กระทรวงพาณิชย์ ดึงออเจ้าการะเกด-พี่หมื่นฯ “โป๊ป-เบลล่า” บุพเพสันนิวาส ร่วมโปรโมตกิจกรรม “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” หวังกระตุ้นให้เกิดการบริโภคทุเรียน รองรับผลผลิตที่จะออก คาดจะมีผลผลิตออกมาไม่ต่ำกว่า 7.65 แสนตัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะจัด กิจกรรม บุฟเฟ่ต์ทุเรียน ซึ่งจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่เคยจัดเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีความตั้งใจจะเชิญนายธนวรรธ์ วรรธนะภูติ หรือโป๊ป และ น.ส.ราณี แคมเปน หรือเบลล่า ดารานักแสดงชื่อดังจากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาร่วมโปรโมตการจัดงานดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งโครงการที่ต้องการส่งเสริมการตลาดทุเรียน และกระตุ้นให้มีการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้น และเป็นการรองรับผลผลิตทุเรียนที่กำลังจะออกสู่ตลาดปีนี้ประมาณ 7.65 แสนตัน อีกทั้งกระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการโปรโมตและกระตุ้นการบริโภคทุเรียน เช่น ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต จันทบุรี ชลบุรี เป็นต้น

“ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทางผู้จัดการของดาราทั้ง 2 คนไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีคิวว่างหรือเปล่า แต่ก็อยากให้มา เพื่อให้มาช่วยกันโปรโมตการบริโภคทุเรียนในปีนี้ โดยภายในงานจะมีการจัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียน เพื่อให้คนที่ชื่นชอบทุเรียนได้มาทานทุเรียนแบบไม่อั้น และต้องการให้เป็นกิจกรรมที่คนไทยและต่างชาติรู้จัก หากต้องการกินทุเรียน ก็ต้องมางานนี้ โดยเป้าหมายอยากจะจัดให้ต่อเนื่องทุกปี”

 

 

เวียร์ หรือ เฮีย นาทีนี้ เบลล่า ต้องเคลียร์

โพสต์โดย เดี่ยว เมื่อ วันอังคารที่ 17 เมษายน 2018

แม้ละครดัง “บุพเพสันนิวาส” จะลาจอด้วยความประทับใจของแฟนๆ พร้อมกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” กันทั่วบ้านทั่วเมือง นอกจากความโรแมนติกของพระนางที่ออกมาล้นจอ ละครยังปลุกกระแสอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้ตื่นตัวอย่างมาก

ล่าสุด เจ้าพ่อเดี่ยวไมโครโฟนของเมืองไทย “โน้ส อุดม” เคลื่อนไหวผ่านแฟนเพจ เดี่ยว ที่มีการอัพเดทข้อมูลบอกใบ้ว่า เดี่ยวครั้งที่ 12 กำลังจะมาเร็วๆ นี้ พร้อมปล่อยคลิปที่ไปลองเวทีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในพาร์ทที่พูดถึงกระแสละครดัง บุพเพสันนิวาส ว่าเจ้าตัวก็เป็นแฟนตัวยงเหมือนกัน

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ติดตามชมละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” พบประชาชน 48.50% ชอบละครบุพเพสันนิวาส ให้ข้อคิด – สืบสานวัฒนธรรม แนะหน่วยงานต่างๆส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีไทย

วันนี้ (15 เม.ย. 61) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ติดตามชมละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นที่ได้รับ จำนวนทั้งสิ้น 1,272 คน ระหว่างวันที่ 10 – 14 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 48.50 เป็นละครที่ดี สนุกสนาน ให้ทั้งข้อคิดและความบันเทิง,ร้อยละ 44.86 ทำให้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรมอันดีงาม โดยประชาชนชอบมากที่สุดคือ ร้อยละ 47.32 พระเอก นางเอก ตัวละครทุกตัว,ร้อยละ 42.35 บทประพันธ์และบทโทรทัศน์ดี เล่าเรื่องสนุก เดินเรื่องได้ดี,ร้อยละ 26.26 การแต่งกาย เสื้อผ้า คำพูด คำศัพท์โบราณ ขณะที่สิ่งที่ไม่ชอบคือร้อยละ 37.13 กระแสโจมตี ดราม่าต่างๆร้อยละ 23.25 การจ้องจับผิดละคร และร้อยละ 21.56 การนำตัวละครไปแอบอ้างใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม ประชาชนมองว่า ละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำให้สังคม ประเทศชาติได้รับประโยชน์ เรื่องการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามให้คนรู้จักมากขึ้นถึงร้อยละ 39.75,เรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว มีการตามรอยสถานที่ในละครร้อยละ 22.15 และร้อยละ 17.60 กระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนรายได้,

ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 30.77 อยากให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องสานต่อ ส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีไทย,ร้อยละ 28.85 อยากให้รัฐบาลทำนุบำรุงดูแลโบราณสถานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้,และร้อยละ 22.44 อยากให้รณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยแต่งกายชุดไทยมากขึ้น

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 – 12 เมษายน 2561


 

ถึงยุคโบราณคดีเฟื่องฟู

เป็นดังนั้นจริงแท้ แม่หญิงการะเกด เมื่อไปทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสกับมติชนอคาเดมีไปยังอยุธยา ในวันที่ 31 มีนาคม ฉันก็เห็นแม่หญิงการะเกดอีกหลายร้อยคนยืนถ่ายรูปอยู่หน้าวัดไชยวัฒนาราม เมื่อยามพลบค่ำ 6 โมงเย็น
ก่อนหน้านั้นเมื่อฉันไปวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดที่เขามาถ่ายทำบุพเพสันนิวาส ฉันก็เห็นการะเกดเดินกันว่อน สไบปลิว จนฉันเกือบจะเหยียบชายสไบเข้าให้ครั้งหนึ่ง
คนขายน้ำที่วัดพุทไธสวรรค์หัวเราะทั้งวัน อารมณ์ดี เพราะขายน้ำได้วันละร้อยโหล ไม่รวมน้ำหวาน ฉันได้ฉวยโอกาสขอแถมนมสด เขาก็บอกยินดีครับ ผมงี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้ทำละครย้อนยุคต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ เศรษฐกิจดีไม่รู้เรื่อง
ฉันทีแรกก็เอออวย มานึกอีกทีรัฐบาลเกี่ยวอะไร นี่มันผลงานช่องสาม ผู้กำกับฯ ผู้สร้าง ผู้แต่งเรื่อง และผู้เขียนบทไม่ใช่รึแม่การะเกด

มติชนอคาเดมีก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย จัดทัวร์ตามรอยบุพเพสันนิวาสสองครั้ง เต็มหมด อาจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่ฉันเป็นแฟนคลับ มาบรรยายด้วย จนฉันได้มีโอกาสมาในครั้งนี้ ได้รู้ว่ารายละเอียดในละครก็มีการเพี้ยน การแต่งเติมไปบ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้เพราะนี่คือเรื่องแต่งสำหรับการบันเทิง
ถามอาจารย์ว่าใครเป็นคนแต่งบุพเพสันนิวาสคะ อาจารย์บอกว่า “รอมแพง” เขาจบโบราณคดี ฉันก็ถึงบางอ้อเลย มิน่ารีเสิร์ชเยี่ยม มีเกร็ดต่างๆ สอดแทรก ขนาดอาจารย์ยังชื่นชม เมื่อได้คุณศัลยา นักเขียนบทมือหนึ่งของไทยมาปรุงรส ด้วยเข้าใจรสนิยมคนดูไทยทะลุปรุโปร่ง ก็เลยยกระดับละครขึ้นไปอีก และเข้าใจว่าทางช่องสามเองก็มีส่วนมองการตลาดได้เด็ดขาดอีกด้วย
มันไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลตรงไหนเลยนะคะ โปรดทราบ

การที่คนทั้งประเทศเกิดกระแสการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ชาติ ไทย ประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์อย่างกว้างขวางเช่นนี้มีผลมาถึงมติชนเป็นอย่าง มาก เพราะในแง่การเผยแพร่แล้วถือว่ามติชนคือเสาหลักประวัติศาสตร์และโบราณคดี
คอลัมน์คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กูรูโบราณคดีในมติชนสุดสัปดาห์มีคนแชร์คราวละเป็นพันๆ คนทุกครั้ง
หนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ทั้งแบบสารคดีและวิชาการ ทั้งแบบตรงไปตรงมา และสอดแทรกการวิเคราะห์จากปราชญ์ลำดับต้นๆ ของประเทศ มติชนยืนหยัดพิมพ์ขายมาตลอด มีนักเขียน นักวิชาการประวัติศาสตร์ในมือมากกว่าสำนักพิมพ์ไหน รวมทั้งต้นฉบับดีๆ ลายมือผู้คนในยุคนั้นๆ ก็ถูกส่งมาที่นี่
มติชนอคาเดมีจัดทัวร์ประวัติศาสตร์มาหลายปีแล้ว มีแฟนเหนียวแน่น วิทยากรคุณภาพเพียบและหลากหลาย
มติชนจัดเสวนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีสม่ำเสมอ
ทั้งหนังสือ ทัวร์ ทอล์ก มติชนคือชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง
เมื่อตลาดเป็นใจมติชนย่อมได้รับลมใต้ปีกหอบเอาคุณค่าต่างๆ ที่มีบินสูงขึ้นไป ยุคนี้เป็นยุคของ content ใครมี content ดีกว่าย่อมได้เปรียบ

