ระหว่างทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดละแวก ประเทศกัมพูชา อดีตราชธานีเขมรเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว สองข้างทางดูสภาพไม่ต่างจากชนบทในประเทศไทยเท่าใดนัก บางช่วงแห้งแล้ง แต่บางช่วงก็เขียวขจีด้วยทุ่งนาข้าว รถวิ่งไปบนถนนที่สวนกันสองเลน มีไหล่ทางพอให้เบี่ยงหลบกันได้นิดหน่อย ขณะเดียวกันท้องของคนบนรถร้องส่งเสียงโครกครากด้วยความหิว หน้าปัดนาฬิกาเตือนว่าถึงเวลาต้องกินอาหารเที่ยงแล้ว แต่มองไปทางไหนพอจะหาร้านอาหารสักแห่งเพื่อเข้าไปฝากท้อง ก็สุดยากเย็นเหลือกำลัง  มีก็แต่อาหารรถเข็น หรือไม่ก็เพิงข้าวแกงที่รอบๆ เป็นฝุ่นฟุ้งกระจาย  กระทั่งรถวิ่งมาถึงเส้นทางกึ่งกลางเมืองละแวกและเมืองอุดงมีชัย จึงกวาดสายตาเห็นร้านอาหารบรรยากาศเข้าท่า สะอาดสะอ้านพอสมควร  ชื่อร้าน “Krong Loung” อ่านออกเสียงอย่างไรก็แล้วแต่สะดวก แต่ในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูงขอเรียกง่ายๆ แบบสำเนียงไทย ว่า “คลองหลวง”

ทางเข้าหน้าร้านคลองหลวง เป็นแผงย่างอะไรสักอย่างควันโขมง  หนแรกมองผ่านๆ นึกว่าไก่ย่าง แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ กลับเป็นตัวลักษณะคล้าย “กบ”  สอบถามแม่ค้าที่ยืนปิ้งย่างอยู่ว่าเป็นตัวอะไร  เธอส่งเสียงภาษาเขมรบอกว่า “kangkeb muoy” เพื่อนคนเขมรที่ไปด้วยกันรีบบอกว่า “แปลว่า กบ”  แต่อาหารชนิดนี้เรียกว่าอะไรเธอก็ไม่รู้เหมือนกัน พอสอบถามเอากับแม่ค้าก็รู้สึกยากลำบากในการทำความเข้าใจ เอาเป็นว่ามันคือ “กบย่างยัดไส้” อาหารชนิดหนึ่งของคนกัมพูชา

หรือเรียกว่า “ก็องแก๊บ บ๊ก” วิธีการทำคือนำกบมาล้างทำความสะอาด ลอกหนังออก แล้วสับให้ละเอียดทั้งตัว ไม่ว่าขากบ หัวกบ จากนั้นนำเครื่องเทศมาคลุกเคล้าผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนเครื่องเทศมีอะไรบ้างก็ยากจะรู้ เพราะการเรียกชื่อเครื่องเทศของคนไทยและคนกัมพูชาแตกต่างกัน เมื่อผสมกันดีแล้วก็นำไปยัดใส่เข้าในท้องกบอีกตัวที่ไม่ได้สับ นำไปย่างไฟกลางๆ  เวลาย่างกบจะพองๆ ด้วนๆ  ไม่มีขา ไม่มีหัว ดูไม่รู้ว่าเป็นกบ แม่ค้าบอกว่าสิ่งที่จะทำให้กบย่างอร่อยก็คือเครื่องเทศ ที่ทั้งหมักและทาเวลาย่าง ยิ่งตอนใกล้สุกจะส่งกลิ่นหอมหวนชวนกินยิ่งนัก

เพื่อให้เข้าถึงรสชาติของกบย่างอย่างแท้จริง จึงสั่งไปลองสองตัวร้อนๆ กำลังกิน คำแรกเมื่อหยิบเข้าปาก ให้รสชาติออก

กบย่างยัดไส้
ต้องลองทานดูแล้วจะติดใจ

มันๆ เพราะใส่ถั่วลิสงเข้าไปด้วย และมีกลิ่นเครื่องเทศ แต่รสไม่จัด โดยรวมรสชาติกินได้เพลินๆ ดี เหมาะเป็นกับแกล้มมากกว่าเป็นกับข้าว ใครอยากรู้รสชาติกบย่างยัดไส้ของคนเขมรเป็นเช่นไร  หากมีโอกาสไปกัมพูชาก็ต้องไปลองด้วยตัวเอง

