ขนมจีน เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งเป็นเส้นกลมๆ คล้าย เส้นหมี่ รับประทานกับน้ำยา น้ำพริก เป็นต้น อาหารชนิดนี้ ภาษาเหนือเรียก “ขนมเส้น” ภาษาอีสานเรียก “ข้าวปุ้น” และภาคใต้เรียก “หนมจีน”

ขนมจีนไม่ใช่อาหารจีน หากแต่เป็นอาหารมอญ คำว่า ขนมจีน มาจากภาษามอญว่า ขฺนํจินฺ (ခၞံစိန်) [ขะ-นอม-จิน] คำว่า ขะนอม (ခၞံ) มีความหมายอย่างหนึ่งว่าเส้นขนมจีน คำว่า จิน (စိန်) มีความหมายว่าสุก

เส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน

2. ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้ายๆ กับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ารับประทาน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่งก่อนกิน

ขนมจีนในแต่ละภาคของประเทศไทย

ภาคกลาง นิยมรับประทานกับน้ำพริก น้ำยาและแกงเผ็ดชนิดต่างๆ น้ำยาของภาคกลาง นิยมรับประทานกับน้ำยากะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริกเป็นขนมจีนแบบชาววัง ปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสง รับประทานกับเครื่องเคียงทั้งผักสด ผักลวก และผักชุบแป้งทอด ขนมจีนซาวน้ำ เป็นขนมจีนที่นิยมในช่วงสงกรานต์ รับประทานกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ทางสมุทรสงครามและเพชรบุรีจะปรุงรสหวานด้วยน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว

ภาคเหนือ เรียกว่า ขนมเส้น หรือข้าวเส้น หรือข้าวหนมเส้น นิยมรับประทานร่วมกับน้ำเงี้ยวหรือน้ำงิ้วที่มีเกสรดอกงิ้วป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ รับประทานกับแคบหมูและข้าวกั้นจิ๊น (ข้าวเงี้ยว, จิ๊นส้มเงี้ยว) เป็นเครื่องเคียง ในจังหวัดแพร่มีขนมจีนน้ำต้ม เป็นขนมจีนแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยวแต่น้ำเป็นน้ำใส ไม่ใส่น้ำแกง น้ำซุปได้จากการต้มและเคี่ยวกระดูกหมู ใส่รากผักชี เกลือและน้ำปลาร้า มีรสเปรี้ยวจากมะเขือเทศ

เดิมทีนั้นขนมจีนน่าจะยังไม่แพร่หลายในภาคเหนือ เนื่องจากว่าน้ำเงี้ยวเดิมนิยมรับประทานกับเส้นก๋วยเตี๋ยว และภาคเหนือมีน้ำขนมจีนเพียงชนิดเดียวคือน้ำเงี้ยว คำว่า เงี้ยว ในภาษาเหนือหมายถึง ชาวไทใหญ่ และปัจจุบันมีขนมจีนน้ำย้อย โดยจะกินขนมจีนคลุกกับน้ำพริกน้ำย้อย แล้วใส่น้ำปลาหรือผงปรุงรสตามชอบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ข้าวปุ้น รับประทานกับน้ำยาที่ต้มด้วยเครื่องแกงเผ็ดใส่ปลา ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าและน้ำปลา ไม่มีกะทิ เน้นกระชายเป็นส่วนผสมเพื่อให้กลิ่นหอม กินกับผักสะระแหน่ ยอดแมงลักหรือผักอื่นๆ

อีสานใต้เรียกว่า นมปันเจ๊าะ หรือ นมรูย หรือ นมเวง คล้ายกับกัมพูชา นิยมรับประทานกับน้ำยากะทิใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่รับประทานขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และขนมจีนที่มาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมใช้ขนมจีนแป้งหมัก

ภาคใต้ เรียกว่า โหน้มจีน โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต รับประทานกับผักเหนาะชนิดต่างๆ ทางภูเก็ตนิยมรับประทานกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมรับประทานขนมจีนเป็นอาหารเย็น รับประทานกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราชรับประทานเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ารับประทานคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา

การรับประทาน

เมื่อเรียงจับขนมจีนลงในจับแล้ว ผู้รับประทานจะราดน้ำยาลงไปบนเส้นขนมจีนให้ทั่ว น้ำยาขนมจีนนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำแกง ไม่เหลวจนเกินไป ใช้ราดไปบนเส้นขนมจีนในจาน แต่ละท้องถิ่นจะมีน้ำยาแตกต่างกันไป เช่น น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก แกงกะทิต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน น้ำเงี้ยว แกงไตปลา ซาวน้ำ สำหรับเด็กก็ยังมี น้ำยาหวานที่ไม่มีรสเผ็ดและมีส่วนผสมของถั่ว เป็นต้น ใช้ช้อนตัดเส้นขนมจีนให้มีความยาวพอดีคำ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำยา บางท่านนิยมรับประทานขนมจีนกับน้ำปลา นอกจากน้ำยาแล้ว ยังมีเครื่องเคียงเป็นผักสดและผักดอง ตามรสนิยมในแต่ละท้องถิ่น เครื่องเคียงประเภททอด เช่น ทอดมัน ดอกไม้ทอด หรืออื่นๆ ตามแต่ความชอบและความนิยมในแต่ละภาค

ถึงแม้ขนมจีนจะทำมาจากแป้งสาลีเหมือนกับเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่แป้งของขนมจีนจะผ่านการหมักแช่น้ำมาก่อนจึงนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ ต่อ เส้นจึงมีองค์ประกอบของน้ำมาก ทำให้ มีพลังงานเพียง 80 Kcal ซึ่งน้อยกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มี 150-220 Kcal ถึงจะมีแคลอรีต่ำแต่ก็ควรรับประทานในขนาดที่เหมาะสมและออกกำลังกายควบคู่ด้วย

การเก็บรักษาเส้นขนมจีน เมื่อรับประทานไม่หมด
ควรเก็บไว้ในสถานที่สะอาดไม่มีฝุ่น โดยเอาผ้าคลุมให้มิดชิดทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง อากาศถ่ายเทสะดวก ห้ามเก็บไว้ในสถานที่มีอุณหภูมิเย็น เพราะจะทำให้แป้งคืนตัวปล่อยน้ำออก เส้นแฉะ และขาดง่าย มีลักษณะเหมือนแป้งไม่สุก

ที่มา : แม่บ้าน

ราเม็ง

ความนิยมที่พุ่งพรวดขึ้นสูงอย่างไม่น่าวิตกกังวลอะไรในยุคนี้ คือ การกินก๋วยเตี๋ยว ทุกตรอกซอกซอย  ถนนใหญ่ถนนรอง  ร้านห้องแถว รถเข็นริมทาง ไปจนถึงโรงแรมหรูกลางเมือง ต่างมี “เมนูก๋วยเตี๋ยว” ไว้บริการลูกค้าแบบไม่ขาดตกบกพร่อง  อาจเป็นเพราะว่าก๋วยเตี๋ยวกินแล้วไม่ฝืดคอ มีน้ำซุปให้ซดร้อนๆ  บางคนเบื่อการเคี้ยวเมล็ดข้าว เปลี่ยนมาเคี้ยวเส้นลื่นๆ ยาวๆ ดูบ้าง ก็เพลินดี  หรืออาจเป็นเพราะรสชาติที่กลมกล่อม ถูกปาก กินร้อนๆ แล้ว มีกำลังวังชาขึ้นมาทันตาเห็น นี่เป็นนานาสารพัดเหตุผลข้อบอกเล่าของคนชอบกินก๋วยเตี๋ยว

“ก๋วยเตี๋ยว” เป็นภาษาจีนแท้แน่นอน แต่จีนแมนดาริน จีนฮกเกี้ยน หรือจีนแต้จิ๋วยังสรุปไม่ได้  ที่สรุปได้ก็คือ ก๋วยเตี๋ยวเป็นหนึ่งในอาหารประเภทเส้นของจีน ทำจากแป้งข้าวเจ้า วิธีกินจะลวกให้สุกในน้ำเดือดก่อน ยกให้สะเด็ดน้ำแล้วจึงนำเครื่องปรุงชนิดต่างๆ มาใส่ นิยมกินกันทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง หากจะเอาเนื้อหาสาระกันจริงๆ คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” แต้จิ๋วออกเสียง  “ก๋วยเตี๊ยว”  ด้านฮกเกี้ยนออกเสียงว่า  “ก๊วยเตี๋ยว”  ส่วนในจีนกลางหรือจีนแมนดาริน จะอ่านว่า “กั่วเถียว”  แปลว่า “เส้นข้าวสุก” แน่นอนว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารประเภทเส้นของชาวจีน แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาแพร่หลายในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง หรือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย รวมทั้งชาวจีนด้วย

เล่ากันว่าชาวจีนได้นำก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป ใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย แต่สำหรับคนไทยแล้วถือวเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น จึงได้นำมาประกอบเป็นอาหารอื่นๆ บริโภคกันจนรู้จักกันเป็นอย่างดี และเริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทย  ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนกินก๋วยเตี๋ยวแทนข้าว  ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าหากประชาชนหันมาบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติทำให้เงินหมุนเวียนในตอนนั้น เนื่องจากสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงหลังสงครามครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ดังนั้น การสนับสนุนให้คนกินก๋วยเตี๋ยวถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยนั้น

สำหรับส่วนประกอบของก๋วยเตี๋ยวจากชาวจีน จะไม่มีการใส่ถั่วงอกลวกในก๋วยเตี๋ยว  แต่การใส่ถั่วงอกลงในก๋วยเตี๋ยวอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เกิดจากแนวความคิดและนโยบายของ จอมพล ป. ที่ได้ลองนำถั่วงอกใส่เพิ่มเข้าไป เมื่อรับประทานแล้วรสชาดอร่อย จึงสั่งให้ใส่ถั่วงอกเพิ่มเข้าไปในก๋วยเตี๋ยวด้วย และที่สำคัญเป็นการเพิ่มอาชีพเพาะถั่วงอกขาย เพื่อรองรับนโยบายสนับสนุนให้คนไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยว  จึงถือได้ว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยเพิ่งจะใส่ถั่วงอกในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นี่เอง

ก๋วยเตี๋ยวนับวันจะกลายเป็นอาหารหลักของนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้ปรุงอาหารได้หลากหลาย อร่อยและสะดวก สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่ส่วนใหญ่เร่งรีบ ไม่มีเวลา มาดูกันว่าแต่ชาติในเอเชียเขามีอาหารเส้นหรือ “ก๋วยเตี๋ยว” เป็นแบบใดกันบ้าง ???

โซบะ
โซบะ

เริ่มจากเจ้าของหลัก “ประเทศจีน”  ต้องบอกว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของอาหารเส้น มีหลายแบบหลายลักษณะ แต่ก๋วยเตี๋ยวจีนส่วนใหญ่นิยมกินเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ ก๋วยเตี๋ยวผัดและก๋วยเตี๋ยวราดซอสแบบขลุกขลิกมีน้อยมาก ยิ่งประเภทแบบแห้งที่คนไทยนิยมกัน ก็แทบไม่รู้จักกันเลย พอมีบ้างก็ในเขตเสฉวนเท่านั้น  ต่อมา “ญี่ปุ่น”  นิยมกินอาหารเส้น หรือ “เมนรุอิ” มาก เรียกว่ามากพอๆ กับชูชิ  ในญี่ปุ่นมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวชุกชุม แต่ละร้านจะมีพ่อครัวหรือมาสเตอร์ที่มีความชำนาญการปรุงอาหารโดยเฉพาะทำหน้าที่บริการลูกค้า  อาหารเส้นของญี่ปุ่นมีหลากหลายชนิด แต่แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่  คือ โซบะ หรือเส้นที่ทำจากบักวีต กับ เส้นข้าวแป้งสาลี เช่น อุด้ง โชเม็ง และ  ราเม็ง

อุด้ง

“ราเม็ง” เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้จะได้อิทธิพลมาจากคนจีน แต่ราเม็งได้พัฒนารสชาติและหน้าตาไปอย่างมีเอกลักษณ์ญี่ปุ่น ความเป็นราเม็งอยู่ที่การเตรียมน้ำซุป ซึ่งประณีตพิถีพิถันมาก ถึงกับจำแนกราเม็งตามชนิดของน้ำซุปที่ใช้เลยทีเดียว อาทิ  โชยุราเม็ง(น้ำซุปปรุงด้วยซีอิ๊ว) มิโสะราเม็ง (น้ำซุปปรุงด้วยมิโสะ) และชิโอะราเม็ง (น้ำซุปปรุงรสด้วยเกลือทะเล)  “อุด้ง”  เป็นเส้นที่คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจว่าเป็นญี่ปุ่นแท้  ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือและน้ำ ไม่ได้ผสมไข่เหมือนราเม็งหรือบะหมี่จีนทั่วไป อุด้งสมัยก่อนเป็นเส้นหนา  มีทั้งเส้นกลมและเส้นแบน  คนญี่ปุ่นนิยมทำอุด้งสดๆ กินกันเอง หรือถ้าจะซื้อก็มักเป็นเส้นสดจำพวกเส้นแห้ง  ความเก่าแก่คลาสสิคของอุด้ง เห็นได้จากเป็นเส้นยอดนิยมของเมืองเกียวโตและโอซาก้า ซึ่งเป็นเขตเมืองหลวงเก่า ขณะที่ “โซบะ”  เป็นเส้นโปรดของเขตเมืองใหม่ เช่นเมืองโตเกียว และโยโกฮามา  สำหรับเส้น “โซบะ” เป็นเส้นญี่ปุ่นแท้เหมือนกัน เพราะทำจากบักวีต

ด้านประเทศ “เกาหลี” โดดเด่นด้านอาหารเส้นไม่แพ้ญี่ปุ่น เครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวเกาหลีส่วนใหญ่จะคล้ายของญี่ปุ่น แต่มีลักษณะเฉพาะตัว การทดแทนด้วยเส้นของญี่ปุ่นอาจเป็นไปได้ แต่รสชาติแท้ๆ แบบเกาหลี จะหมดไป  ตัวอย่างเส้น “แนงเมียน”  แม้จะทดแทนด้วยเส้นโซบะได้ เพราะทำจากบักวีตเหมือนกัน แต่แนงเมียนยังผสมด้วยแป้งมันฝรั่ง ขณะที่เส้นโซบะผสมด้วยแป้งสาลี ทำให้รสสัมผัสของแนงเมียนต่างจากโซบะ หลายคนบอกว่าแนงเมียนอร่อยกว่าโซบะมาก แต่ราคาแพงและหาซื้อยาก  “เส้นโซเมียน” คล้ายเส้นโซเม็งของญี่ปุ่น แต่ขนาดเล็กกว่าพอๆกับเส้นผม “เส้นดางเมียน” หรือ วุ่นเส้นเกาหลี  ต่างจากวุ้นเส้นทั่วไป เพราะทำจากแป้งมันเทศ แทนที่จะเป็นถั่วเขียว

ที่ “เวียดนาม” มีเส้นก๋วยเตี๋ยวหลากชนิดเช่นกัน แต่ที่นิยมแพร่หลาย คือ “บั๋น เฝอ” เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวสดหรืแห้ง  ทำจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นเส้นใหญ่ก็ไม่ใช่ เส้นเล็กก็ไม่เชิง นิยมใช้ในก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หรือ เฝอบ่อ และก๋วยเตี๋ยวไก่ หรือ เฝอกา นับเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของเวียดนาม

สำหรับ “ประเทศลาว” มีอาหารเส้นที่เรียกว่า “ข้าวปุ้น” ที่คนไทยเรียกว่า “ขนมจีน” เป็นอาหารเส้นประจำชาติของลาว ไปที่ไหนในลาวก็หากินได้ ข้าวปุ้นเป็นชื่อเส้นขณะเดียวกันก็เป็นชื่ออาหารด้วย คือขนมจีนน้ำยาเหมือนบ้านเรา แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำยาปลา หรือไม่ก็น้ำยาเป็ด และน้ำแจ๋ว(น้ำยาปลาผสมเลือดหมู) อันหลังนี้มีในหลวงพระบาง ในลาวยังมี “ข้าวปุ้นจีน”  ซึ่งไม่ใช่ขนมจีน แต่เป็น “วุ้นเส้น”  ในตำราอาหารหลวงพระบางมีตำรับข้าวปุ้นจีนผัดแห้ง ซึ่งก็คือ ผัดวุ้นเส้นแบบลาว นั่นเอง  นอกเหนือจากนี้ลาวยังมีอาหารเส้นอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น “เฝอเนื้อ” ของเวียดนาม แพร่หลายมาก และ “ข้าวซอย” ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐฉานในพม่า และสิบสองปันนาในจีน

