รียกขานกันมานมนานหนักหนาแล้ว สำหรับคำว่า “พระเจ้าเหา” ซึ่งเป็นชื่อมาจากตึกหรืออาคารโบราณสถานตั้งอยู่ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี ที่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญที่ใครต่อใครต้องเดินทางไปดูให้เห็นกับตา เพื่อตามอย่างละครบุพเพสันนิวาส คราวที่แม่การะเกดเธอทำตาโตบอกคุณพี่หมื่น ว่าอยากเห็นตึกพระเจ้าเหา ประเด็นนี้คุณพี่หมื่นไม่ได้บอกว่าพระเจ้าเหาเป็นใคร แต่มีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ “อาจารย์ภูธร ภูมะธน” มาเฉลยให้ทราบกัน

“ผมคิดว่ารูปธรรมทั้งหลายที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ จ.ลพบุรี มีมากมายหลายที่ บางที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ดีงาม บางที่ก็ทรุดโทรม บางที่มีความหมายแต่คนไม่รู้ สำหรับกรณี ตึกพระเจ้าเหา ซึ่งตั้งอยู่ในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ อยู่ ณ มุมหนึ่งของพระราชวัง เป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งในวังนารายณ์นั้นจะมีสถาปัตยกรรมในสมัยพระนารายณ์หลายแบบ แบบไทยหรือแบบฝรั่งปนแขก หรืออะไรก็ตาม กรณีของตึกพระเจ้าเหา จะตรงกับตำแหน่งที่ระบุในแผนที่ของชาวฝรั่งเศสว่าเป็น หอพระประจำพระราชวัง…”

อาจารย์ภูธร ภูมะธน

“โดยสถาปัตยกรรมของตึกพระเจ้าเหา จะเห็นว่ามีกำแพงแก้วล้อมรอบอีก เพราะฉะนั้น น่าจะตรงกับที่ฝรั่งเศสระบุไว้ คือเป็นหอพระประจำพระราชวังแน่นอน ถามต่อไปว่าชื่อของตึกที่รู้จักกันในนาม พระเจ้าเหา นั้นคืออะไรกันแน่? ถ้าเป็นหอพระประจำพระราชวัง คำว่าพระเจ้าเหาน่าจะเป็นชื่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำอาคารหลังนี้ก็ได้ ทีนี้มีเหรอพระพุทธรูปชื่อ เหา มีการวิเคราะห์ศัพท์นี้ เพราะกังขากันมานับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ ก็ทรงตั้งคำถามนี้เช่นกัน…”

“เหา คืออะไร? มีการตีความกันไปต่างๆ นานา โชคดีที่คนโบราณเมื่อตีความก็มีทางออกหลายทาง หนึ่ง-เหา มาจากคำว่า “House” ที่ฝรั่งอาจเรียกหอพระว่า God’s House สอง-เหา มาจากภาษาเขมรเป็นรากศัพท์มาจากเขมร แปลว่า รวมเข้ามาหากัน เสมือนหนึ่งเป็นที่ประชุม เอาล่ะ..ในระยะหลังที่พบหลักฐานว่าที่ตรงนี้คือหอพระประจำพระราชวัง พระเจ้าเหาก็ต้องเป็นชื่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำพระราชวัง ที่ประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังนี้ ถามว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูปได้ไหม? ต้องผูกโยงไปอีกว่าตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้เสด็จไปตีดินแดนล้านนาก่อนมาสถาปนาเมืองลพบุรีให้มั่นคง แล้วมีไหมพระพุทธรูปในล้านนาที่เริ่มคำแรกว่า พระเจ้า อันนี้ธรรมดามาก ใครไปล้านนาจะรู้ว่าพระพุทธรูปสำคัญของล้านนาขึ้นต้นด้วยคำว่าพระเจ้าทั้งสิ้น อย่างพระเจ้าตนหลวง พระเจ้าเก้าตื้อ คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญประจำพื้นที่นั้นๆ…”

