ย้อนเวลาสู่อาณาจักรเขมรโบราณ ฟังความลับหลังกำแพงศิลาใน “บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

าพปราสาทหินตั้งตระหง่าน ดูมีมนต์ขลัง หรือภาพสลักนางอัปษรภายในบริเวณปราสาทเขมร น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยเห็นกันมาบ้าง กับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “นครวัด” แห่งเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

แต่จริงๆ แล้วโบราณสถานอันชวนอัศจรรย์ของเขมรไม่เพียงอยู่ที่นครวัด หรืออีกที่ที่คนรู้จักดีอย่างนครธมเท่านั้น แต่ยังมีจุดอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น “มหาปราสาทบันทายฉมาร์” ศาสนสถานในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร หรือ “กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก” ที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าก่อนที่เขมรจะย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองพระนคร

“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-เขมร เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังว่า บันทายฉมาร์ หรือตัวปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นศาสนสถานสำคัญสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถึงแม้ลักษณะการก่อสร้างเป็นตัวปราสาทหินก็จริง แต่ว่าโดยรอบก็มีฐานะเป็นเมือง

“สมัยก่อนเราเรียกตรงนั้นว่าพุทไธสมัน ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารโบราณและแผนที่เก่า ซึ่งเป็นแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยรัชกาลที่ 2 หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย จึงกล่าวได้ว่าบันทายฉมาร์เป็นปราสาทที่คนไทยเรารู้จักมานานแล้ว เพียงแต่ต่อมาภาษาเขมรเรียกว่าปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งแปลว่าป้อมเล็ก ที่นี่เป็นศาสนสถานสำคัญที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้นอกเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรสและขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม ซึ่งจะมีศรีนทรกุมารที่เป็นโอรส มีรายชื่อปรากฏอยู่ในจารึกของปราสาทบันทายฉมาร์”

สิ่งที่น่าไปชมในบันทายฉมาร์คือภาพสลักที่ระเบียงปราสาท ซึ่งเป็นภาพสลักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คล้ายกับที่นครธม หรือปราสาทบายนที่เมืองพระนคร โดยมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือ มีภาพสลักที่เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันกร คือมีพระกรออกมามากมายเป็นพันๆ กร

นอกจากนี้ ยังมีปราสาทที่บนยอดเป็นพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร เพราะฉะนั้นปราสาทบันทายฉมาร์ก็เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเขมรโบราณที่อยู่นอกเมืองพระนคร ที่หลายคนอาจยังไม่เคยไปสัมผัส ไม่เคยไปรับรู้ แต่เชื่อเถอว่ามีความน่าสนใจ เพราะแม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เคยส่งขุนนางไทยไปดูปราสาทพุทไธสมัน ให้ไปดูนครวัดนครธม เพื่อที่จะจำลองแบบมาที่ในประเทศไทยด้วย

ส่วนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก อ.ศานติ บอกว่า ที่นี่เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ที่เรียกกันว่ากลุ่มปราสาทนั้นเพราะว่าสมโบร์ไพรกุกมีฐานะเป็นเมืองหลวง ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะย้ายราชธานีไปอยู่เมืองพระนครที่เสียมเรียบ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ามีความเก่าแก่มากกว่านครวัด นครธม เสียอีก

“โบราณสถานที่สมโบร์ไพรกุกนั้นมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 1,400 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นร่องรอยของศิลปะอินเดียที่ส่งอิทธิพลเข้าไปในเขมรตั้งแต่ยุคแรกๆ เราจะเห็นความคลี่คลายของศิลปกรรมที่นั่น ที่สำคัญคือสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นราชธานีสำคัญที่ปรากฏในเอกสารของทั้งกัมพูชาในจารึก และปรากฏอยู่เอกสารของจีนที่เข้ามาในสมัยราชวงศ์สุย ที่บันทึกเรื่องราวของราชอาณาจักรเจนละ และบอกว่าราชธานีของพระเจ้าอีศานวรมันนั้นอยู่ที่อีศานปุระ จึงกล่าวได้ว่าสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรเขมรโบราณที่นึง”

จะมีเรื่องราวให้ค้นคว้ามากขนาดไหน คงต้องไปสัมผัสของจริงกันในทัวร์ “บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมเรียบ ความลับหลังกำแพงศิลา” ที่นอกจากพาเยือนบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุกแล้ว ก็ยังไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปชมโบราณสถานในเมืองพระนครอย่าง “นครวัด” และ “นครธม” โดยนครวัดคือศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระองค์เอง ส่วนนครธมก็มีฐานะเป็นเมืองหลวงโบราณ ซึ่งไทยเราเรียกกันมาแต่อดีตว่านครหลวง

“จริงๆ แล้วที่เราไปศึกษาของกัมพูชา เราจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือศาสนสถานหรือโบราณสถานของกัมพูชานั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับของไทยเหมือนกัน หลายๆ อย่างถือว่าเป็นต้นแบบของเรา และการที่เราไปเรียนรู้กัมพูชาในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่ากัมพูชาถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เพราะฉะนั้นการที่เราเรียนรู้เพื่อนบ้านเราได้อย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเราและเพื่อนของเราได้ดียิ่งขึ้น”

รศ.ดร.ศานติยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้หลายคนอาจจะเคยไปกัมพูชากันมาแล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปเราก็จะพยายามนำเสนอในมิติต่างๆ ในแง่มุมใหม่ๆ พยายามที่จะไปให้เห็นภาพ หรือได้เกิดความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน โดยการที่เราไปครั้งนี้เราจะเห็นตั้งแต่ปราสาทยุคแรก คือตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงยุคสุดท้าย และช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เท่ากับแทบจะได้เรียนรู้ศิลปกรรมเขมรตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคสุดท้าย ตั้งแต่ก่อนพระนคร จนถึงสมัยพระนคร ที่จะสืบเนื่องมาสัมพันธ์กับศิลปกรรมของไทยด้วย

การเดินทางครั้งนี้ นำชมโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ออกเดินทางวันที่ 14-16 กันยายน 2561 ราคา 25,000 บาท (อ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_18009)


สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี
Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy