วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทยเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นวันครบรอบของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีของสยาม ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จากประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 417 ปี ทำให้กรุงศรีอยุธยานั้นได้อยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของบ้านเรา รวมทั้งเป็นต้นแบบในด้านต่างๆ ส่งต่อมายังกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศิลปกรรม การเมืองการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ

การสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีนั้น จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอำนาจ 2 กลุ่ม ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือแคว้นละโว้-อโยธยา ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผู้คนในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองจากอาณาจักรเขมรโบราณ หรือเมืองพระนครนั่นเอง

ส่วนอีกขั้วอำนาจหนึ่งคือแคว้นสุพรรณภูมิ หรือสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี

ความสัมพันธ์กับแคว้นละโว้ทางเครือญาติ โดยผ่านการแต่งงานกัน อันเป็นธรรมเนียมที่เป็นการผูกสัมพันธ์กันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐในยุคโบราณ ที่ได้รับสืบมาจากอินเดีย

แต่เรื่องที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับการสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น นอกจากคำถามที่ว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นใคร มาจากไหน? แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของวันที่สถาปนาราชธานีแห่งนี้ขึ้นมา ว่าสรุปแล้ว กรุงศรีอยุธยา สถาปนาในวันเดือนปีไหนกันแน่?

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ากรุงศรีอยุธยานั้นสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 โดยมีการอ้างอิงจากพระราชพงศาวดารของไทยฉบับต่างๆ ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวไว้ว่า

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ “พระเจ้าอู่ทอง” พระมหาหษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา

“ศักราช ๗๑๒ ขาลศก วัน ๖  ๕  ค่ำเพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาด แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุทธยา”

ทั้งนี้จะสังเกตว่าในพระราชพงศาวดารนั้นจะใช้ “จุลศักราช” เป็นหลัก ในขณะปัจจุบันนิยมใช้ “พุทธศักราช” แทน ซึ่งจุลศักราชนั้นจะช้ากว่าพุทธศักราชอยู่ 1,181 ปี ดังนั้นเมื่อนำจุลศักราช 712 ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่นำมาอ้างอิงในข้างต้น บวกกับ 1,181 ก็จะได้เท่ากับเป็นปี พ.ศ.1893 พอดี ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่หลายๆ ท่านทราบดีอยู่แล้ว

แต่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลับระบุว่า ปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้นคือปี ค.ศ. 1351 ซึ่งเมื่อแปลงเป็นพุทธศักราชแล้ว ก็จะได้ตรงกับปี พ.ศ. 1894

ตัวเลขปีที่ได้มาจากหลักฐานชิ้นนี้จึงไม่ตรงกับเอกสารพระราชพงศาวดารของฝ่ายไทย จึงทำให้เกิดข้อสงสัย เพราะคิดว่ามองสิเออร์ลาลูแบร์ไม่น่าจะระบุตัวเลขคลาดเคลื่อน เนื่องจากได้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและจดรายละเอียดเกี่ยวกับดินแดนรวมถึงผู้คนของที่นี่ไว้อย่างรอบด้าน

ในหนังสือ “ศรีรามเทพนคร รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น” ของอาคม  พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์ พบว่าทั้ง 2 ท่านเชื่อว่าปี พ.ศ. 1894 เป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดทั้ง 2 ท่าน จึงไม่ใช้ศักราชตามเอกสารพระราชพงศาวดารไทย

จนในที่สุดก็ได้ข้อสมมติฐานที่น่าสนใจว่า เดิมทีชาวสยามแต่ครั้งอยุธยา ได้ถือเอาช่วงหลังวันสงกรานต์ คือวันที่ 16-17 เมษายนเป็นวันขึ้นศักราชใหม่นั่นเอง ไม่ใช่วันที่ 1 มกราคมเหมือนในปัจจุบัน

ส่วนวันขึ้นปีใหม่ในปัจจุบันนั้น ได้ตั้งขึ้นตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลในเวทีโลก เมื่อปี พ.ศ. 2483 ที่ผ่านมานี้เอง

ดังนั้นหากยึดตามการนับวันแบบอยุธยาแล้ว วันที่ 4 มีนาคม จุลศักราช 712 จึงน่าจะตรงกับ พ.ศ. 1894 มากกว่า เพราะยังไม่เข้าสู่วันสงกรานต์ที่ต้องขึ้นศักราชใหม่นั่นเอง

โดยในส่วนนี้ตรงกับความคิดเห็นของ ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่ได้อธิบายไว้ว่า

“พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุวันเดือนปีแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ไว้ด้วยระบบปฏิทินจันทรคติว่า ตรงกับ “ศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า เวลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา ที่ผ่านมา ได้มีการคำนวณปรับเทียบวันเดือนปีดังกล่าวกับระบบปฏิทินสุริยคติ จึงได้ว่า ตรงกับ “วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม จุลศักราช 712” จากนั้น จึงแปลงเลขจุลศักราชดังกล่าวเป็นเลขพุทธศักราช ด้วยการบวก 1181 เข้าไป จึงได้ว่า ตรงกับ “วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.1893” 1 วันเดือนปีดังกล่าวจึงเป็นที่เผยแพร่กันโดยทั่วไปอย่างไรก็ตาม วันสถาปนากรุงศรีอยุธยาดังกล่าวมี “จุดลักลั่นทางปฏิทิน” อยู่ 2 จุด คือ “เลขวันที่” กับ “เลขพุทธศักราช” เพราะที่ถูกต้องตรงตาม “ปฏิทินไทยสากล” ซึ่งขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องตรงกับ “วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 1894”

ภาพวาด ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสจากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้เข้ามาเจริญไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ดังนั้นนี่จึงอาจเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดมองสิเออร์ลาลูแบร์ จึงได้ระบุปีที่สถาปนากรุงศรีอุธยาว่าตรงกับปี พ.ศ. 1894 คงเพราะบุคคลท่านนี้ได้เดินทางมาจากโลกตะวันตกซึ่งมีการนับการขึ้นศักราชใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ดังนั้นปีศักราชใหม่ของโลกตะวันตกจึงเร็วกว่าของไทยอยู่ประมาณ 3-4 เดือนนั่นเอง

แต่หากยึดตามบริบทปัจจุบันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ความเป็นอารยะสากลในเวทีโลกในการนับวันเวลามาตั้งแต่ช่วงทศวรรรษ 2480 โดยถือเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นศักราชใหม่ จึงควรนับว่าวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 1894 เป็นวันสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน

ถึงละครบุพเพสันนิวาสจะอำลาจอ แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากละครเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนยังให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังมีสิ่งให้ชวนค้นหาอีกมาก

หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า “ทำไมสมเด็จพระนารายณ์ถึงไม่ประทับอยู่ที่อยุธยา แต่ประทับอยู่ที่ละโว้แทน” เพราะจากละครจะเห็นได้ว่าพระองค์ประทับอยู่ละโว้ ออกว่าราชการที่ละโว้ รวมไปถึงเสด็จสวรรคตที่ละโว้ด้วย

การมาประทับอยู่ที่ละโว้ของพระองค์นั้นไม่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่ประทับอยู่ถึงปีละ 8 เดือน ในฤดูหนาวและฤดูร้อน มีสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดสันเปาโล สถานที่มีหอดูดาวของคณะบาทหลวงเยซูอิต, พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระตำหนักเย็น พระตำหนักที่พระองค์ไว้ใช้เปลี่ยนพระอิริยาบถ และทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศสและขุนนางไทย เป็นต้น จนได้ชื่อว่าละโว้นั้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยอยุธยาเลยก็ว่าได้

คำตอบของคำถามนี้ “รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักวิชาการประวัติศาสตร์ เล่าให้ฟังระหว่างเป็นวิทยากรในทัวร์ย้อนเวลาพาออเจ้าไปขุนหลวงนารายณ์ที่ละโว้ จ.ลพบุรี กับ “มมติชนอคาเดมี” ว่า รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เริ่มต้นที่ปี พ.ศ.2199 ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระราชบิดา สวรรคต พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีหลักคือเจ้าฟ้าชัย เพราะฉะนั้นราชบัลลังก์ของพระเจ้าปราสาททองจึงตกไปอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย

แต่พระเจ้าปราสาททองยังมีพระอนุชา คือ พระศรีสุทธรรมราชา ส่วนสมเด็จพระนายรายณ์นั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง แต่มิได้เกิดแต่พระอัครมเหสี เท่ากับว่ายังมีคนที่มีสิทธิที่จะได้ราชบัลลังก์อีกหลายคน ดังนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองสวรรคต บัลลังก์ตกตามสิทธิโดยชอบธรรมไปอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย แต่พระศรีสุทธรรมราชาและพระนารายณ์ไม่ปรารถนาให้ราชบัลลังก์ไปตกอยู่ที่เจ้าฟ้าชัย จึงร่วมกันปฏิวัติ ขณะที่เจ้าฟ้าชัยขึ้นครองราชย์เพียง 7 วันเท่านั้น จากนั้นยกพระศรีสุทธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

หลังจากนั้นอีก 3 เดือน สมเด็จพระนารายณ์ก็ปฏิวัติซ้ำ เท่ากับว่าในปี พ.ศ.2199 เกิดการปฏิวัติ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิวัติแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมเด็จพระนารายณ์ คือ การกำจัดขุนนางที่รับราชการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองที่อยุธยาไปมาก ขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงถูกกำจัดไปเกลี้ยง แล้วใช้ขุนนางรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขุนนางไทย ขุนนางแขก ที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ก็ใช้ขุนนางพวกนี้ เนื่องจากพระองค์ไม่ไว้ใจขุนนางดั้งเดิม แต่ไม่ได้แปลว่าปี พ.ศ.2199 สร้างลพบุรี แต่ท่านทิ้งเวลา 10 ปีแล้วถึงเริ่มมาสร้างเมืองนี้

ลพบุรีมาเกิดเมื่อปี พ.ศ.2209 แต่คำว่าสร้างลพบุรี ไม่ได้แปลว่าสร้างทุกอย่างในเมืองลพบุรี เพราะหลายอย่างในลพบุรีมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ป้อมปราการอาจสร้างขึ้นมาใหม่ แต่พระราชวังมีอยู่แล้ว รวมไปถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์สามยอดก็มีมาอยู่ก่อนแล้ว เพราะลพบุรีเป็นเมืองลูกหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเคยประทับมาก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น สมเด็จพระราเมศวร ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือ

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรีนี้มีอยู่แล้ว พระองค์เพียงแค่มาเสริมสร้างให้มั่นคงขึ้น และด้วยความที่มีปัญหาทางการเมืองในต้นรัชกาล พระองค์จึงพยายามหาเมืองสำรองขึ้นมาอีกหนึ่งเมือง

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไม 10 ปีแรกของการครองราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์ถึงมีปัญหา สาเหตุเป็นเพราะเกิดกบฏขึ้นมาอยู่หลายครั้งที่มาท้าทายอำนาจของพระองค์ โดยกบฏที่สำคัญคือ กบฏของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ หรือว่าพระองค์ทอง ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงรวบรวมกองกำลังพลเพื่อก่อการกบฏหลังจากสมเด็จพระนาราย์ขึ้นครองราชย์เพียง 2 เดือน แต่ยังไม่ทันได้ลงมือก็ถูกสอบสวนและจับได้ก่อน โดยพบว่ามีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมด้วย พระองค์จึงโปรดให้สำเร็จโทษพระไตรภูวนาทิตยวงศ์และขุนนางเหล่านั้นทันที

เพราะฉะนั้น 10 ปีแรก มีกบฏภายใน มีสงครามที่พระนารายณ์ต้องไปทำกับเชียงใหม่ มีเรื่องต่างๆ นานามากมาย แต่ยังไม่มีเรื่องการต่างประเทศ เพราะฉะนั้น 10 ปีแรกจึงเป็น 10 ปีที่พระองค์สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่พระองค์เอง โดยการหาเมืองใดเมืองหนึ่งในบริเวณอยุธยาให้เป็นที่ประทับแห่งที่ 2 โดยที่พระองค์เองก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาที่ประทับนี้ไว้เพื่อจุดประสงค์ใดเป็นหลักแน่ๆ แต่ขอให้มีอยู่อีกสักที่หนึ่ง ถ้ามีอะไรฉุกเฉินที่อยุธยา ต้องมาลพบุรี

การเดินทางจากอยุธยามาละโว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นจะเดินทางโดยขบวนเรือ ล่องมาทางแม่น้ำลพบุรี ซึ่งจะใช้เวลาราว 1 วันครึ่ง แต่จะมาทางม้าแบบพี่หมื่นและแม่การะเกดในละครนั้นก็ได้เช่นกัน แต่คงจะไม่เร็วแบบนั้นแน่นอน เพราะคนคงจะเมื่อยเสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะเสด็จมาขึ้นที่ท่าน้ำที่ปัจจุบันเรียกว่าท่าพระนารายณ์ เมื่อขบวนเรือทั้งหมดมาถึง จะส่งพระนารายณ์ท่านี้ ส่วนขุนนางทั้งหมดจะไปขึ้นที่ท่าถัดไป ซึ่งเรียกว่าท่าขุนนาง แต่ปัจจุบันเรียกพื้นที่ในแถบนั้นทั้งหมดว่าท่าขุนนาง

