หลายคนอาจรู้สึกผิดหากได้ทำพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเป็นแค่สิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เพราะคิดว่าสิ่งนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ดีต่อสุขภาพทั้งหมด เพราะบางอย่างเป็นแค่ความเชื่อ แถมบางอันยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย

1.กินไข่

เมื่อไม่นานมานี้มีความเชื่อว่าการกินไข่นั้นไม่ดีต่อหัวใจ เพราะมีคอเลสเตอรอล แต่จากงานวิจัยของจีนที่เผยแพร่ในวาสาร Heart ระบุว่า การกินไข่ทุกวัน (ทั้งไข่แดงและไข่ขาว) อาจช่วยลดโอกาสการพัฒนาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยนักวิจัยพบว่า ผู้ทดลองมีความเสี่ยงเป็นภาวะขาดเลือดในสมองลดลง 26%, มีการเสียชีวิตจากภาวะเลือดออกในสมองลดลง 28%

ทั้งนี้ ไข่นั้นนอกจากจะประกอบด้วยโปรตีนแล้วยังมีวิตามิน, ฟอสโฟลิพิด และแคโรทีนอยด์ ซึ่งดีต่อทุกคน

2.ดื่มเบียร์หลังเลิกงาน

คุณอาจเคยได้ยินมาว่าการดื่มไวน์นั้นดีกว่า แต่เบียร์ก็มีข้อดีเหมือนกัน โดยมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าการดื่มเบียร์ในปริมาณปานกลางนั้นจะช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพ โดยงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเบียร์ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2, นิ่วในไต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากจะได้ประโยชน์จริงๆ ปริมาณเฉลี่ยที่ควรดื่มคือ วันละ 1 กระป๋องเท่านั้น หากมากกว่านี้ก็จะไม่ดีต่อสุขภาพได้

3.ไม่อาบน้ำทุกวัน

หลายคนว่าการอาบน้ำเป็นประจำทุกวันจะช่วยขจัดแบคทีเรียออกจากร่างกาย แต่นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์พันธุศาสตร์ มหาวิทบาลัยยูทาห์ แสดงให้เห็นว่าการอาบน้ำมากเกินไปจะทำลายจุลินทรีย์ของร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และจุลชีพอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บางอย่างนั้นสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, ระบบทางเดินอาหาร และการทำงานของหัวใจ การอาบน้ำทุกวันยังทำลายเซลล์ผิวและดึงความชื้นออกจากผิวได้อีกด้วย

4.รู้สึกเครียด

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียชี้ให้เห็นว่า การเครียดในระดับปานกลางในช่วงเวลาที่จำกัด จะสร้างแรงจูงใจและสามารถผลักดันเราให้มีความตื่นตัว และทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การศึกษาอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของความเครียดจะลดลงตามมุมมองของแต่ละคน ยกตัวอย่าง ถ้าคิดว่าเรื่องเครียดๆ นั้นจะเป็นสิ่งที่ท้าทายแทนที่จะเป็นภัยคุกคาม ผลของการคิดแบบนี้ก็จะทำให้ใช้ความเครียดอย่างสร้างสรรค์ มากกว่ามองว่าเป็นภัยคุกคาม

5.ไม่ออกกำลังกายทุกวัน

บางคนอาจรู้สึกแย่ที่ไม่ได้ออกกำลังกายสัก 1 หรือ 2 วัน แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องเครียดขนาดนั้น เพราะหากคุณออกกำลังกายต่อเนื่องทุกวัน ไม่มีวันพัก กล้ามเนื้อของคุณก็จะไม่มีเวลาซ่อมแซมตัวเอง และอาจทำให้คุณได้รับบาดเจ็บได้ โดยจากงานวิจัยพบว่า หากออกกำลังกายมากกว่าวันละ 7.30 ชั่วโมง/สัปดาห์ 86% มีแนวโน้มที่จะพัฒนาการเกิดคราบหินปูนบนหลอดเลือดแดงของหัวใจ, เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง และมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ออกกำลังกายปกติถึง 2 เท่า

6.พูดคำหยาบ

นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าการพูดคำหยาบคายอาจทำให้รู้สึกหดหหู่และเจ็บปวด แต่ความจริงแล้วตรงข้ามกันเลย โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคีลีในประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า การได้รับคำสบทอย่างพอดีจะทำให้ทนทานความเจ็บปวดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คำสบถ คำด่า หรือคำหยาบคาย จะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถพูดได้กลางวงที่ประชุม หรือขณะกำลังกินข้าวเลี้ยงฉลองกับครอบครัวอยู่

7.กินชีส

ถึงแม้ว่าชีสนั้นจะมีทั้งไขมัน, คอเลสเตอรอล และโซเดียม แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่าชีสก็มีส่วนที่เป็นประโยชน์ด้วยเช่นกัน คือ ประกอบไปด้วยโปรตีน, แคลเซียม และวิตามินบี 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดลงของความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหัวใจวายเฉียบพลัน ไม่เพิ่มความดันโลหิต และยังดีต่อระบบทางเดินอาหารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคุณจะกินชีสได้ครั้งละมากๆ เพราะอาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นได้นั่นเอง

8.กินขนม

ไม่ต้องรุ้สึกแย่หากคุณจะกินขนมเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรุ้สึกหิวระหว่างมื้อ เพราะวิธีกินที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป โดยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เองก็ยังมีข้อถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสีย และผลกระทบต่อระบบเมทาบอลิซึม, น้ำหนัก และน้ำตาลในเลือด แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การกินอะไรลงไปบ้างเมื่อรู้สึกหิวก็ยังดีกว่าการไปอดทนรอกินมื้อใหญ่แล้วกินมากเกินไป แต่ก็ต้องพึงระวังด้วยว่าขนมที่กินจะต้องไม่มีน้ำตาลและเกลือมากเกินไป การกินของว่างจะไม่ดีต่อสุขภาพก็ต่อเมื่อคุณกินของที่มันไม่ดีต่อสุขภาพ

9.เม้าท์มอย

เชื่อหรือไม่ว่าการเม้าท์มอยนั้นช่วยลดความเครียด และเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนออกซิโทซินในเพศหญิงได้ โดย Psychology today อธิบายไว้ว่า การเม้าท์มอยยังช่วยให้รู้ว่าตอนนี้กำลังมีสถานการณ์อะไรบ้าง เรียกได้ว่ารู้เท่าทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่าไม่ซุบซิบนินทามากเกินไปจนไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน และต้องไม่รับความคิดเห็นเชิงลบจนทำให้คุณรู้สึกเศร้าหรือเครียด

10.เคี้ยวหมากฝรั่ง

หมากฝรั่งนั้นเป็นอาหารที่มีน้ำตาล และการกินน้ำตาลจะไม่ดีต่อสุขภาพเอาเสียเลย เพราะช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น แต่หากคุณลองกินหมากฝรั่งที่ไร้น้ำตาลแทนก็จะดี เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ระบุว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยให้คุณมีสมาธิต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ งานวิจัยจากที่อื่นๆ ยังแสดงให้เห็นอีกว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยให้เตรียมพร้อม และสามารถจัดการความเครียดได้ และยังช่วยลดระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอลได้ด้วย

ด้วยว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดบ้านอยู่ใกล้ตลาด ดังนั้น จึงมีโอกาสไปเดินตลาดในตอนเช้าๆ อยู่เป็นประจำ เวลาเช้าเป็นช่วงที่แม่ค้าพ่อค้าจากท้องไร่ท้องนานำสินค้าจำพวกผักผลไม้พื้นบ้านมาวางขาย มีทั้งผักสด ปลาที่จับมาได้ หอยหลากหลายชนิด และยังของกินแปลกๆ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็น เช่น ไข่ผำ หรือ อึ่งย่าง เป็นต้น มีอย่างหนึ่งที่เคยคิดว่าไม่น่านำมาขายได้ แต่ก็ขายได้ นั่นคือ “ลูกตำลึง” ที่บอกว่าไม่น่าขายได้ เพราะมันมักขึ้นเป็นพืชริมรั้ว บ้านไหนก็มีกันทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองออกจะหายากสักหน่อยไปเสียแล้ว

มาว่ากันเรื่องของ “ใบตำลึง” ก่อน ภาษาอังกฤษเขาใช้ “Ivy Gourd” มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพืชปลูกในเขตร้อน และยังเป็นพืชประจำถิ่นของไทยด้วย ในแต่ละท้องถิ่นเรียกชื่อต่างกันไป ตำลึงเป็นไม้เลื้อยมีมือลักษณะคล้ายหนวดเกาะจับ หรือเลื้อยเกาะไม้หลักหรือต้นไม้ใหญ่ ตระกูลเดียวกับบวบ น้ำเต้า และแตงร้าน มีสีเขียวจัด ตำลึงมีลำต้นเดี่ยว มีลักษณะกลมๆ เจริญเติบโตได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ใช้ใบและยอดอ่อนรับประทาน โดยสามารถนำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้มากมาย หลากหลายเมนู อาทิ ผัดใบตำลึง แกงอ่อมใบตำลึง แกงเลียงใบตำลึง แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ฯลฯ

ตำลึงมี 2 ชนิด คือตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย

ตำลึงตัวผู้ จะมีใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจเว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวแฉก 5 แฉก ตำลึงตัวผู้ออกดอก แต่ไม่มีลูกเหมือนตัวเมีย ตำลึงตัวผู้นี้ ถ้าคนธาตุอ่อนกินเข้าไป อาจจะทำให้ท้องเสียได้ จึงไม่นิยมรับประทาน

ส่วน ตำลึงตัวเมีย ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ แต่จะใหญ่สมบูรณ์ ไม่เว้าลึก มีสีเขียว ก้านใบยาว มีดอกสีขาวเช่นกัน แต่มีลูกอ่อนด้วย สีเขียวลายขาวคล้ายแตงกวา คนนิยมรับประทานตำลึงตัวเมียมากกว่า อีกทั้งยังถือว่าตำลึงเป็นพืชสมุนไพร มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา รักษาโรคต่างๆ ได้ครอบจักรวาล เพราะนอกเหนือจากเส้นใยอาหารแล้ว ยังมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ บี1 บี2 บี3 ช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซี ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีธาตุแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก และฟันให้แข็งแรง และฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคหลอดเลือดแข็ง ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบตัน และยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยกำจัดกลิ่นตัวกลิ่นเต่าอีกด้วย

สำหรับ “ผลตำลึง” หรือ “ลูกตำลึง” เป็นผลรีๆ คล้ายแตงกวาแต่เล็กกว่า ผิวเรียบ เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้มสวย ภายในมีเมล็ดมาก รสชาติขม ฝาด ขื่น นกกาชอบกินลูกตำลึงสุกมาก

การจะกินลูกตำลึงให้อร่อย เขามีวิธี ต้องตบให้แตกก่อนแล้วบีบเมล็ดทิ้งไป จากนั้นนำไปคั้นกับเกลือ ขยำ ๆ แล้วบีบน้ำทิ้ง ทำสัก 2-3 ครั้งล้างน้ำเปล่า จึงค่อยบีบให้แห้ง พักไว้ รอใส่ลงในแกง ไม่ว่าแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ได้หมด ใช้แทนมะเขือเปราะ ผลอ่อนของตำลึงยังสามารถนำมาทำแช่อิ่มได้อีก หรือดองเค็มอมเปรี้ยว ทำเป็นผักดอง ในการนำลูกตำลึงมาทำอาหารนั้นก็มีเคล็ดลับอยู่เหมือนกัน จะทำให้แกงลูกตำลึงอร่อย คือหลังจากทุบเอาเมล็ดออกล้างน้ำเกลือแล้ว ต้องแช่น้ำปูนใส เพื่อให้เนื้อไม่เละเวลานำไปแกง

รู้จักลูกตำลึงกันแล้ว มาลองทำสูตรอาหารจากลูกตำลึงกัน นั่นคือ “แกงคั่วลูกตำลึง” (สำหรับ 4 ที่)

ส่วนประกอบ

ลูกตำลึงอ่อน 35 ลูก
กุ้งชีแฮ้ 150 กรัม
หัวกะทิ 2 ถ้วย  หางกะทิ 3 1/2 ถ้วย
เกลือดเม็ดบด  2  1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

เครื่องแกง

พริกกะเหรี่ยงสีเขียว-แดง  100 กรัม
เกลือป่น  1 ช้อนชา
กระเทียมไทยกลีบเล็ก 100 กรัม
ข่าหั่นแว่น  2 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย 1/4 ถ้วย
ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 2 ช้อนชา
กระชายหั่น 1/4 ถ้วย  กะปิ  1 ช้อนโต๊ะ
ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว

วิธีทำ

1.ทำน้ำพริกแกงโดยโขลกพริกกะเหรี่ยง เกลือ กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด เข้าด้วยกัน ตำให้ละเอียด ใส่กระชายและกะปิโขลกต่อไป ตามด้วยเนื้อปลาทูนึ่งที่แกะแล้ว ใส่เข้าไปโขลกรวมกัน ให้โขลกอย่างละเอียดจนเข้ากันดี ตักใส่ถ้วย พักไว้

2.ล้างลูกตำลึง แล้วทุบให้แตก แคะเมล็ดออกให้มากที่สุด ใส่ลูกตำลึงในอ่างผสม เทเกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะลงไปแล้วขยำจนนุ่ม พยายามเอาเมล็ดในลูกตำลึงออกให้หมด เพราะเมล็ดตำลึงมีรสเฝื่อนและฝาด จากนั้นนำไปล้างหลายๆ น้ำให้สะอาด ใส่แช่ลงในอ่างน้ำปูนใสนาน 15 นาทีแล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง

3.นำกุ้งมาแกะเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ดึงเส้นดำออกโดยไม่ต้องผ่าหลัง ล้างให้สะอาด ใส่จานพักไว้

4.ใส่หัวกะทิและหางกะทิ 1 ถ้วยลงในกระทะ ตั้งบนไฟกลาง ใส่พริกแกงลงผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอม เมื่อเดือดสักครู่ ใส่ลูกตำลึงผัดให้ทั่ว เติมหางกะทิที่เหลือปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล คนให้ทั่ว ใส่กุ้ง พอกุ้งสุก ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