Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

“จาม” ที่พิพิธภัณฑ์ดานัง หนึ่งเดียวในอาเซียน

อาณาจักรจามปาถือเป็นอาณาจักรที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์เวียดนาม ชาวจามปาตั้งอาณาจักรของตนเองอยู่ระหว่างจังหวัดกว๋างจี๋ (Quang Tri) และบิ่งทวน (Binh Thuan) นับเป็นคนละกลุ่มกับชาวเวียด ที่ครอบครองแผ่นดินตั้งแต่แม่น้ำแดงจนถึงแนวเขาห่วงเซิน(Hoanh Son) ในบางสมัยก็ขยายลงมาถึงช่องแคบเมฆ (Cloud Pass)

รากฐานทางวัฒนธรรมของชาวจามแตกต่างจากเวียด และถึงแม้ว่าจามจะส่งบรรณาการให้กับราชสำนักจีน แต่ก็ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นโดยตรง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่ได้รับวัฒนธรรมจากจีนมากนัก ตรงกันข้าม”อินเดีย” กลับเป็นแหล่งวัฒนธรรมต้นแบบที่สำคัญของอาณาจักรจาม เห็นได้จากการใช้ภาษาสันสกฤตในจารึก หรือชื่อเมืองต่างๆ รวมถึงชื่อกษัตริย์ และการนับถือศาสนาฮินดู เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของจามไม่ชัดเจนนัก ไม่เหมือนกับอาณาจักรเวียด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลักฐานลายลักษณ์อักษรของจามเองเหลือเพียงแค่จารึก และประวัติศาสตร์บางส่วนยังได้รับการเติมเต็มจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ “ชาวจีน” จารึกของฝ่ายจามและเอกสานจีนโบราณ ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่าอาณาจักรจามก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ.735 โดยกษัตริย์พระนามว่า “ศรีมาร” (Shri Mara) แต่งานศิลปกรรมของจามปาที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน กลับกำหนดอายุได้เพียงราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เท่านั้น อาณาจักรแห่งนี้มีเมืองสำคัญ 5 เมือง ได้แก่ อินทรปุระ อมราวดี วิชัย เกาฐาร และปาณฑุรังค์

ในยุคแรกเมืองหลวงของจามอยู่ที่ “เมืองอมราวดี” ยุคนี้ปรากฏหลักฐานการนับถือไศวนิกายแล้ว มีจารึกกล่าวถึงพระเจ้าภัทรวรมันที่ 1 ได้สถาปนา “ศิวลึงค์ภัทเรศวร” ซึ่งบริเวณที่สถาปนาก็คือ “เมืองหมี่เซิน” ในปัจจุบัน หลังจากนั้นถัดมามีการย้ายเมืองหลวงไปที่ “ปาณฑุรังค์” ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป ต่อมาถูกกองทัพชวาเข้าโจมตี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 15 มีการย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง โดยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ไปอยู่ที่ “อินทรปุระ” หรือเมืองกว๋างนัมปัจจุบัน พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 แตกต่างจากกษัตริย์ในอดีต เพราะนับถือพุทศาสนานิกายมหายาน แต่หลังจากยุคของพระองค์แล้ว อาณาจักรจามปาก็กลับไปนับถือศาสนาฮินดูตามแบบเดิม

ทวารบาลสมัยดงเดือง ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 15

พระพุทธรูปห้อยพระบาทสมัยดงเดือง

ครุฑสมัยบิ่งดิง ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 15

จามต้องทำสงครามกับขอมและเวียด การรุกรานจากภายนอกทำให้จามต้องย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง ไปที่ “เมืองวิชัย” (ปัจจุบันคือเมืองบิ่งดิง) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 จามทำสงครามกับขอม แต่จามพ่ายแพ้และตกเป็นเมืองขึ้นขอม นอกจากนี้ กองทัพมุสลิมที่เข้ายึดครองอินเดียในช่วงเวลานั้นก็มีผลต่ออาณาจักรจามด้วย เพราะในเวลาต่อมาชาวมุสลิมเริ่มเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับอาณาจักรจาม ทำให้ชาวจามเริ่มเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในที่สุด

และเพื่อให้เห็นอาณาจักรจามเด่นชัดขึ้น สิ่งที่เราจะหาได้ในยุคนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แหล่งรวบรวมเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์ ที่ฉายภาพให้เห็นอย่างต่อเนื่องถึงที่มาที่ไป และคำตอบที่ยังสงสัยในบางเรื่องราว เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ค่อยร้อยเรียงกันเป็นภาพขนาดใหญ่ให้เห็นรูปร่างทั้งหมด และตอบข้อสงสัยที่เชื่อมโยงมาถึงงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ไปจนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจามในปัจจุบัน โดยพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญ คือ “พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม” ที่เมืองดานัง

ศิวลึงค์สมัยหมี่เซิน

นางตาราสำริด ศิลปดงเดือง รูปสตรีนุ่งผ้าถุงเปลือยท่อนบน ด้านหน้ามวยพระเกศาประดับพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามหลักแล้วหมายถึง พระอมิตาภะ จึงสันนิษฐานว่านางตาราในศิลปจามน่าจะหมายถึง กุรุกุลลา ซึ่งเป็นนางตาราประจำพระอมิตาภะ

เริ่มจากการเดินทางพอจับทิศได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนสองกันยาและถนนจึงญือเวือง ในเมืองดานัง ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุของจามไว้มากที่สุด และมีอยู่เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ ตามความเป็นมาบอกว่าสร้างโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1915 หรือ พ.ศ.2458 เพื่อเก็บรักษาและแสดงวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับอาณาจักรจามปาที่ค้นพบตามสถานที่ต่างๆ ของชาวจาม ในบริเวณริมฝั่งทะเลภาคกลางและเขตที่ราบสูงเตยเงวียนของเวียดนาม ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิก ปัจจุบันมีสิ่งของวัตถุ ประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงประมาณ 500 ชิ้น จากทั้งหมดที่ค้นพบ 2,000 ชิ้น

มีการแบ่งห้องจัดแสดงตามสถานที่ค้นพบสิ่งของ เช่น ห้องหมี่เซิน ห้องจ่าเกี่ยว ห้องด่งเซือง และห้องท้าปเหมิ่น จุดเด่นและความงามของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หนีไม่พ้นประติมากรรมของเหล่าองค์เทพทั้งหลายที่อาณาจักรจามได้รับอิทธิพลของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ เทวรูป ศิวลึงค์ หรือชิ้นส่วนของปรางค์หมี่เซินที่แกะสลักอย่างประณีตงดงาม

 

อีกทั้งยังมี “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ที่ชาวจามนับถือและใช้ในงานสถาปัตยกรรม ไม่ต่างจากจินตนาการเรื่องของสัตว์ในป่าหิมพานต์บ้านเรา และยังมีพระพุทธรูปหลงเหลือให้เห็นด้วย สิ่งที่มองเห็นด้วยสายตาสร้างความรู้สึกราวกับย้อนผ่านกาลเวลาหลายร้อยปีกลับไปยังอดีต ประติมากรรมเหล่านี้ล้วนเป็นต้นฉบับที่ทำจากหินทราย ดินเผาและทองสัมฤทธิ์ หลากหลายตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-15

อย่างไรก็ดี ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ว่า พวกเขายังไม่ยุติการขุดค้นหาประติมากรรมและวัตถุสิ่งของของชาวจามในเวียดนาม และจะดำเนินการศึกษาขุดค้นต่อไป เพื่อนำมาเติมเต็มให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้และเรื่องราวของชาวจามในเวียดนามมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

**หมายเหตุ พิพิธภัณฑ์จามที่เมืองดานัง เป็นอีกแห่งหนึ่งในทัวร์มติชนอคาเดมี “ข้ามผ่านกาลเวลาจาม-เวียด ท่องฮอยอัน-เว้-ดานัง” 

เดินทางวันที่ 7-10 มีนาคม 2562 คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_23358