สําหรับทัวร์ตามรอยครั้งนี้อาจารย์ปรีดีสร้างความสนุกสนานด้วยการเอาสิ่ง ที่เห็นจากละครมาอธิบายเพิ่มเติม เช่นคำว่าออเจ้าใช้เรียกคนที่เราไม่รู้จักไม่รู้ชื่อเหมือนคำว่าเธอ เมื่อรู้ชื่อแล้วก็เรียก ออ ตามด้วยชื่อ เช่น ออฉิม ออเรียม แล้วแซวพี่หมื่นว่าเรียกออเจ้าอยู่นั่น ไม่รู้ซะทีว่าเธอชื่อการะเกด
การะเกดเป็นชื่อของผู้ชายนะคะ หลักฐานปรากฏจากเพลง “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศจะไปไหนเอย”
ส่วนทองหยิบ ฝอยทอง ก็มาจากโปรตุเกสร้อยปีมาแล้ว ก่อนมารี เดอ กีมา จะมาอยู่อยุธยา
ทัวร์กับอาจารย์ปรีดี เริ่มต้นขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา ได้ความรู้ว่าที่ใช้ชื่อนี้เพราะเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้ทรงพระปรีชาสามารถ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้สร้างวัดราชบูรณะให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ผู้เป็นพี่ ซึ่งรบพุ่งกันจนเสียชีวิตด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรุวัดราชบูรณะแตก อย่างที่เคยเป็นข่าวครึกโครม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ เครื่องทองต่างๆ ทั้งที่เป็นของสูง และที่เกี่ยวกับศาสนา ถูกลอบขนออกมา ทางการไปพบเข้าจึงเอาคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนให้สร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาจากเงิน 3 บาทที่ขายพระเครื่องจากกรุได้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นก็มีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ตามมา
สถานที่ต่อมาที่อาจารย์พาไปคือวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา กษัตริย์สมัยอยุธยาผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ละครยังเดินเรื่องไปไม่ถึงตอนสิ้นสมัยพระนารายณ์และ พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ วัดบรมพุทธารามนี้ยังมีร่องรอยของเจดีย์และพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปอยู่ ที่ยังเห็นโดดเด่นคือ สะพานบ้านดินสอ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ยังมีสายน้ำขนาดเล็กลอดใต้สะพาน มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ตัวสะพานเองก็มีรูปทรงน่าชมมาก บริเวณนี้เมื่อวัดทรุดโทรมลงกลายเป็นย่านการค้าเครื่องเขียนประเภทดินสอ ปัจจุบันเป็นเขตอนุรักษ์อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สิ่งที่ฉันรู้สึกก็คือน่าเสียดายที่เทคโนโลยีการก่อสร้างของไทยในสมัยอยุธยา ยังไม่ก้าวหน้า ใช้ดินเป็นฐานแล้วใช้อิฐก่อซ้อนกันขึ้นไป อาคารต่างๆ จึงทรุดโทรมลงได้ง่าย ก็ยังดีที่ยังเหลือซากอิฐไว้ให้ชม

ที่ฉันชอบเป็นพิเศษคือภูมิทัศน์บริเวณป้อมเพชร
ได้ความรู้จากอาจารย์ว่าที่นี่สายน้ำ 3 สายมาบรรจบกันคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี มองไปเห็นผืนน้ำกว้างเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกัน ชัดเจน ที่นี่ยังหลงเหลือป้อมที่เคยสร้างไว้ป้องกันพระนคร เป็นที่ไว้ปืนใหญ่คอยยิงข้าศึกหากรุกล้ำเข้ามา เป็นชัยภูมิที่มีความเหมาะสมอย่างเห็นได้ชัด
บริเวณนี้เป็นหนึ่งในฉากในละครบุพเพสันนิวาส
ฉันมาอยุธยาเป็นสิบครั้งก็ไม่เคยมาที่ป้อมเพชรนี่ คราวนี้โชคดีมากับมติชนเลยได้มา
วัดธรรมาราม คือสถานที่ถ่ายทำฉากก่อกองทรายในละคร มติชนพาไปดูด้านหลังวัด ยังเห็นทรายที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณหลังโบสถ์ วัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา และเคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถควบคุมการสัญจรทางน้ำได้
อาจารย์พาเราลงเรือที่ท่าน้ำวัดกษัตราธิราช ชมโบราณสถานไปเรื่อยๆ อาจารย์บอกว่าในละคร พี่หมื่นพายเรือไกลมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก็แซวกันไป ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะมันคือละคร

เราขึ้นเรือที่วัดพุทไธสวรรค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ฉันเคยมาที่วัดนี้แล้ว มาคราวนี้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ที่นี่เป็นฉากถ่ายทำบุพเพสันนิวาสหลายฉาก ถ้าย้อนกลับไปดูจะได้เห็นประตูที่แม่หญิงการะเกดก้าวออกมา เห็นพระพุทธรูปเรียงราย
ที่นี่เคยเป็นพระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของพระเจ้าอู่ทองก่อนสร้างกรุง ศรีอยุธยา เกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกดได้เข้าไปในสำนักดาบของวัดแห่งนี้ และได้พบกับพ่อครูชีปะขาวผู้ที่รู้ว่าแท้จริงเธอคือใคร
ถ้าไม่ได้ไปที่วัดไชยวัฒนารามเป็นช็อตสุดท้าย เราก็คงไม่ได้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างฟีเวอร์ของละครกับประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้
ทำให้ฉันได้ประจักษ์แน่แก่ใจว่าดราม่านั้นมีพลังมหาศาลขับเคลื่อนการกระทำ ของคนในสังคมได้ รถบัสของเราต้องจอดชั่วคราวให้เรารีบลงตรงหน้าวัดซึ่งแต่ก่อนเคยมีฝรั่งเดิน ประปราย มีเพิงขายน้ำเงียบเหงา เท่านั้นจริงๆ แต่มาคราวนี้ อะไรกันนั่น
บู๊ธให้เช่าชุดไทย สไบ ผ้านุ่ง ผ้าโจงกระเบนแน่นขนัดสองข้างทาง สลับกับร้านขายน้ำ เครื่องดื่ม ของฝาก มีอาสาสมัครคอยโบกรถให้ เราเดินฝ่าแม่นางการะเกดและพี่หมื่นไปยังที่วัดไชยวัฒนารามจำลองที่อยู่ด้าน หน้าวัด
วัดไชยวัฒนารามสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของวัดไชยวัฒนารามเป็นเหตุผลทางการเมืองกลายๆ เป็นที่เล่าลือกันว่าพระเจ้าปราสาททองนั้นคือโอรสลับๆ ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดแต่หญิงชาวบ้าน แต่ในทางการแล้วคือบุตรชายของออกญาศรีธารมาธิราชพี่ชายคนใหญ่ของพระมารดา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก็ถือว่ามาจากคนธรรมดา
อาจารย์อธิบายสืบเนื่องจากละครว่า เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์มาก่อน จึงต้องสร้างวัดที่ใหญ่โตอลังการเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ที่เราเห็นในละครว่ายอดพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามเปล่งประกายเป็นสีทองอร่าม งดงามนั้น เป็นเรื่องจริง และไม่ใช่เฉพาะยอดพระปรางค์อย่างในละครเท่านั้น แต่เป็นทองคำทั้งองค์ เรื่องนี้แสดงว่าคนทำละครทำได้ดีมาก มีการค้นคว้าที่ดี เพราะเมื่อครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ก็พบว่าตัวพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ผิวขององค์พระปรางค์มีรูพรุนเต็มไปหมด
ซึ่งการที่มีรูพรุนนั้นเกิดจากการที่เขาเอาตะปูสังควานร เป็นตะปูเหล็กยาวๆ ตรึงเข้าไปที่องค์พระปรางค์…

ฉันกลับมาพร้อมด้วยความรู้สึกถึงอาณุภาพของสื่อและอยากที่จะตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างต่อจากนี้
อยากจะคิดว่ากระแสบุพเพสันนิวาสจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประวัติศาสตร์และ โบราณคดีมากขึ้น และเยาวชนที่สนใจอยู่แล้วแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามร้องยี้ว่าเรียนไปทำอะไร ก็จะเลิกร้องยี้เสียที
หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะขายดี
นักโบราณคดีที่มีฝีมือในการเขียนนิยายจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จะเฟื่องฟู หวังว่าการใฝ่รู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีในหมู่คนทั่วไปจะเติบโตขึ้นอีกด้วย
มติชนจะจัดตามรอยบุพเพสันนิวาสไปยังลพบุรีอีกในวันที่ 29 เมษายน ยิ่งไม่น่าพลาด เพราะอย่างที่รู้กันว่าแม้อยุธยาจะเป็นเมืองหลวง แต่ลพบุรีเป็นเมืองของพระนารายณ์ ที่นั่นมีนารายณ์ราชนิเวศน์ หอดูดาว และคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็จบชีวิตลงที่นั่น
การเมืองอันเข้มข้นเกิดขึ้นที่นั่นด้วย

สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ 2561

ณ เพลานี้ หลายๆท่านคงเล่นน้ำกันอยู่อย่างเพลินใจโดยใช้อุปกรณ์หลากหลายเป็นตัวช่วยในการสาดวัดความสุขสนุกสนาน

ย้อน เวลากลับไปเนิ่นนานกว่า 100 ปี มีการบันทึกภาพเก่าของอุปกรณ์ประกอบประเพณีสงกรานต์ ที่ไม่ได้มีแต่ในสยามประเทศ หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในแดนอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า และอื่นๆอีกหลายแห่งด้วยเหตุนี้ จึงมีการบันทึกถึงเรื่องราวของประเพณีดังกล่าวที่มีมานานนมเน

หนึ่งใน นั้น คือ สงกรานต์ในพม่า ผู้เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีผู้วาดภาพเทศกาลสงกรานต์ในกรุงมัณฑะเลย์ ตีพิมพ์ ในหน้า 13 ของ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อว่า THE GRAPHIC ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 หน้า 13 เมื่อ ค.ศ.1888 หรือ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย

มีขนาด 14 X 10 นิ้ว แสดงภาพชาวต่างชาติขี่ม้า สันนิษฐานว่าเป็นทหารอังกฤษ ทำท่าปัดป้องสายน้ำจาก “กระบอกฉีด” ของเด็กและสตรีสวมชุดพื้นเมือง

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เห็นภาพนี้แล้วบอกว่า “ท่าทางฝรั่งขี่ม้าไม่สนุก แต่ผู้หญิงและเด็กสนุกมาก (ฮา)”

แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปว่า กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ

แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป

อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่

กระบอก ไผ่ฉีดน้ำสงกรานต์มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดน้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย จากนั้น รำลึกถึงวัยเยาว์ครั้งยังเป็นเด็กชายสุจิตต์ วิ่งเล่นอยู่ที่หมู่บ้านลาวพวน ในจังหวัดปราจีนบุรี

“พ่อ เป็นลาวพวน เคยทำกระบอกฉีดน้ำอย่างนี้ ให้เล่นสงกรานต์ในดงศรีมหาโพธิ์ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี แล้วเชื่อมาตลอดว่าเป็นงานประดิษฐ์ของคนดงคนดอนบ้านนอกคอกนาเท่านั้น คนที่อื่นเจริญกว่าเขาไม่เล่นอย่างนี้หรอก เพิ่งรู้เมื่อเห็นรูปนี้ ว่ากระบอกฉีดน้ำจากไม้ไผ่แท้จริงเป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันของคนสุวรรณภูมิใน อุษาคเนย์นับร้อยๆปีมาแล้ว” สุจิตต์กล่าว พร้อมตบท้ายว่า ภาพนี้ ยังทำให้คิดถึงคำอธิบายของครูบาอาจารย์ที่ว่า พฤติกรรมสาดน้ำอย่างก้าวร้าวรุนแรงเริ่มก่อนจากพม่า เพื่อแสดงออกทางการเมืองต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

“ไม่มั่นใจว่าความเข้าใจอย่างนี้จะเป็นไปได้ แต่คิดอย่างอื่นก็คิดไม่ออก จึงเอามาบอกเล่าสู่กัน” สุจิตต์กล่าว

สำหรับ นสพ. THE GRAPHIC ออกทุกวันเสาร์ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412 ตรงกับสมัยต้น รัชกาลที่ 5) พิมพ์ต่อเนื่องมาจนปี 1932 (พ.ศ. 2475) รวม 3,266 ฉบับ ก่อตั้งโดย William Luson Thomas ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในด้านภาพพิมพ์ (ที่มาภาพ : www.old-print.com)


ที่มา มติชนออนไลน์

หลังจากกระแสละครบุพเพสันนิวาสทำให้คนไทยทั่วทั้งประเทศมีความตื่นตัว สำนึกความเป็นไทย ติดใจการแต่งกายแบบย้อนยุค การแต่งกายของตัวละคร สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมานิยมการแต่งกายชุดไทย กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายให้ข้าราชการแต่งกายชุดไทยทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 1 วัน ทำให้ชุดไทย มีไม่พอกับความต้องการของผู้บริโภค ล่าสุดพบว่า เสื้อผ้าชุดไทยเริ่มขาดตลาด ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าชุดไทยต่างได้รับอานิสงส์ มีลูกค้าสั่งตัดเพิ่มขึ้น กระทั่งตัดไม่ทัน ในขณะที่ใกล้วันสงกรานต์ ออเดอร์ตัดชุดไทยยิ่งเพิ่มทวีคูณ ร้านตัดเสื้อชุดไทยต่างรับทรัพย์อื้อตามๆ กัน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน น.ส.กาญจนา หรืออุ๋ม จันทร์สง อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 117 หมู่ 14 บ้านหนองผูกเต่า ต.บ้านแก้ง อ.เมือง จ.สระแก้ว หนึ่งในช่างตัดเย็บเสื้อผ้าชุดไทย เปิดเผยว่า เรียนจบปริญญาตรี ด้านคหกรรมศาสตร์ แต่ชอบการตัดเย็บมากกว่าการทำอาหาร จึงได้ฝึกการตัดเย็บและเรียนเพิ่มเติมด้านการตัดเย็บจากช่างผู้ชำนาญการ และชื่นชอบการแต่งกายชุดไทยมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีบุตร 2 คน ก็ได้ตัดชุดไทยให้ลูกใส่เป็นประจำ

