๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์

“ศิลปวัฒนธรรม” จัดเต็มบรรยากาศยุคฉลองวันชาติ รื่นเริงเบิกบานในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ระดมนักวิชาการเบอร์ต้นนับสิบขึ้นเวทีทอล์ก จัดแสดงของหายากยุค 2475 เข้มข้นด้วยเทศกาลหนังสือการเมืองจาก 8 สนพ. ชื่อดัง พร้อมเปิดตัว 3 หนังสือใหม่จาก สนพ.มติชน ฉายหนัง “พระเจ้าช้างเผือก” เพลิดเพลินกับปาร์ตี้ย้อนยุค “บรรเลงรมย์” พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดยุคสร้างชาติโดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ร่วมงานฟรี! วันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ที่มติชนอคาเดมี

เมื่อ “ชาติ” เป็นเรื่องจับต้องได้ ย่อยง่าย และสนุก “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้นำเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม ในเครือมติชน จึงจัด สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ชวนทุกคนมารื่นเริงสุขสำราญในบรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติ “24 มิถุนายน” จัดขึ้นให้ชนทุกชั้นได้มาร่วมเบิกบานหรรษากันทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2482-2502 ซึ่งบรรยากาศที่อบอวลด้วยความสุขนี้เอง ที่ “ศิลปวัฒนธรรม” นำกลับมาให้ได้สัมผัสกันอีกครั้ง พร้อมกิจกรรมสุดพิเศษมากมาย ที่นี่ที่เดียว!

เข้มข้น-กลมกล่อม กับ 9 เวทีเสวนา     

พบ 9 เวที “เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล” โดย ศิลปวัฒนธรรม และ Book Talk โดย สำนักพิมพ์มติชน ที่ยกขบวนนักวิชาการชั้นนำและผู้รู้จริงมาร่วมพูดคุย เข้มข้นด้วยสาระน่ารู้ กลมกล่อมด้วยลีลาการถ่ายทอดเฉพาะตัว อาทิ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, เอนก นาวิกมูล, โฉมฉาย อรุณฉาน, บูรพา อารัมภีร, ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ชาตรี ประกิตนนทการ, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, ชาติชาย มุกสง, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, อัครชัย อังศุโภไคย, ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ฯลฯ

โฉมฉาย อรุณฉาน
นริศ จรัสจรรยาวงศ์
ณัฐพล ใจจริง
ชาติชาย มุกสง
อัครพงษ์ ค่ำคูณ

“เปิดกรุ” ของสะสมหายาก ยุค 2475

เปิดกรุของสะสมหาชมยาก ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยุคฉลองรัฐธรรมนูญ และยุคฉลองวันชาติ ที่ ณัฐพล ใจจริง, นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ อัครชัย อังศุโภไคย เก็บสะสมเป็นของรักของหวง ชนิดไม่ปล่อยออกมาให้ใครได้ชมง่ายๆ

พบขันเงินที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2476, เข็มกลัดที่ระลึกงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2476, เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเข็มกลัดลายพานรัฐธรรมนูญ ที่แจกให้ผู้ปราบกบฏบวรเดช ปี 2476, เหรียญที่ระลึกเปิดอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์ 10 ธันวาคม 2476, กระดุมที่ระลึกงานวันชาติ ปี 2482-2485, กระดุมที่ระลึกรวมไทย 2483 (เรียกร้องดินแดน), ภาพถ่าย, สื่อสิ่งพิมพ์, โปสเตอร์ ฯลฯ

พบของสะสม “อันซีน” อีกมากมาย ที่นำมาจัดแสดงให้ชมอย่างใกล้ชิดใน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” งานเดียวเท่านั้น

ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ครั้งแรก! “เทศกาลหนังสือการเมือง”

เอาใจคอประวัติศาสตร์และการเมืองด้วย “เทศกาลหนังสือการเมือง ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดย สำนักพิมพ์มติชน และ 7 เพื่อนสำนักพิมพ์ ได้แก่ สำนักพิมพ์แสงดาว,  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,  สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, สำนักพิมพ์ยิปซี, สำนักพิมพ์สารคดี-เมืองโบราณ, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และสำนักพิมพ์สมมติ

ทั้ง 8 สำนักพิมพ์ คัดสรรหนังสือมาให้เลือกซื้ออย่างจุใจกว่า 100 ปก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือใหม่ หนังสือเก่า หนังสือหายาก หนังสือคลาสสิก เนื้อหาครอบคลุมทุกมิติประเด็นการเมือง ทั้งประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 การเมืองไทยร่วมสมัย เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมืองเรื่องวัฒนธรรม การเมืองเชิงวิพากษ์ ฯลฯ พบหนังสือ “เซตพิเศษราสดรส้างชาติ” พร้อมของพรีเมียมที่ออกแบบพิเศษ, หนังสือชุดปฏิวัติ-เซ็ตการเมือง ในราคาวาระพิเศษ 2,475 บาท และ 1,932 บาท ซื้อหนังสือภายในงานครบราคาที่กำหนด ฟรี! ถ่ายภาพ Photo Booth Magnet

บันเทิงใจกับ “บรรเลงรมย์” พร้อมชิมเมนูเด็ดยุคสร้างชาติ

เบิกบานหรรษากับการแสดงดนตรี “บรรเลงรมย์” ขับขานบทเพลงสร้างความเพลิดเพลินโดย โฉมฉาย อรุณฉาน พร้อมปาร์ตี้ย้อนยุคที่ชวนทุกคนลุกขึ้นมาแต่งตัว แต่งแต้มสีสันให้บรรยากาศฉลองวันชาติคึกคักยิ่งขึ้น

ในงานยังได้อิ่มอร่อยไปกับหลากหลายเมนูยุคสร้างชาติ ที่ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ คัดมาแล้วว่าเด็ด อาทิ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน ฯลฯ เรียกว่าครบจบในที่เดียว

มาร่วมรื่นเริงสุขสำราญในสโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์” จัดโดย ศิลปวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ที่มติชนอคาเดมี เข้าฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย เดินทางสะดวกด้วยรถโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี

ลงทะเบียนร่วมงานก่อนใครได้ที่ http://www.matichonevent.com/24june/ และติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และเว็บไซต์ www.silpa-mag.com

สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล “๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์”

วันที่ 23-24 มิถุนายน พ.ศ. 2566

วันที่ 23 มิถุนายน

  • 00-10.30 น. กิจกรรมบริจาคหนังสือ
  • 30-12.00 น. ปาฐกถาพิเศษ (คลิป) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล “กำเนิดและสิ้นสุดวันชาติ 24 มิถุนายน” โดย ณัฐพล ใจจริง และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร
  • 00-14.00 น. Book Talk “ใต้เงาปฏิวัติ การสืบราชการลับกับจดหมายราษฎรหลัง 2475” โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ และ มณฑล ประภากรเกียรติ ดำเนินรายการโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
  • 00-15.00 น. Book Talk “2475 ราสดรส้างชาติหลังพลิกแผ่นดิน” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ดำเนินรายการโดย กนิษฐ์ วิเศษสิงห์
  • 00-16.00 น. เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล “ความเป็นชาติคืออะไร” โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
  • 00-19.00 น. ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” กล่าวเปิดโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

วันที่ 24 มิถุนายน

  • 00-12.00 น. เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล “เมนูสร้างชาติ ราษฎรยุค 2475” โดย ชาติชาย มุกสง
  • 00-14.00 น. เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล “เปิดภาพหายากและสื่อสิ่งพิมพ์ยุคฉลองรัฐธรรมนูญ” โดย เอนก นาวิกมูล และ อัครชัย อังศุโภไคย
  • 30-15.30 น. Book Talk “ชาติ-ประชาธิปไตย ความหมายที่ซ่อนในสถาปัตยกรรม” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ
  • 00-17.00 น. เสวนา ศิลปวัฒนธรรมสเปเชียล “ความบันเทิงหลัง 2475” โดย โฉมฉาย อรุณฉาน และ บูรพา อารัมภีร
  • 30 น. เป็นต้นไป ปาร์ตี้ย้อนยุค “บรรเลงรมย์” โดย โฉมฉาย อรุณฉาน

เวลาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะในหมวดเครื่องประดับโบราณที่เรามักเห็นเป็นประจำก็คือ “ต่างหู”  ในพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นมีต่างหูรูปแบบหนึ่งเป็นเครื่องประดับมีปุ่ม 3 ปุ่ม ทำจากหินหยก หรือ เนฟไฟรต์ (Nephrite) ซึ่งเป็นหินกึ่งรัตนชาติ ต่างหูแบบนี้เรียกกันว่า “ลิง-ลิง-โอ” ภาษาอังกฤษเขียน “Ling-Ling-O” ต่างหูลิง-ลิง-โอ เป็นเครื่องประดับของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นห่วงกลม มีปุ่มยื่นออกมา 2 ถึง 4 ปุ่ม ทำด้วยวัสดุหลากหลายชนิดทั้งหิน แก้ว และดินเผา คำว่า “ลิง-ลิง- โอ” เป็นคำที่ชาวพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ใช้เรียกต่างหูที่พวกเขาสวมใส่อยู่

การพบเนฟไฟรต์ในหลายภูมิภาค ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นการผลิตที่แหล่งนั้นๆ  โดยนำวัตถุดิบจากแหล่งเฟงเทียนในไต้หวันมาใช้ทำเครื่องประดับในชุมชนต่างๆ ซึ่งหลักฐานคือมีการพบจี้ห้อยคอรูปสัตว์สองหัวชิ้นหนึ่งที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร แต่ยังผลิตไม่เสร็จ ซึ่งที่เขาสามแก้วนี้ ก็เป็นแห่งแรกที่ขุดพบเครื่องประดับที่ทำจาก “หยกมินโดโร”  ซึ่งเป็นหยกที่พบมากที่ฟิลิปปินส์ มาเลย์ตะวันออก และเวียดนามตอนใต้  หยกชนิดนี้จะอ่อนนุ่มกว่าหยกจากแหล่งเฟงเทียนในไต้หวัน และการขุดพบที่เขาสามแก้วนี้ก็แสดงว่า น่าจะมีการผลิตต่างหูลิงลิงโอที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่เขาสามแก้วในคาบสมุทรสยาม

ปัจจุบัน ลิง-ลิง-โอ เป็นเครื่องประดับที่พบมากในวัฒนธรรมซาหุญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบมากในแถบชายฝั่งทะเลทางตอนกลางและใต้ของเวียดนาม มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 1-5  ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมซาหุญ คือการฝังศพในภาชนะดินเผาและจะมีของอุทิศให้กับศพ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมซาหุญ คือ ต่างหูลิง-ลิง-โอ และต่างหูรูปสัตว์สองหัว  มีการค้นพบต่างหูลิง-ลิง-โอ ในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน  เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทย ค้นพบที่แหล่งโบราณคดีอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แหล่งโบราณคดีท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี  และที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร รวมทั้งกระจายทั่วไปในเขตชายฝั่งและหมู่เกาะในบริเวณทะเลจีนใต้หรือแปซิฟิก

