อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ออกประกาศเรื่องการขยายเวลาเข้าชมโบราณสถาน โดยระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขยายเวลาเข้าชมโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามแล้วนะเจ้าคะ #จากเดิมเปิดให้บริการถึง 18.30 น. #เปลี่ยนเป็น 22.00 น. เริ่มวันที่ 4 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561

ออเจ้าสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 19.30 น. และสามารถอยู่ภายในโบราณสถานไม่เกิน 22.00 น. เท่านั้นนะเจ้าคะ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงภาพรวมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 16 (46th National Book Fair and 16th Bangkok International Book Fair 2018) ซึ่งจัดขึ้นจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้วว่า มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือ “หนังสือแนวประวัติศาสตร์” ได้ความรับนิยมอย่างสูง ทั้งในประเภทงานวิชาการ สารคดี และนวนิยาย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอิทธิพลจากนวนิยายและละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้

“น่าจะเป็นครั้งแรกๆในงานสัปดาห์หนังสือฯที่หนังสือแนวประวัติศาสตร์ ทั้งประเภทงานวิชาการและประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วไป ไม่ใช่เพียงนักอ่านในสายประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์อย่าง คอนสแตนติน ฟอลคอน ท้าวทองกีบม้า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) รวมถึงเหตุการณ์ในสมัยอยุธยา ทั้งการเมืองและการทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้ความสนใจยังขยายไปสู่เด็กและเยาวชน เพราะพวกเขามาตามหาหนังสือการ์ตูนความรู้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย

นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์จินดามณีขึ้น เพราะเพียงวันแรกที่หนังสือมาวางขายที่บูทกรมศิลปากรก็หมดเกลี้ยงในระยะเวลาอันรวดเร็วจนต้องสั่งจองและมารับอีกครั้งในภายหลัง เท่าที่ทราบตอนนี้คือพิมพ์ไปประมาณ 6,000 เล่มแล้ว และกำลังมีการพิมพ์เพิ่ม”

นางสุชาดากล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของการอ่านในปัจจุบันได้ว่า จริงๆแล้วคนไทยยังรักในการอ่านหนังสือ เพียงแต่อาจไม่แน่ใจว่าจะอ่านเล่มไหน ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ส่งเสริมการอ่านจะต้องร่วมมือกันนำหนังสือไปสู่การรับรู้ของผู้อ่านให้มากที่สุด

“การอ่านยังอยู่ในนิสัยของคนไทย ที่คนพูดว่าคนไม่อ่านหนังสือ คิดว่าไม่ใช่ ปรากฏการณ์นี้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ว่าจริงๆแล้วคนอ่านหนังสือ แต่หนังสือมีเป็นล้านๆเล่ม สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างการรับรู้ให้นักอ่าน ซึ่งก็จะทำให้วิกฤติการอ่านดีขึ้น โดยทำให้การอ่านคือความสนุกไม่ใช่ยัดเยียดให้อ่าน อย่างปรากฏการณ์ในหนังสือประวัติศาสตร์นี้คือความสนุกในการอ่าน ความสนุกในการค้นหาข้อมูล แม้กระทั่งสารานุกรมไทยยังมีคนมาตามหาเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดไชยวัฒนาราม เป็นอานิสงส์ที่ขยายวงกันไปเรื่อยๆ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้คุณภาพการอ่านของคนไทยเปลี่ยนแปลงด้วย

นอกจากนี้หนังสือยังมาแรงเสมอคือหนังสือวัยรุ่นอย่าง นวนิยายวัยรุ่น การ์ตูนมังงะ ซึ่งจะมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าคิวต่อแถวเพื่อซื้อหนังสืออย่างยาวเหยียดในทุกวัน ส่วนตัวเลขของผู้เข้าชมงานนั้นในขณะนี้อยู่ที่ประมาณล้านคน คาดว่าในวันจบงานน่าจะทะลุ 2 ล้านคนตามเป้าหมายที่วางไว้” นางสุชาดากล่าว

เป็นละครยอดฮิตที่ทำให้ “ช่อง 3” มีเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังเข้มข้น ซึ่งอีกไม่กี่ตอนก็จะรูดม่านปิดฉากถึงตอนอวสานแล้ว ซึ่งล่าสุด จากการตรวจสอบของ “TV Digital Watch” โดยแบ่งเรตติ้งออกเป็นกรุงเทพมหาคร และภาคต่างๆ เก็บข้อมูลเรตติ้ง 12 ตอน (21 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม) นั้นพบว่า

กรุงเทพฯ ครองแชมป์เรตติ้งสูงสุด เฉลี่ย 17.535 ขณะที่ อันดับสุดท้ายคือภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรตติ้งเฉลี่ยน้อยสุดที่ 9.418 ขณะที่เรตติ้งของภาคอื่นๆ โดยเฉลี่ย ได้แก่ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก 13.763, ภาคเหนือ 12.219 ภาคใต้ 10.855

น่าคิดว่า จากตัวเลขดังกล่าวนี้ เราเห็นปรากฏการณ์อะไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของเรตติ้งภาคอีสานที่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ที่อาจเรียกได้ว่าเกือบเท่าตัว

กำพล จำปาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เจ้าของผลงานอย่าง นาคยุดครุฑ “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก, ข่าเจือง: กบฏไพร่ ขบวนการผู้มีบุญฯหลังสถาปนาพระราชอาณาเขตสยาม-ล้านช้าง เป็นต้น ชวนคิดถึงเรื่องดังกล่าวใน 4 ประเด็นกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

1. บริบทองค์ความรู้ประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวได้ว่าอีสานเป็นดินแดนที่อยุธยาเข้าไม่ถึงหรือขยายอิทธิพลเข้าไปได้ไม่ครอบคลุม ไปได้อย่างมากเพียงนครราชสีมาหรือเขตที่ราบสูงโคราชและลุ่มน้ำเหืองในเขตจังหวัดเลย นอกนั้นเป็นดินแดนที่สัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กับล้านช้าง อีสานเป็นลาว ไม่ไทย รับรู้กันทั้งในหมู่คนอีสานและคนภายนอก แม้จะมีเรื่องตำนานความเป็นพี่เป็นน้องเกาะเกี่ยวผูกเสี่ยวกินดองกันระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าฟ้างุ้ม หรืออย่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกับพระมหาจักรพรรดิ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องมั่นคงสืบมาในรัชกาลอื่นๆ ความสัมพันธ์ไม่เสถียรคงที่ เปลี่ยนรัชกาลทีก็ต้องมาดีลมาปรับตัวจัดวางความสัมพันธ์กันใหม่ แล้วยิ่งเมื่อสัมพันธ์กับอีกฝั่งแม่น้ำโขงมากกว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่คนไทยคิดว่าลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ลาวก็มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเวียดนาม แนบแน่นกว่า ช่วยเหลือกันมา สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยกันมา ปกติพระราชพงศาวดารจะเป็นปราการที่มั่นสุดท้ายของประวัติศาสตร์ไทย แต่ในกรณีนี้แค่คุณพลิกเปิดดูคร่าวๆ ก็จะพบความไม่ลงรอยกับอีสาน มีเรื่องกบฏบุญกว้าง มีอะไรต่ออะไร คนอีสานไม่อินกับละครจึงไม่แปลก หรืออย่างโบราณสถาน ศิลปกรรมท้องถิ่น แค่ไปพิมาย ไปพนมรุ้ง ก็รู้แล้ว ไทยที่ไหนกัน เขมรชัดๆ ใครมันจะไปอิน อาจจะอินอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของตัวละคร พี่หมื่นหล่อ พระเจ้าเสือเท่ห์ ออการะเกด แม่หญิงจันทร์วาด สวยน่ารัก ตลก

