สัมผัสวิถีแห่งสายน้ำชุมชนลุ่มน้ำป่าสัก “ไทยวน-ไทยเบิ้ง”
เที่ยวเมืองโบราณ ศรีเทพ-ซับจำปา
ณ…ริมลำน้ำป่าสัก
แม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงคนภาคกลางกับคนแถบชัยบาดาล เพรชบูรณ์ หล่มสัก เลย และชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยเป็นที่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าพันธ์ต่างๆ หลายชาติพันธุ์ ก่อนจะมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น ไทยเบิ้ง (ไทยโคราช) ลาวแง้ว ไทยลาว ไทยวน มอญ จีน
มีหนึ่งสถานที่ยังคงประจักษ์พยานยืนยันได้ถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของผู้คนในลุ่มน้ำป่าสักในอดีตปรากฏให้เห็นอยู่
สถานที่แห่งนั้นก็คือ วัดสมุหประดิษฐาราม ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต) ต้นตระกูลกัลยาณมิตรเพื่ออุทิศให้มารดา ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจมาก นอกจากเรื่องราวพระสมุทรโฆษ หลวิชัย – คาวี ซึ่งคาดว่าน่าจะเขียนขึ้นใน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๓)แล้ว ยังมีภาพสังคมวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งมีคุณสมบัติความเป็นพื้นเมืองที่น่าสนใจมาก
ไม่ว่าจะเป็นภาพการแต่งกายของหญิงสาวไทยวน ภาพวิถีชีวิตคนไทยลาว ภาพเรือนไม้ไผ่แบบล้านนา ประเพณีแห่งสลากภัต ภาพขบวนแห่บั้งไฟพญานาค ภาพเรือสำเภา
นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย
เพียงข้ามแม่น้ำไปก็จะเป็นหมู่บ้านไทยวนเสาไห้ กลุ่มคนซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่โยนกนาคพันธุ์ หรือเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนาในอดีต ซึ่งได้โยกย้ายถิ่นฐานจากภัยสงครามมาอยู่ภาคกลางที่เมืองสระบุรีแห่งนี้ส่วนหนึ่ง และเมืองราชบุรีอีกส่วนหนึ่ง
ภายใต้การสืบสาน ฟื้นฟู รักษา และสืบทอดของ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล โดยจัดตั้ง “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” และ “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก”ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยมีกลุ่มชาวไทยวนในละแวกใกล้เคียงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรม ร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒธรรมกันอย่างเข้มแข็ง
ปัจจุบันหอวัฒนธรรมฯ แห่งนี้ ถูกใช้เป็นสถานที่ศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการจัดแสดงคอลเลคชั่นผ้าซิ่นตีนที่อาจารย์ทรงชัยได้อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ทั้งยังเป็นสถานที่ให้ชาวบ้านได้นำผ้าจกเอกลักษณ์ไทยวนสระบุรีมาจำหน่ายให้กับผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยือนด้วย อาทิ ย่าม ผ้าซิ่น รวมถึงเป็นสถานที่ฝึกสอนเยาวชนในท้องถิ่นได้สืบสานการฟ้อนรำแบบล้านนาด้วย
{youtubejw}hKeKQoZ_r5M{/youtubejw}
ห่างออกไปด้านบนเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังมีอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ยังคงวิถีความงดงามของตัวเอง ทั้งภาษาพูด การแต่งกาย บ้านเรือน อาหารการกิน ศิลปะดนตรี ประเพณีความเชื่อ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ไทยเบิ้ง” กลุ่มชนกลุ่มใหญ่แห่งลุ่มน้ำป่าสักบ้านโคกสลุง เมืองลพบุรี ชุมชนเก่าแก่อายุราว 300 ปี
ที่นั่นมี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง ซึ่งเป็นที่รวบรวมมรดกวัฒนธรรมชาวไทยเบิ้ง ก่อตั้ งขึ้นจาการรวมตัวกันของชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เขื่อนป่าสักชล สิทธิ์ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทำให้พื้นที่บ้านเรือนดั้งเดิมหายไป ชาวบ้านเกรงว่าวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตการทำมาหากินแบบเก่าของชาวไทยเบิ้งจะหายไปด้วย จึงรวมตัวกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ไทยเบิ้ง เพื่อแสดงอัตลักษณ์และรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้สืบทอดให้ลูกหลาน
ตัวพิพิธภัณฑ์ไทยเบิ้งได้จำลองบ้านที่อยู่อาศัยของไทยเบิ้งแบบดั้งเดิมขึ้นมา เป็นเรือนฝาคร้อเสาสูง ขึ้นลงด้วยบันไดแบบชักออกได้ เมื่อเดินขึ้นไปบนบ้านส่วนแรกที่
เจอก็คือ ชานบ้านไม่มีหลังคา เปิดลานโล่งรับซึ่งใช้เป็นที่สำหรับนั่งกินข้าวเย็นในครอบครัว เรียกว่าการกินข้าวล่อ คือนั่งเห็นหน้าเห็นตากันระหว่างกินข้าว ถามไถ่
สารทุกข์สุกดิบกันในครอบครัว
เต็มอิ่มกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนกันแล้ว
เราจะเดินทางกันต่อบนทางทัพโบราณ
ชมศิลปะความงามของเมืองสองวัฒนธรรม “ศรีเทพ –ซับจำปา”
