จะเรียกว่า “หลักฐานใหม่” เสียทีเดียว ก็ไม่เชิงแต่เป็น “สิ่งใหม่” ที่เจ้าหน้าที่ขุดพบโดยบังเอิญ และเวลานี้ก็กำลังขะมักเขม้นขุดค้น “สิ่งใหม่” นี้ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ระหว่างการต่อจิ๊กซอว์เก็บรายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อการศึกษารูปแบบที่น่าจะเป็นต่อไป ถึงแม้จะไม่ใช่หลักฐานใหม่เสียทีเดียว แต่สิ่งใหม่อันนี้ก็ทำความตื่นเต้นให้กับ “นิภา สังคณาคินทร์” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จนอดใจไม่ได้ที่จะแชร์ให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ด้วย สิ่งใหม่ที่ขุดพบนี้ คือ แนวกำแพงฉนวนของวังพระนารายณ์ที่สามารถทำให้มองเห็นขอบเขตของพระราชฐานได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ผลุบๆ โผล่ๆ หรือขาดหายไปในบางช่วงบางตอน รวมไปถึงการขุดพบ “พื้นทางเดิน” ชั้นล่างลึกลงไปถึง 1 เมตร ระบุได้ว่าเป็นทางเดินโบราณดั้งเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นทางเดินลายก้างปลา

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วังพระนารายณ์เล่าถึงการขุดค้นนี้ ว่าเดิมทีเดียวเป็นการขุดเพื่อเปิดแนวกำแพงวัง เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร เพราะของเดิมจะเห็นเป็นบางส่วน แล้วขาดหายไปเพราะมันถูกดินถมบ้าง กลบบ้าง มีการบูรณะหลายรอบมาก และอื่นๆ เช่น หักพังไปตามกาลเวลา ฉะนั้น จึงอยากดูแนวกำแพงฉนวนที่หายไปว่ามีการเชื่อมกันหรือไม่ และเป็นแนวเดียวกันไหม ปรากฏว่าขุดแล้วเห็นว่าเป็นพื้นที่เดียวกันตามที่สันนิษฐานไว้ และยังทำให้พบ “ช่องทางเดิน” ที่จะเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นลักษณะแนวทางเดินในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งหมดที่พบนี้เป็นการขุดดินลึกลงไปเกือบ 1 เมตร

“…สิ่งที่เราเห็นคือแนวทางเดินดั้งเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นลายก้างปลาชัดเจน ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก ตอนนี้กำลังบูรณะ นอกจากนี้ยังพบแนวขอบประตู ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกันกับขอบประตูที่จะเข้าไปในเขตชั้นกลางและชั้นใน เป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือแนวทางเดินโบราณดั้งเดิม ซึ่งมีอยู่ 3 จุด ทำให้เรารู้ว่าแนวกำแพงฉนวนนี้ มันคือแนวกำแพงเดิมและเป็นแนวกำแพงที่มีการเชื่อมจากเหนือจรดใต้ เป็นแนวเดียวกัน และตรงกลางคือช่องประตู และทางเดินที่จะเข้าไปสู่เขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นลายก้างปลาอยู่รวมกับขอบประตู ก็จะขุดต่อเพื่อดูว่าขอบประตูจะเป็นรูปร่างแบบไหน?…ซุ้มจตุรมุข หรือซุ้มโค้งธรรมดาที่ให้คนหรือช้างเดินลอดผ่านเข้าไป”

แค่นี้ก็ทำให้มโนไปไกลถึงไหนต่อไหน เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของวังนารายณ์ อย่างไรก็ตาม หลักฐานทั้งหมดจะมีการนำไปให้นักโบราณคดีสรุปภาพรวมอีกครั้ง และจะนำไปรวมกับโครงการของอาจารย์ “สันติ เล็กสุขุม” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ราชบัณฑิต อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังทำโมเดล

“รูปแบบสันนิษฐานของวังนารายณ์” เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่อยากเห็นมาก ว่าแท้ที่จริงแล้วรูปร่างหน้าตาของวังนารายณ์เป็นอย่างไร ใหญ่โตแค่ไหน คาดว่าปี 2563-2564 จะเห็นโมเดลที่แท้จริงของพระราชวังแห่งนี้

