ทัวร์สุรินทร์-บุรีรัมย์ 3 วัน 2 คืน

The Project

 

เที่ยวปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้ สุรินทร์-บุรีรัมย์

กับ “ศานติ ภักดีคำ” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย-เขมร

 

ราวพุทธศตวรรษ์ที่ 16-18 ถือได้ว่าเป็นช่วงที่อารยธรรมขอมโบราณเฟืองฟูถึงขีดสุดและค่อยๆ โรยราลง แต่ยังคงทิ้งพินัยกรรมที่ประกาศความยิ่งมามาถึงปัจจุบันด้วยบรรดาสถาปัตยกรรมแบบขอมที่เรารู้จักพบเห็นกันในรูปแบบ “ปราสาทหิน”  ซึ่งไม่เพียงปรากฏแต่ในดินแดนประเทศกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ในประเทศข้างเคียงซึ่งรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย โดยเฉพาะในแถบอีสานใต้

 

พร้อมกับความเชื่อหลายสาย บ้างก็ว่าเป็นการแผ่อำนาจการปกครองของกษัตริย์ขอม บางสายก็ว่าน่าจะเป็นการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมผ่านทางเส้นทางการค้า หรือเชื่อว่าเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยอาจมีความสัมพันธ์กับขอมในฐานะมืองเครือญาติก็เป็นได้

 

             จึงเป็นที่มาของเส้นทางแกะรอยวัฒนธรรมขอมผ่านปราสาทหินยิ่งใหญ่ พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนถิ่นอีสานใต้ กับ ผศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ

สาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ

ด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เขมร

           

พาบุก 2 จังหวัดที่ขึ้นชื่อด้าน ร่ำรวยปราสาท คือ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เพื่อตามแกะรอยอารยธรรมขอมโบราณ

 

เริ่มสำรวจประวัติศาสตร์ผ่านปราสาทหินกันที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์

 alt

บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทเหนือพื้นดินขึ้นไปราวสองร้อยเมตรของเทือกเขาพนมรุ้งคือศาสนบรรพตขนาดใหญ่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมโบราณ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งมีความงดงามในระดับ “อันซีนไทยแลนด์”

 

เทวสถานบนยอดเขาที่สะท้อนถึงความพยายามของคนโบราณในการจำลองเทือกเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระศิวะขึ้นบนพื้นโลก เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าซึ่งมีความสงบเงียบ

 

ตามตำนานกล่าวถึงบุคคลสำคัญในอดีตที่เดินทางมาบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ที่แห่งนี้ก็คือ “นเรนทราทิตย์” พระญาติกษัตริย์ขอมโบราณผู้สร้างนครวัด ทำให้ปราสาทแห่งนี้มีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่ง  หินที่ใช้สร้างเป็นหินทรายสีชมพู

 

จากผืนดินเบื้องล่างเมื่อมองขึ้นไปยังยอดเขา จะเป็นทางเดินทอดยาวไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวยอดปราสาทโผล่เหนือระเบียงคด สวยราวกับทิพยวิมาน สมดังที่จารึกพนมรุ้งได้กล่าวเปรียบไว้ว่า นเรนทราทิตย์ได้มาบำเพ็ญพรต ณ ที่แห่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับพระศิวะได้กระทำที่เขาไกรลาส 

                            alt  alt

                ทั้งปราสาทหินแห่งนี้ยังได้มีการก่อสร้างตรงตามหลักดาราศาสตร์ซึ่ งทำให้เกิดปรากฎการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติคือ แสงอาทิตย์ส่องทะลุซุ้มประตูทั้ง15 บานของปราสาทเขาพนมรุ้ง” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีความมหัศจรรย์และสวยงามเป็นอย่างมาก โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นปีละ 4 ครั้ง โดยดวงอาทิตย์ขึ้น ตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง 2 ครั้งและดวงอาทิตย์ตก ตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้งอีก 2 ครั้ง โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆปี

 

                ในขณะที่นักดาราศาสตร์เองก็ตั้งข้อสังเกตว่า ช่างที่ก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้งอาจจะพยายามสื่อสัญญาลักษณ์ที่เกี่ยวกับโลก และจักรวาลก็เป็นได้ เช่น บันไดตรงตระพักทางขึ้นมีจำนวน 52 ขั้น เท่ากับจำนวนสัปดาห์ของปี การสลักลายดอกบัวบนพื้นชาลา ซึ่งหมายถึงทิศทั้งแปดอันเป็นสัญญาลักษณ์ของจักรวาล

 

                เมื่อเดินไปตามบันไดทางขึ้นช่วงแรกจะทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นเพื่อผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก

        
                ภาพสลักบนแผ่นหินที่กระจายอยู่ภายในตัวปราสาทสะท้อนเรื่องราวของเทพเจ้าในภารกิจต่างๆ ที่ยังคงความชัดเจน  งดงามเหนือการเวลา

 ไม่ว่าจะเป็น ภาพศิวนาฏราช ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสิทธุ์ ที่ถูกยกย่องว่าเป็นสองภาพที่สำคัญสูงสุดของปราสาทพนมรุ้งเลยทีเดียว

จากเทือกพนมรุ้งลงมายังชุมชนเบื้องล่าง ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีชื่อเรียกว่าชุมชนเมืองต่ำ  มีเทวสถานประจำชุมชนโบราณขนาดใหญ่โตที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ปราสาทเมืองต่ำ

                        alt

บริเวณใกล้กันยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นที่น่าสนใจด้วย อาทิ อโรคยศาลาหรือโรงพยาบาลประจำชุมชน  ที่พักคนเดินทาง และบาราย

    ทุกที่สัมพันธ์กันอย่างไร?

      เราเดินทางต่อไปยัปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งมีมีรูปแบบการก่อสร้าง และสิ่งปลูกสร้างแวดล้อมซึ่งมีนัยยะที่น่าศึกษามาก

ตัวปราสาทเมืองต่ำ ประกอบด้วยปราสาท 5 องค์ พังทลายไป 1 องค์ เหลือเพียงฐานให้เห็น แต่ก็สันนิฐานว่าน่าจะเป็นองค์สำคัญที่สุดเพราะสร้างอยู่บนมุขที่ยื่นออก

 มาด้านหน้าต่างจากหลังอื่นๆ  ล้อมรอบด้วยระเบียงคต  และมีสระน้ำรูปรงหักศอกล้อมอยู่โดยรอบของมุมทั้งสี่แต่ไม่ได้ล้อมเชื่อมต่อกัน 

                    ที่นี่มีทับหลังรวม 6 ชิ้นที่ผสมผสานรูปแบบศิลปถึงสองสมัย ทำให้สันนิฐานกันว่าปราสาทแห่งนี้อาจมีการก่อสร้างกินระยะเวลายาวนาน

                     บริเวณใกล้กันยังพบปราสาทองค์เล็กในรูปแบบธรรมศาลา หรือที่พักเดินทางที่มีชื่อว่า ปราสาทบ้านบุ  มีอโรคยศาลาที่ปัจจุบันเรียกกันว่า กุฏิฤษีบ้าน

โคกเมือง  และบารายมเมืองต่ำ หรือที่เรียกกันว่า ทะเลเมืองต่ำ  รับน้ำจากลำธารทางด้านตะวันตก และมีทางระบายออกทางทิศตะวันออก

ทั้งหมดสะท้อนว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจเป็นชุมชนขอมโบราณขนาดใหญ่ในอดีต !

