อินกันต่อ!! “พระเพทราชา”ในประวัติศาสตร์เข้มข้นยิ่งกว่าละคร

Content พาเพลิน
นักแสดงละครบุพเพสันนิวาสที่ทำเอาคนทั้งประเทศอินไปตามๆ กัน ตั้งแต่บทพระเอกจนตอนนี้พระรองนักแสดง ใครๆ ที่มีบทเด่นๆ ในละครนี้ล้วนแต่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ล่าสุดไม่ใช่พี่หมื่นแต่อย่างใด แต่เป็น “ออกพระเพทราชา” ซึ่งรับบทโดย “ศรุต วิจิตรานนท์” ที่แสดงได้อินจนคนดูอินจัดไปกับฉากปะทะคารมกับ “สมเด็จพระนารายณ์” จนหลายคนรับพลิกอ่านประวัติศาสตร์กันแทบไม่ทัน

ทัวร์มติชน อคาเดมี จึงได้จัดทริปพาออเจ้า ไปเฝ้า “ขุนหลวงนารายณ์” ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) เพื่อพาย้อนไปชมประวัติศาสตร์จากซากปรักหักพัง ที่มีชีวิตอีกครั้งโดย ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี กูรูนักประวัติศาสตร์ (อ่านรายละเอียดที่ลงค์นี้ https://www.matichonacademy.com/update/article_9124)

โดยสมเด็จพระเพทราชา เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงและอยู่ในราชสมบัตินาน 15 ปี ได้ราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ โดยได้ราชสมบัติตอนพระชนมายุ 51 พรรษา ประวัติศาตร์ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเพทราชาจากหลากหลายมุมมอง จากสิ่งที่สมเด็จพระเพทราชาได้ทำการรัฐประหารยึดราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ ขณะที่ทรงประชวรด้วยโรคไอหืด

ท่ามกลางบรรยากาศของข้าศึกที่ประชิดประตูเมืองในทุกด้านนั้น สมเด็จพระเพทราชา เมื่อทำการรัฐประหารสำเร็จ ได้ราชสมบัติแล้ว ยังได้กระทำการขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก ที่อยู่ในความควบคุมของนายพลเดส์ฟาร์จ และที่ป้อมเมืองมะริด ในความควบคุมของนายพลดูบรูอัง เฉพาะที่ป้อมบางกอกค่อนข้างใช้เวลาและมีการสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย ครั้นทำท่าจะสงบศึกกันได้ แต่เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทำให้กลายเป็นศึกยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น

ในที่สุดสงครามก็ยุติลงโดยไทยได้ตัวประกัน 4 คนคืนมา (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2 คน ล่ามและทหารรับใช้) กับได้สมบัติฝรั่งเศส และได้กักกันนักบวชจำนวน 70 คน ไว้ระยะหนึ่งก่อนจะให้อิสรภาพ โดยเฉพาะบุตรชาย 2 คน ของนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งเป็นตัวประกัน ซึ่งท่านนายพลก็โหดเหี้ยมพอที่จะยอมเสียบุตรชายทดแทนกับการกระทำขัดคำสั่งของพระเพทราชา อย่างไรก็ดีทรงมีเมตตาให้อิสรภาพแก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด รวมทั้ง มารี กีมาร์ ภรรยาและบุตรของวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) อีกคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นสยาม (อยุธยา) อาจถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (2231) ก็เป็นได้

ในด้านความสัมพันธ์ของพระเพทราชากับสมเด็จพระนารายณ์นั้น แม่จริงของพระเพทราชา คือแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์ นั่นคือเจ้าแม่วัดดุสิต นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์พระอาจารย์องค์เดียวกัน (พระอาจารย์พรหม) ที่สำคัญกว่านั้นคือ พระเพทราชาเป็นคนลุ่มลึกเยือกเย็นองอาจกล้าหาญ และเฉลียวฉลาด ว่ากันว่าสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์ที่มีพื้นฐานคนบ้านนอก บ้านเดิมอยู่บ้านกร่าง หรือบ้านพลูหลวง ชานเมืองสุพรรณบุรี

พระเพทราชา

คู่ปรับของพระเพทราชา คือ ออกญาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาวิชาเยนทร์ได้นำทหารฝรั่งเศสพร้อมอาวุธทันสมัยเข้ามาประจำการที่ป้อมบางกอก ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย เพราะอาวุธเหล่านั้นมีอานุภาพเหนือกว่าทางอยุธยามาก แม้มีทหารเพียงกองร้อย ก็สามารถเอาชนะทหารไทยในระดับกองทัพได้ พระเพทราชาเคยติงเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระนารายณ์เรื่องการคบหากับต่างชาติที่ต้องระมัดระวัง สมเด็จพระนารายณ์ในเวลานั้นทรงชื่นชอบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และโปรดวิชาเยนทร์เป็นพิเศษ

เท่ากับว่าวิชาเยนทร์มีกองทหารที่แข็งแกร่ง ขณะที่พระเพทราชาอาศัยพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีและปริมณฑล โดยเฉพาะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระสังฆราชเมืองลพบุรี ณ วัดราชา ทั้งในเรื่องการสอดแนมการเคลื่อนไหวต่างๆ การก่อม็อบและอาจใช้เป็นกำลังรบถ้าจำเป็น การอาศัยกำลังจากพระสงฆ์ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น เป็นวิธีที่แนบเนียน ทำให้วิชาเยนทร์ตายใจเข้าใจว่าพระเพทราชาไม่มีกำลังรบที่ดีๆ อยู่ในมือ จึงเร่งเอาใจนายพลเดส์ฟาร์จมากขึ้นเพื่อคิดว่าจะมีกำลังพลในมือ

ออกญาวิชาเยนทร์หวังว่าจะใช้กองกำลังทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอกทำการรัฐประหารยึดอำนาจ กองทหารนั้นควบคุมโดยนายพลเดส์ฟาร์จ ทั้งนี้จะใช้กองกำลังเพียง 60-80 คน ก็สามารถดำเนินการได้เพราะมีอาวุธที่ดีกว่ามาก แต่พระเพทราชาเหนือกว่าเพราะได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในการสั่งการต่างๆ โดยอ้างพระราชโองการ แต่ก็เต็มไปด้วยความระมัดระวังในการใช้อำนาจ จึงกระทำการรัฐประหารสำเร็จ ซึ่งถือเป็นการชิงไหวชิงพริบกันเป็นอย่างมาก

เรียบเรียงจาก ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9992