นวรัตน์ ภักดีคำ กับที่มาคำว่า “ตึ่งนั้ง” เรียกคนจีนในไทย

Culture ศิลปวัฒนธรรม

คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยเริ่มต้นเมื่อไหร่ อย่างไร  มีระบุไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นจารึกและพงศาวดาร  อย่างไรก็ดีหากถามถึงคำเรียกขาน “คนจีน” ในประเทศไทยว่าเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า “เจ๊ก” กลับไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดแจ้ง  “นวรัตน์ ภักดีคำ” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวถึงที่มาของ “คนจีน” ในไทย ที่ไม่ใช่คำว่า “เจ๊ก”  

ในไทยมีคำเรียกคนจีนคือคำว่า “ตึ่งนั้ง” คำนี้ในภาษาจีนกลางจะใช้คำว่า “ถังเหริน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวเองของคนจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  ซึ่งเป็นการเดินทางค้าขายตามเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล  เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ เวลาเดินทางไปค้าขาย คนจีนจะเรียกแทนตัวเองว่ามาจากราชวงศ์ถัง จะไม่ได้บอกว่าเป็นคนจีนหรือคนอะไร แต่จะมองว่าตัวเองเป็นข้าในแผ่นดินไหน เช่น มาจากราชวงศ์ไหนนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม สำหรับราชวงศ์ถัง เขาจะใช้ว่า “ต้าถัง” แล้วพอเดินทางออกไปค้าขายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถัง จึงแทนตัวเองว่า “ถังเหริน” 

“ตึ่งนั้ง” เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เดินทางออกไปค้าขายตามเส้นทางสายไหม  เพราะฉะนั้นพอไปค้าขายที่ไหนก็จะแทนตัวเองว่าเป็นถังเหริน หรือเป็นตึ่งนั้ง  ถามว่าสำเนียง “ตึ่งนั้ง” มาจากไหน ก็คือมาจากสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับคนไทย  เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ที่ภาษาอังกฤษเรียกย่าน “ไชน่าทาวน์” ในภาษาจีนเองจะใช้คำว่า “ถังเหริน เจีย”  คำว่า “เจีย” แปลว่าถนน เป็นถนนลักษณะแบบ Avenue คือเป็นย่านการค้าของชาวจีนนั่นเอง

ถ้าเป็นคนราชวงศ์หมิงหรือราชวงศ์ชิง ซึ่งราชวงศ์ชิงคนจีนไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่ คนจีนยอมรับราชวงศ์หมิง  แต่คนยุคราชวงศ์หมิงก็ไม่ได้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองเท่าราชวงศ์ถัง  ไม่ได้มีอิทธิพล ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ขนาดราชวงศ์ถัง  เพราะว่าเขาเริ่มรับรู้แล้วว่ายังมีประเทศอื่น มีโลกอื่นที่ใหญ่กว่าประเทศของตัวเอง บ้านเมืองของตัวเอง  ขณะที่สมัยราชวงศ์ถังยังไม่รู้  ประกอบกับเป็นยุคที่จีนรุ่งเรืองสุดๆ การค้าเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเรียกตัวเองว่า “ต้าถัง”

นวรัตน์ ภักดีคำ

ส่วนที่แม้ว่าในราชวงศ์ต่อๆ มา มีคำว่า “ต้าหมิง” หรือ “ต้าชิง”  นั่นเพราะเป็นศัพท์ที่ค้างอยู่แล้ว รับรู้กันว่าใช้แบบนี้ เคยใช้อย่างนั้นก็ใช้ต่อกันมา  อย่างถนนเยาวราชไชน่าทาวน์ของไทย จะมีสองชื่อในความรู้จักของคนจีนปัจจุบัน คือชื่อหนึ่งเรียกเป็น “ไท่กั๋วถังเหรินเจีย” กับอีกชื่อหนึ่งคือทับศัพท์ไปเลย “เยาฮวาลี่”  คือเยาวชราช นี่คือการรับรู้ของชาวจีนในปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่าทั่วโลกไชน่าทาวน์ของแต่ละประเทศคนจีนเรียกอะไร ก็เรียกว่า ถังเหรินเจีย ถนนสายชาวถังนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว คนจีนจะแบ่งออกเป็น “จีนเก่า” กับ “จีนใหม่” ในศัพท์ของเขาเองด้วย เช่น เป็นตึ่งนั้ง หรือเป็นซินตึ๊ง เคยได้ยินไหมไอ้หนุ่มซินตึ๊ง คือเป็นพวกจีนที่เข้ามาใหม่ เข้ามาทีหลังกลุ่มเดิม คนจีนเวลาเรียกว่าคนๆ นี้ ที่เป็นลูกหลานชาวจีนเขาจะเรียก “ตึ่งนั้งเกี๊ยะ”  คือเป็นคนมีเชื้อจีน แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งสำหรับชาวแต้จิ๋วที่เรียกถังหรือตึ่งนั้งด้วยการแบ่งด้วยภูเขา เช่น ภูเขาลูกนี้ตัดจากตรงนี้มาตรงนี้เป็นแต้จิ๋ว อย่างนี้เป็นต้น

เรือสำเภาจีน

คำว่า “ไท่กั๋ว”  คำว่าไท่ เราเจอในพงศาวดารจีนมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีในยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่เป็นเสียนเป็นหลัว มารวมกันเรียกเป็น “เสียนหลัว” คือประเทศไทยสมัยโน้น ในพงศาวดารของจีนแต่ละยุคจะเรียกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเรือสำเภาของจีนไปเจอเมืองไหนก่อน อาจเป็นเมืองเล็กๆ พอมีกำแพงเมืองปุ๊ปคนจีนก็มองว่าเป็นประเทศ สมมติมาเจออาณาจักรพันพัน มาขึ้นที่สุราษฏร์ธานี เขาก็จะ…อ้ออันนี้คืออาณาจักรหนึ่ง หรือว่าถ้าเดินเท้ามาเจอเมืองหริภุญไชย ก็จะ…โอ้เมืองนี้มีผู้หญิงเป็นเจ้าเมืองสมัยพระนางจามเทวี ก็จะเรียกว่าเป็นประเทศที่มีผู้หญิงปกครอง  เป็น “หนี่วากั๋ว” แปลว่าเมืองที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเขามาเจอเมืองไหนก่อน หรือคนจีนเขาจะเรียกแทนภาษาของตัวเองว่าเป็นภาษาฮั่น เพราะเขามองว่าภาษาจีนกลางที่ใช้ทุกวันนี้รูปแบบตัวอักษรสืบมาตั้งแต่สมัยฮั่น เขาก็เรียกสืบกันมา จีนทุกวันนี้เลยเรียกเป็นฮั่นหมด คือเป็นคำที่ค้างอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนคำว่า “เจ๊ก” เป็นคำเรียกเชิงดูถูกคนจีนหรือไม่ สำหรับตัวเองตั้งแต่ตอนเด็กๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย พ่อหรือเตี่ยตัวเองก็ยังบอกว่าเป็นเจ๊ก ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการดูถูกเหยียดหยามหรือรู้สึกต่ำต้อย แล้วตลาดแถวบ้านก็เรียกเจ๊กหมด เช่น ไปซื้อข้าวต้มร้านเจ๊กสุน ซื้อของร้านเจ๊กเล้ง  ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง  คือเป็นเจ๊กหมดเลย แล้วร้านเหล่านี้ลูกหลานสืบทอดต่อมาก็แปะป้ายว่าเจ๊ก  เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อยุค 40 ปีก่อน คำว่า “เจ๊ก” ไม่ได้เป็นคำดูถูกอะไรเลย เพียงแต่ว่าพอมายุคหลังกลายเป็นคำที่เรียกแบบจิกหรือเปล่าไม่ทราบ

ส่วนคำว่า “จีน” ที่เรียกคนจีน มาจากคำว่า “ฉิน” นักวิชาการจีนเขาพูดว่ามันเริ่มจากอาณาจักรฉิน คือฉินแล้วกลายมาเป็นไชน่า เพราะอาณาจักรฉินใหญ่มาก และคนจีนส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น สถานะของชาวจีนปัจจุบันในบัตรประชาชนจะมีการระบุไว้ว่าเป็นเผ่าอะไร  ไม่เหมือนของเราที่มีชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด แต่ของคนจีนจะระบุด้วยว่าเผ่าอะไร  ซึ่งเผ่าส่วนใหญ่คือเผ่าฮั่น คือชาวจีนทั่วๆ ไป  แต่ถ้าเป็นเผ่าอื่นก็ระบุว่าเป็นแมนจู เป็นฮุย เป็นไต เป็นอุยกู  เพราะใครเป็นชนเผ่าอะไรก็จะมีสิทธิพิเศษตามความเป็นชนเผ่านั้นๆ เช่น ชนเผ่านี้มีลูกได้มากกว่า 1 คน มีลูกไม่จำกัด แบบนี้เป็นต้น