Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ทริปส่งท้ายปี ทัวร์มติชนอคาเดมี พาชมพิพิธภัณฑ์ฯ กาญจนาภิเษก จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยา

ทัวร์มติชนอคาเดมี ร่วมส่งความสุขปลายปี 2566 ด้วยการพาคณะทัวร์ชม อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวด้านชาติพันธุ์วิทยา

โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก เกิดขึ้นตามนโยบายของกรมศิลปากรในการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทางด้านชาติพันธุ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชนทุกเผ่าพันธุ์ เจ้าของวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ปรากฏอยู่ในแผ่นดินไทย เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และศูนย์ข้อมูล เพื่อขยายสาขาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินอกเหนือไปจากด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่

จึงเป็นที่มาของการขอใช้ที่ดินจากราชพัสดุในพื้นที่ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรรับสนองพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดหาพื้นที่สำหรับเป็นสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยก่อสร้างอาคารจำนวน 2 หลังในพื้นที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ที่ ต.คลองห้า สำหรับเป็นที่รองรับโบราณวัตถุศิลปวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตลอดจนจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่นๆ ที่มีพื้นที่ในการจัดเก็บไม่เพียงพอ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

พ.ศ.2539 ตรงกับปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ปี กรมศิลปากรจึงขออัญเชิญนามพระราชพิธีเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลดังกล่าว มาเป็นชื่อของพื้นที่โครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาติพันธุ์วิทยา โดยรวมอาคารคลังทั้ง 2 หลังด้วย เรียกชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก

ขณะเดียวกันนั้นได้มีการจัดทำแผนแม่บทพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาติพันธุ์วิทยาควบคู่กันไป

พ.ศ.2558 กรมศิลปากรมีนโยบายจัดสร้างอาคารคลังแห่งใหม่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อการจัดเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี ให้เป็นคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำภูมิภาคภาคกลาง รองรับวัตถุพิพิธภัณฑ์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและภาคกลาง

โดยในปี พ.ศ.2566 กรมศิลปากร ดำเนินการก่อสร้าง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วเสร็จ เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ฯที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นศูนย์กลางการเก็บรวบรวมและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ขนาดใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ

โดยการก่อสร้างคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรได้น้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้ในหลายโอกาสเกี่ยวกับการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณโบราณวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์วิทยา เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุของชาติ และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วยการเปิดให้บริการศึกษา ค้นคว้า วิจัย

พื้นที่ใช้สอยภายนอกและภายในรวม 30,000 ตารางเมตร  มีการออกแบบให้เป็นอาคารคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยเฉพาะ ตั้งแต่รูปแบบอาคารที่คำนึงถึงการควบคุมความร้อน ความชื้นจากภายนอกอาคาร ติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคารเพื่อปกป้องและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้มีความยั่งยืนและปลอดภัยตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล ได้แก่ ระบบจัดเก็บตามประเภทวัสดุของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ระบบตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ระบบปรับอากาศ ระบบป้องกันอัคคีภัย ป้องกันภัยธรรมชาติ โจรกรรม