“พระปรางค์” วัดไชยวัฒนาราม เป็นทองคำจริงหรือ?

Content พาเพลิน
เปิดฉากแรกขึ้นมาของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส คงจำกันได้ภาพแม่หญิงการะเกดตัวร้ายต้องมนต์กฤษณะกาลี นอนตายในท่าพนมมือ โดยที่ตามองจ้องไปยังยอดพระปรางค์องค์ใหญ่เปล่งประกายสีทองอร่าม ซึ่งคือ พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ที่ตามท้องเรื่องอยู่ใกล้บ้าน “พี่หมื่น-จหมื่นศรี” คู่หมั้นคู่หมายของแม่หญิงการะเกด จากนั้นฉากพระปรางค์ที่มียอดเป็นทองคำก็ปรากฏให้เห็นมาเรื่อยหลายๆ ฉาก

ความสงสัยข้องใจจึงเกิดขึ้นจากคนดูละครทั้งหลาย ว่า “ยอดพระปรางค์องค์ใหญ่วัดไชยวัฒนาราม” ที่เห็นในละครนั้น มียอดเป็นทองคำจริงหรือ? หรือว่าเป็นเพียงจินตนาการของคนเขียนนิยาย และจินตนาการของคนเขียนบทโทรทัศน์

เรื่องนี้มีคำตอบ!

ระหว่างการท่องเที่ยวของบรรดาลูกทัวร์ “มติชนอคาเดมี ” ในชื่อ “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาตร์อยุธยา” ซึ่งมีกูรูผู้เชี่ยวชาญเรื่องของกรุงศรีอยุธยาระดับแถวหน้าของประเทศไทย “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือในละครเรียก “ขุนหลวงนารายณ์” ได้บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า…

“ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่ามงดงามนั้น ขอบอกว่าเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นทองคำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าทำการบ้านพอสมควร เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…”

“..เป็นการตรึงแผ่นโลหะที่ปิดทองเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้ากับองค์พระปรางค์ อธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจ คือเขาไม่ได้ใช้ทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ไปปิดพระปรางค์ แต่ใช้วิธีนำแผ่นทองคำเปลวเล็กๆ นั้นไปติดบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อน แล้วค่อยนำแผ่นโลหะสีทองนั้นไปวางลงไปบนผิวขององค์พระปรางค์ แล้วเอาตะปูตอกตรึงเข้าไป แผ่นทองที่ตรึงเข้าไปกับองค์พระปรางค์เขาเรียกว่า แผ่นทองจังโก จึงทำให้พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นสีทองไปทั้งองค์..”

นับเป็นความฉลาดของคนโบราณ เพราะแทนที่จะนำแผ่นทองคำอันเล็กจิ๋วไปนั่งปิดองค์พระปรางค์ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอย่างมาก ก็เอาแผ่นทองคำเปลวนั้นปิดลงบนแผ่นโลหะขนาดใหญ่เสียก่อนแล้วค่อยนำขึ้นไปตรึงไว้ จึงเกิดเป็นร่องรอยรูพรุนทั่วองค์พระปรางค์

สำหรับวัดไชยวัฒนาราม บางครั้งเรียก “วัดไชยยาราม” หรือ “วัดไชยชนะทาราม” เป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดอรัญวาสี ณ บริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีมะเมีย พ.ศ. 2173 ซึ่งตรงกับปีที่ขึ้นครองราชย์พอดี สันนิษฐานว่าเป็นวัดประจำรัชกาลด้วย

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ใช้วัดนี้ในฐานะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี สำหรับพระราชทานเพลิงศพของพระราชวงศ์และขุนนางผู้สูงศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2299 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย ถูกกล่าวโทษว่าเสด็จเข้ามาทำชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ในพระราชวังหลายครั้ง สืบสวนได้ความเป็นสัตย์จริง จึงลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสองพระองค์จนดับสูญ แล้วนำศพไปฝังไว้ ณ วัดไชยวัฒนารามทั้งสองพระองค์

สิ่งสำคัญในวัดแห่งนี้ คือพระปรางค์องค์ประธาน ตามเรื่องในละครบุพเพสันนิวาสที่เห็นเป็นสีทอง มีลักษณะเป็นปรางค์จัตุรมุข กล่าวคือมีมุขยื่นออกมาทั้ง 4ด้าน มุขด้านตะวันออก จะเจาะมุขทะลุเข้าสู่เรือนธาตุ ซึ่งภายในจะประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง (ปัจจุบันไม่พบแล้ว) ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111