การพบต่างหู ลิง-ลิง-โอ ที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างคนในภาตใต้และเวียดนามมาตั้งแต่อดีต  ลิง-ลิง-โอ อาจจะเป็นสินค้าหรือเครื่องประดับที่พ่อค้าชาวซาหุญนำติดตัวเข้ามาให้คนในภาคใต้ได้รู้จัก อาจจะนำมาโดยการล่องเรือ เพราะยังพบต่างหู ลิง-ลิง-โอ กระจายอยู่ตามหมูเกาะต่างๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยนั้นสามารถผลิตเครื่องประดับ มีความรู้ในการออกแบบ และเผยแพร่ให้เครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของดินแดนอื่นๆ  ต่างหูลิง-ลิง-โอ ที่มีปุ่มสามปุ่มทำจากหินหยกนั้น พบว่ากระจายตัวมากที่สุดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล แนวการเดินเรือเลียบชายฝั่ง มักมีรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกันคือราว 30-35 เซนติเมตร

ลิง-ลิง-โอ ยังพบอีกว่ายังคงเหลืออยู่เป็นเครื่องรางไว้ห้อยคอ เพื่อความโชคดีและได้รับโชคลาภ ร่ำรวย ในกลุ่ม “ชาวอิฟูเกา” ซึ่งเป็นกลุ่มคนบนที่สูง และเป็นชื่อจังหวัดในเขตปกครองของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ จนถึงทุกวันนี้

ตึกฝรั่งที่มีรูปแบบเป็นบ้านเดี่ยวหรือคฤหาสน์ คนภาคใต้โดยเฉพาะที่เมืองกะทู้ (อำเภอ)จังหวัดภูเก็ต เรียกว่า “อั้งม่อหลาว” หรือ “อั่งหม่อหลาว” ซึ่งเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึงอาคารรูปแบบบ้านเดี่ยวหรือคฤหาสน์แบบฝรั่ง คำว่า “อั้งม่อ” แปลว่าฝรั่งหรือชาวต่างชาติ ส่วนคำว่า “หลาว” แปลว่าตึก ในจังหวัดภูเก็ตพบมากในพื้นที่เขตย่านเมืองเก่า ใจกลางเขตเทศบาลนครภูเก็ต มีทั้งอาคารเดี่ยวและอาคารห้องแถว หรือตึกแถว ภาษาจีนเรียก “เตี่ยมฉู่” หลายยุคสมัยผสมผสานกันไป

อาคารลักษณะนี้มีความสง่างามภูมิฐานแบบตะวันตก แต่มีความร่มเย็น สุขสบาย และถ่ายเทอากาศได้สะดวกแบบตะวันออกหรือแบบจีน ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกพบได้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองที่เจริญขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น

ในเขตเทศบาลเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีอาคารแบบอั้งม่อหลาวที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ได้แก่ โบราณสถานอาคารสำนักงานโรงงานสุราสรรพสามิต หรือ โรงเหล้า ตั้งอยู่ที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ใกล้คลองเก็ตโฮ่และขุมเหมือง ติดกับสวนสาธารณะลานกีฬาเทศบาลเมืองกะทู้

ตามประวัติของอาคารหลังนี้ มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยการทำเหมืองแร่ เจ้าของเดิมชื่อ “นายลิ่มหยอง  ทรัพย์ทวี”  (แซ่ตัน) ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ สร้างบ้านหลังนี้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ภายหลังเป็นมรดกตกทอดมายังลูกชาย คือ นายเซ้งฮุ้ย  ทรัพย์ทวี (แซ่ตัน) จากนั้นได้ขายให้กับ นายสุวรรณ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นชาวกรุงเทพมหานคร  ทำให้บริษัทกรุงเทพเศรษฐภัณฑ์ได้เช่าเพื่อทำเป็นโรงต้มกลั่นเหล้า มีกรมสรรพสามิตเข้ามาควบคุมดูแลกิจการ ต่อมาทางบริษัทกรุงเทพเศรษฐภัณฑ์ได้ย้ายกิจการไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเหล้าแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ให้กรมสรรพามิตดูแล

จนกระทั่งปี พ.ศ.2557 เทศบาลเมืองกะทู้ได้เข้ามาดูแลและดำเนินการอนุรักษ์บูรณะอาคารหลังนี้ตามรูปแบบรายการของกรมศิลปากร อาคารจึงกลับมางดงามมีคุณค่าเคียงคู่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองกะทู้ดังเดิม  ปัจจุบันภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  และยังใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวอำเภอกะทู้ ถือเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ได้ใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอีกด้วย โดยตัวอาคารเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ในเวลาราชการ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ระบบเสาและผนังรับน้ำหนัก ขนาดกว้าง 12.5 เมตร ยาว 30 เมตร ลักษณะการวางผังแบบสมมาตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหน้าตรงกลางมีมุขยื่น ตรงหน้ามุขชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่ง ใช้จอดรถยนต์ได้ ประดับซุ้มโค้งตรงกลาง  ส่วนด้านข้างซ้ายขวาเป็นซุ้มโค้งปลายแหลมหยัก เหนือซุ้มประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา

ด้านหน้าอาคารส่วนบนประดับด้วยหน้าต่างโค้งยาวจรดพื้น ด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างเป็นจังหวะสามช่อง ด้านข้างอีกด้านละสองช่อง ส่วนบนทำเป็นบานเกล็ดไม้ปรับได้ ส่วนล่างเป็นบานพับแบบบานลูกฟัก ตกแต่งหน้าต่างด้วยซุ้มโค้งครึ่งวงกลม เจาะช่องแสงรูปแฉกรัศมีของพระอาทิตย์ เหนือกรอบประตูหน้าต่างประดับด้วยลายปูนปั้น เสาอาคารทรงสี่เหลี่ยมมีบัวหัวเสา

ชั้นล่างปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา ประตูทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูไม้สองชั้น มีหน้าต่างแบบซุ้มโค้งขนาบสองข้างของฝาผนัง ประตูชั้นนอกบานประตูและกรอบประตูแกะสลักและฉลุลวดลายแบบจีน แบ่งแต่ละช่วงเป็นช่อง ลงรักปิดทอง ประตูชั้นในใช้สำหรับปิด สลักลายวงกลมในกรอบสี่เหลี่ยม  ลวดลายที่สลักล้วนเป็นลวดลายที่เป็นมงคลแบบจีน พร้อมด้วยเครื่องตั้งโต๊ะแบบจีน เช่น “ดอกโบตั๋น” เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม และเป็นดอกไม้แห่งความร่ำรวย เกียรติยศและความรักใคร่ “ดอกเบญจมาศ” เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่ยืนยาว ทนทานและอดทน  “ค้างคาว” เป็นสัญลักษณ์แทนโชคลาภ ความสุขและอายุยืนยาว “แจกัน” แทนความร่มเย็นเป็นสุข “นกกับดอกไม้” เป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์ และความสุข  “หนังสือหรือคัมภีร์” หมายถึงปัญญาและการมีอนาคตที่ดี   “สับปะรด” หมายถึง มีโชคลาภ มั่งคั่ง ร่ำรวย และเจริญก้าวหน้า  “ฟักทอง” เป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิด ความเจริญรุ่งเรือง เหลือกินเหลือใช้

“ส้มมือ หรือ ส้มโอมือ” เป็นสัญลักษณ์ของโชค วาสนา มั่งคั่ง   และ “นกยูง” หมายถึงความงามและความมีเกียรติยศ

หน้าต่างด้านหน้าที่ผนังชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งแบน มีบานพับแบบบานลูกฟัก เจาะช่องแสงรูปก้อนเมฆและประดับบัวปูนปั้น  ส่วนผนังด้านข้างอาคารเป็นช่องหน้าต่างเรียบรูปสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นบานเกล็ดไม้ ชั้นล่างเป็นบานพับแบบบานลูกฟัก และประดับบัวปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างทุกบาน

ชั้นล่างตรงกลางเป็นโถงแบ่งพื้นที่ซ้ายขวาเป็นห้องด้วยผนังก่ออิฐฉาบปูน มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนทางด้านปีกขวาของตัวบ้านสองจุด อยู่บริเวณโถงใกล้กับประตูทางเข้าด้านหน้าหนึ่งจุด และด้านหลังอีกหนึ่งจุด

ชั้นบนเป็นพื้นไม้ ตรงกลางห้องเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านซ้ายขวาแบ่งเป็นห้องโดยการใช้แผ่นไม้กั้นเป็นฉากและประตู ตกแต่งด้วยการสลักลวดลายพรรณพฤกษา และสัตว์ ซึ่งเป็นลวดลายมงคล เช่น ได้แก่ดอกโบตั๋น ดอกเบญจมาศ นก  และมีลาย “ดอกบัว” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ และหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ให้มีความปรองดอง หรือเป็นการอวยพรให้มีบุตรในเร็ววันก็ได้ เนื่องจากดอกบัวนั้นผลิดอกออกผลในเวลาเดียวกัน

ช่องแสงและช่องระบายอากาศที่สลักและฉลุลวดลายที่เป็นมงคล นอกจากเพื่อใช้ระบายอากาศจากตัวอาคารแล้ว ยังสะท้อนความเชื่อของชาวจีนที่ว่า อากาศและลมที่ไหลเวียนผ่านลวดลายอันเป็นสิริมงคลเข้าสู่ตัวอาคารจะช่วยส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีความเจริญมั่งคั่ง มีโชคลาภ ร่มเย็นเป็นสุข อายุยืน และประกอบกิจการเจริญก้าวหน้าด้วย  ระเบียงด้านหลังประดับช่องลมด้วยเซรามิคลายพิกุลกลาง สีเขียว เครื่องบนเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผารูปโค้งแบบคว่ำหงาย และมีลวดลายปูนปั้นโดยรอบตัวอาคาร ส่วนห้องครัวสร้างชั้นเดียวแยกออกมาจากตัวอาคารโดยมีหลังคาเชื่อม สองข้างมีกำแพงสูง พื้นที่ด้านในโล่งเรียกว่า “ฉิ่มแจ้” สำหรับระบายอากาศ

ภายในอาคาร มีบ่อน้ำทรงกลมก่ออิฐฉาบปูนอยู่ด้านปีกขวาของตัวบ้าน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูงจากพื้น 45  เซนติเมตร  มีช่องประตูเข้าสองข้างซ้ายขวา ที่ผนังเจาะช่องหน้าต่าง ส่วนพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา และแบ่งพื้นที่ใช้งานภายในครัวด้วยราวลูกกรงปูนปั้น อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและมีอายุร่วมสมัยกับกลุ่มอาคารอิทธิพลตะวันตกผสมจีน หรือแบบชิโน-ยูโรเปียน ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ลักษณะอาคารหลังเดี่ยวขนาดใหญ่แบบคฤหาสน์หรือตึกแบบฝรั่ง ที่มีความสมบูรณ์สง่างามทางโครงสร้าง

การตกแต่งอาคารด้วยลายปูนปั้นประดับช่องประตูและหน้าต่าง บานประตูไม้ทางเข้าด้านหน้าลงรักปิดทอง รวมถึงฉากกั้นไม้และประตูชั้นบน มีการแกะสลักและฉลุลวดลายมงคลแบบจีนที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ถึงปัจจุบัน

**********************************

หมายเหตุ:ข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ภาพถ่ายเก่า อาคารเมื่อครั้งเป็นที่อยู่อาศัยสมัยทำเหมืองแร่
ห้องครัว

เปิดให้เข้าชมพระบรมมหาราชวัง-วัดพระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป หลังต้องปิดการเข้าชมชั่วคราว เนื่องจากลดการระบาดของไวรัสโควิด-19

โดย เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ ประชาสัมพันธ์เรื่องเปิดพระบรมมหาราชวัง ระบุว่า “จะเปิดให้เข้าชมพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป เวลา 08.30 – 15.30 น.”