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีปรากฏชื่ออยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในอดีตเคยมีนักโบราณคดีชาวอังกฤษเดินทางมาสำรวจ และให้ข้อสังเกตุว่าบริเวณมุม
ของผังเมืองโบราณศรีเทพมีความน่าสนใจ คือมีลักษณะมนแบบอินเดีย และสันนิฐานว่าเมืองนี้น่าจะเป็นเส้นทางการค้าโบราณ ระหว่างเมืองฟูนัน และเมืองโบราณในลุ่มน้ำ
เจ้าพระยา
ผังเมืองโบราณศรีเทพเป็นรูปทรงกลม เรียกว่าเมืองใน ล้อมลอบด้วยคูน้ำคันดิน มีช่องประตูทางเข้าออก 8 ประตู สำหรับผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน เรียกว่าเมืองนอก
ภายในเมืองใน มีโบราณสถานสำคัญคือ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่นอก และเขาคลังใน
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็น ฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
โบราณสถานเขาคลังใน เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า “เขาคลัง” การก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับ ประติมากรรมสำคัญคือ คนแคระแบก ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้คำจุนอาคารทางศาสนา โดยปกป้องความชั่วร้ายไม่ให้มารบกวน เป็นศิลปะแบบทวารวดีมีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษาจังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวที่ราชบุรี
ส่วนเมืองนอกมี เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดของเมืองศรีเทพ
เดิมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านรู้จักกันมานาน มีลักษณะเป็นเนินดินที่แลเห็นเศษศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณและมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น จนในที่สุด ทางกรมศิลปากรได้เข้าขุดแต่ง จนเผยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมหาสถูปโบราณที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวัฒนธรรมทราวดี ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ บุโรพุทโธในชวา ธรรมยังจีในพุกาม และเกาะแกร์ในโฉกครรยา
ใครที่ได้มาเห็นล้วน “ตะลึง” กับความงดงามและความยิ่งใหญ่ของมหาสถูปแห่งนี้ทั้งสิ้น ความสมบูรณ์ของตัวอาคาร รูปแบบศิลปกรรมอินเดีย มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีการ “ยกเก็จ” หรือ “เพิ่มมุม”จากการศึกษา พบว่าลวดบัวฐานและอาคารจำลองของโบราณสถานเขาคลังนอก มีความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมอินเดียในศิลปะปาละและศิลปะอินเดียใต้
จากเพชรบูรณ์เราไล่ล่องมายังจังหวัดลพบุรีไปยังจุดหมายปลายทาง “เมืองโบราณซับจำปา”
เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะผังเมืองที่แตกต่างจากเมืองโบราณอื่นๆในยุคสมัยเดียวกันที่พบในประเทศไทย เพราะเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเป็น
ลักษณะรูปร่างคล้ายรูปไข่ที่มีส่วนยื่นแหลมไปทางด้านเหนือ และส่วนเว้าทางด้านใต้ ทำให้เป็นเมืองชนิดไม่มีรูปแบบ หรือเมืองอิสระ มองเห็นแนวกำแพงเมืองได้
อย่างชัดแจน เมืองนี้มีกำแพงดินสูง 2 ชั้น มีคูเมือง (คูน้ำคันดิน) ลึกตรงกลาง
กล่าวได้ว่า เมืองโบราณซับจำปา เป็นเมืองโบราณยุคแรกที่รับวัฒนธรรมอินเดียที่มีคูเมืองลึก และมีกำแพงดินล้อมรอบ 2 ชั้น ทั้งยังพบวัตถุโบราณแบบทวารวดีหรือ
มอญโบราณจำนวน อาทิ กวางหมอบ เศียรพระพุทธรูป ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง รวมถึงเศษซากดินเผา เครื่องประดับ ชิ้นส่วนธรรมจักร และจารึกต่างๆ
ปัจจุบัน มีการจัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร ขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ และภาคชุมชน ภายใต้การกำกับดูแล
ของ “ชมรมอนุรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร” ซึ่งมีคุณเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ เป็นประธานชมรมฯ
ใกล้ๆ กันเป็นป่าชุมชนขนาดเล็ก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น ทำให้ป่าแห่งนี้มีพรรณไม้ยืนต้น และสมุนไพรโบราณที่น่าศึกษามากแห่งหนึ่ง
รวมถึงการค้นพบพันธุ์ไม้ในวงศ์จำปีจำป่าที่ชื่อว่า จำปีสิริธร ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ออกดอกเป็นสีขาวนวล เมื่อแห้งจะโรยอยู่บริเวณโคนต้น
ที่นี่มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นแบบเดินเป็นวงกลมระยะทางราวสองกิโลเมตรกว่าๆ ให้ได้เดินฟอกปอดชมความงามของพรรณไม้นาๆ ชนิดที่มีการ
จัดทำป้ายชื่อตลอดสองข้างทาง
ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ก็เต็มอิ่มกับอดีตในภาวะแห่งปัจจุบัน…ที่สุดแห่งความประทับใจที่นักเดินทางไม่ควรพลาด