ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้สภาพอากาศเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน บวกกับระดับน้ำโขงเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะกระทบต่อพื้นที่การเกษตรบางจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ แต่ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.หาดแห่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปรับพื้นที่หาดกลางน้ำโขงช่วงน้ำลด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพักผ่อน จัดทำซุ้มร้านค้าร้านอาหาร รองรับประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ ไปเที่ยวพักผ่อน รับประทานเมนูปลาน้ำโขง บริการอาหารเครื่องดื่ม รวมถึง บริการอุปกรณ์เล่นน้ำ เจ็ทสกี บานาน่าโบท บริการเช่าห่วงยาง เทียบชั้นทะเล กลายเป็นที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในช่วงฤดูร้อน จนได้รับฉายาว่าทะเลอีสาน ยิ่งในช่วงอากาศร้อน ยาวถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาท่องเที่ยว คึกคักเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นที่หาดทรายที่สวยงาม ใสสะอาด ระดับน้ำไม่ลึก ปลอดภัย สร้างรายได้หมุนเวียนวันละหลายแสนบาท

ส่งผลดีต่อชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ หลังในช่วงปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดไม่สามารถเปิดบริการได้ คาดว่าในปีนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ โดยชาวบ้านยังมีมาตรการดูแลเข้มงวด ในการคัดกรอง ตรวจวัดไข้ ก่อนที่จะลงเรือบริการฟรี ส่งไปยังพื้นที่หาด ซึ่งพื้นที่หาดแห่ ทุกปี ถือว่าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ยังเป็นเส้นทางเดียวกันกับ เส้นทางทำบุญกราบไหว้ขอพรองค์พระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ทำให้ มีประชาชน นักท่องเที่ยว ถือโอกาสไปเที่ยวพักผ่อน คึกคัก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียน บางรายสามารถสร้างรายได้ วันละ 20,000 – 30,000 บาท ต่อวัน

ที่มา : Sanook

“เมื่อย่างเข้าเขตหน้าหนาว ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ… สายลมเอื่อยมาในเวลาค่ำ…อืมมมม…” ว่ากันตามเสียงเพลงของคุณครูล้วน ควันธรรม ที่ ลุงแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ เอามาร้องใหม่เสียงออดอ้อนนั้นได้บรรยากาศกรุ่นไอความหนาวอย่างยิ่งในยุคโน้นน..นน… แต่มาถึงยุคนี้ พ.ศ.2562 ความหนาวที่ว่าไว้ยังไงๆ ก็ยังไม่รู้สึก มีแต่ว่าอากาศมัน “ร้อนมาก” และ “ร้อนน้อย” เท่านั้น  จะหาความหนาวเย็นถึงเย็นยะเยือกในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง อย่ากระนั้นเลยเก็บเสื้อผ้ายัดใส่เป้ แบกขึ้นรถออกเดินทางไปหาความหนาวกันที่อื่นดีกว่า ว่ากันว่าที่นี่แหละ “ผาเป้า” ในอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว “Unseen” แห่งใหม่ของจังหวัดเขาเลยทีเดียว

การค้นพบผาเป้า “กฤษดา สาครวงศ์” หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริป่าห้วยศรีคุณ อ.นาแก “วีระพงษ์ วงค์ศรียา” กำนันตำบลหนองบ่อ  และ “ถนัด วงค์ศรียา” รอง นายก อบต.หนองบ่อ  ได้ขับรถลุยป่าเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อเปิดเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่บนเทือกเขาภูพานน้อย เขตอุทยานแห่งชาติภูพานน้อย ในพื้นที่ ต.หนองบ่อ อ.นาแก

จ.นครพนม โดยเทือกเขาภูพานน้อย ถือเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุม 4 จังหวัด มี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และกาฬสินธุ์  อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นฐานทัพของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในยุคสงครามพรรคคอมมิวนิสต์ จึงเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และเชิงอนุรักษ์

การเข้าป่าสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่ไม่ผิดหวัง เมื่อคณะสำรวจได้พบจุดชมวิวลานหินแห่งใหม่บนยอดเขาภูพานน้อย ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ผาเป้า ภูผาแดง” มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและมีลานหินบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เทือกเขาภูพานน้อยหลายลูก สวยงามตระการตา ยาวไปถึงจังหวัดมุกดาหารและสกลนคร  รวมทั้งสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบหนองหาน ในพื้นที่ สกลนคร ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะสำรวจยังพบอีกว่าระดับความสูงของผาเป้าภูผาแดงมีความสูงมากถึง 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล เหมาะแก่การจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เปิดให้ประชาชน

นักท่องเที่ยว ได้จัดแคมป์ปิ้ง ชมวิวทิวทัศน์ เนื่องจากเป็นจุดสูงสุดที่สามารถมองเห็นทิวเขา ป่าไม้ธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ยังมีทะเลหมอกหนาแน่นสวยงามราวกับบนสวรรค์ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเท่องเที่ยวสำคัญไม่แพ้ภูกระดึง

ล่าสุด ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมหารือกับทางอุทยานแห่งชาติภูพานน้อย เร่งพัฒนาผาเป้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  เตรียมรองรับประชาชน นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ซึ่งจะต้องพัฒนาเส้นทางเดินรถและเดินเท้า ให้เกิดความสะดวกเดินทางได้ง่ายรวมทั้งให้รถยนต์สามารถเข้าถึงจุดชมวิวได้  สำหรับเขาภูพานน้อย พื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญ ที่เคยเป็นฐานทัพของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในยุคพื้นที่สีแดง ที่เคยมีการสู้รบ ทำให้ยังมีร่อยรอยประวัติศาสตร์สถานที่สำคัญหลายจุดที่กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยใช้เป็นที่พักอาศัยไปจนถึงที่เก็บอาวุธ  โรงพยาบาล  จุดรวมพล ฯลฯ โดยเฉพาะจุดชมวิวผาเป้าภูผาแดง บนยอดเขานั้น ถือว่าเป็นลานหินหน้าผาที่สวยงามมาก ทิวทัศน์จากหน้าผาและลานหินหาดูได้ยากยิ่ง

หนาวนี้ยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน หรือไม่อยากเจอหน้าพบปะคนจำนวนมากเดินเบียดเสียดกันจนเสียอารมณ์ “ผาเป้า” Unseen แห่งใหม่ของจังหวัดนครพนม น่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวสำหรับหน้าหนาวปีนี้