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

เหตุการณ์ปฏิบัติ 2475

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อไปเป็นระบอบประชาธิปไตย  โดยมี “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หัวหน้า “คณะราษฎร” เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการ เหตุการณ์ในครั้งนั้นมาถึงปัจจุบันยังมีคำถามมากมายในการก่อการ คำถามหนึ่งที่คนสนใจใคร่รู้ก็คือ “ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงคิดปฏิวัติและสร้างประชาธิปไตยให้กับไทย ? “ ซึ่งคำถามนี้ผู้ทรงความรู้อย่าง “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิสอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  เจ้าของวิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญเรื่องรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งต่อมาจัดพิมพ์ในชื่อ  “2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ” เป็นวิทยานิพนธ์ที่ร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และการล้มลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

อาจารย์ธำรงศักดิ์ กล่าวว่าพระยาพหลฯ ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศเยอรมัน ได้เห็นภาพโลกยุโรป ได้เห็นภาพโลกเอเชียผ่านมหาอำนาจญี่ปุ่น และต่อมาพระยาพหลฯ ก็ได้ตามขบวนเสด็จของพระปกเกล้าฯ  ไปเยือนยังสิงคโปร์  ชวา มาเลเซีย ทำให้เห็นโลกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มเติมอีก  เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าอะไรทำไมพระยาพหลฯ จึงคิดที่จะสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศ มาจาก 1.ฐานของพระยาพหลฯ ก็คือการเป็นสามัญชน เพื่อนร่วมรุ่นที่ไปเรียนเยอรมันด้วยกันล้วนเป็นลูกหลานท่านเธอเจ้านาย  ดังนั้น ไม่มีใครคิดแน่ๆในเรื่องของดีโมเครซี่หรือประชาธิปไตย  แต่สามัญชนที่ไปเจอโลกของสมัยใหม่ (เช่นพระยาพหลฯ) จะมองเห็นทันทีเลยว่าโลกของประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างประเทศ  เพราะถ้าไม่ใช่โลกประชาธิปไตย  สิ่งที่จะดำรงอยู่ในชีวิตทางการทหารของพระยาพหลฯ ก็จะเป็นโลกที่เรียกว่า โลกของการใช้หลัก “คุณลูกใคร” 

“พระยาพหลฯ จะรู้สึกปวดใจมากว่าเมื่อคิดถึงหลักความสามารถ  มันมีตอนหนึ่งพระยาพหลฯ เล่าให้ฟังว่ากองทัพจะซื้อปืน เป็นปืนใหญ่ของฝรั่งเศส แต่พระยาพหลฯ คัดค้านการซื้อปืนรุ่นนี้เพราะปืนของฝรั่งเศสนั้นเป็นปืนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อันนี้เป็นการซื้อก่อนปี 2475 สักปีสองปี  เมื่อปืนมันเป็นปืนใหญ่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มันไม่สามารถที่จะปรับระดับการยิงที่ตัวปืนได้ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายปืนได้ เพราะว่าไม่มีล้อ พระยาพหลฯ คัดค้าน แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมของฝ่ายทหาร 30 กว่านาย เห็นชอบตามข้อเสนอ เพราะว่าผู้เสนอนั้นเป็นเจ้าใหญ่นายโต  พอเจ้าใหญ่นายโตเสนอ ก็ไม่มีใครคัดค้าน  พระยาพหลฯ จึงรู้สึกเจ็บใจมาก รู้สึกมันปวดที่ใจ พระยาพหลฯ เป็นคนที่ปวดที่ใจบ่อยมากเลย เพราะว่าไม่รู้จะทำยังไงในการที่จะห้าม 

มีอยูู่วันหนึ่งพระยาพหลฯ เล่าว่าได้ไปเจอกับ

ทูตฝรั่งเศสในงานเลี้ยงที่วังเจ้านาย พระยาพหลฯ ก็ถามทูตฝรั่งเศสว่าทำไมคุณถึงเอาปืนสับปะรังเคซังกะบ๊วยมาขายให้กับประเทศเรา  ทูตฝรั่งเศส อันนี้เป็นประโยคของทูตฝรั่งเศสเลยนะที่พระยาพหลฯ เล่าให้กับศรีบูรพาฟังในเรื่องการปฏิวัติ 2475  ทูตฝรั่งเศสบอกว่าประเทศของคุณไมได้ต้องการอาวุธที่จะรบกับประเทศไหน ประเทศของคุณต้องการอาวุธที่ต้องปราบจลาจลภายในประเทศเท่านั้น  เข้าใจไหม  ดังนั้น ใช้อาวุธพวกนี้ก็พอแล้ว  พระยาพหลฯ โอ้ย…ยิ่งเจ็บร้าวใจไปมากๆ นี่คือปัจจัยของการปกครองที่ไม่มีระบบเหตุผล  การปกครองที่ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีชาติวุฒิอะไร  ไม่ใช่เรื่องของหลักเหตุผล หรือว่าความเหมาะสม  ซึ่งพระยาพหลฯมองว่าสิ่งเหล่านี้คือปราการที่ทำให้ประเทศชาติไม่อาจพัฒนาได้   ไม่อาจเจริญได้   นี่คือสาเหตุที่ทำให้พระยาพหลฯ มองเห็นทางเดียวคือต้องเป็นประชาธิปไตย ประเทศถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้”

ติดตามเนื้อหาเต็มๆ  จาก “Talking Tour” Ep.5:พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสู่สังคมไทย  โดย “ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์” ช่องทาง

  • เพจเฟซบุ๊ก ทัวร์มติชนอคาเดมี
  • เพจเฟซบุ๊ก Matichon Academy – มติชนอคาเดมี
  • ยูทูบ Matichon Academy
พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ประเทศเยอรมัน เมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย
เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475

6 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์จำนวน 33 รูป ซึ่งได้คัดเลือกไว้แล้วและให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มาจำวัดที่ “วัดเบญจมบพิตร” วัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริให้สร้างขึ้นทดแทนวัดโบราณ 2 แห่ง และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งที่เป็นพระราชอุทยาน “ดุสิตวนาราม” ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร  จึงโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม”  มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถ และถาวรวัตถุอื่นๆ  พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อแรกสร้างภายในมุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก พื้นพระอุโบสถประดับหินอ่อนหลากสี ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราชนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาวัด  ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นปูน รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดานเหนือหน้าต่าง10 ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี  ในปี พ.ศ 2497  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ ด้านบนขื่อในและขื่อนอก 3 ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย 232 ดวง ดาวใหญ่ 11 ดวง มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข 5 ซึ่งเป็นตราวัดเบญจมบพิตร 6 โคมพร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี

ช่องคูหาทั้ง 8 ที่ผนังพระอุโบสถเขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญจากทุกภาค จัดเป็น “จอมเจดีย์” ในประเทศไทย โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2489  ได้แก่ พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี,  พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม,  พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช,  พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,  พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย,  พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม,  พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และ พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย

เฉพาะช่อง “พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงรับเป็นเจ้าภาพ  ส่วนช่อง “พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงรับเป็นเจ้าภาพ  นอกจากนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วย คือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน,  สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน 

หินอ่อนทั้งหมดสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเจนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่หลายคนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ  ช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อนเป็นนายช่างประดับหินอ่อน และมีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วยว่า “ราชวรวิหาร” ดังเช่นในปัจจุบัน

ขนมสัมปันนี หรือ สำปันนี ขนมไทยโบราณที่มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารารายณ์มหาราช มีบันทึกว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้นขึ้น โดยทำมาจากแป้งมันคั่ว คลุกเคล้ากับน้ำตาลและกะทิเคี่ยวยางมะตูม รสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น สีสันสวยงาม มีกลิ่นร่ำควันเทียนหอมกรุ่น (ข้อมูลและภาพจาก Facebook สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)

คำว่า “สำปะนี” “สำพะนี” ในชื่อขนมสัมปันนี หรือสำปะนี กับย่านสำพะนี ใกล้กันมาก แต่ผมติดตามสอบถามผู้รู้ทางภาษามานานหลายปี จนบัดนี้ยังหาคำอธิบายไม่ได้ให้น่าเชื่อว่ามาจากรากเดียวกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร?

“ขนมสำปะนี” มีขายสมัยอยุธยา พบในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (เอกสารจากหอหลวง) จัดอยู่ในกลุ่ม “ขนมแห้ง” วางขายในตลาดป่าขนมอยู่ถนนย่านป่าขนม (ในเกาะเมือง) มีรายการขนมดังนี้

“ขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอหิน ฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่างๆ”

ขนมสำปะนี ปัจจุบันนิยมสะกดว่า “สัมปันนี” เคยถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นชนิดเดียวกับขนม “อาลัว” หรือ “อารัว” แต่แท้จริงแล้วไม่เหมือนกัน เป็นขนมต่างชนิดกัน พบชื่อขนมทั้งสองชนิดมีพร้อมกันในบัญชีขนมในงานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยเมื่อร้อยปีกว่ามาแล้ว (ในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบรอบร้อยปี พ.ศ. 2425)

ย่านสำพะนี (มี 3 ตำบล) เป็นย่านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อยู่นอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้รอบๆ วัดพุทไธสวรรย์และเขตต่อเนื่อง พบในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (เอกสารจากหอหลวง)

1. ย่านสำพะนี ตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกระเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่ว (อยู่หลังวัดพุทไธสวรรย์ ต่อเนื่องถึงคลองคูจามน้อย)

2. บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ลงชื่อ) ทำฝาเรือนอยู่และเรือนหอ ด้วยไม้ไผ่กรุกระแชงบ้าง กรุแผงกำบ้าง ทำไว้ขายและรับจ้าง

3. บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ลงชื่อ) หล่อเหล็กเป็นครกเป็นสากเหล็ก และตั้งเตาตีมีดพร้าและรูปพรรณต่างๆ รับจ้างและทำไว้ขาย (ไอ้เสมา พระเอกนิยายเรื่องขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นคนตีเหล็กอยู่สำพะนี เรียนเพลงดาบสำนักวัดพุทไธสวรรย์)

ขนมสัมปันนี หรือ สำปันนี ขนมไทยโบราณที่มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารารายณ์มหาราช มีบันทึกว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้นขึ้น โดยทำมาจากแป้งมันคั่ว คลุกเคล้ากับน้ำตาลและกะทิเคี่ยวยางมะตูม รสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น สีสันสวยงาม มีกลิ่นร่ำควันเทียนหอมกรุ่น (ข้อมูลและภาพจาก Facebook สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนสุจิตต์ วงษ์เทศ

กระทะ ของอินเดียทำจากทองแดง มีศัพท์เรียกในภาษาสันสกฤตดั้งเดิมว่า กฎาหะ (ภาษาฮินดีซึ่งเป็นภาษาทางการของอินเดียในปัจจุบันเรียก กฎาหิ) เป็นที่มาของคำว่า กระทะ ในภาษาไทย (ที่มา:https://en.wikipedia.org/wiki/Karahi#/media/File:Handi-and-karahi.jpg)

วันนี้ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเรื่อง ข้าวปลาอาหารไทย ทำไม? มาจากไหน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ อีกครั้งหนึ่ง

แต่คราวนี้พออ่านถึงบทที่ 20 “กระทะเหล็ก เจ๊ก-จีน” แล้วกลับเกิดความสงสัย และเกิดข้อคิดเห็นที่ต่างออกไปจากสมมติฐานเดิมของคุณสุจิตต์ เรื่องที่มาของกระทะเหล็กในประเทศไทยขึ้นมาเสียอย่างนั้น

คุณสุจิตต์กล่าวว่า “เครื่องมือสำคัญใช้ทำอาหารที่ได้จากจีน คือ กระทะเหล็ก… กระทะเหล็กเป็นเครื่องมือ (เทคโนโลยี) ทำอาหารทันสมัยของ (จีน) ฮั่น ที่ก้าวหน้าที่สุด และเก่าแก่มาก ทำด้วยเหล็กเป็นแผ่นมีขอบหนา มีหู 2 หู แล้วมีก้นลึกเป็นแอ่งบางกว่าขอบ เพื่อรับความร้อนจากไฟในเตา”

พูดง่ายๆ ก็คือ คุณสุจิตต์คิดว่า กระทะเหล็กที่ใช้ในปัจจุบันในไทยนั้น มาจากจีน อาจจะเป็นสมัยราชวงศ์ฮั่นก็ได้

ความสงสัยของผู้เขียนก็เกิดขึ้นตรงนี้ ในจุดแรกสุดคือที่มาของคำว่า “กระทะ” นี่เอง

ผู้เขียนคิดว่า คำว่า “กระทะ” ไม่ได้มาจากจีน

ถ้าหากกระทะเหล็กในไทยมาจากจีนจริงๆ ในภาษาไทยก็ควรจะมีคำเรียกชื่อเครื่องครัวชนิดนี้ ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันด้วย โดยจะเป็นภาษาจีนแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจีนโบราณ หรือจีนยุคกลางก็ได้

ข้อความ1

ส่วนภาษาจีนในสมัยโบราณนั้น อ่านออกเสียงคำนี้คล้ายภาษาจีนกลางปัจจุบัน ที่ออกเสียงว่า กว๋อ, กัวะ โดยภาษาจีนยุคกลาง (Middle Chinese) ออกเสียงคำนี้ว่า /kua/ (กัว) และภาษาจีนยุคเก่า (Old Chinese) ออกเสียงคำนี้ว่า /*klo:l/ (กโลล) ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า “กระทะ” ในภาษาไทยเลยแม้แต่นิดเดียว

ถึงตอนนี้ก็สรุปได้แน่นอนแล้วว่า คำว่า “กระทะ” ไม่ได้มาจากภาษาจีน

ในเอเชียใต้ปัจจุบัน ใช้กระทะลักษณะนี้ ผัดอาหารด้วยไฟแรง โดยมีคำเรียกในปัจจุบันว่า คาราหิ (Karahi) และก็มีการออกเสียงที่แตกต่างกันออกไปไม่มากในแต่ละพื้นที่ของเอเชียใต้ มีลักษณะการใช้งานในปัจจุบันเช่นเดียวกับกระทะจีน คือ ใช้ผัด หรือปรุงอาหารด้วยไฟแรง

คำว่า “กะทาฮ์” เป็นคำในภาษาบาลี, สันสกฤต มีปรากฏในคัมภีร์ปุราณะหลายเล่ม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็แสดงว่า ผู้ที่นำ “กระทะ” เข้ามาในดินแดนแถบนี้เป็นคนแรกนั้นมาจากเอเชียใต้ และพูดภาษาบาลี, สันสกฤต

แล้วคำว่า “กระทะ” นั้น เข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่?

คำว่า “กระทะ” ก็ปรากฏอยู่ในจารึกโบราณด้วย โดย อ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้ชี้แนะว่า “กะทะ มาจากภาษาแขก กฏาหะ เช่น คาถาน้ำมันร้อนของลังกา (เตลกฏาหคาถา)”

ข้อมูลของ อ.ประภัสสร์ นี้ สำคัญมาก เพราะคาถานี้ปรากฏในจารึกเนินสระบัว ใกล้กับรอยพระพุทธบาท เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี รูปแบบการเขียนและตัวอักษรอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยเนื้อความเล่าเรื่องวรรณคดีทางพุทธศาสนาที่สำคัญของทางลังกา ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 แล้ว

แสดงว่า คำว่า “กระทะ” นี้ก็ได้เข้ามาในดินแดนแถบประเทศไทยแล้ว อย่างช้าที่สุดในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

ส่วนหลักฐานทางโบราณโลหวิทยานั้น มีหลักฐานการติดต่อกับอินเดียล่วงหน้ามาเนิ่นนานกว่าหลักฐานทางเอกสารมาก

อ.ภีร์ เวณุนันทน์ ได้ให้ข้อมูลว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีหลักฐานเป็นภาชนะโลหะจากอินเดีย จำพวกภาชนะสำริดที่มีสัดส่วนดีบุกสูง (High tin Bronze Vessel) ในช่วงที่เริ่มติดต่อกับทางเอเชียใต้ หลังช่วง 500 BC. (500 ปีก่อนคริสตกาล)

ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดี จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทยช่วงนั้น ก็แสดงถึงการติดต่อทางการค้ากับทั้งสองด้าน ทั้งทางเอเชียใต้ และจีน จึงมีความเป็นไปได้ในการรับรูปแบบเทคโนโลยีทางโลหกรรมจากทั้งสองทาง

ในขณะเดียวกัน เรื่องความสัมพันธ์ของ “คำเรียก” กับ “วัตถุ” ในทางภาษาศาสตร์กับวัฒนธรรมนั้น ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันต่อไป ดังที่ อ. ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้ให้ความเห็นไว้ในประเด็นนี้ว่า “คำกับของอาจจะไม่ได้ติดกันเสมอไปก็ได้ บางทีเอาคำที่มีอยู่แล้วมาเรียกของใหม่ เอาคำเรียกสิ่งคล้ายกันมาเรียกสิ่งใหม่ หรือสร้างคำใหม่มาเรียกสิ่งใหม่ ร่องรอยของคำนับพันปีอาจตกค้างมาในคำพูดปัจจุบัน ทำให้สืบสาวได้ชัดกว่าร่องรอยของของที่ยังไม่เคยเจอ”

ดังนั้น การที่คำว่า “กระทะ” ในภาษาไทยนั้นเป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำศัพท์ภาษาบาลี, สันสกฤต ในกรณีนี้จะบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการทำอาหารไทย หรือวิวัฒนาการครัวไทยได้บ้าง?

อย่างน้อยที่สุดเลยจริงๆ ก็น่าจะพอพูดได้ว่า แรกสุดนั้น คำว่า “กระทะ” ของไทย น่าจะเดินทางมาจากทางตะวันตก แถบเอเชียใต้ อาจจะไม่ได้มาจากจีนแบบตรงๆ อย่างที่คุณสุจิตต์ได้สันนิษฐานไว้

หรืออาจจะไม่ได้มาจากจีนเลย!

ความเชื่อมโยงเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

เกี่ยวข้องกับพัฒนาการโลหกรรมของคนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นกับแถบเอเชียใต้ ที่เดินทางเข้ามาผ่านเส้นทางการค้าในแถบนี้ด้วยหรือไม่?

ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และถกเถียงกันต่อไป


หนังสือ อาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ 2560
กระทะเหล็กเก่าสุดจากจีน

[จากหนังสือ อาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2560 หน้า 186-189]

หลักฐานเก่าสุดเกี่ยวกับกระทะเหล็กพบซากซ้อนกันอยู่ในสำเภาจมใกล้เกาะคราม (อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี) มีอายุราวเรือน พ.ศ. 1900 ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเดินทางข้ามสมุทรของเจิ้งเหอ แม่ทัพขันทีที่ได้รับยกย่องเป็นซำปอกง

(ซ้าย) แผนผังโบราณวัตถุ เช่น กระทะเหล็ก งาช้าง แท่งเหล็ก เครื่องสังคโลก ฯลฯ ที่พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม จากการขุดค้น ปี พ.ศ.2547 (ขวา) กลุ่มกองโลหะขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นกระทะ ตั้งอยู่ติดกับกองงาช้างขนาดใหญ่ พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม

(ซ้าย) แผนผังโบราณวัตถุ เช่น กระทะเหล็ก งาช้าง แท่งเหล็ก เครื่องสังคโลก ฯลฯ ที่พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม จากการขุดค้น ปี พ.ศ.2547 (ขวา) กลุ่มกองโลหะขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นกระทะ ตั้งอยู่ติดกับกองงาช้างขนาดใหญ่ พบในแหล่งเรือจมเกาะคราม
อาหารจีนเก่าสุดในไทย

ข้าวปลาอาหารไทยที่ได้จากจีนมีหลายอย่าง แต่มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ต้มแกงน้ำใส เช่น ต้มจืด, แกงจืด นอกนั้นเป็นผัดด้วยกระทะเหล็ก

เครื่องมือสำคัญใช้ทำอาหารที่ได้จากจีนคือกระทะเหล็ก ส่วนวัตถุดิบจากจีนคือผักต่างๆ เช่น ผักกาด, ผักคะน้า, ฯลฯ

ทั้งกระทะเหล็กและผัก คงมีก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่เข้ามากขึ้นยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

กระทะเหล็กเป็นเทคโนโลยีทำอาหารทันสมัยของจีน ที่ก้าวหน้าที่สุด และเก่าแก่มาก ทำด้วยเหล็กเป็นแผ่นกลม มีขอบหนา มี 2 หู แล้วมีก้นลึกเป็นแอ่งบางกว่าขอบ เพื่อรับความร้อนจากไฟ


กระทะเหล็กแบบจีน

ศัพท์เกี่ยวกับอาหาร “ผมคิดว่าน่าจะมีคำจีนที่เราใช้มานานจนเผลอคิดว่าเป็นคำไทยไม่น้อย มันยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารจีนที่แพร่เข้ามาในดินแดนอุษาคเนย์ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ วิธีการทำ วัตถุดิบ รวมทั้งสูตรอาหารแบบต่างๆ ไม่เชื่อก็ลองนึกไล่ไปเถิดครับ อย่างเช่น บะช่อ พะโล้ จับฉ่าย ตะหลิว ตุ๋น หมี่ ฯลฯ”

“กระทะเหล็กแบบจีน ซึ่งถ่ายเทความร้อนจากเตาไปมายังน้ำมันและชิ้นอาหารได้ดีกว่ากระทะดินเผาที่ครัวอุษาคเนย์มีใช้แต่เดิม ซึ่งหลักฐานกระทะเหล็กแบบจีนนี้เคยพบที่แหล่งเรือสำเภาจมในอ่าวไทย ใกล้เกาะคราม อำเภอสัตหีบ ชลบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 กำหนดอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ เป็นสินค้าที่อยุธยานำเข้าจากจีนเพื่อจะส่งไปขายต่อยังแหล่งรับซื้ออื่นๆ การค้นพบนี้ยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารและการครัวแบบจีนที่น่าจะส่งผลให้เกิดโลกาภิวัตน์ด้านอาหารระลอกแรกๆ ในดินแดนอุษาคเนย์

“ชาวจีนในสยามกำลังใช้กระทะเหล็กทำอาหาร” จิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) เชิงสะพานปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ

ตะหลิวคู่กับกระทะมาด้วยกันอยู่ด้วยกันตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
ตะหลิว

[จากหนังสือ ครัวไทย ของ ส.พลายน้อย สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 51]

เครื่องใช้คู่กับกระทะเหล็กของจีน เรียกตะหลิว เป็นคำยืมจากภาษาจีน ส.พลายน้อย อธิบายดังนี้

“ตะหลิวเป็นเหล็กแบนๆ แบๆ มีด้ามถือ ใช้สำหรับแซะหรือตักของในกระทะ

คำว่า “ตะหลิว” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว อ่านว่าเตียหลือ แต่เวลาพูดจะเป็นเตียหลิว เป็นคำสองคำเอามารวมกัน คือมาจากคำว่า “เตี้ย” แปลว่า กระทะ “หลิว” แปลว่า แซะหรือตัก”

“ผัดไทย” ไม่ใช่นวัตกรรม จอมพล ป.? (รูปประกอบในหนังสือ ต้นสาย ปลายจวัก ของ กฤช เหลือลมัย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2563 หน้า 220-221)

‘ผัดไทย’ ไม่ใช่นวัตกรรม จอมพล ป.?
โดย กฤช เหลือลมัย

ก๋วยเตี๋ยวเป็นการกินข้าวในรูปของเส้นแป้งแบบวัฒนธรรมจีน ดังนั้นผักที่เป็นเครื่องปรุงจึงคือ ผักจีนŽ ดังที่หนังสือ ตำรับสายเยาวภา ของสายปัญญาสมาคม อธิบายแยกแยะไว้เป็นหมวดเลยว่า ผักจีนนั้นประกอบด้วยต้นหอม ผักชี ผักกาดขาว ผักกาดปลี ใบคะน้า ใบกุยช่าย ผักตั้งโอ๋ และผักปวยเล้ง แน่นอนว่าเราย่อมนึกภาพผักกวางตุ้งในบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงออก ไหนจะผักบุ้งในเย็นตาโฟ คะน้าในราดหน้า ผักกาดหอมในก๋วยเตี๋ยวคั่ว ผักกาดดองเปรี้ยวในขนมจีนไหหลำ ฯลฯ และสำหรับคนนครปฐม ย่อมจะจดจำเป็นพิเศษถึงกุยช่ายหั่นในก๋วยจั๊บน้ำข้น แบบที่แทบไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือน

หากว่าผักจีนคู่กับก๋วยเตี๋ยวแบบจีน แล้วเหตุใดก๋วยเตี๋ยวผัดชนิดหนึ่งซึ่งก็ใช้ผักจีนเหมือนกัน จึงถูกเรียกว่า ผัดไทยŽ?

คำอธิบายที่พบเห็นทั่วไปจนเป็นสูตรสำเร็จ สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ผัดไทยเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุครณรงค์ให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว สมัยรัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมักอ้างกันต่อๆ มาว่า ท่านจอมพลได้ สร้างอาหารแห่งชาติจานนี้ขึ้นมาอย่างแยบยล โดยปฏิเสธเนื้อหมู (ว่ากันว่าหมูเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นจีน) ใช้น้ำมะขามเปียกแบบครัวไทย ให้กินแนมกับหัวปลีบ้าง ใบบัวบกบ้าง และถึงกับสั่งให้กรมโฆษณาการพิมพ์สูตรผัดไทยแจกจ่ายประชาชนกันอย่างทั่วถึง จนกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติสืบต่อมาจนทุกวันนี้

ต้นสาย ปลายจวัก ของ กฤช เหลือลมัย พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2563 สำนักพิมพ์มติชน ราคา 350 บาท

ทว่า ผมลองสืบค้นเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ตลอดจนสอบถามผู้คนในแวดวงหนังสือเก่าหลายท่าน เช่น คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นต้น ก็ปรากฏว่าไม่มีใครเคยเห็นหลักฐานชิ้นที่ว่านี้เลยแม้สักคนเดียว และเมื่อได้ไถ่ถาม อาจารย์ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ อาจารย์กรุณาเล่าว่า เคยคุยเรื่องนี้กับทายาท จอมพล ป. และได้รับคำตอบปฏิเสธว่า ผัดไทยไม่เกี่ยวอะไรกับท่านจอมพลเลย แถมยังบอกว่า พวกเขาเคยกินก๋วยเตี๋ยวผัดแบบนี้ที่ย่านราชวงศ์มาตั้งแต่ก่อนคุณพ่อจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่เวลานี้ ผมเองก็ยังนึกถึงอาหารที่มีชาติกำเนิดออกแนวดราม่ารักชาติ หรือเป็นประดิษฐกรรมที่ผูกพันกับการสร้างชาติ-ชาตินิยมทำนองนี้ไม่ออกจริงๆ ครับ

ตรงกันข้าม การเป็นสังคมก๋วยเตี๋ยวของไทย (สยาม) มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กลับยิ่งทำให้เราเห็นร่องรอยก๋วยเตี๋ยวแบบต่างๆ รวมถึงเครื่องเคราที่หลากหลายของมันอย่างชัดเจน ผักอย่างกุยช่ายถูกใช้ในขนมนึ่งเค็มไส้กุยช่าย และก๋วยจั๊บเครื่องในหมูน้ำข้น ถั่วงอกนำมาทั้งผัดกินเป็นกับข้าวต้ม ทำไส้ก๋วยเตี๋ยวหลอด ลวกใส่ก๋วยเตี๋ยวหมู หัวไชโป๊หวานใช้ในอาหารไหหลำหลายสำรับ เช่น ใส่ซี่โครงหมูต้มถั่วลิสง ผัดไข่ เต้าหู้แข็งทอดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะปรากฏทั้งในหมี่กะทิ หมี่กรอบ กระทั่งในก๋วยเตี๋ยวแกงแบบมุสลิมก็ยังมี กุ้งแห้งนั้นเป็นของจำเป็นสำหรับโรยหน้าก๋วยเตี๋ยวโบราณ ที่คนอายุห้าสิบปีขึ้นไปย่อมจดจำความหลังแต่ครั้งวัยเด็กได้ดี

ดังนั้น สิ่งซึ่งประกอบขึ้นเป็นผัดไทยกระทะหนึ่ง จึงหาได้มีความ ไทยแท้ แต่ประการใดไม่ หากทว่าเป็นการผสมผสานเครื่องเคราปกติในวัฒนธรรมก๋วยเตี๋ยวแบบจีนที่มีมาก่อนหน้าทั้งสิ้น

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนณัฎฐา ชื่นวัฒนา นักศึกษาปริญญาเอกทางโบราณพฤกษคดี ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ประเทศแคนาดา

 

คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยเริ่มต้นเมื่อไหร่ อย่างไร  มีระบุไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นจารึกและพงศาวดาร  อย่างไรก็ดีหากถามถึงคำเรียกขาน “คนจีน” ในประเทศไทยว่าเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า “เจ๊ก” กลับไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดแจ้ง  “นวรัตน์ ภักดีคำ” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวถึงที่มาของ “คนจีน” ในไทย ที่ไม่ใช่คำว่า “เจ๊ก”  

ในไทยมีคำเรียกคนจีนคือคำว่า “ตึ่งนั้ง” คำนี้ในภาษาจีนกลางจะใช้คำว่า “ถังเหริน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวเองของคนจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  ซึ่งเป็นการเดินทางค้าขายตามเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล  เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ เวลาเดินทางไปค้าขาย คนจีนจะเรียกแทนตัวเองว่ามาจากราชวงศ์ถัง จะไม่ได้บอกว่าเป็นคนจีนหรือคนอะไร แต่จะมองว่าตัวเองเป็นข้าในแผ่นดินไหน เช่น มาจากราชวงศ์ไหนนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม สำหรับราชวงศ์ถัง เขาจะใช้ว่า “ต้าถัง” แล้วพอเดินทางออกไปค้าขายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถัง จึงแทนตัวเองว่า “ถังเหริน” 

“ตึ่งนั้ง” เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เดินทางออกไปค้าขายตามเส้นทางสายไหม  เพราะฉะนั้นพอไปค้าขายที่ไหนก็จะแทนตัวเองว่าเป็นถังเหริน หรือเป็นตึ่งนั้ง  ถามว่าสำเนียง “ตึ่งนั้ง” มาจากไหน ก็คือมาจากสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับคนไทย  เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ที่ภาษาอังกฤษเรียกย่าน “ไชน่าทาวน์” ในภาษาจีนเองจะใช้คำว่า “ถังเหริน เจีย”  คำว่า “เจีย” แปลว่าถนน เป็นถนนลักษณะแบบ Avenue คือเป็นย่านการค้าของชาวจีนนั่นเอง

ถ้าเป็นคนราชวงศ์หมิงหรือราชวงศ์ชิง ซึ่งราชวงศ์ชิงคนจีนไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ คนจีนยอมรับราชวงศ์หมิง  แต่คนยุคราชวงศ์หมิงก็ไม่ได้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองเท่าราชวงศ์ถัง  ไม่ได้มีอิทธิพล ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ขนาดราชวงศ์ถัง  เพราะว่าเขาเริ่มรับรู้แล้วว่ายังมีประเทศอื่น มีโลกอื่นที่ใหญ่กว่าประเทศของตัวเอง บ้านเมืองของตัวเอง  ขณะที่สมัยราชวงศ์ถังยังไม่รู้  ประกอบกับเป็นยุคที่จีนรุ่งเรืองสุดๆ การค้าเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเรียกตัวเองว่า “ต้าถัง”

