เปิดที่มาคำ ‘โล้สำเภา’ ‘บทอัศจรรย์’ ในวรรณคดี เมื่อพี่หมื่นชวนการะเกดเข้าหอ

Entertainment บันเทิง

ใกล้จะถึงฉากแต่งงานที่ออเจ้าทั้งพระนครรอคอย สำหรับละครสุดฮ็อต “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งในค่ำคืนนี้ นอกจากจะมีฉากแต่งงานแล้ว ยังมีฉากเข้าหอที่ “คุณพี่” จะสอน “แม่การะเกด” ให้รู้จักการเล่น “โล้สำเภา” ซึ่งเอาทำเหล่าออเจ้าฟินจิกหมอนกันถ้วนทั่ว และให้เกิดความสงสัยว่า ใยจึงต้อง “โล้สำเภา”

บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า คำว่า “โล้สำเภา” นี้ มีความหมาย 3 ลักษณะ

1.โล้สำเภา เป็นทำนองเทศน์มหาชาติ ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ซึ่งเป็นสำเภาในเชิง โลกุตรนาวา เป็นสำเภาที่เหนือโลก ซึ่งในทางธรรม เรียกว่า ทำนองโล้สำเภา

2.โล้สำเภา เป็นบทร้องเล่นของเด็กไทยสมัยก่อน ที่ว่า “จิงโจ้ มาโล้สำเภา หมาไล่เห่า จิงโจ้โดดน้ำ หมาไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี ได้กล้วย 2 หวี ทำขวัญจิงโจ้” ซึ่งเป็นบทร้องที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งนี้ “จิงโจ้” ในบทร้องนี้ ไม่ใช่ “จิงโจ้” อย่างที่คนทั่วไปรู้จัก แต่เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง ชื่อว่า “อรหัน”

3.โล้สำเภา ในลักษณะเป็น “บทอัศจรรย์” หรือ “บทสังวาส” ในวรรณคดี ซึ่งเปรียบเทียบว่า “สำเภาแล่นเรือออกปากอ่าว” เป็นการพูดเชิงสัญลักษณ์ที่ “ผู้หญิงผู้ชายกุ๊กกิ๊กกันหรือร่วมรักกันในทางเพศ”

บุญเตือน กล่าวว่า คำว่า โล้สำเภา ที่เป็นบทอัศจรรย์ มักนิยมใช้ในวรรณดคีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้กล่าวกันในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งถ้าเป็นวรรณดคีในสมัยนั้นจะกล่าวตรงๆ ไม่มีการเปรียบเทียบแต่อย่างใด เช่น ลิลิตพระลอ ราชาพิลาปคำฉันท์ ทั้งนี้ วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ที่เขียนบทอัศจรรย์เปรียบเทียบกับโล้สำเภา เช่น พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ รวมถึง ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

“นวนิยายบุพเพสันนิวาส เดินเรื่องในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ไม่ถือว่าผิด เพราะเป็นเรื่องแต่ง ถ้าให้เปรียบก็คล้ายกับเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งบรรยายเรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยอธุยา ทั้งที่เรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ฉันใดก็ฉันนั้น บุพเพสันนิวาส ก็มีเรื่องราวในสมัยพระนารายณ์ แต่เรื่องแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งตั้งแต่สมัยพระนารายณ์จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สังคมไทยไม่เปลี่ยนมาก ทั้งความเชื่อ การแต่งกาย ค่านิยมต่างๆ ก็สืบทอดกันมา แต่พอมาวันนี้ สังคมเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น คนเขียนก็ต้องใช้จินตนาการสูง การเปรียบเทียบต่างๆ ก็อาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง”

ตัวอย่าง บทอัศจรรย์ในบทอัศจรรย์ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนได้นางบัวคลี่ สำนวนครูแจ้ง จากสำเนาที่หนึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับสมบูรณ์สามภาคและฉบับต่างสำนวน เล่ม 2 บริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัด (มหาชน) พิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน พุทธศักราช 2558)

“เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์
สลาตันเป็นละลอกกระฉอกฉาน
ทเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ
กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง
สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด
สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง
ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง
ตลบตะแลงเลาะเลียบมาตามเลา
ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง
ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า
ด้วยร่องน้อยน้ำอับคับสำเภา
ขึ้นติดหลังเต่าอย่โตงเตง
พอกำลังลมจัดพัดกระโชก
กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง
เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง
จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อนยักย้าย
ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง
เข้าติดตึงครึ่งลำระส่ำระสาย
พอชักใชขึ้นกบรอกลมตอกท้าย
ก็มิดหายเข้าไปทั้งลำพอน้ำมา
พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ
ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า
ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดังจินดา
ก็แนบหน้าผาศุกมาทุกวัน”


ที่มา มติชนออนไลน์