ขนมจีน
ขนมจีน
ข้าวซอย

“ประเทศเมียนม่า” เป็นอีกชาติที่นิยมกินก๋วยเตี๋ยวอย่างมาก ก๋วยเตี๋ยวยอดนิยมของคนพม่า คือ โมฮิงก่า และ โอนุเข้าโซย ชื่อ “โมฮิงก่า” เทียบเคียงได้กับขนมจีนน้ำยาปลาของไทย แต่มีรสชาติแตกต่างออกไป เป็นเอกลักษณ์ของพม่าเอง  คนพม่านิยมกินโมฮิงก่าเป็นอาหารเช้ามื้อพิเศษ ส่วน “โอนุเข้าโซย”  ใกล้เคียงกับ “ข้าวซอย” ของภาคเหนือของไทย เรียกได้ว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวประจำเทศกาลงานบุญ เช่น งานบวช งานแต่งงาน เป็นต้น  ที่จริงแล้วคำว่า “เข้าโซย” ก็คือคำว่า “ข้าวซอย” ของคนไตในรัฐฉาน ภาษาไต ข้าวซอยหมายถึงแผ่นแป้งสุกที่ตัดเป็นเส้นขนาด  0.7 เซ็นติเมตร ในหมู่คนไต รวมตลอดถึงคนลาว พม่า ได้รับอิทธิพลข้าวซอยจากคนไต แต่เรียกเพี้ยนเป็น “เข้าโซย” และขยายความรวมไปถึงเส้นหมี่สีเหลืองด้วย  ข้าวซอยไม่ได้หมายถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ยังหมายถึงตำรับอาหารเส้นปรุงรสด้วยไก่หรือเนื้อผัดเครื่องแกงและถั่วเน่า เริ่มด้วยการลวกเส้นและผักในชาม ตักไก่หรือเนื้อผัดเครื่องแกงใส่ลงไป ตามด้วยน้ำซุป บางตำรับใส่ดอกงิ้วด้วย  นอกจากข้าวซอยแล้ว คนไต-ลาว ยังมี “ข้าวเส้น” เป็นเส้นกลมคล้ายขนมจีนแต่ใหญ่กว่า ซึ่งบางครั้งข้าวซอยก็ใช้เส้นชนิดนี้ด้วยก็ได้

“ก๋วยเตี๋ยวคลุก” เป็นอีกหนึ่งอาหารเส้นของพม่า แต่เรียกว่า “โซะ”  รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับสลัดก๋วยเตี๋ยวมากกว่า จะเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้งแบบไทย วิธีทำนั้นเขาจะเอาเส้นที่ลวกไว้จนเย็น แล้วมาคลุกกับเครื่องเคราต่างๆ ปรุงรสตามใจชอบ อาหารเส้นชนิดนี้ ตามตลาดมีขายอย่างก้วางขวาง เพราะราคาถูก ทำก็ง่าย และที่สำคัญรสชาติดี อร่อย ที่จริงแล้วคนไตในรัฐฉานก็กินก๋วยเตี๋ยวคลุกเหมือนกัน โดยจะคลุกแบบร้อน คือเส้นเพิ่งลวกใหม่ๆใส่เครื่องเคราลงไปคลุก แล้วกินได้เลย

“ประเทศเขมร” ถือเป็นประเทศที่แปลกกว่าใครในเอเชีย รวมไปถึงอาเซียน  เพราะเขมรหรือกัมพูชาเป็นประเทศที่กินก๋วยเตี๋ยวน้อยที่สุด อาหารหลักรองจากข้าวของคนกัมพูชาเป็นขนมปังฝรั่งเศสหรือบาแกตต์  ก๋วยเตี๋ยวแทบไม่ติดอันดับ  แต่ก็มีอาหารเส้นที่กินอยู่เหมือนกัน คือ ขนมจีน ที่คนเขมรเรียก “นมปันเจ๊าะ” เวลาออกเสียงเร็วๆ ฟังคล้ายคำว่า “ข้าวปุ้น” ของลาว อยู่เหมือนกัน

ขนมจีนที่มีขายทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีสีขาว แต่บูดง่าย และขนมจีนแป้งหมัก เส้นจะมีสีคล้ำ เหนียวและบูดยากกว่า โดยทั่วไปเรามักพบร้านขายขนมจีนน้ำยามากกว่าขนมจีนชนิดอื่นๆ และร้านที่ขายมักเป็นร้านที่ขายในปริมาณมากๆ เป็นหม้อใหญ่ๆ และอยู่ในย่านชุมชน โดยมีผักใส่ถาดมาวางไว้ให้ ถ้าจะหาความเสี่ยงจากขนมจีนน้ำยา ก็คงต้องเริ่มจากการพิจารณาเรื่องเส้นเสียก่อน