“ก่อนหน้านี้ได้ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เงินเดือนหลายหมื่นบาท แต่ก็ไม่พอใช้ เนื่องจากสิ้นเดือนต้องกลับบ้านที่ จ.สระแก้ว เพื่อดูแลลูก 2 คน ที่ฝากให้แม่เลี้ยง การอยู่ห่างจากครอบครัว ถึงแม้จะได้เงินมาก แต่ก็รู้สึกขาดความอบอุ่นจากครอบครัว เมื่อปี 2558 จึงได้ลาออกจากงานประจำ กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ทำสวนทำไร่ สืบทอดอาชีพของพ่อแม่ แต่สิ่งที่ชอบคือการเย็บผ้าเสื้อผ้า เมื่อกลับมาอยู่บ้าน จึงได้ยึดอาชีพตัดเย็บเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากขาดเงินลงทุน จึงทำได้ในจำนวนจำกัด แต่ละวันจะตัดเสื้อผ้าที่เป็นชุดไทย จำนวน 10 ตัว จากนั้นจะมีแม่ค้ามารับไปขาย โดยขายส่งในราคาตัวละ 100-180 บาท แต่เมื่อมีกระแสละครบุพเพสันนิวาสเข้ามา ทำให้มีลูกค้าเข้ามาสั่งจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ สำนักงาน สมาชิก อบต. ได้นำผ้ามาให้ตัดจำนวนมาก และขณะนี้ใกล้กับวันสงกรานต์แล้ว ก็ยิ่งมีหน่วยงานต่างๆ มาสั่งตัดเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ระยะนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,000-1,800 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือวันละ 500-800 บาทเศษ” น.ส.กาญจนา กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์

ถือเป็นฉากสำคัญของละครบุพเพสันนิวาส เมื่อ ‘พี่หมื่นเดช’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ เข้าพิธีแต่งงานแบบโบราณในละคร ก่อนมี ‘พิธีซัดน้ำ’ ที่เป็นต้นแบบของพิธีรดน้ำสังข์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของคู่บ่าวสาว แต่ในปัจจุบันพิธีซัดน้ำได้เลือนหายไปตามกาลเวลา

สำหรับ ‘พิธีซัดน้ำ’ ถือเป็นประเพณีแต่งงานในสมัยโบราณ เป็นต้นแบบของพิธีรดน้ำสังข์ และอวยพรให้บ่าวสาวครองชีวิตถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร โดยพิธีนี้มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี จะเริ่มช่วงบ่ายของวันก่อนแต่งงาน ซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งเว้นระยะห่างกัน โดยมีพระให้ศีลและสวดมนต์ จากนั้นพระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาว รวมถึงกลุ่มญาติและเพื่อนที่นั่งล้อมอยู่ ก่อนให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือรถน้ำเป็นคนสุดท้ายแล้วนำบาตรครอบศีรษะเจ้า บ่าวเจ้าสาว ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยบำรุงกำลัง ช่วยท่านชาย “โล้สำเภา”ให้ได้เหมือน “พี่หมื่น”ของน้อง”การะเกด” เปิดเผยจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ว่าสมัยโบราณยุคปู่ย่าตาทวด เป็นสังคมเกษตรกรรม ต้องใช้เรี่ยวแรงในการทำไร่ไถนา และที่สำคัญต้องมีเรี่ยวมีแรงในการให้กำเนิดลูกหลานเพื่อมาช่วยกิจการ และกิจกรรมในครัวเรือนด้วย ดังนั้นเมื่อศึกษาตำรายาไทยสมัยก่อน จะพบกลุ่มยาที่ช่วยในด้านบำรุงกำลังวังชา ระบุสรรพคุณในด้านเสริมสมรรถภาพท่านชายไว้มากมาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมิติด้านของความสัมพันธ์ทางเพศกำลังถูกคุกคามจากปัญหาด้านสุขภาพของผู้ชาย 2 ประการ คือ การมีบุตรยากเนื่องจากจำนวนอสุจิลดลง และการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คู่สมรสประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ทั่วโลกประสบปัญหามีบุตรยาก และมีหลักฐานหลายประการ บ่งชี้ว่าปัญหาการมีจำนวนอสุจิลดลงกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะเดียวกันอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(erectile dysfunction) หรือโรคอีดี ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสภาพการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด สารมลพิษที่หลากหลาย ยาบางชนิด สารพิษในอาหาร และการขาดสารอาหารบางชนิด