พื้นที่สีเขียว เนื้อที่ 42 ไร่ กลางเมืองลพบุรีแห่งนี้ ยังมีเรื่องให้สนใจอีกเรื่องป็นหนึ่งในโครงการของการบูรณะพัฒนาวังนารายณ์ ที่ผู้อำนวยการนิภา สังคณาคินทร์ ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการในปี 2563 เรียบร้อยแล้ว คือการพัฒนาพื้นที่ด้านหลังของ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่เรียกกันว่า “คุกเก่า” พื้นที่แห่งนี้มีอยู่ประมาณ 8 ไร่ อยู่ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยใช้เป็นคุกขังนักโทษและเป็นลานประหารชีวิต ต่อมามีการย้ายคุกออกไปจึงกลายเป็นพื้นที่รกร้าง เมื่อไม่นานมานี้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้เข้าไปสำรวจเพราะเห็นว่าเป็น

ซ้าย-แนวกำแพงเก่าและฉนวนทางเดินต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกัน , ขวา-บ่อน้ำโบราณ
ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ติดกับแนวกำแพงคุกเก่าสมัย ร.5(กำแพงสีขาว)
พื้นที่วังนารายณ์ที่ปรับปรุงแล้ว

พื้นที่สำคัญมาก ถ้าได้ทำงานต่อในเชิงโบราณคดี ก็จะตอบโจทย์เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ที่คนยังไม่รู้ได้อีกหลายเรื่องมาก ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเมื่อพบเห็น ฐานแนวกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เรียงกัน คู่ขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ประมาณ 4 ฐาน สันนิษฐานน่าจะเป็นฐานของแนวอาคารที่พักนางในของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั่นเอง

“..ถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานจริงจังว่าสมเด็จพระนารายณ์ท่านประทับที่ไหนกันแน่ พอเราพบเจอหลักฐานตรงนี้ก็สันนิษฐานว่ามันน่าจะเชื่อมโยงจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มาสู่ด้านหลัง แนวของมันไปตรงกับประตูออกด้านหลังพระที่นั่ง ท่านอาจจะประทับที่บริเวณด้านหลังของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งก็คือบริเวณนี้ก็ได้ ส่วนพระที่นั่งก็ใช้เป็นที่รับแขกหรือออกรับเสนาบดีที่มาปรึกษาราชการงานเมือง ล่าสุดที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ ยังพบเห็นพืชสมุนไพรประมาณ 20 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ บางชนิดมีอยู่ในตำราโอสถพระนารายณ์ นอกจากนี้มีแนวทางเดินลายก้างปลา มีบ่อน้ำโบราณ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นบ่อน้ำใช้ในการเพื่ออะไรกันแน่ แต่ก็เป็นมิติใหม่ ในการพัฒนาด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์…”

ผู้อำนวยการนิภาบอกว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากรและจ.ลพบุรีเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เธอตบท้ายการบอกเล่าอีกครั้งว่างานบูรณะพัฒนาด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นความอยากที่จะเข้าไปไขปริศนาในพื้นที่ที่เข้าไปยากที่สุดของวังนารายณ์ ถ้ามีการขุดค้นที่ครบถ้วนสมบูรณ์ น่าจะเป็นอันซีนตัวใหม่ของคนลพบุรีและของประเทศชาติ

นิภา สังคณาคินทร์ ผอ.พิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์

“วังนารายณ์ราชนิเวศน์” ได้ชื่อว่าเป็นปอดของเมืองลพบุรี และเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวลพบุรีด้วย ตามหลักฐานการสำรวจ “วังพระนารายณ์” หรืออีกชื่อหนึ่ง “เมืองละโว้” มีประวัติศาสตร์ยาวนานสามารถชี้ไปถึงได้ว่าลพบุรีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่จนถึงยุคสำริด กระทั่งมาจนถึงช่วงประวัติศาสตร์ ในสมัยอยุธยาตอนต้น หลังจากสิ้นยุคของพระราเมศวร เมืองลพบุรีถูกปล่อยทิ้งร้างมาระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้าให้สร้างราชธานีแห่งที่สอง ในปี 2209 ทรงเลือกเมืองลพบุรี ให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลีร่วมกันออกแบบและสร้างพระราชวัง ป้อมปราการ และกำแพงเมือง สำหรับเป็นที่ประทับ ว่าราชการ และล่าสัตว์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานเมืองลพบุรีมาก มีการเสด็จมาประทับประมาณปีละ 8-9 เดือน กระทั่งเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231

