สุจิตต์ วงษ์เทศ : ขนมสัมปันนี, ย่านสำพะนี มาจากไหน?

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ขนมสัมปันนี หรือ สำปันนี ขนมไทยโบราณที่มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารารายณ์มหาราช มีบันทึกว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้นขึ้น โดยทำมาจากแป้งมันคั่ว คลุกเคล้ากับน้ำตาลและกะทิเคี่ยวยางมะตูม รสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น สีสันสวยงาม มีกลิ่นร่ำควันเทียนหอมกรุ่น (ข้อมูลและภาพจาก Facebook สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)

คำว่า “สำปะนี” “สำพะนี” ในชื่อขนมสัมปันนี หรือสำปะนี กับย่านสำพะนี ใกล้กันมาก แต่ผมติดตามสอบถามผู้รู้ทางภาษามานานหลายปี จนบัดนี้ยังหาคำอธิบายไม่ได้ให้น่าเชื่อว่ามาจากรากเดียวกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร?

“ขนมสำปะนี” มีขายสมัยอยุธยา พบในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (เอกสารจากหอหลวง) จัดอยู่ในกลุ่ม “ขนมแห้ง” วางขายในตลาดป่าขนมอยู่ถนนย่านป่าขนม (ในเกาะเมือง) มีรายการขนมดังนี้

“ขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอหิน ฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่างๆ”

ขนมสำปะนี ปัจจุบันนิยมสะกดว่า “สัมปันนี” เคยถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นชนิดเดียวกับขนม “อาลัว” หรือ “อารัว” แต่แท้จริงแล้วไม่เหมือนกัน เป็นขนมต่างชนิดกัน พบชื่อขนมทั้งสองชนิดมีพร้อมกันในบัญชีขนมในงานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยเมื่อร้อยปีกว่ามาแล้ว (ในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบรอบร้อยปี พ.ศ. 2425)

ย่านสำพะนี (มี 3 ตำบล) เป็นย่านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อยู่นอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้รอบๆ วัดพุทไธสวรรย์และเขตต่อเนื่อง พบในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (เอกสารจากหอหลวง)

1. ย่านสำพะนี ตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกระเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่ว (อยู่หลังวัดพุทไธสวรรย์ ต่อเนื่องถึงคลองคูจามน้อย)

2. บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ลงชื่อ) ทำฝาเรือนอยู่และเรือนหอ ด้วยไม้ไผ่กรุกระแชงบ้าง กรุแผงกำบ้าง ทำไว้ขายและรับจ้าง

3. บ้านหมู่หนึ่ง (ไม่ลงชื่อ) หล่อเหล็กเป็นครกเป็นสากเหล็ก และตั้งเตาตีมีดพร้าและรูปพรรณต่างๆ รับจ้างและทำไว้ขาย (ไอ้เสมา พระเอกนิยายเรื่องขุนศึก ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นคนตีเหล็กอยู่สำพะนี เรียนเพลงดาบสำนักวัดพุทไธสวรรย์)

ขนมสัมปันนี หรือ สำปันนี ขนมไทยโบราณที่มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารารายณ์มหาราช มีบันทึกว่า ท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้นขึ้น โดยทำมาจากแป้งมันคั่ว คลุกเคล้ากับน้ำตาลและกะทิเคี่ยวยางมะตูม รสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น สีสันสวยงาม มีกลิ่นร่ำควันเทียนหอมกรุ่น (ข้อมูลและภาพจาก Facebook สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)

ที่มาหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนสุจิตต์ วงษ์เทศ