ว่านห่างจระเข้ ที่มายาดำ ยาระบายระดับโลก

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่มีการใช้กันมานานกว่าสามพันปี มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวประเทศเยเมนในตะวันออกกลาง แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นสมุนไพรที่คนรู้จักกันทั่วไปจนไม่รู้สึกตื่นเต้น แต่แท้ที่จริงแล้วว่านหางจระเข้เป็นยาวิเศษจากสวรรค์แท้ๆ พวกอินเดียนแดงถึงกับเรียกว่านหางจระเข้ว่า ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ ซึ่งก็คงเป็นเพราะเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอวัยวะได้แทบทุกส่วน ทั้งรักษาแผล ฆ่าเชื้อ แก้ปวด แก้อักเสบ รักษาโรคท้องไส้ ใช้คุมเบาหวาน และยังใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวและผมได้เป็นอย่างดี

ในประเทศไทยเองเริ่มให้ความสนใจว่านหางจระเข้เมื่อประมาณปี 2526 เมื่อเภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกูล ได้นำประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านและงานวิจัยจากต่างประเทศมาเผยแพร่ให้คนรู้ผ่านวารสารข่าวสารสมุนไพร หลังจากนั้นก็เกิดผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม แชมพู ครีมนวดผม สบู่อาบน้ำที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมขึ้นมากมาย แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันคือ คนไทยใช้ว่านหางจระเข้มานานในรูปแบบของยาดำ

ยาดำนั้นได้จากการเคี่ยวน้ำยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ น้ำยางนี้อยู่ระหว่างผิวนอกของใบกับเนื้อวุ้น เมื่อตัดใบว่านหางจระเข้ยางจะไหลออกมา เมื่อนำน้ำยางสีเหลืองที่ได้ไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนข้นเหนียว นำไปผึ่งแดดให้แห้งจะแข็งกลายเป็นก้อนสีน้ำตาลจนถึงดำ เปราะทึบแสง มันแวววาว รสขมเหม็นเบื่อ กลิ่นชวนคลื่นไส้อาเจียน คนไทยคงใช้ยาดำมานานจนมีสำนวนว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงคนที่ชอบไปวุ่นวายเรื่องของคนอื่นทุกเรื่องจนน่ารำคาญน่าเวียนหัว

ในยาไทยมักจะมียาดำอยู่ด้วยเสมอโดยเฉพาะยาหม้อแรกๆ ที่ใช้ในการรักษา เพื่อถ่ายของเสียที่หมักหมมออกจากร่างกายเสียก่อน ในตำรายาไทยกล่าวถึงสรรพคุณของยาดำว่า ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซ้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม ยาดำเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่ามีปรากฏในตำราโอสถพระนารายณ์ ในตำรับทาพระเส้น และปรากฏในคัมภีร์แพทย์แผนไทยในฐานะยาระบายอยู่หลายคัมภีร์ ได้แก่ ฉันทศาสตร์ ปฐมจินดา ธาตุวิภังค์ สรรพคุณยา มหาโชตรัตน์ ชวดาร โรคนิทาน ธาตุวิวรณ์ ธาตุบรรจบ มุจฉาปักขันทิกา กษัย ส่วนตัวว่านหางจระเข้ปรากฏในคัมภีร์ตักศิลา

ยาดำนั้นมีสารกลุ่มแอนทราควิโนนพวกบาร์บาโลอิน (barbaloin) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้คล้ายๆ กับมะขามแขก มีการยอมรับว่าเป็นยาถ่ายที่ปลอดภัยในเภสัชตำรับของประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ปกติแล้วคนไทยจะไม่กินยาดำเป็นยาถ่ายตัวเดียว แต่ถ้าจะกินก็กินเท่าเม็ดถั่วเขียวแต่จะไซ้ท้องพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในวุ้นของว่านหางจระเข้ก็มีสารยาร์บาโลอินอยู่บ้าง ท่านที่มีอาการท้องผูกจะเริ่มจากกินวุ้นว่านหางจระเข้สักครึ่งแก้วก่อน ถ้ายังไม่ได้ผลจึงค่อยใช้ใบว่านหางจระเข้โดยหั่นทั้งเปลือกและวุ้นตากแห้งเก็บไว้ใช้ชงกินแบบชา รสชาติไม่เลวกินได้ไม่ยาก ช่วยให้ระบายอ่อนๆ และยังได้สารเมือกจากว่านหางจระเข้ช่วยหล่อลื่นผนังลำไส้อีกด้วย

ดับร้อนแผลไหม้ไปจนถึงแผลในกระเพาะ

สรรพคุณที่โด่งดังของวุ้นว่านหางจระเข้เห็นจะไม่พ้นการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทำให้ชาวบ้านหลายแห่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านไฟไหม้ เมื่อถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกคราวใด ให้นึกถึงว่านหางจระเข้ไว้ก่อน แต่จะต้องรู้จักใช้ให้เป็น คือ ใช้ในปริมาณที่มากพอ โดยให้สังเกตว่าความปวดแสบปวดร้อนจะหายไป นอกจากนี้ แผลอื่นๆ วุ้นว่านหางจระเข้ก็ช่วยได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยางสีเหลือง เพราะมีฤทธิ์ระคายเคือง มีงานศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและในคนว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยรักษาแผลให้หายเร็วได้ เนื่องจากมีสารอัลล็อคซิน (alloctin) สารอโลอิน (aloin) และอโลอิโมดิน (aloemodin) ซึ่งช่วยลดการอักเสบ และสารอัลลอคตินจะช่วยให้แผลตื้นและหายเร็วขึ้น เพาะไปกระตุ้นการเกิดใหม่ของเนื้อเยื่อ

ในหมู่หมอยาพื้นบ้านเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ก็ให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยลดการหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ รวมทั้งทำให้การหายของแผลดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคกระเพาะนั้นต้องมองเป็นองค์รวม ซึ่งจะต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ แต่วุ้นว่านหางจระเข้ก็สามารถใช้เป็นยาเสริมได้

วุ้นว่านหางจระเข้ เครื่องสำอางข้างบ้าน

ในการใช้เป็นเครื่องสำอาง วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการบำรุงผิว ป้องกันสิวฝ้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและบำรุงผมจำนวนมากในปัจจุบันมีสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้อยู่ แต่ทุกคนสามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้สดได้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นวัยรุ่นหน้าค่อนข้างมัน จะใช้วุ้นว่านหางจระเข้เป็นรองพื้นก่อนแต่งหน้าเลยก็ได้ แต่ถ้าสูงอายุขึ้นมาหน่อย หากใช้วุ้นว่านหางจระเข้อย่างเดียวจะทำให้หน้าตึงไปสักหน่อย ให้ผสมครีมทาหน้าสักเล้กน้อย ว่านหางจระเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ดีมากสำหรับเส้นผมช่วยทำให้ผมงอก ลดการหลุดร่วงของเส้นผม ตัววุ้นยังใช้แทนเจลใส่ผมได้ สำหรับคนผมเสีย ผมแตกปลาย ผมไม่มีน้ำหนัก แห้งกรอบ ก็สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้ได้ ไข่แดง น้ำมันมะกอก หมักผมก่อนสระอาทิตย์ละครั้ง จะดูแลรักษาเส้นผมให้ดกดำ มีน้ำหนัก มีชีวิตชีวา มีน้ำหนัก

วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้เป็นยาภายในรักษาบางโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ไข้หวัด หอบหืด การใช้กับโรคเบาหวานนั้นให้รับประทานวุ้นจากท่อนใบสดยาวประมาณสามถึงสี่เซนติเมตรทุกวัน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า วุ้นสดจากว่านหางจระเข้ช่วยลดการใช้ยาเบาหวานได้ นอกจากนี้ ยังแก้เมารถหรือเมาเรือได้ โดยให้กินวุ้นว่านหางจระเข้ยาวประมาณสองถึงสามเซนติเมตรก่อนออกเดินทาง

ตำรับยา

ยาโรคกระเพาะ

วุ้นจากใบสดกว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาว 4 เซนติเมตร แบ่งรับประทานเป็นสองครั้ง นอกจากรักษาโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ลำไส้อักเสบแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่น มีภูมิต้านทานดี

ยาบำรุงร่างกาย

ว่านหางจระเข้ทั้งเปลือก หั่นตากแดดให้แห้ง ชงกินแบบชา ช่วยบำรุงร่างกายให้ขับถ่ายสะดวก

ยารักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก

เตรียมวุ้นใบว่านหางจระเข้ให้พอที่จะใช้กับบริเวณแผล ล้างน้ำเอายางสีเหลืองออกให้หมด แล้วฝานเนื้อวุ้นเป็นแผ่นบางๆ นำไปวางบนแผลให้ปริมาณมากพอ จะรู้สึกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนหายไป เปลี่ยนตัวยาเมื่อรุ้สึกร้อน อาจนำวุ้นว่านหางจระเข้ไปแช่น้ำแข็งก่อนก็ได้

ยาบำรุงผม

ให้ใช้ไข่แดง น้ำมันมะกอก วุ้นว่านหางจระเข้อย่างละหนึ่งส่วน ใส่น้ำเล็กน้อย ปั่นให้เข้ากัน นำไปหมักผมที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก สัปดาห์ละครั้ง สักสองครั้งก็เห็นผล วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้ทาบริเวณที่ผมน้อยหรือผมร่วงเพื่อให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้

ข้อควรระวัง

-การใช้ว่านหางจระเข้เป็นเครื่องสำอางต้องล้างยางสีเหลืองออกให้หมดจริงเพราะอาจทำให้ระคายผิว

-การใช้ยาดำเป็นยาระบายมีข้อควรระวังเช่นเดียวกับมะขามแขก


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

หนึ่งจานเด็ดที่ใครไปโรงแรมธาริส อาร์ท โฮเทล ในอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นต้องสั่ง คือ ปลานิลทอดสมุนไพร

ด้วยปลาเป็นเมนูสุขภาพ ทำได้หลายเมนู จึงได้รับความนิยมอย่างมาก เชฟเอก-กรวิชญ์ เชฟใหญ่แห่งโรงแรมธาริส จึงได้นำเสนอ “ปลานิลทอดสมุนไพร” ที่ทั้งกินอร่อย และมีโภชนาการที่ดี

จานนี้เคล็ดลับตั้งแต่การแล่ปลา นำไปคลุกแป้ง แล้วทอดส่วนหัวกับเนื้อติดก้างก่อน ตามด้วยเนื้อที่หั่นชิ้นใหญ่ พอได้สีเหลืองทองก็ยกขึ้นจัดใส่จาน ตามด้วยเครื่องสมุนไพรคลุกแป้งทอดกรอบเช่นกัน อึดใจเดียวก็ยกขึ้นโรยหน้าปลาดูน่ารับประทาน เนื้อปลานั้นกรอบนอกนุ่มใน รสชาติหวานมัน มาคู่กับสมุนไพรทอดกรอบให้ความหอม และรสชาติที่แตกต่าง เพราะใช้สมุนไพรหลายอย่าง เช่น ความเผ็ดร้อนจากพริกไทยอ่อน ความหวานจากหอมใหญ่ หวานฉุนจากหอมแดง และยังมีขมิ้นขาว ตะไคร้ซอย พริกชี้ฟ้า กระชาย ขิงซอย ใบมะกรูด ทอดให้กรอบ แต่ละตัวจะมีรสชาติเด่นของตัวเอง

ใครชอบความจี๊ดจ๊าดก็ตักน้ำจิ้มซีฟู้ดราดตามใจชอบ รับรองแป๊บเดียวข้าวหมดจาน

พริกไทย ขุมทองของเครื่องเทศ

พริกไทยเป็นสมุนไพรที่มีหลักฐานการใช้ย้อนหลังไปกว่า 3,000 ปีก่อน และเป็นเครื่องเทศที่เก่าแก่ที่สุดที่แพร่จากตะวันออกเข้าไปในตะวันตกตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน ในอาณาจักรโรมันมีการใช้พริกไทยในหมู่ชั้นสูง ถือเป็นของหายาก มีราคาแพง และใช้แทนเงินตราได้ จนมีบางคนเรียกว่า ทองคำดำ ปราชญ์ชาวโรมันชื่อ ไพลนี ถึงกับปรารภด้วยความพิศวงงงงวยว่า อะไรที่ทำให้คนโรมันนิยมพริกไทย ซึ่งไม่น่าจะเป็นอาหารได้เลย เพราะไม่มีความหวาน ความน่าดู หรือคุณสมบัติอื่นนอกจากความเผ็ดฉุน!

พริกไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย และเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบ้านเรา ก่อนที่ความต้องการพริกไทยของยุโรปจะทำให้มีการค้นหาเส้นทางเดินเรือไปตะวันออกเพื่อค้าเครื่องเทศ และกระตุ้นให้ปลูกพริกไทยแพร่ไปยังพื้นที่เขตร้อนอื่นๆ ปัจจุบันประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ยังคงเป็นแหล่งผลิตพริกไทยที่สำคัญ แต่ที่เซอไพรส์คือ เวียดนามเพื่อนบ้านของเราที่มาแรงแซงโค้ง กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกพริกไทยรายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว

คนไทยนั้นคงกินคงปลูกพริกไทยกันมานานแล้ว ชื่อก็บ่งบอกว่าเป็นพริกประจำถิ่นของเรามาแต่ไหนแต่ไร ในขณะที่พริกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน (ซึ่งน่าจะเรียกพริกเทศ) เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อราวๆ 400 ปีมานี้เอง ก่อนหน้านั้นเครื่องเทศที่ให้ความเผ็ดสำหรับคนไทยมีแค่พริกไทยและดีปลี ซึ่งเดิมเรียกว่า หมากพริก เหมือนกัน บางที่ก็เรียกพริกไทยว่า พริกป้อม เรียกดีปลีว่า พริก แม้แต่ในยุโรปโบราณก็เคยมีการปลอมปนดีปลีเป็นพริกไทย แสดงว่าดีปลีกับพริกไทยนั้นคล้ายกันมากจนฝรั่งยังเอาไปหลอกขายกันเอง

พริกไทย เสริมพลังพวกพ้องสมุนไพร

พริกไทยจัดเป็นเครื่องเทศรสเผ็ดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน มีตำรับอาหารมากมายที่ขาดพริกไทยไม่ได้ เช่นแกงเลียง คั่วกลิ้ง ในการใช้เป็นยานั้น พริกไทยเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยามากที่สุดชนิดหนึ่ง ในตำรับยาเลือด ตำรับยาแก้จุกเสียด ตำรับยาแก้กษัย ตำรายาแก้ทางเสมหะ หอบหืด ตำรับยาแก้ซาง ตำรับยาแก้ริดสีดวง จะต้องมีพริกไทยเป็นตัวยาอยู่เสมอ

น่าสังเกตว่า พริกไทยเป็นสมุนไพรที่ไม่ใช้เป็นตัวยาตัวเดียวโดดๆ หรือแม้แต่ในการทำกับข้าว พริกไทยก็ยังต้องเข้าคู่กับเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ปลาทอดขมิ้น ก็ต้องใส่พริกไทยด้วย หรือยามหากำลังปลาช่อน ซึ่งเป็นยาบำรุงท่านชายในอดีต ก็เอาพริกไทยยัดท้องปลาช่อน เอาไปตากๆ ย่างๆ จนกรอบแล้วบดไว้ละลายน้ำผึ้งกิน เช่นเดียวกับตำรับยาบำรุงเหงือกปลาหมอ หรือยาบำรุงบัวบก จะต้องมีพริกไทยอยู่หนึ่งส่วนต่อสมุนไพรเหล่านี้สองส่วน ดูเหมือนกับว่าพริกไทยเป็นสมุนไพรที่ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนๆ สมุนไพรตัวอื่น จึงจะเกิดผลดีสูงสุด หมอยาพื้นบ้านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ว่า พริกไทยเป็นยาเสริมพลังยาตัวอื่นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ตำรับยาขับปัสสาสวะต้องใส่พริกไทยลงไปด้วยเจ็ดเม็ด

จากการศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า พริกไทยช่วยทำให้ระบบการดูดซึมสารอาหารรวมทั้งตัวยาต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น เช่น เมื่อให้ขมิ้นชันร่วมกับพริกไทย จะทำให้สารเคอร์คิวมินและสารเบต้าแคโรทีนในขมิ้นถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันพริกไทยจะออกฤทธิ์ต่อทางเดินอาหารได้ดี ก็ต้องมีพริกหรือขมิ้นอยู่เป็นเพื่อนด้วย

พริกไทย ช่วยย่อย คอยแก้ไขไฟธาตุพร่อง

พริกไทยเป็นสมุนไพรรสร้อน แก้โรคที่เกิดจากธาตุไฟพร่อง เช่น ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้โรคที่เกิดจากธาตุน้ำ และธาตุลมกำเริบ พริกไทยเป็นเครื่องยาที่ตามสูตรในพระพุทธศาสนาอนุญาตให้พระภิกษุเก็บไว้รักษาตัวได้ พริกไทยยังอยู่ในตำรับยาของอายุรเวทที่ใช้กันมาราว 4,000 ปี คือตรีกฏก ยาตำรับนี้ประกอบด้วยพริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง เหมาะเป็นตำรับยาในการดูแลสุขภาพในฤดูฝนซึ่งน้ำมากและเสมหะกำเริบได้ง่าย ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดียมีการใช้พริกไทยในการรักษาแบบพื้นบ้านสำหรับโรคต่างๆ ตั่งแต่อัมพฤกษ์ อัมพาต คอเจ็บ ไอ คออักเสบ จนถึงปวดฟัน ซึ่งเป็นสรรพคุณที่ใช้กันในยุโรปโบราณด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันมีรายการศึกษาฤทธิ์ของพริกไทย พบว่าสารออกฤทธิ์ของพริกไทยคือ สารพิเพอรีน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารหลั่งน้ำย่อยเพื่อย่อยโปรตีน ไขมัน และแป้งโดยกลุ่มที่ย่อยโปรตีนได้จะมีมากเป็นพิเศษ สารพิเพอรีนนี้ยังเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น เซเลเนียม วิตามินบี เบต้าแคโรทีน เคอร์คูมิน รวมทั้งสารอาหารอื่นๆ และเนื่องจากเป็นสารให้ความร้อน จึงช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น เพิ่มการเผาผลาญอาหารต่างๆ ทำให้ร่างกายได้พลังงานมากขึ้นเพิ่มการผลิตสารในสมองที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข

ฤทธิ์ที่สำคัญๆ ของสารพิเพอรีนในพริกไทย ยังรวมถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชัก ต้านมะเร็ง การที่ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทำให้พริกไทยมีแนวโน้มว่าจะช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัยได้ เนื่องจากมีการทดลองในหนูที่เซลล์ประสาทส่วนกลางของการรับรู้เสื่อม ผลการทดลองปรากฏว่าหนูที่มีความจำเสื่อมนี้กลับมาเป็นปกติ และยังพบว่าสารสกัดด้วยน้ำพริกไทยมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฉะนั้นแกงเลียงซึ่งเป็นเมนูที่หนักพริกไทยจึงน่าจะเป็นอาหารต้านมะเร็งสำหรับผู้ที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าการรับประทานสารพิเพอรรีนในขนาดสูงร่วมกับอาหารที่มีไนไตรท์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง สารไนไตรท์จะพบมากในอาหารที่ใช้สารกันบูด พวกโซเดียมไนไตรท์และโปแตสเซียมไนไตรท์ และสารพวกดินปะสิวที่ทำให้เนื้อมีสีแดง เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง หรือแม้แต่ผักที่เร่งปุ๋ยไนโตรเจนมากๆ จึงควรระมัดระวังในการรับประทาน ถ้าสามารถเลือกบริโภคผักที่ไม่ใช้สารเคมีและทำอาหารกินเองได้ ก็ช่วยให้ได้ประโยชน์จากการกินพริกไทยได้มากทีเดียว

น่ารู้

พริกไทย มีสองชนิด คือ พริกไทยดำ และพริกไทยล่อน พริกไทยดำทำได้โดยเก็บผลที่โตเต็มที่ มีสีเขียวแก่ มาตากจนแห้ง จนได้พริกไทยสีดำเหี่ยว ส่วนพริกไทยล่อนคือการเก็บผลพริกไทยที่เริ่มสุกมาแช่น้ำ แล้วนำมานวดเพื่อลอกเปลือกออก แล้วตากแดด จะได้ผลพริกไทยมีสีขาว พริกไทยดำจะใช้เป็นยามากว่าพริกไทยล่อน เพราะมีโอสถสารมากกว่า
คนแอฟริกันตะวันออกเชื่อว่า การกินพริกไทยจะช่วยกันยุง เพราะสารเพเพอรีนในพริกไทยสามารถใช้ไล่แมลงได้ เราสามารถนำพริกไทยมาทุบให้แตก แล้วใช้โรยบริเวณตู้เสื้อผ้าหรือบริเวณที่ต้องการเพื่อป้องกันแมลง

