ชวนนมัสการพระพุทธบาทบนเส้นทางโบราณ

The Project

 

ชวนนมัสการพระพุทธบาทบนเส้นทางโบราณ

นครหลวง-ท่าเรือ-ถนนฝรั่งส่องกล้อง สู่เทือกเขาสุวรรณบรรพต


alt



                 เดือนสามย่างสู่ “เทศกาลไหว้พระบาท” งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ หากจะย้อนไปในสมัยแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมาก็ถือเป็นประเพณียิ่งใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องเสด็จไปนมัสการพระบาท ณ เทือกเขาสุวรรณบรรพต เมืองสระบุรี ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในช่วงว่างเว้นการเก็บเกี่ยวพืชผลไร่นาก็จะนัดรวมตัวกันหลั่งไหลไปนมัสการรอยพระบาทเช่นกัน

                ย้อนตำนานการค้นพบรอยพระพุทธบาท สระบุรี ก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ได้ทราบข่าวว่ามีพรานบุญผู้หนึ่งได้บังเอิญพบกับรอยพระพุทธบาทเข้าโดยบังเอิญขณะล่าสัตว์ป่า จึงทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังเขาแห่งนั้น และทอดพระเนตรเห็นรอยศิลาลายกงจักรที่กลางพระบาท ประกอบด้วยลายมงคลร้อยแปดประการ  จึงทรงเห็นว่ารอยนี้คงจะเป็นสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์เป็นแน่แท้ สมควรสร้างศาสนสถานเพื่อประดิษฐานไว้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท สร้างพระอาราม และได้เสด็จขึ้นไปทำการฉลองสมโภช จัดงานมหรสพสมโภชถึง 7 วัน แล้วจึงเสด็จกลับพระนคร หลังจากนั้นก็เสด็จฯ ไปนมัสการทุกปีมิได้ขาด

                ในอดีตเส้นทางนมัสการรอยพระพุทธบาทนับแต่อดีตไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้เส้นทางเสด็จฯ ก็จะต้องโดยเสด็จฯทั้งทางชลมารถและสถลมาค โดยเรือพระที่นั่งจะล่องมาตามลำน้ำป่าสักไปขึ้นบกที่บริเวณท่าเรือ รุ่งขึ้นทรงช้างพระที่นั่งตัดดงไปยังเชิงเขา เมื่อเสด็จกลับจึงได้ให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตรงตลอดถึงท่าเรือเป็นถนนหลวง ระดว่างเสด็จก็พระกรุณาสั่งให้ตั้งพระตำหนักด้วย ดั้งนั้นหากเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะต้องมีการตระเตรียมความพร้อม ทั้งต้องละทิ้งการงาน ต้องเตรียมทุนทรัพย์เป็นค่าจ้างช่างม้าเรือแพ และเดินเท้าเพื่อ

                เส้นทางทางสถลมารคหรือทางบกมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยพระเจ้าปราสาททองก็ให้มีการจัดสร้างที่พักริมทางและแหล่งน้ำเพิ่มเติม

 

เส้นทางจากอยุธยาไปพระพุทธบาทจึงเป็นเส้นทางที่โบราณสถานทิ้งร่องรอยอยู่รายทาง และเราจะชวนทุกท่านในโลกปัจจุบันไปนมัสการพระบาทบนเส้นทางสายโบราณแต่ย่นเวลาเหลือเพียงหนึ่งวัน แต่รับประกันว่าประทับใจไม่รู้ลืม

ตั้งต้นกันที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่มีปราสาทองค์สวยที่ถูกลืม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งแต่เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี  ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีชื่อเรียกว่า ปราสาทนครหลวง

alt

ปราสาทหลังนี้มีการสัญนิฐานว่าน่าจะมีการบูรณะหลายครั้ง นับแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม มาถึงสมัยพระจ้าปราสาททอง ก็ทรงโปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลาของเขมร และน่าจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก หลายครั้งหลังจากนั้น เห็นได้จากศิลปรูปแบบตัวปราสาท วิหารคดที่ออกแนวตะวันตก ในขณะที่แต่ละมุมของปราสาทด้านในสุดก็จะเห็นเก้าอี้ปูนปั้นศิลปะแบบจีน ด้วย

ภายในมณฑปสีเหลือสดสวยเด่นด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระบาทสี่รอยมีลักษณะเป็นพระบาทศิลารอยใหญ่ซ้อนกันสี่รอยลึกลงไปในเนื้อหิน

บริเวณด้านหน้าตัวปราสาท เป็นศาลพระจันทร์ลอย ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ภายในประดิษฐาน แผ่นหินพระจันทร์ลอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ สีทองอร่าม

เดินถอยออกมามองตัวปราสาทในระยะไกล ต้องบอกว่าแลนด์สเคปสวยประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

จากปราสาทนครหลวงเดินลัดเลาะตามถนนหลวงไปอีกราวร้อยเมตรจะเห็นวัดใหม่ประชุมพลอยู่ริมถนน มองเห็นพระเจดีย์โบราณตะหง่านชัดอยู่ปากทางเข้าด้านซ้ายมือ มีบรรไดสูงทอดยาวขึ้นไปตัวเจดีย์ ภายในมีเจดีย์มหาจุฬามณีองค์เล็กประดิษฐานอยู่ตรงกลาง มองเงยไปด้านบนเจดีย์จะเห็นดาวเพดาน เป็นภาพเขียนสีบนแผ่นเดานไม้สวยแปลกตา

ภายในวัดยังมีร่องรอยแนวกำแพงวัดเก่าหลงเหลืออยู่ เมื่อเดินลึกเข้าไปด้านในอีกเล็กน้อยโบสถ์จะอยู่เยื้องไปด้านซ้ายมือ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านและคนในท้องที่ เรียกว่า พระพุทธทรงธรรม สวยงามมาก พระวรกายทรงเครื่องกษัตริย์สวมพระเศียรมกุฎ

ฝาผนังพระอุโบสถยังมีภาพเขียนสีปรากฎให้เห็นแม้บางส่วนจะชำรุดสีกระเทาะหลุดไปจำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม

                สวย สงบ ร่มเย็นกายใจอย่างบอกไม่ถูก

                ออกจากวัดใหม่ประชุมพล มุ่มหน้าไปยังอำเภอท่าเรือ

                ณ วัดสฎางค์ ริมแม่น้ำป่าสัก มีโบสถ์เก่าสวยด้ายลวดลายปูนปั้นที่รอดเหลือผ่านกาลเวลามาให้เห็นบนหน้าบัน วัดสฎางค์ สันนิษฐานสร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๙ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมกษัตย์แห่งกรุงศรีอยุธยา วัดสฎางค์ได้รับวิสุงคามสีมาครั้งหลังวันที่ ๒๕ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

                เชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางนมัสการพระบาททางน้ำ ขึ้นท่าเพื่อเดินทางทางบกตัดตรงไปบนถนนฝรั่งส่องกล้องหรือถนนพระเจ้าทรงธรรมสู่ยอดสุวรรณบรรพตเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท

                แต่ก่อนจะมุ่งสู่ถนนฝรั่งส่องกล้อง ต้องแวะไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดไม้รวกซะก่อน เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเขตกำแพงแก้ว องค์พระมีขนาดยาวประมาณ 7 เมตร นอกจากนี้ยังมีวิหารเก่าแก่ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 แม้สภาพจะลบเลือนไปมากแล้วก็ตาม

 

alt

                ใกล้กับวัดไม้รวกนี้เองมีบริเวณที่เรียกว่าท่าเกย ซึ่งเดิมีเกยช้างปลูกสร้างไว้ แต่ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเหลืออยู่แล้ว นับเป็นหัวถนนฝรั่งส่องกล้องที่ตัดตรงขึ้นเหนือไปยังวัดพระพุทธบาทสระบุรี ความยาวประมาณ 19 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันเหลือร่องรอยอยู่เพียง 9 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณด้านหลังวัดสร่างโศก

                ด้านตะวันตกของถนนฝรั่งส่องกล้องหรือถนนพระเจ้าทรงธรรม ยังปรากฏ บ่อน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ (บ่อดงโอบ) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่พักอีกแห่งหนึ่งระหว่างทางไปพระพุทธบาท  เป็นบ่อทรงกลมกรุอิฐขนาดใหญ่

                เมื่อถึงมณฑปพระบาทที่ตั้งตะหง่านบนบนไหล่เขาสุวรรณบรรพตมองแล้วช่างงดงามยิ่งนัก

alt

                บันไดนาคที่ทอดยาวสู่องค์มณฑปมองเห็นความงดงามทางศิลปกรรมอันปราณีต ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีคตินิยมว่า “ผู้ใดได้มานมัสการและทำการฉลองสมโภชพระพุทธบาท ย่อมจักประสบความรุ่งเรืองและได้รับสิริมงคลนั้น”

 ในชีวิตสักครั้งต้องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

ในชีวิตสักคัร้งต้องหาโอกาสสักครั้งเมื่อชมรอยพระพุทธบาททองคำและเงินกะไหล่ทองประดับรัตนชาติ ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย  ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทสระบุรีแห่งนี้เอง