ชาวบ้านเรียกนารายณ์ราชนิเวศน์กันติดปากว่า “วังนารายณ์” แต่ชื่อ “นารายณ์ราชนิเวศน์” เป็นการตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังจากมีการบูรณะพระราชวัง สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ และหมู่ตึกพระประเทียบ ในปี พ.ศ.2399 เสร็จแล้วพระราชทานนาม “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เป็นวังที่สร้างหันหน้าเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี มีป้อมปืน 7 ป้อม ประตูสูงใหญ่รูปโค้งแหลมเล็ก 11 ประตู ข้อมูลเหล่านี้แม้จะศึกษาได้และมีอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพอันสมบูรณ์ของพระราชวังนารายณ์ปรากฏออกมาได้ คงต้องรอการค้นพบหลักฐานใหม่ทั้งหมดนี้ ที่จะนำมาต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นว่าภาพของพระราชวังทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ

พัฒนา”หมู่ตึกพระประเทียบ” จัดนิทรรศการสานต่อความรู้

ผู้อำนวยการหญิงไฟแรงแห่งพิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี บอกเล่าการบูรณะพัฒนา “อาคารหมู่พระประเทียบ” ตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นตึกที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เป็นที่พักของข้าราชบริพารฝ่ายในที่ตามเสด็จ มาตั้งแต่ปี 2561 มีทั้งหมด 18 หลัง

“ตอนนี้เรากำลังบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ เดิมอาคารเหล่านี้เป็นที่อยู่ฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้หญิง หลังจากนั้นถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เลยเห็นว่าน่าจะกลับมาพัฒนา นอกจากเป็นอาคารอนุรักษ์แล้ว ยังได้ใช้ประโยชน์ในแง่การทำงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย ตอนนี้พัฒนาไปหลายหลังแล้ว สองหลังใช้จัดนิทรรศการ เป็นเรื่องราวที่ครอบคลุม จ.ลพบุรีได้มากยิ่งขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาบางคนรู้สึกว่าเมื่อมาแล้ว เหมือนมีเรื่องใหม่ๆ ให้เขาได้สัมผัส เรียนรู้ ทุกครั้งที่มา จะครั้งแรกหรือครั้งที่สอง สาม สี่ นี่คือเหตุผล โครงการนี้จะแล้วเสร็จปี 2563

อีกส่วนของอาคารพระประเทียบจะใช้เป็นพื้นที่เก็บโบราณวัตถุตามหลักวิชาการ วัตถุโบราณของกรมศิลปากรหลายแห่งมีการจัดเก็บอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะพื้นที่มีจำกัด ดังนั้น ถ้าเรามีพิ้นที่ให้จัดเก็บ จัดแสดงตามหลักวิชาการ นั่นหมายความว่าเป็นการดูแลรักษา ยืดอายุของโบราณวัตถุ ในปี 2564 เราจะขยับขยายคลังเก่าออกมาอยู่ตึกพระประเทียบ โบราณวัตถุที่ต้องจัดเก็บนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการขุดค้นได้จากนักโบราณคดีของกรมศิลปากร ตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในเมืองลพบุรี ซึ่งเวลานี้ก็ยังมีการขุดค้นอยู่ เช่น ที่ท่าแค พรหมทิน และยังมีการขุดตรวจที่วัดมหาธาตุ มีเจอชิ้นส่วนภาชนะ ชิ้นส่วนพระพุทธรูป เครื่องถ้วย ยุคทวารวดี เป็นต้น ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปนำมามอบให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย..”

สำหรับการจัดนิทรรศการ ใช้พื้นที่ของอาคารพระประเทียบจำนวน 2 หลัง ทำเป็นนิทรรศการหมุนเวียน ขณะนี้จัดนิทรรศการ 2 เรื่อง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศิลปากร และจังหวัดลพบุรี คือ นิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัย “แหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี” และนิทรรศการเรื่องอวดภาพถ่ายเก่า สำหรับนิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัย “แหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี” จัดเนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ส่วนหนึ่งเป็นผลการทำงานระหว่างนักโบราณคดีไทยและอิตาลีในแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ จ.ลพบุรี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นเวลา 70 ปีมาแล้ว ประชาชนไม่เคยรู้เลยว่านักโบราณคดีได้อะไรจากพื้นที่ตรงนั้น

หมู่ตึกพระประเทียบที่จัดนิทรรศการ
ภาชนะดินเผาที่พบในลุ่มน้ำลพบุรี
นิทรรศการภาพถ่ายเก่า

“เราไม่เคยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง แต่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เรื่องของนักวิชาการ นักโบราณคดี แต่ในมุมกว้างระดับประชาชนไม่เคยได้เข้ามาล่วงรู้เลย จึงคิดว่า 70 กว่าปีที่ผ่านมาจำนวนโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้และอยู่ในพิพิธภัณฑ์มีมากพอที่จะนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมและรับรู้เรื่องราว โดยใช้แนวคิดจากตัวเราเอง สมมุติว่าตัวเองเป็นคนดู ถ้าคนดูมาเห็นเศษภาชนะสักชิ้นหนึ่งที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีที่แสนจะธรรมดามาก แล้วสามารถตอบคำถามเขาได้ว่า มันคืออะไร ใครเป็นคนทำ ทำยังไง ถ้าสมบูรณ์จะเป็นแบบไหน มีอายุเท่าไหร่ คำถามมากมายที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ แล้วคนที่ไขปริศนาก็คือนักโบราณคดี เราจึงเดินเรื่องนิทรรศการด้วยนักโบราณคดี เป็นการทำงานของนักโบราณคดี ตั้งแต่สำรวจพื้นที่ ทำผังขุดค้น ขุดแต่ง วิเคราะห์ ออกมาเป็นรูปเล่มรายงาน และจัดแสดง…”

“…ลุ่มแม่น้ำลพบุรียังมีแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่ได้ขุดค้น และยังไม่ผ่านกระบวนการขุดค้นทางวิชาการ มีถึง 100 กว่าแหล่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และใน 100 กว่าแหล่งนี้ มีประมาณ 3-4 แหล่ง ที่ตอบโจทย์ในความเป็นแหล่งโบราณคดีของลุ่มแม่น้ำลพบุรีหรือเมืองลพบุรีได้ชัดเจนที่สุด แหล่งแรกคือ แหล่งโบราณคดีท่าแค เขาทรายอ่อน พุน้อย โนนป่าหวาย ถือเป็นไซต์ใหญ่สำคัญมาก โดยเฉพาะโนนป่าหวายหรือท่าแค ตอบโจทย์ในความเป็นศูนย์กลางความเป็นอุตสาหกรรมการถลุงแร่ทองแดงที่สำคัญที่สุดของเมืองลพบุรี และเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ที่ส่งไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในประเทศและประเทศรายรอบ..”

ไม่เฉพาะเรื่องของการถลุงแร่เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของภาชนะดินเผาที่ได้จากการทำงานในลุ่มแม่น้ำลพบุรี มีความหลากหลายของรูปแบบ และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อหลังความตายและไปเกิดใหม่ในภพหน้า เรื่องของเครื่องประดับทั้งที่ทำกันเองในท้องถิ่น และนำเข้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก แสดงให้เห็นว่าในเมืองลพบุรี ไม่ได้ติดชายฝั่งทะเลแต่มีแม่น้ำลพบุรีไปเชื่อมกับแนวชายฝั่งทะเลด้านแนวตะวันตก ทำให้ได้รับอิทธิพลของสัตว์ทะเล หรืออิทธิพลทางศาสนาที่เข้ามาทั้งจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออก นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงให้เห็นถึงชั้นดิน ชั้นวัฒนธรรมการอยู่อาศัย เห็นถึงชั้นพัฒนาการการอยู่อาศัยของผู้คน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน

“…ส่วนนิทรรศการ “อวดภาพถ่ายเก่า” เป็นการนำเสนอภาพถ่ายเก่าที่ได้มาจากหลายแหล่ง อาทิ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หอดำรงราชานุภาพ ภาคเอกชน คนที่สะสมภาพถ่ายเก่า ทั้งประชาชนทั่วไปและคนในพื้นที่ จ.ลพบุรี ช่วยกันส่งภาพมาเล่าเรื่อง ทำให้ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต เหตุการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 10 แสดงให้เห็นว่าลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ ตั้งแต่ระดับสถาบันพระมหากษัตริย์จนถึงประชาชน…”

นิทรรศการทั้ง 2 เรื่อง จะจัดนาน 6 เดือน เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนจะสิ้นสุดเวลาการจัดแสดง ดังนั้น ใครยังไม่ได้ชม ต้องรีบไป แล้วจะรู้ว่าลพบุรีมีของดีหลายอย่างมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา

ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน

ผู้เขียน : สกุณา ประยูรศุข

 

เยือนวังนารายณ์

ประชาสัมพันธ์

นิภา สังคณาคินทร์ ผอ. พิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ มอบหนังสือที่ระลึก “ต้นไม้ใหญ่ในแผ่นดิน ถิ่นประวัติศาสตร์ลพบุรี” แก่ สกุณา ประยูรศุข ผอ.มติชนอคาเดมี และคณะ ในโอกาสเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ เพื่อประสานงานด้านการท่องเที่ยว ที่อาคารสำนักงานพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี เมื่อไม่นาน

รียกขานกันมานมนานหนักหนาแล้ว สำหรับคำว่า “พระเจ้าเหา” ซึ่งเป็นชื่อมาจากตึกหรืออาคารโบราณสถานตั้งอยู่ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี ที่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญที่ใครต่อใครต้องเดินทางไปดูให้เห็นกับตา เพื่อตามอย่างละครบุพเพสันนิวาส คราวที่แม่การะเกดเธอทำตาโตบอกคุณพี่หมื่น ว่าอยากเห็นตึกพระเจ้าเหา ประเด็นนี้คุณพี่หมื่นไม่ได้บอกว่าพระเจ้าเหาเป็นใคร แต่มีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ “อาจารย์ภูธร ภูมะธน” มาเฉลยให้ทราบกัน

“ผมคิดว่ารูปธรรมทั้งหลายที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ จ.ลพบุรี มีมากมายหลายที่ บางที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ดีงาม บางที่ก็ทรุดโทรม บางที่มีความหมายแต่คนไม่รู้ สำหรับกรณี ตึกพระเจ้าเหา ซึ่งตั้งอยู่ในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ อยู่ ณ มุมหนึ่งของพระราชวัง เป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทย ซึ่งในวังนารายณ์นั้นจะมีสถาปัตยกรรมในสมัยพระนารายณ์หลายแบบ แบบไทยหรือแบบฝรั่งปนแขก หรืออะไรก็ตาม กรณีของตึกพระเจ้าเหา จะตรงกับตำแหน่งที่ระบุในแผนที่ของชาวฝรั่งเศสว่าเป็น หอพระประจำพระราชวัง…”

อาจารย์ภูธร ภูมะธน

“โดยสถาปัตยกรรมของตึกพระเจ้าเหา จะเห็นว่ามีกำแพงแก้วล้อมรอบอีก เพราะฉะนั้น น่าจะตรงกับที่ฝรั่งเศสระบุไว้ คือเป็นหอพระประจำพระราชวังแน่นอน ถามต่อไปว่าชื่อของตึกที่รู้จักกันในนาม พระเจ้าเหา นั้นคืออะไรกันแน่? ถ้าเป็นหอพระประจำพระราชวัง คำว่าพระเจ้าเหาน่าจะเป็นชื่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำอาคารหลังนี้ก็ได้ ทีนี้มีเหรอพระพุทธรูปชื่อ เหา มีการวิเคราะห์ศัพท์นี้ เพราะกังขากันมานับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่ ก็ทรงตั้งคำถามนี้เช่นกัน…”

“เหา คืออะไร? มีการตีความกันไปต่างๆ นานา โชคดีที่คนโบราณเมื่อตีความก็มีทางออกหลายทาง หนึ่ง-เหา มาจากคำว่า “House” ที่ฝรั่งอาจเรียกหอพระว่า God’s House สอง-เหา มาจากภาษาเขมรเป็นรากศัพท์มาจากเขมร แปลว่า รวมเข้ามาหากัน เสมือนหนึ่งเป็นที่ประชุม เอาล่ะ..ในระยะหลังที่พบหลักฐานว่าที่ตรงนี้คือหอพระประจำพระราชวัง พระเจ้าเหาก็ต้องเป็นชื่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำพระราชวัง ที่ประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังนี้ ถามว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูปได้ไหม? ต้องผูกโยงไปอีกว่าตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้เสด็จไปตีดินแดนล้านนาก่อนมาสถาปนาเมืองลพบุรีให้มั่นคง แล้วมีไหมพระพุทธรูปในล้านนาที่เริ่มคำแรกว่า พระเจ้า อันนี้ธรรมดามาก ใครไปล้านนาจะรู้ว่าพระพุทธรูปสำคัญของล้านนาขึ้นต้นด้วยคำว่าพระเจ้าทั้งสิ้น อย่างพระเจ้าตนหลวง พระเจ้าเก้าตื้อ คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญประจำพื้นที่นั้นๆ…”

“คราวนี้มาถึงพระเจ้าเหา พระเจ้าเหาเป็นชื่อพระพุทธรูปแน่ๆ ส่วนคำว่า เหา มีความหมายว่าเหาบนหัว หรือมีความหมายอื่น สำหรับผมเองสันนิษฐานเลยว่า ด้วยเหตุที่ท่านยกทัพไปตีเชียงใหม่มาก่อนแล้วค่อยมาสถาปนาลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ คำว่า เหา เป็นชื่อพระพุทธรูป ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า หาว ก็ได้ ซึ่งแปลว่าสวรรค์หรือท้องฟ้า แต่สำหรับคนภาคกลาง การออกเสียงอาจจะลำบาก จากหาวมาเป็นเหาก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น สรุปชื่อ พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานในหอพระแห่งนี้ซึ่งเป็นหอพระประจำพระราชวังนารายณ์นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นต่างไปจากอาจารย์ภูธรอีกหลายแนวคิด อาทิ แนวคิดที่อธิบายโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า คำว่า พระเจ้าเหา มาจากชื่อตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่า ‘คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่าเรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันแต่โบราณมาแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า “ตึกพระเจ้าเรียก” เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า “Convocation Hall”

ในสมัยปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์์ได้กระทำรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็คงจะตอบกันว่า “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ต่อมาคำว่า “ตึก” เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า “ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา” แปลว่า ‘ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือ ‘ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร’ นั่นเอง

แนวคิดเรื่องพระเจ้าเหามาจากชื่อตึกนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยระบุไว้เช่นกันว่า เคยทรงสอบถามศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้รับคำตอบว่า เป็นภาษาเขมร แปลว่าที่พระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียก เคาน์ซิลออฟแชมเบอร์ (Council of Chamber) มาประชุม

เฉลยกันไปแล้วว่า พระเจ้าเหา คือชื่อพระพุทธรูปสำคัญของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของอาจารย์ภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ หากยังมีความเห็นต่าง ผิดแผกออกไปอีกหลายแนวคิด ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของปัญญาชนคนสยามที่จะมาวิสาสา ปรมา ญาติ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญาเป็นคุณค่ากับประวัติศาสตร์ของชาติไทยต่อไป

เรียกได้ว่ายิ่งออกอากาศ เนื้อหาในเชิงประวัติศาสตร์ก็ยิ่งเข้มข้นเข้าไปทุกขณะ สำหรับละครดังที่สร้างกระแสออเจ้าไปทั่วประเทศอย่าง “บุพเพสันนิวาส” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกอากาศในวันที่ 28-29 มีนาคม ที่ละครเริ่มพูดถึง “พระปีย์” และเหตุการณ์ที่คณะราชทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

แต่อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการที่ละครพาผู้ชมไปรู้จัก “เมืองละโว้” มากขึ้น ด้วยการให้ขุนศรีวิสารวาจาพาการะเกดขี่ม้าเที่ยวชมเมืองละโว้เป็นครั้งแรก

ละโว้ หรือปัจจุบันคือ จ.ลพบุรี เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่ละโว้ จนมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่าละโว้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในยุคสมัยของพระองค์

สถานที่สำคัญในละโว้ที่ยังหลงเหลือมาให้ชมจนถึงปัจจุบันมีมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งไกรสรสีหราช วัดสันเปาโล บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์ รวมไปถึง “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” พระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ในพงศาวดารบอกว่าพระองค์มักประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน

งานนี้ “มติชน อคาเดมี” จัดทริป ย้อนเวลาพา “ออเจ้า” ไปเฝ้า “ขุนหลวงนารายณ์” เมืองละโว้ (ลพบุรี) ที่จะพาไปชมพระราชวังที่มีรูปแบบที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปกรรมไทยและตะวันตก รวมไปถึงการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังแบบพระราชวังอาลิคาปู ประเทศอิหร่าน อันแสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมแบบเปอร์เซียของสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมฟังบรรยายจาก “รศ.ดร.ปรีดีพิศภูมิวิถี” ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์กรุงเก่า และร่วมกันวิเคราะห์คำตอบแบบเจาะลึก ทั้งสาเหตุการสร้างลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 2, จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส รวมถึงจุดนัดประชุมขุนนางของ 2 พ่อ-ลูก “พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์” ในการวางแผนยึดอำนาจ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังพาไปชมโบราณสถานอื่นๆ ด้วย เช่น พระที่นั่งไกรสรสีหราช, วัดสันเปาโล, บ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์

 

กำนดการเดินทาง รอบแรก วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2561 รอบสอง วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2561 ราคา 2,500 บาท (อ่านรายละเอียดการเดินทางได้ที่ลิงค์นี้ https://www.matichonacademy.com/update/article_9124)

สนใจติดต่อ :

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
inbox facebook : Matichon Academy
line @m.academy