                     

                         alt   alt

      มุ่งสู่กลุ่มปราสาทตาเมือนซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาพนมดงรัก ใกล้กับช่องเขาซึ่งเป็นที่สัญจรในอดีตทั้งฝั่งเขมรสูงและเขมรต่ำในการไปมาหาสู่กัน  อีกทั้งยัง

การค้นพบถนนโบราณที่เชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่พาดผ่านกลุ่มปราสาทตาเมือนแห่งนี้ด้วย

                    ปราสาทตาเมือนเป็นกลุ่มปราสาทหินสามหลังอยู่ใกล้ๆ กัน เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก โดยปราสาทแต่ละหลังมีขนาดและประโยชน์ที่ใช้

สอยแตกต่างกันไป  ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือนโต๊จ อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 750 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ และปราสาทองค์เล็กมีชื่อว่า ปราสาทตาเมือน

         

                 อีกหนึ่งจังหวัดที่รุ่มรวยปราสาทหินไม่แพ้กันก็คือ จังหวัดสุรินทร์

         จังหวัดที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา มีการเคลื่อนไหวไปมาหาสู่กัน

ระหว่างกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          ที่มีปราสาทเก่าแก่ที่น่าสนใจองค์หนึ่งชื่อว่า ปราสาทบ้านพลวง ซึ่งมีลักษณะ

พิเศษน่าสนใจ เพราะมีทับหลังที่เป็นภาพสลักรูปสัตว์ต่างๆ เช่น สลักภาพกระรอกกระแต และกวางป่าไว้เหนือใบระกาด้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่ปรากฏในปราสาทแห่งใด

                มาสุรินทร์ทั้งทีต้องหาของดีติดไม้ติดมือกลับบ้าน

 

                ผ้าไหม คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้กับลูกหลานเพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป

                  alt     alt

 กลุ่มทอผ้าที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก คือหมู่บ้านผ้าไหมยกทองของกลุ่มจันทร์โสมา เกิดจากการเลือกเส้นไหมน้อยที่เล็กละเอียดนำมาผ่านกรรมวิธีฟอก

ย้อมด้วยสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลัก ๓ สี คือ สีแดงจากครั่ง  สีเหลืองจากแก่นแกแล(เข) และสีครามจากใบต้นคราม  ใช้จำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ และ

ใช้คนทอ 4-5 คนต่อผืน  ในวันหนึ่งๆ ทอได้เพียง 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น

 

ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ซึ่งได้แก่ ลายปราสาท ลานธรรมาสน์ ลายสัตว์ ลายพืช ลายจากสิ่งของเครื่องใช้ และลายเรขาคณิต

 

นับเป็นวิถีชุมชนถิ่นอีสานใต้ที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์ ควรต้องปกปักษ์รักษาให้คงอยู่ตลอดไป

โปรแกรมการเดินทาง

 

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2555

7.00 น.

ออกจากอคาเดมี-สระบุรี-ปากช่อง

แวะพักเข้าห้องน้ำที่จุดชมวิว ริมอ่างเก็บน้ำ เขื่อนลำตะคอง

12.00 น.

ถึง อ.นางรอง ทานอาหารกลางวันที่ ร้านขาหมูลักขณา

14.00 น.

ชมปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

ศาสนสถานในศาสนาฮินดูดูลัทธิไศวะนิกาย เป็นปราสาทสำคัญในวัฒนธรรมขอม ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ “เครือญาติ” ระหว่างเขตอีสาน กับเขมรเมืองพระนคร โดยพบหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ในดินแดนลุ่มน้ำมูน (ราชวงศ์มหิธรปุระ) ที่เป็นเครือญาติกับกษัตริย์ทางเขมรเมืองพระนคร ซึ่งมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทบายน เป็นเชื้อสายของราชวงศ์มหิธรปุระ พร้อมชมภาพสลักชิ้นสำคัญที่ประดับปราสาท

16.00 น.

เข้าชมปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์

เมืองต่ำเป็นชื่อชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นราบ ตั้งอยู่ใกล้ๆ ภูพนมรุ้ง ที่เมืองต่ำมีศาสนสถาน ขนาดใหญ่โต ที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ปราสาทเมืองต่ำ เป็นปราสาทที่มีแผนผังสวยงาม โดยเฉพาะสระน้ำที่อยู่มุมทั้งสี่ของปราสาท นอกจากนี้ยังมีจุดสำคัญที่น่าชมคือ บารายเมืองต่ำ เป็นบารายขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ปราสาท ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในอดีต

17.00 น.

เข้าที่พัก ที่โรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินทร์

19.00 น.

รับประทานอาหารเย็นที่โรงแรม

 

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555

6.30 น.

ทานอาหารเช้าที่โรงแรม

7.30 น.

เตรียมตัวออกเดินทาง

9.00 น.

เข้าชมกลุ่มปราสาทตาเมือน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ประกอบไปด้วยปราสาท ๓ หลัง ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน  คือ ปราสาทตาเมือนธม ศานสถานประจำชุมชน ปราสาทตาเมือนโต๊จ อโรคยศาลา และปราสาทตาเมือน ธรรมศาลา กลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่สันเขาพนมดงรัก ปัจจุบันคือพรมแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ติดริมพรมแดนเลยทีเดียว

ในอดีตกลุ่มปราสาทตาเมือน อยู่ใกล้บริเวณช่องเขาที่ผู้คนจากฝั่งอีสาน และเขมรเมืองพระนคร เดินทางติดต่อกันไปมา และมีนักวิชาการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้เดินทางระหว่างเมืองพิมายกับเมืองพระนคร

12.00 น.

ทานอาหารกลางวันที่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โครงการชลประทาน จ.สุรินทร์

13.30 น.

เข้าชมปราสาทบ้านพลวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์

ปราสาทหินเล็กๆ แต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก เป็นปราสาทองค์เดียว ส่วนยอดพังทลายหมดแล้ว สันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้สร้างถวายพระอินทร์

15.00 น.

เข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.สุรินทร์

พร้อมรับประทานอาหารว่าง

16.30 น.

แวะซื้อของฝากที่ร้านห้าดาว จ.สุรินทร์ เช่น ผักกาดหวาน, กุนเชียง, กาละแม, กุ้งจ่อม เป็นต้น

17.00 น.

รับประทานอาหารเย็นที่ร้านโคคา

18.00 น.

เดินทางเข้าที่พัก ที่โรงแรมทองธารินทร์

 

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2555

6.00 น.

ทานอาหารเช้าที่โรงแรม

8.00 น.

ออกเดินทางไปวัดบูรพาราม

8.30 น.

นมัสการรูปเหมือน หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พร้อมชมพิพิธภัณฑ์ หลวงปู่ดุลย์

10.00 น.

เข้าชมกลุ่มทอผ้าไหมจันทร์โสมา ที่ดูแลและสร้างสรรค์โดยอ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

ชมการทอผ้าไหมยกทองของจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่การย้อมผ้าไหมที่ใช้สีแบบธรรมชาติ จนถึงการทอ ทั้งนี้ผ้าไหมของกลุ่มนี้ถือว่ามีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยนำไปตัดเป็นชุดให้กับผู้นำต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเอเปคเมื่อปี 2546 และยังมีสั่งซื้อจากบุคคลสำคัญของต่างประเทศ พร้อมเลือกชมและเลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย ในราคาเป็นกันเอง

12.00 น.

พร้อมรับประทานอาหารกลางวัน ชิมอาหารพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ ที่กลุ่มทอผ้าไหมจันทร์โสมา              

14.00 น.

ออกเดินทางกลับกรุงเทพ

20.00 น.

ถึงอคาเดมีโดยสวัสดิภาพ

 

 

สนใจเดินทางเรียนรู้วัฒนธรรมขอมโบราณกับ ผศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ – สุรินท์ 3 วัน 2 คืน

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มติชนอคาเดมี 02-954-3977-84 ต่อ 2113, 2114, 2123 และ 2124