จะว่าไปอาหารเขมรนั้นมีหลากหลายเช่นเดียวกับอาหารไทย ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น วัฒนธรรมการกิน การปรุง อาหารเขมรโดยมากไม่นิยมพริก รสเผ็ดโดยมากได้จากพริกไทย หลังๆ มาเริ่มปรากฏพริกบนโต๊ะอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังนิยมพริกไทย เพื่อให้ได้รสเผ็ดอยู่ดี  อาหารเขมรปัจจุบันได้รับอิทธิพลด้านการปรุงอาหารจากจีน เวียดนาม ไทย ตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศสอยู่ด้วย  ส่วนการกินดั้งเดิมของคนเขมรก็เปิบด้วยมือเหมือนคนไทย  ชาวเขมรโชคดีที่มีทะเลสาบเขมร ซึ่งมีปลาอุดมสมบูรณ์และรสชาติดีมาก ทุกวันนี้คนเขมรกินปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ  และยังมีกุ้ง หอย ปู กบ ตะพาบ เต่า ให้หามากินได้อีกด้วย เล่าลือกันว่า “ปลากรอบ”เป็นของดีของวิเศษของประเทศกัมพูชา  นอกจากนี้ ไม่เว้นแม้แต่พืชผัก มีทั้งปลูกเองจากสวน จากไร่ และผักจากป่า

ชาวกัมพูชานิยมกินปลากรอบโดยนำมายำกับมะกอก  นำมาย่างหรือนำมาแกง ปลาแห้งก็แกงใส่ผัก เช่น ฟักเขียว หรือตำน้ำพริก สำหรับน้ำพริกเขมรไม่มีพริกเป็นส่วนผสม ดูคล้ายตำป่นปลาบ้านเราแต่ไม่มีสีแดงของพริก ใส่พริกไทยดำพอแหลกเพื่อให้ได้รสเผ็ดร้อน กินแกล้มผักจิ้ม ชาวเขมรนิยมนำ “ปลาม้า” มาทำเค็ม เนื้อปลาม้าเค็มสับผสมกับหมูสับและไข่ ตีรวมกันนำมานึ่งหรือจะทอดก็ได้  กินแกล้มกับผักนานาชนิด สามารถใช้ปลาร้าแทนปลาม้าเค็มได้ แต่ปลาร้าจะเหมาะกับนึ่งเท่านั้น  ชาวเขมรชอบกิน “ปลาชะโด” มากกว่าชาวไทย อาหารที่ปรุงด้วยปลาชะโดที่ขึ้นโต๊ะบ่อยมากคือ “มจูญวน”

ไข่เจียวกัมพูชา
ป่นปลา หรือน้ำพริกกินกับผักต่างๆ

“มจู” นั้น คือแกงชนิดหนึ่งที่มีรสชาติเปรี้ยวนำ  สูตรมจูญวนนี้อาจเป็นสูตรของญวน เป็นแกงน้ำใส ที่เปรี้ยวด้วยรสมะเขือเทศดิบ (ชาวเขมรไม่นิยมรับประทานมะเขือเทศสุก) สับปะรด ส้มมะขามเปียก เหง้าบัวหลวง บ้างก็ใส่ฟักเขียว แล้วตอกไข่ใส่ลงไป โรยหน้าด้วยโหระพา ผักชีฝรั่ง ผักแขยง ใบหอม ที่ซอยรวมกัน ตามด้วยกระเทียมเจียว น้ำแกงเปรี้ยวแซมความหวานจากเนื้อปลา ชาวเขมรมีวิธีดับคาวของปลาด้วยการนำเนื้อปลามาผัดกับน้ำมัน เพื่อกำจัดเมือกปลาเสียก่อน จะทำให้มีกลิ่นหอมขึ้นด้วย สามารถใช้ปลาช่อนตัวโตๆ ปรุงได้ หรือปลาทะเลก็อร่อยดี

มจูอีกอย่างคือ  “มจูเกรือง”  ใส่เครื่องข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระชาย อย่างละนิดอย่างละหน่อย ตำพอแหลก ชูรสเปรี้ยวด้วยมะขามเปียก หรือลูกมะสังก็บุบใส่ไปด้วย มีแยกย่อยอีก

สองสามชนิด คือ ชนิดที่ใส่ใบมะดัน และชนิดที่ใส่ใบส้มลมเพื่อให้ได้รสเปรี้ยว ใส่ผักแต่น้อย บางคนก็ใส่ผักบุ้ง หรือพริกฝรั่ง หัวหอมฝรั่ง ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ตามใจชอบ กระดูกซี่โครงหมูก็ไม่เลว