“คราวนี้มาถึงพระเจ้าเหา พระเจ้าเหาเป็นชื่อพระพุทธรูปแน่ๆ ส่วนคำว่า เหา มีความหมายว่าเหาบนหัว หรือมีความหมายอื่น สำหรับผมเองสันนิษฐานเลยว่า ด้วยเหตุที่ท่านยกทัพไปตีเชียงใหม่มาก่อนแล้วค่อยมาสถาปนาลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ คำว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูป ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า หาว ก็ได้ ซึ่งแปลว่าสวรรค์หรือท้องฟ้า แต่สำหรับคนภาคกลาง การออกเสียงอาจจะลำบาก จากหาวมาเป็นเหาก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น สรุปชื่อ พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานในหอพระแห่งนี้ซึ่งเป็นหอพระประจำพระราชวังนารายณ์นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นต่างไปจากอาจารย์ภูธรอีกหลายแนวคิด อาทิ แนวคิดที่อธิบายโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า คำว่า พระเจ้าเหา มาจากชื่อตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่า ‘คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่าเรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันแต่โบราณมาแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า “ตึกพระเจ้าเรียก” เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า “Convocation Hall”

ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์์ได้กระทำรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็คงจะตอบกันว่า “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ต่อมาคำว่า “ตึก” เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า “ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา” แปลว่า ‘ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือ ‘ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร’ นั่นเอง

แนวคิดเรื่องพระเจ้าเหามาจากชื่อตึกนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยระบุไว้เช่นกันว่า เคยทรงสอบถามศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้รับคำตอบว่า เป็นภาษาเขมร แปลว่าที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียก เคาน์ซิลออฟแชมเบอร์ (Council of Chamber) มาประชุม

เฉลยกันไปแล้วว่า พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของอาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ หากยังมีความเห็นต่าง ผิดแผกออกไปอีกหลายแนวคิด ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของปัญญาชนคนสยามที่จะมาวิสาสา ปรมา ญาติ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาเป็นคุณค่ากับประวัติศาสตร์ของชาติไทยต่อไป

กระแสละครบุพเพสันนิวาส ฮิตไม่เลิก พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น. ให้บริการแต่งชุดไทยฟรี ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถือโอกาสทองเร่งบูรณะ จัดโครงการต่อเนื่องสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำหนังสือรวบรวมพันธุ์ไม้ในวังที่ปลูกสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นางนิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ให้สัมภาษณ์ “มติชนอคาเดมี” ว่า จากกระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ มีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์อย่างมากในขณะนี้

โดยเฉพาะชาวไทย สิ่งหนึ่งที่ สังเกตเห็นและเป็นความภาคภูมิใจ คือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยนิสิต นักศึกษา นักเรียน วัยหนุ่มสาว ต่างให้ความสนใจค่อนข้างมากกว่าเดิม ผิดกว่าแต่ก่อนที่มักมากับทางโรงเรียนหรืออาจารย์พามา และยังแต่งชุดไทยมาเที่ยวกันแบบไม่เคอะเขิน

นิภา สังคนาคินทร์

นางนิภากล่าวว่า ใครที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ตอนนี้ มีกิจกรรมให้บริการชุดไทยสวมใส่ฟรี พร้อมเครื่องประดับครบครัน โดยมีไว้บริการถึง 200 ชุด ซักรีดไว้เรียบร้อย จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการ ทั้งจากจังหวัดและบุคลากรของพิพิธภัณฑ์มาช่วยแต่งตัวให้กับนักท่องเที่ยว สอนวิธีนุ่งห่มแบบไทย อีกทั้งยังจัดวิทยากรบรรยายให้ความรู้เพิ่มมากขึ้นให้พอเพียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย

บริการชุดไทยฟรี

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวมากันทุกกลุ่ม เป็นอิทธิพลของละคร พอมีละครขึ้นมาคนก็อยากเข้าไปติดตามหาดูพื้นที่จริง อยากรู้ข้อเท็จจริง เมื่อก่อนนี้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1,000 คนเศษๆ แต่ตอนนี้ตัวเลขเพิ่ม 4-5 เท่าตัว เป็นมากกว่า 10,000 คน ถือว่าเยอะมาก ดังนั้น ทางเราจึงขยายเวลาเข้าชมวังนารายณ์ออกไป จากเดิมปิด 16.00 น. เป็น 18.30 น.  และถ้ายังมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวยังมากขึ้น ก็อาจจะขยายเวลาออกไปถึง 19.30 น.” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว และว่า คนที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ นอกจากมาดูนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระที่นั่งจันทรพิศาลแล้ว ยังได้รับความสนใจจากผู้คนมาตามหาดูสิ่งที่กล่าวในละคร เช่น ตึกพระเจ้าเหา ท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญปราสาท พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นต้น

พระที่นั่งจันทรพิศาล

นางนิภากล่าวต่อว่า ไม่อยากเห็นว่าพอละครจบ กิจกรรมต่างๆ ก็จบ แต่อยากให้มีกิจกรรมมาต่อยอด เพื่อความต่อเนื่องของผู้คนให้รักวัฒนธรรมไทย จึงมีโครงการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชน เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในรูปแบบของการเสวนา ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดเสวนาเรื่อง “ใครเป็นใครในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ซึ่งมี อาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ เป็นวิทยากร  และในเดือนเมษายนนี้จะมีกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในเมืองลพบุรี”

อีกกิจกรรมหนึ่งที่เห็นว่าดีมากและอยากทำให้เป็นจริงและได้ผล ซึ่งถือโอกาสนี้ทำต่อเนื่อง คือการให้ความรู้สำหรับประชาชนในการเข้าชมโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ว่าเข้าชมอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม เป็นระเบียบและไม่ทำลายโบราณ หรือทำให้ชำรุดทรุดโทรม เช่น อย่าปืนป่าย ห้ามขูดขีดโบราณสถาน หรือการแต่งกายไม่เหมาะไม่ควร เพราะที่นี่เป็นพระราชวัง ต้องเป็นไปแบบเหมาะสมหรือถูกต้อง

ตึกพระประเทียบ

นางนิภากล่าวว่า โครงการหนึ่งที่กำลังดำเนินการในปีนี้ เป็นโครงการบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอยู่ทั้งหมด 8 หลัง เมื่อบูรณะเสร็จแล้วจะพัฒนามาใช้ประโยชน์ในแง่ของงานพิพิธภัณฑ์ เช่น เป็นคลังเก็บโบราณวัตถุ ปรับปรุงเป็นห้องศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุด ศูนย์ศึกษาเรื่องเมืองลพบุรี หรือเป็นอาคารจัดแสดงพิเศษของพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพราะในบริเวณวังนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานและเป็นประวัติศาสตร์ ขณะที่เราต้องพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยพิพิธภัณฑ์

“ตอนนี้ได้เริ่มบ้างแล้ว โดยใช้บางอาคารจัดนิทรรศการผลการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะว่าในเมืองลพบุรีมีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราเจอข้าวของในไซต์งานโบราณคดีเยอะมาก ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศึกษาร่วมกับชาวต่างชาติและนักวิชาการจากกรมศิลปากร เช่น ศึกษาร่วมกับอิตาลี มีข้อมูลข้าวของที่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็ถือโอกาสนี้ทำเสียเลย”

สำหรับในปี 2562 จะมีโครงการบูรณะอิฐเก่าตามโบราณสถานในวังนารายณ์ให้แข็งแรงคงทน และบูรณะอาคารต่างๆ ที่อยู่ในพระราชวัง ไม่ว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกเลี้ยงรับรองคณะราชทูต และอาคารทิมดาบซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เวลานี้ทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ เรื่องของพื้นที่โดยรอบพระราชวังก็ต้องพัฒนาคู่กันไป เพราะคนมาเที่ยวไม่ได้มาดูแแค่โบราณสถาน แต่ยังดูภูมิทัศน์ สิ่งแวลด้อม สนามหญ้าเขียวๆ ต้นไม้ใหญ่ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวังมาอย่างยาวนาน เช่น ต้นจัน ถือเป็น 1 ใน 65 ต้น ไม้ในโครงการ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณจากจังหวัดให้มีการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ต้นจันจำนวน 1,000 ต้น เพื่อแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้สำคัญ

ต้นจันอายุเกือบ 400 ปี

“ต้นจันที่เห็นในวังนารายณ์มีอายุเกือบ 400 ปีแล้ว เชื่อกันว่าปลูกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตอนนี้กำลังให้นักวิชการของกรมทรัพย์มาศึกษาให้ชัดเจนว่ามีอายุเท่าไหร่กันแน่ แต่เท่าที่พบหลักฐานอาศัยจากการเทียบเคียงภาพถ่ายต้นจันต้นนี้มาหลายยุคสมัย และศึกษาเปลือกของต้นไม้ พอจะเทียบเคียงได้ว่าอายุมากกว่า 300 ปี

และไม่ใช่เฉพาะต้นจัน ยังมีต้นไม้อื่นๆ อีกหลายต้น เช่น ต้นพิกุล จามจุรี ปีป มะเกลือ ฯลฯ ที่เกิดในวังนารายณ์และต้นใหญ่มาก จึงอยากเก็บองค์ความรู้เพื่อรวบรวมและจัดพิมพ์เป็นหนังสือร่วมกับโบราณสถานที่อยู่ในจ.ลพบุรี ให้ความรู้และทำเป็นผังเส้นทางเดินสำหรับคนชื่นชอบต้นไม้ ให้เห็นว่าถ้าท่านอยู่ ณ จุดนี้ ถ้าเดินไปทางซ้าย ไปทางขวาจะเจอกับต้นไม้อะไรบ้าง และมีคำอธิบายของต้นไม้เหล่านั้น ซึ่งที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องของต้นไม้ใหญ่ ไม่เฉพาะช่วยให้ความร่มรื่น หากแต่เป็นเสน่ห์ของวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์”นางนิภากล่าว

ทั้งนี้ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2208-2209 มีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก โดยมีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงพระราชวังนี้ว่า “….นอกจากที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่มีที่ใดงดงามเท่าที่นี่” ในการก่อสร้างพระราชวัง และ พระตำหนักที่ลพบุรีในครั้งนั้น พิจารณาจากฝีมือการออกแบบและก่อสร้าง น่าจะเกิดจากการผสมผสานทั้งช่างชาวตะวันตก ช่างหลวงไทย และช่างจากเปอร์เซีย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมช่วงนี้มีความพิเศษและน่าอัศจรรย์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีถึง 8-9 เดือน ในหนึ่งปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านการปกครอง การค้า รวมทั้งด้านภาษา วรรณกรรม และสถาปัตยกรรม สมเด็จพระนารายณ์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศตลอดรัชสมัย

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 พระราชวังถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรด ฯ ให้ซ่อมแซมพระราชวังเดิมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2399 โปรดให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้น และพระราชทานชื่อพระราชวังนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

นอกจากพระที่นั่งและตึกต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์จะสวยงามและคงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ที่เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง

เรียกได้ว่ายิ่งออกอากาศ เนื้อหาในเชิงประวัติศาสตร์ก็ยิ่งเข้มข้นเข้าไปทุกขณะ สำหรับละครดังที่สร้างกระแสออเจ้าไปทั่วประเทศอย่าง “บุพเพสันนิวาส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกอากาศในวันที่ 28-29 มีนาคม ที่ละครเริ่มพูดถึง “พระปีย์” และเหตุการณ์ที่คณะราชทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

แต่อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการที่ละครพาผู้ชมไปรู้จัก “เมืองละโว้” มากขึ้น ด้วยการให้ขุนศรีวิสารวาจาพาการะเกดขี่ม้าเที่ยวชมเมืองละโว้เป็นครั้งแรก

ละโว้ หรือปัจจุบันคือ จ.ลพบุรี เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่ละโว้ จนมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่าละโว้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในยุคสมัยของพระองค์

สถานที่สำคัญในละโว้ที่ยังหลงเหลือมาให้ชมจนถึงปัจจุบันมีมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งไกรสรสีหราช วัดสันเปาโล บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์ รวมไปถึง “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” พระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ในพงศาวดารบอกว่าพระองค์มักประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน

งานนี้ “มติชน อคาเดมี” จัดทริป ย้อนเวลาพา “ออเจ้า” ไปเฝ้า “ขุนหลวงนารายณ์” เมืองละโว้ (ลพบุรี) ที่จะพาไปชมพระราชวังที่มีรูปแบบที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปกรรมไทยและตะวันตก รวมไปถึงการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังแบบพระราชวังอาลิคาปู ประเทศอิหร่าน อันแสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมแบบเปอร์เซียของสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมฟังบรรยายจาก “รศ.ดร.ปรีดีพิศภูมิวิถี” ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์กรุงเก่า และร่วมกันวิเคราะห์คำตอบแบบเจาะลึก ทั้งสาเหตุการสร้างลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 2, จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส รวมถึงจุดนัดประชุมขุนนางของ 2 พ่อ-ลูก “พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์” ในการวางแผนยึดอำนาจ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังพาไปชมโบราณสถานอื่นๆ ด้วย เช่น พระที่นั่งไกรสรสีหราช, วัดสันเปาโล, บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์

 

กำนดการเดินทาง รอบแรก วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2561 รอบสอง วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2561 ราคา 2,500 บาท (อ่านรายละเอียดการเดินทางได้ที่ลิงค์นี้ https://www.matichonacademy.com/update/article_9124)

สนใจติดต่อ :

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
inbox facebook : Matichon Academy
line @m.academy