ข้อควรระวัง

พริกไทยเป็นยาเพิ่มกำลังให้ยาตัวอื่นเช่นเดียวกับดีปลี มีคุณสมบัติทำให้การดูดซึมโอสถต่างๆ เข้าสู่ร่างกายสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อใดกินยาตำรับที่มีพริกไทยหรือดีปลีต้องระวังการได้รับยาเกินขนาด มีการพบว่าคนที่กินยาโบราณในกลุ่มยาแก้กษัยซึ่งมักจะใส่ยาร้อนลงไปด้วย หากได้รับยาต้านการแข็งของเลือดด้วยจะมีผลทำให้เลือดออกตามอวัยวะต่างๆได้

ยากำลัง (ห้ามสมณะฉัน)

เอากล้วยสุก 1 หวี เนื้อมะตูมสุก 5 ผล พริกไทยล่อน 1 ตำลึง ยาทั้ง 3 อย่างนี้ตำเข้าด้วยกันให้ละเอียดแล้วทำเป็นแผ่น ตากแดดให้แห้งดี แล้วใส่ขวดหรือใส่โหล เอาน้ำผึ้งรวงใส่ให้ท่วมยา ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ แล้วทานเอามารับประทานวันละ 1 ช้อนกาแฟ

ยาอายุวัฒนะ

บอระเพ็ดหนัก 6 บาท กระเทียมแกง 3 บาท พริกไทยล่อน 2 บาท ขิงแห้ง 1 บาท ลูกยอหนักเท่ายาทั้งหลาย ยาดำหนัก 3 บาท ตากแดดให้แห้ง ทำยาผงรับประทานอยู่หนึ่งเดือน โรคภัยหายหมด จะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส กลับเป็นหนุ่มสาว

ยามหากำลังปลาช่อน

ท่านให้เอาปลาช่อนตัวโตๆ เอาพริกไทยล่อนยัดท้องปลาให้เต็มแล้วนำไปย่างไฟพอควร ต่อจากนั้นนำไปตากแดดอีก พอแห้งดีนำไปย่างไฟอ่อนๆ แต่ให้แห้งกรอบดี ทั้งเกล็ดด้วย แล้วนำไปบดให้ละเอียดละลายน้ำผึ้งปั้นลูกกลอน ขนาดปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2เวลา ท่านชายจะมีกำลังวังชาผิดปกติ

ยาบำรุงกำลังไข่ลวก

พริกไทยป่น 1 ช้อนชาพูนๆ กับเกลือเล็กน้อย ผสมไข่ลวก 2 ฟองกับน้ำร้อน ตีให้แตก กินทุกเช้า ท่านชายจะมีกำลังวังชาผิดปกติ

ยาแก้เสมหะ และหอบ

ตรีกฏก 1 ส่วน สมอไทย 1 ส่วน เกลือสินฌาว์ 1 ส่วน ให้ตำผงละลายน้ำร้อน น้ำส้มงั่วก็ได้ ส้มซ่าก็ได้ น้ำมะกรูดก็ได้ น้ำขิงก็ดีแทรกพิมเสน น้ำหัวตะไคร้ต้มกินได้

ตำรับอาหาร

ยาเพ็ด (เผ็ด)

คนไทยใหญ่จะใช้เครื่องเผ็ดป่นวางเป็นเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องเทศใส่ในอาหารประเภทต้มกระดูกหรือเนื้อสัตว์ หรือต้มจืดผักก็ได้ อาหารประเภทเนื้อสัตว์เมื่อตักอาหารใส่ถ้วยแล้วจะเอายาเผ็ดโรยหน้า อาหารใส่ยาเผ็ดเวลาทานแล้วจะย่อยง่าย ท้องไม่อืดช่วยขับลมและทำให้เจริญอาหารเหมาะกับคนที่พึ่งหายป่วยไข้แล้วเบื่ออาหาร เวลารู้สึกลมติดรู้สึกไม่สยายให้เอายาเผ็ดผสมน้ำร้อนดื่มจะทำให้เหงื่อออกอาการจะดีขึ้น

ส่วนประกอบ

พริกไทย ขิง มะแขว่น กานพลู ดีปลี อบเชย โป๊ยกั๊ก ลูกซัด ใบอบเชย ว่านหอม หรือเครื่องเทศอื่นเพิ่มมาก็ได้แล้วแต่บ้านใครสูตรใคร

วิธีทำ

ทั้งหมดทำให้แห้ง ตำผงให้ละเอียด ใส่ขวดไว้ ใช้เป็นเครื่องเทศ

ปลาทอดขมิ้น

ส่วนประกอบ

ปลาขนาดกลาง 1 ตัว ขมิ้นประมาณนิ้วก้อย 1 ชิ้น กระเทียม 1-2 หัว เกลือ ½ ช้อนชา พริกไทย 1 หยิบมือ

วิธีทำ

นำพริกไทย ขมิ้นชัน กระเทียม เกลือมาตำให้เข้ากัน ทาที่ตัวปลา นำปลาไปทอดในน้ำมันจนสุก ก็สามารถนำมารับประทานได้ หากต้องการรับประทานชิ้นสมุนไพรด้วยอาจนำขมิ้นมาซอยเป็นชิ้นบางๆ และนำกระเทียมมาตำให้ละเอียด นำมาทอดต่างหากเพื่อโรยหน้าก็ได้


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

กระทียม ยากำลังคู่แข่งถั่งเชา

กระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีเรื่องราวอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรม กระเทียมเป็นทั้งเครื่องเทศ ยา และเครื่องราง มีความเชื่อกระเทียมมีพลังป้องกันภูตผีปีศาจ โรคร้าย หรือโชคร้ายต่างๆ ดังนั้นชาวเรือจะพกกระเทียมไปด้วยเวลาออกเรือ เพื่อป้องกันเรือล่ม ชาวบ้านใช้กระเทียมกำจัดภูตผีในการขึ้นบ้านใหม่ ใช้สะเดาะเคราะห์ ทหารโรมันจะเคี้ยวกระเทียมเวลาออกศึก เพราะเป็นสมุนไพรประจำตัวของเทพมาร์ส (Mars)เทพเจ้าแห่งสงคราม นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า กระเทียมเป็นยากระตุ้นกำหนัด กระเทียมโทนดองน้ำผึ้งจึงเป็นของคู่บ้านคนไทยในอดีต

ในทางยา กระเทียมเป็นสมุนไพรรสร้อน บำรุงไฟธาตุ บำรุงกำลัง จึงช่วยในโรคเกี่ยวกับการกำเริบของลม เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ปวดเมื่อย มือเท้าตาย เคลื่อนไหวไม่สะดวก ลดการกำเริบของน้ำหรือเสมหะ เช่น หอบหืด ไอมีเสมหะ อาการบวม เป็นต้น

กระเทียม กำจัดเชื้อโรคที่เป็นพิษ

คนไทยนั้นกินกระเทียมกันทุกวัน เพราะใช้เป็นเครื่องเทศและส่วนประกอบในอาหารสารพัด ถือเป็นของคู่ครัวที่ขาดไม่ได้ คนไทยยังนำกระเทียมมาใส่ในเนื้อสดๆ เพื่อถนอม เช่น ในการทำแหนม เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ไม่เป็นอันตรายต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารที่เรียกว่า โปรไบโอติกส์ (Probiotics)ความรู้ใหม่ๆ ยังพบว่ากระเทียมเป็นพนักงานทำความสะอาดเส้นเลือดชั้นเยี่ยม ป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจุบันมีการใช้กระเทียมเป็นยาสมุนไพรไปทั่วโลก สรรพคุณเด่นๆ ของกระเทียมที่ใช้กันคือ ลดโคเลสเตอรอล ลดการแข็งตัวของเลือด ลดความดัน ลดการปวดเกร็ง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส ต้านมะเร็ง เป็นต้น

กระเทียม ยอดเยี่ยมเรื่องท้อง

ในการแพทย์แผนไทย กระเทียมมีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องอืดเฟื้อ ทำลายสารพิษ เหมาะเป็นเครื่องเทศ มีงานวิจัยพบว่ากระเทียมช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ผู้ป่วยที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดน้อยลงหรือระบบย่อยอาหารไม่ดี ควรกินกระเทียมเป็นประจำ จะทำให้อาการดีขึ้น และมีแนวโน้มว่า กระเทียมจะมีคุณสมบัติต้านมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ตำรับยา

ยาจุกเสียดแน่นท้อง – กระเทียม 5-7 กลีบ บดละเอียด เติมน้ำส้มสายชูแท้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลลิลิตร) เกลือและน้ำตาลนิดน่อย ผสมให้เข้ากัน เอาแต่น้ำดื่ม

ยาลมในท้อง ท้องอืดบวม – นำใบคนทีสอมายำใสกระเทียมกิน ให้ใส่กระเทียมเยอะๆ

กระเทียมดองสูตรโบราณดั้งเดิม

ส่วนประกอบ – กระเทียม 1 กิโลกรัม เกลือทะเล 3 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง

วิธีทำ

1.ปอกกระเทียม ล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

2.ใส่กระเทียมในโหลสะอาด เหลือที่ว่างจากโหลประมาณ 1 นิ้วครึ่ง

3.เติมเกลือ 3 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำผึ้งจนท่วมกระเทียม แต่อย่าให้เต็มโหล

4.ปิดฝาให้สนิท ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ถ้าไม่สนิทอาจเป็นราได้

5.ทิ้งไว้ 1 เดือน จึงนำมารับประทาน

กระเทียมดอง สูตรโอท๊อป

ส่วนประกอบ – กระเทียม 1 กิโลกรัม น้ำตาลทราย 2 ถ้วย เกลือป่น 3 ช้อนโต๊ะ น้ำส้มสายชู 1 ½ ถ้วย น้ำผึ้ง 1 ถ้วยตวง น้ำ 2 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1.ปอกกระเทียม ถ้าเป็นกระเทียมแห้งแช่ น้ำทิ้งทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง

2.ต้มน้ำให้เดือด เติมน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือป่น และน้ำผึ้งลงไป
คนให้ละลาย ทิ้งไว้ให้เย็น

3.นำกระเทียมที่ปอกใส่โหลที่สะอาด ให้เหลือที่ว่างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง

4.เติมน้ำดองลงไปในโหลขวด กะให้พอดีแต่อย่าให้เต็มโหล กระเทียมจะลอยขึ้นมา

5.ปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้ราขึ้น

6.ทิ้งไว้ 1 เดือน จะหวานพอดี แต่ 3 อาทิตย์ก็รับประทานได้ แต่จะมีรสเผ็ดเล็กน้อย

กระเทียมโทนดอง (สูตรไทยใหญ่)

ส่วนประกอบ – กระเทียมโทน เกลือ พริกขี้หนูสด น้ำอ้อยก้อน หรือน้ำผึ้ง

วิธีทำ

นำกระเทียมโทนมาล้างทำความสะอาด เลือกหัวที่เน่าออก ไม่ต้อง
แกะเปลือกออก คลุกกับเกลือในอัตราส่วน กระเทียมโทน 1.6 กิโลกรัมต่อเกลือ 80 กรัม เมื่อเข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วเอาออกมาล้างกับน้ำเปลือกจะหลุดออกมา ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำมาปรุงรสด้วยเกลือ พริกขี้หนูแดงสด น้ำอ้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน เก็บใส่ขวดโหล

วิธีกินกระเทียมเพื่อบำรุงร่างกาย

วิธีที่ 1 นำกระเทียม 3 กลีบ ปอกเปลือก ทุบพอแตก กินกับน้ำอุ่นหลังอาหารเช้า

วิธีที่ 2 กินกระเทียมสดพร้อมกับอาหาร ทั้ง 3 มื้อ

น่ารู้

-การใช้ประโยชน์ทางยาจากกระเทียมนั้น ต้องบดกระเทียมให้ละเอียด เพื่อให้สาร alliin ในกระเทียมเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ allicin อย่างเต็มที่

-กระเทียมบดแล้วต้องกินทันทีไม่ทิ้งไว้นาน เพื่อโอสถสารจะได้ไม่สลายตัว

-บางท่านอาจจะแพ้กระเทียม มีทั้งอาการแพ้ทางผิวหนัง หอบหืด ผู้แพ้ละอองเกสรดอกไม้มีโอกาสแพ้กระเทียมมากกว่าคนปกติ

-หากกินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ ให้ระวังการรับประทานกระเทียม เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ยาดังกล่าว

-ท่านที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำ หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์ทราบ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดไม่แข็งตัวหลังการผ่าตัด

-ผู้ที่มีธาตุร้อนเป็นเจ้าเรือน คือ มีอาการหน้าแดง คอแห้ง ท้องผูก ร้อนในกระหายน้ำ กระเพาะอาหารเป็นแผลหรืออักเสบเรื้อรัง มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ไม่ควรกินหรือกินได้เล็กน้อย

-ดับกลิ่นกระเทียมดิบในปาก ให้เคี้ยวใบชา หรือใช้น้ำชาแก่ๆ บ้วนปาก หรือคี้ยวพุทราจีน 2-3 เม็ด หรือยี่หร่า 3-4 เม็ด หรือถั่วเขียว 4-5 เม็ด

-กระเทียมดองทำให้กินกระเทียมได้ง่ายขึ้น แม้ไม่มีสารออกฤทธิ์ allicin แต่มีสาร S-allycysteine ที่ออกฤทธิ์ได้เช่นกัน

-กระเทียมควรรับประทานพร้อมโปรตีน เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร และไม่ควรรับประทานกระทียมตอนท้องว่าง


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

ขนุนอ่อน ขึ้นปีใหม่ล้างลำไส้กันดีกว่า

การล้างพิษล้างลำไส้กลายเป็นกระแสที่ฮิตกันมาอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะเมือกที่เครือบผนังลำไส้ของคนเราอาจสะสมสิ่งตกค้างหมักหมมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพ จึงต้องหาเทคนิควิธีการต่างๆ ไปกวาดเอาสิ่งตกค้างออกมา แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ไปกระทบต่อสมดุลของผนังลำไส้

เรื่องแบบนี้คนล้านนาเขามีวิธีให้ลูกหลานล้างลำไส้อย่างแยบยล โดยในวันปากปี๋ หรือวันที่สามของประเพณีปีใหม่ (วันสงกรานต์) คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนส่งชีวิตให้เจริญก้าวหน้า นับเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารและสุขภาพที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากขนุนอ่อนอุดมไปด้วยเส้นใยที่ดูดซับสารพิษ และเป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ในลำไส้ของเรา ทั้งมีคุณสมบัติหล่อลื่น ไม่กระตุ้น ไม่ระคายเคือง ช่วยให้การขับถ่ายเป็นธรรมชาติ ขนุนอ่อนจึงเป็นพนักงานทำความสะอาดลำไส้อย่างดี รสฝาดอ่อนๆ ยังช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วย ขนุนอ่อนไม่ร้อนเหมือนขนุนสุก คนหนุ่มสาว ซึ่งอยู่ในวัยปิตตาหรือธาตุไฟกำลังแรง ก็กินได้

ขนุนสุก ยาระบายสำหรับผู้สูงอายุ

ขนุนสุกมีความหอมหวานและให้เมือก ซึ่งช่วยการหล่อลื่นของลำไส้ รับประทานมากๆ จะช่วยระบาย คนสูงอายุมักจะมีปัญหาท้องผูกที่เกิดจากความเย็นและแห้งของร่างกาย หรือที่การแพทย์แผนไทยเรียกว่าเกิดการกำเริบของวาตะ การกินยาถ่ายชนิดกระตุ้นลำไส้เป็นประจำนั้นจะทำลายกลไกธรรมชาติและทำให้ติดยาระบาย แต่ขนุนสุกมีความร้อน ความหล่อลื่น ชุ่มชื้น ให้กากใยที่อ่อนนุ่ม ทำให้เกิดการระบายอย่างธรรมชาติ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นยาระบายสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เป็นเบาหวาน

ขนุน ยากำลังของแจ็คผู้ฆ่ายักษ์

ขนุนมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Jackfruit ยังไม่รู้ที่มาที่แน่ชัดของชื่อนี้ แต่ทำให้นึกถึงแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ เพราะมีความเชื่อว่า การรับประทานขนุนกับน้ำผึ้งเป็นยาบำรุงกำหนัดชั้นยอด คนไทยจึงไม่นิยมถวายขนุนสุกแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะจะทำให้จิตใจไม่สงบ ส่วนคนจีนเชื่อว่าขนุนสุกช่วยแก้กระหายน้ำ แก้เมาสุรา เป็นยาบำรุงกำลังและช่วยย่อย

ขนุนสุกเป็นผลไม้ให้พลังงานอย่างทันอกทันใจ เพราะมีทั้งซูโครสและฟรุกโตส และอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ วิตามินเอและสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่มากในขนุน ทำให้เยื่อบุต่างๆ ในร่างกายและผิวหนังแข็งแรง ป้องกันปอด ช่องปาก และผิวหนังให้ห่างไกลจากมะเร็ง มีวิตามินซีสูงช่วยต้านการติดเชื้อและอันตรายจากรังสี ขนุนยังมีวิตามินบีช่วยบำรุงประสาทซึ่งไม่ค่อยพบในผลไม้ชนิดอื่น

ส่วนอื่นๆ ของขนุนล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เม็ดขนุนเป็นอาหารที่มีประโยชน์ให้พลังงานมาก มีโปรตีนสูง พร้อมทั้งเกลือแร่และวิตามิน คนจีนเชื่อว่าเม็ดขนุนมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม แก่นขนุน ใช้ต้มกินเพื่อคลายเครียด เป็นยาบำรุงเลือดลม บำรุงสุขภาพ มีรสหวานปนขมเล็กน้อย นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวก็แก้ฝ้าได้ดี ใบขนุน กินเป็นผักได้ บำรุงน้ำนม และช่วยคุมเบาหวาน

น่ารู้
•ปอกขนุนแล้วยางติดมีด เพียงเอาน้ำมันพืชทาแล้วล้างด้วยผงซักฟอก ยางเหนียวๆ ก็จะหลุดออก
•ขนุนเป็นไม้มงคลประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) โบราณเชื่อว่าปลูกขนุนไว้ในบริเวณบ้านจะหนุนเนื่องให้มีบุญบารมี มีเงินทอง มีคนเกื้อหนุนจุนเจือ
•ถิ่นกำเนิดของขนุนสันนิษฐานว่าอยู่ที่อินเดีย มีการกินขนุนเป็นผลไม้มาตั้งแต่ 3,000-6,000 ปีก่อน คนอาเซียนมีวัฒนธรรมการกินใช้ขนุนไม่ต่างกัน


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

แมงลัก ผักใบหอใของคนรักขมจีนน้ำยา

แมงลักเป็นผักใบหอม ผักครื่องเทศพวกเดียวกับกะเพราและโหระพา ผักสามอย่างนี้ตอนเด็ก ๆ แยกไม่ค่อยออกว่าต้นไหนเป็นต้นไหน ใช้จำเอาว่า ถ้ากินกับขนมจีนน้ำยา ใส่แกงเลียง ใส่แกงเห็ด ห่อหมกปลา หรืออะไรที่ใส่ปลา ก็ให้ใส่ใบแมงลัก แต่ถ้าเป็นผัดพริกสด ผัดพริกแกง หรือแกงป่าที่ไม่มีกะทิ จะต้องใส่ใบกะเพรา ส่วนแกงกะทิจะนิยมใส่ใบโหระพา รวมไปถึงเมนูคาว ๆ พวกผัดหอยลาย อบหอยแมลงภู่ ก็จะใช้โหระพาที่คุ้นจำกับสิ่งเหล่านี้ ก็เพราะเห็นแม่ทำอาหารเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ขนมจีนน้ำยาตั้งแต่กินมายังไม่มีที่ไหนสู้รสมือแม่ได้ แม่เรียกแมงลักว่า อีตู่ลาว ส่วนอีตู่ไทยก็คือกะเพรา โหระพาก็เรยกโหระพาเหมือนคนในตลาด ใบอีตู่ลาวนั้นมีรสหอมหวาน ไม่ออกขมเหมือนโหระพา แล้วก็ไม่เผ็ดจัดจ้านเหมือนกะเพรา เข้ากันได้ดีจริง ๆ กับขนมจีนน้ำยา และเหมาะที่จะใส่ในแกงเลียงอย่างยิ่ง

การใช้แมงลักและผักใบหอมที่มีน้ำมันหอมระเหยอื่น ๆ ในอาหาร ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนไทยที่นิยมใส่เครื่องเทศลงไปเสริมรสชาติ แล้วยังช่วยเติมธาตุไฟในการช่วยย่อย แต่ศิลปะอยู่ที่การเลือกชนิดของเครื่องเทศให้เข้ากับอาหารของแต่ละจาน จนรับประทานแล้วได้แต่รำพึงว่า ช่างเลือกได้เหมาะเจาะเสียจริง ๆ

ไข่กบ ขนมแสนง่าย ยาถ่ายคนยาก

สมัยก่อนโน้นยังไม่มีขนมกรุบกรอบสำเร็จเหมือนในปัจจุบัน ของหวานจะมีกินก็เฉพาะตอนวันพระ หรือมีงานบญ งานลงแขก ที่จำได้คือการลงแขกเกี่ยวข้าว จะมีขนมชนิดหนึ่งคือ ข้าวเหนียวโตนไข่กบ จะเอาข้าวเหนียวไปหุงแบบข้าวเจ้า ไม่นึ่งเหมือนปกติ จะได้ข้าวเหนียวแฉะ ๆ แล้วมีน้ำกะทิหอมหวานกับเม็ดพองใส ๆ คล้าย ๆ ไข่กบ ใส่หม้อวางไว้ข้าง ๆ วิธีกินคือ ตักข้าวเหนียวราดด้วยไข่กบและราดน้ำกะทิอีกทีหนึ่ง บางคนก็กินแต่ไข่กบราดน้ำกะทิ

ไข่กบนี้ยังได้เจอตอนไปโรงเรียน เพราะแม่ค้าน้ำแข็งใสที่โรงเรียนก็ขายไข่กบน้ำกะทิ ไข่กบน้ำเชื่อม เวลาเดินกลับจากโรงเรียนไปตามคันนาในหน้าฝน จะเห็นไข่กบของจริงลอยเป็นแพเหมือนกับที่เพิ่งกินมาจากโรงเรียนไม่มีผิด แต่ก็หลอกเด็กอย่างเราไม่ได้ เพราะแม่เคยเล่าสนุก ๆ ว่ามีญาติมาจากอีสานไปเอาไข่กบจริง ๆ มากินแล้วก็บ่นว่าทำไมคาวจัง ไม่เห็นเหมือนไข่กบที่ได้กินที่บ้านงาน พวกเราก็หัวเราะกันใหญ่ แม่บอกว่าขนมไข่กบเป็นขนมที่ทำง่ายที่สุด แค่แช่น้ำก็ได้กินแล้ว แต่ผู้ใหญ่จะเตือนว่า อย่ากินเยอะเดี๋ยวกินข้าวไม่ได้

จริง ๆ แล้วไข่กบก็คือ เมล็ดแมงลัก นั่นเอง เมล็ดแมงลักมีสีดำ เมื่อแช่น้ำจะพองตัว มีสารเมือกเป็นวุ้นใสอยู่รอบ ๆ คล้ายไข่กบ สารเมือกเหล่านี้เป็นใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะพองตัวดูดน้ำ ช่วยกระตุ้นลำไส้ให้เกิดการขับถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ช่วยหล่อลื่นทำให้อุจจาระไม่เกาะผนังลำไส้ ช่วยให้การขับถ่ายสะดวก ใยอาหารของเมล็ดแมงลักได้รับการยืนยันว่าเป็นปรีไบโอติกส์ คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อยู่ในท้องไส้ของเรา การกินเมล็ดแมงลักเพื่อช่วยแก้ท้องผูกนั้น ควรแช่น้ำร้อนให้พองตัวดีก่อน แล้วต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะเมล็ดแมงลักพองตัวได้ถึง 45 เท่า ถ้าพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้ท้องอืดและอุจจาระแข็ง และอาจทำให้ลำไส้อุดตันได้

ตำรับยา

ยาแก้ท้องผูกเมล็ดแมงลัก

เมล็ดแมงลัก 1-2 ช้อนชา ล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำ 1 แก้ว คนให้ทั่วทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตามให้เพียงพอ ช่วยระบายถ่ายคล่อง

ยาแก้ท้องอืด

แมงลักทั้ง 5 ประมาณ 1 กำมือ น้ำพอท่วมยา ต้มจนเดือดแล้วหรี่ไฟลง ต้มต่ออีก 5 นาที กินต่างน้ำชา กินต่างน้ำ

ข้อควรระวัง

ใยอาหารนั้นจะช่วยดูดซึมน้ำตาลและไขมัน จึงอาจมีผลชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด

“บักหุ่ง” มาไกล แต่คนไทยขาดไม่ได้

มะละกอหรือที่ทางอีสานเรียกว่า หมากหุ่ง ชื่อเต็มๆ คือ หมากหุ่งกินหน่วย เนื่องจาก “หุ่ง” เป็นคำลาว หมายถึงรุ่ง หรือ สว่าง หมากหุ่งจึงหมายถึงพืชที่มีผลที่ให้ความสว่าง ซึ่งมาจากการที่คนอีสานบีบเอาน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งมาใส่ถ้วย แล้วใส่ไส้ลงไปเพื่อใช้จุดไฟให้แสงสว่าง หมากหุ่งแดง หมากหุ่งขาว ก็คือละหุ่งแดง ละหุ่งขาว และพลอยเรียกพืชหน้าตาคล้ายกันที่มียางสีขาวแต่อยู่คนละวงศ์ว่า หมากหุ่ง “กินหน่วย” ซึ่งก็คือ มะละกอ นั่นเอง

หมากหุ่งไม่ใช่พืชพื้นถิ่นบ้านเรา ถิ่นกำเนิดของมะละกอนั้นอยู่แถวทะเลแคริบเบียน บริเวณประเทศปานามาและโคลัมเบียในปัจจุบัน ชาวสเปนนำมาเผยแพร่ในเอเชียอาคเนย์ในศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ พ.ศ.2143 ซึ่งก็คงตามๆ การเข้ามาของพริก ยิ่งมาเจอกับมะเขือเทศในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยฝีมือนักตำแห่งที่ราบสูงที่มีวัฒนธรรมการตำส้มสารพัด จึงสร้างสรรค์เมนูตำหมากหุ่งสะท้านโลกขึ้น

มะละกอเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย แต่ทนน้ำขังไม่ได้เลย จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มะละกอไปแพร่หลายกลายเป็นอาหารถิ่นของอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย ตำบักหุ่งควรจะจดทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เพราะเป็นเมนูที่มีเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายของตำรับและรสชาติ เช่น ส้มตำไทย ส้มตำปู ส้มตำโคราช ส้มตำปลาร้า ที่สำคัญมะละกอดิบมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบปากท้องไส้ ขอเพียงแต่คำนึงถึงลักษณะในการทำเท่านั้น

ตำบักหุ่ง ยาล้างตระกรันในท้องไส้

ท้องไส้ของเรามีเยื่อเมือกบุไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กรดและน้ำย่อยมาทำลายผนังลำไส้ เยื่อเมือกเหล่านี้นานวันจะมีของเสียตกค้างมาจับกันเป็นก้อนเหนียวเหมือนกับตระกรันในท่อน้ำ การกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ก็ช่วยกำจัดของเสียเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ช่วยทำความสะอาดอื่นๆ เช่น เอนไซม์ช่วยย่อยจากธรรมชาติ

มะละกอเป็นหนึ่งในผลไม้ไม่กี่ชนิดที่มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนที่ชื่อ ปาเปน (papain) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเปบซิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนในระบบทางเดินอาหารของคนเรา เอนไซม์ปาเปนมีอยู่มากในมะละกอดิบ และถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ดังนั้นถ้าต้องการฤทธิ์ของปาเปนจะต้องกินมะละกอดิบที่ไม่นำมาปรุงโดยผ่านความร้อน ข้อดีของปาเปนที่ต่างจากเปบซินชนิดอื่นๆ คือ สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่เป็นกรดและเป็นด่าง จึงช่วยย่อยโปรตีนไม่ให้เราท้องอืดท้องเฟ้อ และทำให้ได้ประโยชน์จากโปรตีนอย่างเต็มที่

ปาเปนในมะละกอยังช่วยกำจัดคราบของเสียที่เกาะอยู่ตามเมือกที่เคลือบลำไส้ มะละกอดิบจึงเปรียบเสมือนน้ำยาล้างตระกรันในท่อของระบบปากท้องลำไส้ นอกจากนี้ มะละกอดิบยังมีคุณสมบัติช่วยกำจัดเนื้อที่ตายแล้ว และช่วยรักษาแผล จึงเหมาะกับคนที่มีแผลในกระเพาะและลำไส้เล็ก ตำบักหุ่งจึงเป็นเมนูสุขภาพที่ทำให้คนไทยได้กินมะละกอดิบอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และได้เอนไซม์ปาเปนเป็นผลพลอยได้มานมนาน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เพิ่งมาเริ่มหัดกินมะละกอดิบเป็นผักสลัดกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง

อาหารช่วยระบาย และป้องกันท้องผูกในเด็กอ่อน

ในมะละกอสุกจะมีสารเพคตินอยู่มาก เมื่อเรากินมะละกอสุก สารเพคตินนี้จะดูดน้ำในลำไส้แล้วพองขยายตัวจากเดิมหลายเท่า ทำให้กากอาหารมีมากขึ้นแล้วไปดันผนังลำไส้ กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวถ่ายออกมา อาการท้องผูกก็จะทุเลาลง การกินมะละกอเพื่อช่วยระบายจึงเป็นความรู้สามัญในการดูแลตัวเองของคนทั่วโลก

