“ไม่มีขุนนาง ก็ไม่มีราชวงศ์” เปิดความสำคัญของขุนนางไทยสมัยรัตนโกสินทร์

Culture ศิลปวัฒนธรรม
แต่โบราณนานมาไม่ว่ายุคไหนๆ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องของการปกครองเลยก็คือ “ผู้นำ” หรือ “กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ” จะต้องมี “ผู้ช่วย” ที่คอยช่วยเหลือในงานกิจการต่างๆ ช่วยคิด ช่วยค้านนโยบายในการบริหารประเทศ ผู้ช่วยที่ว่านี้ หากเป็นในยุคปัจจุบันก็อาจเทียบได้กับรัฐมนตรี แต่ถ้าหากเป็นในอดีต ที่เราๆ เคยได้ยินจากหนังจีนก็คงเป็นคำว่า “เสนาบดี” หรือ “ขุนนาง” นั่นเอง

“รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวกับ “มติชนอคาเดมี” ว่า ขุนนางเป็นหนึ่งในรัตนะทั้ง 7 หรือแก้ว 7 ประการ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของพระมหาจักรพรรดิ ที่จะต้องมีสิ่งสำคัญ 7 อย่าง หากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีรัตนะครบทั้ง 7 ประการ ถือว่าเป็น King of King เช่น จะต้องมี ช้างแก้ว ม้าแก้ว รวมทั้งขุนพลแก้วและขุนนางแก้ว ซึ่งก็คือขุนพลและขุนคลัง ขุนนางซ้ายขวาของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีขุนนางคู่พระทัย ต้องมีขุนนางที่ดูแลการเงินคู่พระทัยด้วย เพื่อให้บำรุงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงขึ้น

ดังนั้น การมีขุนนางฝ่ายทหารและขุนนางฝ่ายพลเรือนที่ดีจึงมีความจำเป็น เพียงแต่เรื่องนี้อาจจะไม่ชัดเจนในสมัยอยุธยา เพราะว่ามีขุนนางเยอะ อย่างไรก็ดี ขุนนาง 3 ตำแหน่งที่สำคัญและมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัคนโกสิทร์ตอนต้นก็คือ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และโกษาธิบดี ซึ่งคือสิ่งที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ที่ประทับตราทั้ง 3 นั่นก็แสดงว่าทั้ง 3 ตราเป็นขุนนางที่สำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ผดุงพระเกียรติยศ เป็นผู้ที่สร้างอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นที่แน่นอนว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยลำพัง ดังนั้นการอาศัยพวกขุนนางจึงจำเป็น

เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ หลายคนอาจคุ้นกับขุนนางที่มาจาก “สกุลบุนนาค” แต่ รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า ไม่ได้มีแค่สกุลบุนนาคที่เป็นขุนนางแรกเริ่ม อาจจะมีขุนนางที่เป็นสายอื่นๆ ที่เป็นขุนศึกคู่พระทัยมาด้วยตั้งแต่สมัยอยุธยา เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏชัดเจน

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่”
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่

“ขุนนางนั้นมีอีกหลายสกุลที่ร่วมสร้างกรุงเทพฯขึ้นมา ทั้งสายจีนที่เป็นเจ้าพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ก็ถือว่าเป็นขุนนาง แต่ว่าเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น ไม่ใช่ฝ่ายบู๊ ฝ่ายนี้จะเป็นผู้หาพระราชทรัพย์เข้ามาท้องพระคลังที่นำไปใช้ก่อสร้างต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะมีขุนนางหลายฝ่าย เพราะเป็นผู้ที่ก่อร่างสร้างราชวงศ์ขึ้นมา คือถ้าไม่มีขุนนางก็ไม่มีราชวงศ์ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์

แต่การจะเข้ามาเป็นขุนนางได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการเรียนสรรพวิทยา มีหลายตำราที่สอนขุนนางด้วย เช่น ตำราพิชัยเสนา สมัยอยุธยา ซึ่งจะสอนว่าขุนนางจะต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ที่บอกว่าการเป็นขุนนางต้องเป็นคนอย่างไร แสดงว่าการหาผู้ที่มาเป็นขุนนางจำเป็นต้องหาคนที่มีปัญญาชนมีความสามารถพอที่จะเข้ามาเป็นขุนนาง ในขณะเดียวกันทางฝ่ายสถาบันก็ต้องพยายามดูแลควบคุมไว้ให้ได้ เพื่อที่จะใช้เป็นมือเป็นเท้า

รศ.ดร.ปรีดีบอกอีกว่า ขุนนางที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัตนโกสินธ์นั้นมีหลายสกุล เช่น สกุลสิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นอกจากนี้ก็อาจมีคนที่สืบทอดเชื้อสายมาแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏบทบาทมากเท่ากับขุนนางสายอื่น ขณะเดียวกันสถานภาพของขุนนางแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1-3 ขุนนางนั้นแทบจะเป็นเพื่อนเลยก็ว่าได้ เพราะว่ารบมาด้วยกัน เกิดไล่เลี่ยกัน วิ่งเล่นมาด้วยกัน ดังนั้นความสนิทสนมจะเป็นในสถานภาพหนึ่ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาก็จะเป็นไปในอีกสถานภาพหนึ่งที่ไม่ได้วิ่งเล่นมาด้วยกัน แต่จะเป็นแบบเคารพยกย่อง

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเราต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของขุนนางสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ขุนนางกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ชัดเจนก็คือ “สกุลบุนนาค” นั่นเอง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของสมเด็จองค์ใหญ่

รศ.ดร.ปรีดี ระบุว่า สกุลบุนนาคนั้นเป็นกลุ่มขุนนางที่มีรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด สามารถสืบไปถึงอยุธยาประมาณสมัยพระเจ้าทรงธรรม คือเริ่มตั้งแต่มีแขกมุสลิมคือท่านเฉกอะหมัดและน้องชาย เข้ามาค้าขายในอยุธยา สู่การเข้าไปรับราชการในสำนัก เพราะฉะนั้นสกุลบุนนาคจึงเป็นสกุลที่สามารถสืบได้ไกลที่สุดหากเทียบกับสกุลอื่นๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือจำนวนของคนในสกุลบุนนาคที่สืบเชื้อสายกันมานั้นมีบทบาทเข้ารับราชการเยอะกว่าสกุลอื่นๆ และมีผลงานที่โดดเด่นและหลากหลาย เช่น บางท่านอาจชำนาญด้านรบทัพจับศึก บางท่านอาจชำนาญทางด้านการต่างประเทศ อย่างเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ที่ท่านทำด้านการทูต หรือบางท่านอาจชำนาญเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) ที่เรียนภาษาอังกฤษ หากแต่สกุลอื่นๆ อาจพบว่าเป็นบทบาทเพียงอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่มีอยู่ไม่เยอะเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ สกุลบุนนาคยังมีร่องรอยปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ได้รับสิทธิมากกว่าคนอื่น เช่น ได้พื้นที่ในการสร้างบ้านเรือน มีวัดเป็นของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วทุกสกุลก็มีวัดเป็นของตัวเอง เพียงแต่ในฝั่งธนบุรีจะเป็นพื้นที่ของสกุลบุนนาคเป็นส่วนมาก โดยจะไม่ค่อยพบวัดของสกุลบุนนาคในฝั่งพระนคร แต่จะเจอสกุลบุรณศิริ ที่เป็นสกุลเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา แถวๆ สนามหลวง ที่มีวัดบุรณศิริ แต่จะไม่เยอะเท่าสกุลบุนนาค

“อีกส่วนหนึ่งคือ เรามักจะเห็นสกุลบุนนาคเพียงแค่บางคนที่เป็นคนใหญ่ๆ เช่น ท่านช่วง บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งจริงๆ แล้วท่านช่วงนั้นอยู่คาบเกี่ยวระหว่างรัชกาลที่ 4 กับรัชกาลที่ 5 ซึ่งในตอนที่ท่านทำงานอยู่กับรัชกาลที่ 4 นั้นท่านทำอะไรบ้าง หลายคนอาจจะมองไม่เห็นภาพ คนส่วนใหญ่จะเห็นภาพท่านช่วงตอนที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นช่วงปลายชีวิตของท่านช่วงแล้ว หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านช่วงก็ใช้ชีวิตของท่านตามปกติ โดยไม่เข้ามายุ่งอะไร แต่ก็มีอยู่บ้างที่เชื่อว่าสกุลบุนนาคอยู่เบื้องหลังการผลักดันคนที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สวรรคต ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมในตอนนั้นท่านถึงมีอำนาจ แสดงว่าในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านทำอะไรมา อำนาจของท่านจึงมี ทำไมคนถึงเชื่อท่าน แม้แต่คนในราชวงศ์ หลายพระองค์ก็ยังเชื่อท่าน เพราะฉะนั้นจึงต้องมองในแง่ที่เป็นธรรมกับท่านด้วย ทั้งนี้ ความเจริญที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ก็เกิดในช่วงของท่านด้วย พอมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 เป็นต้นมา ความเจริญส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่สกุลบุนนาคช่วยสนับสนุน เช่น การขุดคลองมหาสวัสดิ์ที่เชื่อมต่อไปท่าจีน เพื่อความเจริญทางด้านการเดินทางและโรงหีบอ้อย อุตสาหกรรมน้ำตาล ท่านช่วงก็เป็นคนดูแลทั้งหมด ดังนั้นท่านก็มีส่วนในการสร้างความเจริญขึ้นมาเยอะมาก”

รศ.ปรีดี ทิ้งท้ายว่า เราอาจรู้จักหรือมีข้อมูลของขุนนางเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะว่าประวัติศาสตร์ของเรา เราใช้แกนหลักก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเราก็อาจจะดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ หากว่าเหตุการณ์ในช่วงแผ่นดินนั้นๆ มีความขัดแย้งกับขุนนาง บางทีเราก็จะกล่าวโทษกับขุนนาง ว่าขุนนางนั้นเป็นคนที่ไม่ดี หรือว่าก่อให้เกิดความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องกลับไปดูข้อมูลจากทางขุนนางเองด้วยว่าตลอดสายสกุลที่มีมา ท่านได้ทำอะไรบ้างหรือเปล่าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเพื่อความเจริญของประเทศ ซึ่งแปลว่าถ้าเราจะเรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย เราอาจจะต้องดูขุนนางในหลายๆ มิติ ไม่ใช่แค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น


เรื่องราวของขุนนางสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในมิติอื่นๆ เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ในโอกาสครบรอบ 237 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ มติชนอคาเดมีจัดทริปตามรอบขุนนางที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ในทัวร์ “ขุนนาง (ผู้ร่วม) สร้างกรุงเทพฯ” กรุงเทพฯ พาฟังเรื่องราว ย้อนอดีตเมืองฟ้าอมรไปกับ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี กำหนดเดินทางวันที่ 28 เมษายน 2562 คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_24374

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour