นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีการใช้แคปซีล (พลาสติกหุ้มฝาขวด) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตัน แคปซีลผลิตจากพลาสติกพีวีซี มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ หากไม่มีการรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้อง แคปซีลจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบก บางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล จากข้อมูลการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตายจะพบว่ามีสาเหตุจากการกินแคปซีลซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่นๆ

นางสุณีกล่าวต่อว่า ขณะที่หลายๆ ประเทศไม่มีการใช้แคปซีล เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สำหรับประเทศไทยน้ำดื่มบรรจุขวดมีทั้งที่ใช้และไม่ใช้แคปซีล ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก คพ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยมีบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์ 2.บริษัท เสริมสุข จำกัด มหาชน (จำกัด) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 3.บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4.บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และ 5.บริษัท คาราบาวกรุ๊ฟ จำกัด (มหาชน ) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว เป็นผู้นำในการเลิกใช้แคปซีลในการผลิตน้ำดื่ม โดยดีเดย์ในวันที่ 1 เมษายนนี้

อธิบดีคพ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คพ.ได้ขยายผลส่งเสริมการยกเลิกใช้แคปซีล ขอความร่วมมือไปยังทุกกระทรวง เช่น การประชุมที่มีการบริการน้ำดื่มที่ไม่ใช้แคปซีล เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็น “น้ำสะอาดไม่ต้องมีแคปซีล”ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรวมทั้งประชาชนทั่วไปทางช่องทางสื่อต่างๆ ขณะที่การจรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดหลากหลายยี่ห้อที่ไม่ใช้แคปซีลที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า พบมีน้ำดื่มหลายยี่ห้อที่ไม่ใช้แคปซีลแล้ว อาทิ น้ำทิพย์ ออร่า สปริงเคิล น้ำแร่มิเนเร่ น้ำแร่เอเวียง น้ำแร่มองต์เฟลอ อควาฟิน่า เซเว่น โลตัส

ทั้งนี้เป้าหมายภายในปี 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่มทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี หรือ 520 ตันต่อปี

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำรถไฟดีเซลรางมาวิ่งบริการจากสถานีลาดกระบัง-หัวลำโพง-ลาดกระบัง เพื่อช่วยระบายผู้โดยสารแอร์แอร์พอร์ตลิงก์ที่คนใช้บริการหนาแน่นในชั่งโมงเร่งด่วน เก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ 20 บาท และรถพัดลม 10 บาท

ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนในชั่วโมงเร่งด่วน

ทั้งนี้ สำหรับผู้โดยสารที่มีตั๋วรายเดือน สามารถใช้ตั๋วดังกล่าวได้ แต่ต้องเสียค่าโดยสารส่วนต่างเพิ่มให้เท่ากับอัตราพิเศษของขบวนรถนี้

นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่าเนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น วันจันทร์ – วันศุกร์ ที่มีผู้โดยสารต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นไปตามนโยบาย One Transport One Family บริษัทจึงได้ทำการหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มช่องทางการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร

โดยนำรถไฟดีเซลรางจำนวน 6 ตู้ แบ่งเป็นตู้ปรับอากาศจำนวน 2 ตู้ และตู้ธรรมดาจำนวน 4 ตู้ ให้บริการในวันจันทร์ – วันศุกร์ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าจำนวน 1 เที่ยว ออกจากสถานีลาดกระบังไปสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 07.45 น. และให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนเย็นจำนวน 1 เที่ยว ออกจากที่หยุดรถพญาไทไปสถานีลาดกระบัง เวลา 18.45 น.

โดยใช้เวลาในการเดินทางช่วงระหว่างสถานีลาดกระบัง – ที่หยุดรถพญาไท ประมาณ 40 นาที ซึ่งรถไฟ 1 เที่ยวสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 600 คน โดยคิดค่าบริการตู้ปรับอากาศราคา 20 บาท ส่วนตู้ธรรมดาราคา 10 บาท

วันที่ 31 มีนาคม แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ตรวจสอบพบว่า ในวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนแล้ว
ทำให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่วนลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครที่ได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงกำลังอ่อนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แล้วมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นที่สะสมในพื้นที่ และจะเกิดยกตัวขึ้นเป็นฝน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดคล้ายกับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเกิดฝนตกหนักที่บริเวณรังสิต จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด

วาฟแจ้งด้วยว่า หลังวันที่ 2 เมษายน ความกดอากาศสูงจะอ่อนกำลังลง ปริมาณฝนก็จะลดลง และช่วงวันที่ 6 เมษายน พบว่ามีแนวโน้มบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมาย จะทำให้บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงดังกล่าวเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนที่มีความรุนแรง และอาจจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บในบางพื้นที่ ประมาณวันที่ 6-7 เมษายน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไล่มาตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

“จากนั้นประมาณวันที่ 8-9 เมษายน อุณหภูมิจะลดต่ำลง โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสอีกรอบ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯก็จะมีลุ้นว่าอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ขอเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปเตรียมการตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อนในรอบนี้” วาฟระบุ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ “สุสานทหารสัมพันธมิตร” ซึ่งปัจจุบันได้การยอมรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศแวะเวียนมาเยี่ยมชมแทบจะตลอดทั้งปี

พาไปดูร้านขายโจ๊กที่ทำเล กลายเป็นจุดเรียกขานชื่อร้าน ซึ่งทั้งสะดุดตาและมีลูกค้าหนาตาคือ “โจ๊กหลังป่าช้า ตั้ม สาขา 8 “

โดยทางร้านให้ข้อมูลก่อนหน้านี้เปิดร้านขายโจ๊กอยู่หลังสุสานทหารสัมพันธมิตร ซึ่งชาวบ้านที่นี่เรียกกันติดปากว่า “ป่าช้าฝรั่ง” ร้านเราเลยกลายเป็นโจ๊กหลังป่าช้า แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดระเบียบ ร้านจึงต้องถอยร่นลงมา ล่าสุดแทบจะเข้าไปขายใน “ป่าช้าจีน” แล้ว แต่ยังมีลูกค้ามาอุดหนุนตลอด

“เอกลักษณ์ของร้านโจ๊กหลังป่าช้า อาจเป็นรสชาติที่กลมกล่อมและหอมใบเตยของเนื้อโจ๊ก เครื่องมีครบ ทั้งหมู ไข่ เครื่องใน ส่วนราคาขายก็ไม่แพงมาก ชามละ 25-30 บาท ถ้ามีโอกาสอย่าลืมมาอุดหนุนอีกนะคะ” แฟนสาวเจ้าของกิจการโจ๊กหลังป่าช้า เจ้าดังเมืองกาญจน์ ฝากทิ้งท้าย

 


เรียบเรียงจาก sentangsedtee.com

ฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบ 12 ปีของ “EVEANDBOY” (อีฟแอนด์บอย) ร้านมัลติแบรนด์ศูนย์รวมเครื่องสำอาง น้ำหอม และไอเท็มความงามจากทั่วทุกมุมโลก บอสใหญ่ หิรัญ ตันมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟแอนด์บอย จำกัด จัดงานดินเนอร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ “The Beauty Destination” (เดอะ บิวตี้ เดสทิเนชั่น) พร้อมเปิดตัว 7 แบรนด์เอ็นดอร์สเซอร์ ตัวแทนแฟชั่นนิสต้าและผู้นำเทรนด์บิวตี้ไลฟ์สไตล์ ตอกย้ำความเป็นผู้นำร้านมัลติแบรนด์ที่เป็นพาทเนอร์อย่างเป็นทางการกับแบรนด์เครื่องสำอางและน้ำหอมระดับโลกแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่ได้อย่างครบครัน

หิรัญ ตันมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟแอนด์บอย จำกัด กล่าวว่า อีฟแอนด์บอยได้คัดสรรเครื่องสำอาง น้ำหอม ไอเท็มความงามชิ้นเด็ดที่มีคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก กว่า 2,000 แบรนด์มาให้บริการเพื่อเอาใจคนรักความสวยความงามอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในฐานะบิวตี้สโตร์ของคนไทยแบรนด์เดียวที่ได้เป็น “โกลบอลพาทเนอร์” (Global Partner) อย่างเป็นทางการกับแบรนด์เครื่องสำอาง และน้ำหอมระดับไฮเอนด์แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ M•A•C Cosmetics, Estee Lauder, Clinique, Bobbi Brown, Urban Decay, Kiehl’s, Shiseido เป็นต้น รวมไปถึงเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ Moonshot เครื่องสำอางแบรนด์ดังจากประเทศเกาหลีที่วางจำหน่ายภายในร้านเครื่องสำอางรูปแบบ “Special Multi Concept” อย่างร้านอีฟแอนด์บอยที่เดียวเท่านั้นและนอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับแบรนด์ดังต่างๆ ในการผลิตและวางจำหน่ายสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่มีเฉพาะในร้านอีฟแอนด์บอยอีกด้วย อาทิ M•A•C TenderTalk Trio Lip blam ลิปบาล์มบำรุงริมฝีปากที่โด่งดังจากแบรนด์แมคที่มีเทคโนโลยีให้สีของลิปเปลี่ยนตามอุณหภูมิ และ Clinique Cheek Pop สี Cola pop สีพิเศษที่ได้รับความนิยมสูงสุด ฯลฯ

เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จดังกล่าวของอีฟแอนด์บอย จึงได้จัดงานภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Beauty Destination” (เดอะ บิวตี้ เดสทิเนชั่น) ซึ่งเปรียบเสมือนจุดหมายที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลายและแตกต่างกันได้อย่างครบถ้วนในที่เดียว พร้อมทั้งเปิดตัว 7 แบรนด์เอ็นดอร์สเซอร์ แฟชั่นนิสต้าและผู้นำเทรนด์บิวตี้ไลฟ์สไตล์ ได้แก่ ม.ร.ว. แม้นนฤมาส ยุคล สวัสดิ์-ชูโต,ชวพร เลาหพงศ์ชนะ, วฤธ หงสนันทน์, พิมพิศา จิราธิวัฒน์, สรัย วัชรพล, พลอยวารินทร์ ทรงปกรณ์ และ เขริกา โชติวิจิตร เพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมแชร์ไลฟ์สไตล์สุดโดดเด่นของตัวเอง และเป็นแรงบันดาลใจในการดูแลตัวเองอีกด้วย”

บรรยากาศภายในงานตกแต่งอย่างหรูหราในโทนสีดำคลาสสิคพร้อมสีสันจากหลอดไฟแอลอีดีสีชมพูที่แสดงถึงความสนุกสนานอันเป็นเอกลักษณ์ของร้านอีฟแอนด์บอย โดยมีเหล่าเซเลบริตี้ร่วมงานคับคั่ง อาทิ สุมณี คุณะเกษม, ณัฐชนันท์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พัณณิตา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา,อรชุมา ดุรงค์เดช, จินดาภา เทวกุล ณ อยุธยา, ญาณินท์ วีระไวทยะ, ดรัลชรัส ศุขีวิริยะ, มัดหมี่ พิมดาว, พญ.อังศ์วรา ธีระตันติกานนท์, จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ฯลฯ มาร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ และชมแกลลอรี่ของ 7 แบรนด์เอ็นดอร์สเซอร์จากช่างภาพแฟชั่นชื่อดัง ธาดา วารีช ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ทุกคนรอเคยคือการเปิดตัวแบรนด์เอ็นดอร์สเซอร์ทั้ง 7 ที่โชว์เสต็ปเดินรันเวย์พร้อมร่วมแชร์บิวตี้ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

โดย ม.ร.ว. แม้นนฤมาส ยุคล สวัสดิ์-ชูโต สาวสุดแซ่บชอบความมีชีวิตชีวาไม่หยุดนิ่ง เป็นตัวแทนของ Energetic (เอ็นเนอร์เจติคส์) เผยความรู้สึกว่า “เป็นคนที่บ้ากิจกรรม แอคทิวิตี้เยอะ และชอบเดินทางไปเที่ยวบ่อยๆ เลยต้องดูแลตัวเป็นพิเศษ”

ด้าน พิมพิศา จิราธิวัฒน์ ตัวแทนสาว Working Woman (เวิร์คกิ้งวูแมน) บอกว่า “แพรเป็นคนช่างเลือกเวลาช็อปปิ้งค่ะ ต้องเน้นคุณภาพ และทดลองเปรียบเทียบ ชอบลองสิ่งใหม่ๆ หลากหลายคนรุ่นใหม่ต้องสมาร์ทช็อปปิ้งค่ะ”

ขณะที่ สรัย วัชรพล สาวสวย Makeup Junkie (เมคอัพจั้งค์กี้) กล่าวว่า“หลงรักสีสันของเมคอัพ ชอบแต่งหน้าจัดเต็มเลยต้องใส่ใจในการเลือกเมคอัพ และต้องทดลองก่อนถึงตัดสินใจช็อป”

ส่วน พลอยวารินทร์ ทรงปกรณ์ บิวตี้กูรูสุดหรู Elegant (เอเลเก้น) เผยเคล็ดลับว่า“เป็นคนที่ผิวบอบบางแพ้ง่าย เลยต้องค่อนข้างเลือกสกินแคร์ที่จะใช้ เป็นแบรนด์ชั้นนำน่าเชื่อถือ และต้องซื้อจากบิวตี้สโตร์ที่มั่นใจ”

ไอดอลสาวแสนอ่อนหวานน่ารัก เขริกา โชติวิจิตร เป็นตัวแทน Adorable (อะดอเรเบิ้ล) กล่าวว่า“นอกจากจะชอบลิปสติกเป็นที่สุดแล้ว เส้นผมก็เป็นอีกอย่างที่ใส่ใจเป็นพิเศษ เวลาช็อปปิ้งเลยต้องมองหาบิวตี้สโตร์ที่มีครบทุกไอเท็ม”

ด้าน ชวพร เลาหพงศ์ชนะ และ วฤธ หงสนันทน์ ติดภารกิจไม่สามารถร่วมงานได้ แต่ก็ได้ร่วมเปิดตัวผ่านวิดิโอ โดย ชวพร เลาหพงศ์ชนะ ตัวแทน Fashionista (แฟชั่นนิสต้า) หญิงสาวผู้หลงใหลในแฟชั่น กล่าวว่า
“พลอยสนุกกับการแต่งหน้า ชอบลองสิ่งใหม่ไม่เหมือนใครชอบอะไรล้ำทันสมัยไม่ตกเทรนด์”

ส่วน วฤธ หงสนันทน์ หนุ่มหล่อ Smart Lively (สมาร์ทไลฟ์ลี่) ผู้ชายยุคใหม่ที่ดูแลตัวเอง เผยความรู้สึกว่า “เป๋าเป็นคนที่ชอบกลิ่นหอมของน้ำหอมมาก สามารถเดินเลือกทดลองดมกลิ่นน้ำหอมในโซนน้ำหอมได้ทั้งวันเลย”

หลังจากนั้นก็เข้าสู่บรรยากาศของซิทดาวน์ ดินเนอร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟโดยเหล่าเซเลบริตี้ร่วมรับประทานอาหารอย่างอบอุ่นและรับอรรถรสเต็มอิ่มด้วยมินิคอนเสิร์ตจากวง Season Five พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนเทรนด์ความงามและบิวตี้ไลฟ์สไตล์กันอย่างเพลิดเพลิน

โดย อรชุมา ดุรงค์เดช บอกว่า “บิวตี้ไลฟ์สไตล์ของเฟย์ คือจะต้องสวยจากภายในสู่ภายนอก คือทั้งดูแลสุขภาพให้แข็งแรงส่วนภายนอกก็คือการดูแลผิวพรรณซึ่งก็ดูแลผิวแบบทั่วๆไปคือเน้นล้างหน้าให้สะอาดใช้ครีมบำรุงแต่ที่สำคัญคือต้องมีวินัยทำอย่างสม่ำเสมอค่ะ”

ส่วน สุมณี คุณะเกษม เผยเคล็ดลับความงามว่า “ใส่ใจในเรื่องของการเลือกรับประทานอาหารโดยทานผักผลไม้เป็นอาหารหลักงดทานเนื้อสัตว์และอาหารรสหวานจัดเค็มจัดและไม่ทานของทอดของมัน”

เปิดฉากแรกขึ้นมาของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส คงจำกันได้ภาพแม่หญิงการะเกดตัวร้ายต้องมนต์กฤษณะกาลี นอนตายในท่าพนมมือ โดยที่ตามองจ้องไปยังยอดพระปรางค์องค์ใหญ่เปล่งประกายสีทองอร่าม ซึ่งคือ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ที่ตามท้องเรื่องอยู่ใกล้บ้าน “พี่หมื่น-จหมื่นศรี” คู่หมั้นคู่หมายของแม่หญิงการะเกด จากนั้นฉากพระปรางค์ที่มียอดเป็นทองคำก็ปรากฏให้เห็นมาเรื่อยหลายๆ ฉาก

ความสงสัยข้องใจจึงเกิดขึ้นจากคนดูละครทั้งหลาย ว่า “ยอดพระปรางค์องค์ใหญ่วัดไชยวัฒนาราม” ที่เห็นในละครนั้น มียอดเป็นทองคำจริงหรือ? หรือว่าเป็นเพียงจินตนาการของคนเขียนนิยาย และจินตนาการของคนเขียนบทโทรทัศน์

เรื่องนี้มีคำตอบ!

ระหว่างการท่องเที่ยวของบรรดาลูกทัวร์ “มติชนอคาเดมี ” ในชื่อ “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาตร์อยุธยา” ซึ่งมีกูรูผู้เชี่ยวชาญเรื่องของกรุงศรีอยุธยาระดับแถวหน้าของประเทศไทย “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือในละครเรียก “ขุนหลวงนารายณ์” ได้บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า…

“ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่ามงดงามนั้น ขอบอกว่าเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นทองคำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าทำการบ้านพอสมควร เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…”

“..เป็นการตรึงแผ่นโลหะที่ปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้ากับองค์พระปรางค์ อธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจ คือเขาไม่ได้ใช้ทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ไปปิดพระปรางค์ แต่ใช้วิธีนำแผ่นทองคำเปลวเล็กๆ นั้นไปติดบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อน แล้วค่อยนำแผ่นโลหะสีทองนั้นไปวางลงไปบนผิวขององค์พระปรางค์ แล้วเอาตะปูตอกตรึงเข้าไป แผ่นทองที่ตรึงเข้าไปกับองค์พระปรางค์เขาเรียกว่า แผ่นทองจังโก จึงทำให้พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นสีทองไปทั้งองค์..”

นับเป็นความฉลาดของคนโบราณ เพราะแทนที่จะนำแผ่นทองคำอันเล็กจิ๋วไปนั่งปิดองค์พระปรางค์ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอย่างมาก ก็เอาแผ่นทองคำเปลวนั้นปิดลงบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อนแล้วค่อยนำขึ้นไปตรึงไว้ จึงเกิดเป็นร่องรอยรูพรุนทั่วองค์พระปรางค์

สำหรับวัดไชยวัฒนาราม บางครั้งเรียก “วัดไชยยาราม” หรือ “วัดไชยชนะทาราม” เป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดอรัญวาสี ณ บริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีมะเมีย พ.ศ. 2173 ซึ่งตรงกับปีที่ขึ้นครองราชย์พอดี สันนิษฐานว่าเป็นวัดประจำรัชกาลด้วย

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ใช้วัดนี้ในฐานะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี สำหรับพระราชทานเพลิงศพของพระราชวงศ์และขุนนางผู้สูงศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2299 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย ถูกกล่าวโทษว่าเสด็จเข้ามาทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ในพระราชวังหลายครั้ง สืบสวนได้ความเป็นสัตย์จริง จึงลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสองพระองค์จนดับสูญ แล้วนำศพไปฝังไว้ ณ วัดไชยวัฒนารามทั้งสองพระองค์

สิ่งสำคัญในวัดแห่งนี้ คือพระปรางค์องค์ประธาน ตามเรื่องในละครบุพเพสันนิวาสที่เห็นเป็นสีทอง มีลักษณะเป็นปรางค์จัตุรมุข กล่าวคือมีมุขยื่นออกมาทั้ง 4ด้าน มุขด้านตะวันออก จะเจาะมุขทะลุเข้าสู่เรือนธาตุ ซึ่งภายในจะประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง (ปัจจุบันไม่พบแล้ว) ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111

คนอุษาคเนย์ในอาเซียน กินข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันเมื่อหลายพันปีมาแล้วก่อนรู้จักกินข้าว คนทั้งหลายกินพื ชและสัตว์ที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น เผือก, มัน, กลอย และกุ้ง, หอย, ปู, ปลา ฯลฯ

ข้าวเก่าแก่สุดในไทย
คนกินข้าวครั้งแรก ราว 7,000 ปีมาแล้ว (บางคนว่านานมากกว่านี้) พบหลักฐานในไทยเป็นเมล็ดข้าวจากถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน

เป็นประเภทข้าวไร่ที่เจริญงอกงามบนที่สูง มีทั้งข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ (Large Type) จัดเป็นพวกชวานิคา (Javanica) และข้าวเจ้าเมล็ดเรียว (Slender Type) จัดเป็นพวกอินดิคา (Indica)

ข้าวเหนียว หรือ ข้าวนึ่ง
เป็นข้าวเมล็ดป้อม ตระกูลข้าวเก่าแก่ในไทยและสุวรรณภูมิในอาเซียน เป็นอาหารหลักของคนทุกชาติพันธุ์ในอาเซียนอุษาคเนย์ เมื่อรับศาสนาจากอินเดียสมัยหลังๆ ยังเป็นอาหารหลักของพระสงฆ์ในวัดด้วย
ราวหลัง พ.ศ. 1000 พบแกลบข้าวเหนียวผสมดินเหนียวในแผ่นอิฐสร้างเจดีย์แบบทวารวดีทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยา และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
[ดูบทความเรื่อง แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของข้าวที่ปลูกในทวีปเอเชีย ของ วาตาเบะ ทาดาโยะ แปลโดย สมศรี พิทยากร พิมพ์ในหนังสือ ญี่ปุ่น-ไทย-อุษาคเนย์ บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และฮายาโอะ ฟูกุย จัดพิมพ์โดยโครงการ Core University ธรรมศาสตร์-เกียวโต ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2541 หน้า 75-109]
ราวหลัง พ.ศ. 1800 พบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งแล้วปนอยู่ในดินบริเวณศาลาโถง (เนินปราสาท) หน้าวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย น่าจะเป็นข้าวเหนียวที่คนเอามาถวายพระสงฆ์เมื่อทำบุญเลี้ยงพระ

ข้าวเจ้า หรือ ข้าวจ้าว

เป็นข้าวเมล็ดเรียว พบพร้อมข้าวเมล็ดป้อมทั้งในไทยและอาเซียน แต่การแพร่กระจายและความต่อเนื่องต่างกัน

เจ้า, จ้าว ในคำว่า ข้าวเจ้า, ข้าวจ้าว มีความหมายหลายอย่าง ดังนี้
แปลว่า ผี เช่น เจ้าฟ้า คือ ผีฟ้า มีคำพูดในชีวิตประจำวันว่าไหว้ผี ไหว้เจ้า
ภาษาไทยอาหมและไทใหญ่ หมายถึง ร่วน, ซุย, ไม่เหนียว, หุง
[จากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ ของ ถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557]
มีคำบอกเล่าว่า ข้าวเจ้า เป็นคำกร่อนจากคำเรียกว่าข้าวเหลือเจ้า หมายถึงข้าวที่เจ้านายเสวยก่อน แล้วเหลือไว้ให้พวกไพร่กินทีหลัง นานเข้าก็เรียก ข้าวเจ้า ส่วนข้าวที่เจ้าเสวย เพี้ยนเสียงเป็นข้าวสวย

เฮ็ดไฮ่-เฮ็ดนา-เฮ็ดข้าว
ข้าวเป็นพืชตระกูลหญ้าอย่างหนึ่ง มีขึ้นทั่วไปเป็นธรรมชาติเหมือนหญ้าชนิดอื่นๆ ในโลก แต่สมมุติเรียกกันว่าข้าวป่า เช่นเดียวกับพืชผลธรรมชาติชุดแรกๆ ก็เรียกด้วยคำว่าป่าทั้งนั้น เพราะมีมากในป่า และมีมากเป็นป่า เช่น มะม่วงป่า, ขนุนป่า ฯลฯ
คนสุวรรณภูมิรู้จักข้าวป่า แล้วคิดทำข้าวปลูกตั้งแต่เมื่อไร? ยังกำหนดแน่นอนไม่ได้
แต่นักโบราณคดีขุดพบซากเมล็ดข้าวปลูก (ถ้ำผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน) มีอายุราว 10,000 ปีมาแล้ว

นาตาแฮก แรกนาขวัญ
ภาพเขียนสีที่ผาหมอนน้อย ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปคนกับควายหรือวัว คล้ายกำลังเฮ็ดไฮ่เฮ็ดนา อยู่ท่ามกลางลายเส้นคล้ายจะเป็นต้นข้าว

โดยมีรูปอื่นแวดล้อม เช่น คนถืออาวุธทำท่าล่าสัตว์, ลายมือประทับทำแนวโค้ง, ลายขีดข่วนรูปแบบต่างๆ
น่าเชื่อว่ารูปคนกับควายและต้นข้าวกลุ่มนี้ ที่เป็นศูนย์กลางของภาพทั้งหมด หมายถึงพิธีนาตาแฮกยุคแรกเริ่มราว 2,500 ปีมาแล้ว (ตามอายุภาพเขียนสี)

นาตาแฮกเป็นประเพณีราษฎร์ ที่บรรดาไพร่บ้านต้องทำเมื่อถึงฤดูทำนา เพื่อวิงวอนร้องขอแกมบงการธรรมชาติบันดาลความอุดมสมบูรณ์

ความเชื่อถือแบบดั้งเดิมเก่าแก่ ที่เชื่อว่าถ้าเราจำลองเลียนแบบธรรมชาติขึ้นแล้ว ก็จะบันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา

ชาวนาแต่ก่อนเมื่อจะลงมือดำนา จะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่า ตาแรก หรือ ตาแฮก (ตา = ตาราง ; แรก คือ แรกเริ่มดำ) ถ้าบำรุงข้าวในนาตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย

[สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526 หน้า 350]

เมื่อมีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง กระทั่งมีราชสำนักขึ้น ก็ทำนาตาแฮกเป็นประเพณีหลวง แล้วเรียกชื่อด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นว่า “จรดพระนังคัล แรกนาขวัญ” สืบมาจนทุกวันนี้

ปลูกข้าว
วิธีปลูกข้าวมีนักวิชาการทั่วโลกกำหนด จำแนกตามลักษณะภูมิประเทศ 3 อย่าง คือ เฮ็ดไฮ่ (ทำไร่) เฮ็ดนา (ทำนา) เฮ็ดข้าว (ทำข้าวหรือปลูกข้าว)

[เฮ็ด เป็นคำพื้นเมืองของตระกูลภาษาไทย-ลาว หมายถึง ทำ, ร่วมเพศ ฯลฯ ตรงกับคำไทยปัจจุบันว่าเย็ด, เยียะ, ยะ]
1. เฮ็ดไฮ่ หรือดรายไรซ์ (dry rice) หมายถึง ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง โดยอาศัยน้ำค้างและน้ำฝน ทำคราวหนึ่งราว 4-5 ปี ต้องย้ายที่ไปบ่อนอื่น เพราะดินเก่าจืด
2. เฮ็ดนา หรือเวตไรซ์ (wet rice) หมายถึง ทำนาทดน้ำบนที่ลุ่ม ทำได้ต่อเนื่องยาวนานไม่ต้องโยกย้ายไปไหน เพราะถึงฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมพัดพาเอาโคลนตมเป็นปุ๋ยมาให้ตามธรรมชาติ
3. เฮ็ดข้าว หรือฟลัดไรซ์ (flooded rice) หมายถึง ปลูกข้าวหว่านบนพื้นที่โคลนตมเมื่อน้ำท่วมตามธรรมชาติใกล้ๆ แหล่งที่อยู่อาศัย เป็นการปลูกอย่างง่ายๆ โดยอาศัยรอน้ำท่วมที่นา แล้วก็หว่านข้าวลงไป (เป็นผลการศึกษาวิจัยของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ดูในบทความเรื่อง อีสานมีพัฒนาการเป็น “รัฐ” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527)

ข้าวเปลือก
ต้นข้าว มีเมล็ดข้าวอยู่ในช่อเป็นรวง เรียกรวงข้าว
เมื่อเมล็ดข้าวสุกได้ที่แล้วต้องเกี่ยวข้าว เอาไปนวดให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง เป็นข้าวที่ยังมีเปลือกหุ้มเมล็ด เรียกข้าวเปลือก

ข้าวสาร
เอาข้าวเปลือกไปบดหรือตำให้เปลือกหลุดจากเมล็ด เรียกข้าวสาร แต่ยังหลุดไม่หมดทุกเมล็ด บางทีเรียกข้าวกล้อง
แต่ยังดิบ เมื่อจะกินต้องเอาไปทำให้สุกด้วยไฟ เรียกหลาม, นึ่ง, หุง

หลาม
หมายถึง ข้าวสารเหนียว ทำให้สุกด้วยการหลามในกระบอกไม้ไผ่ (เรียกบั้งข้าวหลาม) เป็นข้าวเหนียวล้วนๆ ไม่ปรุงแต่งด้วยวัสดุอื่นใด เช่น กะทิ
โดยตั้งกระบอกขึ้น แล้วก่อไฟเป็นแถวขนาบให้เผาล้อมรอบ แต่ต้องคอยหมุน หรือกลับกระบอกหลบไฟเผาไหม้ ขณะเดียวกันก็ให้โดนความร้อนรอบกระบอกจนสุก
หลาม หมายถึง ทำให้สุกภายในกระบอกไม้ไผ่ เช่น ข้าวหลาม, ปลาหลาม ฯลฯ
[หลาม แปลว่า มากขึ้น, ขยายขึ้น, ล้นออกมา]

หุง, นึ่ง
หมายถึง ข้าวสารเหนียวทำให้สุกด้วยการหุง หรือนึ่งในภาชนะ
หุงข้าว หรือ นึ่งข้าว ต้องมีภาชนะดินเผา เรียกหม้อดินหรือหม้อดินเผา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นจากภาชนะธรรมชาติ เช่น กะลา, กระบอกไม้ไผ่, เครื่องจักสาน
ในยุคแรกเริ่ม คนที่กินข้าวเหนียวด้วยวิธีหุงหรือนึ่ง จึงต้องเป็นคนชั้นสูงระดับหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีภาชนะดินเผา
ส่วนคนทั่วไปกินข้าวหลามจากกระบอกไม้ไผ่

ข้าวเหนียวในพิธีกรรม
อาหารในพิธีกรรมดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ นับพันปีมาแล้ว ล้วนทำจากข้าวเหนียว
เป็นพยานว่าข้าวเหนียวเป็นอาหารก่อนข้าวเจ้า ในชีวิตประจำวันของคนในอุษาคเนย์และสุวรรณภูมิ

ข้าวหมัก
ของกินทำจากข้าวเหนียวนึ่งหรือหุงสุกแล้ว หมักกับแป้งหัวเชื้อห่อด้วยใบตองเป็นข้าวหมัก แต่เรียกเพี้ยนเสียงเป็นข้าวหมาก

อุ
เหล้าหมักชนิดหนึ่งใช้ข้าวเหนียวนึ่งผสมแป้งหัวเชื้อใส่ไห โดยมีแกลบอัดกลบไว้ข้างบน
เมื่อจะดูดดื่มต้องใช้น้ำเติมลงไปในไห แล้วใช้หลอดดูดทำจากก้านไผ่เล็กๆ ที่มีปล้องกลวง
อาหารที่ปรุงใส่น้ำแต่น้อย เช่น อุกบ, อุเขียด, อุหน่อไม้ ฯลฯ (คล้ายอ่อม)
อุ แปลว่า โอ่งหรือไหใส่น้ำ

ขนมจ้าง
ขนมจ้างเป็นชื่อคำลาว แต่จีนเรียก บ๊ะจ่าง ทำจากข้าวเหนียว
เดิมเรียก ถ่งจ้ง แปลว่า ขนมจ้างกระบอก คือข้าวหลาม เพราะเอาข้าวเหนียวใส่กระบอกไผ่ย่างไฟให้สุก ยุคต่อมาหลังจากนั้นใช้ใบไผ่ห่อข้าวเหนียวใส่หม้อต้ม

บ๊ะจ่าง ก็คือ ขนมจ้างไส้เค็มมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ
บ๊ะ เป็นภาษาพูดแต้จิ๋ว แปลว่า เนื้อ, จ่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า จั่ง สำเนียงจีนกลางว่า จ้ง แปลว่า ข้าวห่อใบหลู (พืชตระกูลอ้อหน่อไม้น้ำชนิดใบใหญ่ ใช้ห่ออาหารได้)
(จ่าง แปลว่า ถ่าง, กาง จ้าง หมายถึง ชื่อเครื่องมือยิงสัตว์ทำด้วยไม้แก่น แล้วมีสายยิงลูกดอก เรียกหน้าจ้าง หรือ หน้าไม้ คล้ายรูปสามเหลี่ยม)

ประเพณีสารทบ๊ะจ่าง มีกำเนิดจากข้าวเหนียวซึ่งเป็นธัญพืชทางใต้ แล้วแพร่จากภาคใต้ (ลุ่มน้ำแยงซี) ขึ้นไปภาคเหนือ (ลุ่มน้ำฮวงโห)
มีนิทานกำกับว่าเริ่มจากปั้นข้าวเหนียว ใช้เซ่นพลีโยนใส่ปากมังกร (นาค), จระเข้, งู ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์แหล่งน้ำ (ในอุษาคเนย์)

ข้าวเหนียว เป็นธัญพืชหลักของจีนภาคใต้ ทางลุ่มน้ำแยงซี
ข้าวฟ่าง เป็นธัญพืชหลักของจีนภาคเหนือ ทางลุ่มน้ำฮวงโห

ขนมเข่ง
ขนมเข่ง มาจากขนมไหว้ตรุษจีน เรียก เหนียนเกา (แปลว่า ขนมประจำปี) ทำด้วยแป้งจากข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ข้าวฟ่าง

แต่จีนภาคใต้ใช้ข้าวเหนียว (เพราะประชากรดั้งเดิมกินข้าวเหนียว)
เหนียนเกา นึ่งในถาดขนาดใหญ่น้อย โดยยกไหว้ทั้งถาด เมื่อจะกินต้องตัดแบ่งเป็นชิ้น
ครั้นเข้าเมืองไทยก็ดัดแปลงวัสดุใช้ใบตองทำกระทงเป็นเข่งเล็กใส่เหนียนเกาข้าวเหนียวนึ่งออกมาแล้วเรียก ขนมเข่ง
[จากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ ของ ถาวร สิกขโกศล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557]
จีนภาคใต้ทางลุ่มน้ำแยงซีเกียง มีบรรพชนคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว สืบเนื่องถึงทุกวันนี้ ในยูนนาน, กวางสี, กวางตุ้ง และกินข้าวเหนียว ปลูกข้าวเหนียวในชีวิตประจำวัน จึงมีประเพณีสำคัญเกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว


ที่มา : หนังสืออาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก

ทรัฟเฟิล เห็ดที่แพงที่สุดในโลก อาศัยรากพืชในการเจริญเติบโต ซึ่งทรัฟเฟิลเป็นดอกเห็ดที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยมีความมาตั้งแต่ยุคบาบิโลน อียิปต์โบราณ ส่วนชื่อทรัฟเฟิลมาจากภาษาฝรั่งเศสขณะที่ความนิยมทรัฟเฟิลเริ่มมาจากฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และนำมาใช้เป็นเครื่องเทศจนเป็นที่นิยม

ปัจจุบันนิยมนำทรัฟเฟิลขาว และทรัฟเฟิลดำมาปรุงเมนูอาหารในรูปแบบต่างๆ

สำหรับ “ทรัฟเฟิลทะเลทราย” เป็นประวัติศาสตร์การกินของคนโรมัน ซึ่งนำมาใช้เป็นเหมือนเครื่องปรุงเพิ่มกลิ่นอาหารเช่นกัน

และแน่นอน ทรัฟเฟิลทะเลทราย ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบล้ำค่าที่หาได้ยาก หนึ่งในสถานที่ขายทรัฟเฟิลทะเลทรายที่โด่งดัง คือ ตลาดในประเทศคูเวต และฤดูกาลสำคัญของการซื้อขายคือ ฤดูหนาว อย่างไรก็ตามปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตลอดปี เพราะมีการวางจำหน่ายแบบอบแห้งด้วย

ขอให้นึกภาพบรรยากาศหนึ่งที่คุ้นตาในเขตชานเมืองคูเวต มีกระบวนการจำหน่ายทรัฟเฟิลทะเลทรายในเขตอุตสาหกรรม Rai ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเช้าแต่ละวันที่จะมีผู้ค้าออกมาสำรวจทรัฟเฟิลให้ได้ขนาดและสีที่ต้องการ ส่วนวิธีการเลือกใช้วิธีดมเพื่อเลือกชิ้นที่ดีที่สุด หรือบางคนก็ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้า

ลูกค้าจากอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย ลิเบีย เป็นลูกค้าหลักที่เข้ามาเลือกซื้อทรัฟเฟิลทะเลทรายในคูเวต ราคาตั้งแต่ 7-20 คูเวตดินาร์ หรือราว 23-27 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพ

ทรัฟเฟิลทะเลทราย ถือเป็นเมนูยอดนิยมในคูเวต

“ชาวคูเวตรักจะกินทรัฟเฟิลทะเลทรายมาก เพราะเป็นวัตถุดิบหายาก และมีรสชาติที่แตกต่าง” ยูเซฟ โมฮัมเหม็ด คาเหล็ด นักตามหาทรัฟเฟิล ผู้บอกว่าเขาสามารถแยกแยะรายละเอียดปลีกย่อยของทรัฟเฟิลได้อย่างละเอียด โดยปีๆหนึ่งเขาต้องจ่ายเงินถึง 10,000 ดอลลาร์ ในการซื้อ

อย่างไรก็ตามด้วยครึ่งทศวรรษมานี้ ปัญหาพิพาทของคูเวตกับอิรัก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ส่งผลต่อคุณภาพของทรัฟเฟิลทะเลทราย ทำให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ “โด่งดังน้อยลง” และราคาที่เคยแพงระยับก็ลดลงเช่นกัน

ทรัฟเฟิลทะเลทรายถือเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับชาวเบดูอิน ที่นำทรัฟเฟิลทะเลทรายมาเป็นส่วนผสมหลักในอาหารแบบดั้งเดิมของชาวอาหรับทะเลทราย ซึ่งจะนำมาเป็นส่วนผสมในข้าวและเนื้อ หรือส่วนผสมในซอส

ทรัฟเฟิลทะเลทรายนั้นมีความต้องการสูงในตลาดของกลุ่มประเทศอาหรับ ในแต่ละปีพ่อค้าหลายร้อยคนจะมากันในช่วงฤดูหนาวเพื่อเลือกซื้อทรัฟเฟิลกันที่คูเวต ความหนาแน่นและคึกคักนี้ ส่งผลให้เทศบาลเมือง Al-Ral ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคูเวตเปิดตลาดซื้อขายทรัฟเฟิลทะเลทรายตั้งแต่ปี 2549 เพื่อจัดระเบียบการซื้อขาย และเป็นผู้ดูแลควบคุมคุณภาพ

 


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดตัวแสตมป์พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สำหรับใช้งานทั่วไป 12 ชนิดราคา ประเดิมจองวันแรก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ 29 มีนาคม 2561 พร้อมที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศและทางออนไลน์ โดยเปิดจองได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

โดยรายการสั่งจอง จะมีให้เลือกทั้งแบบรวมชุดแสตมป์ เต็มแผ่น (20 ดวงต่อแผ่น) ราคา 4,400 บาท แสตมป์ดวงเดี่ยวครบชุด ราคา 220 บาท พร้อมสิ่งสะสมพิเศษซึ่งมีจำนวนจำ กัด คือ แผ่นชีทที่ระลึก (คละแบบในแผ่นเดียวกัน) ราคา 250 บาท และซองวันแรกจำหน่าย ราคา 265 บาท (3 ซอง) โดยจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุ ไว้ในใบสั่งจองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ฟรีค่าฝากส่ง

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ นำพระฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มาเป็นแบบตราไปรษณียากรสำหรับใช้งานทั่วไปชุดล่าสุด ซึ่งจะออกจำหน่ายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2561 เป็นวันแรก


ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เวลาเดินข้าร้านอาหารญี่ปุ่นหลายคนต้องรู้จัก “มิโซะ” แน่นอน พูดง่ายๆ ตามความเข้าใจของคนกินก็คือ “ซุปเต้าเจี้ยว” ที่จัดมาให้ซดกับอาหารญี่ปุ่น มีทั้งแบบชามเดี่ยวๆ และจัดมาคู่กับเซ็ต ซึ่งแท้จริงแล้วมิโซะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์และมีประโยชน์อย่างยิ่ง

อธิบายแบบง่ายๆ ก่อนว่า “มิโซะ” ได้จากการเอาถั่วเหลืองไปนึ่งแล้วบดให้ละเอียด จากนั้นนำข้าวมอลต์และเกลือมาผสม หมักทิ้งไว้ ในสมัยโบราณทำมิโซะเป็นก้อนตากแห้งไว้ เพื่อไม่ให้เสียง่าย แต่ปัจจุบันมักจะบรรจุกล่องแช่เย็น เป็นวิธีถนอมอาหารไว้กินได้นานๆ ในซุปมิโซะหนึ่งถ้วยจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย อาทิ คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, ไขมัน ฯลฯ

วงการแพทย์ยืนยันถึงความมหัศจรรย์ของคุณสมบัติเชิงยาของมิโซะ เปี่ยมด้วยคุณค่า ให้พลังงานสูง ช่วยบำรุงสุขภาพและความกระฉับกระเฉง เนื่องจากการหมักที่ก่อให้เกิดจุลินทรีย์แล็กติก มิโซะจึงเป็นมากกว่าแค่องค์ประกอบย่อย ระหว่างขั้นตอนการหมักโปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตในข้าวและถั่วเหลือง จะแตกตัวจนกลายเป็นกรดอะมิโน กรดไขมัน และน้ำตาลที่ย่อยง่ายกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ “ซุปมิโซะ” จึงเป็นอาหารที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี และผู้หญิงญี่ปุ่นยังใช้ซุปมิโซะเพื่อให้ทารกหย่านมด้วย

ปัจจุบันบางภาคของจีนและญี่ปุ่นยังคงเชื่อว่าการดื่มซุปมิโซะทุกวันจะช่วยให้ชีวิตยืนยาวและแข็งแรง ว่ากันว่าการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยซุปมิโซะ จะปรับสภาพความเป็นด่างของร่างกายและช่วยลดการสะสมของกรดที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะเลือดเป็นด่างยังช่วยถนอมสุขภาพด้วย  

“มิโซะ” เป็นเหมือนยาลดกรดแบบดั้งเดิม เพื่อบรรเทาอาการแบบฉับพลัน และเมื่อจุลินทรีย์ที่พบมากในมิโซะชนิดหวาน สีอ่อน ซึ่งไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ (ส่วนใหญ่จะหมักเป็นเวลา 2-8 สัปดาห์) เข้าไปอยู่ในลำไส้ จุลินทรีย์ที่ชอบกรดเหล่านั้นจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรง สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เชื่อกันว่ามิโซะช่วยขับนิโคตินออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และชาวญี่ปุ่นในชนบทยังคงใช้น้ำต้มมิโซะเพื่อล้างคราบน้ำมันดินออกจากกล้องยาสูบ มิโซะถือเป็นอาหารประจำวันที่มีประสิทธิผลทางการแพทย์สูงสุด แถมยังรสชาติดีอีกด้วย

วิธีทำมิโซะ

มี  2 วิธีด้วยกัน คือ วิธีการสมัยใหม่ และ วิธีการแบบดั้งเดิม

กระบวนการแบบสมัยใหม่ จะเร่งการหมักด้วยการควบคุมอุณหภูมิในถังพลาสติกหรือถังสแตนเลส ข้าวและเกลือที่ใช้มักจะผ่านกระบวนการมาแล้ว และมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่า ส่วนวิธีการแบบดั้งเดิมจะช้ากว่า และมีผู้ผลิตมิโซะไม่กี่รายที่ใช้วิธีนี้กันอยู่ เขาจะปรุงโคจิด้วยมือและหมักบ่มแบบธรรมชาติในถังไม้ใบใหญ่ด้วยอุณหภูมิตามธรรมชาติ ผู้ผลิตแบบดั้งเดิมยังใช้ส่วนผสมแบบองค์รวมและเกลือทะเลธรรมชาติอีกด้วย

การเลือกซื้อมิโซะ

มิโซะอาจแบ่งได้ 2 ประเภท ตามสีสันและรสชาติ  ได้แก่ หนึ่ง- “มิโซะหวาน” หรือ “มิโซะหมักไม่นาน” มักจะมีสีอ่อน (สีน้ำตาลจางๆ หรือสีเหลือง) และคาร์โบไฮเดรตสูง จำหน่ายโดยเรียกว่า “มิโซะรสนุ่มนวล”  “มิโซะหวาน” หรือ “มิโซหวานสีขาว”  เนื่องจากมีโคจิปริมาณมาก ขณะที่ปริมาณถั่วเหลืองและเกลือต่ำ มิโซะหวานจะหมักราว 2-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสูตรและอุณหภูมิในการหมัก มิโซะประเภทนี้ผ่านการพัฒนาและกลายเป็นที่นิยมอยู่รอบๆ เมืองเกียวโต เขตทางใต้ของญี่ปุ่น และภายหลังแพร่ไปยังฮาวาย มิโซะหวานหรือมิโซะสีอ่อนนี้ ผสมกับมิโซสีเข้ม เหมาะสำหรับการทำซุปฤดูร้อน เครื่องจิ้มหน้าขนมปัง ซอส แลน้ำสลัด

สอง-มิโซะหมักนาน จะใส่เกลือมากกว่าโคจิน้อยกว่า และมีปริมาณถั่วเหลืองมากกว่า เป็นมิโซะที่สีเข้มและรสเค็มกว่ามิโซหวานหรือมิโซะสีขาว มิโซะชนิดนี้ต้องหมักอย่างน้อยหนึ่งฤดูร้อน แต่อาจหมักนานถึง 2-3 ปีถ้าอากาศเย็นจัด มิโซะชนิดนี้จำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า “มิโซะแดง”  “มิโซะข้าวกล้อง”  หรือ  “มิโซะข้าวบาร์เลย์” “มิโซะถั่วเหลือง” เช่น นาเมะ และ ฮัทโช ก็มีสีเข้มและรสจัดจ้านเช่นกัน มิโซะหมักนานเป็นที่นิยมในภาคกลางและภาคเหนือของญี่ปุ่น สำหรับชาวตะวันตก มิโซะชนิดนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับซุปฤดูหนาว สตูว์ และซอสต่างๆ

เมื่อจะซื้อมิโซะ ให้มองหาคำว่า “ผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม” หรือ “หมักบ่มแบบธรรมชาติ” บนบรรจุภัณฑ์ มิโซะคุณภาพดีที่สุดนั้นทำจากส่วนผสมที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ 100% และเกลือทะเลที่ได้จากนาเกลือเกษตรอินทรีย์ ที่ด้านหน้าผลิตภัณฑ์ให้หาคำว่า “เกลือทะเล” จะมีบอกไว้ในรายการส่วนผสม 

ควรซื้อมิโซะที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งมักจะจัดเก็บในตู้เย็น มากกว่ามิโซะผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งบรรจุถุงพลาสติกปิดสนิทและไม่ได้เก็บในตู้เย็น  มิโซะควรจับตัวเป็นก้อน ไม่แฉะหรือเหลว มิโซะแช่เย็นไม่ควรมีกลิ่นแอลกอฮอล์รุนรง มิโซะหวานหรือมิโซะรสนุ่มนวล ควรมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลจางๆ ไม่ใช่สีส้ม ยกเว้นแต่มิโซะที่ใช้ถั่วเหลือง 100% อย่างมิโซฮัทโช หรือมิโซะนาเมะ ซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มเป็นปกติ  มิโซะหมักนานที่ทำจากข้าวเจ้าและข้าวบาร์เลย์ไม่ควรจะมีสีน้ำตาลเข้ม แต่ควรเป็นสีน้ำตาลอมแดง น้ำตาลอ่อน หรือสีออกแดง มิโซะสีเข้มแบบไม่ผ่านการฆ่าเชื้อที่วางขายตามร้านขายอาหารธรรมชาติ แสดงว่าผ่านการหมักบ่มนานเกินควร ทำให้รสชาติและกลิ่นด้อยลง

หลังจากรู้จักมิโซะกันแล้ว ก็ถึงเวลามาทำมิโซะกินกัน…ขอเสนอ “ซุปมิโซะแบบเกียวโต” ลองทำดูปริมาณสำหรับ 4 ที่  เวลาเตรียม 5 นาที  เวลาปรุง 6-8 นาที

ซุปชนิดนี้จะมีสีสันชวนกินก็ต่อเมื่อใช้มิโซะขาวรสนุ่มนวลที่ยังสดใหม่เท่านั้น อาจใส่ผักอื่นๆ เพิ่มเติมหรือทดแทนได้ แต่น้ำซุปที่เรียบง่ายและเปี่ยมรสชาติ คือหัวใจของซุปมิโซะขนานแท้สูตรนี้

วัตถุดิบ

น้ำสต๊อกสาหร่ายคอมบุใส่ปลาโอแห้ง  4 ถ้วย (1 ลิตร)
เต้าหู้หั่นสีเหลี่ยมลูกเต๋าขนาดครึ่งนิ้ว (1ซม.)  4 ออนซ์ (125 กรัม)
ต้นหอมซอยบางๆ 1-2 ต้น
ใบผักโขมอ่อน 1/2 ถ้วย (25 กรัม)
มิโซะขาวรสนุ่มนวล 4 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

ใส่น้ำสต๊อกสาหร่ายในหม้อ ตั้งไฟพอเดือด ใส่เต้าหู้และต้นหอม ต้มอีก 2 นาที ใส่ผักโขม ต้มอีก 30 วินาที ยกขึ้นจากเตา ผสมน้ำซุป 1 ทัพพีกับมิโซะในถ้วยใบเล็ก คนจนละลายดี แล้วเทกลับลงในหม้อ พักไว้สักครู่ก่อนเสิร์ฟ

คราวนี้ก็ไม่ต้องเสียสตางค์ไปเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นทุกครั้งแล้ว อยากจะลิ้มรสเมื่อไหร่ก็เข้าครัวลงมือได้ทันที ไม่กี่นาทีก็ได้กินสมใจ!!