายในปีเดียว และในรัชสมัยพระองค์ท่านปี 2232 ก็จบลงด้วยการปฏิวัติเช่นกัน เพราะฉะนั้นเริ่มรัชสมัยก็ปฏิวัติ จบรัชสมัยก็ปฏิวัติ จึงเป็นรัชสมัยแห่งการปฏิวัติรัฐประหาร และในระหว่างครองราชย์ 32 ปีนั้น ท่านก็ผจญอยู่ในความพยายามที่จะปฏิวัติอยู่หลายครั้งจากคนอื่น”

กลับมาที่ละครบุพเพสันนิวาส มีนัยยะที่ต้องการจะเสนอว่ากรุงศรีอยุธยาหรือลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น สภาพบ้านเมืองไม่ต่างจากพาหุรัด สำเพ็ง บางลำพู หรือถนนข้าวสาร ที่มีฝรั่งมังค่า ชาวต่างประเทศเดินไปเดินมา ขี่รถม้าบ้าง ลากเกวียนบ้าง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และก็ไม่เคยปรากฏอีกหลังจากนั้นเป็นร้อยๆ ปี

“สิ่งเหล่านี้แสดงว่าเป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยชาวต่างประเทศ และทำไมคนเหล่านั้นถึงกล้ามา แล้วทำไมเราถึงกล้าให้เขาเดินเหินอยู่ได้เต็มบ้านเต็มเมือง คนไทยจะมองอย่างไรก็ตาม แต่ฝรั่งเขามองว่าสิ่งนี้คือ “เสรีภาพ” เสรีภาพในการค้าขาย เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนา พอจับเอาคำว่า “เสรีภาพ” ในการเผยแพร่ศาสนาขึ้นมา ไม่ยากเลยที่ฝรั่งยกนิ้วให้แล้วบอกว่า “ยอมรับพระมหากษัตริย์” และจะให้กษัตริย์เข้ารีต เพราะฝรั่งเขาเห่อเสรีภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งฝรั่งถึงกับทำสงครามเพื่อจะเรียกเอาเสรีภาพนี้

และพอมาถึงประเทศที่ใครมองว่าหูป่าตาเถื่อน อยู่ห่างไกล อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ในแผนที่โลก เป็นประเทศที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งก็ให้เสรีภาพจริงๆ เขาก็ต้องยอมรับ ยกย่อง และลักษณะเด่นอีกประการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือ เป็นยุคที่เราถึงขนาดติดต่อกับต่างประเทศ เชิญพระราชสาส์นไปมา เดินทางไกลแลกเปลี่ยนทูต  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินก่อนพระนารายณ์ 27 พระองค์ ไม่นึกและไม่กล้าที่จะทำ แต่สมเด็จพระนารายณ์กล้าทำ หลังสมเด็จพระนารายณ์อีกหลายรัชกาลก็ไม่กล้าคิด ไม่กล้านึก ไม่กล้าทำ อย่างมากก็กล้าทำคือค้าขายกับจีนเท่านั้น”

การส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว แต่ทำหลายครั้งแม้ว่าระยะทางจะนานไกล ไป-กลับแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นก็ตาม ซึ่งอาจารย์วิษรุกล่าวว่า คณะราชทูตคณะแรก สมเด็จพระนารายณ์ส่งไป ปี 2224 ท่านส่งไปก่อนหนึ่งคณะ คือคณะของ “ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี”

“ท่านออกญาเชิญพระราชสาส์นไป พร้อมด้วยเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองเยอะแยะมากมาย เพื่อเอาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บ้าง เอาไปโชว์บ้าง เอาไปอวดบ้าง เผลอๆ เอาไปขายบ้างเหมือนกัน ช้างก็ส่งไป เพราะอยากให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้เห็นช้างไทย ไปกันเต็มลำเรือ เพียบไปหมด ปรากฏว่าคณะทูตของออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปในปี 2224 พระนารายณ์ก็นั่งรออยู่ที่อยุธยา หายไปนานทำไมไม่กลับมา ตอนนั้นไปกับเรือฝรั่งเศสชื่อ โซเลย์ เดอ ลิยง แปลว่า “พระอาทิตย์แห่งตะวันออก”

“ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เป็นนิยายหนึ่งเรื่อง ตั้งชื่อและเขียนไว้แล้วครึ่งเล่ม ชื่อ “สุริยาแห่งบูรพทิศ” เป็นชื่อเรือที่นำออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปฝรั่งเศสและหายไป ไม่ได้ข่าว จนสมเด็จพระนารายณ์สงสัย มันจะไปมีเมียอยู่ฝรั่งเศสแล้วไม่กลับ จึงได้ตัดสินใจส่งคณะที่สองไปสืบข่าว ซึ่งคณะที่สองนี้ก็ออกเดินทางไปในปี 2226 โดยตัวราชทูต คือ ขุนวิไชยวาทิต แต่คราวนี้ไม่เชิญพระราชสาส์น เพราะคณะแรกเชิญไปแล้วและเชื่อว่าไปถึงฝรั่งเศสแล้ว ได้พบพระเจ้าหลุยส์แล้ว และมีเมียอยู่ที่ฝรั่งเศส จึงส่งออกขุนวิไชยวาทิตไปอีก มีบาทหลวงฝรั่งเศส ชื่อ วาเช่ ไปด้วย หมอนี่สำคัญ 

คณะที่สองก็ไป ลงท้ายไปประสบภัยอีกเข้าใจกันว่าโดนโจรสลัดปล้น โชคดีมีเรืออังกฤษมาช่วย ก็เลยลงเรืออังกฤษไปขึ้นบกที่ประเทศอังกฤษ กษัตริย์อังกฤษรู้เข้าทรงพระเมตตาจัดเรือข้ามช่องแคบอังกฤษไปส่งราชทูตไทยขึ้นบกที่ฝรั่งเศส และได้เข้าพบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไม่โปรดให้เข้าเฝ้าที่พระราชวังแวร์ซายน์ เพราะถือว่ามาหนนี้ไม่มีพระราชสาส์น โปรดให้เข้าเฝ้าที่โรงละคร เวลาเสด็จไปทอดพระเนตรละคร คงเป็นโอเปร่าอะไรสักเรื่อง ก็มาเฝ้าคุยกันตรงนั้น ซักกันไปถามกันมาถึงได้ข่าวว่าราชทูตคณะที่ 1 ของออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีมาไม่เคยถึงฝรั่งเศสเลย ก็เป็นอันแน่ว่าเรือไปล่มจมที่ไหนสักแห่งกลางทาง ซึ่งสันนิษฐานว่าจมแถวมาดากัสการ์ ก็มีนิยายปรัมปราเขียนเหมือนกัน ช้างก็ขึ้นบกที่นั่น มันน่าจะตามรอยพระพิพัฒน์ราชไมตรีไปมาดากัสการ์ ไปดูว่ามีร่องรอยคนไทยอยู่ที่นั่นไหม..” ข้อเสนอฮาๆ ของอาจารย์วิษณุที่เรียกเสียงหัวเราะจากห้องประชุม

“ผมไม่เคยไป แต่บอกแล้วว่าผมได้แต่งนิยายไว้แล้วครึ่งเรื่อง ขณะนี้ชื่อสุริยาแห่งบูรพทิศ โดยฟันธงลงไปว่ามีคนไทยขึ้นบกที่นั่น (มาดากัสการ์) จะเป็นใครไม่สำคัญและเมื่อเป็นนิยายก็ต้องเขียนให้สนุกสิครับ คือไปมีเมียเป็นมาดากัสการ์ แล้วมีลูกอยู่ที่นั่นด้วย ก็ไม่ต้องย้อนหลังรำลึกชาติอะไรอย่างนางเอกบุพเพสันนิวาสหรอกครับ แต่เป็นคนยุคปัจจุบันนี่แหละเดินทางไปแล้วไปสืบเสาะ จนกระทั่งพบร่องรอยเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองที่เราเชิญไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ไปไม่ถึงไปเรี่ยราดอยู่แถวมาดากัสการ์ นี่คือนิยายนะ เล่าให้ฟังไว้ก่อน..” อาจารย์วิษณุเกริ่นนำถึงนิยายเรื่องใหม่

อย่างไรก็ตาม ความสนุกสนานเกี่ยวกับคณะราชทูตสยามยังไม่จบ และ ดร.วิษณุเองก็ยังเล่าต่อไปอีกในหลายประเด็น ที่น่าสนใจคือเรื่องของ “ออกพระวิสุทธสุนทร” หรือโกษาธิบดี (ปาน) นั่นเอง  “ความจริงพระวิสุทธสุนทร เป็นคุณพระนี่แหละ แต่สมัยก่อนเราใช้ธรรมเนียมแบบเขมร คือเติมคำว่า “ออก” เข้าไป ก็เป็นออกพระวิสุทธสุนทร เมื่อปีที่แล้วผมตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนฯ ไปวางศิลาฤกษ์โรงเรียนพระราชทานที่เขมร เขาก็จัดคนมาต้อนรับ

ผมแยกจากคณะสมเด็จพระเทพรัตนฯ แล้ว เขาบอกว่ามีออกหนึ่ง ผมก็สะดุ้ง อีกคนก็ออก นั่นก็ออก สรุปเป็นออกหมด ไปถึงคนสุดท้ายหนักกว่าเพื่อน เป็น “ออกญา” ยังกะเดินออกมาจากเรื่องบุพเพสันนิวาสแน่ะ ก็สอบถามได้ความว่าเป็นคำเขมรใช้นำหน้ายศขุนนาง วันนี้เขมรฟื้นยศขุนนางขึ้นมาหมดแล้ว จนฮุนเซนก็เป็น “สมเด็จฮุนเซน” ไปแล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับพ่อค้าคหบดีเขาจะให้เป็นออก ถ้าเป็นขุนอยู่ก็ออกขุน ถ้าเป็นหลวงก็ออกหลวง เป็นพระก็ออกพระ เป็นพระยาก็เรียกออกญา ทั้งหมดนี้ไทยใช้อยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทั้งนั้น ผมเลยจำว่าไทยรับมาจากเขมรแล้วก็หายไปสักพัก เขมรกลับมารับต่อไปจากไทย…”

ตัดมาถึงตอนที่ว่า “ทำไมพระนารายณ์ถึงเลือกโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต” ในพงศาวดารบอกไม่ต้องไปสงสัยอะไรหรอก เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนแนะ บอกว่าคนนี้เก่งให้ส่งไป “ทีนี้ก็อยู่ที่จะมองอย่างไรในแง่ดีแง่ร้ายต่อประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องของการตีความ ถ้าตีความแง่ดีก็ว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลม วิสัยทัศน์ดี มองการณ์ไกล รู้จักเลือกใช้คนดีคนเก่ง คนนี้ก็เก่งจริง พ่อปานนี่พูดภาษาฝรั่งเศสก็พอได้ สนใจใฝ่รู้  ถ้ามองในแง่ร้ายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์คิดจะกำจัดโกษาปาน เพราะกะว่าไปแล้วเรือล่มแน่ หรือมิฉะนั้นสูญหายกลายเป็นขึ้นเกาะมาดากัสการ์อีกคน (ฮา) ก็แล้วแต่จะมอง..”

แต่สำหรับนวนิยายเรื่องข้ามสมุทร ดร.วิษณุ เล่าว่า ได้จับเอาความในพงศาวดารที่เสาะแสวงหาคนที่หน่วยกล้าตายร่วมคณะไปอีกมาก เอาคนหนึ่งในนั้นแหละมาเป็นพระเอกเรื่องข้ามสมุทร

“ผมสู้คุณรอมแพงไม่ได้ ไม่กล้ายกเอาคนที่เป็นอุปทูต ตรีทูต มาเป็นตัวละคร ผมเอาขี้ข้าทูต..(เสียงฮา) ตอนที่ผมแต่งนิยายผมไม่เคยรู้เรื่องบุพเพสันนิวาสนะ แต่นึกอยู่เหมือนกันว่าทำไมเราไม่เอาตัวอุปทูต ตรีทูต มาเป็นตัวเอกในหนังสือ แต่ผมมานึกว่าสามคนนี้มีหัวนอนปลยเท้า เขาต้องมีลูกมีหลานสืบมาจนถึงบัดนี้แน่ๆ ขนาดตัวราชทูตโกษาปาน ใครไปเอาท่านมาแต่งส่งเดชสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เพราะท่านคือพระบรมราชบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรี…”

“โกษาปานมีลูกคนหนึ่ง คือ พ่อขุนทอง ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาได้เป็นออกญาวรวงศาธิราช ออกญาผู้นี้มีลูกในสมัยพระเจ้าเสือ ได้รับราชการเป็นพระยาราชนิกูล ลำดับต้นสายปลายเหตุ พระยาราชนิกูลมีลูกคือ คุณทองดี ซึ่งทำเป็นเล่นไป วันนี้เรียกคุณทองดีไม่ได้ ต้องเรียก “สมเด็จพระปฐมบรมมหาราชชนก” เพราะท่านเป็นพ่อของรัชกาลที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านมีจดหมายไปถึงเซอร์จอห์น เบาริ่ง ว่าต้นตระกูลของเราสืบเชื้อสายมาจากโกษาปาน เพราะฉะนั้นโกษาปาน จะเอามาแต่งเป็นนิยายส่งเดชไม่ได้ แม้แต่หลวงกัลยาราชไมตรีก็มาแต่งส่งเดชไม่ได้ เพราะต้องมีลูกหลานสืบมาเป็นตระกูลอะไรสักตระกูลหนึ่ง ผมก็ไม่กล้าเขียนหรอก ก็ต้องเอาขี้ข้าทูตคนหนึ่งเป็นพระเอก จะได้ไม่ต้องมีใครมานับญาติด้วย

อาจารย์วิษณุกล่าวต่อไปว่า โกษาปานสามารถเอาชีวิตรอดกลับมาได้ ในพงศาวดารไทยเขียนเรื่องนี้ไว้ละเอียดชัดเจน คงมีแต่งเติมเข้าไปบ้าง เช่น ฉบับสมเด็จพระวันรัตน์ ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ บอกว่าตอนที่โกษาปานไปอยู่ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชอบใจมากเห็นว่ามาอยู่นาน ว้าเหว่ จึงพระราชทานผู้หญิงคนหนึ่งให้เป็นเมีย จนมีลูกด้วยกัน นี่ก็แต่งนิยายได้อีกเรื่องว่าลูกอยู่ที่ไหน แต่ผมวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะจริง ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ไม่น่าจริงเพราะโกษาปานไม่น่าจะอยู่ได้นานขนาดนั้นในฝรั่งเศส น่าจะอยู่ประมาณ 6 เดือน สุดท้ายโกษาปานก็กลับมา ได้ความดีความชอบ

ตอนกลับมานี่ยุ่งล่ะ ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ได้เป็นนิยายเพราะเนื่องจากฝรั่งเศสส่งทหารมาด้วยตั้ง 600 คน มีบาทหลวงเป็นอันมาก มากันขนาดนั้นอย่าว่าแต่พระเพทราชาเลย คนไทยคนไหนรู้ก็ตกใจแน่ มีทั้งปืนใหญ่ ปืนไฟ เรือตั้งหลายลำ ทหารตั้งเยอะ มีแม่ทัพฝรั่งเศสมาด้วย คือนายพลเดส์ฟาร์จ นี่คือต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์หวาดระแวง เพราะฉะนั้นการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงมีสามก๊กใหญ่ยันกันอยู่ และยังมีก๊กเล็กอีก

นอกจากพระนารายณ์แล้ว ก๊กหนึ่งที่จ้องตาเป็นมันอยู่ก็คือ ก๊กเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ก๊กที่สองก็จ้องเหมือนกัน คือ ก๊กพระเพทราชา ก๊กที่สาม คือก๊กเจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งเป็นน้องพระนารายณ์แต่คนละแม่ และมีก๊กเล็กก๊กน้อยแซมอยู่ คือ ก๊กพระปีย์ ว่ากันว่าเป็นบุตรบุญธรรมที่พระนารายณ์เอามาเลี้ยง สามก๊กนี้ยันกันและจ้องมองวาระสุดท้ายของสมเด็จพระนารายณ์”

“ประวัติศาสตร์ก็บอกไว้เหมือนกันว่าทหารฝรั่งเศสอาจจะจับมือกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ แต่หนุนเจ้าฟัาอภัยทศ จริงไม่จริง ไม่รู้ เจ้าฟ้าอภัยทศเป็นน้องพระนารายณ์มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์เพราะเป็นลูกพระเจ้าปราสาททองเหมือนกัน ถ้าดูภาษีแล้วใครได้เปรียบ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้เปรียบ เพราะเป็นอัครมหาเสนาบดีสมุหนายก เทียบกับเวลานี้ก็คือนายกรัฐมนตรี ราชทินนามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็คือ เจ้าพระยาจักรี เห็นใครเป็นเจ้าพระยาจักรีให้รู้เลยว่าคือ สมุหนายก หรือนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยในเวลานั้น บังเอิญว่าท่านชื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ไม่ได้ชื่อจักรี แม้กระนั้นคนทั้งหลายก็เรียกท่านว่า จักรีฝรั่ง เพราะท่านมีคนอยู่ในอำนาจมากและคุมกรมพระคลังอีกด้วย มีเงินมาก มีอำนาจมาก พระนารายณ์ก็รักมากด้วย”

“เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นคนฉลาด ไต่เต้าขึ้นมาจากเด็กที่ไม่มีอะไรเลย จะบอกว่าไม่มีหัวนอนปลายเท้าก็ได้  เป็นกะลาสีเรือทำงานในเรือเพราะฉะนั้นชำนาญการค้าการเดินเรือ มารับราชการเป็นหลวงสุรสาคร ขยับเป็นออกพระฤทธิกำแหง ขยับอีกทีเป็นพระยาวิชาเยนทร์ ออกญาวิชาเยนทร์เป็นคนฉลาด ทำอะไรถูกใจพระนารายณ์ไปหมด จนกระทั่งขุนนางไทยอิจฉา ในพงศาวดารเขียนไว้เองว่าวันหนึ่งพระนารายณ์ประชุม แล้วบอกว่า “อย่าไปอิจฉาเลย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เขามีสติปัญญาหลักแหลมเกินกว่าพวกเองมากนัก”  นี่แหละสาดน้ำมันในกองเพลิงเลยนะ ที่นั่งฟังอยู่ด้วยมีพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ คำประโยคนี้เขียนในพงศาวดารทุกเล่มเลย 

ให้ทำอะไร เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็ทำได้เพราะว่าฝรั่งคุ้นกับศิลปวิทยาการ แต่คนไทยไม่คุ้น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เริ่มต้นประเดิมงานชิ้นโบว์แดงงานแรกเมื่ออยุธยาต่อเรือเสร็จ ไม่รู้จะเอาออกจากอู่ยังไง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ใช้กว้านใช้รอกจัดการลากเรือจากอู่ลงแม่น้ำได้ คนไทยตกตลึงพึงเพริด เพราะคนไทยสวดมนต์อยู่ 7 วัน กว่าจะเอาเรือลงน้ำได้”