2. ความสัมพันธ์กับศูนย์กลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บางช่วงบางตอนในประวัติศาสตร์มันไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง เหมือนเป็นดินแดนที่ถูกฟันแล้วทิ้ง อีสานแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ๆ คือ โซนที่ราบสูงโคราชหรืออีสานใต้ กับโซนเหนือที่ราบสูงอีสานใต้ขึ้นไป ไม่ได้มีแต่ลาว มีเขมรด้วย ทั้งที่จริงยุคพระนารายณ์เป็นยุคที่อยุธยาขยายอิทธิพลไปยังนครราชสีมามาก เพราะลพบุรีที่ทรงย้ายไปประทับอยู่มีเส้นทางติดต่อกับที่ราบสูงโคราช จนน่าเชื่อว่าการควบคุมนครราชสีมาและอีสาน อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการย้ายไปประทับที่ลพบุรี นอกเหนือจากความขัดแย้งกับฮอลันดาและกลุ่มขุนนางเก่า แต่พอเปลี่ยนรัชกาลมาเป็นสมเด็จพระเพทราชา ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ จากดีเป็นร้าย เกิดกบฏนำโดยพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา โดยร่วมมือกับพระยาเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะต่างก็ไม่พอใจการกระทำของกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่อยุธยาต้องส่งกำลังทัพไปปราบปราม ตามมาด้วยการเกิดกบฏบุญกว้าง ชาวเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นกบฏไพร่ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยา ถึงแม้ว่าพระเพทราชาจะปราบปรามการกบฏได้สำเร็จ แต่ก็สูญเสียทรัพยากรและผู้คนไปมาก เกือบจะเท่าๆ กับสงครามกับพม่า แต่เพราะช่วงนั้นพระเพทราชาเข้าไปมีส่วนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเวียงจันกับหลวงพะบาง ความสัมพันธ์กับอีสานเลยกลับมาเป็นปกติ คือพระเอกขี่ม้าขาวในเรื่อง กลับเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ของอีสาน หากมองจากฝั่งของอีสาน

3. เนื้อเรื่องของบุพเพสันนิวาส มุ่งเน้นเรื่องราวเหตุการณ์และภาพชีวิตของคนกรุงศรีและลพบุรี ไม่มีภาพของอีสานและที่อื่นๆ เป็นภาพเฉพาะของส่วนกลาง มีเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างชาติต่างภาษา แต่ไม่มีลาว ไม่มีเขมร ทั้งๆ ที่ในสมัยอยุธยา ลาว เขมร เป็นกลุ่มที่มีบทบาท มีฝรั่งคือฟอลคอน แต่ฟอลคอนกลับถูกทำให้เป็นผู้ร้าย สวนทางกับกระแสความนิยมอีกอันหนึ่งของคนอีสาน มันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ (กระแสหลัก) แต่ไม่มีมุมเรื่องความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ไม่ได้มองคนเท่ากัน อันนี้ไม่ได้โทษละคร แต่เพราะประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ละครเรื่องนี้ไปหยิบมาอิงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่มีแต่ส่วนกลาง เมื่อรัฐเข้ามาซับพลอตก็กลายเป็น “ประวัติศาสตร์แฟนซี” ที่มีอยู่จริงก็เพียงในจินตนาการ ไม่ใช่การหมุนย้อนกลับของประวัติศาสตร์ด้วย เป็นเพียงการโหยหาอดีตของยุครัฐล้มเหลวในการนำพาไปสู่อนาคต ประวัติศาสตร์แฟนซีไม่มีทางพาคนย้อนกลับไปหาความรุ่งเรืองอย่างในอดีต ไม่อาจนำเอาอดีตกลับมาได้จริง มันเป็นแต่เพียงการประดิษฐ์ใหม่โดยอ้างความเป็นของเก่าแท้ดั้งเดิม ฟินเว่อร์กันไป แล้วก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ อยู่ๆ หนุกหนาน แต่งชุดไทยกันไป

4.ในเฟซบุ๊ก มีคนตั้งคำถามกันมากว่า ตกลงแล้วชอบละครหรือแค่บ้าผู้ชาย ถึงได้มีกรี๊ดกร๊าดจนแทบห้างถล่ม โอเคจะบ้าผู้ชายมันก็ไม่แปลกสำหรับสังคมที่อุดมด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ แต่พูดอย่างเป็นวิชาการ ในแง่มุมทางสังคมวิทยา ก็อย่างที่อาจารย์พัฒนา กิติอาษา สะท้อนไว้ในงาน คนอีสานปัจจุบันไม่เพียงไม่โง่ จน เจ็บ หากแต่ยังมีมุมมองต่อโลกและสังคมแบบข้ามรัฐข้ามชาติ เป็นสากลนิยมไปมากแล้ว จากกระบวนการเดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นอะไรต่อมิอะไร เมื่อก่อนการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อาจเป็นทางเลือกของการกลับไปมีเงินทองจับจ่ายในบ้านเกิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เขาเดินทางไกลกว่านั้น กรุงเทพฯ ไม่ใช่คำตอบของชีวิต ชีวิตที่ดีไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ที่ต่างประเทศ ตัวแบบผู้ชายในอุดมคติ ก็ไม่ใช่ “ผัวไทย” หากแต่คือ “ผัวฝรั่ง” ผัวฝรั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนั้นอาจจะอินกับมะลิ (มารี กีมาร์) มากกว่าออเจ้าการะเกดหรือแม่หญิงจันทร์วาดเสียด้วยซ้ำ

อีสานไม่ได้เหยียดฝรั่ง ฝรั่งที่อ่อนน้อมเข้ากับวัฒนธรรมอีสาน เป็นเขยที่ดีกว่าเขยไทยที่เย่อหยิ่งจองหอง คิดว่าตนเหนือกว่าใคร ผัวฝรั่งคือตัวแปรทางวัฒนธรรมสำหรับการเปลี่ยนสถานภาพจากยากจนเป็นร่ำรวยมีหน้ามีตาของสาวอีสานไปนานแล้ว ในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอีสานจะไม่อินกับการดูถูกฝรั่ง ทำฝรั่งเป็นผู้ร้ายของบ้านเมืองเหมือนอย่างละคร ซึ่ง เมื่อเทียบกับ “นาคี” ถึงแม้ว่าบุพเพสันนิวาสจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ก็ไปไม่ได้ไกลเหมือน “นาคี” ที่ไปฮิตข้ามชาติที่สปป.ลาว ไปที่กัมพูชาด้วย การผูกติดกับการเสนอภาพความเป็นไทยเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของละครบุพเพสันนิวาส ที่พาคนไปได้แค่วัดไชยวัฒนารามกับพระราชวังนารายณ์ที่ลพบุรี

 


ที่มา มติชนออนไลน์

ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน พนิดา สงวนเสรีวานิช

เสียงเพลงบุพเพสันนิวาส ที่ขับร้องโดย ไอซ์-ศรัณยู ดังกระหึ่มไปทั่วคุ้งน้ำวัดไชยวัฒนาราม ปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยวเมืองกรุงเก่าให้ดูขลังยิ่งขึ้น

ราวกับต้องมนต์กฤษณะกาลี ภาพของออเจ้าทั้งหลายชาย-หญิง ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ตรงหน้า แต่งกายด้วยชุดไทยกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่โบราณสถาน เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงกระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ที่สร้างปรากฏการณ์อย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือ เป็นอานิสงส์ให้กับเศรษฐกิจโดยรอบสะพัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงการค้าขายอาหาร-เครื่องดื่ม ยังรวมกิจการให้เช่าชุดไทย พร้อมแต่งหน้าทำผม

ชุดออเจ้า ผู้ใหญ่ 250 บาท เด็ก 200 บาท สนนราคานี้รวมทั้งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือจะเป็นพัดก็มีให้บริการพร้อมสรรพ

ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่วัดไชยวัฒนารามในวันธรรมดาเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันคน ยิ่งในวันเสาร์-อาทิตย์ พุ่งทะยานขึ้นเป็นหลักหมื่นคน ทำให้ต้องมีการขยายเวลาเข้าชม (ตั้งแต่ 8 โมงเช้า) จากที่เคยปิดบริการ 1 ทุ่ม เป็น 3 ทุ่ม

ไม่ต่างจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่นี่เป็นฉากภายในห้องเรียนคณะโบราณคดีของเกศสุรางค์และเพื่อนสนิท-เรืองฤทธิ์


ศาลิสา จินดาวงษ์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา

ศาลิสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา บอกว่ากระแสของละครย้อนยุคเรื่องนี้ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากสถิติ 6 เดือนก่อนออนแอร์ มีนักท่องเที่ยว 3 หมื่นกว่าคน เฉพาะเดือนนี้ (มีนาคม 2561) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 3,000 กว่าคน


พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา มีนักท่องเที่ยวคึกคัก

นอกจากฉากห้องเรียนนางเอกของเรื่อง ผอ.ศาลิสาบอกว่า “เครื่องกรองน้ำ” ที่เรือนไทย เป็นอีกจุดเรียกแขก โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งชุดไทยกันสวยงามเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ ส่วนใหญ่จะมาถามว่าห้องเรียนอยู่ที่ไหน เครื่องกรองน้ำอยู่ที่ไหน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่ได้มาดูแค่ 2 สิ่งนี้เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้นอกห้องเรียนอีกมากมาย และทำให้ความคิดเดิมที่บางคนอาจคิดว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่เก่าๆ โบราณๆ เป็นที่เก็บสมบัติเปลี่ยนไป

ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑ์ในภูมิภาคแห่งแรกของกรมศิลปากร ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ ตอนกรุแตกปี 2500 และพบโบราณวัตถุล้ำค่า คือเครื่องทองในกรุวัดราชบูรณะ และพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า “ของที่เจอที่ไหนสมควรได้จัดแสดงที่นั่น” และเสด็จฯมาเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง

ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน

เมื่อกระแสตามรอยออเจ้าหนุนนำให้นักท่องเที่ยวไม่เกี่ยงเพศและวัยเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ปรากฏในฉากละครกันอย่างถล่มทลาย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะสอดแทรกนำเสนอเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่ง ดังที่ ผอ.ศาลิสาเล่าว่า ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจึงทำป้ายเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพระนครศรีอยุธยาให้แวะเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่ไม่ได้มีแค่ “เครื่องกรองน้ำโบราณ”

สะพานป่าดินสอ หรือ “สะพานวานร” อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีวัดสำคัญคือ วัดบรมพุทธาราม วัดของพระเพทราชา

“มติชนอคาเดมี” ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงความรู้ร่วมบรรยายให้ความรู้ตลอดทริปเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา จึงจัดทริป “ดูละครบุพเพสันนิวาส ดูประวัติศาสตร์อยุธยา” โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในช่วงพระนารายณ์กับฝรั่งเศส พาย้อนอดีตไปรู้จักกับเบื้องหลังสถานที่ในฉากละครบุพเพสันนิวาส


ความงามของปูนปั้นที่ยังเหลือให้เห็นที่วิหารแกลบ ในวัดพุทไธศวรรย์

นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว ยังพาไปสะพาน “ป่าดินสอ” บริเวณย่านการค้าเครื่องเขียน ที่แม่หญิงการะเกดมาช้อปปิ้งสมุดไทยและดินสอศิลาขาว “ป้อมเพชร” จุดที่นางเอกของเรื่องนั่งเรือและโบกมือทักทายกับบรรดาทหารบนป้อม “วัดธรรมาราม” สถานที่เป็นฉากก่อเจดีย์ทราย ก่อนจะลงเรือที่ท่าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ชมทัศนียภาพริมฝั่งน้ำ ไปขึ้นที่ท่าน้ำ “วัดพุทไธศวรรย์” และปิดท้ายที่ “วัดไชยวัฒนาราม”

เพื่อปูพื้นการเดินทางตามรอยออเจ้าทริปนี้เป็นไปอย่างเข้าใจมากขึ้น รศ.ดร.ปรีดีเล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ที่เห็นจากในละครที่ขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปเป็นตรีทูตร่วมกับคณะทูตเจ้าพระยาโกษา(ปาน) ไปฝรั่งเศสนั้นเป็นการส่งราชทูตไปครั้งสุดท้ายแล้ว

ครั้งแรกส่งทูตไปแล้วเรือแตก ครั้งที่ 2 ส่งไปเพื่อตามข่าวครั้งแรกและทราบข่าวเรือแตก มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทราบความเรือแตกจึงส่ง “เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์” อัญเชิญพระราชสาสน์เข้ามาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ติดตามข่าวสารของไทย และเมื่อเดอ โชมองต์ จะกลับ เราจึงส่งคณะทูตไปเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือครั้งที่ขุนศรีวิสารวาจา และคณะทูตของเจ้าพระยาโกษา(ปาน) เดินทางไป ซึ่งราชทูตชุดนี้กลับมาจากฝรั่งเศสพร้อมกับ “เดอ ลา ลูแบร์” และ “โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล”

“เป้าประสงค์การมาของเซเบอแร คือแก้ไขสนธิสัญญาที่เดอโชมองต์ทำไว้ เซเบอแรจึงเป็นคนแก้ไขสัญญาทางการค้าทั้งหมด ขณะที่ลาลูแบร์เป็นผู้แทนพิเศษที่เข้ามาเจรจาความอื่นๆ นอกเหนือจากการค้า คือการเมืองและการทหาร มาขอป้อมที่บางกอก และที่สงขลา

“ซึ่งถ้าฝรั่งเศสได้สงขลา มะริด ทวาย ตะนาวศรี และบางกอกไปแล้ว แปลว่าราชอาณาจักรสยามหายหมดเลย เหลือแค่เกาะอยุธยา และนี่ทำให้พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์ทรงวิตกกังวลพอสมควร รวมถึงขุนนางไทยที่เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามา”


วัดพุทไธศวรรย์ติดป้ายประชาสัมพันธ์เพจของวัด Putthaisawan

‘ม่านอาคม’เป็นเหตุ วัดพุทไธศวรรย์แทบแตก

เป็นอีกสถานที่ที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสละครบุพเพสันนิวาสไปเต็มๆ ความที่ถูกใช้เป็นฉากที่เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าการะเกดที่แท้เป็นใคร และยังได้มอบมนต์ใช้กำบังกายให้กับเธอ

“วัดพุทไธศวรรย์” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ในบริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับของพระองค์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา จึงมีพระปรางค์เป็นหลัก ลักษณะเป็นพระปรางค์องค์เดี่ยว ถือเป็นหนึ่งในสองสิ่งสำคัญของวัดนี้ นอกจากพระระเบียง

เพียงแค่ก้าวเข้าไปในส่วนของระเบียงคด เสียงของเจ้าหน้าที่สาวในชุดสไบส่งเสียงเชื้อเชิญ ถ้าจะไปดูประตูม่านอาคมเชิญทางฝั่งขวานะคะ

แน่นอน นาทีนี้นักท่องเที่ยวแน่น แทบจะเข้าคิวรอถ่ายรูปกับประตูที่กลายเป็นสถานที่ต้องเช็กอินไปแล้ว

เหตุนี้วัดพุทไธศวรรย์จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมถ่ายรูปตั้งแต่เช้า แม้ไม่ถึงกับมีร้านให้บริการเช่าชุดไทยเช่นบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนาราม แต่บางมุมก็มีผ้าซิ่นให้หญิงสาวที่นุ่งกางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้นได้ยืมเปลี่ยนชั่วคราวเพื่อขึ้นไปกราบสักการะบนพระอุโบสถ


พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์

สำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมวัดพุทไธศวรรย์ ไม่อยากให้พลาดชม “พระตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” อาคารปูน 2 ชั้น เป็นตำหนักเดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์

“พระตำหนัก 2 ชั้นหาได้ยากในอยุธยา ที่สำคัญซุ้มประตูด้านล่างเป็นซุ้มประตูแบบพระราชนิยม เป็น Pointed arch คือเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมแบบวังนารายณ์

“ที่สำคัญไปกว่านั้น พระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ก็เดินทางไปลังกา ภายในพระตำหนักชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนเต็มทนแล้ว บอกเล่าถึงประวัติของท่าน”

รศ.ดร.ปรีดีเกริ่นก่อนนำขึ้นพระตำหนักไปชมภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจในแต่ละจุด รวมทั้งชี้ให้ดูผนังด้านหนึ่งเหนือบานหน้าต่างเขียนภาพไตรภูมิ เชื่อว่าแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

“ไฮไลต์ของภาพที่อยากให้ชมกันคือ ภาพนางรำที่ถือเป็นแม่แบบการรำของอยุธยา ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นแม่บทของท่ารำในปัจจุบัน

“บนตำหนักนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่ขึ้นมาชม เราก็จะมุ่งไปที่ม่านอาคมกับมนต์กฤษณะกาลี” วิทยากรของทริปบอกพร้อมกับรอยยิ้ม และฝากย้ำเพื่อเป็นการตอบคำถามของผู้ที่สงสัยหลายๆ คนว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่เห็นในละครมีสถานที่ซ้อมการต่อสู้ฟันดาบนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักดาบพุทไธสวรรย์แต่อย่างใดเพียงแต่ชื่อมาพ้องจึงกลายเป็นแบรนด์ของสำนักดาบไป
ปริศนาพระปรางค์วัดไชย

หลังจากเดินเที่ยววัดพุทไธศวรรย์ พิสูจน์ม่านอาคมแล้วก็มาถึงเป้าหมายสุดท้าย สถานที่เหมาะแก่การเก็บภาพยามอาทิตย์อัสดงเป็นที่สุด

“วัดไชยวัฒนาราม” สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยนำคติเขาพระสุเมรุกับแผนผังของปราสาทนครวัดมาเป็นต้นแบบ และดัดแปลงให้มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

“ที่นี่ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอยุธยา ซึ่งจะสัมพันธ์กับตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 ครั้งนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังหลัง’ ไปแล้ว คือฝั่งที่อยู่ในพระนครแต่อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นจุดที่พม่าต้องตีวังหลังให้ได้ และตีฝั่งตะวันออกคือวังหน้า ซึ่งถ้าจะตีวังหลังให้ได้ก็ต้องตั้งทัพที่ริมขอบพระนคร ฉะนั้นวัดริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดท่าการ้องลงมาจนถึงที่นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องรบกับพม่ามาตลอด วัดไชยวัฒนารามก็เป็นค่ายที่พม่าใช้ตั้งอาวุธยิงเข้าไปในกำแพงเมืองพระนคร” รศ.ดร.ปรีดีบอก

ต่อข้อสงสัยที่ว่า พระปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่ปรากฏในละครเรื่องดังนับตั้งแต่แวบแรกที่เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกดมองเห็นเป็นสีทองอร่าม เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่


รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

รศ.ดร.ปรีดีบอกว่า ต้องยอมรับว่าผู้ประพันธ์เรื่องมีการค้นคว้าพอสมควร เพราะถ้าดูบนยอดปรางค์จะเห็นรูพรุนเต็มไปหมด

“รูพรุนเหล่านั้นเกิดจากการตรึงตะปูสังฆวานร โดยเอาแผ่นโลหะที่ปิดทองคำเปลวทาบบนผิวของพระปรางค์ก่อนจะตรึงด้วยตะปู ซึ่งแผ่นโลหะที่ว่านี้เรียกว่า ‘แผ่นทองจังโก’ ทำให้พระปรางค์วัดไชย ประหนึ่งปิดด้วยทองคำเปลว เราจึงเห็นร่องรอยที่เป็นรูพรุนทั่วพระปรางค์ ซึ่งพบเฉพาะปรางค์องค์ใหญ่ และปรางค์องค์เล็กที่อยู่สี่ทิศ โดยรอบเป็นปูนสีขาว”

วัดไชยวัฒนารามเป็นจุดสุดท้ายของทริปตามรอยบุพเพสันนิวาสที่อโยธยา

สำหรับออเจ้าที่พลาด ยังมีรอบ 2 จัดขึ้นเฉพาะกิจตามเสียงเรียกร้อง ในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 ยังสามารถสำรองที่นั่งเข้ามาได้ที่ โทร 08-2993-9097, 08-2993-9105 บอกก่อนว่า ต้องด่วนจี๋ เพราะที่นั่งมีจำกัดเต็มที