จากการหาข้อมูลพบว่า ในปี 2008 สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทีมงาน จึงได้ดําเนิน “โครงการสํารวจสถานการณ์ความพร้อมของสถานที่ผลิตขนมจีน เพื่อบังคับใช้มาตรฐานจีเอ็มพี” โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนจากแหล่งผลิตทั่วประเทศเพื่อนํามาตรวจวิเคราะห์จํานวน 59 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางด้านจุลินทรีย์ เบื้องต้นคือตรวจจํานวนจุลินทรีย์ทั้งหมด (Total Plate Count) คือโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (Coliforms) เอชเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) สแตฟฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus)

ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีนผ่านเกณฑ์จํานวน 54 ตัวอย่าง คิดเป็น 91.52% โดยเมื่อพิจารณาตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์จํานวน 5 ตัวอย่าง จําแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ทั้งหมด กล่าวคือ ขนมจีนดังกล่าวมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในปริมาณค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะผลิตมานานแล้ว ใกล้เสีย เริ่มมีกลิ่นบูด จํานวน 3 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 2 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเอชเชอริเชีย โคไล 2 ตัวอย่าง และมีการปนเปื้อนสแตฟฟิโลค็อกคัส ออเรียส 1 ตัวอย่าง ทั้งนี้ การรับประทานขนมจีนที่มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์อาจทําให้ท้องเสียได้

ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีนคือกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกในผลิตภัณฑ์ขนมจีน ได้เก็บตัวอย่างจํานวน 77 ตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีตัวอย่างผ่านเกณฑ์จํานวน 76 ตัวอย่าง คิดเป็น 98.70% ซึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์จํานวน 1 ตัวอย่างนั้น พบว่ามีการใช้กรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานที่ อย. อนุญาตให้ใช้ได้คือ เกิน 1,000 พีพีเอ็ม (ppm.) หรือ 1,000 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูดในปริมาณที่มากเกินมาตรฐาน ตับและไตจะต้องทํางานหนัก หากร่างกายกําจัดออกมาไม่หมดก็จะสะสมในร่างกาย ส่งผลให้การทํางานของตับและไตลดลงจนเกิดปัญหาตามมาได้

ซึ่งผลจากการตรวจนี้ ทําให้เห็นว่าความเสี่ยงจากการรับประทานขนมจีนมีไม่มากนัก แต่ก็ต้องดูด้วยว่าขนมจีนที่วางขายอยู่นั้นได้บรรจุในตะกร้า หรือภาชนะที่สะอาด ปิดมิดชิดหรือไม่ และผู้ขายได้ใช้มือหยิบโดยใส่ถุงมือหรือไม่ เพราะถ้ามือไม่สะอาด เป็นแผล อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ เส้นขนมจีนจะต้องไม่เละหรือเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นบูด สีของขนมจีนต้องดูสดใหม่ โดยขนมจีนจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น หากอยู่ในหน้าร้อน

อากาศร้อนก็เสี่ยง

ในช่วงฤดูร้อน มีความเสี่ยงที่จะป่วยจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ เช่น อาจทําให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ เพราะเชื้อโรคที่ก่อพิษในหน้าร้อนมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย อากาศยิ่งร้อนเชื้อยิ่งฟักตัวแพร่พันธุ์เร็ว ในรอบ 2 เดือนในปี 2554 สํานักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศรวม 19,148 ราย แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

โดยหนึ่งในอาหารที่มีความเสี่ยงในหน้าร้อนนั้นคือขนมจีน อาหารอื่นๆ ได้แก่ ส้มตําปูดอง ส้มตําปูม้าสด อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม หอยแมลงภู่หรือหอยแครงลวก เนื้อปูแกะสําเร็จรูปพร้อมรับประทาน           ขนมเอแคลร์ ยำต่างๆ และอาหารสุกๆ ดิบๆ ทุกชนิด เช่น กุ้งพล่า ลาบ ก้อย โดยเมนูเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทําให้เกิดอาหารเป็นพิษกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะเสียง่ายเพราะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เมื่อตั้งเอาไว้ในที่ที่มีอากาศร้อน เชื้อโรคก็จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทําให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้

โรคอาหารเป็นพิษมักพบหลังจากที่กินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปแล้วภายใน 2-4 ชั่วโมง พบได้ทุกวัย มักพบประชาชนและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เด็กในโรงเรียน กลุ่มงานเลี้ยงสังสรรค์ การชุมนุม กลุ่มทัศนาจร และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและมีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ ที่เกี่ยวข้องชัดเจนคือการกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด สุขอนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี อาการของโรคนี้ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูกคล้ายเป็นบิด

น้ำยาขนมจีนเสี่ยงแค่ไหน

เคยมีข่าวออกมาว่าขนมจีนน้ำยาที่ข้นนั้นมีการใช้กระดาษทิชชู่แช่น้ำปนลงไป แต่เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานหรือการตรวจพบที่ชัดเจน เป็นแค่การพูดกันแบบปากต่อปาก จึงไม่นับเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการกินขนมจีนน้ำยา

แต่สิ่งที่อยากให้ระวังคือ ความไม่สะอาดของสถานที่ขายขนมจีน ส่วนใหญ่ผู้ขายจะตั้งแผงหรือหม้อในระดับที่ต่ำ ซึ่งเป็นไปได้ที่เขม่าหรือฝุ่นจะตกลงไปในอาหาร โดยเฉพาะในผักที่วางทิ้งไว้ ซึ่งความเสี่ยงนี้แก้ไม่ยาก แค่เราต้องเลือกกินร้านที่มีการปิดถาดผักหรือหม้อน้ำยาให้มิดชิดก็พ้นความเสี่ยงแล้ว และส่วนใหญ่ขนมจีนน้ำยาก็มักตั้งไฟอังไว้ให้อุ่นหรือร้อนแทบตลอดเวลา จึงไม่ค่อยมีความเสี่ยงที่เกิดจากน้ำยาเท่าไร

ขณะที่ความเสี่ยงต่อสารฟอกขาวในถั่วงอก หรือยาฆ่าแมลงในผักก็ยังมองข้ามไม่ได้ รวมไปถึงผักกาดดองที่อาจมีสารบอแรกซ์ปนอยู่บ้าง หนทางเลี่ยงก็ไม่ยากอีกเช่นกัน นั่นคือเลือกรับประทานผักในปริมาณพอเหมาะ และเลือกร้านที่มีการรักษาความสะอาด

และหนทางที่ดีที่สุดก็คือการทํากินเอง เพราะจะว่าไปแล้ว การทําขนมจีนน้ำยานั้นแสนง่าย เมื่อเราซื้อขนมจีนมาก็สามารถเอาไปนึ่งอีกครั้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ผักที่นํามากินก็สามารถเลือกและล้างให้สะอาดได้ รวมถึงปลาที่นํามาใช้ทํา เราก็สามารถเลือกชนิดได้ตามที่เราต้องการ

วิธีทำขนมจีนน้ำยา

ส่วนผสม

พริกแกงเผ็ด 1 ช้อนโต๊ะ / กระชาย 6-7 ราก / ปลาอาจใช้ปลาช่อน ปลากระป๋อง หรือปลาอะไรก็ได้ แล้วนําไปต้มให้สุก แกะเอาแต่เนื้อให้ได้สัก 1 ถ้วยตวง (แต่ผู้เขียนอยากแนะนําให้ใช้ปลาซาบะในการทำ เพราะนอกจากเนื้อแน่นฟูดีแล้ว ปลาซาบะเป็นปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง รวมทั้งยังมีราคาถูกอีกด้วย) /    ปลาอินทรีเค็ม 1 ชิ้นขนาดกลางต้มพร้อมปลา / กะทิ 3 ถ้วยตวง / น้ำปลา / ผักเคียงตามชอบ เช่น ถั่วงอก ถั่วฝักยาวลวก ใบแมงลัก มะระลวกสุก ยอดกระถิน ฯลฯ

วิธีทำ

  1. โขลกกระชายรวมกับพริกแกงจนแหลก ใส่เนื้อปลาและปลาเค็มลงไปโขลกรวมจนแหลกดี
  2. นํามาละลายในกะทิ หรือถ้าใช้โถปั่นก็ใส่ทั้งหมดลงไปปั่นรวมกับกะทิ ใส่น้ำที่ต้มปลาลงไปผสมด้วย
  3. เทใส่หม้อแล้วตั้งไฟ พอเดือดหรี่ไฟตั้งไว้จนหอม ชิมรสก่อนจะปรุงด้วยน้ำปลา รับประทานกับขนมจีน  และผัก

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน

เปิดสูตรเมนู “ขนมจีนน้ำเงี้ยว” ต้มหม้อหนึ่ง และเครื่องเคียงจัดเต็ม เรียกได้ว่ากินอิ่มได้ทั้งบ้าน

เป็นร้านที่ผ่านไปทีไรก็คนแน่นตลอด สำหรับร้านขนมจีนที่ตั้งชื่อตามภาษาใต้ว่า “ขนมจีนทะเลเดือดคลั่กๆ” หรือแปลได้ว่า ขนมจีนทะเลเดือดเยอะๆ ทำเลของร้านตั้งอยู่บริเวณฟุตปาธปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง

“จ๊ะต๋อย” นางช่อทิพย์ จิตรเที่ยง วัย 42 ปี เล่าให้ฟังว่า บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ แต่ตัดสินใจนำครอบครัวมาเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองตรัง เพื่อเปิดขายอาหารจานเด็ด ซึ่งหลังจากเปิดตัวขายมา 3 เดือน ก็มีลูกค้าอุดหนุนแน่นร้านตลอด ถึงแม้จะต้องนั่งกินบนเสื่อบนทางเท้าก็ตาม แต่กลับได้บรรยากาศที่ชิลๆ เป็นอย่างยิ่ง

จุดเริ่มต้นของเมนูดังกล่าวเกิดขึ้นนับตั้งแต่ “จ๊ะต๋อย” ยังอาศัยอยู่ที่ริมทะเลอันดามัน ซึ่งมักจะทำขนมจีนสูตรนี้ซึ่งสืบทอดจากมาคุณยาย กินกันเป็นประจำในกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิม โดยมีความแตกต่างตรงที่มิได้มีการนำเฉพาะเนื้อปูหรือกุ้งมาผสมลงไปในน้ำแกงเท่านั้น แต่กลับเป็นการยกอาหารทะเลสดๆ เป็นตัวๆ อาทิ ปูม้า กุ้งทะเล หมึก หอยแมลงภู่ หรือหอยลาย โดยเฉพาะไข่ปู มาใส่ลงไปแบบล้นจาน ในราคาเพียง 79 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความอร่อยแบบเต็มอิ่มเต็มคำ และน่าจะเป็นเจ้าเดียวในไทยที่กล้าทำเช่นนี้

“จ๊ะต๋อย” บอกว่า ตนเองได้เปรียบตรงที่สามารถสั่งอาหารทะเลสดๆ จากแถวบ้านส่งตรงมาได้เลย เมื่อนำมาปรับให้มีรสชาติที่ไม่เผ็ดจนเกินไป ผสมผสานกับความหอมของเครื่องแกง จึงทำให้ “ขนมจีนทะเลเดือดคลั่กๆ” เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน และบรรดานักศึกษา จึงมียอดขายค่อยข้างดีถึงวันละ 120 จาน สร้างรายได้ให้ 8-9 พันบาท เมื่อหักกับต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอาหารทะเล ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็ยังเหลือเงินพอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย

นายครรชิต ช่วยดู ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองตรัง กล่าวว่า ตนได้พาครอบครัวมาทานขนมจีนสูตรนี้หลายครั้งแล้ว เนื่องจากติดใจในรสชาติที่อร่อย และความสดของอาหารทะเล โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าแพงอะไรเลย แต่กลับเห็นว่าคุ้มค่าด้วยซ้ำไป และจากการที่ได้ไปทานขนมจีนมาหลายที่ ก็ยังไม่เคยเจอะเจอว่าที่ใดจะให้อาหารทะเลมากจนล้นจานเช่นนี้ แถมยังมีหลายอย่างด้วย พร้อมทั้งยังมีบรรยากาศที่น่านั่งแบบสบายๆ โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นถึงค่ำ จึงไม่แปลกที่จะได้รับความนิยมจากลูกค้ามากมายเช่นนี้

 

ที่มา มติชนออนไลน์