เรื่อง-ภาพ กนกวรรณ มากเมฆ

หากเอ่ยถึงการเดินทางไปเที่ยวไข่มุกอันดามันอย่าง “ภูเก็ต” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงชายหาดทอดยาวตัดกับน้ำทะเลสีคราม การชมวิวพระอาทิตย์ลับของฟ้าที่แหลมพรหมเทพ บ้านเก่าอาคารโบราณในเขตตัวเมือง หรือแสงสีตระการตาที่ชายหาดป่าตอง

แต่แท้จริงแล้วภูเก็ตยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่หลบเร้นซ่อนอยู่กลางขุนเขา แต่หากใครได้ไปเยือนคงพูดได้เต็มปากเลยว่าที่นี่แหละคือสวรรค์บนดินแห่งภูเก็ต และที่นั่นคือรีสอร์ต “กีมาลา ภูเก็ต” (Keemala Phuket) นั่นเอง

วิวที่พักของกีมาลาจากบริเวณ Tree Tower

กีมาลา ภูเก็ต เป็นรีสอร์ตหรู 5 ดาวที่เพิ่งเปิดให้บริการมาเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำเลที่ตั้งนั้นหาไม่ยาก อยู่ห่างจากหาดกมลาไปเพียงนิดเดียว โดยเลี้ยวขึ้นไปทางฝั่งภูเขาเข้าไปไม่ไกลนัก ก็จะเห็นรีสอร์ตรูปทรงแปลกตาอยู่ท่ามกลางแมกไม้น้อยใหญ่

เมื่อถึงบริเวณหน้ารีสอร์ต มีรถกอล์ฟพาแขกผู้มาเยือนขึ้นไปยังบริเวณล็อบบี้ ที่ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปกระเปาะอยู่บนเสาแท่งเดียว ด้านนอกทำด้วยวัสดุดูคล้ายธรรมชาติ ทำให้หลายคนนิยามว่าราวกับหลุดออกมาจากภาพยนตร์เรื่อง “อวตาร” เลยทีเดียว

โซน Public Area อาคารดีไซน์รูปร่างคล้ายกระเปาะ

อาคารรูปทรงกระเปาะหลายหลังนี้นอกจากจะเป็นล็อบบี้แล้ว ยังมีทางเดินเชื่อมที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอย่างไม้และไม้ไผ่ ให้เดินไปยังห้องน้ำของล็อบบี้ที่ดีไซน์เป็นรูปทรงกระเปาะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพาเดินไปยังจุดชมวิวที่ด้านหนึ่งมองเห็นทิวทัศน์ที่พักน้อยใหญ่เรียงรายอยู่ทั่ว และสีครามสดใสของน้ำทะเลอันดามัน ส่วนอีกด้านก็คือวิวอาคารที่พักรูปทรงต่างๆ ของกีมาลานั่นเอง

ทางเดินจากล็อบบี้ไป Tree Tower

พักจิบเวลคัมดริงก์อย่างน้ำอัญชันจนหายร้อน เลยขอโอกาสพูดคุยกับ “ตาล-สมรพรรณ สมนาม” นักธุรกิจสาววัย 30 ปี ผู้บริหารโรงแรมกีมาลา ภูเก็ต ถึงแนวคิดการออกแบบโรงแรมให้แปลกไม่เหมือนใคร

โดย “สมรพรรณ” เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเธอมีโรงแรมที่หาดป่าตองอยู่ก่อนแล้ว เป็นโรงแรม 4 ดาวชื่อว่า “เดอะ กี รีสอร์ต แอนด์ สปา” ซึ่งหลังจากที่เดอะ กี ให้บริการมา 6-7 ปี สมรพรรณและพี่ชายก็รู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และถึงเวลาเริ่มต้นสิ่งใหม่

สมรพรรณ สมนาม ผู้บริหารโรงแรมกีมาลา ภูเก็ต

ด้วยมีพื้นที่สวนผลไม้ขนาด 18 ไร่กลางหุบเขา ทำให้เธอและพี่ชายเล็งเห็นว่าน่าจะใช้ทำอะไรได้ และด้วยประสบการณ์ในสายงานด้านโรงแรม ทำให้ตัดสินใจว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้เป็นโรงแรมขึ้น

“แต่ความยากก็คือเมื่อสำรวจโรงแรมในโซนนี้แล้ว เราพบว่าโรมแรมส่วนใหญ่ในหาดกมลาเป็นโรงแรมลักชัวรี ดังนั้นตลาดลักชัวรีจึงน่าจะยังขายได้ ซึ่งจุดเด่นของโรงแรมส่วนใหญ่คือมักอยู่ติดหาด แต่ของเราอยู่กลางหุบเขา เราเลยเริ่มมองหาคอนเซ็ปต์ เลยคิดว่าจะสร้างอะไรที่ดูมีสตอรี่ขึ้นมาดีไหม หรือสร้างอะไรที่ทำให้ลูกค้าอยากพักกับเราแทนที่จะไปอยู่ริมหาด ซึ่งด้วยความที่คุณแม่เป็นคนธรรมะ และชอบธรรมชาติ คอนเซ็ปต์ของกีมาลาเลยเน้นความเชื่อมโยงของธรรมะและธรรมชาติ”

ที่พัก “บ้านดิน”

การออกแบบของกีมาลาอาศัยทีม Sell Marketing จากโรงแรมเดิม และทีมดีไซเนอร์ชาวไทยจากกรุงเทพฯ โดยเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวของ จ.ภูเก็ต ที่เป็นเมืองท่าสำคัญ มีการติดต่อซื้อขายสินค้า ซึ่งมีเรือขนส่งสินค้าลำหนึ่งที่มีคน 4 ชนเผ่าอยู่ด้วยกัน ทำให้ได้ที่พักที่มีสถาปัตยกรรมสอดคล้องกับคนเผ่านั้นๆ

ที่พักประเภทแรกของกีมาลาเรียกว่า “บ้านดิน” ของชนเผ่าปฐพี เป็นชนเผ่าที่อยู่กับดิน การออกแบบภายนอกให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านที่ทำมาจากดิน ส่วนที่พักประเภทถัดมามีชื่อว่า “บ้านเต็นท์” ของเผ่าคนจร มีอุปนิสัยชอบเปลี่ยนย้ายที่ การออกแบบจึงออกมาในลักษณะคล้ายเต็นท์

ที่พัก “บ้านต้นไม้”

ส่วนที่พักแบบที่ 3 มีชื่อว่า “บ้านต้นไม้” ของชนเผ่าเวหา รูปแบบดีไซน์หากมองจากข้างล่างจะรู้สึกเหมือนลอยอยู่บนอากาศ หรือถูกแขวนลงมาจากด้านบน และที่พักแบบสุดท้ายคือ “บ้านรังนก” ของชนเผ่ารังนก เป็นกลุ่มที่รักความเป็นส่วนตัวและความหรูหรา ทำให้บ้านรังนกจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สูงที่สุดและดีที่สุดในกีมาลา ทั้งนี้ ห้องพักทุกแบบมาพร้อมฝักบัว อ่างอาบน้ำ และสระว่ายน้ำส่วนตัวด้วย

สระว่ายน้ำภายในที่พักบ้านต้นไม้

นอกจากภายนอกของห้องพักแต่ละประเภทจะแตกต่างกันแล้ว การตกแต่งภายในก็แตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไปจนถึงลวดลายของปลอกหมอน เช่น บ้านเต็นท์ก็จะมีลวดลายที่ได้กลิ่นอายแอฟริกาใต้ ส่วนบ้านรังนกจะตกแต่งลวดลายดวงดาวและดาราศาสตร์ แต่ที่ทุกแบบยังเหมือนกันก็คือสามารถผสมผสานความเป็นธรรมชาติและความหรูหราไว้ด้วยกันได้ โดยการใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกเหมือนธรรมชาติมาก แต่แข็งแรง ทนทาน สร้างความปลอดภัยให้ลูกค้าได้ดี

การตกแต่งภายในที่พักบ้านต้นไม้

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือบริการสปาของกีมาลา ที่บริเวณสปานั้นจะใช้อาคารที่ออกแบบภายนอกเป็นสุ่มดักปลา ส่วนภายในให้ความรู้สึกสงบ ทั้งดนตรีที่ใช้ และอุปกรณ์ให้เสียงเมื่อเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำสปา สร้างความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

โซนสปา ตกแต่งภายนอกเหมือนสุ่มจับปลา

ลองเดินดูรอบๆ กีมาลาก็พบว่ามีความร่มรื่นไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะยังเต็มไปด้วยไม้ใหญ่หลายต้นที่เขารักษาไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างโรงแรม สลับไปกับไม้ดอกนานาชนิดที่เอาเสริมเติมแต่ง รวมถึงแปลงผักสวนครัวที่ที่นี่นำมาใช้ปรุงอาหารให้กับผู้เข้าพัก และใช้เป็นวัตถุดิบในบริการคอร์สสอนทำอาหารสำหรับผู้สนใจด้วย

บรรยากาศภายนอกร่มรื่น

คอนเซ็ปต์ธรรมชาติของกีมาลายังรวมไปถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่นี่เป็นรีสอร์ตที่ไม่ใช้น้ำประปา แต่ใช้น้ำบาดาล ซึ่งน้ำที่ใช้แล้วก็มีระบบบำบัดก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังงดใช้พลาสติก ตั้งแต่ขวดน้ำในห้องพัก ไปจนถึงหลอดดูดน้ำในห้องอาหาร ก็เป็นหลอดที่ย่อยสลายได้ง่าย เรียกได้ว่าได้อยู่กับธรรมชาติ และไม่ทำลายธรรมชาติ

วิวจากโซน Public area มองไปเห็นทะเลอันดามัน

เอาเป็นว่าใครกำลังมองหาที่พักที่ให้คุณได้หลีกหนีความวุ่นวายมาใช้เวลากับตัวเอง สงบ ผ่อนคลายกลางธรรมชาติ เชื่อว่า “กีมาลา ภูเก็ต” จะเป็นเดสติเนชั่นในฝันของคุณแน่นอน!

จากคอลัมน์ เคี้ยวตุ้ย…ตะลุยกิน โดย ชม นำพา [email protected]

ไม่ใช่เพียงความหรูหราลักชัวรี่เท่านั้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวแห่จองห้องพักของกีมาลา รีสอร์ตชื่อดังบนเกาะภูเก็ตจนเต็มตลอดทั้งปี

แต่เป็นความลงตัวของพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี กับดีไซน์เก๋ๆ ของห้องพักทั้ง 4 แบบ ที่ฝังตัวอยู่กับแมกไม้ได้อย่างแนบเนียนและถ่อมตัว บวกกับความหรูหราราคาแพงที่แฝงไว้อย่างล้ำลึก

แรกเห็นภาพกว้างจากหอชมวิวถึงกับว้าวดังๆ ในใจ ดีไซน์สะกดสายตาสวยมีสไตล์สมคำร่ำลือ แอบเสียดายวันนั้นห้องพักเต็มเลยไม่ได้สัมผัสห้องจริงว่าจะน่านอนขนาดไหน ชวนกันเบนหัวไปหาห้องอาหารแทน

การตกแต่งภายในห้องอาหารเป็นสไตล์ของชนเผ่าในแอฟริกาใต้

“คุณตาล-สมรพรรณ สมนาม” Executive Director Maketing โรงแรมกีมาลา บอกว่า ในส่วนของพื้นที่รวมอย่างล็อบบี้ หรือห้องอาหาร การตกแต่งต่างๆ จะเป็นการหยิบจับเอาสไตล์ของห้องพักทั้ง 4 แบบมารวมกัน ซึ่งห้องพักแต่ละห้องมีจะคอนเซ็ปต์ของ 4 ชนเผ่าที่แตกต่างกัน เป็นสตอรี่ที่กีมาลาสร้างขึ้นมา

ด้านสตอรี่ก็เก๋ไก๋ไม่น้อย เนื้อเรื่องมีอยู่ว่าเรือที่มาค้าขายที่ภูเก็ตเกิดเจอพายุเลยต้องจอดทิ้งไว้ คนบนเรือที่มีอยู่หลายเชื้อชาติแบ่งเป็น 4 ชนเผ่าได้มาสร้างบ้านตามแบบของตัวเอง ทำให้บ้านมีคาแร็กเตอร์ที่ต่างกัน ประกอบด้วย บ้านดิน บ้านเต็นท์ บ้านต้นไม้ และบ้านรังนก