นวรัตน์ ภักดีคำ

ส่วนที่แม้ว่าในราชวงศ์ต่อๆ มา มีคำว่า “ต้าหมิง” หรือ “ต้าชิง”  นั่นเพราะเป็นศัพท์ที่ค้างอยู่แล้ว รับรู้กันว่าใช้แบบนี้ เคยใช้อย่างนั้นก็ใช้ต่อกันมา  อย่างถนนเยาวราชไชน่าทาวน์ของไทย จะมีสองชื่อในความรู้จักของคนจีนปัจจุบัน คือชื่อหนึ่งเรียกเป็น “ไท่กั๋วถังเหรินเจีย” กับอีกชื่อหนึ่งคือทับศัพท์ไปเลย “เยาฮวาลี่”  คือเยาวชราช นี่คือการรับรู้ของชาวจีนในปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่าทั่วโลกไชน่าทาวน์ของแต่ละประเทศคนจีนเรียกอะไร ก็เรียกว่า ถังเหรินเจีย ถนนสายชาวถังนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว คนจีนจะแบ่งออกเป็น “จีนเก่า” กับ “จีนใหม่” ในศัพท์ของเขาเองด้วย เช่น เป็นตึ่งนั้ง หรือเป็นซินตึ๊ง เคยได้ยินไหมไอ้หนุ่มซินตึ๊ง คือเป็นพวกจีนที่เข้ามาใหม่ เข้ามาทีหลังกลุ่มเดิม คนจีนเวลาเรียกว่าคนๆ นี้ ที่เป็นลูกหลานชาวจีนเขาจะเรียก “ตึ่งนั้งเกี๊ยะ”  คือเป็นคนมีเชื้อจีน แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งสำหรับชาวแต้จิ๋วที่เรียกถังหรือตึ่งนั้งด้วยการแบ่งด้วยภูเขา เช่น ภูเขาลูกนี้ตัดจากตรงนี้มาตรงนี้เป็นแต้จิ๋ว อย่างนี้เป็นต้น

เรือสำเภาจีน

คำว่า “ไท่กั๋ว”  คำว่าไท่ เราเจอในพงศาวดารจีนมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีในยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่เป็นเสียนเป็นหลัว มารวมกันเรียกเป็น “เสียนหลัว” คือประเทศไทยสมัยโน้น ในพงศาวดารของจีนแต่ละยุคจะเรียกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรือสำเภาของจีนไปเจอเมืองไหนก่อน อาจเป็นเมืองเล็กๆ พอมีกำแพงเมืองปุ๊ปคนจีนก็มองว่าเป็นประเทศ สมมติมาเจออาณาจักรพันพัน มาขึ้นที่สุราษฏร์ธานี เขาก็จะ…อ้ออันนี้คืออาณาจักรหนึ่ง หรือว่าถ้าเดินเท้ามาเจอเมืองหริภุญไชย ก็จะ…โอ้เมืองนี้มีผู้หญิงเป็นเจ้าเมืองสมัยพระนางจามเทวี ก็จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มีผู้หญิงปกครอง  เป็น “หนี่วากั๋ว” แปลว่าเมืองที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเขามาเจอเมืองไหนก่อน หรือคนจีนเขาจะเรียกแทนภาษาของตัวเองว่าเป็นภาษาฮั่น เพราะเขามองว่าภาษาจีนกลางที่ใช้ทุกวันนี้รูปแบบตัวอักษรสืบมาตั้งแต่สมัยฮั่น เขาก็เรียกสืบกันมา จีนทุกวันนี้เลยเรียกเป็นฮั่นหมด คือเป็นคำที่ค้างอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนคำว่า “เจ๊ก” เป็นคำเรียกเชิงดูถูกคนจีนหรือไม่ สำหรับตัวเองตั้งแต่ตอนเด็กๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย พ่อหรือเตี่ยตัวเองก็ยังบอกว่าเป็นเจ๊ก ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการดูถูกเหยียดหยามหรือรู้สึกต่ำต้อย แล้วตลาดแถวบ้านก็เรียกเจ๊กหมด เช่น ไปซื้อข้าวต้มร้านเจ๊กสุน ซื้อของร้านเจ๊กเล้ง  ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง  คือเป็นเจ๊กหมดเลย แล้วร้านเหล่านี้ลูกหลานสืบทอดต่อมาก็แปะป้ายว่าเจ๊ก  เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อยุค 40 ปีก่อน คำว่า “เจ๊ก” ไม่ได้เป็นคำดูถูกอะไรเลย เพียงแต่ว่าพอมายุคหลังกลายเป็นคำที่เรียกแบบจิกหรือเปล่าไม่ทราบ

ส่วนคำว่า “จีน” ที่เรียกคนจีน มาจากคำว่า “ฉิน” นักวิชาการจีนเขาพูดว่ามันเริ่มจากอาณาจักรฉิน คือฉินแล้วกลายมาเป็นไชน่า เพราะอาณาจักรฉินใหญ่มาก และคนจีนส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น สถานะของชาวจีนปัจจุบันในบัตรประชาชนจะมีการระบุไว้ว่าเป็นเผ่าอะไร  ไม่เหมือนของเราที่มีชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด แต่ของคนจีนจะระบุด้วยว่าเผ่าอะไร  ซึ่งเผ่าส่วนใหญ่คือเผ่าฮั่น คือชาวจีนทั่วๆ ไป  แต่ถ้าเป็นเผ่าอื่นก็ระบุว่าเป็นแมนจู เป็นฮุย เป็นไต เป็นอุยกู  เพราะใครเป็นชนเผ่าอะไรก็จะมีสิทธิพิเศษตามความเป็นชนเผ่านั้นๆ เช่น ชนเผ่านี้มีลูกได้มากกว่า 1 คน มีลูกไม่จำกัด แบบนี้เป็นต้น

จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่(จูตี้) ภาพจากร้อยเรื่องราววังต้องห้าม,2560

การอพยพของชาวจีนออกสู่ดินแดนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ความจำเป็นทางภูมิศาสตร์อันเป็นถิ่นกำเนิดย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะพื้นที่ในประเทศจีนเต็มไปด้วยภูเขา ประชาชนแออัด พื้นที่ราบมีน้อยไม่เพียงพอต่อการทำมาหากิน ชายเมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะยึดอาชีพการเดินทะเลเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว เดินทางไปกลับยังแถบ “หนานหยาง”(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และ จีน เป็นประจำ

การเดินทางและพักแรมในต่างถิ่นของพวกเขาบางครั้งใช้เวลานานเป็นปี บางครั้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย การปกครองในประเทศจีนจึงมีผลกระทบต่อการทำมาหากินของพวกเขามาก และเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาบางกลุ่มเริ่มตั้งรกรากอยู่ในต่างแดน พวกนี้มีอาชีพเสี่ยงภัย การทำมาหากินไม่คงที่แน่นอน การผจญภัยจึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา ดังนั้นจึงปรากฏว่าเมื่อเปิดเมืองท่าซัวเถา จึงมีชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้งเดินทางออกผจญภัยในถิ่นที่อยู่ใหม่เป็นจำนวนมากที่สุด

ในรัชสมัยพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ หรือบางแห่งเรียกพระนามพระจักรพรรดิตามปีรัชศกที่ขึ้นครองราชย์ ว่า “พระเจ้าหย่งเล่อ”  ยังจัดว่าอยู่ในช่วงต้นของราชวงศ์หมิง (พระเจ้าหมิงไท้จู่ครองราชย์เป็นพระองค์แรก ต่อมาคือ พระเจ้าหมิงหุ่ยตี้ และต่อมาคือพระเจ้าหมิงเฉิงจู่) พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าจูหยวนจาง ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1403-23  มีพระทัยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงจัดการเรื่องภายในและภายนอกประเทศให้มีความเจริญดุจเดียวกับจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นและสมัยราชวงศ์ถัง 

ซึ่งเป็นที่รู้ทั่วกันว่าจีนใน 2 สมัยดังกล่าวในพงศาวดารราชวงศ์หมิง ตอนเอเชียกลาง พระองค์โปรดให้ “เจิ้งเหอ” และ “หม่าหลิน” อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองเดินทางออกสู่แถบหนานหยาง หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน เพื่อประกาศศักดาและแสนยานุภาพของประเทศจีน  เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการดังก่อน รวมทั้งมีจุดประสงค์ในด้านการค้าด้วย เพราะการเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการของนานาประเทศจะเป็นรายได้ที่ค้ำจุนประเทศจีนได้บ้าง รวมทั้งของแปลกที่ต้องพระประสงค์ขององค์พระจักรพรรดิ พระมเหสี พระญาติพระวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ การขาดประเทศผู้เข้าถวายเครื่องราชบรรณาการก็เสมือนหนึ่งเป็นการขาดรายได้ของประเทศ และขาดสิ่งของที่ต้องการเลยทีเดียว

“เจิ้งเหอ” เดินทางสู่แถบหนานหยาง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1405 คือ ต้นรัชกาลพระเจ้าหมิงเฉิงจู่  หรือพระเจ้าหย่งเล่อ จนถึงสมัยพระเจ้าหมิงเหยินจง ค.ศ. 1425-26 และสมัยพระเจ้าหมิงเซวียนจง ค.ศ. 1426-35 เป็นช่วงเวลาต่อมาถึง 3 รัชกาล รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง เป็นเวลาเกือบ 40 ปี แต่ละครั้งต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 2-3 ปี และในบันทึกการเดินทางได้กล่าวถึงว่าในการเดินทางครั้งที่ 2และครั้งที่ 7 คือ ช่วงปี ค.ศ. 1407-9 และ ค.ศ. 1430-33 เจิ้งเหอได้เดินทางมาถึงประเทศ “เสียนหลัว” หรือ “สยาม”

เจิ้งเหอ เป็นชาวมุสลิม เดิม “แซ่หม่า” แต่เนื่องจากแซ่ไปตรงกับแซ่ของพระมเหสีองค์หนึ่งขององค์พระจักรพรรดิ จึงได้เปลี่ยนเป็น “แซ่เจิ้ง” (ภาษาไทยเรียกว่าแซ่แต้) เขาเป็นมุสลิมที่เคร่งศาสนามาก เคยไปเม็กกะพร้อมกับบิดาแล้ว เมื่อเข้ามารับราชการเป็นอำมาตย์ได้เลื่อนตำแหน่งสูง เป็นที่ไว้วางพระทัยขององค์พระจักรพรรดิ  การเดินทางทุกครั้งของเจิ้งเหอ  เมื่อออกจากเมืองหลวงแล้ว (สมัยราชวงศ์หมิง เมืองหลวงคือเมืองปักกิ่ง) ก็จะล่องตามแม่น้ำหลิวเหอ   ที่ตำบลหลิวเหอเจิ้ง หมู่บ้านไท้สือ ของมณฑลเจียงซู แล้วออกสู่แม่น้ำใหญ่สู่ทะเล

ตลอดเวลา 3 รัชสมัยของการเดินทางสู่ดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเจิ้งเหอในราชวงศ์หมิง ราชสำนักจีนได้รับผลตามที่คาดหวัง คือประเทศต่างๆ ทางแถบหนานหยาง เริ่มส่งเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงจีนโดยเป็นไปในรูปแบบของการค้า หรือเรียกว่าการค้าแบบบรรณาการ ซึ่งเป็นรูปแบบของการถวายเครื่องบรรณาการสืบต่อลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และในแต่ละปี บางประเทศอาจจะมีการส่งทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการหลายครั้ง

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ทั้งนี้เพราะของที่ได้รับพระราชทานตอบกลับมานั้น จะมีค่ามากกว่าของที่นำไปถวายพระเจ้ากรุงจีนหลายเท่านัก ตลอดช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 1 นับตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติจนถึงปี พ.ศ. 2397 ได้มีคณะทูตส่งเครื่องบรรณาการไปจีนมากถึง 35 ครั้ง  นับได้ว่า การถวายเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวให้ประโยชน์ทั้งชาวจีนโพ้นทะเลและประเทศแม่ คือประเทศจีนอย่างมาก และการที่เจิ้งเหอเดินทางไปแถบหนานหยางถึง 7 ครั้งด้วยตนเองนี้ก็ได้ถือโอกาสซื้อสินค้าที่ทางราชสำนักต้องการด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

ในการครั้งนี้ชาวจีนอพยพ หรือชาวจีนโพ้นทะเลในแถบนี้ก็ได้เขยิบฐานะในทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้วย นับว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย แต่ผลเสียอีกอย่างที่มีต่อประเทศจีนก็คือ ชาวจีนได้อพยพออกสู่แถบหนานหยางอย่างล้นหลาม ผู้คนในแถบเมืองท่ากวางโจว เฉวียนโจว ซัวเถา และจางหลิน จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะเดินทางออกแสวงโชคในดินแดนดังกล่าว พื้นที่นาไร่ที่เคยถูกแผ้วถางทำกินก็ถูกให้ปล่อยทิ้งร้างไว้ ชาวจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแต่เดิมมีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานมากขึ้นแล้วก็ยิ่งแออัดมากขึ้นไปอีก

ราชสำนักหมิงได้คำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองที่อาจมีขึ้น  อันเนื่องจากการอพยพออกนอกประเทศของผู้คน  จึงได้ตรากฎหมายขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1522 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหมิงซื่อจง หรือพระเจ้าเจียจิ้ง โดยการสั่งห้ามไม่ให้ราชสำนักทำการค้ากับแถบหนานหยางหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก กฎหมายที่ว่านี้ได้ส่งผลต่อการอพยพออกสู่ต่างประเทศของชาวจีนเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าตลอด 40 ปี นับจากปีที่ใช้กฎหมายนี้จะไม่มีชาวจีนอพยพเข้าสู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

นอกจากนั้นในกฎหมายนี้ยังเข้มงวดคาดโทษเกี่ยวกับคนจีนอีกมากมาย แม้พวกที่อาศัยทำกินในต่างถิ่นด้วยตนยังถือสัญชาติจีนอยู่ก็เกิดความหวาดกลัวว่าจะได้รับภัยตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ตนอาศัยอยู่ในประเทศที่ตนทำธุรกิจอย่างไม่เป็นสุข อีกทั้งไม่สามารถทุ่มเทจิตใจทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ บ้างก็ต้องทำการค้าแบบหนีภาษี และในช่วงนี้พวกโปรตุเกส ที่มีจุดประสงค์ในการล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชีย  ก็ฉวยโอกาสช่วงชิงความเป็นเจ้าทางการค้าทางทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแทนชาวจีนได้โดยอัตโนมัติ

การหาที่ทำกินที่แน่นอน และการยอมถูกผสมกลมกลืนกับชาวพื้นถิ่นในประเทศที่ชาวจีนอพยพอาศัยอยู่เริ่มมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะพวกเขาเกิดความกังขาในสถานภาพของตนในต่างแดน เพราะราชสำนักจีนมีนโยบายไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไปมา โดยมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากชาวจีนโพ้นทะเลเข้าไปจุนเจือประเทศเท่านั้น  ดังนั้นชาวจีนอพยพในถิ่นต่างๆ จึงเริ่มหาที่ฝังรากฐานของพวกเขาด้วยการเข้าไปเป็นผู้บุกเบิก โดยหวังว่าจะได้เป็นประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ ในที่สุด

ช่องแคบมะละกา

ในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเกาะหมาก (ปีนัง) ก็ดีเปิดช่องแคบมะละกาก็ดี หรือการเปิดประเทศของฟิลิปปินส์ก็ดี ชาวจีนต่างกรูกันเข้าไปยึดครองที่ทำกิน บุกเบิก และประเทศที่พวกเขาเข้ามาอาศัยมากสุดแห่งหนึ่งก็คือประเทศสยาม กล่าวได้ว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 21) นั้น ชาวจีนใน 3 เขต มีบทบาทมาก คือ เขตที่ 1 สยาม จามปา และปัตตานี เขตที่ 2 คือ มะละกา อินโดนีเซีย และชวา รวมทั้งเมืองท่าต่างๆ ในแถบชายทะเล เขตที่ 3 คือ หมู่เกาะต่างๆ ของฟิลิปปินส์ โดยเขตที่ 1 และเขตที่ 2 ได้กลายเป็นการยึดครองพื้นที่ของชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ส่วนเขตที่ 3 เป็นเขตยึดครองของชาวฮากกาโดยเฉพาะ

สำหรับช่วงเวลาในการอพยพของชาวจีนเข้าสู่ไทยแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ซึ่งมักจะเป็นพวกกะลาสีเรือ พ่อค้า พวกโจรสลัด  พวกนี้เริ่มเข้ามาอยู่ที่เมืองท่าต่างๆ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ชาวจีนเหล่านี้อาจเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังแล้ว   กลุ่มที่ 2 คือพวกที่เข้าไทยในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1967-2310) การผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ ทำให้เกิดการหยุดชะงัก ชาวจีนอพยพช่วงนี้จะเป็นพวกพ่อค้า และเป็นพวกที่ประสบความสำเร็จในทางการค้าที่ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าจีนเก่า

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กลุ่มที่ 3 คือพวกที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสิน (พ.ศ. 2310-25) จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2393-2411) ชาวจีนอพยพในช่วงนี้จะเป็นชาวจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ เพราะพระเจ้าตากสินทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว   กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปลายรัชกาล (พ.ศ. 2411-53)   กลุ่มที่ 5 เป็นช่วงที่กระแสโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่รัฐบาลกำหนดให้มีชาวจีนอพยพเข้ามาน้อยที่สุด

ชาวจีนอพยพเข้ามาในไทย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกจีนเก่าและจีนใหม่  จีนเก่าหรือพวกจีนแท้ หมายถึงพวกที่อพยพเข้าสู่ไทยตั้งแต่โบราณกาลมา คือ ชาวจีนอพยพกลุ่มที่ 1, 2, 3, 4 ดังได้กล่าวมาแล้ว และชาวจีนกลุ่มที่ 5 คือ พวกจีนใหม่ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งแต่จีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี ค.ศ. 1912 ซึ่งนับมาถึงปัจจุบันนี้ก็ประมาณ 90 กว่าปีแล้ว

สำหรับพวก “จีนเก่า” จะได้รับการยกย่องจากคนไทยเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาได้แทรกซึมเข้าสู่วงการศักดินาจนทำตัวเป็นขุนนางไทยไปแล้ว จึงมีวิถีชีวิตการประพฤติปฏิบัติแบบไทย สามารถเข้ากับชาวไทยได้อย่างแนบเนียน จนกลายเป็นตระกูลผู้ดีของชาวไทยไป 

สำหรับ “จีนใหม่” นั้น  ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยนัก มักก่อความไม่สงบสุขแก่ชาวไทยด้วยลัทธิชาตินิยมที่แพร่กระจายมาจากจีน บ้างก็มาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แล้วกลับสู่ประเทศตน ไม่มีความจงรักภักดีเหมือนชาวจีนอพยพในรุ่นแรกๆ แต่พวกเขาก็ยังคงอาศัยปะปนกับชาวไทย และทำให้เกิดการผสมผสานเข้ากับคนไทยเช่นกัน แต่พวกจีนใหม่ที่อพยพเข้าไทยในช่วงที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง อีกทั้งการเมืองก็แปรปรวนไม่มีทิศทางที่แน่นอน ฝ่ายรัฐบาลจีนก็คิดเพียงผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งนี้ได้รวมทั้งชาวจีนในไทยด้วย

เมื่อกระแสเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากประเทศจีนได้แพร่กระจายเข้าสู่ไทย ชาวจีนอพยพใหม่ได้เข้าไปร่วมในขบวนการด้วย ทำให้ดูเหมือนว่า ชาวจีนในไทยเป็นพวกที่ชอบก่อความไม่สงบ และกลายเป็นกลุ่มชนที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พวกจีนเก่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและได้กลายเป็นไทยไปแล้วนั้นมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างมาก และรักประเทศไทยอย่างสุดแสน ต่างเห็นว่าพวกจีนอพยพเข้ามาใหม่เหล่านี้ทำไม่ถูกต้อง ความเกลียดชังชาวจีนจึงเริ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลตระหนักถึงภัยจากผิวเหลืองมากขึ้น ความเกลียดชังชาวจีนจึงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 1453-61) ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยประเทศชาติอย่างมากถึงกับทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง  “ยิวแห่งบูรพาทิศ”  โดยทรงใช้นามปากกาว่าอัศวพาหุ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าชาวจีนจะเป็นภัยต่อประเทศ  จึงทรงประกาศนโยบายผสมกลมกลืนเพื่อให้จีนกลายเป็นไทยอย่างสมบูรณ์  รวมทั้งทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ชาวจีนในไทยอย่างมากมาย ทั้งนี้ ก็เพราะทรงหวังว่าชาวจีนในไทยจะผสมกลมกลืนเป็นไทยหมดนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเข้มงวดกับชาวจีนมากเป็นพิเศษทั้งในด้านเศรษฐกิจและการศึกษา จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนบางกลุ่มเอาใจออกห่างจากไทยกลับไปสู่อ้อมกอดของประเทศแม่ ความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนคงมีมาก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือ ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า)

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคำนึงถึงเรื่องจีนในไทยเป็นเรื่องสำคัญสุดอย่างหนึ่ง และทรงถือเป็นพระราชภารกิจที่ต้องเสด็จให้ขวัญกำลังใจกับชาวจีน แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481-87, 2491-2500) กลับเพิ่มความเข้มงวดกับชาวจีนมากยิ่งขึ้นในทุกด้าน ทั้งนี้ เพราะต้องการขจัดชาวจีนให้พ้นจากการกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะให้ชาวจีนในไทยเกิดการผสมกลมกลืนเป็นไทยได้เร็วขึ้น รัฐบาลจึงสั่งปิดโรงเรียนจีนทุกแห่ง  เพราะต้องการให้ลูกหลานจีนไปเรียนในโรงเรียนไทย ทำให้ชาวจีนบางกลุ่มโกรธแค้นรัฐบาลไทยมากยิ่งขึ้น จนกล่าวได้ว่าในช่วงนี้ชาวจีนเป็นอริกับรัฐบาลไทยเลยทีเดียว

ความจริงแล้ววิธีการของจอมพล ป. ซึ่งบังคับให้ชาวจีนเกิดการผสมกลมกลืนเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐบาลฝ่ายเดียวนั้น ไม่ใช่วิธีทางธรรมชาติอย่างแน่นอน  การผสมกลมกลืนจึงเป็นไปด้านเดียว คือคนจีนในไทยเป็นเพียงด้านนิตินัย  แต่ทางด้านพฤตินัยแล้วหาได้สอดคล้องกันกับนิตินัยไม่  เราจึงได้เห็น วัด ศาลเจ้า หรือโรงเจ ถูกสร้างขึ้นมาในทุกที่ที่มีชุมชนจีน พิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีประจำปีของชาวจีนก็ยังมีการปฏิบัติกันสืบต่อมาจนทุกวันนี้ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมบ้านเกิดก็ยังคงมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยที่มีชาวจีนอาศัยอยู่

จากหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวจีนอยู่กันเป็นย่าน มีขนบประเพณีความเชื่อตามแบบฉบับของตนเอง มีวิถีชีวิตเฉพาะแบบซึ่งหาได้ถูกกลืนจนเป็นไทยไปโดยสิ้นเชิงไม่ ดังนั้น ปัญหาการผสมกลมกลืนระหว่างชาวจีนและไทยยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ดังในวงวิชาการได้ตั้งเป็นข้อกังขาว่านโยบายการผสมกลมกลืนของไทยประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด  อีกทั้งนโยบายในการผสมกลมกลืนดังกล่าวก็ไม่ได้สอดคล้องกับข้อจำกัด และกฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการแปลงสัญชาติเลย

อย่างไรก็ดี  ชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นพวกที่โชคดีที่สุด เพราะนโยบายของประเทศไทยมิได้บังคับหรือกีดกันชาวจีนเหมือนต่างชาติที่มาจากประเทศอื่น ในทางตรงกันข้ามด้วยสังคมไทยที่เปิดกว้าง อีกทั้งความเชื่อและศาสนาที่คล้ายคลึงกัน ประกอบกับการอพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ชาวจีนจึงเข้าใจสังคมไทยและทำตัวให้เข้ากับเจ้าขุนมูลนายได้เป็นอย่างดี จึงนับเป็นปัจจัยเสริมให้ชาวจีนได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างมีความสุขราวกับเป็นประเทศของพวกเขาเอง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวจีนบางส่วนผสมกลมกลืนกับชาวไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนอพยพรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในไทยก่อนสมัยอยุธยาต่อลงมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นได้กลายเป็นไทย ต่างได้รับราชการเป็นขุน เป็นหลวง เป็นเจ้า เป็นพระยา และบุตรหลานของท่านเหล่านี้ได้กลายเป็นไทยไปหมดแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้อาจเรียกว่าพวกจีนเก่า เช่น ตระกูลไกรฤกษ์

แม้ว่าชาวจีนมีความยึดมั่นในประเพณีจีนมาก แต่เมื่อพวกเขาเข้ามาอาศัยในผืนแผ่นดินไทย ไปมาหาสู่กับชาวไทยมาตลอด ประกอบกับปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น การผสมผสานระหว่างชาวจีนและไทยจึงมีอยู่หลายด้าน ดังนี้  การผสมกลืนกลายทางด้านการค้า วัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา  สิ่งที่มาพร้อมกับชาวจีนอพยพสู่ประเทศไทย คือ เรื่องของวิถีแบบจีน ทั้งการดำรงชีวิต อาหารการกิน การแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และศาสนา

การผสมกลมกลืนระหว่างไทยจีนมีมาก และนานมากจนเรามักจะกล่าวกันเสมอว่า  “ไทยจีนมิใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน” คนจีนและวัฒนธรรมจีนในสังคมไทยมิได้เป็นเรื่องที่แสดงความแปลก แตกแยก หรือเหลื่อมล้ำทางชนชาติแต่อย่างใด แต่กลับเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมานฉันท์ ความสันติสุข ความร่วมมือที่ชาวจีนและไทยมีด้วยกันมาโดยตลอด  เราอาจเห็นความผสมผสานในด้านต่างๆ ได้ดังนี้

จากการค้าแบบบรรณาการในสมัยราชวงศ์หมิง ทำให้ชาวไทยได้รู้จักสินค้าจากจีนใหม่ๆ หลายชนิด อัญมณี เครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม ผ้าต่วน ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้านานกิง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น พัด งาสลัก เครื่องประดับทำด้วยโลหะ หนัง เงิน หม้อทองเหลือง หมึกจีน ทองแท่ง ขนมหวานนานาชนิด ผักดอง ผลไม้ตากแห้ง ใบชา และเครื่องยาจีน สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นที่นิยมชมชื่นของชาววัง ทุกครั้งเมื่อเรือบรรณาการเทียบท่า ของต่างๆ ตามพระราชประสงค์จะถูกส่งไปในวัง แล้วของที่เหลือคือของขายให้สามัญชนทั่วไป

เยาวราช

ชาวจีนได้ย้ายตลาดบ้านจีนจากประเทศจีนมาไว้ที่เยาวราช แถวสำเพ็ง จะมีร้านค้าเป็นย่านการค้าขายของจีนหมดทุกอย่าง บริเวณสำเพ็งที่กล่าวก็คือครอบคลุมบริเวณตรอกบ้านพระยาอิศรานุภาพ สะพานหัน ศาลเจ้าเก่า กงสีล้ง (ราชวงศ์) วัดสามปลื้ม ตรอกเต๊า ตรอกพระยาไกร  ตรอกโรงกะทะ  ตรอกอาจม  ตลาดน้อย  ตลาดวัดญวน  ซึ่งก็คือบริเวณที่เราเรียกว่าเยาวราช-เจริญกรุงในทุกวันนี้ เราจะสามารถหาซื้อของจีนได้หมดทุกชนิด ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งหุ่ม เครื่องยาสมุนไพร และขนม ธูป เทียน สำหรับกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้หมดทุกอย่าง

สำเพ็งในอดีต (ภาพไปรษณียบัตรเก่า)

จากนิราศชมตลาดสำเพ็งของนายบุศย์ ซึ่งเชื่อว่าแต่งนิราศนี้หลังปี 2455 อันเป็นช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้กล่าวถึงผ้าแถบสำเพ็งหลากหลายชนิด และมีแต่แขกขายผ้า ยังไม่มีจีนขายผ้า โดยช่วงนั้นจีนคงไปทำอาชีพอื่น เขาได้พูดถึงตรอกซอยในสำเพ็ง ตรอกยายเต๊า ตรอกอาเนี่ยเก็ง และตรอกโรงคราม ตรอกแตง ตรอกโรงกะทะ จะมีพวกโสเภณีจีนมากมาย พวกชายจีนก็มีทั้งพวกกุลี และลากรถเจ็ก ที่สำเพ็งสองข้างทางมีตึกเก๋งมากมาย มีทั้งร้านขายยา ผลไม้ พระพุทธรูป เครื่องแก้ว เพชรพลอย มีบ่อนเล่นการพนันของเจ้าสัวฮง ที่ตรอกแตงจะมีแต่จีนขายของจีน ทั้งตรอกเล็กซอยน้อยคนจีนคนไทยเดินกันขวักไขว่ ในช่วงนี้จีนได้เริ่มธุรกิจโรงรับจำนำ

ชาวจีนแต้จิ๋ว ยังได้นำความรู้ในการทำน้ำตาลทรายเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์  การทำสวนผักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  การทอผ้าด้วยกี่กระตุกของชาวจีนแคะ (ฮากกา)  สำหรับทางด้านการค้านั้น สิ่งที่ชาวจีนนำเข้ามาที่สำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจการเป็นตัวกลางติดต่อธุรกิจ  และการทำร้านค้าปลีก ขายส่ง  อันทำให้ชาวจีนประสบความสำเร็จทางด้านการค้าจนมีฐานะร่ำรวย ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ของนักธุรกิจระดับแนวหน้าหลายท่านในประเทศไทย

สิ่งที่เข้ามาพร้อมกับจีนอีกด้านหนึ่งคือ ด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา ทางด้านศิลปกรรม ซึ่งเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัด ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่ใดที่ชาวจีนอาศัยอยู่ก่อนย่อมมีรูปแบบบ้านเรือนและศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางรวมใจของชาวจีน ตึกแถวโบราณที่ถนนเก่าของจังหวัดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของสมาคมจีน วัด ศาลเจ้าบ้านแบบจีนที่กรุงเทพฯ เราก็จะพบร่องรอยของสถาปัตยกรรมอยู่มากเช่นกัน

ศาลเจ้าจีน

หากนับตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงเทพฯ มาถึงช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็จะมีศาลเจ้าของชาวจีนอยู่ 163 ศาล วัดจีน 13 แห่ง และโรงเจ 15 แห่ง  และจากสถานที่ตั้ง ศาลเจ้า วัดจีน และโรงเจ ก็จะทำให้ทราบได้ว่าชาวจีนตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อาศัยอยู่ในบริเวณใดของกรุงเทพฯ  หากดูทางด้านการผสมผสานของความงาม จากสถาปัตยกรรมไทยและจีนแล้ว เห็นได้ว่าวัดราชโอรส วัดราชนัดดา วัดนางนอง วัดหนัง วัดเศวตรฉัตร  วัดโปรดเกศเชฏฐาราม  วัดเทพธิดาราม  วัดมหรรณพาราม  ล้วนเป็นวัดที่มีศิลปกรรมที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับจีนทั้งสิ้น

พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก CHULALONGKORN)

สถาปัตยกรรมจีนที่สร้างเป็นพระที่นั่งที่เป็นแบบจีน และสวยงามอันเป็นที่กล่าวขวัญกัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอยุธยาก็คือ พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ ในพระราชวังบางปะอิน ที่สร้างขึ้นในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ชาวจีนในไทยเป็นผู้สร้างถวาย ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมทุกชิ้นส่งตรงมาจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้งทั้งหมด

วัดเล่งเน่ยยี่

ในด้านการผสมผสานทางด้านศาสนา ประเพณีระหว่างชาวจีนและไทยนั้น ดูจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นอื่นๆ นัก สังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนาหินยาน ในขณะที่ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธมหายาน แต่การปรับรูปแบบการดำรงชีวิตของชาวจีนให้เข้ากับวิถีไทยมีมาแล้วตั้งแต่อดีตจนถึงรัตนโกสินทร์  และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  กล่าวได้ว่าเป็นการผสมความเชื่อได้อย่างแนบเนียน ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างวัดมหายาน คือ วัดเล่งเน่ยยี่  แล้วพระราชทานชื่อวัดว่า  วัดมังกรกมลาวาส  เพื่อให้ชาวจีนประกอบศาสนกิจ

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกบำรุงพระพุทธศาสนา และพระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่พระภิกษุจีนด้วย สำหรับด้านพิธีกรรมนั้น ในงานพระศพของเจ้านายบางพระองค์ก็ให้จัดอย่างมหายาน คือ มีพิธีกงเต๊ก ผสมผสานกับการสวดอภิธรรม ดังเช่น ครั้งที่จัดพิธีกงเต๊กถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528 

ชาวจีน 5 กลุ่มได้อพยพเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร  ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยามาจนปัจจุบันนี้ พวกเขาอยู่ในไทยอย่างมีความสุข แม้อาจจะมีบางส่วนถูกกลมกลืนเป็นไทยไม่หมด หรือบางส่วนไม่ยอมถูกผสมกลมกลืน แต่นโยบายของรัฐบาลไทยที่เปิดกว้าง อีกทั้งการปฏิบัติต่อชาวจีนโดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ชาวจีนก็คงต้องถูกผสมกลมกลืนไปเอง โดยอัตโนมัติด้วยกาลเวลา