ท่องเมืองกาญจน์ ดูปราสาทเก่า “สงครามเก้าทัพ”

The Project

 

 

ท่องเมืองกาญจน์ ดูปราสาทเก่า

เล่าย้อนอดีต “สงครามเก้าทัพ”

กับ “ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์”

alt

 

แม้จะอยู่ในบรรยากาศนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอา เซียน ในปี 2015 แต่บางส่วนในความทรงจำของสังคมไทยยังมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู โดยเฉพาะพม่าเป็น 1 ในคู่ปรับ ผ่านสายตาคนที่มีจินตนาการว่าประเทศใกล้เคียงเป็นฝ่ายตรงข้ามตลอดกาล ทั้งที่การสู้รบจบไปนานแล้วตามแต่บริบทในแต่ละยุคแต่ละสมัย  

                มติชนอคาเดมีจัด ทัวร์ศิลปวัฒนธรรมย้อนยุคไปดูโบราณสถาน โบราณวัตถุ เส้นทางการรบและเส้นทางการค้า ที่มีมาตั้งแต่ก่อนการกำเนิดของอยุธยาเพื่อเรียนรู้อดีตไม่เพียงแต่มิติการแย่งชิงอำนาจการเมือง แต่มีเรื่องศิลปวัฒนธรรม และการแผ่ขยายความเชื่อจากอำนาจรัฐเขมรในสมัยโบราณด้วย  การเดินทางครั้งนี้ มีหัวข้อ ประวัติศาสตร์เมียนมาร์-สยามยุทธ์ สงครามเก้าทัพที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 วิทยากรโดย ดร.สุเนตร  ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาสถานที่จริง ของเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ รวมถึงทำความเข้าใจเงื่อนไขและความเป็นไปได้ในการทำสงครามที่ไม่ได้เกิดขึ้น บ่อยครั้งอย่างที่หลายคนเข้าใจ

                ดร.สุเนตร กล่าวว่า พม่าเป็นราชธานีมาตั้งแต่ก่อนตั้ง “สุโขทัย” แต่เดิมมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ พุกาม ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า และต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนพม่ารบกับรามัญ ไม่ได้รบกับไทย จนกระทั่งอยุธยาตอนปลาย 

                ความจริง ไทยกับพม่า รบกันน้อยครั้ง เพราะการรบแต่ละครั้ง ต้องรวบรวมความเข้มแข็ง ต้องลงทุนทรัพยากร ทั้งสะเบียง กำลังพล ดังนั้น หากจะรบ ก็ต้องได้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เพราะสงครามคือการปล้นที่ถูกกฎหมาย ฝ่ายรุกจึงต้องคำนวณว่ารบแล้วชนะ ไม่ได้รบกันบ่อยๆ อย่างที่หลายคนคิด

alt

                ดร.สุเนตร อธิบายว่า การมากาญจนบุรีครั้งนี้ เป็นการมาดูยุทธภูมิ ว่า เมืองกาญจนบุรีเก่า ตั้งอยู่ในชัยภูมิไหน  ทำไมเมืองนี้ จึงมีความสำคัญ ทำไมเส้นทางเดินทัพครั้งนั้นของพระเจ้าปดุง จึงจะต้องมาผ่านทางเมืองกาญจนบุรีเก่าด้วย ซึ่งพอเรามาดูเมืองกาญจนบุรีเก่า ก็จะมีจุดสำคัญๆ  ที่เราเข้าแวะชม อย่างเช่นว่า เราไปดูลำตะเพิน  ซึ่งเป็นจุดที่ถูกใช้เป็นเหมือนคูพระนคร ด้านหนึ่งคอยป้องกันเมืองกาญจนบุรีเก่า ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นลำน้ำแควใหญ่ เราไปดู ชัยภูมิ อันเป็นที่ตั้งเมือง อันเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สาย สบกัน  ในการเข้าไปชมตรงนี้ ก็ต้องไปดูว่า มันมีโบราณสถานอะไรที่หลงเหลืออยู่ สิ่งที่มีหลงเหลืออยู่ ก็มีซากกำแพงเก่าเล็กน้อยไม่ใหญ่โต แต่พอให้เราจินตนาการได้ว่า ขนาดความใหญ่ของเมืองกาญจนบุรีเก่านั้นประมาณไหน ไปดูป้อมที่อยู่ตรงมุมเมือง ในจุดชัยภูมิที่อยู่ติดกับลำน้ำแควใหญ่ เพื่อจะจินตนาการให้เห็นว่า เมือง อย่างเมืองกาญจนบุรีเก่า ในสมัยที่ใช้รบทัพจับศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวสงคราม 9 ทัพ เมืองนั้น มีความเข้มแข็งแค่ไหน

                นอกจากนั้น ในการเดินทาง ยังได้ผ่านวัดโบราณ ซึ่งปัจจุบัน ถูกเรียกว่าวัดขุนแผน ดร.สุเนตร เล่าว่า แม้จะเรียกว่า วัดขุนแผนแต่ความจริงวัดนี้ ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขุนแผนแต่อย่างใด ทั้งนี้ โบราณสถานดังกล่าวบ่งบอกความสำคัญของเมืองกาญจนบุรี เดิมทีอาจจะเป็นวัดที่เป็นประธานของเมือง เนื่องจากว่ามีพระปรางค์เก่าตั้งอยู่ วัดนี้อาจจะเป็นวัดสำคัญที่อยู่ใจกลางเมือง แสดงให้เห็น ถึงสถานะ หรือความสำคัญของเมืองกาญจนบุรี

                ถัดไปอีกไม่ไกล พบที่ตั้งของวัดโบราณ ที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าวัดป่าเลไลยก์ดร.สุเนตร บอกว่า เดิมทีวัดคงจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ แต่มีโบสถ์สำคัญเรียกว่าโบสถ์ มหาอุตม์ ซึ่งเป็นโบสถ์ที่มีแต่ประตูทางเข้า แต่ไม่มีหน้าต่างและประตูหลัง แสดงว่าน่าจะเป็นสถานที่ซึ่งใช้ปลุกเสกเครื่องรางของขลังต่างๆ

 ดร.สุเนตร นำชมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรบอีกจุด คือ ปากแพรก ซึ่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการย้ายจากเมืองกาญจนบุรี จากกาญจนบุรีเก่ามาในจุดดังกล่าว

                จุดหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ คือ ปากแพรกคือจุดที่แม่น้ำแควใหญ่ กับแม่น้ำแควน้อย เข้ามาสบกัน ตรงนี้ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรบ เพราะว่า เส้นทางกองทัพที่เดินลงมา ตั้งแต่สมัยยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี สงครามศึกบางแก้วนั้น พม่าก็มาตั้งกองทัพอยู่ที่ปากแพรก เมื่อตกมาถึงในคราวสงครามเก้าทัพ สมเด็จกรมพระราชวังบวร ก็มีทัพใหญ่อยู่ที่ปากแพรก ความสำคัญของตำแหน่งปากแพรก ในทางยุทธศาสตร์ที่มีมานี้เอง เป็นเหตุให้พอตกมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมือง จากเมืองกาญจนบุรีเก่า ที่เขาชนไก่ ลงมาตั้งที่ใหม่ ที่ปากแพรก กลายเป็นศูนย์กลางของเมือง กาญจนบุรี ในปัจจุบัน

