หลักฐานใหม่ที่”นารายณ์ราชนิเวศน์” สืบหาโมเดล”วังพระนารายณ์”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

จะเรียกว่า “หลักฐานใหม่” เสียทีเดียว ก็ไม่เชิงแต่เป็น “สิ่งใหม่” ที่เจ้าหน้าที่ขุดพบโดยบังเอิญ และเวลานี้ก็กำลังขะมักเขม้นขุดค้น “สิ่งใหม่” นี้ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ระหว่างการต่อจิ๊กซอว์เก็บรายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อการศึกษารูปแบบที่น่าจะเป็นต่อไป ถึงแม้จะไม่ใช่หลักฐานใหม่เสียทีเดียว แต่สิ่งใหม่อันนี้ก็ทำความตื่นเต้นให้กับ “นิภา สังคณาคินทร์” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จนอดใจไม่ได้ที่จะแชร์ให้กับคนอื่นๆ ได้รับรู้ด้วย สิ่งใหม่ที่ขุดพบนี้ คือ แนวกำแพงฉนวนของวังพระนารายณ์ที่สามารถทำให้มองเห็นขอบเขตของพระราชฐานได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ผลุบๆ โผล่ๆ หรือขาดหายไปในบางช่วงบางตอน รวมไปถึงการขุดพบ “พื้นทางเดิน” ชั้นล่างลึกลงไปถึง 1 เมตร ระบุได้ว่าเป็นทางเดินโบราณดั้งเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นทางเดินลายก้างปลา

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วังพระนารายณ์เล่าถึงการขุดค้นนี้ ว่าเดิมทีเดียวเป็นการขุดเพื่อเปิดแนวกำแพงวัง เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร เพราะของเดิมจะเห็นเป็นบางส่วน แล้วขาดหายไปเพราะมันถูกดินถมบ้าง กลบบ้าง มีการบูรณะหลายรอบมาก และอื่นๆ เช่น หักพังไปตามกาลเวลา ฉะนั้น จึงอยากดูแนวกำแพงฉนวนที่หายไปว่ามีการเชื่อมกันหรือไม่ และเป็นแนวเดียวกันไหม ปรากฏว่าขุดแล้วเห็นว่าเป็นพื้นที่เดียวกันตามที่สันนิษฐานไว้ และยังทำให้พบ “ช่องทางเดิน” ที่จะเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นลักษณะแนวทางเดินในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งหมดที่พบนี้เป็นการขุดดินลึกลงไปเกือบ 1 เมตร

“…สิ่งที่เราเห็นคือแนวทางเดินดั้งเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นลายก้างปลาชัดเจน ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก ตอนนี้กำลังบูรณะ นอกจากนี้ยังพบแนวขอบประตู ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกันกับขอบประตูที่จะเข้าไปในเขตชั้นกลางและชั้นใน เป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือแนวทางเดินโบราณดั้งเดิม ซึ่งมีอยู่ 3 จุด ทำให้เรารู้ว่าแนวกำแพงฉนวนนี้ มันคือแนวกำแพงเดิมและเป็นแนวกำแพงที่มีการเชื่อมจากเหนือจรดใต้ เป็นแนวเดียวกัน และตรงกลางคือช่องประตู และทางเดินที่จะเข้าไปสู่เขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นลายก้างปลาอยู่รวมกับขอบประตู ก็จะขุดต่อเพื่อดูว่าขอบประตูจะเป็นรูปร่างแบบไหน?…ซุ้มจตุรมุข หรือซุ้มโค้งธรรมดาที่ให้คนหรือช้างเดินลอดผ่านเข้าไป”

แค่นี้ก็ทำให้มโนไปไกลถึงไหนต่อไหน เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของวังนารายณ์ อย่างไรก็ตาม หลักฐานทั้งหมดจะมีการนำไปให้นักโบราณคดีสรุปภาพรวมอีกครั้ง และจะนำไปรวมกับโครงการของอาจารย์ “สันติ เล็กสุขุม” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ราชบัณฑิต อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังทำโมเดล

“รูปแบบสันนิษฐานของวังนารายณ์” เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่อยากเห็นมาก ว่าแท้ที่จริงแล้วรูปร่างหน้าตาของวังนารายณ์เป็นอย่างไร ใหญ่โตแค่ไหน คาดว่าปี 2563-2564 จะเห็นโมเดลที่แท้จริงของพระราชวังแห่งนี้

พื้นที่สีเขียว เนื้อที่ 42 ไร่ กลางเมืองลพบุรีแห่งนี้ ยังมีเรื่องให้สนใจอีกเรื่องป็นหนึ่งในโครงการของการบูรณะพัฒนาวังนารายณ์ ที่ผู้อำนวยการนิภา สังคณาคินทร์ ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการในปี 2563 เรียบร้อยแล้ว คือการพัฒนาพื้นที่ด้านหลังของ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่เรียกกันว่า “คุกเก่า” พื้นที่แห่งนี้มีอยู่ประมาณ 8 ไร่ อยู่ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยใช้เป็นคุกขังนักโทษและเป็นลานประหารชีวิต ต่อมามีการย้ายคุกออกไปจึงกลายเป็นพื้นที่รกร้าง เมื่อไม่นานมานี้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้เข้าไปสำรวจเพราะเห็นว่าเป็น

ซ้าย-แนวกำแพงเก่าและฉนวนทางเดินต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกัน , ขวา-บ่อน้ำโบราณ
ด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ติดกับแนวกำแพงคุกเก่าสมัย ร.5(กำแพงสีขาว)
พื้นที่วังนารายณ์ที่ปรับปรุงแล้ว

พื้นที่สำคัญมาก ถ้าได้ทำงานต่อในเชิงโบราณคดี ก็จะตอบโจทย์เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ที่คนยังไม่รู้ได้อีกหลายเรื่องมาก ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเมื่อพบเห็น ฐานแนวกำแพงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เรียงกัน คู่ขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ประมาณ 4 ฐาน สันนิษฐานน่าจะเป็นฐานของแนวอาคารที่พักนางในของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั่นเอง

“..ถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานจริงจังว่าสมเด็จพระนารายณ์ท่านประทับที่ไหนกันแน่ พอเราพบเจอหลักฐานตรงนี้ก็สันนิษฐานว่ามันน่าจะเชื่อมโยงจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์มาสู่ด้านหลัง แนวของมันไปตรงกับประตูออกด้านหลังพระที่นั่ง ท่านอาจจะประทับที่บริเวณด้านหลังของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งก็คือบริเวณนี้ก็ได้ ส่วนพระที่นั่งก็ใช้เป็นที่รับแขกหรือออกรับเสนาบดีที่มาปรึกษาราชการงานเมือง ล่าสุดที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ ยังพบเห็นพืชสมุนไพรประมาณ 20 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ บางชนิดมีอยู่ในตำราโอสถพระนารายณ์ นอกจากนี้มีแนวทางเดินลายก้างปลา มีบ่อน้ำโบราณ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นบ่อน้ำใช้ในการเพื่ออะไรกันแน่ แต่ก็เป็นมิติใหม่ ในการพัฒนาด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์…”

ผู้อำนวยการนิภาบอกว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากรและจ.ลพบุรีเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เธอตบท้ายการบอกเล่าอีกครั้งว่างานบูรณะพัฒนาด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นความอยากที่จะเข้าไปไขปริศนาในพื้นที่ที่เข้าไปยากที่สุดของวังนารายณ์ ถ้ามีการขุดค้นที่ครบถ้วนสมบูรณ์ น่าจะเป็นอันซีนตัวใหม่ของคนลพบุรีและของประเทศชาติ

นิภา สังคณาคินทร์ ผอ.พิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์

“วังนารายณ์ราชนิเวศน์” ได้ชื่อว่าเป็นปอดของเมืองลพบุรี และเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวลพบุรีด้วย ตามหลักฐานการสำรวจ “วังพระนารายณ์” หรืออีกชื่อหนึ่ง “เมืองละโว้” มีประวัติศาสตร์ยาวนานสามารถชี้ไปถึงได้ว่าลพบุรีเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่จนถึงยุคสำริด กระทั่งมาจนถึงช่วงประวัติศาสตร์ ในสมัยอยุธยาตอนต้น หลังจากสิ้นยุคของพระราเมศวร เมืองลพบุรีถูกปล่อยทิ้งร้างมาระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดเกล้าให้สร้างราชธานีแห่งที่สอง ในปี 2209 ทรงเลือกเมืองลพบุรี ให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลีร่วมกันออกแบบและสร้างพระราชวัง ป้อมปราการ และกำแพงเมือง สำหรับเป็นที่ประทับ ว่าราชการ และล่าสัตว์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานเมืองลพบุรีมาก มีการเสด็จมาประทับประมาณปีละ 8-9 เดือน กระทั่งเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231

ชาวบ้านเรียกนารายณ์ราชนิเวศน์กันติดปากว่า “วังนารายณ์” แต่ชื่อ “นารายณ์ราชนิเวศน์” เป็นการตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังจากมีการบูรณะพระราชวัง สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ และหมู่ตึกพระประเทียบ ในปี พ.ศ.2399 เสร็จแล้วพระราชทานนาม “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” เป็นวังที่สร้างหันหน้าเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี มีป้อมปืน 7 ป้อม ประตูสูงใหญ่รูปโค้งแหลมเล็ก 11 ประตู ข้อมูลเหล่านี้แม้จะศึกษาได้และมีอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพอันสมบูรณ์ของพระราชวังนารายณ์ปรากฏออกมาได้ คงต้องรอการค้นพบหลักฐานใหม่ทั้งหมดนี้ ที่จะนำมาต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นว่าภาพของพระราชวังทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ

พัฒนา”หมู่ตึกพระประเทียบ” จัดนิทรรศการสานต่อความรู้

ผู้อำนวยการหญิงไฟแรงแห่งพิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี บอกเล่าการบูรณะพัฒนา “อาคารหมู่พระประเทียบ” ตั้งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นตึกที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เป็นที่พักของข้าราชบริพารฝ่ายในที่ตามเสด็จ มาตั้งแต่ปี 2561 มีทั้งหมด 18 หลัง

“ตอนนี้เรากำลังบูรณะหมู่ตึกพระประเทียบ เดิมอาคารเหล่านี้เป็นที่อยู่ฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 ที่เป็นผู้หญิง หลังจากนั้นถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เลยเห็นว่าน่าจะกลับมาพัฒนา นอกจากเป็นอาคารอนุรักษ์แล้ว ยังได้ใช้ประโยชน์ในแง่การทำงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย ตอนนี้พัฒนาไปหลายหลังแล้ว สองหลังใช้จัดนิทรรศการ เป็นเรื่องราวที่ครอบคลุม จ.ลพบุรีได้มากยิ่งขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาบางคนรู้สึกว่าเมื่อมาแล้ว เหมือนมีเรื่องใหม่ๆ ให้เขาได้สัมผัส เรียนรู้ ทุกครั้งที่มา จะครั้งแรกหรือครั้งที่สอง สาม สี่ นี่คือเหตุผล โครงการนี้จะแล้วเสร็จปี 2563

อีกส่วนของอาคารพระประเทียบจะใช้เป็นพื้นที่เก็บโบราณวัตถุตามหลักวิชาการ วัตถุโบราณของกรมศิลปากรหลายแห่งมีการจัดเก็บอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะพื้นที่มีจำกัด ดังนั้น ถ้าเรามีพิ้นที่ให้จัดเก็บ จัดแสดงตามหลักวิชาการ นั่นหมายความว่าเป็นการดูแลรักษา ยืดอายุของโบราณวัตถุ ในปี 2564 เราจะขยับขยายคลังเก่าออกมาอยู่ตึกพระประเทียบ โบราณวัตถุที่ต้องจัดเก็บนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการขุดค้นได้จากนักโบราณคดีของกรมศิลปากร ตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในเมืองลพบุรี ซึ่งเวลานี้ก็ยังมีการขุดค้นอยู่ เช่น ที่ท่าแค พรหมทิน และยังมีการขุดตรวจที่วัดมหาธาตุ มีเจอชิ้นส่วนภาชนะ ชิ้นส่วนพระพุทธรูป เครื่องถ้วย ยุคทวารวดี เป็นต้น ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปนำมามอบให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีจำนวนไม่น้อย..”

สำหรับการจัดนิทรรศการ ใช้พื้นที่ของอาคารพระประเทียบจำนวน 2 หลัง ทำเป็นนิทรรศการหมุนเวียน ขณะนี้จัดนิทรรศการ 2 เรื่อง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศิลปากร และจังหวัดลพบุรี คือ นิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัย “แหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี” และนิทรรศการเรื่องอวดภาพถ่ายเก่า สำหรับนิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัย “แหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี” จัดเนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ส่วนหนึ่งเป็นผลการทำงานระหว่างนักโบราณคดีไทยและอิตาลีในแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ จ.ลพบุรี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นเวลา 70 ปีมาแล้ว ประชาชนไม่เคยรู้เลยว่านักโบราณคดีได้อะไรจากพื้นที่ตรงนั้น

หมู่ตึกพระประเทียบที่จัดนิทรรศการ
ภาชนะดินเผาที่พบในลุ่มน้ำลพบุรี
นิทรรศการภาพถ่ายเก่า

“เราไม่เคยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง แต่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เรื่องของนักวิชาการ นักโบราณคดี แต่ในมุมกว้างระดับประชาชนไม่เคยได้เข้ามาล่วงรู้เลย จึงคิดว่า 70 กว่าปีที่ผ่านมาจำนวนโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้และอยู่ในพิพิธภัณฑ์มีมากพอที่จะนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมและรับรู้เรื่องราว โดยใช้แนวคิดจากตัวเราเอง สมมุติว่าตัวเองเป็นคนดู ถ้าคนดูมาเห็นเศษภาชนะสักชิ้นหนึ่งที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีที่แสนจะธรรมดามาก แล้วสามารถตอบคำถามเขาได้ว่า มันคืออะไร ใครเป็นคนทำ ทำยังไง ถ้าสมบูรณ์จะเป็นแบบไหน มีอายุเท่าไหร่ คำถามมากมายที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ แล้วคนที่ไขปริศนาก็คือนักโบราณคดี เราจึงเดินเรื่องนิทรรศการด้วยนักโบราณคดี เป็นการทำงานของนักโบราณคดี ตั้งแต่สำรวจพื้นที่ ทำผังขุดค้น ขุดแต่ง วิเคราะห์ ออกมาเป็นรูปเล่มรายงาน และจัดแสดง…”

“…ลุ่มแม่น้ำลพบุรียังมีแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่ได้ขุดค้น และยังไม่ผ่านกระบวนการขุดค้นทางวิชาการ มีถึง 100 กว่าแหล่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และใน 100 กว่าแหล่งนี้ มีประมาณ 3-4 แหล่ง ที่ตอบโจทย์ในความเป็นแหล่งโบราณคดีของลุ่มแม่น้ำลพบุรีหรือเมืองลพบุรีได้ชัดเจนที่สุด แหล่งแรกคือ แหล่งโบราณคดีท่าแค เขาทรายอ่อน พุน้อย โนนป่าหวาย ถือเป็นไซต์ใหญ่สำคัญมาก โดยเฉพาะโนนป่าหวายหรือท่าแค ตอบโจทย์ในความเป็นศูนย์กลางความเป็นอุตสาหกรรมการถลุงแร่ทองแดงที่สำคัญที่สุดของเมืองลพบุรี และเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ที่ส่งไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในประเทศและประเทศรายรอบ..”

ไม่เฉพาะเรื่องของการถลุงแร่เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของภาชนะดินเผาที่ได้จากการทำงานในลุ่มแม่น้ำลพบุรี มีความหลากหลายของรูปแบบ และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อหลังความตายและไปเกิดใหม่ในภพหน้า เรื่องของเครื่องประดับทั้งที่ทำกันเองในท้องถิ่น และนำเข้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก แสดงให้เห็นว่าในเมืองลพบุรี ไม่ได้ติดชายฝั่งทะเลแต่มีแม่น้ำลพบุรีไปเชื่อมกับแนวชายฝั่งทะเลด้านแนวตะวันตก ทำให้ได้รับอิทธิพลของสัตว์ทะเล หรืออิทธิพลทางศาสนาที่เข้ามาทั้งจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออก นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงให้เห็นถึงชั้นดิน ชั้นวัฒนธรรมการอยู่อาศัย เห็นถึงชั้นพัฒนาการการอยู่อาศัยของผู้คน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน

“…ส่วนนิทรรศการ “อวดภาพถ่ายเก่า” เป็นการนำเสนอภาพถ่ายเก่าที่ได้มาจากหลายแหล่ง อาทิ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หอดำรงราชานุภาพ ภาคเอกชน คนที่สะสมภาพถ่ายเก่า ทั้งประชาชนทั่วไปและคนในพื้นที่ จ.ลพบุรี ช่วยกันส่งภาพมาเล่าเรื่อง ทำให้ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต เหตุการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 10 แสดงให้เห็นว่าลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ ตั้งแต่ระดับสถาบันพระมหากษัตริย์จนถึงประชาชน…”

นิทรรศการทั้ง 2 เรื่อง จะจัดนาน 6 เดือน เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนจะสิ้นสุดเวลาการจัดแสดง ดังนั้น ใครยังไม่ได้ชม ต้องรีบไป แล้วจะรู้ว่าลพบุรีมีของดีหลายอย่างมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา

ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน

ผู้เขียน : สกุณา ประยูรศุข