สาวๆ อย่างเราที่เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าทำงานใหม่ๆ จนถึงวัยทำงานมาระยะหนึ่งแล้วก็เริ่มมีความต้องการที่จะ “ออมเงิน” รวมทั้งต้องการที่จะทำให้เงินที่นอนอยู่นิ่งๆ นั้น “งอกเงย” ขึ้นมาได้บ้าง เพราะวัยทำงานซึ่งมีรายได้หลักมาจากเงินเดือนนั้น หลายคนอาจหมดไปกับการใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินจนลืมเก็บออมบ้าง ติดลบบ้าง

จริงๆ แล้ว หากต้องการที่จะมีเงินเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อใช้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งเก็บออมเพื่อซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงๆ ก็ควรที่จะออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบ เพราะอย่างน้อยวัยทำงานก็ยังมีไฟที่จะหาหนทางเพิ่มรายได้และกระตือรือร้นในการหาเงิน แต่ปัญหาติดอยู่ตรงที่ว่า “อดใจช้อปปิ้งไม่ไหว” เงินเดือนออกเมื่อไหร่จ่ายกระจาย สุดท้ายก็มานั่งทำหน้าเซ็งแล้วบ่นว่า “ไม่มีเงินเก็บเลย เงินเดือนชนเดือนตลอด” แย่จัง…

เพราะฉะนั้น หากสาวๆ คนไหนเคยมีอาการแบบนี้ น่าจะปรับชีวิตแสนเศร้านี้ใหม่ แล้วมาร่วมขบวนเป็นสาวออฟฟิศที่ “สวย” และ “รวยมาก” กันดีกว่า

จดรายรับ-รายจ่าย

จากที่ไม่เคยสนใจว่าเราใช้จ่ายไปเท่าไหร่ ถึงเวลาที่เราจะปรับตัวเองใหม่ โดยเริ่มหยิบสมุดโน้ตน่ารักๆ ขึ้นมาแล้วจดสิ่งที่เราซื้อทุกอย่างลงไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ควักเงินออกจากกระเป๋าเลย นอกจากจะทำให้เรารู้ว่าหนึ่งวันเราใช้จ่ายอะไรไปแล้วบ้าง เราจะยังรู้อีกด้วยว่า เราจ่ายเงินไปมากเสีนจนลืมจดด้วยซ้ำ เพราะปริมาณการควักเงินออกมันมากจริงๆ

โดยให้เริ่มต้นการจดตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือน จนถึงวันที่ 7 ของเดือน เรียกว่า “รอบที่ 1” และทำอย่างนี้จนครบ 1 เดือน สุดท้ายมาสรุปกันว่าเราใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าไหร่ ใช้มากเกิน หรือใช้แบบยังพอเหลือเก็บ มาลองดูกัน

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ได้นั้นคือ คำนวณรายจ่ายตายตัวของเราต่อเดือนไปเลย เช่น ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน ค่าอาหารเช้า ค่าอาหารกลางวัน ค่าซื้อของ และค่าพักผ่อนทุกกรณี นำมาหารเฉลี่ยรวมกันว่าในหนึ่งเดือนเราควรใช้เท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเราได้ดีทีเดียว อีกอย่างคือ กันเงินส่วนที่ต้องจ่ายไว้ให้ตัวเองบริหารจัดการ ดีกว่ามานั่งกระเป๋าตังค์แล้วพบความว่างเปล่าก่อนสิ้นเดือน…จนแทบจะสิ้นใจ

ทำปฏิทินหนี้สิน

สำหรับคนที่ต้องจ่ายค่าผ่อนชำระสินค้าต่างๆ อย่าลืมทำตารางปฏิทินกำหนดวันจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายค่างวดต่างๆ เอาไว้ในสมุดบันทึกรายรับ-รายจ่ายด้วย กันลืม และเพื่อกันเงินไว้จ่ายให้ทันและตรงกำหนด ป้องกันการเสียดอกเบี้ยที่มากขึ้น และโดนแบล็กลิสต์เพราะลืมจ่าย หรือจ่ายไม่ตรงเวลานั่นเอง

แบ่งส่วนเงินออม

หากเราตั้งใจจะออมเงินจริงๆ จังๆ แล้วละก็ เราต้องแบ่งเงินออมไว้อย่างน้อย 10% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 15,000 บาท ตัดยอดเป็นเงินออมทันที 1,500 บาท หากห่วงว่าจะอดใจไม่ไหว แนะนำให้ตัดบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีฝากประจำไปเลย นี่คือการกันลืมเป็นอย่างดี ทีนี้เราก็จะอุ่นใจว่าเรามีเงินเก็บแล้ว

หรือเทคนิคสำหรับสาวช่างออมมือใหม่ที่อดใจได้ยากยิ่ง ขอนำเสนอวิธีออมเพียงวันละ 20 บาท หรือเดือนละ 600 บาท เก็บแบงก์ 20 บาท หรือเหรียญสิบสองเหรียญใส่กระปุก แล้วยอดทุกวัน พอครบ 1 เดือนก็นำไปฝากธนาคาร ภายในระยะเวลา 1 ปี เราจะมีเงินเก็บเท่ากับ 7,200 บาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินฝาก) และหากเราออมต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 15 ปี รู้มั้ย… เราจะมีเงินเก็บถึง 108,000 บาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินฝาก) เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น สาวๆ จ๋ามาเริ่มเก็บเงินวันละ 20 บาทตั้งแต่วันนี้กันเถอะ ชีวิตวันข้างหน้าจะได้ไม่ลำบาก (ใจ)

เปิดบัญชีใหม่ชนิด “ห้ามถอน”

ด้วยความเป็นสาวนักช้อปและชอบเที่ยวเป็นกิจวัตร สาวออฟฟิศอย่างเรามักจะอดเปรี้ยวไว้กินหวานไม่ได้อยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น หากจะเป็นสาวออฟฟิศที่ (อยาก) สวยและรวยมากแล้วละก็ แนะนำให้เปิดบัญชีใหม่ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากบัญชีเงินเดือนออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำให้เป็น “บัญชีห้ามใช้” เพื่อเก็บเป็นเงินสำรองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นค่าดูแลรักษาพยาบาลพ่อ-แม่ยามชรา ค่าเลี้ยงดูลูกในอนาคต เมื่อฝากเงินใส่บัญชีนี้แล้ว อย่าลืมเสกคาถา “จงลืมมัน” ทุกครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ถอนมันออกมาใช้ก่อนเวลาที่ควรเป็นอันขาด

สำหรับสาวๆ อย่างเรา นอกจากจะทำงานและหาเงินเก่งแล้ว จะต้องบริหารการเงินให้เก่งตามไปด้วย โดยเริ่มจากการออมเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยๆ เขยิบเข้าไปใกล้เรื่องของการเงินที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทัน และสนุกไปกับการจัดการวงจรชีวิตเงินเดือนของตัวเอง


จากหนังสือ KNOCK DOWN Money ออมเงินให้อยู่หมัด โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สนพ.มติชน

ลายคนคงเป็นเหมือนกันคือเวลาเห็นป้าย “ลดราคา” แล้วตาลุกวาว ต้องรีบเข้าไปดูไปซื้อ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วของที่ได้กลับมาก็เป็นของไม่จำเป็น ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ทนทานต่อคำว่า Sale! ไม่ไหว รู้ตัวอีกทีก็มีของติดไม้ติดมือกลับมาเต็มไปหมด

รู้หรือไม่ ทำไมต้องมีการลดราคา

วิธีนี้เป็นกลยุทธ์ที่เจ้าของร้านงัดออกมาใช้กันบ่อย การลดราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งในร้านต่างๆ หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่า “ไม่ได้ลดทุกชิ้น” แต่การโฆษณาให้เห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่า “ลดมากจริงๆ” ก็เพื่อต้องการดึงลูกค้าให้เข้าร้านเยอะๆ เมื่อลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าที่ลดราคาหรือ “ตัวล่อ” ก็มักจะหยิบสินค้าอื่นๆ ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย หรือไม่ก็เปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าราคาปกติที่ดูดีกว่าในร้านแทนนั่นเอง

ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ มักจะใช้กลยุทธ์นี้ด้วยการลดราคาเสื้อยืดลายธรรมดาเพื่อดึงคนเข้ามาก่อน แล้ววางโชว์เสื้อราคาปกติให้ดูสวยงาม มีออร่าในหมู่มวลเสื้อยืดธรรมดา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คืออาจทำให้ลูกค้าซื้อทั้งสินค้าลดราคาและสินค้าปกติซึ่งอาจแพงกว่าเท่าตัว

หรือเวลาที่ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เรามักจะเลือกซื้อของในราคาที่ถูกสุดๆ ในสัปดาห์นั้นๆ หรือมีแบบถูกเวอร์ในทุกๆ สัปดาห์ แต่ติดป้ายตัวเล็กกระจิริดว่า “สินค้ามีจำนวนจำกัด” ซึ่งก็คือมีไม่กี่ชิ้นเท่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อดึงดูดแม่บ้านและพนักงานมีเงินเดือนให้แวะเข้ามาเลือกซื้อสินค้าชนิดอื่นๆ ไปในตัวด้วย ซึ่งมันก็คือกลยุทธ์การตลาดที่เขาใช้แข่งขันกันดุเดือด โดยที่ลูกค้าอย่างเราก็อาจจะได้กำไรจากการแข่งแมตช์นี้บ้าง แต่ก็ถือว่าลดเพื่อล่อ (ให้มาซื้อ) นั่นเอง

“ลด” เพราะสินค้าค้างสต๊อกมากเกินไป

จุดนี้บางครั้งลูกค้าอย่างเราก็มีสิทธิได้สินค้าแบบได้กำไร เพราะว่าสินค้าบางร้านที่เจ้าของลงทุนไว้มากเกินไปแล้วขายไม่ออก เจ้าของก็ต้องยอมลดราคาให้เท่าทุนเพราะต้องการระบายสินค้าออกให้หมด เพื่อเตรียมที่จะนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ แต่หากไม่เข้าตาจนจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้ลดราคาถึงขนาดยอมหั่นเนื้อตัวเองกินหรอก อย่างมากก็ลดราคาจริงแต่เอาแค่ขาดทุนกำไร พอมากดเครื่องคิดเลขแล้วเผลอๆ คืนทุนและได้กำไรไปบางส่วนแล้ว

เขาอาจตั้งราคาที่ต่ำกว่าทุนก็จริง แต่ก็ไม่ได้ขาดทุนนี่ ใครจะไปยอมให้ขาดทุนขนาดนั้นได้ จริงมั้ย?

และเมื่อเขาไม่ได้ขาดทุน เจ้าของร้านมองบัญชีแล้วว่าไม่ใช่ตัวแดงติดลบ เขาก็โอเคที่จะลดราคาสินค้าต่อ นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่เราเจอบ่อยๆ ก็คือ โปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1, ซื้อ 2 แถม 1, ซื้อชิ้นที่ 2 ลด 50% เยอะแยะไปหมด ซึ่งหลายคนก็ชอบซื้อของในโปรโมชั่นนี้เพราะรู้สึกว่า “ถูกและคุ้ม” ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นคือสินค้าค้างสต๊อก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่เราก็ต้องดูก่อนว่าสินค้าที่ทางร้านนำมาทำโปรโมชั่นนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ หรือเปล่า ติดประกาศโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงหรือเปล่า เพราะหากเราไม่ดูให้ดี เผลอๆ ได้สินค้าที่ห่วยมาแทน จะหนักกว่าซื้อสินค้าราปกติให้ชีช้ำหัวใจเล่นๆ หรือดีไม่ดีต้องเสียค่าหมอรักษาอีก

“ลด” เพราะใกล้หมดอายุ

เรื่องนี้เราจะเห็นกันบ่อยมาก โดยเฉพาะอาหารสดในซูเปอร์มาเก็ต ที่จะมีแม่บ้านไปยืนชะเง้อมองว่าเจ้าหน้าที่จะติดป้ายลดราคากระหน่ำเมื่อไหร่ เพราะบรรดาของสดหรือกับข้าวที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทำไว้นั้นเขาต้องทำสดใหม่ทุกวัน เพราะฉะนั้นของในคืนนี้ (ก่อนห้างปิดประมาณ 1 ชั่วโมง) ก็จะรีบเคลียร์ออกไปให้หมด ขายในราคาทุนหรือขาดทุนก็ยังดีกว่าทิ้งให้เสียเงิน ซึ่งทำให้ลูกค้าอย่างเราอาจจะได้กำไรเล็กๆ น้อยๆ คืนจากการซื้อของในช่วงเวลานี้ เพราะของสดบางชนิดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นข้ามคืนได้ แต่ก็ต้องรู้จักเลือกและประมาณตนด้วย ไม่ใช่ว่าซื้อเพราะถูกไปตั้งเยอะ แต่กินอยู่คนเดียว กินไม่หมดก็ต้องทิ้ง เสียดายเงินแทน

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่มักถูกนำมาจัดโปรโมชั่นลดราคาเพราะใกล้หมดอายุอีก สินค้าอาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ขนมต่างๆ ที่ระบุวันหมดอายุไว้อ่างชัดเจนแต่ใกล้จะหมดอายุ ซึ่งเหลือเวลาใช้งานอีกประมาณ 48 เดือนก็จะเริ่มนำมาลดราคากันแล้ว บางอย่างก็เอามาลดราคาแบบเหลืออีก 1 ปี เหลือ 1 วันก็ยังจะขายในราคาลดสุดๆ อยู่เหมือนเดิม ซึ่งหากเราไม่ทันสังเกตหรือไม่ได้ดูวันผลิต วันหมดอายุ ก็จะทำให้เราเผลอซื้อสินค้าถูกแต่ใกล้หมดอายุ และผลิตทิ้งไว้มาตั้งนานนมแล้วนั่นเอง

รวมทั้งนมสดพาสเจอร์ไรซ์ที่มักจะนำมาลดราคาแบบครึ่งต่อครึ่งก็เพราะเหลืออีกเพียง 7-12 วันก็จะหมดอายุ เพราะต้องการนมที่สดใหม่กว่าเข้ามาแทนที่ ขนมปังก็เช่นกัน เพราะเป็นสินค้าที่มีการกำหนดวันหมดอายุค่อนข้างเร็ว จึงต้องเร่งขายให้หมด

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็เพื่อให้รู้จักอดใจ อดทน อดกลั้นกับการใช้เงิน และรู้เท่าทันวิธีการตลาดที่เขาใช้กัน ไม่ได้บอกว่าห้ามซื้อเด็ดขาด แต่ให้ระวังในการใช้เงินให้มากๆ เพราะเงินหายาก ใช้ง่าย และยิ่งไม่รู้จักใช้ก็จะยิ่งลำบากในอนาคต


ที่มา หนังสือ KNOCK DOWN MONEY ออมเงินให้อยู่หมัด โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สนพ.มติชน