alt

สำหรับช่วงบ่าย ทัวร์ศิลปวัฒนธรรมในหัวข้อประวัติศาสตร์เมียนมาร์-สยามยุทธ์ สงครามเก้าทัพ”  ได้เดินทางไปยังเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณก่อนยุคสงครามเก้าทัพ เป็นเมืองสำคัญในการทำการค้าในอดีต    ดร.สุเนตร เล่าว่า เมืองสิงห์ น่าจะตั้งอยู่ในตำแหน่งแห่งที่สัมพันธ์กับเส้นทางการค้าเชื่อมต่อเขตลุ่มน้ำ เจ้าพระยาตอนล่าง เข้าไปในเขตของพม่าที่จะออกไปทางเมาะตะมะ ซึ่ง อาจารย์พิเศษ เจียจันพงษ์ (ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร) ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เมืองสิงห์ น่าจะเป็นเมืองที่พวกสินค้าต่างๆ ที่ถูกล่องมาทางเรือตามลำน้ำแควน้อย ได้มาพักและขนถ่ายสินค้าขึ้นทางบกตรงนี้ เพื่อลำเลียงต่อไปทางเขตรัฐมอญ เหตุที่มีสถานะเป็นเมืองอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่จะขนถ่ายสินค้า เพราะการเดินทางทางน้ำต่อจากนั้นไปทางเมาะตะมะ จะไม่สะดวก เป็นเหตุให้เมืองนี้มีสถานะและมีความสำคัญขึ้น อันสัมพันธ์กับเรื่องของการค้ามาก่อน

                ฉะนั้น จากชุมชนที่เคยเป็นที่ที่สินค้ามาเปลี่ยนจากทางเรือมาเป็นทางบกหรือทางบกมา เป็นทางเรือ เมืองก็เริ่มขยับขยายเป็นเมืองขนาดใหญ่ขึ้น เข้าใจว่าเมืองนี้อาจจะอยู่ในที่ตั้งที่แล้งน้ำในฤดูแล้ง ทั้งๆ ที่เป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เพราะว่ามันมีการทำแนวกำแพงดินถึง 7 ชั้น อยู่ล้อมรอบตัวกำแพง ซึ่งเป็นกำแพงเมือง กำแพงดินในลักษณะนี้ ก็เป็นไปได้ว่า สร้างขึ้นเพื่อจะดักเก็บน้ำ เพราะฉะนั้น ความสำคัญ ของเมืองเมืองนี้จริงๆ แล้ว มีความสำคัญตรงที่ แม้ไม่ใช่จุดที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่เป็นตำแหน่ง ที่ตั้งอยู่โดยทำการค้าได้สะดวก แต่ข้อเด่นของมัน คือ เป็นเมืองที่ไปคาบเกี่ยวกับสมัยพระนครหลวงตอนปลาย   ดร.สุเนตร กล่าวถึงข้อสันนิษฐานของยุคสมัยที่สร้างปราสาทเมืองสิงห์ว่า ปราสาทสร้างขึ้นในยุคบายน เพราะฉะนั้น ลักษณะของ ตัวโบราณสถานก็ดี ลักษณะของโบราณวัตถุที่ค้นพบจะเข้าไปคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เขมรในยุคตอน ปลายพระนคร จึงทำให้เกิดความเข้าใจทำนองว่า เมืองนี้น่าจะเป็นส่วนขยายอำนาจของศูนย์กลางอำนาจรัฐที่ตั้งอยู่ที่พระนคร หลวง ขยายออกมาไกลถึงเข้ามาเลยเขตกาญจนบุรีเข้ามาในเมืองสิงห์ ซึ่งจะเห็นได้จาก ลักษณะทางโบราณวัตถุ โบราณสถานในคติวัฒนธรรม ของเขมรที่เข้ามา   เมืองสิงห์เป็นเมืองโบราณ ซึ่งมีอายุหรือความเป็นมาหลายร้อยปี ก่อนยุคสงครามเก้าทัพ จะว่าไปแล้วเป็นเมืองที่น่าจะคาบเกี่ยวกับรุ่นพระนครหลวงในสมัยพระนครหลวง ตอนปลาย หรือในยุคบายน ในยุคที่เป็นสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองสิงห์เป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่มาตั้งอยู่ริมลำน้ำแควน้อย มีโบราณสถานที่อยู่ในเมืองนี้ และโบราณวัตถุ ที่ถูกค้นพบเป็นจำนวนมาก แต่โบราณสถานหลักก็คือ ปราสาทเมืองสิงห์  ซึ่งน่าจะเป็นศาสนสถานประธานของเมืองสิงห์นี้