หาที่นั่งเหมาะเจาะได้แล้ว ก็เตรียมสั่งอาหาร ได้รับคำแนะนำว่า เมนู Spa Cuisine หรืออาหารเพื่อสุขภาพนั้นมาแรงมาก ต้องขอลองซักหน่อย เริ่มจาก “ยำหัวปลี” 480 บาท “สลัดเนื้อปู” 550 บาท

ยำหัวปลี
สลัดเนื้อปู

จากนั้นสั่งอาหารไทย “สะเต๊ะรวมกุ้งไก่” 480 บาท “ส้มตำไก่ย่าง” 340 บาท “ยำมะม่วงปลากรอบ” 750 บาทกับ อาหารท้องถิ่นภูเก็ตอย่าง “ผัดหมี่ฮกเกี้ยน” 380 บาท มาชิมด้วย พนักงานแนะนำอีกว่าอาหารอินเดียที่นี่ก็ยอดเยี่ยม พ่อครัวนั้นส่งตรงมาจากมุมไบเลยทีเดียว ใครชอบอาหารแขกต้องมาลองซักครั้ง

เริ่มจากออเดิร์ฟ “สะเต๊ะรวมกุ้ง-ไก่” โรยหน้าด้วยต้นหอมและพริกซอย เสิร์ฟบนเตาถ่านร้อนๆ ทำให้สะเต๊ะร้อนอยู่ตลอด มีเครื่องเทศไว้พรมเพื่อไม่ให้แห้ง และรสชาติที่ไม่หายไปไหนเพราะสามารถเติมเครื่องเทศได้ตลอด

สะเต๊ะรวมกุ้ง-ไก่

มีสีสันกว่าใคร คือ สลัดเนื้อปู เป็นการผสมระหว่างตะวันตกนิดหน่อย จานนี้จะใช้เนื้อปูจัมโบ้ มะม่วง มะเขือเทศ อะโวคาโด ปาดข้างจานด้วยเพสโต้ซอส หรือซอสโหระพา และบีทรูทซอส

“เชฟบี-จุมพล หิรัญ” Executive Chef โรงแรมกีมาลา ที่มาแนะนำอาหารด้วยตัวเอง บอกเราว่า ความพิเศษของอาหารที่นี่ คือ ผัก เครื่องเทศ สมุนไพร หลายชนิดใช้ของที่ปลูกเอง นอกจากใช้สำหรับคุกกิ้ง คลาสแล้ว ยังนำมาใช้ในห้องอาหารด้วย

“อย่างหัวปลีนี้จะเป็นอะไรที่ผมภูมิใจนำเสนอแขกมาก เพราะหลายห้องจะมีกล้วยอยู่หน้าห้อง เปิดประตูออกมาก็จะเห็นหัวปลีห้อยอยู่ เราสามารถอธิบายได้ง่ายถึงเมนูที่ทำ”

“ยำหัวปลี” สูตรที่นี่มีจุดเด่น คือ ความกลมกล่อม หอมมะพร้าวคั่ว รสชาติมันด้วยน้ำกะทิที่ผสมน้ำมะพร้าวลงไปด้วย ปรุงด้วยน้ำมะนาว เกลือ พริกไทย ใส่กุ้งตัวใหญ่ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รสชาติละมุนดีแท้ๆ

อร่อยกันต่อด้วย “ส้มตำไก่ย่าง” รับประทานส้มตำที่นี่ต้องส้มตำไทย ใส่กุ้งเสียบของภูเก็ตลงไปด้วย กินกับข้าวเหนียว ไก่ย่างคลุกขมิ้นที่ใช้ส่วนของสะโพกเลาะกระดูกออกทั้งหมด ได้กลิ่นหอมขมิ้นเบาๆ เนื้อสะโพกที่มีความมันนิดๆ เนื้อนิ่มอร่อยมาก

ส้มตำ
ไก่ย่าง

หมายเหตุไว้สำหรับคนติดรสแซ่บ ต้องบอกว่าด้วยความที่ต้องรับแขกต่างชาติเป็นหลักทำให้รสชาติส้มตำต้องอ่อนโยนลงไปโดยปริยาย ใครชอบแซ่บจัดอาจขัดใจ แต่สำหรับสายสุขภาพยกนิ้วให้เลย

ถึงตรงนี้ใครจะสั่งข้าวสวย ลองสั่งข้าว 3 สีเพื่อสุขภาพมาก็ได้ เป็นการผสมข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวขาว และข้าวกล้อง มาในจานเดียวกัน

ผัดหมี่ฮกเกี้ยน

ต่อไปเป็น “ผัดหมี่ฮกเกี้ยน” เมนูนี้เป็นอาหารพื้นเมืองของคนภูเก็ต ใช้หมี่เส้นเหลือง จะมีขนาดใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ และไม่ได้เคลือบด้วยแป้ง นำมาผัดกับหมู หรือซีฟู้ดก็ได้ ใส่บร็อกโคลี แครอตลงไปด้วย จุดสำคัญ คือ ผัดไม่แห้ง น้ำต้องขลุกขลิก เส้นนุ่ม แล้ววางไข่ดาวน้ำไว้ด้านบน เวลากินก็เฉาะไข่แดงให้เยิ้มแล้วคลุกน้ำขลุกขลิกให้เข้ากัน กินได้รสชาติกลมกล่อม หอม หวานอร่อย

ยำมะม่วง กับปลากะพงทอดกรอบ

สุดท้าย “ยำมะม่วงปลากรอบ” จานนี้ใช้ปลากะพงขาวมาทอด เลาะก้างออกทั้งหมด เนื้อนิ่มฟูและกรอบ ส่วนยำรสชาติพอจี๊ดจ๊าดนิดๆ ไม่รุนแรง ตักกินกับปลาเต็มคำด้วยความสบายใจ เหมาะกับคนที่รักษาสุขภาพ

พุดดิ้งเชีย

จบมื้อด้วยของหวาน “พุดดิ้งเมล็ดเชีย” 380 บาท หวานเบาๆ เย็นชื่นใจ “ออร์แกนิคโยเกิร์ตชีสเค้ก” 450 บาท อร่อยมาก ต้องลอง!

ออร์แกนิคโยเกิร์ตชีสเค้ก

ใครมาเที่ยวภูเก็ตควรเข้ามาเช็กอินดูสักครั้ง จะแวะรับประทานอาหารกลางวัน หรือลิ้มลองอาฟเตอร์นูน ที ก็ชิลไม่น้อย ปล่อยใจให้อ้อยอิ่งอยู่กับธรรมชาติและวิวห้องพักเก๋ๆ รับรองว่าได้เก็บโมเมนต์ประทับใจกลับบ้านไปแน่นอน

เรื่อง-ภาพ กนกวรรณ มากเมฆ

เป็นจังหวัดที่ไปกี่ครั้งก็ไม่มีเบื่อเลยสักครั้ง สำหรับไข่มุกแห่งทะเลอันดามันอย่าง จ.ภูเก็ต เพราะครบเครื่องทั้งบรรยากาศตัวเมืองที่มีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของชาวพื้นถิ่นที่น่าสนใจ เกาะแก่งน้อยใหญ่กลางทะเลชวนฝัน หรือชายหาดสวยๆ ให้ผู้มาเยือนได้รับลมชมวิว

หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวงมาภูเก็ตครั้งนี้ เราเลือกสัมผัสภูเก็ตในบรรยากาศสบายๆ ริมชายหาด โดยเข้าพักที่ โรงแรมถาวร บีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต (Thavorn Beach Village Resort & Spa) โรงแรมสวยในเครือของถาวร ตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต ที่มีอีก 2 โรงแรมด้วยกัน คือ ถาวร ปาล์ม บีช รีสอร์ท และถาวร ภูเก็ตในตัวเมือง

พูดถึง “ถาวร บีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต” เป็นโรงแรมขนาดใหญ่เลยทีเดียว ด้วยพื้นที่เกือบ 100 ไร่ และเป็นโรงแรมเดียวที่ตั้งอยู่บนหาดนาคาเลย์ ซึ่งอยู่ระหว่างหาดกะรนและหาดกะหลิน ทำให้บรรยากาศสงบ นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การพักผ่อนเป็นครอบครัว หรือแบบคู่รักก็โรแมนติกไม่น้อย

เช็กอินพร้อมรับเวลคัมดริงค์เป็นน้ำอัญชันเย็นชื่นใจ ดับความร้อนชื้นของอากาศภาคใต้ได้เป็นอย่างดี บริเวณล็อบบี้โอ่โถ่ง มีที่นั่งเล่นให้รับลมเย็นๆ ชิลๆ ก่อนจะเข้าห้องพัก

ห้องพักของที่นี่มีทั้งหมด 185 ห้อง แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ ห้องพักที่อยู่ติดหาด ห้องพักที่อยู่ติดสระ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ Pool View และแบบ Pool Access โดยแบบหลังสามารถเปิดประตูระเบียงแล้วเดินลงสระน้ำได้เลย และห้องพักแบบสุดท้ายคือห้องพักที่อยู่บนเนินเขา เห็นวิวทะเลอันดามันสุดลูกหูลูกตา ที่พิเศษคือสามารถเดินทางขึ้นที่พักได้ด้วยรถราง ซึ่งจะให้บริการเวลา 07.00-22.00 น. หากไม่ใช่ในเวลาก็สามารถใช้บริการรถของโรงแรม หรือใครอยากเดินออกกำลังก็ไม่ว่ากัน

รถรางสำหรับใช้ขึ้นห้องพักโซนบนเนินเขา

ส่วนเราพักห้องแบบ Pool View ภายในห้องกว้างขวาง สะอาด ถึงแม้จะเปิดมานานแต่ก็มีการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่เสมอ ทำให้ไม่ดูเก่า แต่ให้อารมณ์คลาสสิกมากกว่า

ภายในห้องน้ำกว้าง แบ่งสัดส่วนเปียก-แห้งชัดเจน มีอ่างอาบน้ำสำหรับคนที่อยากจะผ่อนคลายอยู่ในห้อง ส่วนโซนระเบียงมาพร้อมเก้าอี้ไม้ให้เอนกายสบายๆ เห็นวิวสระว่ายน้ำอันแสนร่มรื่น มองไปสบายตา

วิวสระว่ายน้ำจากห้องพัก

เห็นน้ำสีฟ้าใสของสระว่ายน้ำแล้วก็อดจะลงไปเชยชมไม่ได้ ตัวสระมีขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางแมกไม้นานาพรรณ จึงมีจุดใต้ร่มไม้ต่างๆ ให้แวะพักหากรู้สึกร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่สระว่ายน้ำเท่านั้น แต่รอบๆ โรงแรมก็ร่มรื่นไม่แพ้กัน พร้อมตกแต่งด้วยรูปปั้นสไตล์ไทยหรือตัวละครในวรรณคดี ซึ่งเป็นความชอบของผู้ก่อตั้งโรงแรม

ถัดจากสระว่ายน้ำไม่ไกลคือหน้าหาดนาคาเลย์ ในช่วงเย็นแบบนี้เป็นเวลาน้ำลง ทำให้เห็นแนวโขดหินและซากปะการังที่ตายเกือบหมดแล้ว ซึ่งสาเหตุมาจากภัยพิบัติสึนามิที่พัดพาเอาโคลนเข้ามาทับแนวปะการังจนหมด แต่ตอนนี้ทางโรงแรมก็พยายามฟื้นฟูด้วยการปลูกปะการังใหม่อยู่

บรรยากาศช่วงเย็น น้ำลดจนเห็นโขดหินและปะการังบริเวณหน้าหาดนาคาเลย์

บรรยากาศยามเย็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้าที่มุมขวาของชายหาด สาดแสงสีส้มไปทั่ว เป็นช่วงเวลาที่ให้เราได้ทอดอารมณ์ได้ดีจริงๆ

บรรยากาศยามเย็น น้ำทะเลลดระดับจนเห็นโขดหินและปะการังหน้าหาด

บริเวณริมชายหาดยังมีเรือนไม้สำหรับดินเนอร์มื้อพิเศษของคู่รัก และอีกซุ้มเรือนไม้แสนโรแมนติก ที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้และหลอดไฟระยิบระยับ เหมาะสำหรับโอกาสขอแต่งงานหรือครบรอบวันพิเศษเลยทีเดียว ซึ่งหากของสนใจต้องลองติดต่อกับทางโรงแรมถาวร บีชฯ ดู

เอนกายพักผ่อนใจกันมาแล้ว ตื่นเช้าก็อิ่มหนำสำราญกับมื้อเช้าที่ห้องอาหารมาริสาเทอร์เรซ มีให้เลือกทั้งอาหารสไตล์ตะวันตกอย่างขนมปังและเบเกอรี่สารพัดชนิด ไส้กรอก มันฝรั่งย่าง เบคอน สลัด ซีเรียล หรือสไตล์ไทยๆ ก็มีอย่างปาท่องโก๋ ผัดผักคะน้า ข้าวสวยร้อนๆ เป็นต้น

