รู้จักสีทั้ง 5 ของอาหาร และผักแต่ละสี สีไหนดีต่อตับ หัวใจ ม้าม ปอด ไต

Health สุขภาพดีๆ

สีทั้ง 5 ของอาหาร ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว และสีดำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในทั้ง 5 ของร่างกาย คือ ถ้าตับ หัวใจ ม้าม ปอด และไต อวัยวะภายในจะมีความเกี่ยวข้องและส่งผลต่อกัน เช่น ถ้าตับทำงานหนักเกินไปจะเป็นอันตรายต่อม้าม ม้ามทำงานหนักเกินไปจะเป็นอันตรายต่อไต เพราะฉะนั้น จึงควรกินอาหารทั้ง 5 สีอย่างสมดุล เมื่อเข้าใจความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสีของอาหารกับสุขภาพแล้ว ก็ลองจับคู่สีของอาหารดูว่าอาหารมื้อต่อไปจะได้เป็นอาหารที่กินแล้วมีความสุขและทำให้สุขภาพแข็งแรง

สีเขียว…ดีต่อตับ

สารอาหารหลัก: เส้นใยอาหาร โฟเลต วิตามินซี โพแทสเซียม
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีเขียวส่วนใหญ่มักเป็นผักและเต็มไปด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้บีบตัว ขับพิษออกจากร่างกาย ไม่ให้ตกค้างอยู่ในร่างกายจนถูกลำไส้ดูดซึม ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดพิษในร่างกายอย่างตับ ดังนั้นอาหารที่มีสีเขียวจึงเป็นอาหารที่ส่งผลดีต่อตับ ช่วยขจัดสารพิษ ส่วนวิตามินซีจะมีสารแอนติออกซิแดนต์ มีประโยชน์ในด้านความสวยความงาม ชะลอความแก่ และเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อาหารที่มีสีเขียวมีอะไรบ้าง
ผักใบเขียว: ปวยเล้ง ผักบุ้ง บร็อกโคลี ตั้งโอ๋ พริกหยวก ต้นหอม ขึ้นฉ่าย หน่อไม้ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ มะละกอดิบ แตงกวา บวบ ถั่วลันเตา ถั่วแขก
ผลไม้สีเขียว: ฝรั่ง เมลอน กีวี

สีแดง…ดีต่อหัวใจ

สารอาหารหลัก: ธาตุเหล็ก วิตามินเอ บีตาแคโรทีน ไลโคปีน โปรตีน ไขมัน
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีแดงจัดอยู๋ในหมู่อาหารที่มีฤทธิ์อุ่นและร้อนให้พลังงานสูง ส่วนมากมีธาตุเหล็กสูง มีคุณสมบัติในการบำรุงและผลิตเลือด ป้องกันและรักษาโรคโลหิตจางที่มีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก คลายความเมื่อยล้า ทำให้เลือดสูบฉีดดี ใบหน้ามีเลือดฝาด ผลไม้สีแดงมีบีตาแคโรทีนสูง ป้องกันสารอนุมูลอิสระที่เป็นโทษต่อร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็ง ชะลอความแก่ บำรุงผิวและเนื้อเยื่อ ป้องกันหวัด นอกจากนี้ สีของอาหารยังกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารได้อีกด้วย

อาหารที่มีสีแดงมีอะไรบ้าง
ผักสีแดงและสีส้ม: ฟักทอง แครอต พริกหวานสีแดง พริกสีแดง
เนื้อสัตว์สีแดง: วัว หมู แพะ และเครื่องในสัตว์ต่างๆ

สีเหลือง…ดีต่อม้าม

สารอาหารหลัก: คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินซี แคโรทีน
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีเหลืองส่วนใหญ่มักอุดมไปด้วยแคโรทีน และวิตามินซี ซึ่งมีสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยชะลอความแก่ เมื่อรวมกับวิตามินเอจะช่วยป้องกันโรคกระเพาะอักเสบ แผลในกระเพาะและลำไส้ โรคจากการติดเชื้อต่างๆ คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในอาหารเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สำคัญ มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงม้ามและกระเพาะ ช่วยให้มีสมาธิ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ มือเท้าเย็น เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินอาหารควรกินเยอะๆ

อาหารที่มีสีเหลืองมีอะไรบ้าง
ธัญพืช: ข้าวซ้อมมือ ข้าวฟ่าง
ผลไม้สีเหลือง: ข้าวโพด แครอต มะละกอ มันทศ ส้ม กล้วย สับปะรด มะเฟือง ฟักทอง พุทราจีน
ไข่แดง ถั่วเหลือง

สีขาว…ดีต่อปอด

สาอาหารหลัก: โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม
ดีต่อร่างกายอย่างไร: อาหารสีขาว เช่น ลูกแพร์ ช่วยบำรุงปอด แก้ไข มีประโยชน์ต่อระบบหายใจ นมวัว โยเกิร์ต เต้าหู้อุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก อาหารประเภทปลา นม และไข่ให้โปรตีนแก่ร่างกาย ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ส่วนอาหารสีขาวจำพวกข้าวและเส้นก๋วยเตี๋ยวจะให้คาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งของพลังงานและสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ต้นหอม และกระเทียมยังมีสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (organosulfur compound) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อาหารที่มีสีขาวมีอะไรบ้าง
ธัญพืชและผลไม้มีเปลือก: ข้าวขาว ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว อัลมอนด์ เม็ดบัว
ผลไม้สีขาว: ฮ่วยซัว หน่อไม้ หัวไชเท้า กะหล่ำดอก ฟัก หอมหัวใหญ่ เห็ดเข็มทอง เห็ดหูหนูขาว ลูกแพร์ ส้มโอ มะพร้าว เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมวัว โยเกิร์ต
เนื้อไก่และปลา

สีดำ…ดีต่อไต

สารอาหารหลัก: วิตามิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี ซีลีเนียม และแอนโทไซยานิน (anthocyanin: กลุ่มของสารสีที่ทำให้ดอกไม้และพืชเป็นสีม่วงแดง)
ดีต่อร่างกายอย่างไร: เปลือกภายนอกที่มีสีดำ หรือสีเข้มของอาหารเกิดจากสารแอนโทไซยานิน ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินอีและแร่ธาตุ มีส่วนช่วยในการกระตุ้นแอนติออกซิแดนต์ และการไหลเวียนของเลือด กำจัดสารอนุมูลอิสระที่อยู่ในร่างกาย

อาหารที่มีสีดำมีอะไรบ้าง
ธัญพืชและผลไม้มีเปลือก: ข้าวหอมนิล งาดำ เกาลัด
ผักสีดำและถั่ว: มะเขือม่วง มัลเบอร์รี บ๊วย ลูกพลับ องุ่น ถั่วดำ
สาหร่ายและเห็ด: สาหร่ายจีฉ่าย สาหร่ายคมบุ สาหร่ายทะเล เห็ดหอม
เนื้อสัตว์: ไก่ดำญี่ปุ่นหรือซิลกี (silkie)

 


ข้อมูลจากหนังสือ กินเปลี่ยนชีวิตด้วยอาหาร 100 ชนิด จากธรรมชาติ สนพ.นานมีบุ๊คส์