                ดร.สุเนตร เล่าถึงหลักฐานที่บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างปราสาทเมืองสิงห์และศูนย์กลาง อำนาจของเขมรในยุคนั้น รวมถึงข้อถกเถียงเมืองสิงห์อยู่ในกลุ่มบริวารของอำนาจรัฐเขมร หรือว่าเป็นเมืองที่รับมาเพียงวัฒนธรรมความเชื่อแต่ไม่รวมถึงอำนาจทางการเมือง   จากการศึกษาพบว่า มีเมืองที่มีชื่อละม้ายของเมืองนี้ ปรากฎอยู่ใน จารึก ในปราสาทพระขรรค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คล้ายๆ กับว่า เมืองสิงห์อยู่ในกลุ่มเมืองบริวาร จึงเกิดกระแสความเข้าใจว่า อำนาจของรัฐเขมรขยายมาถึงจุดนี้ และมากับอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ขยายเข้ามา แต่ นักวิชาการไทยหลายท่าน ก็ตั้งข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกันออกไป บอกว่า สิ่งที่รับเข้ามาที่นี่ น่าจะเป็นรับศาสนา คติความเชื่อ วัฒนธรรม แต่อาจจะไม่รวมถึงการขยายอำนาจทางการเมือง ฉะนั้น การมาดูเมืองนี้ เรามาดู ถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของวัฒนธรรมพุทธมหายาน ซึ่งอยู่ ในช่วงเขมรตอนปลายยุคพระนคร ที่แผ่เข้ามา ในพื้นที่นี้อย่างไร

                ดร.สุเนตร กล่าวถึงเส้นทางการค้าบนลำน้ำแควน้อยว่า ดูจากสถานะ หรือความสำคัญของเมือง ในฐานะที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า และเป็นจุดหรือเป็นท่าที่เข้ามาเคลื่อนย้ายเปลี่ยนผ่านสินค้า ก็เป็นสิ่งยืนยัน ให้เห็นว่า บนเส้นทางลำน้ำแควน้อย เป็นเส้นทางการค้าสำคัญมาแต่อดีต และการที่มีเมืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่ขึ้นมาได้ ก็เป็นหลักฐานในตัวเอง ถึงความสำคัญของเส้นทางนี้  ในขณะเดียวกัน เราก็จะเข้ามาศึกษาในเชิงฝีไม้ลายมือ หรือความสามารถของช่างพื้นถิ่น ที่ถึงแม้จะรับวัฒนธรรมอิทธิพลเขมรเข้ามา แต่ก็ได้มีการปรับประยุกต์ และสร้างเมือง สร้างโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ ที่มีอยู่ เป็นฝีมือ ท้องถิ่น แสดงให้เห็นสกุลช่างของพื้นที่นี้ ที่รับคติข้างนอกเข้ามา แล้วก็มาปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับเงื่อนไขของตัวเอง

alt

               “การมาเที่ยวในครั้งนี้ยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญ ที่เราได้ระบุว่า เส้นทางด่านพระเจดีย์ 3 องค์ เป็นเส้นทางค้าโบราณ และ เป็นเส้นทางเดินทัพในสมัยหลัง และ ถ้าจะย้อนยุคว่า เส้นทางการค้าโบราณนี้ ย้อนยุคไปได้ไกลขนาดไหน ผมคิดว่า ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นหลักฐานในตัวของมันเอง ในยุคสมัยหนึ่ง ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเจริญ ในเส้นทางนี้ ซึ่งมีมาก่อนการกำเนิดอยุธยาดร.สุเนตร กล่าวทิ้งท้าย