อาหารเช้า ที่ห้องอาหารมาริสาเทอร์เรซ

ส่วนบรรยากาศทะเลตอนเช้าก็ดีไม่แพ้ช่วงเย็น น้ำทะเลใสๆ ที่ขึ้นมาใกล้จนอาศัยการเดินเพียงไม่กี่ก้าว บวกกับแดดตอนเช้าที่ไม่ร้อนมาก ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะลงไปเล่นน้ำทะเลเลย

บรรยากาศช่วงเช้า น้ำทะเลขึ้นจนสามารถลงไปเล่นน้ำได้

ที่ถูกอกถูกใจเด็กๆ มากคงจะเป็นเต่าบกอายุกว่า 70 ปี กระต่ายน้อย และนกเลิฟเบิร์ด ที่ถาวร บีชฯ จะพาออกมาเดินเล่นในช่วง 09.00-10.00 น. และช่วงบ่ายคือ 15.00-16.00 น. จะให้อาหารหรือจับอุ้มเล่นก็ได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่

เยือนถาวร บีชฯ ครั้งนี้ยังมีโอกาสพูดคุยกับ “เลิศ ถาวรว่องวงศ์” ผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 4 ของเครือถาวร ที่เข้ามาดูแลโรงแรมในเครือถาวรหลัก 2 แห่ง คือ ถาวร ปาล์ม บีชฯ และถาวร บีชฯ ซึ่งเขาสามารถพลิกฟื้นให้โรงแรมกลับมามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังก่อนหน้านี้เครือถาวรประสบปัญหาอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540

เลิศ ถาวรว่องวงศ์

“เลิศ” ในวัย 28 ปี ดีกรีปริญญาตรีจาก ม.คอร์เนล สหรัฐอเมริกา บอกว่า จากที่โรงแรมมีอัตราการเข้าพักน้อยเพียง 9% เขาเริ่มแก้วิกฤตด้วยการตัดสิ่งที่มีเพื่อใช้หนี้เสียที่มีอยู่ ก่อนจะเดินหาเซล หาเอเย่นต์ด้วยตัวเอง ตกแต่งโรงแรมใหม่บางส่วน ถ่ายรูปและปรับแต่งรูปโรงแรมด้วยตัวเองเพื่อทำการตลาดบนออนไลน์ นอกจากนี้เดินหาซัพพลายเออร์ของใช้ในโรงแรม เช่น สบู่ แชมพู หลอดไฟ ฯลฯ ด้วยตัวเองเพื่อต่อรองราคา

“ในช่วง 2 ปีแรกที่ผมเข้ามา ปีหนึ่งผมกลับบ้านไม่ถึงเดือน เสื้อผ้าบางทีก็ไม่เปลี่ยน 3-4 วัน ผมอยู่กับโรงแรมจนเห็นทุกอณู แม้กระทั่งว่าแอร์ล้างอย่างไร ยี่ห้ออะไร กระเบื้องที่ปูพื้นราคากี่บาท ผมไม่เหมือนกับลูกหลานหลายๆ ตระกูลที่ได้ทำโรงแรมในแบบที่ตัวเองฝัน แต่ผมก็รักทุกอย่างที่เกี่ยวกับโรงแรมนี้ แม้ว่าจะทำให้เจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม”

ปัจจุบัน 2 โรงแรมหลักที่เขาดูแลมีอัตราการเข้าพักถึง 91% และเขาตั้งเป้าว่าจะพัฒนา 2 โรงแรมนี้ให้ได้ไปจนถึงระดับที่ดีที่สุด

หาดนาคาเลย์ในช่วงกลางวัน บรรยากาศสงบ เหมาะสำหรับคนไม่ชอบความพลุกพล่าน

ก่อนกลับขอเดินทอดน่องชมชายหาดอีกสักเล็กน้อย บรรยากาศสงบๆ แบบนี้ทำให้หากมาภูเก็ตอีกครั้ง ก็ไม่ลังเลเลยที่จะมาพักที่ “ถาวร บีช วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต” อีกครา