จิตรกรรมแกะสลัก สื่อผสมแห่งจินตนาการและการบำบัดจิตใจ

The Project

 

 

สล่าวารินท์ ใจจรรย์ทึก ต้นฉบับ“จิตรกรรมแกะสลัก”

ศิลปะสื่อผสมแห่งจินตนาการและการบำบัดจิตใจ

              ศิลปะสร้างโลกและจรรโลงโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

เป็นเหมือนพลังบริสุทธิ์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาเพื่อสร้างสุนทรียให้กับโลกผ่านมือเหล่า “ศิลปิน”

alt

สล่าวารินท์ ใจจรรย์ทึก หรืออาจารย์แจง ศิลปินสาวจากถิ่นล้านนาผู้ทุบสะเทือนวงการศิลปะด้วย “ สี- ซิ่ว-ค้อน” รังสรรค์ผลงานแนวสื่อผสมระหว่างงานแกะสลักไม้ และจิตรกรรมเขียนสี ด้วยเทคนิกและรูปแบบพิเศษเฉพาะตัวซึ่งเกิดจากการ”เรียนรู้ ทดลอง ทำใหม่ ทำอีก”  วนเวียนอยู่อย่างนั้น  ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งอยากทำอีก จนเกิดตัว “รู้” ว่าแท้จริงแล้วยังมีเทคนิคมหัศจรรย์เกิดขึ้นขณะที่ทำงานได้ตลอดเวลา และความมหัศจรรย์นี้ไม่มีวันหมดแม้นในวันสุดท้ายของชีวิตคนทำงานศิลปะ


เส้นทางสายศิลปะของอาจารย์แจง เริ่มต้นจริงๆ จังๆ ภายหลังที่ตัดสินใจไปสมัครเป็นลูกศิษย์ครูสล่าเพชร วิริยะ ศิลปินช่างแกะสลักแห่งบ้านจ๊างนัก ในจังหวัด

เชียงใหม่ ที่ชุบชีวิตไม้ท่อนธรรมดาๆ สู่ประติมากรรมช้างหลากอิริยาบถที่ดูราวกับมีชีวิตจริงๆ ศึกษาเรียนรู้งานอยู่กับพ่อครูสล่าเพชร ขลุกอยู่กับการจับซิ่ว ถือ

ค้อนอยู่เพื่อเรียนวิชาแกะสลักไม้อยู่ 1 ปี สร้างผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ได้เพียง 1 ชิ้น เป็นการแกะลายช้างคู่และลงสีบนชิ้นงาน แต่เหนือกว่าสิ่งใดคือการค้นพบแนว

ทางงานแกะสลักที่เป็นตัวเอง ทั้งเป็นงานที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิต

alt

หลังจากนั้นก็ขลุกอยู่กับการทำงานศิลปะบนแผ่นไม้มาโดยตลอด จนถึงจังหวะหนึ่งของชีวิตที่พบกับความเสียใจที่สุด ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความหดหู่ ความ

โกรธวิ่งแซงกันไปมาภายในตัวเอง ถูกดึงออกมาปลดปล่อยบนแผ่นไม้ สาดซัดด้วยสีผสมน้ำตามแรงสะเทือนของอารมณ์เป็นเวลา 7 วัน กับชิ้นงาน 30 ชิ้น แต่สิ่งที่ได้

มากกว่านั้นคือ ความเจ็บปวดความเสียใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความทุกข์ต่างๆ  มันเบาลง ศิลปะช่วยบำบัดสภาพจิตใจและพาตัวเองลุกขึ้นมาเป็นคนใหม่เลย เมื่อ

หันกลับไปดูงานทั้งสามสิบชิ้นอีกครั้งก็ทำให้มองเห็นตัวเอง

งานศิลปะที่ไม่เพียงปลดตัวเองออกจากความทุกข์ได้ ยังค้นพบแนวทางการทำงานศิลปะที่เป็นตัวของตัวเอง ที่เรียกว่า “จิตรกรรมแกะสลัก”  ซึ่งเป็นการการแกะเส้น

ซิ่วบนแผ่นไม้  และใช้สีเป็นตัวสื่ออารมณ์ของ ” ศิลปิน” และ “ชิ้นงาน” รื่นไหลไปตามจินตนาการและความรู้สึก

            ผลงานของอาจารย์แจงส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับช้าง เทพแห่งช้าง หรือแม่หญิงล้านนา แต่มีรูปแบบเทคนิกการทำงานที่หลากหลายแตกต่างกันไป

alt    alt alt

            มีโอกาสได้นั่งดูงานจิตรกรรมแกะสลักที่นำเสนอเรื่องราวเทพแห่งช้าง หรือ “พิฆเนศวร” ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ตั้งแต่การร่างภาพจากจินตนาการที่มีการลงร่างเส้นทับกันไปมาอยู่หลายรอบ จนได้เส้นร่างที่พอใจและสวยที่สุดก็ใช้สีเข้มมาตัดเส้นอีกครั้ง แล้วค่อยน้ำซิ่วมาเซาะผิวไม้ตามแต่จินตนาการ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการที่น่าสนใจมาก คือ การหยอดสีไปบนชิ้นงาน  ซึ่งเราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของสีที่รวมตัวกัน และมีทิศทางการไหลที่อิสระ ไปบนแผ่นไม้ที่เดินเส้นซิ่วลวดลายไว้แล้ว มีส่วนช่วยให้ชิ้นงานมีมิติและมีเสน่ห์ เมื่อแห้งก็ตกแต่งด้วยพู่กันเติมสีตัดเส้นอีกครั้ง และขัดเกราโดยใช้กระดาษทราย ซึ่งเทคนิคต่างๆ ทั้งหมดช่วยให้ชิ้นงานมีมิติและมีความวิจิตรอย่างแปลกประหลาด

            ปัจจุบันสล่าวารินทร์เป็น ศิลปินอิสระที่มีห้องภาพจัดแสดงผลงานอยู่บนชั้น 2 ของห้างเอสพลานาด ใช้ชื่อว่า เอสพลานาดอาร์ตแกลลอรี่ และเข้าร่วมในการจัดทำโครงการศิลปินสัญจร หรือตลาดนัดศิลปะ เพื่อนำศิลปะเข้าหาชุมชนผ่านกิจกรรมศิลปะแบบเข้าถึงง่าย และดึงให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม

            อาจารย์แจงยังสะท้อนความรู้สึกต่อการทำงานศิลปะว่า งานศิลป์ที่เราทำ เป็นงานที่หาเรียนได้ยากมาก อย่างส่วนตัวกว่าจะไปเรียนได้ใช้ทั้งความเพียร อยากให้ทุกคนได้ลอง ไม่อยากให้วิชาที่เราได้ร่ำเรียนมา มันตายไปกับเราอยากสอนให้สำหรับคนที่อยากเรียนรู้ จึงตัดสินใจมาถ่ายทอดเทคนิกการทำงานจิตรกรรมแกะสลักให้กับผู้สนใจที่มติชนอคาเดมี

            สำหรับหลักสูตรจิตรกรรมแกะสลัก กับ สล่าวารินท์ เป็นหลักสูตร 2 วัน  โดยอาจารย์จะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอุปกรณ์พื้นฐานและการใช้งานอย่างถูกวิธี เช่น การจับซิ่ว ฝนซิ่ว การแกะเส้นเบื้องต้น  การคอนโทรลมือ แขน อุปกรณ์ต่างๆ  รวมถึงเทคนิกการลงสี ตกแต่งชิ้นงานจนสมบูรณ์ จากนั้นก็ให้ผู้เข้าอบรมได้ ลงมือทำผลงาน และผู้เรียนจะได้รับเซ็ตอุปกรณ์เบื้องต้น เป็นค้อนไม้ที่สั่งทำพิเศษ  ซิ่วพื้นฐาน 5 ตัวกลับบ้านไปฝึกฝนสร้างงานศิลปะของตัวเองต่อไป

และระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม – 24 พฤศจิกายน 2555 อาจารย์แจง จะนำผลงานสุดหวง บางส่วนของผลงาน 10 ชิ้นแรกในชีวิต จนถึงผลงานในปัจจุบัน มาจัดแสดงที่อาคารมติชนอคาเดมี ร่วมกับเพื่อนศิลปิน  “อาจารย์ปนตพร ช่างเหล็ก”  ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น.