ดังนั้นแนวคิดของหมอพื้นบ้านไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ จะเน้นการดูแลธาตุในร่างกายให้เป็นปกติอย่างเป็นองค์รวม โดยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม เน้นการรับประทานอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับการใช้ตำรับยาสมุนไพรเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ สรรพคุณบำรุงเลือดลม ทำให้การไหลเวียนของเลือดและระบบย่อยอาหารดีขึ้น เมื่อสุขภาพโดยรวมดีขึ้น สมรรถภาพทางเพศก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ พืชผักที่ใช้เป็นอาหารบำรุงสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายนั้น มีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่

พืชผักที่มีกลิ่นฉุนรสร้อน เช่น หัวหอมแดง กระเทียม พริกไทย ขิง หน่อหรือดอกตระกูลขิง ข่า ใบแมงลัก สะตอ ขนุน ทุเรียน กุยฉ่าย กระถิน กระเฉด พืชตระกูลมะเขือทุกชนิด เช่น มะเขือพวง มะแว้ง มะเขือเปราะพืชที่มีความมันชุ่มชื้น เช่น ผักปลัง งา แห้วหมู กระจับ แห้ว รากสามสิบ เนื้อผลตาล เมล็ดหมามุ่ย เมล็ดมะขาม กล้วยหอม ผักบุ้ง เนื้อในของเมล็ดมะเดื่อ สมอพิเภก พืชที่บำรุงทางเดินปัสสาวะ เช่น หนามกระสุน หญ้าขัด รางแดง โด่ไม่รู้ล้ม

สำหรับตัวอย่างตำรับยาบำรุงกำลัง มีตัวอย่างดังนี้

  • พริกไทย 7 เม็ด กระเทียม 3 กลีบกินดิบๆ พร้อมๆ กันทั้งสองอย่าง ทั้งพริกไทยและกระเทียม ไม่ต้องบดแต่ให้ใช้ปากเคี้ยวแต่ถ้าระคายปากนัก ท่านให้แกล้มด้วยกุ้งแห้งสัก 2-3 ตัว สรรพคุณท่านว่าเหลือจะครนา ท่านให้กินเป็นประจำทุกเช้าและเย็น สัก 7 วัน แล้วจะเห็นผลทันตา
  • เมล็ดหมามุ่ยแก่จัด คั่วไฟอ่อนจนสุกดี ดูจากขั้วของเมล็ดจากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เสมอกันทั้งเมล็ด จากนั้นนำมาบด หรือแช่น้ำก่อนจนเมล็ดนุ่ม แล้วค่อยเคี้ยวกิน ครั้งละ 3 เมล็ด เช้า เย็น

[หมามุ่ย : มีฤทธิ์กระตุ้นความต้องการทางเพศ เรียกว่าเป็นยากามะ ช่วยแก้ปัญหามีบุตรยาก ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย คุณภาพของอสุจิและช่วยให้น้ำเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ใช้บรรเทาอาการพาร์กินสัน)

  • หมากลิ้นช้าง(เพกา) ใช้เปลือกต้น หรือฝักอ่อนที่พับงอได้ ตากแก้งทำเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร [ งานวิจัยของเพกา พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการแพ้ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล พื้นบ้านกินเป็นบำรุงกำลัง เพิ่มน้ำอสุจิ)

หมายเหตุ : กลุ่มยาบำรุงกำลังส่วนใหญ่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการไหลเวียนเลือด ต้านการแจ็งตัวของเลือด ดังนั้ผู้ที่ทานยาในกลุ่มนี้ควรระวังในการรับประทาน


ที่มา เส้นทางเศรษฐี

เข้าพิธีซัดน้ำ แต่งงานตามฉบับชาวอยุธยาไปเรียบร้อย ก็ถึงคราวที่ ‘คุณพี่เดช’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ จะเข้าห้องหอกันเสียที กับฉากที่แฟนนิยายบุพเพสันนิวาสรอคอย เมื่อคุณพี่ถามออเจ้าว่า “โล้สำเภาเป็นหรือไม่” การะเกดผู้ไม่รู้ประสีประสาตอบว่าเคยเห็นแต่เรือสำเภา แต่ไม่เคยขึ้น คุณพี่เดชจึงออกปากจะสอนการะเกดโล้สำเภากันสองต่อสอง

สำหรับฉากนี้ แม้ว่า พระนางอย่าง โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน จะเข้าพระเข้านางกันมาหลายครั้งแล้ว แต่แค่ซ้อมพอต้องใกล้กันทีไรเป็นต้องหลุดขำก๊ากใส่กันทุกที งานนี้จึงต้องมีทำข้อสัญญาตกลงยุติการขำไว้ว่า