ยังมีแกงผักรวมอีกชนิดหนึ่ง “กอโก” ไม่ใส่กะทิ ใช้เนื้อหมู เป็ด ไก่ หรือปลา ที่นิยมคือปลาดุก ใส่ผักรวมหลายชนิด ซึ่งในตลาดจะมีคนผสมผักพวกนี้ขายเอาไว้เลยสำหรับทำแกงชนิดนี้โดยเฉพาะ  ประกอบด้วยใบตำลึง มะเขือพวง ใบมะรุม ใบมะยม ขนุนอ่อน มะละกอสับ กล้วยดิบ ยอดมะระขี้นก ฯลฯ เครื่องแกงมีตะไคร้ ข่า ขมิ้น ตำพอแหลก  คนพนมเปญจะผัดเนื้อกับเครื่องแกงก่อนแล้วจึงตามด้วยลงผัก แต่คนต่างจังหวัดไม่นิยมผัดเนื้อด้วยน้ำมันเหมือนพนมเปญ แต่จะคั่วแห้งก่อน และนิยมใส่ปลาร้าลงไปด้วย  กิริยาการคั่วการกวนนี้เองเป็นที่มาของชื่ออาหาร “โก” แปลว่า กวน และถ้าจะให้วิเศษจริงๆ ควรต้องมีลูกตาลอ่อนฝานผสมลงไปด้วย รสชาติดีเป็นที่นิยมอย่างมาก

หอยแครงชาวเขมรนำมาผัดกับน้ำมะขามเปียก ไม่แกะเปลือกหอยออก ใส่ใบโหระพา ส่วน “ห่อหมก”  เขมรใส่ใบมะยมแทนใบยอ สะเดาก็นิยมนำมายำรับประทานนอกเหนือจากเป็นผักแนม ส่วนยำ ลาบ พล่า ก็มี มักปรุงสุกๆ ดิบๆ ประเพณีเดียวกับอาหารอีสาน แต่ก็ยังเจือรสนิยมของคนเขมรคือไม่เผ็ด  เนื้อสัตว์บางชนิดนำมาผัดเครื่องแกง แต่เครื่องแกงไม่มีพริก จึงมีสีออกเหลืองปนเขียวอ่อน แถมมีถั่วลิสงคั่วตำผสมเครื่องแกงลงไปด้วย ผัดกับเนื้อกุ้ง เนื้อกบ หรือเนื้อสัตว์อื่นตามใจชอบ  พลิกแพลงกันได้ และด้วยของป่าหาไม่ยากนัก เนื้อสัตว์ป่าบางชนิดก็จะขึ้นโต๊ะภายใต้ชื่ออาหารเหล่านี้

“ปรอฮา” เป็นแกงที่เผ็ดที่สุดในเมนูอาหารเขมร  ใช้เนื้อปลา เครื่องแกงมีกระชาย ตะไคร้ มีผักคือเผือก มะละกอ ฟักทอง ใบพริก ใส่พริกสองสามเม็ดก็เผ็ดน้ำหูน้ำตาไหลกันแล้ว ใส่ปลาร้าด้วย ชื่อนี้ได้มาจากรสชาติที่เผ็ดร้อน บางท่านแปลชื่อแกงชนิดนี้ว่า  แกงเลียง  หากมีโอกาสได้กินลองพิจารณาดูก็แล้วกันว่าเหมือนหรือไม่  สำหรับ “ขนมจีน” นั้น  มีน้ำยาอยู่ 2-3 ชนิด แต่ที่นิยมที่สุดคือ น้ำยาปลาช่อน ปลาชะโด  น้ำยาเป็นสีเขียวเพราะเครื่องแกงไม่มีพริกแดงแห้งผสมเหมือนบ้านเรา  ของดีต้องมีไข่ปลาลอยติดขอบหม้อ  กินกับเหมือดซึ่งก็มีเต็มถาดตามเคย เช่น มะละกอสับ ดอกผักตบชวา หัวปลี ดอกโสน ถั่วงอก ถั่วฝักยาว แตงกวา สายบัว ผักชีล้อม  ส่วนวิธีการกินชาวเขมรใช้ตะเกียบคีบขนมจีนเข้าปาก ดูแปลกตาดี

อิทธิพลอาหารฝรั่งก็มีเช่นกัน ตอนเช้าจะมี “ขนมปังปะเต” ซึ่งคล้ายคลึงกับขนมปังฝรั่งเศส ใส่ไส้แฮม หมูยอ ต้นหอม เนื้อบด นิยมกินเป็นอาหารเช้า บางทีก็ใช้ขนมปังบิจิ้มแกงกะหรี่  ซึ่งก็หน้าตาคล้ายมัสมั่นของเรา “ก๋วยเตี๋ยว”  ชาวเขมรก็นิยมกินยามเช้า ที่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวไทย คือจะมีกุ้ง หมูยอ และใบผักกาดหอมรองก้นถ้วย ที่พิลึกคือจะมีผงชูรสใส่ถ้วยขนาดเล็กวางบนโต๊ะด้วยหากลูกค้าอยากจะเติม น้ำส้มสายชูเขมรนั้นมักดองพริกเป็นเม็ดๆ แต่ไม่เห็นมีใครตักพริกกิน มีแป้งสีขาวขุ่นก้นกระปุก ไม่แน่ใจว่าทำด้วยอะไรบ้าง

ในตอนเย็นมีร้านอาหารยอดนิยม คือ “ซุปหม้อดิน”  ใช้เนื้อวัว คล้ายคลึงกับสุกี้ยากี้  มีเครื่องปรุงลูกชิ้นเนื้อ บะหมี่ ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ฟองเต้าหู้ ไข่ไก่ ฯลฯ พร้อมน้ำจิ้มคล้ายๆ น้ำพริกเผาและน้ำจิ้มสีน้ำตาล ไม่ทราบว่าปรุงด้วยอะไรบ้าง

ปลาทอดกระเทียม (ปลาเนื้ออ่อน) พร้อมน้ำจิ้ม
ปลาเปรี้ยวหวาน จะไม่ใส่พริก แต่มีพริกใส่ถ้วยมาให้ต่างหาก ถ้าอยากกินเผ็ด

หรือหากจะอยากนั่งริมถนนกินเครื่องในวัวนึ่ง จิ้มกับน้ำปลาร้าปรุง แกล้มผักบุ้งจักเป็นเส้น เป็นกับแกล้มเหล้ายาก็สุนทรีย์ไม่น้อย  ที่เบาท้องกว่านั้นคือ  “ลอดช่องผัด”  ทำเส้นเป็นทรงเดียวกับลอดช่องบ้านเรา แต่กินเป็นของคาว  ผัดกับถั่วงอกเหมือนผัดหมี่  แต่เวลาใส่ไข่จะดาวต่างหาก แล้วโปะลงมาบนลอดช่องผัด

ยามเย็นคนพนมเปญนิยมนั่งรถมอเตอร์ไซค์เล่นริมแม่น้ำ อาหารกินเล่นรับลมยามเย็นริมแม่น้ำหน้าพระบรมราชวัง คือ “ไข่ตายโคม”  ซึ่งเป็นไข่เป็ด  จะมีให้เลือก 19 วัน หรือ 20, 21, 22 วัน ถ้าจำนวนวันมากจะเห็นตัวลูกเป็ดชัดเจนกว่า แล้วแต่จะชอบ เจาะไข่ หากมีน้ำในไข่ก็ยกซดก่อนแล้วจึงเหยาะน้ำจิ้มใส่ ซึ่งทำด้วยพริกไทยดำตำ น้ำปลา มะนาว แกล้มผักไผ่  ซึ่งเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนเพื่อดับคาว  นอกจากนี้ ยังมี “ไข่นกกระทาต้ม”  (แต่เขมรเรียกว่าไข่นกคุ่ม) ไข่เต่าดิบ  ซึ่งเค้ากินกันดิบๆ   “ส้มตำ”  เป็นอาหารไทยหน้าใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาไม่นาน ตำใส่กะปิ ไม่เผ็ด รองพื้นจานด้วยใบชะพลู ผักบุ้งจักเป็นเส้นแช่น้ำจนงอนเช้งกะเด๊ะ แล้วจึงราดด้วยส้มตำข้างบน ใช้ตะเกียบคีบกิน

นอกเหนือจากนี้แล้ว เขมรก็มีอาหารง่ายๆ พื้นๆ เช่น อาหารปิ้งย่าง  กรรมวิธีไม่ยุ่งยาก แต่ได้รสชาติสดๆ จากธรรมชาติ  อาหารบางอย่างก็ดูใกล้เคียงกันกับไทย เช่น พวกผัดผัก ต้มจืด พะโล้ ซึ่งคงเป็นอาหารจีนมาก่อน ไข่ลูกเขยก็พบเห็นขายในตลาด แต่น้ำราดไม่ข้นเหนียวด้วยมะขามเปียกแบบบ้านเรา ดูใสๆ โหรงเหรง  ชาวเขมรดูจะชอบอาหารรสเปรี้ยวนำเป็นพิเศษ ไม่ใช่เปรี้ยวจี๊ดแบบมะนาว  แต่เป็นเปรี้ยวกลมกล่อม ความหวานนั้นได้จากเนื้อสัตว์มากกว่าน้ำตาล  ขณะที่คนไทยกินเผ็ดและกินหวานนำ

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นความรู้ผสมผสานกัน จากทั้งในตำราและในเรื่องราวที่พบเห็นจริง เอาเป็นมาหากมีโอกาสเดินทางไปประเทศกัมพูชา ลองสอดส่ายสายตามองหาว่าอาหารเขมรที่กล่าวมานั้น พอจะหากินที่ไหนได้บ้าง แล้วลองลิ้มชิมกันดู อย่างน้อยจะได้รู้ด้วยตัวเอง ว่าอาหารการกินประเทศเพื่อนบ้านของเรา เป็นแบบไหน อย่างไร เข้าตำราสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ก็ไม่เท่าหยิบเข้าปาก…

ก่อนนั้น..ก้อนอิฐก้อนหินสักก้อนดูเหมือนจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากกว่าการเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในการก่อสร้าง แต่เมื่อได้เรียนรู้มากขึ้น พบเห็นมากขึ้น ก้อนอิฐก้อนหินที่มองเห็นลวดลายสลักต่างๆ บนนั้น ไม่ได้ไม่มีความหมายอีกต่อไป

แต่กลับกลายเป็นเหมือนแผ่นกระดาษที่ขีดเขียนเรื่องราวของคนโบราณ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้อีกแล้วก็ตาม เฉกเช่นเรื่องราวของ “อาณาจักรเขมร” ที่ได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบรรพบุรุษ ไว้บนก้อนศิลา เรียงรายเป็นกำแพงยาวเหยียด…

“มติชน อคาเดมี” ร่วมกับสายการบิน “บางกอกแอร์เวยส์” เจ้าของฉายา “เอเชีย บูทีค แอร์ไลน์” จัดทริปเดินทางสู่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกำแพงศิลาซึ่งสลักรูปและลวดลายต่างๆ ไว้ ในกลุ่มปราสาทที่กระจายกันอยู่ในอาณาจักรเขมร

ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงยุคพระนครหลวง อันเป็นช่วงสิ้นสุดของอาณาจักรเขมรโบราณ นับเป็นความมหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพกุก ในเมืองกัมปงธม กลุ่มปราสาทบันทายฉาร์ ในเมืองศรีโสภณ หรือบันเตียเมียนเจย ไปจนถึงปราสาทอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก “นครวัด-นครธม”

อาณาจักรขอมหรือเขมร ถือเป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลอย่างมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเริ่มต้นของอาณาจักรเขมรเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 6 ก่อตั้งเป็น “อาณาจักรฟูนัน” ซึ่งก็คือบริเวณประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย ลาว และเวียดนาม

ตามเอกสารจีน คำว่า “ฟูนัน” หรือ ฟู๋หนาน” สันนิษฐานว่าตรงกับคำเขมรว่า “พนม” ซึ่งแปลว่าภูเขา ส่วนภาษาเขมรโบราณใช้คำว่า “วนัม” (vnam) ฟูนันปรากฏชื่อในการติดต่อกับจีนครั้งแรกช่วงกลางๆ พุทธศตวรรษที่ 8 ประมาณ พ.ศ. 773 และปรากฏชื่อครั้งสุดท้ายในการส่งทูตไปเมืองจีน ประมาณ พ.ศ. 1160-1170 ต่อมาเอกสารจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า “เจนละ” และเรียกมาตลอดจนสิ้นยุคเมืองพระนคร ดังนั้น “อาณาจักรฟูนัน” ถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่แรกสุดของกัมพูชา

ในพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันเสื่อมถอยลง เกิดแคว้น “เจนละ” ขึ้น โดยพระเจ้าภววรมันที่ 1 และพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ ปัจจุบันคือกลุ่มปราสาทโบราณสถาน “สมโบร์ไพรกุก” ในจังหวัดกำปงธม ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเขมร ระหว่างกึ่งทางพนมเปญ-เสียมเรียบ ราวๆ 120 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 6 หมู่ปราสาทสมโบร์ไพรกุกนั้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมัน ที่ 1 ก่อนการเกิดของนครวัด

คำว่า “สมโบร์ไพรกุก” หมายถึง “ป่าปราสาท” เพราะในป่ามีปราสาทสร้างอยู่เต็มไปหมด หรือเรียกอีกชื่อว่า “ป่าปราสาทแห่งกัมปงธม” ปราสาททั้งหลายเหล่านั้นสร้างด้วยอิฐ ระหว่างก้อนอิฐแต่ละก้อน จะหยอดด้วยยางไม้แล้ววางก่อกันจนแนบสนิท ซึ่งนิยมใช้วิธีนี้ในการก่ออิฐตัวปราสาท ขณะที่ตัวปราสาทเป็นเรือนธาตุไม่เพิ่มมุม ชั้นหลังคาประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นลดหลั่นกันไป สื่อถึงอาคารสำหรับเทพเจ้าชั้นสูง ประตูของปราสาททั้งสี่มุมนั้นมีเพียงประตูเดียว อีกสามประตูเป็นประตูหลอก เนื่องจากวิทยาการสมัยนั้นยังไม่สามารถเจาะช่องประตูได้มากกว่าหนึ่งบาน กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกยังมีกลุ่มปราสาทขนาดย่อยอีกมากมายในป่า ว่ากันว่ามีมากถึง 300 กว่าปราสาท

ถัดมาในพุทธศตวรรษที่ 12 รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 อาณาจักรเขมรช่วงนี้ถูกชวารุกราน แคว้นเจนละแตกออกเป็น “เจนละบก” และ “เจนละน้ำ” โดยเจนละน้ำอยู่ที่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ส่วนเจนละบก อยู่ในพื้นที่ประเทศลาวตอนกลางในปัจจุบัน ในพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจนละน้ำ

ทรงรวบรวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำเข้าเป็นปึกแผ่น แล้วประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับชวา และได้เสด็จจากชวามาครองกัมพูชา โดยระยะแรกประทับอยู่ ณ เมืองอินทรปุระ แล้วจึงเสด็จไปประทับที่เมืองหริหราลัย จากนั้นได้สร้างพระราชอำนาจและปราบปรามอาณาจักรจามปาที่รุกรานกัมพูชา

ในการกลับมาครั้งนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ได้นำเอา “ลัทธิไศเลนทร์” หรือ “ลัทธิเทวราชา” กลับมาด้วย จึงเกิดการสร้างปราสาทหรือเทวาลัยขึ้น เพื่ออุทิศถวายเป็นทิพยวิมานของเทพเจ้า อีกทั้งยังเป็นที่เก็บพระอัฐิของกษัตริย์เมื่อเสด็จสวรรคต ซึ่งเชื่อว่าดวงพระวิญญาณจะหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าที่พระองค์ทรงนับถือ เมืองหริหราลัยจึงเป็นราชธานีของกัมพูชาโบราณสืบต่อมาอีกหลายรัชกาล หลังจากนั้น พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 ได้ย้ายราชธานีไปแห่งใหม่ คือ “พระนครศรียโศธรปุระ” หรือ “เมืองพระนคร”

หลังจากรัชกาลพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 มีกษัตริย์ปกครองเมืองพระนครสืบมาอีกหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สร้างปราสาทพระวิหาร และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัชกาลของพระองค์ ในศิลาจารึกกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถในการสงคราม ทรงรบกับจาม ญวน เสียม (ไทย) และมอญ ทำให้พระราชอาณาจักรในสมัยของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลไปถึงประเทศจีน

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงนับถือไวษณพนิกาย จึงทรงสร้าง “นครวัด” เป็นที่บูชาพระวิษณุและสำหรับบรรจุพระอัฐิของพระองค์ด้วย ดังนั้น เหตุนี้ปราสาทนครวัดจึงถูกสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เป็นคติเทวราชาที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าอวตารลงมา ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ที่ทำให้กษัตริย์ขอม เมื่อขึ้นครองราชย์จึงสร้างปราสาทเป็นศาสนสถานสัญลักษณ์ประจำรัชกาล คล้ายกับไทยที่นิยมสร้างวัดประจำรัชกาลนั่นเอง

เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคต อาณาจักรกัมพูชาโบราณมีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนถึงรัชกาล พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน ในรัชกาลนี้อาณาจักรจามปาสามารถตีเมืองพระนครศรียโศธรปุระได้สำเร็จ และทำลายเมืองพระนครเสียหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงรวบรวมกองทัพมารบกับจาม ได้ขับไล่จามออกไปจากกัมพูชา แต่เนื่องจากเมืองพระนครศรียโศธรปุระถูกทำลายอย่างหนัก จึงทรงย้ายไปสร้างเมืองพระนคร (ที่ 2) ขึ้นใหม่ เรียกว่า “นครธม” หรือตามเอกสารไทยเรียกเมือง “พระนครหลวง”

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาที่มีความเข้มแข็ง ชำนาญในการศึกสงคราม และเชี่ยวชาญในการปกครองแผ่นดินอย่างมาก ทำให้เมืองพระนครเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง พระองค์โปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างสถานพยาบาลรักษาโรค “อาโรคยศาล” และที่พักคนเดิน หรือ “ธรรมศาลา” จำนวนมากในพระนคร และตามเมืองต่างๆ สำหรับสิ่งก่อสร้างและศาสนาสถานที่สำคัญในรัชกาลนี้ ได้แก่ ปราสาทบายน ปราสาทพระขรรค์ เป็นต้น

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างปราสาท “บันทายฉมาร์” ไว้นอกเมืองพระนคร ซึ่งถือเป็นปราสาทอันยิ่งใหญ่ในสมัยของพระองค์ และยังเป็นศาสนสถานสำคัญ ที่สร้างเพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรส “ศรินทรกุมาร” และกลุ่มขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม ลักษณะการก่อสร้างตัวปราสาทบันทายฉมาร์เป็นปราสาทหิน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญของที่นี่ก็คือ ภาพสลักที่ระเบียงปราสาท จะเป็นการบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยภาพสลักที่สำคัญเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ที่ทุกคนต้องไปดู คือ “พระอวโลกิเตศวรปางพันกร”

กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์ มีประมาณ 10 หลัง หลักๆ ได้แก่ ปราสาทตาเปล่ง ปราสาทตาสก ปราสาทตาเปรียว ปราสาทตาพรหม ปราสาทแม่บุญ และป้อมประจำทิศทั้ง 4 ทิศ ที่เชื่อว่าเป็นของราชองครักษ์ผู้ภักดี

ภายหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคตในปี 1763 เมืองพระนครหลวงก็อ่อนแอลง พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ได้ดัดแปลงปราสาทต่างๆ ให้เป็นศาสนสถานฮินดู มีการสกัดพระพุทธรูปออก ให้เป็นศิวลึงค์แทน

หลังสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 อาณาจักรกัมพูชาโบราณก็เสื่อมถอย อ่อนแอทางเศรษฐกิจ เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างพราหมณ์กับพุทธ และยังเกิดสงครามกับอาณาจักรโคเวียด (เวียดนาม) ยังต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยของนักองจันทร์ (พ.ศ. 2059-2099) หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย ปราสาทต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งรกร้างในป่าเป็นเวลานานถึง 500 ปี

าพปราสาทหินตั้งตระหง่าน ดูมีมนต์ขลัง หรือภาพสลักนางอัปษรภายในบริเวณปราสาทเขมร น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยเห็นกันมาบ้าง กับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “นครวัด” แห่งเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

แต่จริงๆ แล้วโบราณสถานอันชวนอัศจรรย์ของเขมรไม่เพียงอยู่ที่นครวัด หรืออีกที่ที่คนรู้จักดีอย่างนครธมเท่านั้น แต่ยังมีจุดอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น “มหาปราสาทบันทายฉมาร์” ศาสนสถานในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร หรือ “กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก” ที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าก่อนที่เขมรจะย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองพระนคร

“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-เขมร เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังว่า บันทายฉมาร์ หรือตัวปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นศาสนสถานสำคัญสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถึงแม้ลักษณะการก่อสร้างเป็นตัวปราสาทหินก็จริง แต่ว่าโดยรอบก็มีฐานะเป็นเมือง

“สมัยก่อนเราเรียกตรงนั้นว่าพุทไธสมัน ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารโบราณและแผนที่เก่า ซึ่งเป็นแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยรัชกาลที่ 2 หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย จึงกล่าวได้ว่าบันทายฉมาร์เป็นปราสาทที่คนไทยเรารู้จักมานานแล้ว เพียงแต่ต่อมาภาษาเขมรเรียกว่าปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งแปลว่าป้อมเล็ก ที่นี่เป็นศาสนสถานสำคัญที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้นอกเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรสและขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม ซึ่งจะมีศรีนทรกุมารที่เป็นโอรส มีรายชื่อปรากฏอยู่ในจารึกของปราสาทบันทายฉมาร์”

สิ่งที่น่าไปชมในบันทายฉมาร์คือภาพสลักที่ระเบียงปราสาท ซึ่งเป็นภาพสลักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คล้ายกับที่นครธม หรือปราสาทบายนที่เมืองพระนคร โดยมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือ มีภาพสลักที่เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันกร คือมีพระกรออกมามากมายเป็นพันๆ กร

นอกจากนี้ ยังมีปราสาทที่บนยอดเป็นพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร เพราะฉะนั้นปราสาทบันทายฉมาร์ก็เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเขมรโบราณที่อยู่นอกเมืองพระนคร ที่หลายคนอาจยังไม่เคยไปสัมผัส ไม่เคยไปรับรู้ แต่เชื่อเถอว่ามีความน่าสนใจ เพราะแม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เคยส่งขุนนางไทยไปดูปราสาทพุทไธสมัน ให้ไปดูนครวัดนครธม เพื่อที่จะจำลองแบบมาที่ในประเทศไทยด้วย

ส่วนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก อ.ศานติ บอกว่า ที่นี่เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ที่เรียกกันว่ากลุ่มปราสาทนั้นเพราะว่าสมโบร์ไพรกุกมีฐานะเป็นเมืองหลวง ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะย้ายราชธานีไปอยู่เมืองพระนครที่เสียมเรียบ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ามีความเก่าแก่มากกว่านครวัด นครธม เสียอีก

“โบราณสถานที่สมโบร์ไพรกุกนั้นมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 1,400 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นร่องรอยของศิลปะอินเดียที่ส่งอิทธิพลเข้าไปในเขมรตั้งแต่ยุคแรกๆ เราจะเห็นความคลี่คลายของศิลปกรรมที่นั่น ที่สำคัญคือสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นราชธานีสำคัญที่ปรากฏในเอกสารของทั้งกัมพูชาในจารึก และปรากฏอยู่เอกสารของจีนที่เข้ามาในสมัยราชวงศ์สุย ที่บันทึกเรื่องราวของราชอาณาจักรเจนละ และบอกว่าราชธานีของพระเจ้าอีศานวรมันนั้นอยู่ที่อีศานปุระ จึงกล่าวได้ว่าสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรเขมรโบราณที่นึง”

จะมีเรื่องราวให้ค้นคว้ามากขนาดไหน คงต้องไปสัมผัสของจริงกันในทัวร์ “บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมเรียบ ความลับหลังกำแพงศิลา” ที่นอกจากพาเยือนบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุกแล้ว ก็ยังไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปชมโบราณสถานในเมืองพระนครอย่าง “นครวัด” และ “นครธม” โดยนครวัดคือศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระองค์เอง ส่วนนครธมก็มีฐานะเป็นเมืองหลวงโบราณ ซึ่งไทยเราเรียกกันมาแต่อดีตว่านครหลวง

“จริงๆ แล้วที่เราไปศึกษาของกัมพูชา เราจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือศาสนสถานหรือโบราณสถานของกัมพูชานั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับของไทยเหมือนกัน หลายๆ อย่างถือว่าเป็นต้นแบบของเรา และการที่เราไปเรียนรู้กัมพูชาในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่ากัมพูชาถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เพราะฉะนั้นการที่เราเรียนรู้เพื่อนบ้านเราได้อย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเราและเพื่อนของเราได้ดียิ่งขึ้น”

รศ.ดร.ศานติยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้หลายคนอาจจะเคยไปกัมพูชากันมาแล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปเราก็จะพยายามนำเสนอในมิติต่างๆ ในแง่มุมใหม่ๆ พยายามที่จะไปให้เห็นภาพ หรือได้เกิดความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน โดยการที่เราไปครั้งนี้เราจะเห็นตั้งแต่ปราสาทยุคแรก คือตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงยุคสุดท้าย และช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เท่ากับแทบจะได้เรียนรู้ศิลปกรรมเขมรตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคสุดท้าย ตั้งแต่ก่อนพระนคร จนถึงสมัยพระนคร ที่จะสืบเนื่องมาสัมพันธ์กับศิลปกรรมของไทยด้วย

การเดินทางครั้งนี้ นำชมโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ออกเดินทางวันที่ 14-16 กันยายน 2561 ราคา 25,000 บาท (อ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_18009)


สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี
Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy