“ขิง” พระเอกตัวจริงของคนเจ้าเนื้อ ผู้สูงอายุ

Health สุขภาพดีๆ

ขิง เพื่อคู่ใจบำรุงไฟธาตุ

ไฟธาตุในการย่อยอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เรามักไม่เห็นคุณค่าของมันจนกระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นแหละ ถึงตอนนั้นบางทีธาตุก็แปรปรวนจนเยียวยาได้ลำบาก ขิงเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนบำรุงไฟธาตุที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งกลิ่นดีรสดี ไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีความพอเหมาะพอควร ไม่ทิ้งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไว้เป็นหลักฐาน เข้ากับอาหารได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งขิงแห้ง ขิงสด ขิงอ่อน ใช้ทำอาหารหวาน อาหารคาว เครื่องดื่ม ชา ได้สารพัด ด้วยเหตุนี้ขิงซึ่งมีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดียเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน จึงกลายเป็นสมุนไพรเครื่องเทศนานาชนิดที่คนขาดไม่ได้เสียแล้ว

มนุษย์เราแต่ละคนมีธาตุลักษณะที่แตกต่างกันไป คนปิตตะที่มีธาตุไฟเด่นกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน การย่อยอาหาร กรเผาผลาญดีมาก ดังนั้นขิงอาจจะไม่จำเป็นและร้อนเกินไปสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่สำหรับคนธาตุเสมหะ คือ มีธาตุน้ำเด่น เป็นคนเจ้าเนื้อ อ้วนง่าย การย่อยไม่ค่อยดี หรือคนวาตะที่มีธาตุลมเด่นซึ่งเรามักจะพบในคนสูงอายุตัวผอมแห้ง การย่อยอาหารไม่ดี ทนร้อน ทนหนาวไม่ค่อยได้ คนสองประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ขิงเป็นเครื่องเทศคู่ท้องอย่างมาก โดยเฉพาะคนธาตุเสมหะซึ่งมีน้ำอยู่ในตัวเยอะ ขิงจะช่วยขับน้ำ แก้จุดอ่อนของคนธาตุนี้ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ขิงยังเป็นยาช่วยขับลม แก้จุกเสียด อึดอัดท้องได้ดี เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ได้ และยังเพิ่มการหลั่งน้ำดี ทำให้การย่อยดีขึ้น แม้จะใช้เดี่ยวๆ ก็ช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ดี

ขิง แก้อาเจียนคลื่นไส้ปลอดภัยกว่า

คนสมัยนี้เวลามีอาการเมารถเมาเรือได้แต่พึ่งยาสมัยใหม่ กินแล้วก็ง่วงหัวซุกหัวซุน ทั้งที่มีสมุนไพรแก้เมารถเมาเรือที่ปลอดภัยใช้กันมานมนานอย่างขิง ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ขิงแตกต่างจากเครื่องเทศชนิดอื่น สมัยก่อนถ้าจะเดินทางผู้ใหญ่จะให้กินน้ำต้มขิงก่อนหรือให้อมขิงไว้ อาการเมารถเมาเรือก็น้อยลง ไม่ง่วงหลับจนอาจเป็นเหยื่อของคนที่คิดร้าย

อาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นดูเหมือนเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในทางการแพทย์แผนไทยแล้วการที่ลมแปรปรวนพัดผิดที่ผิดทางเป็นสาเหตุของความไม่สบายกายไม่สบายใจ ลองถามผู้หญิงที่แพ้ท้องดูก็จะรู้ว่ามันทรมานเพียงใด การใช้ยาแผนปัจจุบันแก้อาการดังกล่าวบางครั้งก็มีผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งในอดีตเคยมีบทเรียนจากกรณียาแก้แพ้ท้องชื่อ ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) เคยทำให้เด็กทั่วโลกพิการมาแล้ว ในกรณีผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะผู้ป่วยเพิ่งได้รับยาสลบมา ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้ง่วงงุนหรือมีผลข้างเคียงค่อสมองและหัวใจอีก แต่ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแผนปัจุบันมักมีผลข้างเคียงดังกล่าว

ขิง เพิ่มการเผาผลาญ ไล่หวัด ไล่น้ำ (หนัก)

การที่ขิงมีความร้อนจะไปช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย มีรายงานการศึกษาว่าขิงช่วยเมการเผาผลาญ จึงเหมาะกับคนเจ้าเนื้อ คนอ้วนง่าย ในทางการแพทย์แผนไทย ขิงมีความร้อนจึงช่วยลดการกำเริบของเสมหะและลมซึ่งพบในโรคหวัด ไอ หอบหืด ตำรับน้ำขิงแก้หวัดแก้ไอจึงเป็นที่รู้จักกันดี

งานวิจัยสมัยใหม่ของขิง

นอกจากการขับลม การป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว ยังพบว่าขิงมีฤทธิ์ในการแก้ปวเแก้อักเสบ มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Helicopter pylori (H. pylori) 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ cagA+ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร้งกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันสมองเสื่อมอีกด้วย

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยในคนถึงฤทะป้องกันการอาเจียนของขิง พบว่าขิงมีสรรพคุณในการป้องกันการอาเจียนจากการเคลื่อนไหว เช่น การเมารถเมาเรือ ป้องกันและบรรเทาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ดังนั้น ขิงจึงเป็นความหวังที่จะใช้เป้นยาบรรเาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ข้อควรระวัง

-หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน เชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน

-ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี หากจะใช้ควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์

-ขิงสามารถเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ให้ระมัดระวังการกินขิงและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

-การกินขิงในปริมาณมาก อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

-ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ก็มีรายงานว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ซึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ


 

จากหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้ในวิถี … ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร