ข้าวโอ๊ต คือ…ธัญพืชชนิดไม่ขัดสี มีสารอาหารและเส้นใย แคลอรีต่ำ กากใยสูง เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือเจล ช่วยซึมซับน้ำเมื่ออาหารตกผ่านลงไปในท้อง ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว นอกจากนี้โปรตีนในข้าวโอ๊ตมีค่าใกล้เคียงกับโปรตีนในถั่วเหลือง และไม่น้อยไปกว่าเนื้อ นม ไข่

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวโอ๊ต ต่อ 100 กรัม…ประกอบด้วย พลังงาน 389 กิโลแคลอรี, โปรตีน 16.89 กรัม, ไขมัน 6.90 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 66.27 กรัม, ไฟเบอร์ 10.6 กรัม, น้ำ 8.22 กรัม, วิตามินB1 0.763 มิลลิกรัม, วิตามินB2 0.139 มิลลิกรัม, วิตามินB3 0.961 มิลลิกรัม, วิตามินB6 0.119 มิลลิกรัม, วิตามินB9 56 ไมโครกรัม, แคลเซียม 54 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 4.72 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 177 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 523 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 429 มิลลิกรัม, โซเดียม 2 มิลลิกรัม, สังกะสี 3.97 มิลลิกรัม

ประโยชน์ของข้าวโอ๊ต
1. ลดคอเลสเตอรอล…ข้าวโอ๊ตมีไฟเบอร์ประเภทเบต้ากลูแคน (beta-glucan) ช่วยลดคลอเลสเตอรอลตัวร้าย โดยไม่มีผลกระทบกับคอเลสเตอรอลตัวดีในร่างกาย
2. มีวิตามินE เป็นกลีเซอรีนธรรมชาติ ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น จึงมักใช้เป็นสูตรสครับหน้า
3. ช่วยลดไขมันชนิดเลวอย่าง LDL ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
4. โปรตีนสูงและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายมากถึง 6 ชนิด แป้งเป็นแป้งที่ย่อยง่ายและมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งช่วยย่อย มีไขมันต่ำ ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนที่ดีต่อร่างกาย

ที่มา : แม่บ้าน

อยากลดคอเลสเตอรอลในร่างกายสักหน่อย เห็นทีต้องหันมาเลือกทานอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะธัญพืชดีๆ กันแล้ว ตามมาดูประโยชน์ของ 7 ธัญพืช ที่คนรักสุขภาพไม่ควรพลาดกัน

ถั่วเปลือกแข็ง
ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่างๆ เช่น อัลมอนด์ วอลนัท พิสตาชิโอ ฯลฯ ล้วนมีประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย โดยคุณสมบัติอันโดดเด่นที่เราทราบกันดีก็คือ ถั่วเปลือกแข็งจะช่วยลดระดับ LDL หรือ Low Density Lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ ทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือไขมันไม่ดี เนื่องจากถั่วเปลือกแข็งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่ช่วยลดไขมันชนิดไม่ดีได้มากถึง 13 กรัม ช่วยลดคอเรสเตอรอล รวมถึงเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดี ซึ่งเป็นตัวช่วยกำจัดคอเรสเตอรอล และไขมัน LDL ได้อีกด้วย  โดยมีงานวิจัยระบุว่า การรับประทานถั่วเปลือกแข็งวันละ 30 กรัม ควบคู่กับอาหารที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำสูง สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลถึง 30% และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

ข้าวโอ๊ต
ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ซึ่งทั้ง 2 แบบ ต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะไฟเบอร์แบบละลายน้ำ เพราะจะช่วยเพิ่มระดับของ ไขมัน HLD และลดระดับของ ไขมัน LDL ในร่างกาย จึงช่วยลดคอเลสเตอรอล รวมถึงยังป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจอีกด้วย

ข้าวบาร์เลย์
อีกหนึ่งธัญพืชมากประโยชน์ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ข้าวบาร์เลย์เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยลดคอเลสเตอรอลเป็นอย่างดี โดยนักวิจัยได้ยืนยันจากผลการศึกษาว่า ข้าวบาร์เลย์ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้จริงทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เนื่องจากข้าวบาร์เลย์มีส่วนประกอบของเส้นใยละลายน้ำ (Soluble Fiber) ชนิดเบตากลูแคนในปริมาณสูง ซึ่งเจ้านี่แหละที่ช่วยชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ข้าวบาร์เลย์ยังมีวิตามินหลายชนิด รวมถึงยังมีสารอาหารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย นับว่าเป็นธัญพืชที่ประโยชน์ครบครันอีกชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้

งา
เป็นธัญพืชที่มีแคลเซียมสูง และยังอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุจำนวนมาก เช่น วิตามิน บี1 บี2 บี3 ไบโอติน ไอโอดีน ธาตุเหล็ก สังกะสี ฟอสฟอรัส เป็นต้น นอกจากจะส่งผลในด้านคอเลสเตอรอลแล้ว ยังมีส่วนในระบบเผาผลาญ และสลายไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้าวโพด
ธัญพืชของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติหอมหวาน รับประทานง่าย นำไปใส่ได้ทั้งเมนูของคาวและของหวาน และยังถือเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในข้าวโพด คือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จึงย่อยสลายช้า ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานต่อเนื่อง อิ่มนาน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย นอกจากนี้การรับประทานข้าวโพดยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวาน ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี แคโรทีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ ที่มีส่วนช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลให้อยู่ระดับปกติ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าน้ำมันข้าวโพด ก็สามารถช่วยลดระดับไขมัน LDL ในร่างกายได้ เนื่องจากน้ำมันข้าวโพดจะช่วยสลายไขมันในเส้นเลือด จึงส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง

เมล็ดฟักทอง
ใครจะไปรู้ว่าเมล็ดฟักทองที่เราแทะๆ กินเล่นกันเป็นประจำ จะมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ แน่นอนว่าเวลานำมากินเล่น มันย่อมดีกว่าขนมกรุบกรอบแบบถุงๆ อยู่แล้ว แต่เมล็ดฟักทองยังมีดีมากกว่านั้น เพราะอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 3 แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหาร เป็นต้น นอกจากจะเป็นของว่างที่ปราศจากคอเลสเตอรอลแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลในร่างกายอีกต่างหาก โดยการบริโภคเมล็ดฟักทอง 2-4 ช้อนโต๊ะทุกๆ วัน สามารถลดระดับไขมัน LDL ได้ อีกทั้งยังช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

ลูกเดือย
เป็นอีกหนึ่งธัญพืชที่หารับประทานง่าย และสามารถนำมาเป็นส่วนผสมได้ในหลายๆ เมนู แถมยังมีประโยชน์เพียบ เพราะลูกเดือยจัดเป็นธัญพืชประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่มีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ นอกจากนี้ยังช่วยลดคอเรสเตอรอลในกระแสเลือดได้อีกด้วย โดยมีผลวิจัยที่พบว่า เมื่อรับประทานลูกเดือยแทนข้าวขัดขาวนาน 4 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าสามารถลดระดับไขมัน LDL ได้ รวมถึงใยอาหารจากลูกเดือยยังมีส่วนช่วยลดการดูดซึมไขมันดีเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย

ธัญพืชแต่ละชนิดไม่เพียงแต่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลเท่านั้น แต่ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการอีกเพียบ บอกเลยว่าคุณประโยชน์ไม่ได้มีเพียงเท่านี้แน่นอน ใครที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงอย่าลืมหันมาบริโภคอาหารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลกันนะ เพื่อสุขภาพที่ดีไม่มีโรคร้ายตามมาแน่นอน

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ

ทำความรู้จักกับ ธัญพืชนานาชนิดในขนมปัง ที่ส่งต่อวิตามินและประโยชน์ดีๆ ให้กับคุณ สำหรับขนมปังธัญพืชที่เรามักคุ้นเคยและกินบ่อยๆ อย่างขนมปังโฮลวีท ที่รวมธัญพืชชนิดต่างๆ ไว้มากมาย แต่ในความจริงแล้ว ยังมีขนมปังธัญพืชชนิดอื่นๆ อีกมากมาย ตามมาดูประโยชน์ดีๆ จากขนมปังธัญพืชเหล่านี้กันได้เลย

เมล็ดงา
ขนมปังธัญพืชชนิดเมล็ดงา มีประโยชน์ในการให้ กรดไขมันดี เช่น กรดไขมันไลโนเลอิค และยังมีสารอาหารและแร่ธาตุอื่นๆ อย่าง ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ

ข้าวบาร์เลย์
ข้าวบาร์เลย์ในขนมปัง มีแร่ธาตุหลายชนิด อาทิ ฟอสฟอรัส แมงกานีส เซเลเนียม และทองแดง มีกากใยอาหารค่อนข้างสูง และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจได้อีกด้วย

ถั่วพีแคน
ขนมปังที่ผสมถั่วพีแคน จะช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ในถั่วพีแคนยังอุดมไปด้วยวิตามินอี แมกนีเซียม และไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ที่จำเป็นและดีต่อสุขภาพ

ข้าวโอ๊ต
เพราะข้าวโอ๊ต” เป็นสารอาหารให้พลังงานสูงแต่มีไขมันที่ค่อนข้างต่ำ อุดมไปด้วยใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ซึ่งมีข้อดีในการไปช่วยดูดซับอาหารประเภทน้ำตาล แป้งและไขมัน ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

เมล็ดทานตะวัน
ขนมปังที่มีส่วนผสมของเมล็ดทานตะวันนั้นมีประโยชน์ไม่แพ้ธัญพืชชนิดอื่นเลยก็ว่าได้ เพราะประกอบไปด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัส มีวิตามินเอ บี2 และอี โดยเฉพาะวิตามินที่ช่วยในการสร้างผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง อ่อนกว่าวัย และบำรุงสายตาได้ดี

ทำไมขนมปังธัญพืชถึงดี?
ในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับขนมปังธัญพืชกันมาก เพราะหาทานง่ายและมีประโยชน์ โดยในขนมปังชนิดนี้มีส่วนผสมของ ธัญพืชชนิดไม่ขัดสี ที่ให้ประโยชน์มากขึ้น และมีกากใยสูงกว่าขนมปังชนิดปกติ นอกจากนี้ยังเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทเชิงซ้อน ช่วยทำให้ระบบการย่อยใช้เวลานานกว่าขนมปังทั่วไป อิ่มท้องนานขึ้นและมีประโยชน์แบบนี้ บอกเลยว่าสายรักสุขภาพ หรือผู้ที่ลดน้ำหนักต้องชอบ

ขนมปังธัญพืชยังมีอีกหลากหลายชนิดที่ดี และให้ประโยชน์กับร่างกาย ลองเลือกทานตามความชอบ และประโยชน์ที่คุณต้องการกันดูนะคะ

ที่มา : บล็อกเล่าเก้าสิบ

อาจจะเคยคุ้นหูกันบ้าง สำหรับถั่วพิลี ธัญพืชพื้นเมืองสุดโปรดของชาวฟิลิปปินส์

ความอร่อยอยู่ที่รสชาติมัน เนื้อเบาและกรุบ ได้รับการขนานนามว่าเป็นแมคคาเดเมียแห่งฟิลิปปินส์

ถั่วพิลีเป็นพืชป่าไม้เขตร้อน กำลังเป็นที่สนใจของตลาดขนมหวาน ทั้งยุโรป และอเมริกา

พื้นที่ปลูกที่ได้รับการยอมรับว่าให้ผลผลิตคุณภาพสูง และรสชาติดีที่สุด คือ จังหวัดอัลไบ ภูมิภาคบิโคล ทางตอนใต้ของเกาะลูซอน เพราะผืนแผ่นดินแห่งนี้อุดมไปสารอาหารจากภูเขาไฟมายอน ทำให้ถั่วพิลีของที่นี่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งโปรตีน แคลเซียม และโพแทสเซียม

ปัจจุบันฟิลิปปินส์นำถั่วพิลีมาแปรรูปเชิงพาณิชย์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนมากใช้เป็นขนมขบเคี้ยว มีหลากหลายรสชาติ ทั้งเคลือบน้ำตาล คลุกเกลือ หรือ เคลือบงา

ถือเป็นอีกถั่วพื้นเมืองที่น่าจับตา ว่าอนาคตจะเบียดถั่วเจ้าตลาดอย่างอัลมอนด์ พีแคน วอลนัท หรือ แมคคาเดเมีย ได้หรือไม่

สีทั้ง 5 ของอาหาร ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว และสีดำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในทั้ง 5 ของร่างกาย คือ ถ้าตับ หัวใจ ม้าม ปอด และไต อวัยวะภายในจะมีความเกี่ยวข้องและส่งผลต่อกัน เช่น ถ้าตับทำงานหนักเกินไปจะเป็นอันตรายต่อม้าม ม้ามทำงานหนักเกินไปจะเป็นอันตรายต่อไต เพราะฉะนั้น จึงควรกินอาหารทั้ง 5 สีอย่างสมดุล เมื่อเข้าใจความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสีของอาหารกับสุขภาพแล้ว ก็ลองจับคู่สีของอาหารดูว่าอาหารมื้อต่อไปจะได้เป็นอาหารที่กินแล้วมีความสุขและทำให้สุขภาพแข็งแรง

สีเขียว…ดีต่อตับ

สารอาหารหลัก: เส้นใยอาหาร โฟเลต วิตามินซี โพแทสเซียม
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีเขียวส่วนใหญ่มักเป็นผักและเต็มไปด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้บีบตัว ขับพิษออกจากร่างกาย ไม่ให้ตกค้างอยู่ในร่างกายจนถูกลำไส้ดูดซึม ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดพิษในร่างกายอย่างตับ ดังนั้นอาหารที่มีสีเขียวจึงเป็นอาหารที่ส่งผลดีต่อตับ ช่วยขจัดสารพิษ ส่วนวิตามินซีจะมีสารแอนติออกซิแดนต์ มีประโยชน์ในด้านความสวยความงาม ชะลอความแก่ และเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อาหารที่มีสีเขียวมีอะไรบ้าง
ผักใบเขียว: ปวยเล้ง ผักบุ้ง บร็อกโคลี ตั้งโอ๋ พริกหยวก ต้นหอม ขึ้นฉ่าย หน่อไม้ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ มะละกอดิบ แตงกวา บวบ ถั่วลันเตา ถั่วแขก
ผลไม้สีเขียว: ฝรั่ง เมลอน กีวี

สีแดง…ดีต่อหัวใจ

สารอาหารหลัก: ธาตุเหล็ก วิตามินเอ บีตาแคโรทีน ไลโคปีน โปรตีน ไขมัน
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีแดงจัดอยู๋ในหมู่อาหารที่มีฤทธิ์อุ่นและร้อนให้พลังงานสูง ส่วนมากมีธาตุเหล็กสูง มีคุณสมบัติในการบำรุงและผลิตเลือด ป้องกันและรักษาโรคโลหิตจางที่มีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก คลายความเมื่อยล้า ทำให้เลือดสูบฉีดดี ใบหน้ามีเลือดฝาด ผลไม้สีแดงมีบีตาแคโรทีนสูง ป้องกันสารอนุมูลอิสระที่เป็นโทษต่อร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็ง ชะลอความแก่ บำรุงผิวและเนื้อเยื่อ ป้องกันหวัด นอกจากนี้ สีของอาหารยังกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารได้อีกด้วย

อาหารที่มีสีแดงมีอะไรบ้าง
ผักสีแดงและสีส้ม: ฟักทอง แครอต พริกหวานสีแดง พริกสีแดง
เนื้อสัตว์สีแดง: วัว หมู แพะ และเครื่องในสัตว์ต่างๆ

สีเหลือง…ดีต่อม้าม

สารอาหารหลัก: คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินซี แคโรทีน
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีเหลืองส่วนใหญ่มักอุดมไปด้วยแคโรทีน และวิตามินซี ซึ่งมีสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยชะลอความแก่ เมื่อรวมกับวิตามินเอจะช่วยป้องกันโรคกระเพาะอักเสบ แผลในกระเพาะและลำไส้ โรคจากการติดเชื้อต่างๆ คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในอาหารเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สำคัญ มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงม้ามและกระเพาะ ช่วยให้มีสมาธิ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ มือเท้าเย็น เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินอาหารควรกินเยอะๆ

อาหารที่มีสีเหลืองมีอะไรบ้าง
ธัญพืช: ข้าวซ้อมมือ ข้าวฟ่าง
ผลไม้สีเหลือง: ข้าวโพด แครอต มะละกอ มันทศ ส้ม กล้วย สับปะรด มะเฟือง ฟักทอง พุทราจีน
ไข่แดง ถั่วเหลือง

สีขาว…ดีต่อปอด

สาอาหารหลัก: โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีขาว เช่น ลูกแพร์ ช่วยบำรุงปอด แก้ไข มีประโยชน์ต่อระบบหายใจ นมวัว โยเกิร์ต เต้าหู้อุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก อาหารประเภทปลา นม และไข่ให้โปรตีนแก่ร่างกาย ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ส่วนอาหารสีขาวจำพวกข้าวและเส้นก๋วยเตี๋ยวจะให้คาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งของพลังงานและสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ต้นหอม และกระเทียมยังมีสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (organosulfur compound) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อาหารที่มีสีขาวมีอะไรบ้าง
ธัญพืชและผลไม้มีเปลือก: ข้าวขาว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว อัลมอนด์ เม็ดบัว
ผลไม้สีขาว: ฮ่วยซัว หน่อไม้ หัวไชเท้า กะหล่ำดอก ฟัก หอมหัวใหญ่ เห็ดเข็มทอง เห็ดหูหนูขาว ลูกแพร์ ส้มโอ มะพร้าว เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมวัว โยเกิร์ต
เนื้อไก่และปลา

สีดำ…ดีต่อไต

สารอาหารหลัก: วิตามิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี ซีลีเนียม และแอนโทไซยานิน (anthocyanin: กลุ่มของสารสีที่ทำให้ดอกไม้และพืชเป็นสีม่วงแดง)
ดีต่อร่างกายอย่างไร: เปลือกภายนอกที่มีสีดำ หรือสีเข้มของอาหารเกิดจากสารแอนโทไซยานิน ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินอีและแร่ธาตุ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นแอนติออกซิแดนต์ และการไหลเวียนของเลือด กำจัดสารอนุมูลอิสระที่อยู่ในร่างกาย

อาหารที่มีสีดำมีอะไรบ้าง
ธัญพืชและผลไม้มีเปลือก: ข้าวหอมนิล งาดำ เกาลัด
ผักสีดำและถั่ว: มะเขือม่วง มัลเบอร์รี บ๊วย ลูกพลับ องุ่น ถั่วดำ
สาหร่ายและเห็ด: สาหร่ายจีฉ่าย สาหร่ายคมบุ สาหร่ายทะเล เห็ดหอม
เนื้อสัตว์: ไก่ดำญี่ปุ่นหรือซิลกี (silkie)

 


ข้อมูลจากหนังสือ กินเปลี่ยนชีวิตด้วยอาหาร 100 ชนิด จากธรรมชาติ สนพ.นานมีบุ๊คส์

ช่วงหน้าร้อนอากาศอบอ้าวแบบนี้ เราอาจไม่อยากไปออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งใดๆ เพราะอยากหลบแดด เปิดแอร์เย็นๆ นั่งสบายผ่อนคลายอยู่ในบ้านมากกว่า แต่ถ้าออกกำลังกายกันน้อยลงแล้ว เราอาจต้องหันมาระวังเรื่องการรับประทานอาหารกันมากขึ้นแทน เรียกว่าถ้าไม่อยากออกไปเบิร์นแคลอรี่ ท่ามกลางอากาศร้อนจัดหรือแดดเปรี้ยงๆ ก็มารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงไขมันส่วนเกินกันดีกว่า

เบอร์ทอลลี่ แบรนด์น้ำมันมะกอกอันดับหนึ่งของประเทศไทย จับมือ เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ เชฟหนุ่มจากรายการ C.I.Y. (Cook It Yourself) ร่วมสร้างสรรค์เมนู “กะเพรากุ้งธัญพืชกับข้าวไรซ์เบอร์รี” เมนูง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำรับประทานเองได้ที่บ้าน อีกทั้งยังอร่อยและสุขภาพดี ด้วยส่วนผสมจากผักและธัญพืชต่างๆ อาทิ ถั่วแดง ถั่วลันเตาหวาน เม็ดบัว เม็ดแปะก๊วย ข้าวไรซ์เบอร์รี และน้ำมันมะกอก ซึ่งเต็มไปด้วยไขมันดี ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และยังดีต่อระบบการทำงานของหัวใจ

“เมนูกะเพรากุ้งธัญพืชกับข้าวไรซ์เบอร์รี เกิดจากการรังสรรค์วัตถุดิบท้องถิ่นที่คนไทยต่างชื่นชอบและทำกินเป็นประจำอย่างกะเพรา เข้ากับวัตถุดิบเพื่อสุขภาพอย่างน้ำมันมะกอกและธัญพืชต่างๆ ซึ่งเป็นเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อมอบทั้งความอร่อยและสุขภาพดีให้แก่ทุกบ้าน” เชฟน่าน กล่าว และว่า “เมนูนี้เป็นเมนูที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว และยังสามารถเติมวัตถุดิบอื่นๆ ที่คนทำต้องการได้หมด เรียกได้ว่านอกจากจะอร่อย สะดวกรวดเร็วแล้ว ยังสุขภาพดีอีกด้วย”

เพียงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ตนเองและครอบครัว เท่านี้เราก็สามารถฟิตหุ่นรับซัมเมอร์นี้ได้อย่างสบายใจแล้ว

เมนู “กะเพรากุ้งธัญพืชกับข้าวไรซ์เบอร์รี”(สำหรับ 3-4 ท่าน)

เครื่องปรุง:

น้ำมันมะกอก Bertolli ชนิด Extra Light 3 ช้อนโต๊ะ

กระเทียมสับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ

พริกขี้หนูสับหยาบ 4 เม็ด

กุ้งแช่บ๊วยแกะเปลือกเด็ดหัวฝ่าหลังไว้หาง 8 ตัว

ถั่วแดงหลวงนึ่งสุก 4 ช้อนโต๊ะ

เม็ดบัว 4 ช้อนโต๊ะ

ถั่วลันเตาหวานลวกสุก 12 ฝัก

เม็ดแปะก๊วยต้มสุก 15 เม็ด

เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ 4 ช้อนโต๊ะ

ใบกะเพราสับหยาบ 2 ถ้วย

น้ำปลา 2 ช้อนชา

น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ

ยอดใบกะเพราสำหรับตกแต่ง

ข้าวไรซ์เบอร์รีสำหรับจัดเสิร์ฟ

วิธีทำ

1. ใส่น้ำมันมะกอก Bertolli ชนิด Extra Light ลงในกระทะ ตั้งไฟกลางให้พอร้อน

2. ใส่กระเทียมและพริกขี้หนูลงผัดพอหอม ใส่กุ้งลงผัดให้สุก เติมถั่วแดง เม็ดบัว ถั่วลันเตาหวาน แปะก๊วย และผัดให้เข้ากัน

3. ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำมันหอย ใส่ใบกะเพราสับ ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง

4. ปิดไฟ ตักใส่จาน และตกแต่งด้วยยอดใบกะเพรา เสิร์ฟกับข้าวไรซ์เบอร์รี