เมื่อขึ้นจากเรือ พระองค์จะประทับบนเสลี่ยงแล้วเข้าไปในบริเวณวัง ซึ่งจะผ่านทางเดินขึ้นที่เป็นเนินซึ่งปัจจุบันทำเป็นบันได เรียกว่าบันได 51 ขั้น และกลายเป็น unseen ลพบุรีไปโดยปริยาย

คำถามคือทำไมไม่ไปสุพรรณบุรี คำตอบก็คือเป็นเพราะว่าไปไม่ได้ เนื่องจากแม่น้ำท่าจีนที่ผ่านสุพรรณบุรีนั้นไม่ได้เชื่อมกับอยุธยา ขณะที่แม่น้ำลพบุรีเชื่อมโยงไปถึงอยุธยาได้ บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่ไปพิษณุโลก นั่นก็เพราะว่าพิษณุโลกไกลมาก และยังมีอำนาจเก่าดั้งเดิมของเมืองสองแควอยู่ เช่นเดียวกับกำแพงเพชรและสุโขทัย เพราะฉะนั้นความปลอดภัยคือต้องมาเมืองที่ใกล้อยุธยาที่สุด คือ ลพบุรี

และที่ไม่ไปกรุงเทพฯ และธนบุรี เพราะสองเมืองนี้ยังไม่มีความเป็นเมือง ธนบุรีในสมัยนั้น หลังรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์ยังเป็นเพียงตลาดอยู่เท่านั้น คือเป็นเพียงคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่กระจายอยู่ ไม่ใช่เมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ไม่ใช่เมืองที่มีป้อมปราการแล้ว ไม่ใช่เมืองที่มีพระมหาธาตุปักอยู่เป็นหลักของเมืองแล้ว ซึ่งการจะเลือกเมืองใดเมืองหนึ่งนั้น ท่านจะเลือกต้องเป็นเมืองที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ส่วนสิงห์บุรีก็เป็นเมืองที่ไม่มั่นคงแบบลพบุรี ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างสิงห์บุรีกับลพบุรี ท่านต้องเลือกลพบุรีอยู่แล้ว เพราะแม่น้ำที่จะใช้เดินทางไปสิงห์บุรี หรือ แม่น้ำน้อย เป็นแม่น้ำสายเล็ก และคดเคี้ยวมาก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมา จะลำบากเข้าไปอีก ทำให้ท่านเลือกลพบุรีนั่นเอง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่จะย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นจะเลือกขึ้นมาอีกสองเมือง คือ สระบุรี และลพบุรี ให้ลพบุรีเป็นเมืองทหาร จึงเกิดค่ายหารขึ้นมากมาย และให้สระบุรีเป็นเมืองศาสนา

เรียกได้ว่ายังเป็นที่สงสัยสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์กันอยู่มาก ว่าแท้จริงแล้ว “ออกหลวงสรศักดิ์” หรือ พระเจ้าเสือเป็นใคร เป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์จริงหรือไม่ แล้วเหตุใดพระเพทราชาถึงเป็นคนเลี้ยงดูออกหลวงสรศักดิ์

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล เล่าให้ฟังว่า การที่พระเพทราชามาเป็นพ่อของออกหลวงสรศักดิ์ได้นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องยังสันนิษฐานกันในทางประวัติศาสตร์ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

โดยออกหลวงสรศักดื์นั้นเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าข่ายเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากออกหลวงสรศักดิ์นั้นเกิดที่โพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จกลับหลังจากไปทำสงครามที่เชียงใหม่ ซึ่งในพงศาวดารบอกว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้พระธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นมเหสี และเข้าใจว่าเจ้าหญิงเมืองเชียงใหม่ทรงตั้งครรภ์ และเมื่อกลับลงมาก็คลอด

รศ.ดร.ปรีดีกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจเหตุผลที่อยู่ๆ ท่านก็ยกลูกคนนี้ให้พระเพทราชา แต่โดยนัยก็รู้ว่าออกหลวงสรศักดิ์เป็นพระราชโอรสลับของพระนารายณ์ ที่พระเพทราชาเลี้ยงมาตั้งแต่ต้น ซึ่งช่วงนั้นเป็น 10 ปีแรกของรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ สาเหตุที่ว่าทำไมพระนารายณ์ไม่รับเป็นลูกนั้น อาจยังตอบไม่ได้ แต่เป็นไปได้ว่าพระนารายณ์กลัวว่าถ้าพาออกหลวงสรศักดิ์กลับมาที่อยุธยาแล้วจะเกิดความไม่พอใจหรือเปล่า หรือกลัวว่าที่อยุธยามีคนอื่นอยู่แล้ว การเอากลับมาด้วยจึงอาจไม่ปลอดภัยสำหรับลูก

“นอกจากนี้ ขณะนั้นในอยุธยาก็มีอำนาจทางการเมืองของหลายฝ่าย ทั้งอำนาจของอยุธยา สุพรรณบุรี แล้วอยู่ๆ ก็มีอำนาจทางการเมืองของออกหลวงสรศักดิ์เข้ามาอีก ก็อาจทำให้อำนาจทางการเมืองมีหลายฝ่ายขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะไม่ปลอดภัยต่อออกหลวงสรศักดิ์ด้วยก็เป็นได้ จึงให้พระเพทราชาไปดูแล หรือพระเพทราชาอาจจะขอไปดูแลเองก็ได้ เพราะไม่พบว่าพระเพทราชามีพระราชโอรสหรือพระธิดาก่อนขึ้นครองราชสมบัติ”

ทั้งนี้ ก่อนที่พระเพทราชาจะขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงมีพระมเหสีอยู่แล้วคนหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏชื่อ และมามีมเหสีเพิ่มอีก 2 พระองค์ เมื่อสิ้นรัชกาลพระนารายณ์แล้ว โดยพแพระองค์ขึ้นครองราชเป็นพระเพทราชา พระองค์ก็ยกมเหสีเดิมขึ้นเป็นมเหสีกลาง และให้พระขนิษฐาหรือน้องสาวของพระนารายณ์ และพระธิดาของพระนารายณ์มาเป็นมเหสีซ้าย-ขวาด้วย รวมแล้วคือหลังจากขึ้นครองราชย์ พระเพทราชามีมเหสี 3 พระองค์ และมามีลูกในภายหลัง

เรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยพระเพทราชาที่น่าสนใจยังมีอีกมาก “มติชนอคาเดมี” ชวนไปตามรอยออกพระเพทราชาในทัวร์ ออกพระเพทราชา “ฮีโร่” แห่งกรุงศรีฯ จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา กำหนดเดินทางวันที่ 23 มิถุนายน ส่วนรอบ 2 กำหนดเดินทางวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี เป็นวิทยากร ราคา 2,700 บาท

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy

หรืออ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_14622

ม้ว่าละครบุพเพสันนิวาสจะลาโรงจบไปแล้ว แต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังคงเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องราวอันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่มีการบันทึกใดๆ ไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีก็แต่จากปากคำการบอกเล่า หรือบันทึกส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องกระหายใคร่รู้กันมาก อย่างเช่นเรื่องของ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” หรือ “คอนสแตนติน ฟอลคอน”

เรื่องราวของท่านผู้นี้ “สุกิจ นิมมานเหมินท์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2512 ราชบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ เคยเขียนหนังสือกล่าวถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นความรู้ใหม่ให้คนอ่านได้ใคร่ครวญตามอย่างที่ท่านว่า ซึ่งเป็นดังนี้…

พระยาวิชเยนทร์หรือวิไชเยนทร์นั้น ตามเอกสารหนังสือที่พอจะพบถ่ายภาพมาได้ ก็ว่าเป็นเจ้าพระยาเสนาบดีของไทยคนแรกที่เป็นคนต่างด้าว เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรมท่า จนได้เลื่อนยศฐาบรรดาศักดิ์ขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุที่ท่านผู้นี้มีชื่อเดิมเป็นภาษากรีกว่า “เยระกี” (Yeraki) บ้าง Hierachy บ้าง แล้วแต่จะสะกดกัน

เมื่อมาสมัครงานเป็นลูกเรืออังกฤษ ก็แปลชื่อสกุลของตน จากคำว่า “เยระกี” ซึ่งแปลว่า “เหยี่ยว” ไปเป็น “Falcon” อ่านว่า “ฟอลคอน” แปลว่า “เหยี่ยว” เหมือนกัน ต่อมาภายหลังเมื่อรู้กันว่ากำพืดเดิมของท่านผู้นี้เป็นกรีก ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางภาษาเกิดแก้ตัวสะกดใช้ตัว Ph แทน F ก็เลยแปลงนาม Falcon มาเป็น Phaulkon ซึ่งเมื่อเขียนควบกับนามตัวเข้าไปก็เป็น “คอนสะแตนติน ฟอละคอน” หรือ “Constantine Phaulkon”

แต่ในเอกสารฝรั่งเศสยังใช้แต่บุรุษสรรพนามของท่าน ว่า Monsieur Constance หรือแค่ M.Constance เท่านั้น มีผู้รู้บางท่าน โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยออกความเห็นว่า ตราประจำตระกูลของเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นรูปเหยี่ยว ดังที่ปรากฏใช้ประทับเอกสารของท่านผู้นั้น ที่ใช้ติดต่อกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งนั้น ถ้าดูเผินๆ แล้วจะเห็นได้ว่าช่างคล้ายกับตรา นกวายุภักษ์ ซึ่งเป็นตราประจำกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือกระทรวงการคลังปัจจุบันนี้เอามากๆ

ภาพตราประจำตระกูลจากในละคร
ตราประจำกระทรวงการคลัง

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้นี้ นับว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในราชสำนักสยาม หนำซ้ำยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นถึงสมุหนายก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้อย่างนี้มาก่อน

ป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์จริง และในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ตัวตนจริงของออกญาโหราธิบดีในประวัติศาสตร์นั้น รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นคนแต่งแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกชื่อ “จินดามณี” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดและแพร่หลายที่สุด

จินดามณีเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่เป็นมาตรฐานสำหรับการเล่าเรียนเขียนอ่านของลูกหลานคนไทยมาอย่างยาวนาน มากกว่าแบบเรียนภาษาไทยเล่มใด คือตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ค่อยๆเสื่อมความนิยมลง

 

ที่จริงแล้วคำว่า “พระโหราธิบดี” มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ กล่าวคือเป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือ โหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน มิถุนายน 2546 กล่าวถึงออกญาโหราธิบดีว่าเป็นปราชญ์เมืองเหนือและปราชญ์ทางภาษาไทยสมัยนั้น ประวัติของท่านมีกล่าวไว้ในหนังสือจินดามณีเกือบทุกฉบับว่า “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าลพบุรี” และอีกตอนหนึ่งว่า “ขุนปราชญ์หนึ่งเลิศ เปนโหรประเสริฐ ปัญญาชำนาญ ชาวโอฆบุรี สวัสดีพิศาล ข้าพระภูบาล เจ้ากรุงพระนคร”

จากข้อความข้างต้นพอสรุปได้ว่า “พระโหราธิบดีนี้ บ้านเดิมท่านน่าจะอยู่สุโขทัย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่โอฆบุรีหรือพิษณุโลก แล้วค่อยย้ายมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระโหราธิบดีผู้นี้ ว่า

“น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับพระโหราที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ว่าเป็นโหราที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือว่าทายได้แม่นยำนั่นเอง” ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถูกต้อง ก็นับว่าเส้นทางชีวิตของพระโหราธิบดีผู้นี้ยาวไกลมาก คือจากสุโขทัย จากโอฆบุรี ลงไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา และได้ดิบได้ดีจนกระทั่งได้แต่งจินดามณี รวบรวมพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และถึงแก่มรณกรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นที่สุดของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ว่า พระโหราธิบดีผู้นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันกับมหาราชครู กวีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ หรือไม่ และพระโหราธิบดีผู้นี้คือพ่อของศรีปราชญ์ กวีผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของสมัยนั้นด้วยหรือไม่ เพราะมีแนวคิดของนักประวัติศาสตร์อีกแนวว่า “ศรีปราชญ์” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

พระโหราธิบดีจะเป็นพ่อของศรีปราชญ์และเป็นคนคนเดียวกับมหาราชครูหรือไม่ต้องรอข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องรอข้อพิสูจน์เพราะหลักฐานชัดเจนก็คือ พระโหราธิบดีท่านเป็นคนจากดินแดนซึ่งเคยเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย หรือที่คนกรุงศรีอยุธยาเรียกขานกันว่า “เมืองเหนือ” เมื่อท่านเกิดที่แคว้นสุโขทัย ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการศึกษาเล่าเรียนของท่านก็ต้องศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตและสำนักวัดต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะจากเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นเบื้องต้น

ทราบกันดีว่าแคว้นสุโขทัยนั้นเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองศิลปวัฒนธรรมด้านภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์มาก่อน อีกทั้งมีแนวทางด้านภาษาและอักษรเป็นของตนเอง เมื่อพระโหราธิบดีท่านมีฐานทางภูมิปัญญาจากถิ่นนี้ ท่านก็ย่อมซึมซับเอาภูมิรู้ด้านภาษาและอักษรศาสตร์แบบสุโขทัย ซึ่งอย่างน้อยในสมัยของท่านจักต้องคงความรุ่งเรืองอยู่บ้าง เอาไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในเรื่องการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ของท่านโหราธิบดีผู้นี้ โจษขานกันว่าแม่นยำยังกะตาเห็น ที่เล่าลือกันอย่างมากจนกลายมาเป็นฉายา “พระโหราธิบดีทายหนู” นั้น เรื่องมีอยู่ว่า

ในคราวที่รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์) วันหนึ่งขณะประทับในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทกับเหล่าข้าราชการทั้งหลาย ได้มีมุสิก (หนู) ตกลงมาแล้ววิ่งเข้าหาที่ประทับ พระองค์ทรงใช้ขันทองครอบไว้แล้วให้มหาดเล็กไปตามพระโหราธิบดีมาทายว่าสิ่งใดอยู่ในขันทองนี้ พระโหราธิบดีมาตามรับสั่ง เมื่อคำนวณดูแล้ว จึงกราบบังคมทูล ว่า

“เป็นสัตว์สี่เท้า” พระเจ้าปราสาททองตรัสว่า “ชนิดใด” พระโหรากราบบังคมทูลว่า “มุสิก” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสต่อว่าแล้วมีกี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วกราบบังคมทูลว่า “มี 4 ตัว พระเจ้าข้า ” พระเจ้าปราสาททองทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า “มุสิกนั้นถูกต้องแล้ว แต่มีแค่ตัวเดียว มิใช่ 4 ตัว คราวนี้เห็นทีท่านจะผิดกระมังท่านโหรา” เมื่อทรงเปิดขันทองที่ครอบหนูไว้ ก็ปรากฏว่ามีหนูอยู่ 4 ตัวจริง

เพราะหนูที่ตกลงมานั้นเป็นหนูตัวเมียท้องแก่ เมื่อตกลงมาก็ตกลูก 3 ตัวในขันทองพอดี การพยากรณ์ครั้งนั้นจึงสร้างชื่อเสียงให้แก่พระโหราธิบดีเป็นอันมากจนได้รับสมญานาม ว่า “พระโหราธิบดีทายหนู” สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดให้พระโหราธิบดีเป็นพระราชครูถวายพระอักษรสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นต้นมา

นักแสดงละครบุพเพสันนิวาสที่ทำเอาคนทั้งประเทศอินไปตามๆ กัน ตั้งแต่บทพระเอกจนตอนนี้พระรองนักแสดง ใครๆ ที่มีบทเด่นๆ ในละครนี้ล้วนแต่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ล่าสุดไม่ใช่พี่หมื่นแต่อย่างใด แต่เป็น “ออกพระเพทราชา” ซึ่งรับบทโดย “ศรุต วิจิตรานนท์” ที่แสดงได้อินจนคนดูอินจัดไปกับฉากปะทะคารมกับ “สมเด็จพระนารายณ์” จนหลายคนรับพลิกอ่านประวัติศาสตร์กันแทบไม่ทัน

ทัวร์มติชน อคาเดมี จึงได้จัดทริปพาออเจ้า ไปเฝ้า “ขุนหลวงนารายณ์” ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) เพื่อพาย้อนไปชมประวัติศาสตร์จากซากปรักหักพัง ที่มีชีวิตอีกครั้งโดย ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี กูรูนักประวัติศาสตร์ (อ่านรายละเอียดที่ลงค์นี้ https://www.matichonacademy.com/update/article_9124)

โดยสมเด็จพระเพทราชา เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงและอยู่ในราชสมบัตินาน 15 ปี ได้ราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ โดยได้ราชสมบัติตอนพระชนมายุ 51 พรรษา ประวัติศาตร์ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเพทราชาจากหลากหลายมุมมอง จากสิ่งที่สมเด็จพระเพทราชาได้ทำการรัฐประหารยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ ขณะที่ทรงประชวรด้วยโรคไอหืด

ท่ามกลางบรรยากาศของข้าศึกที่ประชิดประตูเมืองในทุกด้านนั้น สมเด็จพระเพทราชา เมื่อทำการรัฐประหารสำเร็จ ได้ราชสมบัติแล้ว ยังได้กระทำการขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก ที่อยู่ในความควบคุมของนายพลเดส์ฟาร์จ และที่ป้อมเมืองมะริด ในความควบคุมของนายพลดูบรูอัง เฉพาะที่ป้อมบางกอกค่อนข้างใช้เวลาและมีการสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย ครั้นทำท่าจะสงบศึกกันได้ แต่เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทำให้กลายเป็นศึกยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น

ในที่สุดสงครามก็ยุติลงโดยไทยได้ตัวประกัน 4 คนคืนมา (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2 คน ล่ามและทหารรับใช้) กับได้สมบัติฝรั่งเศส และได้กักกันนักบวชจำนวน 70 คน ไว้ระยะหนึ่งก่อนจะให้อิสรภาพ โดยเฉพาะบุตรชาย 2 คน ของนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งเป็นตัวประกัน ซึ่งท่านนายพลก็โหดเหี้ยมพอที่จะยอมเสียบุตรชายทดแทนกับการกระทำขัดคำสั่งของพระเพทราชา อย่างไรก็ดีทรงมีเมตตาให้อิสรภาพแก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด รวมทั้ง มารี กีมาร์ ภรรยาและบุตรของวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) อีกคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นสยาม (อยุธยา) อาจถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (2231) ก็เป็นได้

ในด้านความสัมพันธ์ของพระเพทราชากับสมเด็จพระนารายณ์นั้น แม่จริงของพระเพทราชา คือแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์ นั่นคือเจ้าแม่วัดดุสิต นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์พระอาจารย์องค์เดียวกัน (พระอาจารย์พรหม) ที่สำคัญกว่านั้นคือ พระเพทราชาเป็นคนลุ่มลึกเยือกเย็นองอาจกล้าหาญ และเฉลียวฉลาด ว่ากันว่าสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์ที่มีพื้นฐานคนบ้านนอก บ้านเดิมอยู่บ้านกร่าง หรือบ้านพลูหลวง ชานเมืองสุพรรณบุรี

พระเพทราชา

คู่ปรับของพระเพทราชา คือ ออกญาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาวิชาเยนทร์ได้นำทหารฝรั่งเศสพร้อมอาวุธทันสมัยเข้ามาประจำการที่ป้อมบางกอก ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย เพราะอาวุธเหล่านั้นมีอานุภาพเหนือกว่าทางอยุธยามาก แม้มีทหารเพียงกองร้อย ก็สามารถเอาชนะทหารไทยในระดับกองทัพได้ พระเพทราชาเคยติงเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระนารายณ์เรื่องการคบหากับต่างชาติที่ต้องระมัดระวัง สมเด็จพระนารายณ์ในเวลานั้นทรงชื่นชอบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และโปรดวิชาเยนทร์เป็นพิเศษ

เท่ากับว่าวิชาเยนทร์มีกองทหารที่แข็งแกร่ง ขณะที่พระเพทราชาอาศัยพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีและปริมณฑล โดยเฉพาะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระสังฆราชเมืองลพบุรี ณ วัดราชา ทั้งในเรื่องการสอดแนมการเคลื่อนไหวต่างๆ การก่อม็อบและอาจใช้เป็นกำลังรบถ้าจำเป็น การอาศัยกำลังจากพระสงฆ์ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น เป็นวิธีที่แนบเนียน ทำให้วิชาเยนทร์ตายใจเข้าใจว่าพระเพทราชาไม่มีกำลังรบที่ดีๆ อยู่ในมือ จึงเร่งเอาใจนายพลเดส์ฟาร์จมากขึ้นเพื่อคิดว่าจะมีกำลังพลในมือ

ออกญาวิชาเยนทร์หวังว่าจะใช้กองกำลังทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอกทำการรัฐประหารยึดอำนาจ กองทหารนั้นควบคุมโดยนายพลเดส์ฟาร์จ ทั้งนี้จะใช้กองกำลังเพียง 60-80 คน ก็สามารถดำเนินการได้เพราะมีอาวุธที่ดีกว่ามาก แต่พระเพทราชาเหนือกว่าเพราะได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในการสั่งการต่างๆ โดยอ้างพระราชโองการ แต่ก็เต็มไปด้วยความระมัดระวังในการใช้อำนาจ จึงกระทำการรัฐประหารสำเร็จ ซึ่งถือเป็นการชิงไหวชิงพริบกันเป็นอย่างมาก

เรียบเรียงจาก ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9992