“วันหนึ่งพระนารายณ์จะทดลองสติปัญญา ตอนนั้นในอยุธยามีปืนใหญ่สุดชื่อ พระพิรุณ ทรงอยากรู้ว่าหนักเท่าไหร่ คนไทยไม่มีปัญญาชั่ง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์รู้ว่าจะชั่งได้ยังไง ท่านเอาเรือไปลอยในน้ำแล้วขีดไว้ว่าเรือลอยมีระดับน้ำแค่นี้ แล้วเอาปืนพระพิรุณใส่ลงในเรือ ปืนหนักเรือก็จมลง ก็ขีดเอาไว้ว่าจมลงไปแค่นี้ เสร็จแล้วเอาปืนใหญ่ออกจากเรือ แล้วเอาอิฐใส่เข้าไปในเรือแทนจนกระทั่งเรือจมเท่ากับขีดที่ขีดไว้แต่เดิมตอนใส่ปืนใหญ่ จากนั้นเอาอิฐออกจากเรือ แล้วเอาอิฐไปชั่ง พอชั่งเสร็จก็ออกมาเป็นน้ำหนักของปืน ไม่ยากเลย ทำวันสองวันก็เสร็จ ประโยคนี้จึงเกิดขึ้นเพราะเรื่องชั่งปืนพระพิรุณ “อย่าไปอิจฉาเขาเลย เขาเก่งกว่าพวกเองมากนัก”

เรื่องราวพระนารายณ์ในสมัยอยุธยานั้น สนุกสนานมาก อยุธยาเป็นราชธานี 417 ปี มีเรื่องเขียนได้เยอะ มีเรื่องให้เรียนได้เยอะ แต่ถ้าคนไทยอ่านประวัติศาสตร์อยุธยา 417 ปี มองลงไปเห็นสงครามยุทธหัตถี เห็นเสียกรุงครั้งที่ 1 เสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างอื่นไม่ค่อยจะเห็น ครูบาอาจารย์ไม่ค่อยจะสอน คนไทยเรายุคนี้เกือบจะไม่รู้จักเลยว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นใคร “สำหรับผมมองว่าท่านยิ่งใหญ่เหลือเกิน จึงไม่แปลกถ้าจะให้ท่านเป็น มหาราช ด้วยซ้ำไป หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองราชย์ 38 ปี ก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน สมัยท่านฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาสยามคือโปรตุเกส

คนไทยจะมองความยิ่งใหญ่ของอยุธยาอยู่แค่นี้ รู้จักอยู่แค่นี้ว่างั้นเถอะ แต่สำหรับต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปมองมาที่ประวัติศาสตร์อยุธยานั้น เขาไม่เห็นใครเลยนอกจาก พระนารายณ์ พระองค์เดียว ใครจะทำสงครามยุทธหัตถี ชนช้าง ชนแพะ ใครแพ้ใครชนะเขาไม่รู้ด้วย จะเสียกรุงไม่เสียกรุง เขาไม่รู้ด้วย เขารู้อย่างเดียวพระนารายณ์ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ให้ฝรั่งมาสร้างโบสถ์ได้

“เวลานั้นยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ท่านยิ่งใหญ่เพียงไร พระนารายณ์ก็ยิ่งใหญ่ตามขึ้นมาเพียงนั้นในประเทศไทย และสองคนนี้มีอะไรคล้ายกันเหลือเกิน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อยู่ปารีสเบื่อมากเลยไปสร้างพระราชวังแวร์ซายน์ ห่างออกไป 25 กม. ปีหนึ่งไปอยู่หลายเดือน ด้านพระนารายณ์อยู่อยุธยาก็เบื่อเหลือเกิน ปีหนึ่งจึงไปอยู่ลพบุรี 8 เดือน เพราะฉะนั้นทั้งคู่มีอะไรคล้ายกัน

แต่เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินว่าเมื่อสิ้นสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ทุกอย่างก็จบลงพร้อมกัน และชะงักมาอีกนาน…”