‘ถ้าหากถ่ายจริงใครหัวเราะก่อนคนนั้นแพ้’  ทั้งคู่จึงดูตั้งใจซ้อมสุดๆ

ใกล้จะถึงฉากแต่งงานที่ออเจ้าทั้งพระนครรอคอย สำหรับละครสุดฮ็อต “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งในค่ำคืนนี้ นอกจากจะมีฉากแต่งงานแล้ว ยังมีฉากเข้าหอที่ “คุณพี่” จะสอน “แม่การะเกด” ให้รู้จักการเล่น “โล้สำเภา” ซึ่งเอาทำเหล่าออเจ้าฟินจิกหมอนกันถ้วนทั่ว และให้เกิดความสงสัยว่า ใยจึงต้อง “โล้สำเภา”

บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า คำว่า “โล้สำเภา” นี้ มีความหมาย 3 ลักษณะ

1.โล้สำเภา เป็นทำนองเทศน์มหาชาติ ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ซึ่งเป็นสำเภาในเชิง โลกุตรนาวา เป็นสำเภาที่เหนือโลก ซึ่งในทางธรรม เรียกว่า ทำนองโล้สำเภา

2.โล้สำเภา เป็นบทร้องเล่นของเด็กไทยสมัยก่อน ที่ว่า “จิงโจ้ มาโล้สำเภา หมาไล่เห่า จิงโจ้โดดน้ำ หมาไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี ได้กล้วย 2 หวี ทำขวัญจิงโจ้” ซึ่งเป็นบทร้องที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งนี้ “จิงโจ้” ในบทร้องนี้ ไม่ใช่ “จิงโจ้” อย่างที่คนทั่วไปรู้จัก แต่เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง ชื่อว่า “อรหัน”

3.โล้สำเภา ในลักษณะเป็น “บทอัศจรรย์” หรือ “บทสังวาส” ในวรรณคดี ซึ่งเปรียบเทียบว่า “สำเภาแล่นเรือออกปากอ่าว” เป็นการพูดเชิงสัญลักษณ์ที่ “ผู้หญิงผู้ชายกุ๊กกิ๊กกันหรือร่วมรักกันในทางเพศ”

บุญเตือน กล่าวว่า คำว่า โล้สำเภา ที่เป็นบทอัศจรรย์ มักนิยมใช้ในวรรณดคีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้กล่าวกันในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งถ้าเป็นวรรณดคีในสมัยนั้นจะกล่าวตรงๆ ไม่มีการเปรียบเทียบแต่อย่างใด เช่น ลิลิตพระลอ ราชาพิลาปคำฉันท์ ทั้งนี้ วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ที่เขียนบทอัศจรรย์เปรียบเทียบกับโล้สำเภา เช่น พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ รวมถึง ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

“นวนิยายบุพเพสันนิวาส เดินเรื่องในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ไม่ถือว่าผิด เพราะเป็นเรื่องแต่ง ถ้าให้เปรียบก็คล้ายกับเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งบรรยายเรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยอธุยา ทั้งที่เรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ฉันใดก็ฉันนั้น บุพเพสันนิวาส ก็มีเรื่องราวในสมัยพระนารายณ์ แต่เรื่องแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งตั้งแต่สมัยพระนารายณ์จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สังคมไทยไม่เปลี่ยนมาก ทั้งความเชื่อ การแต่งกาย ค่านิยมต่างๆ ก็สืบทอดกันมา แต่พอมาวันนี้ สังคมเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น คนเขียนก็ต้องใช้จินตนาการสูง การเปรียบเทียบต่างๆ ก็อาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง”

ตัวอย่าง บทอัศจรรย์ในบทอัศจรรย์ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนได้นางบัวคลี่ สำนวนครูแจ้ง จากสำเนาที่หนึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับสมบูรณ์สามภาคและฉบับต่างสำนวน เล่ม 2 บริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัด (มหาชน) พิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน พุทธศักราช 2558)

“เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์
สลาตันเป็นละลอกกระฉอกฉาน
ทเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ
กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง
สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด
สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง
ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง
ตลบตะแลงเลาะเลียบมาตามเลา
ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง
ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า
ด้วยร่องน้อยน้ำอับคับสำเภา
ขึ้นติดหลังเต่าอย่โตงเตง
พอกำลังลมจัดพัดกระโชก
กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง
เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง
จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อนยักย้าย
ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง
เข้าติดตึงครึ่งลำระส่ำระสาย
พอชักใชขึ้นกบรอกลมตอกท้าย
ก็มิดหายเข้าไปทั้งลำพอน้ำมา
พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ
ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า
ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดังจินดา
ก็แนบหน้าผาศุกมาทุกวัน”


ที่มา มติชนออนไลน์