แต่โบราณนานมาไม่ว่ายุคไหนๆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของการปกครองเลยก็คือ “ผู้นำ” หรือ “กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ” จะต้องมี “ผู้ช่วย” ที่คอยช่วยเหลือในงานกิจการต่างๆ ช่วยคิด ช่วยค้านนโยบายในการบริหารประเทศ ผู้ช่วยที่ว่านี้ หากเป็นในยุคปัจจุบันก็อาจเทียบได้กับรัฐมนตรี แต่ถ้าหากเป็นในอดีต ที่เราๆ เคยได้ยินจากหนังจีนก็คงเป็นคำว่า “เสนาบดี” หรือ “ขุนนาง” นั่นเอง

“รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวกับ “มติชนอคาเดมี” ว่า ขุนนางเป็นหนึ่งในรัตนะทั้ง 7 หรือแก้ว 7 ประการ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของพระมหาจักรพรรดิ ที่จะต้องมีสิ่งสำคัญ 7 อย่าง หากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีรัตนะครบทั้ง 7 ประการ ถือว่าเป็น King of King เช่น จะต้องมี ช้างแก้ว ม้าแก้ว รวมทั้งขุนพลแก้วและขุนนางแก้ว ซึ่งก็คือขุนพลและขุนคลัง ขุนนางซ้ายขวาของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีขุนนางคู่พระทัย ต้องมีขุนนางที่ดูแลการเงินคู่พระทัยด้วย เพื่อให้บำรุงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงขึ้น

ดังนั้น การมีขุนนางฝ่ายทหารและขุนนางฝ่ายพลเรือนที่ดีจึงมีความจำเป็น เพียงแต่เรื่องนี้อาจจะไม่ชัดเจนในสมัยอยุธยา เพราะว่ามีขุนนางเยอะ อย่างไรก็ดี ขุนนาง 3 ตำแหน่งที่สำคัญและมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัคนโกสิทร์ตอนต้นก็คือ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และโกษาธิบดี ซึ่งคือสิ่งที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ที่ประทับตราทั้ง 3 นั่นก็แสดงว่าทั้ง 3 ตราเป็นขุนนางที่สำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ผดุงพระเกียรติยศ เป็นผู้ที่สร้างอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นที่แน่นอนว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยลำพัง ดังนั้นการอาศัยพวกขุนนางจึงจำเป็น

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลายคนอาจคุ้นกับขุนนางที่มาจาก “สกุลบุนนาค” แต่ รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า ไม่ได้มีแค่สกุลบุนนาคที่เป็นขุนนางแรกเริ่ม อาจจะมีขุนนางที่เป็นสายอื่นๆ ที่เป็นขุนศึกคู่พระทัยมาด้วยตั้งแต่สมัยอยุธยา เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏชัดเจน

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่”
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่

“ขุนนางนั้นมีอีกหลายสกุลที่ร่วมสร้างกรุงเทพฯขึ้นมา ทั้งสายจีนที่เป็นเจ้าพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ก็ถือว่าเป็นขุนนาง แต่ว่าเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น ไม่ใช่ฝ่ายบู๊ ฝ่ายนี้จะเป็นผู้หาพระราชทรัพย์เข้ามาท้องพระคลังที่นำไปใช้ก่อสร้างต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะมีขุนนางหลายฝ่าย เพราะเป็นผู้ที่ก่อร่างสร้างราชวงศ์ขึ้นมา คือถ้าไม่มีขุนนางก็ไม่มีราชวงศ์ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์

แต่การจะเข้ามาเป็นขุนนางได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการเรียนสรรพวิทยา มีหลายตำราที่สอนขุนนางด้วย เช่น ตำราพิชัยเสนา สมัยอยุธยา ซึ่งจะสอนว่าขุนนางจะต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ที่บอกว่าการเป็นขุนนางต้องเป็นคนอย่างไร แสดงว่าการหาผู้ที่มาเป็นขุนนางจำเป็นต้องหาคนที่มีปัญญาชนมีความสามารถพอที่จะเข้ามาเป็นขุนนาง ในขณะเดียวกันทางฝ่ายสถาบันก็ต้องพยายามดูแลควบคุมไว้ให้ได้ เพื่อที่จะใช้เป็นมือเป็นเท้า

รศ.ดร.ปรีดีบอกอีกว่า ขุนนางที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัตนโกสินธ์นั้นมีหลายสกุล เช่น สกุลสิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นอกจากนี้ก็อาจมีคนที่สืบทอดเชื้อสายมาแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏบทบาทมากเท่ากับขุนนางสายอื่น ขณะเดียวกันสถานภาพของขุนนางแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1-3 ขุนนางนั้นแทบจะเป็นเพื่อนเลยก็ว่าได้ เพราะว่ารบมาด้วยกัน เกิดไล่เลี่ยกัน วิ่งเล่นมาด้วยกัน ดังนั้นความสนิทสนมจะเป็นในสถานภาพหนึ่ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาก็จะเป็นไปในอีกสถานภาพหนึ่งที่ไม่ได้วิ่งเล่นมาด้วยกัน แต่จะเป็นแบบเคารพยกย่อง

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเราต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของขุนนางสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ขุนนางกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ชัดเจนก็คือ “สกุลบุนนาค” นั่นเอง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของสมเด็จองค์ใหญ่

รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า สกุลบุนนาคนั้นเป็นกลุ่มขุนนางที่มีรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด สามารถสืบไปถึงอยุธยาประมาณสมัยพระเจ้าทรงธรรม คือเริ่มตั้งแต่มีแขกมุสลิมคือท่านเฉกอะหมัดและน้องชาย เข้ามาค้าขายในอยุธยา สู่การเข้าไปรับราชการในสำนัก เพราะฉะนั้นสกุลบุนนาคจึงเป็นสกุลที่สามารถสืบได้ไกลที่สุดหากเทียบกับสกุลอื่นๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือจำนวนของคนในสกุลบุนนาคที่สืบเชื้อสายกันมานั้นมีบทบาทเข้ารับราชการเยอะกว่าสกุลอื่นๆ และมีผลงานที่โดดเด่นและหลากหลาย เช่น บางท่านอาจชำนาญด้านรบทัพจับศึก บางท่านอาจชำนาญทางด้านการต่างประเทศ อย่างเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ที่ท่านทำด้านการทูต หรือบางท่านอาจชำนาญเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) ที่เรียนภาษาอังกฤษ หากแต่สกุลอื่นๆ อาจพบว่าเป็นบทบาทเพียงอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่มีอยู่ไม่เยอะเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ สกุลบุนนาคยังมีร่องรอยปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ได้รับสิทธิมากกว่าคนอื่น เช่น ได้พื้นที่ในการสร้างบ้านเรือน มีวัดเป็นของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วทุกสกุลก็มีวัดเป็นของตัวเอง เพียงแต่ในฝั่งธนบุรีจะเป็นพื้นที่ของสกุลบุนนาคเป็นส่วนมาก โดยจะไม่ค่อยพบวัดของสกุลบุนนาคในฝั่งพระนคร แต่จะเจอสกุลบุรณศิริ ที่เป็นสกุลเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา แถวๆ สนามหลวง ที่มีวัดบุรณศิริ แต่จะไม่เยอะเท่าสกุลบุนนาค

“อีกส่วนหนึ่งคือ เรามักจะเห็นสกุลบุนนาคเพียงแค่บางคนที่เป็นคนใหญ่ๆ เช่น ท่านช่วง บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งจริงๆ แล้วท่านช่วงนั้นอยู่คาบเกี่ยวระหว่างรัชกาลที่ 4 กับรัชกาลที่ 5 ซึ่งในตอนที่ท่านทำงานอยู่กับรัชกาลที่ 4 นั้นท่านทำอะไรบ้าง หลายคนอาจจะมองไม่เห็นภาพ คนส่วนใหญ่จะเห็นภาพท่านช่วงตอนที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นช่วงปลายชีวิตของท่านช่วงแล้ว หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านช่วงก็ใช้ชีวิตของท่านตามปกติ โดยไม่เข้ามายุ่งอะไร แต่ก็มีอยู่บ้างที่เชื่อว่าสกุลบุนนาคอยู่เบื้องหลังการผลักดันคนที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สวรรคต ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมในตอนนั้นท่านถึงมีอำนาจ แสดงว่าในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านทำอะไรมา อำนาจของท่านจึงมี ทำไมคนถึงเชื่อท่าน แม้แต่คนในราชวงศ์ หลายพระองค์ก็ยังเชื่อท่าน เพราะฉะนั้นจึงต้องมองในแง่ที่เป็นธรรมกับท่านด้วย ทั้งนี้ ความเจริญที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ก็เกิดในช่วงของท่านด้วย พอมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 เป็นต้นมา ความเจริญส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่สกุลบุนนาคช่วยสนับสนุน เช่น การขุดคลองมหาสวัสดิ์ที่เชื่อมต่อไปท่าจีน เพื่อความเจริญทางด้านการเดินทางและโรงหีบอ้อย อุตสาหกรรมน้ำตาล ท่านช่วงก็เป็นคนดูแลทั้งหมด ดังนั้นท่านก็มีส่วนในการสร้างความเจริญขึ้นมาเยอะมาก”

รศ.ปรีดี ทิ้งท้ายว่า เราอาจรู้จักหรือมีข้อมูลของขุนนางเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะว่าประวัติศาสตร์ของเรา เราใช้แกนหลักก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเราก็อาจจะดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ หากว่าเหตุการณ์ในช่วงแผ่นดินนั้นๆ มีความขัดแย้งกับขุนนาง บางทีเราก็จะกล่าวโทษกับขุนนาง ว่าขุนนางนั้นเป็นคนที่ไม่ดี หรือว่าก่อให้เกิดความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องกลับไปดูข้อมูลจากทางขุนนางเองด้วยว่าตลอดสายสกุลที่มีมา ท่านได้ทำอะไรบ้างหรือเปล่าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความเจริญของประเทศ ซึ่งแปลว่าถ้าเราจะเรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย เราอาจจะต้องดูขุนนางในหลายๆ มิติ ไม่ใช่แค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น


เรื่องราวของขุนนางสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในมิติอื่นๆ เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ในโอกาสครบรอบ 237 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ มติชนอคาเดมีจัดทริปตามรอบขุนนางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในทัวร์ “ขุนนาง (ผู้ร่วม) สร้างกรุงเทพฯ” กรุงเทพฯ พาฟังเรื่องราว ย้อนอดีตเมืองฟ้าอมรไปกับ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี กำหนดเดินทางวันที่ 28 เมษายน 2562 คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_24374

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 – 12 เมษายน 2561


 

ถึงยุคโบราณคดีเฟื่องฟู

เป็นดังนั้นจริงแท้ แม่หญิงการะเกด เมื่อไปทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสกับมติชนอคาเดมีไปยังอยุธยา ในวันที่ 31 มีนาคม ฉันก็เห็นแม่หญิงการะเกดอีกหลายร้อยคนยืนถ่ายรูปอยู่หน้าวัดไชยวัฒนาราม เมื่อยามพลบค่ำ 6 โมงเย็น
ก่อนหน้านั้นเมื่อฉันไปวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่เขามาถ่ายทำบุพเพสันนิวาส ฉันก็เห็นการะเกดเดินกันว่อน สไบปลิว จนฉันเกือบจะเหยียบชายสไบเข้าให้ครั้งหนึ่ง
คนขายน้ำที่วัดพุทไธสวรรค์หัวเราะทั้งวัน อารมณ์ดี เพราะขายน้ำได้วันละร้อยโหล ไม่รวมน้ำหวาน ฉันได้ฉวยโอกาสขอแถมนมสด เขาก็บอกยินดีครับ ผมงี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้ทำละครย้อนยุคต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ เศรษฐกิจดีไม่รู้เรื่อง
ฉันทีแรกก็เอออวย มานึกอีกทีรัฐบาลเกี่ยวอะไร นี่มันผลงานช่องสาม ผู้กำกับฯ ผู้สร้าง ผู้แต่งเรื่อง และผู้เขียนบทไม่ใช่รึแม่การะเกด

มติชนอคาเดมีก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย จัดทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสสองครั้ง เต็มหมด อาจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่ฉันเป็นแฟนคลับ มาบรรยายด้วย จนฉันได้มีโอกาสมาในครั้งนี้ ได้รู้ว่ารายละเอียดในละครก็มีการเพี้ยน การแต่งเติมไปบ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้เพราะนี่คือเรื่องแต่งสำหรับการบันเทิง
ถามอาจารย์ว่าใครเป็นคนแต่งบุพเพสันนิวาสคะ อาจารย์บอกว่า “รอมแพง” เขาจบโบราณคดี ฉันก็ถึงบางอ้อเลย มิน่ารีเสิร์ชเยี่ยม มีเกร็ดต่างๆ สอดแทรก ขนาดอาจารย์ยังชื่นชม เมื่อได้คุณศัลยา นักเขียนบทมือหนึ่งของไทยมาปรุงรส ด้วยเข้าใจรสนิยมคนดูไทยทะลุปรุโปร่ง ก็เลยยกระดับละครขึ้นไปอีก และเข้าใจว่าทางช่องสามเองก็มีส่วนมองการตลาดได้เด็ดขาดอีกด้วย
มันไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลตรงไหนเลยนะคะ โปรดทราบ

การที่คนทั้งประเทศเกิดกระแสการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ชาติ ไทย ประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์อย่างกว้างขวางเช่นนี้มีผลมาถึงมติชนเป็นอย่าง มาก เพราะในแง่การเผยแพร่แล้วถือว่ามติชนคือเสาหลักประวัติศาสตร์และโบราณคดี
คอลัมน์คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กูรูโบราณคดีในมติชนสุดสัปดาห์มีคนแชร์คราวละเป็นพันๆ คนทุกครั้ง
หนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ทั้งแบบสารคดีและวิชาการ ทั้งแบบตรงไปตรงมา และสอดแทรกการวิเคราะห์จากปราชญ์ลำดับต้นๆ ของประเทศ มติชนยืนหยัดพิมพ์ขายมาตลอด มีนักเขียน นักวิชาการประวัติศาสตร์ในมือมากกว่าสำนักพิมพ์ไหน รวมทั้งต้นฉบับดีๆ ลายมือผู้คนในยุคนั้นๆ ก็ถูกส่งมาที่นี่
มติชนอคาเดมีจัดทัวร์ประวัติศาสตร์มาหลายปีแล้ว มีแฟนเหนียวแน่น วิทยากรคุณภาพเพียบและหลากหลาย
มติชนจัดเสวนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีสม่ำเสมอ
ทั้งหนังสือ ทัวร์ ทอล์ก มติชนคือชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง
เมื่อตลาดเป็นใจมติชนย่อมได้รับลมใต้ปีกหอบเอาคุณค่าต่างๆ ที่มีบินสูงขึ้นไป ยุคนี้เป็นยุคของ content ใครมี content ดีกว่าย่อมได้เปรียบ

สําหรับทัวร์ตามรอยครั้งนี้อาจารย์ปรีดีสร้างความสนุกสนานด้วยการเอาสิ่ง ที่เห็นจากละครมาอธิบายเพิ่มเติม เช่นคำว่าออเจ้าใช้เรียกคนที่เราไม่รู้จักไม่รู้ชื่อเหมือนคำว่าเธอ เมื่อรู้ชื่อแล้วก็เรียก ออ ตามด้วยชื่อ เช่น ออฉิม ออเรียม แล้วแซวพี่หมื่นว่าเรียกออเจ้าอยู่นั่น ไม่รู้ซะทีว่าเธอชื่อการะเกด
การะเกดเป็นชื่อของผู้ชายนะคะ หลักฐานปรากฏจากเพลง “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศจะไปไหนเอย”
ส่วนทองหยิบ ฝอยทอง ก็มาจากโปรตุเกสร้อยปีมาแล้ว ก่อนมารี เดอ กีมา จะมาอยู่อยุธยา
ทัวร์กับอาจารย์ปรีดี เริ่มต้นขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ได้ความรู้ว่าที่ใช้ชื่อนี้เพราะเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้ทรงพระปรีชาสามารถ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้สร้างวัดราชบูรณะให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ผู้เป็นพี่ ซึ่งรบพุ่งกันจนเสียชีวิตด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรุวัดราชบูรณะแตก อย่างที่เคยเป็นข่าวครึกโครม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่เป็นของสูง และที่เกี่ยวกับศาสนา ถูกลอบขนออกมา ทางการไปพบเข้าจึงเอาคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนให้สร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาจากเงิน 3 บาทที่ขายพระเครื่องจากกรุได้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตามมา
สถานที่ต่อมาที่อาจารย์พาไปคือวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา กษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ละครยังเดินเรื่องไปไม่ถึงตอนสิ้นสมัยพระนารายณ์และ พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ วัดบรมพุทธารามนี้ยังมีร่องรอยของเจดีย์และพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปอยู่ ที่ยังเห็นโดดเด่นคือ สะพานบ้านดินสอ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ยังมีสายน้ำขนาดเล็กลอดใต้สะพาน มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ตัวสะพานเองก็มีรูปทรงน่าชมมาก บริเวณนี้เมื่อวัดทรุดโทรมลงกลายเป็นย่านการค้าเครื่องเขียนประเภทดินสอ ปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สิ่งที่ฉันรู้สึกก็คือน่าเสียดายที่เทคโนโลยีการก่อสร้างของไทยในสมัยอยุธยา ยังไม่ก้าวหน้า ใช้ดินเป็นฐานแล้วใช้อิฐก่อซ้อนกันขึ้นไป อาคารต่างๆ จึงทรุดโทรมลงได้ง่าย ก็ยังดีที่ยังเหลือซากอิฐไว้ให้ชม

ที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือภูมิทัศน์บริเวณป้อมเพชร
ได้ความรู้จากอาจารย์ว่าที่นี่สายน้ำ 3 สายมาบรรจบกันคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี มองไปเห็นผืนน้ำกว้างเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกัน ชัดเจน ที่นี่ยังหลงเหลือป้อมที่เคยสร้างไว้ป้องกันพระนคร เป็นที่ไว้ปืนใหญ่คอยยิงข้าศึกหากรุกล้ำเข้ามา เป็นชัยภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างเห็นได้ชัด
บริเวณนี้เป็นหนึ่งในฉากในละครบุพเพสันนิวาส
ฉันมาอยุธยาเป็นสิบครั้งก็ไม่เคยมาที่ป้อมเพชรนี่ คราวนี้โชคดีมากับมติชนเลยได้มา
วัดธรรมาราม คือสถานที่ถ่ายทำฉากก่อกองทรายในละคร มติชนพาไปดูด้านหลังวัด ยังเห็นทรายที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณหลังโบสถ์ วัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา และเคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถควบคุมการสัญจรทางน้ำได้
อาจารย์พาเราลงเรือที่ท่าน้ำวัดกษัตราธิราช ชมโบราณสถานไปเรื่อยๆ อาจารย์บอกว่าในละคร พี่หมื่นพายเรือไกลมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก็แซวกันไป ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะมันคือละคร

เราขึ้นเรือที่วัดพุทไธสวรรค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ฉันเคยมาที่วัดนี้แล้ว มาคราวนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำบุพเพสันนิวาสหลายฉาก ถ้าย้อนกลับไปดูจะได้เห็นประตูที่แม่หญิงการะเกดก้าวออกมา เห็นพระพุทธรูปเรียงราย
ที่นี่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองก่อนสร้างกรุง ศรีอยุธยา เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกดได้เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าแท้จริงเธอคือใคร
ถ้าไม่ได้ไปที่วัดไชยวัฒนารามเป็นช็อตสุดท้าย เราก็คงไม่ได้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างฟีเวอร์ของละครกับประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้
ทำให้ฉันได้ประจักษ์แน่แก่ใจว่าดราม่านั้นมีพลังมหาศาลขับเคลื่อนการกระทำ ของคนในสังคมได้ รถบัสของเราต้องจอดชั่วคราวให้เรารีบลงตรงหน้าวัดซึ่งแต่ก่อนเคยมีฝรั่งเดิน ประปราย มีเพิงขายน้ำเงียบเหงา เท่านั้นจริงๆ แต่มาคราวนี้ อะไรกันนั่น
บู๊ธให้เช่าชุดไทย สไบ ผ้านุ่ง ผ้าโจงกระเบนแน่นขนัดสองข้างทาง สลับกับร้านขายน้ำ เครื่องดื่ม ของฝาก มีอาสาสมัครคอยโบกรถให้ เราเดินฝ่าแม่นางการะเกดและพี่หมื่นไปยังที่วัดไชยวัฒนารามจำลองที่อยู่ด้าน หน้าวัด
วัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของวัดไชยวัฒนารามเป็นเหตุผลทางการเมืองกลายๆ เป็นที่เล่าลือกันว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นคือโอรสลับๆ ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดแต่หญิงชาวบ้าน แต่ในทางการแล้วคือบุตรชายของออกญาศรีธารมาธิราชพี่ชายคนใหญ่ของพระมารดา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก็ถือว่ามาจากคนธรรมดา
อาจารย์อธิบายสืบเนื่องจากละครว่า เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์มาก่อน จึงต้องสร้างวัดที่ใหญ่โตอลังการเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่าม งดงามนั้น เป็นเรื่องจริง และไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าที่ดี เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด
ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…

ฉันกลับมาพร้อมด้วยความรู้สึกถึงอาณุภาพของสื่อและอยากที่จะตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างต่อจากนี้
อยากจะคิดว่ากระแสบุพเพสันนิวาสจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์และ โบราณคดีมากขึ้น และเยาวชนที่สนใจอยู่แล้วแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามร้องยี้ว่าเรียนไปทำอะไร ก็จะเลิกร้องยี้เสียที
หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะขายดี
นักโบราณคดีที่มีฝีมือในการเขียนนิยายจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จะเฟื่องฟู หวังว่าการใฝ่รู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีในหมู่คนทั่วไปจะเติบโตขึ้นอีกด้วย
มติชนจะจัดตามรอยบุพเพสันนิวาสไปยังลพบุรีอีกในวันที่ 29 เมษายน ยิ่งไม่น่าพลาด เพราะอย่างที่รู้กันว่าแม้อยุธยาจะเป็นเมืองหลวง แต่ลพบุรีเป็นเมืองของพระนารายณ์ ที่นั่นมีนารายณ์ราชนิเวศน์ หอดูดาว และคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็จบชีวิตลงที่นั่น
การเมืองอันเข้มข้นเกิดขึ้นที่นั่นด้วย

หลัง “รอมแพง” ผู้เขียน “บุพเพสันนิวาส” นวนิยายที่กลายมาเป็นละครสุดโด่งดัง สร้างกระแสออเจ้าไปทั่วบ้านทั่วเมือง คอนเฟิร์มแล้วว่าจะแต่งนิยายบุพเพสันนิวาส ภาค 2 ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ออกมาให้แฟนๆ ได้อ่านกัน ทำเอาหลายคนลุ้นไปพร้อมๆ กันว่า ภาคต่อจากนี้ เรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างไร

ล่าสุด “มติชน อคาเดมี” สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการประวัติศาสตร์ ถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อาจเกี่ยวข้องกับภาคต่อของนิยายดังกล่าว โดย รศ.ดร.ปรีดี กล่าวว่า ภาคต่อของนิยายเรื่องนี้คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับลูก 4 คนของขุนศรีวิสารวาจาและแม่หญิงการะเกด และลูกสาว 2 คนของขุนเรืองอภัยภักดีและแม่หญิงจันทร์วาด

“หากพูดถึงเรื่องของประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องราวในนิยายจะตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งจะอยู่ในยุคของพระเพทราชาและพระเจ้าเสือนิดหน่อย แต่จะหนักไปที่ยุคของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมาก เพราะเป็นยุคที่ลูกๆ ของตัวเอกในบุพเพสันนิวาสโตพอดี ซึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคนี้มีหลายเรื่อง ได้แก่ เหตุการณ์ชีวิตของทองกีร์มา, เรื่องของพระอุบาลี ที่มีการส่งสมณทูตไปลังกา”

นอกจากนี้ ยังน่าจะมีสถานที่สำคัญ เช่น คลองโคกขาม ซึ่งเป็นคลองที่ขุดเสร็จในยุคของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นต้น ส่วนในแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่องราวค่อนข้างเงียบ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือเรื่องเจ้าฟ้ากุ้ง

ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลายจะเป็นเรื่องปัญหาการเมืองภายใน ไม่ใช่เรื่องการติดต่อกับต่างประเทศแบบในยุคสมเด็จพระนารายณ์ด้วย

ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว คงต้องรอลุ้นว่า “รอมแพง” จะเขียนเรื่องราวออกมาเป็นอย่างไร ส่วนใครที่สนใจประวัติศาสตร์ในยุคนี้ “มติชน อคาเดมี” อาจจัดทริปไปย้อนอดีตกับเรื่องราวในยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา รอติดตามข่าวสารกันได้!

ห็นออกมาในละคร “บุพเพสันนิวาส” อยู่หลายฉากหลายครั้ง สำหรับ “พระปีย์” ที่แสดงโดย “เก่ง ธชย” จนบางคนสงสัยว่า พระปีย์เป็นใคร? เป็นโอรสของสมเด็จพระนารายณ์จริงหรือไม่? ทำไมพระนารายณ์ทรงโปรด?

เรื่องนี้ “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน อคาเดมี” ว่า ในพงศาวดารบอกว่าสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ที่น่าจะประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่ไม่มีการปรากฏว่าพระอัครมเหสีชื่ออะไร

“อย่างไรก็ดี มีอีก 2 คนที่เข้าข่ายความเป็นพระราชโอรสด้วย คือ 1.ออกหลวงสรศักดิ์ เพราะในพงศาวดารจะพูดถึงตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปปราบหัวเมืองเหนือที่เชียงใหม่ และน่าจะทรงได้พระธิดาของกษัตริย์เชียงใหม่มาเป็นพระชายา ซึ่งต่อมาจะมีพระโอรส และพระโอรสองค์นี้จะมาประสูติแถบ จ.พิจิตร ที่โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งต่อมาก็รู้กันว่าเป็นออกหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ แล้วก็ทรงให้พระเพทราชาดูแลพระเจ้าเสือมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หรือเด็กมาก เพราะฉะนั้นพระเจ้าเสือก็น่าจะเป็นโอรสแท้ๆ แต่เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจะต่างไปจากกรณีของพระปีย์”

โดยพระปีย์น่าจะเป็นคนคุ้นเคยที่ท่านทรงรู้จักหรือคุ้นเคยมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะว่าพงศาวดารให้พระปีย์เป็นชาวบ้านแก่ง ที่พิษณุโลก แต่จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏ ทราบแต่ชื่อพ่อว่าชื่อขุนไกร แต่ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบิดาของพระปีย์เลย และไม่รู้ด้วยว่าพระปีย์เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักด้วยเหตุผลกลใด ทราบแต่ลักษณะบุคลิกว่าเป็นคนเตี้ย คนค่อมที่ทรงโปรดปรานใช้งาน และอยู่ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด

“พระปีย์ถือว่าเป็นลูกบุญธรรม ตามที่เอกสารไทยและเอกสารตะวันตกบันทึกเอาไว้ ซึ่งเอกสารทั้งคู่บันทึกไว้ว่าเป็นลูกบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในตอนปลายรัชกาลจะมีปัญหาเรื่องการเมือง เพราะว่าพระปีย์เองก็จะกลายเป็นหุ่นเชิดที่ฟอลคอนคิดว่า ถ้าสนับสนุนฝ่ายพระปีย์แล้วก็จะได้ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์ได้ เพราะหากสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระปีย์อาจจะอยู่ในข่ายของผู้ที่จะมาครองราชสมบัติต่อไป ฟอลคอนก็อาจจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังพระปีย์ แล้วหาทางกำจัดพระปีย์ต่อไปก็ได้”

ทั้งนี้ จริงๆ แล้วพงศาวดารไม่ได้บอกว่าเหตุใดสมเด็จพระนารายณ์ถึงโปรดปรานพระปีย์ แต่พระปีย์เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่านมากที่สุด เช่น อยู่ในห้องข้างพระที่ เวลาที่บรรทม ก็น่าจะอยู่ใกล้ที่สุด เป็นผู้ที่คอยรับคำสั่งโดยตรงจากสมเด็จพระนารายณ์ เช่น จะบอกให้ใครเข้าเฝ้าก็ต้องบอกผ่านพระปีย์ให้ไปบอกต่ออีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระปีย์จึงน่าจะเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์ที่สุดแล้ว ด้วยเหตุนั้นจึงอาจจะยังทรงไว้วางพระทัยพระปีย์

“ผนวกกับการที่พระปีย์มีลักษณะพิเศษ คือด้วยความที่เป็นค่อม เตี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของคนที่ต้องไปรับราชการฝ่ายในอยู่แล้ว จากตามกฎหมายตราสามดวง จะมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มคนพิเศษ เช่น เตี้ย ค่อม กะเทย คนเผือก คนพวกนี้จะกลายไปป็นคนที่เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะกลายเป็นที่ไว้วางพระทัยมาก เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นคนโปรด อาจจะเป็นคำของคนสมัยหลัง เพราะเห็นว่าถ้าจะเข้านอกออกใน หรือจะพูดอะไรกับสมเด็จพระนารายณ์ ก็จะต้องพูดผ่านพระปีย์” รศ.ดร.ปรีดี กล่าว

ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน พนิดา สงวนเสรีวานิช

เสียงเพลงบุพเพสันนิวาส ที่ขับร้องโดย ไอซ์-ศรัณยู ดังกระหึ่มไปทั่วคุ้งน้ำวัดไชยวัฒนาราม ปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวเมืองกรุงเก่าให้ดูขลังยิ่งขึ้น

ราวกับต้องมนต์กฤษณะกาลี ภาพของออเจ้าทั้งหลายชาย-หญิง ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ตรงหน้า แต่งกายด้วยชุดไทยกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่โบราณสถาน เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงกระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ที่สร้างปรากฏการณ์อย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือ เป็นอานิสงส์ให้กับเศรษฐกิจโดยรอบสะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงการค้าขายอาหาร-เครื่องดื่ม ยังรวมกิจการให้เช่าชุดไทย พร้อมแต่งหน้าทำผม

ชุดออเจ้า ผู้ใหญ่ 250 บาท เด็ก 200 บาท สนนราคานี้รวมทั้งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือจะเป็นพัดก็มีให้บริการพร้อมสรรพ

ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่วัดไชยวัฒนารามในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันคน ยิ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ พุ่งทะยานขึ้นเป็นหลักหมื่นคน ทำให้ต้องมีการขยายเวลาเข้าชม (ตั้งแต่ 8 โมงเช้า) จากที่เคยปิดบริการ 1 ทุ่ม เป็น 3 ทุ่ม

ไม่ต่างจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่นี่เป็นฉากภายในห้องเรียนคณะโบราณคดีของเกศสุรางค์และเพื่อนสนิท-เรืองฤทธิ์


ศาลิสา จินดาวงษ์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา

ศาลิสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา บอกว่ากระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากสถิติ 6 เดือนก่อนออนแอร์ มีนักท่องเที่ยว 3 หมื่นกว่าคน เฉพาะเดือนนี้ (มีนาคม 2561) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 3,000 กว่าคน


พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา มีนักท่องเที่ยวคึกคัก

นอกจากฉากห้องเรียนนางเอกของเรื่อง ผอ.ศาลิสาบอกว่า “เครื่องกรองน้ำ” ที่เรือนไทย เป็นอีกจุดเรียกแขก โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งชุดไทยกันสวยงามเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนใหญ่จะมาถามว่าห้องเรียนอยู่ที่ไหน เครื่องกรองน้ำอยู่ที่ไหน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ได้มาดูแค่ 2 สิ่งนี้เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้นอกห้องเรียนอีกมากมาย และทำให้ความคิดเดิมที่บางคนอาจคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่เก่าๆ โบราณๆ เป็นที่เก็บสมบัติเปลี่ยนไป

ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคแห่งแรกของกรมศิลปากร ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ ตอนกรุแตกปี 2500 และพบโบราณวัตถุล้ำค่า คือเครื่องทองในกรุวัดราชบูรณะ และพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า “ของที่เจอที่ไหนสมควรได้จัดแสดงที่นั่น” และเสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง

ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

เมื่อกระแสตามรอยออเจ้าหนุนนำให้นักท่องเที่ยวไม่เกี่ยงเพศและวัยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ปรากฏในฉากละครกันอย่างถล่มทลาย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกนำเสนอเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่ง ดังที่ ผอ.ศาลิสาเล่าว่า ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจึงทำป้ายเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพระนครศรีอยุธยาให้แวะเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่ไม่ได้มีแค่ “เครื่องกรองน้ำโบราณ”

สะพานป่าดินสอ หรือ “สะพานวานร” อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีวัดสำคัญคือ วัดบรมพุทธาราม วัดของพระเพทราชา

“มติชนอคาเดมี” ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ร่วมบรรยายให้ความรู้ตลอดทริปเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา จึงจัดทริป “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา” โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในช่วงพระนารายณ์กับฝรั่งเศส พาย้อนอดีตไปรู้จักกับเบื้องหลังสถานที่ในฉากละครบุพเพสันนิวาส


ความงามของปูนปั้นที่ยังเหลือให้เห็นที่วิหารแกลบ ในวัดพุทไธศวรรย์

นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว ยังพาไปสะพาน “ป่าดินสอ” บริเวณย่านการค้าเครื่องเขียน ที่แม่หญิงการะเกดมาช้อปปิ้งสมุดไทยและดินสอศิลาขาว “ป้อมเพชร” จุดที่นางเอกของเรื่องนั่งเรือและโบกมือทักทายกับบรรดาทหารบนป้อม “วัดธรรมาราม” สถานที่เป็นฉากก่อเจดีย์ทราย ก่อนจะลงเรือที่ท่าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ชมทัศนียภาพริมฝั่งน้ำ ไปขึ้นที่ท่าน้ำ “วัดพุทไธศวรรย์” และปิดท้ายที่ “วัดไชยวัฒนาราม”

เพื่อปูพื้นการเดินทางตามรอยออเจ้าทริปนี้เป็นไปอย่างเข้าใจมากขึ้น รศ.ดร.ปรีดีเล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ที่เห็นจากในละครที่ขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปเป็นตรีทูตร่วมกับคณะทูตเจ้าพระยาโกษา(ปาน) ไปฝรั่งเศสนั้นเป็นการส่งราชทูตไปครั้งสุดท้ายแล้ว

ครั้งแรกส่งทูตไปแล้วเรือแตก ครั้งที่ 2 ส่งไปเพื่อตามข่าวครั้งแรกและทราบข่าวเรือแตก มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทราบความเรือแตกจึงส่ง “เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์” อัญเชิญพระราชสาสน์เข้ามาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ติดตามข่าวสารของไทย และเมื่อเดอ โชมองต์ จะกลับ เราจึงส่งคณะทูตไปเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือครั้งที่ขุนศรีวิสารวาจา และคณะทูตของเจ้าพระยาโกษา(ปาน) เดินทางไป ซึ่งราชทูตชุดนี้กลับมาจากฝรั่งเศสพร้อมกับ “เดอ ลา ลูแบร์” และ “โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล”

“เป้าประสงค์การมาของเซเบอแร คือแก้ไขสนธิสัญญาที่เดอโชมองต์ทำไว้ เซเบอแรจึงเป็นคนแก้ไขสัญญาทางการค้าทั้งหมด ขณะที่ลาลูแบร์เป็นผู้แทนพิเศษที่เข้ามาเจรจาความอื่นๆ นอกเหนือจากการค้า คือการเมืองและการทหาร มาขอป้อมที่บางกอก และที่สงขลา

“ซึ่งถ้าฝรั่งเศสได้สงขลา มะริด ทวาย ตะนาวศรี และบางกอกไปแล้ว แปลว่าราชอาณาจักรสยามหายหมดเลย เหลือแค่เกาะอยุธยา และนี่ทำให้พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์ทรงวิตกกังวลพอสมควร รวมถึงขุนนางไทยที่เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามา”


วัดพุทไธศวรรย์ติดป้ายประชาสัมพันธ์เพจของวัด Putthaisawan

‘ม่านอาคม’เป็นเหตุ วัดพุทไธศวรรย์แทบแตก

เป็นอีกสถานที่ที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสละครบุพเพสันนิวาสไปเต็มๆ ความที่ถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าการะเกดที่แท้เป็นใคร และยังได้มอบมนต์ใช้กำบังกายให้กับเธอ

“วัดพุทไธศวรรย์” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในบริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระองค์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระปรางค์เป็นหลัก ลักษณะเป็นพระปรางค์องค์เดี่ยว ถือเป็นหนึ่งในสองสิ่งสำคัญของวัดนี้ นอกจากพระระเบียง

เพียงแค่ก้าวเข้าไปในส่วนของระเบียงคด เสียงของเจ้าหน้าที่สาวในชุดสไบส่งเสียงเชื้อเชิญ ถ้าจะไปดูประตูม่านอาคมเชิญทางฝั่งขวานะคะ

แน่นอน นาทีนี้นักท่องเที่ยวแน่น แทบจะเข้าคิวรอถ่ายรูปกับประตูที่กลายเป็นสถานที่ต้องเช็กอินไปแล้ว

เหตุนี้วัดพุทไธศวรรย์จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมถ่ายรูปตั้งแต่เช้า แม้ไม่ถึงกับมีร้านให้บริการเช่าชุดไทยเช่นบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนาราม แต่บางมุมก็มีผ้าซิ่นให้หญิงสาวที่นุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นได้ยืมเปลี่ยนชั่วคราวเพื่อขึ้นไปกราบสักการะบนพระอุโบสถ


พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์

สำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมวัดพุทไธศวรรย์ ไม่อยากให้พลาดชม “พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” อาคารปูน 2 ชั้น เป็นตำหนักเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์

“พระตำหนัก 2 ชั้นหาได้ยากในอยุธยา ที่สำคัญซุ้มประตูด้านล่างเป็นซุ้มประตูแบบพระราชนิยม เป็น Pointed arch คือเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมแบบวังนารายณ์

“ที่สำคัญไปกว่านั้น พระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ก็เดินทางไปลังกา ภายในพระตำหนักชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนเต็มทนแล้ว บอกเล่าถึงประวัติของท่าน”

รศ.ดร.ปรีดีเกริ่นก่อนนำขึ้นพระตำหนักไปชมภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจในแต่ละจุด รวมทั้งชี้ให้ดูผนังด้านหนึ่งเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพไตรภูมิ เชื่อว่าแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

“ไฮไลต์ของภาพที่อยากให้ชมกันคือ ภาพนางรำที่ถือเป็นแม่แบบการรำของอยุธยา ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นแม่บทของท่ารำในปัจจุบัน

“บนตำหนักนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่ขึ้นมาชม เราก็จะมุ่งไปที่ม่านอาคมกับมนต์กฤษณะกาลี” วิทยากรของทริปบอกพร้อมกับรอยยิ้ม และฝากย้ำเพื่อเป็นการตอบคำถามของผู้ที่สงสัยหลายๆ คนว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่เห็นในละครมีสถานที่ซ้อมการต่อสู้ฟันดาบนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักดาบพุทไธสวรรย์แต่อย่างใดเพียงแต่ชื่อมาพ้องจึงกลายเป็นแบรนด์ของสำนักดาบไป
ปริศนาพระปรางค์วัดไชย

หลังจากเดินเที่ยววัดพุทไธศวรรย์ พิสูจน์ม่านอาคมแล้วก็มาถึงเป้าหมายสุดท้าย สถานที่เหมาะแก่การเก็บภาพยามอาทิตย์อัสดงเป็นที่สุด

“วัดไชยวัฒนาราม” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยนำคติเขาพระสุเมรุกับแผนผังของปราสาทนครวัดมาเป็นต้นแบบ และดัดแปลงให้มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

“ที่นี่ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอยุธยา ซึ่งจะสัมพันธ์กับตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 ครั้งนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังหลัง’ ไปแล้ว คือฝั่งที่อยู่ในพระนครแต่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นจุดที่พม่าต้องตีวังหลังให้ได้ และตีฝั่งตะวันออกคือวังหน้า ซึ่งถ้าจะตีวังหลังให้ได้ก็ต้องตั้งทัพที่ริมขอบพระนคร ฉะนั้นวัดริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดท่าการ้องลงมาจนถึงที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องรบกับพม่ามาตลอด วัดไชยวัฒนารามก็เป็นค่ายที่พม่าใช้ตั้งอาวุธยิงเข้าไปในกำแพงเมืองพระนคร” รศ.ดร.ปรีดีบอก

ต่อข้อสงสัยที่ว่า พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่ปรากฏในละครเรื่องดังนับตั้งแต่แวบแรกที่เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกดมองเห็นเป็นสีทองอร่าม เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่


รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

รศ.ดร.ปรีดีบอกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์เรื่องมีการค้นคว้าพอสมควร เพราะถ้าดูบนยอดปรางค์จะเห็นรูพรุนเต็มไปหมด

“รูพรุนเหล่านั้นเกิดจากการตรึงตะปูสังฆวานร โดยเอาแผ่นโลหะที่ปิดทองคำเปลวทาบบนผิวของพระปรางค์ก่อนจะตรึงด้วยตะปู ซึ่งแผ่นโลหะที่ว่านี้เรียกว่า ‘แผ่นทองจังโก’ ทำให้พระปรางค์วัดไชย ประหนึ่งปิดด้วยทองคำเปลว เราจึงเห็นร่องรอยที่เป็นรูพรุนทั่วพระปรางค์ ซึ่งพบเฉพาะปรางค์องค์ใหญ่ และปรางค์องค์เล็กที่อยู่สี่ทิศ โดยรอบเป็นปูนสีขาว”

วัดไชยวัฒนารามเป็นจุดสุดท้ายของทริปตามรอยบุพเพสันนิวาสที่อโยธยา

สำหรับออเจ้าที่พลาด ยังมีรอบ 2 จัดขึ้นเฉพาะกิจตามเสียงเรียกร้อง ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 ยังสามารถสำรองที่นั่งเข้ามาได้ที่ โทร 08-2993-9097, 08-2993-9105 บอกก่อนว่า ต้องด่วนจี๋ เพราะที่นั่งมีจำกัดเต็มที

พาไปทัวร์ตามรอย ละครบุพเพสันนิวาสกับมติชนอคาเดมี

ย้อนรอยประวัติศาสตร์อยุธยาแบบมันส์หยดกับ “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” งานนี้ไปทั้งวัดไชยวัฒนาราม, ดูโบราณวัตถุล้ำค่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, ยลวัดพุทไธสวรรย์ ล่องเรือสัมผัสบรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยา และอีกเพียบ!

กำหนดเดินทางวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมนี้ (รอบแรกจองเต็มแล้ว) ***เปิดรอบ 2 อีกครั้ง วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม*** ในราคา 2,200 บาท ใครสนใจรีบจองเลย รับจำกัดจำนวน 40 คนเท่านั้น!!! งานนี้ #ไม่มาถือว่าพลาด
หมายเหตุ : แต่งตัวตามสะดวก , ชุดไทย , ชุดสบายๆ

ตารางทัวร์ ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
วิทยากร รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

พบกัน วันอาทิตย์ 25 มีนาคม 2561

07.00 น. ลงทะเบียน รับของที่ระลึก และรับอาหารเช้าที่มติชนอคาเดมี

08.00 น. ออกเดินทางย้อนเวลาสู่กรุงเก่า ตามรอยฉากละครพร้อมฟังเรื่องเล่าจากละคร “บุพเพสันนิวาส” จ.พระนครศรีอยุธยา

09.30 น. ถึงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ภายในรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุอันล้ำค่า เช่น เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่จากวัดธรรมิกราช รวมถึงเครื่องทองคำโบราณที่ค้นพบภายในกรุวัดราชบูรณะและกรุวัดมหาธาตุ เป็นต้น ที่สำคัญอาคารจัดแสดงของที่นี่ถูกใช้เป็นฉากห้องเรียนโบราณคดีของเกศสุรางค์ นางเอกของเรื่อง และเรืองฤทธิ์ เพื่อนสนิทของนางเอก

10.30 น. เดินทางต่อไปยัง วัดบรมพุทธาราม

10.40 น. ถึงวัดบรมพุทธาราม วัดโบราณที่มีกล่าวในพระราชพงศาวดารว่าสร้างในบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา ชมเจดีย์ทรงปรางค์ที่มีเอกลักษณ์ และพระอุโบสถที่ยังมีร่องรอยจิตรกรรมหลงเหลือให้เห็นอย่างเลือนลาง จากนั้นชม สะพานบ้านดินสอ สะพานอิฐที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด บริเวณนี้เป็นย่านการค้าเครื่องเขียนประเภท “ดินสอ” ที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา โดยบริเวณนี้ได้ถูกกล่าวถึงในตอนที่แม่หญิงการะเกดได้มาซื้อสมุดไทยและดินสอศิลาขาวกับพ่อเดช พระเอกของเรื่อง

11.30 น. เดินทางต่อไปยัง ป้อมเพชร

11.40 น. ถึงป้อมเพชร ตั้งอยู่บริเวณเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเรื่องนั้นถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด ได้นั่งอยู่บนเรือกับพ่อเดช พระเอกของเรื่อง และได้โบกมือทักทายให้กับบรรดาทหารบนป้อม

12.20 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านบ้านวัชราชัย (อาหารสำรับไทยแบบโบราณ)

13.20 น. เดินทางต่อไปยัง วัดธรรมาราม

13.30 น. ถึงวัดธรรมาราม วัดสำคัญนอกเกาะเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าในครั้งก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถควบคุมการสัญจรทางน้ำได้ โดยที่นี่ได้ถูกใช้เป็นฉากของวัดที่ตัวละครต่างๆเข้าไปทำบุญ จากนั้นเข้าชม พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ตั้งในบริเวณวัดด้านในจัดแสดงประวัติและการเดินทางไปยังลังกาเพื่อสืบทอดพุทธศาสนาของพระอุบาลีมหาเถระ พระธรรมทูตในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนกำเนิดเป็นพุทธศาสนาแบบสยามวงศ์ในลังกาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

14.30 น. ลงเรือชมโบราณสถานต่างๆระหว่างทาง พร้อมทั้งสัมผัสบรรยากาศของแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นขึ้นฝั่งที่ท่าวัดพุทไธศวรรย์

15.30 น. ถึงวัดพุทไธสศวรรย์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในบริเวณเดิมที่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของพระองค์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา โดยที่นนี่ถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด ได้เข้าไปสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าแท้จริงแล้วเธอคือใคร และยงได้มอบมนต์ที่ใช้กำบังกายหายตัวให้กับเธออีกด้วย

16.30 น. เดินทางไปยัง วัดไชยวัฒนาราม

16.50 น. ถึงวัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโดยนำคติเขาพระสุเมรุกับแผนผังของปราสาทนครวัดมาเป็นต้นแบบและดัดแปลงให้มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งที่วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นฉากในหลายๆตอนของละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เกศสุรางค์และเรืองฤทธิ์ไปเก็บข้อมูล เป็นต้น

18.00 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

19.30 น. ถึงมติชนอคาเดมี โดยสวัสดิภาพ

***กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า***

สนใจติดต่อ :

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
inbox facebook : Matichon Academy
line @m.academy

#MatichonAcademy #TourAcademy