จริงๆ แล้ว ทั้งมะละกอดิบและสุกต่างก็มีสารเพคติน แต่มะละกอสุกกินง่ายกว่า โดยเฉพาะเด็กอ่อน หลังจากอายุครบที่จะกินกล้วยได้ก็ควรจะให้กินมะละกอด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อน เด็กๆ จำนวนมากมักมีอาการท้องผูกตั้งแต่ยังเล็ก บางคนต้องสวนกันเป็นประจำ สาเหตุใหญ่มาจากนิสัยการกินที่ไม่ถูกต้อง ไม่ค่อยกินผักผลไม้ กินน้ำน้อย ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการฝึกให้เด็กกินผักผลไม้ตั้งแต่เล็กๆ ก็จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้

นอกจากแก้ท้องผูกได้แล้ว มะละกอยังเป็นยาแก้ท้องเสียที่ใช้กันมาก โดยเฉพาะในเด็กหรือทารก เพราะมีความปลอดภัยสูง จากรายงานการทดลองพบว่า สารเพคตินจะเป็นเมือกเหนียวลื่นๆ ที่ไปเคลือบผนังของกระเพาะและลำไส้ ช่วยลดการระคายเคืองและการอักเสบ สารเพคตินนี้ยังช่วยทำให้อุจจาระแข็งขึ้น ถ่ายเป็นก้อน ไม่เหลวเป็นน้ำ มะละกอยังมีสารที่ทำให้เชื้อแบคทีเรีย ต้นเหตุของท้องเสีย หยุดเจริญเติบโตด้วย

มะละกอ ผลไม้ชะลอความแก่

มะละกอเป็นผลไม้ที่ออกตลอดทั้งปี และร่ำรวยโอสถสารมากที่สุดชนิดหนึ่ง ที่สำคัญๆ คือสามทหารเสือ ได้แก่ วิตามินเอหรือเบต้าแคโรธีน วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นสารช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคสารพัด และเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ อันเป็นกลไกที่นำความแก่ชรามาให้คนเรา ดังนั้นมะละกอจึงเป็นผลไม้ชะลอความแก่อีกชนิดหนึ่ง เพราะทั้งผลดิบ ผลสุก และยอดอ่อน ล้วนแต่มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มากทั้งสิ้น

ปาเปนในมะละกอยังย่อยโปรตีนให้กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดหนึ่งชื่อ อาร์จินีน (arginine) ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน ควบคุมการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้หญิง และทำให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ จึงไปสอดคล้องกับความเชื่อของคนอินเดีย จีน และคนอีกหลายประเทศ ที่ว่า การกินมะละกอจะช่วยบำรุงสมรรถภาพของผู้ชาย ให้หน้าที่ของสามีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ประโยชน์ทางยาอื่นๆ ของมะละกอ

นอกจากจะเป็นผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ส่วนต่างๆ ของมะละกอยังใช้ประโยชน์เป็นยาได้มากมาย

ใบ – หมอยาไทยนิยมนำมาเข้ายาประคบร่วมกับใบละหุ่ง แก้อักเสบช้ำบวม พอกแผลเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยการตำพอกได้ทั้งแผลสดและแผลมีหนอง ผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ต้มกินเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในมะละกอมีฤทธิ์แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ราก – พ่อวิน ตุ้มทอง หมอยาใหญ่แห่งเมืองเลย ใช้เป็นยาขับนิ่ว ซึ่งการวิจัยสมัยใหม่ก็พบว่ารากของมะละกอมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ นอกจากนี้ รากยังใช้ต้มกินเพื่อขับประจำเดือน ขับพยาธิได้อีกด้วย

ยาง – ใช้แก้พิษตะขาบกัด แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยย่อยเนื้อ

น้ำคั้นจากผลดิบใช้ลดความดันโลหิต น้ำต้มผลดิบมีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนม

ส่วนผลมะละกอสุกสามารถใช้พอกหน้าเพื่อบำรุงผิวหน้าให้สดใส เพราะมีเอนไซม์ปาเปนซึ่งช่วยผลัดเซลล์ทำให้ผิวหน้าสดใส และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทั้งยังมีวิตามินซี วิตามินเอ กรดอะมิโนที่ช่วยชะลอความแก่

ข้อควรระวัง

-การกินมะละกอสุกไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ถ้ากินมากไปจะทำให้ตัวเหลืองได้

-ยางมะละกอมีความเป็นพิษ หากสัมผัสโดยตรงจะทำให้ระคายเคือง การรับประทานมะละกอดิบมากไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

-ยางมะละกอมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้หญิท้องโดยเฉพาะสามเดือนแรกไใควรรับประทานมะละกอดิบมากเกินไป

-มะละกอมีเพคตินสูง หากรับประทานมากไปจะทำให้อึดอัดท้องได้


 

ที่มา หนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

วิจัยขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะครั้งแรกของโลก

จากการค้นคว้าเรื่องขมิ้นชันมานาน อยากสรุปว่า ยังไม่เห็นชาติไหนเก่ากว่าคนไทยในการใช้ขมิ้นชัน แม้จะมีหลักฐานว่า ขมิ้นชันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย แต่ว่าพืชพรรณชนิดเดียวกัน แต่ละชาติพันธุ์ก็อาจมีประสบการณ์การใช้เฉพาะถิ่นที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งไหน ดังจะเห็นว่ารายงานการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะอาหารและขับลมครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองไทย

การศึกษาวิจัยขมิ้นชันในประเทศไทยเริ่มจากการเก็บข้อมูลสมุนไพรพื้นบ้านของ เภสัชกรสุพจน์ อัศวพันธนกุล ในปี 2525 ที่พบว่าคนไทยในภาคเหือใช้ขมิ้นชันเป็นยารักษาโรคกระเพาะ เนื่องจากขมิ้นชันใช้เป็นอาหารและปลอดภัย เภสัชกรสุพจน์จึงนำมาทำเป็นยาลูกกลอนใช้ในหมู่มิตรที่มีปัญหาโรคกระเพาะ พบว่าใช้ได้ผลดี จึงนำมาเผยแพร่ในวารสารสมุนไพรของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

ในระหว่างปี 2528-2531 ภายใต้นโยบายสาธารณสุขมูลฐานของรับาลไทย มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรในโรงพยาบาลอำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน มีนายแพทย์วิษณุ ธรรมลิขิตกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ทำให้ขมิ้นชันถูกคัดเลือกมามาศึกษาวิจัยทางคลินิกในการเป็นยารักาาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ก็พบว่าได้ผลดี โดยในเวลาไล่เลี่ยกันคือ ปี 2529 ฉวีวรรณ พฤกษ์สุนันท์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการศึกษาวิจัยขมิ้นชันทางคลินิกใช้รักษาโรคกระเพาะพบว่าได้ผลดีเช่นกัน จึงเป็นการยืนยันสรรพคุณของขมิ้นชันที่ชาวบ้านใช้รักษาโรคกระเพาะ

ขมิ้นชัน คนไทยใช้ตั้งแต่ปากถึงทวาร

การใช้ขมิ้นชันรักษาโรคเป็นความรู้พื้นๆ ที่คนไทยทั่วไปรู้กัน ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอยา ทำให้ไม่มีการบันทึกไว้ในตำราทางการแพทย์แผนไทย ทั้งที่ความจริงแล้วคนไทยใช้รักษาโรคตั้งแต่ปากถึงทวาร

โรคปากเป็นแผล จะเอาขมิ้นชันมาฝาน ต้มอมบ้วนปาก รักษาแผลในปาก เหงือกเป็นแผล

ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จะเอาหัวขมิ้นชันกับเกลือมาคั่วให้สุก จากนั้นเอาน้ำอุ่นมาผสมแล้วดื่มกิน หรือต้ม นึ่ง ตากแห้งตำผงไว้ใส่ในอาหารกินเป็นประจำ หรือเอาหัวขมิ้น หัวไพล ตำกับเกลือกินก็ได้

โรคกระเพาะ เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด จะใช้ขมิ้นตำคั้นน้ำกินหรือใช้ขมิ้นสดหรือแห้งผสมกับเกลือ หรือทำเป็นยาตำรับผสมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ไพล ชะเอมเทศ เทียนทั้งห้า โดยกินอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน

โรคลำไส้อักเสบ หรือ IBD ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักโรคนี้ แต่ถ้าหากมีอาการท้องอืดท้องบวม ปวดเกร็งท้องบริเวณท้องน้อย แน่นท้อง ท้องอืด หน้าท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง อาจเรอหรือผายลมมากขึ้น อุจจาระไม่ปกติ เบื่ออาหาร ชาวบ้านจะนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งชงกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3-4 ครั้ง กินติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรือเอาขมิ้นคั่วกับเหลือ กินเช่นเดียวกับการรักษาอาการท้องอืด

โรคริดสีดวงทวาร มีแผลที่ไหนขมิ้นต้องไปที่นั่น แม้แต่แผลที่ทวารหนักจะใช้ผงขมิ้นตัวเดียวหรือผสมกับผงรากกะเม็งหรือผงของผลบวบแห้งอย่างละเท่าๆ กัน ทาหัวริดสีดวงที่มีเลือดออก ส่วนยากินจะใช้มะขามป้อมและขมิ้นชันอย่างละเท่าๆ กัน ผสมกับน้ำผึ้งกิน

ขมิ้น ทองคำแห่งสุขภาพของคนไทย

ขมิ้นชันน่าจะเป็นสมุนไพรประจำคนตระกูลไทยโดยแท้ เพราะไม่ว่าจะเป็นไทยน้อยอย่างเรา หรือว่าไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว ไทยแดง ไทยดำ ไทยในรัฐอัสสัมของอินเดีย ก็เรียกขมิ้นหรือเข้ามิ่นเหมือนกัน

มาร์โคโปโล นักเดินทางค้าขายชาวอิตาลีไปเจอขมิ้นชันครั้งแรกในจีนเมื่อเจ็ดร้อยกว่าปีก่อน คนจีนไม่นิยมกินขมิ้นเป็นเครื่องเทศหรือเป็นอาหาร แต่ในจีนตอนใต้มีการกินขมิ้นเป็นผัก และใช้เป็นสีผสมอาหารเหมือนหญ้าฝรั่น หรือว่าแถวนั้นจะเป็นถิ่นของคนตระกูลไทยลื้อ แถบสิบสองปันนา เพราะมีแต่คนตระกูลไทยเท่านั้นที่ใช้ขมิ้นในวิถีชีวิตอย่างหลากหลาย ใช้เป็นเครื่องเทศ ยา เครื่องสำอาง สีแต่างอาหาร และย้อมเสื้อผ้า

คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า กินขมิ้นชันแล้วจะไม่แก่ กินแล้วผิวสวย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยปรับธาตุ ช่วยย่อย บำรุงตับ บำรุงดี บำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนดี ทำให้เลือดสะอาดบริบูรณ์ ขับเลือดเสีย ช่วยบำรุงเอ็นให้เส้นเอ็นโล่ง แก้อาการเส้นเอ็นตายเพราะลมเดินไม่สะดวก ดังนั้นจึงเปรียบขมิ้นดั่งทองคำ การกินข้าวหุงขมิ้นจึงเรียกว่ากินข้าวคำ

งานวิจัยสมัยใหม่พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอักเสบ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ รักษาเข่าเสื่อม ลดการทำลายของเซลล์ต่างๆ จากโรคเบาหวาน จึงสมกับที่เป็นทองคำแห่งสุขภาพจริงๆ

ขมิ้นชันป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาอายุวัฒนะ ในยาหมู่ ยาตำรับ ยาปรับธาตุ รวมทั้งใส่ในอาหารเพื่อทำให้อายุยืน โดยที่ไม่มีคำอธิบายมากนัก แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการศึกษาฤทธิ์ของขมิ้นชันในการใช้ป้องกันและรักษามะเร็งพบว่า ขมิ้นชันมีสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็ง ป้องกันการดูดซึมสารนี้ และป้องกันไม่ให้สารก่อมะเร็งทำปฏิกิริยากับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (ซึ่งจะป้องกันมิให้เกิดการกลายพันธุ์และการทำลายดีเอ็นเอ) นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย และยังยั้งไม่ให้เซลล์ที่ได้รับสารก่อมะเร็งกลายเป็นเวลล์มะเร็ง มีการศึกษาการใช้ขมิ้นในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่ามีแนวโน้มที่ดี

ขมิ้นชันเป็นอาหารและเครื่องเทศอยู่แล้ว หากจะกินเป็นประจำก็ไม่มีปัญหา เพราะแม้แต่สภาพพฤกษศาสตร์ของอเมริกา (The American Botanical Council) ยังแนะนำว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่กินขมิ้นชันขนาดพอประมาณ (เช่น 1-2 กรัม) ทุกวัน ยกเว้นผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด หญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี


จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

ขิง เพื่อคู่ใจบำรุงไฟธาตุ

ไฟธาตุในการย่อยอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เรามักไม่เห็นคุณค่าของมันจนกระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นแหละ ถึงตอนนั้นบางทีธาตุก็แปรปรวนจนเยียวยาได้ลำบาก ขิงเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนบำรุงไฟธาตุที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งกลิ่นดีรสดี ไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีความพอเหมาะพอควร ไม่ทิ้งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไว้เป็นหลักฐาน เข้ากับอาหารได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งขิงแห้ง ขิงสด ขิงอ่อน ใช้ทำอาหารหวาน อาหารคาว เครื่องดื่ม ชา ได้สารพัด ด้วยเหตุนี้ขิงซึ่งมีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดียเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน จึงกลายเป็นสมุนไพรเครื่องเทศนานาชนิดที่คนขาดไม่ได้เสียแล้ว

มนุษย์เราแต่ละคนมีธาตุลักษณะที่แตกต่างกันไป คนปิตตะที่มีธาตุไฟเด่นกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน การย่อยอาหาร กรเผาผลาญดีมาก ดังนั้นขิงอาจจะไม่จำเป็นและร้อนเกินไปสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับคนธาตุเสมหะ คือ มีธาตุน้ำเด่น เป็นคนเจ้าเนื้อ อ้วนง่าย การย่อยไม่ค่อยดี หรือคนวาตะที่มีธาตุลมเด่นซึ่งเรามักจะพบในคนสูงอายุตัวผอมแห้ง การย่อยอาหารไม่ดี ทนร้อน ทนหนาวไม่ค่อยได้ คนสองประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ขิงเป็นเครื่องเทศคู่ท้องอย่างมาก โดยเฉพาะคนธาตุเสมหะซึ่งมีน้ำอยู่ในตัวเยอะ ขิงจะช่วยขับน้ำ แก้จุดอ่อนของคนธาตุนี้ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ขิงยังเป็นยาช่วยขับลม แก้จุกเสียด อึดอัดท้องได้ดี เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ได้ และยังเพิ่มการหลั่งน้ำดี ทำให้การย่อยดีขึ้น แม้จะใช้เดี่ยวๆ ก็ช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ดี

ขิง แก้อาเจียนคลื่นไส้ปลอดภัยกว่า

คนสมัยนี้เวลามีอาการเมารถเมาเรือได้แต่พึ่งยาสมัยใหม่ กินแล้วก็ง่วงหัวซุกหัวซุน ทั้งที่มีสมุนไพรแก้เมารถเมาเรือที่ปลอดภัยใช้กันมานมนานอย่างขิง ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ขิงแตกต่างจากเครื่องเทศชนิดอื่น สมัยก่อนถ้าจะเดินทางผู้ใหญ่จะให้กินน้ำต้มขิงก่อนหรือให้อมขิงไว้ อาการเมารถเมาเรือก็น้อยลง ไม่ง่วงหลับจนอาจเป็นเหยื่อของคนที่คิดร้าย

อาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นดูเหมือนเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในทางการแพทย์แผนไทยแล้วการที่ลมแปรปรวนพัดผิดที่ผิดทางเป็นสาเหตุของความไม่สบายกายไม่สบายใจ ลองถามผู้หญิงที่แพ้ท้องดูก็จะรู้ว่ามันทรมานเพียงใด การใช้ยาแผนปัจจุบันแก้อาการดังกล่าวบางครั้งก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งในอดีตเคยมีบทเรียนจากกรณียาแก้แพ้ท้องชื่อ ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) เคยทำให้เด็กทั่วโลกพิการมาแล้ว ในกรณีผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะผู้ป่วยเพิ่งได้รับยาสลบมา ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้ง่วงงุนหรือมีผลข้างเคียงค่อสมองและหัวใจอีก แต่ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแผนปัจุบันมักมีผลข้างเคียงดังกล่าว

ขิง เพิ่มการเผาผลาญ ไล่หวัด ไล่น้ำ (หนัก)

การที่ขิงมีความร้อนจะไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย มีรายงานการศึกษาว่าขิงช่วยเมการเผาผลาญ จึงเหมาะกับคนเจ้าเนื้อ คนอ้วนง่าย ในทางการแพทย์แผนไทย ขิงมีความร้อนจึงช่วยลดการกำเริบของเสมหะและลมซึ่งพบในโรคหวัด ไอ หอบหืด ตำรับน้ำขิงแก้หวัดแก้ไอจึงเป็นที่รู้จักกันดี

งานวิจัยสมัยใหม่ของขิง

นอกจากการขับลม การป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ยังพบว่าขิงมีฤทธิ์ในการแก้ปวเแก้อักเสบ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicopter pylori (H. pylori) 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ cagA+ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร้งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันสมองเสื่อมอีกด้วย

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยในคนถึงฤทะป้องกันการอาเจียนของขิง พบว่าขิงมีสรรพคุณในการป้องกันการอาเจียนจากการเคลื่อนไหว เช่น การเมารถเมาเรือ ป้องกันและบรรเทาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ดังนั้น ขิงจึงเป็นความหวังที่จะใช้เป้นยาบรรเาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ข้อควรระวัง

-หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน เชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน

-ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี หากจะใช้ควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์

-ขิงสามารถเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ให้ระมัดระวังการกินขิงและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

-การกินขิงในปริมาณมาก อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

-ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ก็มีรายงานว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ซึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ


 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

มะม่วงเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับสังคมชนบทในสมัยก่อน เพราะปลูกง่าย ทนแล้ง ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ยิ่งมะม่วงพื้นบ้าน เช่น แก้ว พิมเสน อกร่อง ทองดำ หนังกลางวัน แรด หัวเงน แก้มแหม่ม แก้วลืมคอน หอมทุเรียน กระบอก สำปั้น ปลาซิว ขี้ซี สามฤดู มีสารพัดสายพันธุ์จนนับไม่หวาดไม่ไหว แต่ละพันธุ์มีกลิ่นรสแตกต่างกันออกไป มะม่วงยังเป็นต้นไม้อายุยืนยาว ปลูกรุ่นทวดรุ่นเหลนยังได้กิน ทนทานจริงๆ จะมีก็แต่กาฝาก ถ้าต้นแก่ๆ เปลือกหนาๆ กาฝากก็ยังเจาะไม่ลง

กาฝากมะม่วงนั้นนิยมเอาไปทำยา โดยเอาไปตากแห้งเก็บไว้ต้มกินเป็นยา แรกๆ ยังไม่มีความรู้ว่าทำไมจึงเป็นยา ต่อมาพ่อหมอยาสอนว่ากาฝากมะม่วงนี้ดีนัก มะม่วงมีสรรพคุณอะไร สรรพคุณพวกนั้นก็ถูกกาฝากดูดมาอยู่ในตัวหมด ตั้งแต่เป็นยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวดเมื่อยยาบำรุงร่างกาย ป้องกันโรคภัยได้สารพัด ถ้าเป็นตามคำของหมอยาพื้นบ้านก็หมายความว่า ถ้ากาฝากต้นไม้ชนิดหนึ่งมีสรรพคุณอะไร ก็เชื่อมโยงไปได้ว่าต้นไม้ชนิดนั้นน่าจะมีสรรพคุณเช่นเดียวกัน แต่บ้านเราไม่ค่อยใช้กิ่ง ใบ ต้น หรือรากของมะม่วงเป็นยา นิยมใช้กาฝากมากกว่าโดยเฉพาะกาฝากมะม่วงกะล่อน เดี๋ยวนี้กาฝากมะม่วงหายากขึ้น ถ้าหากาฝากไม่ได้ ก็ใช้กิ่งใบของมะม่วงแก้ขัดได้

มะม่วง ผลไม้สุขภาพดี มีรสชาติ

มะม่วงเป็นผลไม้ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของชีวิตเด็กบ้านนอก เมื่อใดที่ลมฝนพัดมาเด็กๆ จะคว้าตะกร้าวิ่งไปที่ต้นมะม่วงกะล่อนสูงใหญ่ที่บริเวณหัวไร่ปลายนา คอยเก็บลูกที่ร่วงเอามากวน เวลากวนมะม่วงกะล่อนจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน มะม่วงหลักๆ ที่ปลูกไว้ทุกบ้านคือ แก้ว พิมเสน และอกร่อง พันธุ์อื่นๆ อาจจะเบี้ยวออกปีเว้นปีบ้าง แต่สามพันธุ์นี้มาตามนัดตลอด อกร่องบางปีลูกอาจจะน้อย แต่ก็มาอยู่ดี

มะม่วงแก้วกินได้หลายแบบ ดิบก็ไม่เปรี้ยวมาก กินกับน้ำปลาหวานอร่อย และอร่อยสุดตอนสุกปากตะกร้อ ต้องกินเดี๋ยวนั้น กรอบข้างนอกหวานข้างใน คนสมัยใหม่ไม่มีทางรู้ มะม่วงแก้วจะเอามาดองเก็บไว้กินได้ทั้งปี แต่ถ้าเอามากวนจะแข็งมาก ส่วนพิมเสนกินดิบเปรี้ยวจี๊ด เอาไว้กินสุก หรือควรเก็บไว้กินแต่ไม่อยู่ตลอดปี เพราะกินหมดก่อน

ส่วนอกร่องกินดิบไม่อร่อย กวนก็ไม่อร่อย เนื้อเป็นทรายๆ ต้องกินกับข้าวเหนียวมูล ข้าวเหนียวมะม่วงอกร่องนี้นับเป็นสุดยอดของอร่อยอย่างหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ไม่ใช่ความอร่อยอย่างเดียวที่ทำให้อาหารหวานตำรับนี้น่าทึ่ง แต่กะทิที่ใส่ลงไปยังช่วยในการดูดซึมเบต้าแคโรทีนที่มีอยู่อย่างมากมายในมะม่วงด้วย ตำรับของว่างที่สุดยอดอีกอย่างของบ้านเรา คือมะม่วงน้ำปลาหวาน ถ้ารวบรวมจริงๆ คงมีหลายสิบหรือเป็นร้อยสูตรเลยทีเดียว แค่คิดถึงก็น้ำลายสอแล้ว

กินมะม่วง หายห่วงเรื่องท้องไส้

มะม่วงอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยมานานจนกลายเป็นผลไม้ธรรมดา แต่ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ต้องหันมามองมะม่วงในมุมใหม่ มีงานวิจัยที่ศึกษามะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ยืนยันตรงกันว่า มะม่วงมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (prebiotics) คือเป็นอาหารอย่างดีสำหรับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการใช้มะม่วงเป็นแหล่งให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ หรือเป็นอาหารสุขภาพให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและมะเร็งได้

พรีไบโอติกส์มีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล ไขมัน ช่วยดูดซับสารพิษ และเป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ ทำให้จุลินทรีย์ดีเหล่านี้แข็งแรง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ กำจัดสารพิษ สร้างวิตามินต่างๆ คงเป็นเพราะเหตุนี้เองเด็กบ้านนอกที่โตมากับดินกับทรายเมื่อ 40-50 ปีก่อนจึงไม่รู้จักกับโรคภูมิแพ้ ท้องไส้ไม่ค่อยผูก เพราะกินผักผลไม้มากมาย ถ้าท้องผูกจริงๆ ก็กินมะม่วงอ่อนจิ้มพริกเกลือกินดื่มน้ำตามลงไปมากๆ หรือกินมะม่วงสุกสัก 2-3 ลูก หรือไปเอามะม่วงกวนที่เก็บไว้ในปี๊บมาต้มน้ำกิน เติมน้ำมะขามให้เปรี้ยวนิดๆ ก็ช่วยได้แล้ว

คนโบราณเชื่อว่ามะม่วงสุกจะช่วยคนที่ธาตุอ่อนการย่อยไม่แข็งแรง รักษาริดสีดวงลำไส้ที่ทำให้ท้องเสียบ่อยๆ ถ่ายไม่เป็นเวลา ท้องลั่นท้องลม หากกินมะม่วงจะช่วยได้ ส่วนมะม่วงดิบนอกจากช่วยย่อยอาหารและช่วยระบายแล้ว ยังลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องได้อีกด้วย ในขณะที่การวิจัยสมัยใหม่พบว่า สารแมงจิเฟอริน (magiferin) ที่พบทุกส่วนของมะม่วงมีคุณสมบัติในการป้องกันผนังกระเพาะไม่ให้ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์และยาแก้อักเสบอินโดเมธาซิน (indomethacin) และมีรายงานว่าสารต้านมะเร็งจากมะม่วงมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านมได้

มะม่วง ผลไม้เป็นยา เห็นคุณค่าทั่วโลก

คนหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้กินมะม่วงเป็นแค่ผลไม้ แต่ยังใช้สรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ชาวอินเดียเชื่อว่าการรับประทานมะม่วงช่วยในการขับถ่าย ขับปัสสาวะ กระตุ้นกำหนัด ทำให้สดชื่น ชาวเซเนกัลก็เชื่อเหมือนกันว่ากินมะม่วงจะทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา ส่วนชาวปานามากินมะม่วงสุกเป็นยาช่วยระบายเหมือนๆ คนไทย สรรพคุณข้อนี้ได้รับการยืนยันจากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงซึ่งพบว่าอุดมไปด้วยใยอาหารที่เป็นพรีไบโอติกส์ วิตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในมะม่วง 100 กรัม จะมีวิตามินเอถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณที่คนเราควรได้รับต่อวัน วิตามินเอจะช่วยสร้างเยื่อบุและเซลล์ของผิวหนัง บำรุงปอด และผิว นอกจากนี้ยังอุดมด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 1 ซึ่งช่วยบำรุงประสาท และมีวิตามินอีอยู่ไม่น้อย ซึ่งช่วยในการปรับระดับฮอร์โมนของผู้หญิง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนสมัยก่อนเวลาเลือดลมจะมาเขาให้กินมะม่วงกวน ราวกับรู้ว่าในมะม่วงมีวิตามินอีอย่างนั้นแหละ

การศึกษาวิจัยประโยชน์ทางยาของมะม่วงส่วนใหญ่มุ่งไปที่คุณสมบัติของสารสำคัญที่พบในมะม่วงคือ สารแมงจิเฟอรินที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งพบในทุกส่วนของมะม่วง แต่มีมากในใบ เปลือกต้น เปลือกผล สารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน บำรุงหัวใจ ลดความดัน ต้านเบาหวาน ชะลอความชรา ต้านการอักเสบ แก้ปวด เป็นต้น ปัจจุบันประเทศคิวบามีการสกัดสารจากเปลือกต้นมะม่วงออกมาจำหน่ายเป็นอาหารเสริมในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต่างๆของร่างกาย

ในอินเดียและหลายประเทศในแอฟริกามีการใช้ส่วนต่างๆ ของมะม่วงเป็นยากันอย่างแพร่หลาย คนแอฟริกันจะใช้เปลือกต้นมะม่วงต้มกินเป็นยาแก้อักเสบ แก้ปวดและเบาหวาน ส่วนในอินเดียซึ่งมะม่วงเป็นผลไม้ประจำชาติเหมือนกับฟิลิปปินส์นั้น ใช้มะม่วงเป็นยาทุกส่วน เช่น ใบมะม่วงใช้เป็นยาลดน้ำตาล เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเสียง ซึ่งเป็นสรรพคุณที่คล้ายกับบ้านเรา แม้ว่าคนไทยจะนิยมใช้กาฝากมะม่วงมากกว่า แต่ก็มีบางท้องที่นำใบมะม่วงอ่อนมาอังไฟให้กรอบ ชงน้ำร้อนแบบชาวจีนเป็นยาบำรุงร่างกาย ลดความดัน ลดเบาหวาน หรือแก้เสียงแหบแห้งด้วยการนำใบมะม่วงอ่อนมาต้มน้ำกิน นอกจากนี้ยังใช้มะม่วงทั้งห้าต้มกินเพื่อลดความดัน ส่วนเปลือกมะม่วงจะนำมาต้มกินแก้ท้องเสีย บางแห่งเก็บเปลือกผลมะม่วงนำมาตากแห้งชงน้ำกินเพื่อทำให้ชุ่มคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

มะม่วง เครื่องสำอางชั้นดีราคาประหยัด

มะม่วงใช้เป็นเครื่องสำอางได้ดี มีคุณสมบัติไม่แพ้เครื่องสำอางราคาแพงๆ วิธีใช้คือ นำมะม่วงสุกพอกหน้าไว้เท่านั้นเอง หรือนำไปปั่นให้เหลวเพื่อทาหน้าก็ได้ คุณสมบัติในการบำรุงผิวนี้เกิดจากการที่มะม่วงมีวิตามินซีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง คือมีมากกว่ามะนาวถึง 3 เท่า และมีคุณสมบัติในการทำให้ผิวหน้าเรียบลื่นนุ่มชุ่มชื้น ในมะม่วงยังมีสารจำพวกน้ำตาลร่วมกับพวกกรดอะมิโนที่ช่วยคงความชุ่มชื้นไว้ที่ชั้นของผิวหนัง วิตามินเอและซีในมะม่วงยังช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว ลบรอยเหี่ยวย่นได้ดี ถ้าอยากสวยอย่างง่ายๆ ก็เพียงแต่เอามะม่วงสุกหนึ่งลูกปั่นแล้วนำมาพอกหน้า ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง สูตรนี้จะช่วยทำให้ผิวหน้าสดใส อ่อนเยาว์ได้จริงๆ ไม่ได้โฆษณาเกินจริงเหมือนโฆษณาหน้าเด้ง

ยำยอดมะม่วงอ่อน

ส่วนประกอบ

ยอดมะม่วงอ่อน ปลากระป๋อง หรือมะเขือเทศที่ผัดจนเปื่อยกับเนื้อปลาย่าง ดีปลีแห้ง พริกแห้ง ปลาแห้ง เกลือ

วิธีทำ

เก็บใบมะม่วงอ่อนมาผึ่งให้สลด พักไว้ ทำเครื่องยำโดยนำดีปลีแห้ง พริกแห้ง ปลาแห้ง ตำให้ละเอียดเข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือ พักไว้ นำใบมะม่วงที่สลดดีแล้วมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ใส่ปลากระป๋องหรือมะเขือเทศที่ผัดจนเปื่อยกับเนื้อปลาย่างลงไป ปรุงรสด้วยเครื่องยำที่เราตำไว้แล้วชิมรสตามชอบ

 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN