เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เกี่ยวข้องกับกำเนิดตรา “นกวายุภักษ์”?

Content พาเพลิน

ม้ว่าละครบุพเพสันนิวาสจะลาโรงจบไปแล้ว แต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังคงเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องราวอันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่มีการบันทึกใดๆ ไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีก็แต่จากปากคำการบอกเล่า หรือบันทึกส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องกระหายใคร่รู้กันมาก อย่างเช่นเรื่องของ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” หรือ “คอนสแตนติน ฟอลคอน”

เรื่องราวของท่านผู้นี้ “สุกิจ นิมมานเหมินท์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2512 ราชบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ เคยเขียนหนังสือกล่าวถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นความรู้ใหม่ให้คนอ่านได้ใคร่ครวญตามอย่างที่ท่านว่า ซึ่งเป็นดังนี้…

พระยาวิชเยนทร์หรือวิไชเยนทร์นั้น ตามเอกสารหนังสือที่พอจะพบถ่ายภาพมาได้ ก็ว่าเป็นเจ้าพระยาเสนาบดีของไทยคนแรกที่เป็นคนต่างด้าว เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรมท่า จนได้เลื่อนยศฐาบรรดาศักดิ์ขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุที่ท่านผู้นี้มีชื่อเดิมเป็นภาษากรีกว่า “เยระกี” (Yeraki) บ้าง Hierachy บ้าง แล้วแต่จะสะกดกัน

เมื่อมาสมัครงานเป็นลูกเรืออังกฤษ ก็แปลชื่อสกุลของตน จากคำว่า “เยระกี” ซึ่งแปลว่า “เหยี่ยว” ไปเป็น “Falcon” อ่านว่า “ฟอลคอน” แปลว่า “เหยี่ยว” เหมือนกัน ต่อมาภายหลังเมื่อรู้กันว่ากำพืดเดิมของท่านผู้นี้เป็นกรีก ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางภาษาเกิดแก้ตัวสะกดใช้ตัว Ph แทน F ก็เลยแปลงนาม Falcon มาเป็น Phaulkon ซึ่งเมื่อเขียนควบกับนามตัวเข้าไปก็เป็น “คอนสะแตนติน ฟอละคอน” หรือ “Constantine Phaulkon”

แต่ในเอกสารฝรั่งเศสยังใช้แต่บุรุษสรรพนามของท่าน ว่า Monsieur Constance หรือแค่ M.Constance เท่านั้น มีผู้รู้บางท่าน โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยออกความเห็นว่า ตราประจำตระกูลของเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นรูปเหยี่ยว ดังที่ปรากฏใช้ประทับเอกสารของท่านผู้นั้น ที่ใช้ติดต่อกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งนั้น ถ้าดูเผินๆ แล้วจะเห็นได้ว่าช่างคล้ายกับตรา นกวายุภักษ์ ซึ่งเป็นตราประจำกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือกระทรวงการคลังปัจจุบันนี้เอามากๆ

ภาพตราประจำตระกูลจากในละคร
ตราประจำกระทรวงการคลัง

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้นี้ นับว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในราชสำนักสยาม หนำซ้ำยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นถึงสมุหนายก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้อย่างนี้มาก่อน