ภาพประกอบจาก : มติชนออนไลน์

“พระธาตุพนม” ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลและอำเภอธาตุพนม จ.นครพนม ในเขตภาค 4 อยู่ฝั่งขวา (ตะวันตกของแม่น้ำโขง) โบราณสถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมนี้เรียกว่า “ภูกำพร้า” หรือ “ดอยกำพร้า” ภาษาบาลีว่า “กปณบรรพต” หรือ “กปณคีรี” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “ขลนที” (แม่น้ำโขง) เป็นเขตแขวงนครศรีโคตรบูรโบราณ นครนี้ตำนานบอกว่าอยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ ซึ่งเป็นสายน้ำแควหนึ่งไหลจากภูเขาแดนญวน ตกแม่น้ำโขงตรงธาตุพนม เข้าใจว่าเป็นเมืองร้างแห่งหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเซบั้งไฟทางใต้ ลึกจากฝั่งโขงเข้าไปในประเทศลาวประมาณ 5-6 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่า “เมืองขามแท้”

ในอุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม กล่าวถึงกำเนิดแม่น้ำลำคลองต่างๆ ในภาคอีสาน มีแม่น้ำโขง เป็นต้น แล้วกล่าวถึงพุทธประวัติว่า สมัยหนึ่งเป็นปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออกโดยทางอากาศ มาลงที่ดอนกอนเนานั้นก่อน แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ทำนายว่าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ที่ตั้งพระพุทธศาสนาแล้วล่องลงมาโดยลำดับ ประทานรอยพระบาทที่ “โพนฉัน” โปรดสุขหัตถีนาค คือพระบาทโพนฉัน อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย ปัจจุบันอยู่เขต จ.บึงกาฬ แล้ว “พระบาทเวินปลา” (เหนือเมืองนครพนม) ทำนายที่ตั้ง “เมืองมรุกขนคร” มาพักแรมที่ภูกำพร้า 1 ราตรี วิสสุกรรมเทวบุตรลงมาอุปัฏฐาก รุ่งเช้าเสด็จข้ามไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง เมืองสุวรรณเขต ลาว) แล้วกลับมาทำภัตกิจที่ภูกำพร้าทางอากาศ

ขณะนั้นพญาอินทร์เสด็จมาเฝ้าและทูลถามถึงเหตุที่ประทับภูกำพร้าเพื่อเหตุอะไร? พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์นี้ คือ กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ ที่นิพพานไปแล้ว สาวกทั้งหลายย่อมนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า เมื่อเรานิพพานไปแล้ว กัสสปะผู้เป็นสาวกก็จะนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุเช่นเดียวกัน ดังนี้ ตรัสปรารภเมืองศรีโคตรบูรและมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวงเทศนาโปรดพญาสุวรรณภิงคารและพระนางเทวี ประทานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วกลับสู่พระเชตวันและนิพพานที่กุสินารานคร

เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายถวายพระเพลิงไม่สำเร็จ จนมหากัสสปะมาถึง พระเถระเจ้ามาถึงแล้ว นำพระสงฆ์กระทำเวียนวัฏฏ์ประทักษิณ 3 รอบแล้วอธิษฐาน ว่าพระธาตุองค์ใดที่จะให้ข้าพระบาทนำไประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือ ณ บัดนี้ ดังนี้แล้ว พระบรมอุรังคธาตุก็เสด็จออกมาอยู่บนฝ่ามือของท่าน ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วงเผาพระบรมสรีระเองเป็นอัศจรรย์ พระเถระเจ้าห่อพระบรมอุรังคธาตุไว้ด้วยผ้ากัมพลอันดีด้วยความเคารพ ครั้นถวายพระเพลิงและแจกพระธาตุเรียบร้อยแล้ว พระเถระเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็นำพระอุรังคธาตุมาโดยทางอากาศ มาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็ก อ.พรรณนิคม เมืองสกลนคร) ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวงเพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณภิงคาร

ฝ่ายชาวเมืองหนองหารหลวง มีพญาสุวรรณภิงคารและนางพญา เป็นต้น ได้ทราบข่าวพระพุทธองค์นิพพานต่างก็หวังว่าตนคงได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงเกณฑ์กันให้สร้างพระเจดีย์ไว้ 2 ลูก ให้ผู้ชายสร้างไว้ที่ภูเพ็ก ผู้หญิงมีพระนางนารายณ์เจงเวงเป็นหัวหน้า สร้างไว้ที่สวนอุทยาน (ธาตุนางเวง) ห่างเมืองสกลนคร 6 กิโลเมตร สัญญากันว่าฝ่ายใดสร้างเสร็จก่อนจะให้พระบรมธาตุได้บรรจุในเจดีย์ของฝ่ายนั้น ในที่สุดฝ่ายผู้หญิงสำเร็จก่อน ฝ่ายชายหลงอิตถีมายา พากันทิ้งงานไปช่วยผู้หญิงเสียหมด พระเจดีย์ภูเพ็กเลยไม่สำเร็จ เมื่อพระมหากัสสปะมาบิณฑบาต พญาสุวรรณภิงคารทราบว่า พระเถระอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ท้าวเธอจึงขอแบ่ง พระเถระเจ้าถวายพระพรว่ า ที่นี่มิใช่ภูกำพร้า ผิดพุทธประสงค์ ถ้าให้ไว้ก็จะไม่เป็นมงคลแก่พระองค์และบ้านเมือง จึงให้พระอรหันต์คืนไป เอาพระอังคารธาตุ (ถ่านเพลิง) จากที่ถวายพระเพลิงมาบรรจุไว้ที่ธาตุนางเวง เพื่อบำรุงพระราชศรัทธามิให้เสีย

ท้าวพญาเมืองต่างๆ เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระอรหันต์ทั้งหลายอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้า ก็มีความโสมนัสยินดี ได้ยกกำลังโยธามาคอยต้อนรับอยู่ ณ ภูกำพร้า คือพญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ยกกำลังมาปลูกพลับพลาไว้รับกษัตริย์เมืองต่างๆ ตามริมโขง (ขลนที) พญาจุลณีพรหมทัตและพญาอินทปัตถนคร เมื่อมาพร้อมกันแล้วก็ให้ไพร่พลโยธาของตนสกัดหินมุกด์หินทรายไว้คอยท่า ส่วนพญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ผู้เป็นพระอนุชาพญาสุวรรณภิงคารได้ทราบ ก็ยกโยธามาสมทบกับเมืองหนองหารหลวง พญาสุวรรณภิงคารให้พราหมณ์แต่งตัวนุ่งห่มด้วยเครื่องขาว 8 คน เป็นผู้อัญเชิญพระอุรังคธาตุแห่ด้วยยศบริวารมาสู่ภูกำพร้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน

เมื่อพญาทั้ง 5 มาถึงภูกำพร้าและตั้งทัพพักพลอยู่ตามที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยแล้ว จึงประชุมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี พญาสุวรรณภิงคารได้ปรารภขึ้นว่าให้ไปขนเอาหินในเมืองหนองหารหลวงที่ก่ออุโมงค์ค้างไว้นั้นมาก่อจะเร็วดี พระมหากัสสปะทักท้วงว่า หินฝูงนั้นก่อครั้งก่อนร้างเสียไม่เป็นมงคล พวกเราควรปั้นดินดิบก่อแล้วสุมด้วยไฟก็จะมั่นคงเป็นสิริมงคลสืบไปภายหน้า ที่ประชุมจึงตกลงให้เสนาอำมาตย์ปั้นดินก่อตามคำพระเถระนั้น แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเอาฝ่ามือพระมหากัสสปะเป็นแบบ ครั้นปั้นดินเสร็จแล้ว ก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก ของพระมหากัสสปะเท่ากันทั้ง 4 ด้าน พญาสุวรรณภิงคารเริ่มขุดก่อนเป็นปฐมฤกษ์ เวียนประทักษิณจากด้านตะวันออกไป และพญาทั้งหลายก็ขุดตามลำดับจนเรียบร้อยเป็นอันดี

พระอรหันต์ทั้งหลายให้คนทั้งหลายตั้งไหน้ำไว้ทั้ง 4 ด้าน สวดด้วยราหูปริตรและคาถา “พุทธส มงคล โลเก” เพื่อเป็นมงคลแก่โลก ผู้ใดก่อด้านใดก็ให้ตักเอาน้ำในไหด้านนั้นก่อนขึ้นไปตามด้านที่ตนก่อ ดังนี้ พญาจุลณีพรหมทัต ก่อด้านตะวันออก พญาอินทปัตถนคร ก่อด้านใต้ พญาคำแดง เมืองหนองหารน้อย ก่อด้านตะวันตก พญานันทเสน เมืองศรีโคตรบูร ก่อด้านเหนือ เมื่อพญาทั้ง 4 ก่อขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูงได้ 1 วาของพระมหากัสสปะแล้วพักไว้ พญาสุวรรณภิงคารก่อขึ้นรวบยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูงอีก 1 วาของพระมหากัสสปะ จึงรวมเป็น 2 วาของพระมหากัสสปะ แล้วทำประตูเผาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก ไม้คันธรส ชมพูนิโครธ และไม้รัง มาเป็นฟืน เผา 3วัน 3 คืน สุกดีแล้วจึงเอาหินหมากคอมกลางโคกมาถมหลุม (เข้าใจว่าเป็นกรวดหรือแฮ่)

ท้าวพญาทั้ง 5 เมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จแล้วต่างก็บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ภายในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา อาทิ เงินแท่ง ฆ้อง ปลอกทองคำหล่อเป็นรูปเรือ กระโถนทองคำบรรจุแหวนใส่เต็ม มงกุฎแก้วมรกต ปิ่นทองคำ พานทองคำ หินมุกด์ทำเป็นหีบใส่ของ ขันทองคำใส่แหวนเต็ม ขันเงินบรรจุปิ่นทองคำเต็ม กำไลมือ มงกุฎทองคำ สังวาลย์ทองคำ โอทองคำ โอเงิน และโอนาก

เมื่อพญาทั้ง 5 บริจาคของบูชาเสร็จแล้ว พระมหากัสสปะเป็นประธานพร้อมกันอัญเชิญพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุไว้ภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูไว้ทั้ง 4 ด้าน ขณะนั้น พระบรมธาตุก็คลี่คลายผ้ากัมพลที่ห่อหุ้มเสด็จออกมาประดิษฐานอยู่บนฝ่ามือของพระมหากัสสปะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท้าวพญาและประชาราษฏรทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็เปล่งเสียงสาธุการอึงคะนึงไปทั่วภูกำพร้า

พระมหากัสสปะระลึกถึงคำสั่งพระพุทธเจ้า ให้นำพระอุรังคธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า แต่มิได้สั่งให้ฐาปนาไว้ชะรอยจะเล็งเห็นด้วยพระญาณว่า ต่อไปภายหน้าจะมีผู้เป็นเชื้อหน่ออรหันต์มาสถาปนาให้บริบูรณ์ต่อไป จึงกล่าวว่าพวกเราอยู่ได้ฐาปนาไว้ตามพุทธประสงค์นั้นเทอญ ขณะนั้นพระอุรังคธาตุก็เสด็จกลับเข้าไปสู่ที่เก่า ผ้ากัมพลก็คลายออกห่อหุ้มไว้ดังเดิม พญาสุวรรณภิงคารเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็ขนพองสยองเกล้าสะดุ้งพระทัยยิ่งนัก

พญาทั้ง 5 ให้สร้างประตูไม้ประดู่ปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้ที่โคน เพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมือง ให้ไปนำเอามาแต่เมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก ไปนำเสาศิลาจากลังกา 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันตก ให้ไปนำมาแต่เมืองตักกศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณภิงคารให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่งผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศนั้น และพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองจากเหนือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าวลาหกไว้ตัวหนึ่งเป็นคู่กัน ให้ผินหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตรบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุ ไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา พระพุทธศาสนาเกิดทางใต้แล้วขึ้นไปทางเหนือ

ม้าศิลาสองตัวนี้สร้างไว้เพื่อให้ปราชญ์ผู้มีปัญญา ได้พิจารณาจักรู้แจ้งในปริศนานั้นแล

ส่งท้ายปีจอต้อนรับปีหมู จะ “หมูเลือด” หรือ “หมูทอง” คงต้องรอลุ้นดูสถานการณ์กันต่อไป จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับเรื่องท่องเที่ยวเดินทางแล้ว ไม่ต้องรอลุ้น!! เพราะมีสิ่งน่าสนใจรอคอยอยู่แล้ว ช่วงต้นปีนี้ชวนเที่ยว “จังหวัดนครพนม” ตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นอกจากเป็นเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีภูมิทัศน์สวยงาม อากาศดีแล้ว “นครพนม” ยังเป็นจังหวัดเก่าแก่จังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาแต่ครั้งโบราณหลายร้อยปีสืบเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน ต้องบอกว่า “นครพนม” มีความเป็นมาอันน่าทึ่งอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของไทย เพราะในอดีตเป็นศูนย์กลางของ “อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์” อันรุ่งเรือง

จากอดีตกาลตัวเมืองเดิมของนครพนมตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง หรือฝั่งประเทศลาว บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับ อ.พระธาตุพนม ในปัจจุบัน ส่วนตามอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร) ของพระธรรมราชานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมนั้น มีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า ประมาณ พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตรธรรม ผู้ครองเมืองมรุกขนคร ได้บูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบองค์พระธาตุพนม เสร็จแล้วมีงานสมโภชอย่างมโหฬาร พญาสุมิตรธรรมเองมีความศรัทธาอย่างเหลือล้น ได้ถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายเป็นพุทธบูชา และยังมอบหมายให้หมู่บ้าน 7 แห่งที่อยู่ล้อมรอบพระธาตุพนมดูแลรักษาองค์พระธาตุ

พระธาตุพนมรูปแบบเดิม

หลังจากรัชสมัยของพญาสุมิตรธรรมแล้ว ต่อมามีผู้ครองนครอีก 2 พระองค์ ก็เกิดเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์จนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ.1800 เจ้าศรีโคตรบูรณ์ ได้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ให้ชื่อว่า “มรุกขนคร” อยู่ใต้เมืองท่าแขกลงมา แต่ยังคงอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาใน พ.ศ. 2057 พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศราชธานีศรีโคตรบูรณ์ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองมรุกขนครกลับมาเป็น “ศรีโคตรบรูณ์” ตามชื่ออาณาจักรเดิม

กระทั่ง พ.ศ.2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์องค์สุดท้าย ได้โยกย้ายเมืองจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง หรือฝั่งไทย เยื้องเมืองเก่าไปทางเหนือ เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนคร” จนมาถึง พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีการย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางเหนือ 52 กิโลเมตร และในปี พ.ศ.2333 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงพระราชทานนามใหม่ ว่า “นครพนม”

จังหวัดนครพนม มีองค์ “พระธาตุพนม” เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ทั้งยังเป็นเสมือนตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลายกลุ่ม หลายวัฒนธรรม เรื่องราวขององค์พระธาตุพนมและเมืองศรีโคตรบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าชุมชนในแถบนี้ต่างมีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระ เป็นบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี ผู้คนจากทั่วสารทิศแว่นแคว้นจะเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลององค์พระธาตุพนมอย่างยิ่งใหญ่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้เป็นมหาราชแห่งนครเวียงจันทน์ ก็ได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุพนมเช่นกัน และทรงปฏิบัติตามที่พระโพธิสาร ราชบุตรเจ้าพระยานครฯ ได้วางกฎไว้ว่าเจ้าเมืองต้องมาทอดกฐินที่วัดพระธาตุพนมทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงเจ้าเมืองรุ่นหลัง

 

จากบันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “ธาตุพนม” เป็นหมู่บ้านสำคัญริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีบ้านร้อยกว่าหลัง มีพระพิทักษ์เจดีย์เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงกับเจ้าเมืองละคอน หมู่บ้านโดยรอบมีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม คือ หมู่บ้านหนองปิง บ้านดงภู บ้านปากคำ บ้านหัวดอน ผู้คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาวัดพระธาตุพนมมีอยู่ประมาณ 2,000 คน ทำกิจวัตรตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีการบูชาพระธาตุทุกวันด้วยน้ำและข้าวปลาอาหาร มีคณะมโหรีสยามบรรเลงเพลงถวายพระธาตุทุกวัน พิธีไหว้พระธาตุมีขบวนฆ้องนำหน้า วางดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระธาตุทั้งสี่ด้าน พระภิกษุสวดมนต์ถวายเครื่องไทยทาน ประกอบด้วย มะพร้าว กล้วย อ้อย น้ำผึ้ง ฝ้ายเส้น หมาก และพลู

พระธาตุพนมในปัจจุบัน

อาณาบริเวณโดยรอบองค์พระธาตุพนม ต่างก็เป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนา หลักฐานที่ปรากฏคือที่บ้านโปร่ง บ้านทู้ อยู่ห่างจากองค์พระธาตุลงมาทางทิศใต้ มีใบเสมาจำนวนหนึ่ง มีลวดลายสลักเป็นรูปสถูป เช่นเดียวกับที่พบในเขตลุ่มน้ำมูล-ชี ส่วนด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ ที่บ้านหลักศิลา พบใบเสมาหินทราย มีลายสลักรูปสถูปบริเวณกึ่งกลางใบ เช่นเดียวกับใบเสมาที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน

สิ่งที่น่าทึ่งของชุมชนแถบนี้ หากยังไม่เคยทราบมาก่อนจะเห็นได้จากลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องราวชวนติดตามราวกับอ่านนวนิยาย ขอตัดตอนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองมรุกขนคร” เป็น “เมืองนครพนม” ต่อมาปี พ.ศ.2336 พระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองนครพนมถูกกล่าวหาว่าคบคิดกับ “พระเจ้านันทเสน” แห่งนครเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ โดยมีหนังสือไปชักชวนพระเจ้าเวียดนามพญาลอง พระเจ้าแผ่นดินญวน ให้ยกทัพมาช่วยรบ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ รัชกาลที่ 1 จึงให้พระเจ้านันทเสนและพระบรมราชา ลงมาแก้คดีที่กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายพระเจ้านันทเสนแพ้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทรวงศ์ ไปครองเมืองเวียงจันทน์ต่อ ส่วนเจ้าเมืองนครพนมต่อมาได้ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) ซึ่งเป็นพี่ภรรยาของพระบรมราชา เป็นเจ้าเมืองนครพนมแทน

ฝ่าย “ท้าวกิ่งหงสา” บุตรพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองคนเก่า และ “ท้าวคำสาย” บุตรของอุปราชท้าวจุลณี ไม่พอใจที่พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) ได้เป็นเจ้าเมือง จึงพาผู้คนข้ามแม่น้ำโขงอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านกวนกู่ กวนงัว แขวงเมืองมหาชัยเดิม และไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม พระบรมราชา (สุดตา) หรือชื่อเดิมพระศรีเชียงใหม่ เจ้าเมืองคนใหม่ จึงมีใบบอกไปยังกรุงเทพ ฯ และทางเวียงจันทน์ ขอกำลังไปช่วยปราบปราม ทางกรุงเทพ ฯ มีพระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพยกกำลังมาสมทบกับกำลังจากเมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์ ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่บ้านโพธิคำ พระยามหาอำมาตย์ให้กองทัพจากเวียงจันทน์ ยกกำลังเข้าตีเมืองแตกพ่ายไป กองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนผู้คนกลับมานครพนม จากนั้นพระยามหาอำมาตย์ได้ย้ายที่ตั้งเมืองนครพนมจากบ้านหนองจันทน์ มาตั้งใหม่ที่บ้านโพธิคำ ซึ่งก็คือที่ตั้งตัวเมืองนครพนมปัจจุบัน

เมื่อกองทัพไทยและกองทัพเวียงจันทน์ยกกลับไปแล้ว ท้าวกิ่งหงสาได้รวบรวมผู้คนมาตั้งกองกำลังที่บ้านช้างราช ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แล้วยกกำลังเข้าตีเมืองนครพนมแตก พระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมือง จึงไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์มาช่วยตีฝ่ายตรงข้ามแตกไป มีการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อยุติการรบราฆ่าฟันกัน ฝ่ายท้าวกิ่งหงสาจึงขอตั้งเมืองใหม่ไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม แล้วอพยพผู้คนกลับไปอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วตามเดิม

ต่อมาพระยาสุโพ แม่ทัพเวียงจันทน์ พร้อมด้วยอุปราชเมืองนครพนม ได้นัดให้พวกเมืองมหาชัยก่องแก้วมาพบเจรจาและดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าองค์พระธาตุโคตรบอง ว่าจะจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตั้งให้ท้าวจุลณีเป็นพระพรหมอาสา เจ้าเมืองมหาชัย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลูกหลานเจ้าเมืองมหาชัย ได้อพยพแยกออกไปตั้งเป็นเมืองสกลนคร ต่อมาในปี พ.ศ.2349 ราชวังศ์ (มัง) บุตรพระบรมราชา (สุดตา) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนม พอมาถึงปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ คิดการณ์เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯ ได้กวาดต้อนผู้คนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครราชสีมาไปเป็นกำลัง ทางกรุงเทพฯ ยกกำลังมาปราบ โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า ยกกำลังมาตั้งที่เมืองนครพนม ส่วนพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม ถูกเจ้าอนุวงศ์ฯ พาหนีกองทัพไทยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้ว เมื่อกองทัพไทยยกกำลังมาถึงก็พากันหนีเข้าไปในแดนญวน การศึกครั้งนี้ทำให้ชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงระส่ำระสาย ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมากรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งหนีเข้าป่า บรรดาผู้ที่ทำหน้าที่บำรุงดูแลวัดพระธาตุพนมขาดจำนวนไปมาก องค์พระธาตุและศาสนสถานต่าง ๆ จึงทรุดโทรมลง

กระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2378 อุปราช (คำสาย) และราชวงศ์ (คำ) ได้นำชาวเมืองมหาชัยก่องแก้ว ข้ามแม่น้ำโขงกลับคืนมาสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ พระยามหาอำมาตย์ จึงให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่ริมหนองหาน บริเวณเมืองสกลวาปีเก่า และเมื่ออุปราช(คำสาย) ถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์ (คำ) เมืองมหาชัยก่องแก้ว เป็นพระยาประจันตเขตธานี เจ้าเมือง และพระราชทานชื่อเมืองว่า “สกลนคร” ส่วนเมืองนครพนม หลังจากที่พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมือง หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ฯ แล้ว พระยามหาอำมาตย์จึงได้มอบให้พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร ว่าราชการเมืองนครพนมอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม ได้ยกกำลังออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในเขตนครพนม อาทิ เมืองมุกดาหาร เมืองกาฬสินธุ์ มีชาวผู้ไทยจากเมืองวังมาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านดงหวาย ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองเรณูนคร” ให้ขึ้นกับเมืองนครพนม และให้ท้าวสายนายครัวเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2387

พระธาตุเรณู รูปแบบพระธาตุจำลองจากพระธาตุพนมองค์เดิม

ให้ “ชาวแสก” ซึ่งอพยพจากเมืองแสก ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาลาดควาย ต่อมาให้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาต คอยลาดตระเวนชายแดน หลังจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็น “เมืองอาทมาต” ขึ้นกับนครพนม ให้ฆานบุดดีเป็นหลวงเอกสาร เจ้าเมืองอาทมาต จนถึงปี พ.ศ.2450 จึงยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อยู่ในอำเภอเมือง ให้พวก “ชาวกะโซ่” จากเมืองฮ่ม เมืองผาบัง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาตั้งเป็นเมืองที่บ้านเมืองราม และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองรามราช” ขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ท้าวบัวจากเมืองเชียงฮ่ม เป็น พระอุทัยประเทศ เจ้าเมืองรามราช ต่อมาในปี พ.ศ.2450 ได้ยุบลงเป็นตำบลรามราช อยู่ในอำเภอท่าอุเทน

ให้ “ชาวโย้ย” จากบ้านหอมท้าว ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านม่วง ริมน้ำยาม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็น “เมืองอากาศอำนวย” ขึ้นกับนครพนม และให้ท้าวศรีนุราช เป็นหลวงพลานุกูล เป็นเจ้าเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2457 ได้โอนไปขึ้นกับเมืองสกลนคร คือ ท้องที่อำเภออากาศอำนวย จ.สกลนคร และอำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม

พวก “ไทยย้อ” เดิมอยู่ที่ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ต่อมาได้อพยพหลบหนีไปกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ฯ ไปตั้งอยู่ที่เมืองหลวงปุเลง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนมได้เกลี้ยกล่อมให้กลับมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านท่าอุเทนร้าง และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าอุเทน ขึ้นกับเมืองนครพนมในปีเดียวกัน และตั้งให้ท้าวพระปทุม เป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองคนแรก ในการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ฯ ราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐได้คุมกำลังตั้งอยู่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง มีความดีความชอบจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองไชยบุรี โดยให้อพยพครอบครัวชาวเขมราฐและยโสธร มาอยู่ที่เมืองไชยบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐเป็นพระไชยราชวงศา เจ้าเมืองไชยบุรี

ในปี พ.ศ. 2418 พวกจีนฮ่อได้ยกกำลังมาตีเมืองเวียงจันทน์ และหนองคาย ทางกรุงเทพฯ ได้ให้พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงใหญ่ซึ่งขึ้นมาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบลฯ เกณฑ์กองทัพหัวเมืองต่างๆ คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองอุบลฯ เมืองยโสธร เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม ฯลฯ ไว้สมทบกองทัพใหญ่ แล้วให้เมืองนครพนมเตรียมปลูกฉางข้าวขึ้นไว้ และจัดซื้อข้าวขึ้นฉางสำหรับเลี้ยงกองทัพ ให้เมืองต่างๆ เตรียมตัดไม้มาถากเพื่อขุดเรือให้ยาวลำละ 4 วา 5 ศอก 6 คืบ เมืองนครพนม 50 ลำ เมืองหนองคาย 50 ลำ เมืองโพนพิสัย 30 ลำ เมืองไชยบุรี 20 ลำ เมืองท่าอุเทน 15 ลำ เมืองมุกดาหาร 50 ลำ รวม 245 ลำ

ปี พ.ศ.2424 องค์การศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้เริ่มส่งบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในภาคอีสานเป็นครั้งแรก โดยส่งมายังเมืองอุบล ฯ และตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่บ้านบุ่งกระแทง เป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2426 ก็ได้เริ่มแพร่ขยายขึ้นมาตามหัวเมืองริมลำแม่น้ำ แล้วตั้งโบสถ์ที่บ้านท่าแร่ ริมหนองหานเมืองสกลนคร พ.ศ.2428 ได้ตั้งโบสถ์ที่บ้านสองคอน เขตเมืองมุกดาหาร และต่อมาได้ตั้งโบสถ์ที่เกาะดอนโด ซึ่งอยู่กลางแม่น้ำหน้าเมืองนครพนม และที่บ้านหนองแสง เขตเมืองนครพนม เกิดมีทาสที่หลบหนีเจ้าขุนมูลนายไปหลบซ่อนอยู่กับบาทหลวง และเข้ารีตนับถือคริสตศาสนา เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อกรมการเมืองจะเข้าไปเกณฑ์แรงงาน หรือเก็บส่วย พวกที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ก็เกิดบาดหมางกับบาทหลวงอยู่เนืองๆ มีการฟ้องร้องกันลงไปถึงกรุงเทพฯ จนต้องส่งตุลาการมาตัดสินที่เมืองนครพนม

ในปี พ.ศ.2429 หลังจากที่ญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเวียดนามได้หลบหนีเข้ามาในชายแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เขตแดนเมืองมุกดาหารและเมืองนครพนมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทางแขวงสุวรรณเขต และแขวงคำม่วน พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ข้าหลวงใหญ่ออกมาจัดราชการอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ที่เมืองเขมราฐชั่วคราว และแต่งตั้งให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ชม สุนทราชุน) และหลวงเสนีย์พิทักษ์ (พร ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวง ขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม และเมืองมุกดาหาร เพื่อเกณฑ์กำลังจากเมืองสกลนคร เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ออกไปตระเวนรักษาด่าน คอยขับไล่พวกญวน มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในชายแดนไทย

พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงใหญ่ และพระยาราชเสนา ข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้ง “องบิงญวน” เป็นหลวงจำนงค์บริรักษ์ เป็นนายกองญวน และนายหวา เป็นขุนพิทักษ์โยธี ปลัดกองญวน ตั้งอยู่ที่บ้านโพนบก และบ้านนาคู แขวงเมืองนครพนม

ลุถึงปี 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ออกมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการในหัวเมืองภาคอีสาน ทางด้านอีสานเหนือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ทางด้านอีสานใต้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว ประทับอยู่ที่เมืองอุบลฯ กองบัญชาการหัวเมืองลาวพวน มีอำนาจปกครองเมืองนครพนม หนองคาย มุกดาหาร ไชยบุรี ท่าอุเทน หนองหาน สกลนคร โพนพิสัย กมุทาลัย(หนองบัวลำภู) ขอนแก่น เชียงขวาง คำเกิด คำม่วน บริคัณฑนิคม และในปี 2435 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ (กาจ สิงหเสนี ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งเป็นเมืองชายแดน เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองสกลนคร

ในปี 2536 ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ดินแดนของเมืองนครพนมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ แขวงคำม่วนต้องสูญเสียไปด้วย ข้าหลวงไทยที่ประจำอยู่ที่เมืองคำม่วน คือพระยอดเมืองขวาง ได้ต่อสู้ขัดขวางฝรั่งเศสจนถึงวาระสุดท้าย ถือได้ว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ปี พ.ศ.2437 โปรดเกล้าฯ ให้พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์(เทศ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองนครพนม ปี 2438 ฝรั่งเศสขอตั้งเอเย่นต์ทางการค้าให้มาประจำอยู่ตามหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองหนองคาย แต่เอเย่นต์ดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนกงสุล หรือสายลับ คอยสังเกตการณ์ว่าฝ่ายไทยละเมิดสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหรือไม่

ปี 2443 ได้เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือและเป็นมณฑลอุดร เมืองนครพนมจึงอยู่ในเขตการปกครองของมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลอุดร ต่อมามณฑลอุดรแบ่งการปกครองเป็น 12 เมือง คือ เมืองหนองคาย (เมืองเอก) เมืองท่าอุเทน (เมืองจัตวา) เมืองไชยบุรี (เมืองจัตวา) เมืองนครพนม (เมืองตรี) เมืองท่าบ่อ (เมืองตรี ) เมืองมุกดาหาร (เมืองตรี) เมืองสกลนคร (เมืองโท) เมืองขอนแก่น (เมืองตรี) เมืองกมุทาลัย (หนองบัวลำภู) เมืองโพนพิสัย (เมืองตรี) เมืองชนบท (เมืองจัตวา) เมืองหนองหาน (เมืองตรี) ในปี 2446 มณฑลอุดรแบ่งการปกครองออกเป็น 5 บริเวณ แต่ละบริเวณแบ่งออกเป็นเมือง เมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ และได้ยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเป็นตำบล แต่ละบริเวณมีข้าหลวงประจำบริเวณรับผิดชอบ และมีข้าหลวงประจำเมืองพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง ดังนี้

บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี) มี 6 เมือง คือ เมืองหนองคาย เมืองโพพิสัย เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาลัย และเมืองท่าบ่อ, บริเวณสกลนคร มี 6 เมือง คือ เมืองสกลนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองพรรณานิคม เมืองสว่างแดนดิน เมืองวานรนิวาส และเมืองจัมปาชนบท (พังโคน), บริเวณพาชี (ขอนแก่น) มี 3 เมืองคือ เมืองขอนแก่น เมืองภูเวียง และเมืองชนบท, บริเวณน้ำเหือง (เมืองเลย) มี 3 เมือง คือ เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน, บริเวณธาตุพนม มี 4 เมือง มีเมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ต่อมาในปี 2450 ให้ยุบเลิกบริเวณลงเป็นเมืองทั้งหมด คงมีมณฑล เมือง และอำเภอ เท่านั้น

ดังนั้น การปกครองมณฑล จึงแบ่งออกเป็น 5 เมือง คือบริเวณหมากแข้ง เปลี่ยนเป็นเมืองอุดรธานี บริเวณพาชี เปลี่ยนเป็นเมืองขอนแก่น บริเวณสกลนคร เปลี่ยนเป็นเมืองสกลนคร บริเวณน้ำเหือง เปลี่ยนเป็นเมืองเลย บริเวณธาตุพนม เปลี่ยนเป็นเมืองนครพนม และได้แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ โดยยุบเมืองต่างๆ คือ เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน และเมืองไชยบุรี ลงเป็นอำเภอ ดังนั้น อำเภอทั้งหมดจึงประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองไชยบุรี อำเภอเมืองท่าอุเทน อำเภอเมืองอากาศอำนวย อำเภอเมืองกสุมาลย์ อำเภอเมืองเรณูนคร (ย้ายไปตั้งอยู่บ้านธาตุพนม) อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอหนองสูง

ในปี 2457 กระทรวงมหาดไทย ประกาศยุบอำเภอเมืองกุสุมาลย์ ไปรวมกับอำเภอเมืองนครพนม ยุบอำเภอเมืองอากาศอำนวยไปรวมกับท้องที่อำเภอท่าอุเทน ตัดท้องที่บางส่วนของอำเภอโพนพิสัย มารวมกับท้องที่อำเภอไชยบุรี ย้ายที่ตั้งอำเภอไชยบุรีไปตั้งที่บ้านบึงกาฬ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นอำเภอบึงกาฬ ปี พ.ศ.2459 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนคำว่าเมือง เป็น “จังหวัด” และคำว่า “ผู้ว่าราชการเมือง” เปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และเปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดนครพนม คือ อำเภอเมืองนครพนม เป็นอำเภอหนองบึก อำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอธาตุพนม โดยย้ายที่ตั้งไปตั้งที่บ้านธาตุพนม อำเภอหนองสูง ซึ่งย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่บ้านนาแก เป็นอำเภอนาแก

กระทั่งปี พ.ศ.2465 มีประกาศรวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล มณฑลอุดร ตั้งขึ้นเป็นภาคอีสาน มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี อุปราชภาคอีสาน คือ พระยาราชนิกุลวิบูลยภักดิ์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครพนม จึงขึ้นอยู่กับมณฑลอุดร และภาคอีสาน กลายมาเป็นจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน

หากใครได้แวะเวียนไป จ.นครพนม คงจะสะดุดตาไม่น้อยกับอาคารไม้ไสตล์โคโลเนียลสีเหลือง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมถนนเลียบแม่น้ำโขงในตัวอำเภอเมืองนครพนม

อาคารแห่งนี้คือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า จวนผู้ว่าฯหลังเก่า สถานที่อันร้อยเรียงเรื่องราวของเมืองนครพนมไว้อย่างน่าสนใจ

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2457 โดยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว โดยว่าจ้างให้นายกูบาเจริญ ซึ่งเป็นชาวญวน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ชั้นบนและล่างไม่มีเสา และไม่มีการตอกตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้การเข้าเดือยไม้

ต่อมาปี พ.ศ. 2468 พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล จึงขายจวนหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทยใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

โดยวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครพนม และประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น สร้างความปลื้มปีติแก่ชาวนครพนมเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป้นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯเยือนนครพนมนั่นเอง

บันทึกของ นายสง่า จันทรสาขา อดีตผู้ว่าราชการนครพนม ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัด ระบุถึงการเตรียมตัวรอรับเสด็จในครั้งนั้นไว้ว่า

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราจะต้องกระทำการทุกอย่างเพื่อให้สมพระเกียรติยศ โดยไม่ให้มีการผิดพลาดและบกพร่อวได้เป็นอันขาด ทั้งถือว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครพนมทีเดียว เพราะข้าพเจ้าศึกษาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์องค์ใดเสด็จมาถึงจังหวัดนครพนม หรือที่เรียกว่าเมืองนครพนมในสมัยโบราณ นับว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตรย์พระองค์แรกที่เสด็จมาถึงเมืองนครพนม จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างตื่นเต้นปีติยินดี ปราโมทย์กัน ทั้งข้าราชการและประชาชนที่จะได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีและเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็เป็นงานที่หนักของผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าพเจ้าในฐานะปลัดจังหวัด ที่จะเตรียมการให้พร้อมให้เรียบร้อย และดีที่สุดให้สมพระเกียรติ ตามหมายกำหนดการที่สำนักพระราชวังตกลงกับทางจังหวัด มีดังนี้ (เสียดายจำวันเดือนไม่ได้แต่ประมาณปลายเดือนธัวาคม 2498 เพราะตอนนั้นอากาศหนาวเย็นมาก)

กำหนดการคือ วันแรก เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งจากจังหวัดสกลนครถึงจังหวัดนครพนมตอนเย็น แล้วประทับพักผ่อนพระราชอริยบถตามพระราชอัธยาศัย

 

วันที่สอง เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระธาตุพนมโดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับมาตอนบ่ายประทับพลับพลาที่ท่าน้ำหน้าที่ประทับแรม (จวนฯหลังเก่า) เพื่อทอดพระเนตรขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ทอดพระเนตรการแข่งขันเรือยาวและการไหลเรือไฟ เป็นหมดกำหนดการสำหรับวันนั้น

วันที่สาม ตอนเช้าพักผ่อนตามพระราชอัธยาศัย ตอนบ่าย 16.00 น. เสด็จรับการถวายพระบายศรีสู่ขวัญตามประเพณีภาคอีสาน แล้วเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ณ ที่นั่นโดยทั่วถึง

 

วันที่สี่ เสวยพระกระยาหารแล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์

นี่เป็นกำหนดการโดยย่อแต่เราต้องเตรียมการล่วงหน้านับจำนวน 3 เดือน โดยจังหวัดตั้งกองอำนวยการขึ้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ข้าพเจ้าเป็นเลขานุการ แล้วข้าพเจ้าก็ร่างคำสั่งแบ่งหน้าที่ออกเป็นกองเป็นแผนก มีมากเกือบกล่าวได้ว่าข้าราชการทั้งจังหวัดมีหน้าที่ในการรับเสด้จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทั้งสิ้น”

เรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จฯเยือนนครพนมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเรื่องของ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ หรือภาพที่หญิงชรานำดอกบัวขึ้นจบเหนือหัว เพื่อบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในขณะที่พระองค์โน้มพระวรกาย ก้มพระเศียรเกือบติดศีรษะหญิงชรา

แม่เฒ่าตุ้ม เป็นชาวบ้านธาตุน้อย อ.ธาตุพนม เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่มารอรับเสด็จตั้งแต่เช้า โดยได้เตรียมดอกบัวสายสีชมพูมาด้วย เมื่อรถยนต์พระที่นั่งมาถึงตรงจุดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระรมราชินีนาถ ได้เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ทรงทักทายเหล่าพสกนิกรจนถึงแม่เฒ่าตุ้ม แม่เฒ่าได้นำดอกบัวทั้ง 3 ดอกขึ้นจบบูชาพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังปรากฏในภาพนั่นเอง

ส่วนอาคารจวนผู้ว่าฯนครพนมนั้นถูกปิดตายลงในปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากความเก่าแก่และทรุดโทรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 อาคารถูกยกเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และบูรณะในปี พ.ศ. 2549 จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวนครพนม และมีนิทรรศการ “เล่าขาน อดีตกาล เมืองนคร” โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ

ชั้นแรก เมื่อเดินเข้ามาภายใน จะเห็นการจำลองโต๊ะทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกับการจัดแสดงเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่อดีต มีการรวบรวมภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมทั้งหมดตั้งแต่คนแรกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลประวัติศาสตร์ ความเป็นมา สถานที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นจังหวัดนครพนม

ในชั้นนี้ยังมีห้องจัดแสดงวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยในจังหวัดนครพนมเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เชื่อมไปสู่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนชั้นบนจะพบโต๊ะหมู่บูชา และพระพุทธรูป ถัดมาจะพบกับห้องที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เคยประทับแรมเมื่อครั้งทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครพนม ปัจจุบันห้องนี้เป็นพื้นที่ห้ามเข้า และทางพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายเครื่องบรรทมออกไปแล้ว แต่ได้มีการนำเตียงและเครื่องเรือนเก่าที่เข้ากับอาคารมาตั้งไว้แทน ในส่วนของโถงชั้นบนยังมีการแสดงภาพประวัติศาสตร์ของเมืองนครพนมไว้อีกด้วย

นอกจากนี้ทางด้านหลังของจวนผู้ว่าฯ ยังมีอาคารอีก 1 หลัง เป็นส่วนแสดงนิทรรศการไหลเรือไฟ (เฮือนเฮือไฟ) ซึ่งประเพณีไหลเรือไฟถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวนครพนม และสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล


มติชนอคาเดมี ชวนสัมผัสสถานที่แห่งประศาสตร์แห่งนี้ ในเส้นทางทัวร์ “ไหว้พระธาตุแดนอีสาน ตำนาน ‘อุรังคธาตุ-นาคนคร’ ริมโขง” วันที่ 19-20 มกราคม 2562 ที่นอกจากจะพาสักการะพระธาตุใน จ.สกลนคร-นครพนม ฟังเรื่องราวอิทธิพลศิลปะจาม-ขอม ยังพาตามรอยเสด็จในหลวง ร.9 ที่พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ด้วย คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_21931

ชนชาติกลุ่มดินแดนถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะไทยเรานั้นมีคติความเชื่อในการสร้างมหาสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ ซึ่งมีพัฒนาการเรื่อยมา และเกิดการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นมากมาย

แต่ในแดนอีสานจะไม่พูดถึง “พระธาตุพนม” อ.ธาตุพนม จ.นครพนม คงไม่ได้ เพราะเป็นที่รู้จักและสนใจของประชาชนทั่วไปรวมไปถึงนักวิชาการ ด้วยความน่าสนใจที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำนานอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนพระอุระของพระพุทธเจ้า) ความเชื่อเรื่องพญานาคที่ปกปักดูแลพระธาตุพนม หรือเรื่องการบูรณะองค์พระธาตุที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ที่สามารถเชื่อมโยงได้หลากหลายมิติ

ตามตำนานอุรังคธาตุพูดถึงการสร้างพระธาตุพนมอยู่ว่า สร้างขึ้นราว พ.ศ.8 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรศรีโคตบูรณ์เจริญรุ่งเรือง โดยหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะพร้อมพระอรหันต์รวม 500 องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังดินแดนนี้ และได้เจ้าเมืองทั้ง 5 ตามตำนานร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้น

พระธาตุพนมในปัจจุบัน

ถึงแม้ตามตำนานจะระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.8 แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า รูปแบบดั้งเดิมของพระธาตุพนมน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร-จาม โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ 5 มหาเจดีย์สยาม ระบุว่า

“นักวิชาการสันนิษฐานว่ารูปแบบดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างน่าจะมีรูปทรงปราสาทเขมร ที่สร้างขึ้นในสมัยก่อนเมืองพระนคร มีชื่อเรียกว่าแบบ ไพรกเมง-กำพงพระ เนื่องจากปราสาทที่สร้างในช่วงสมัยนี้มักทำเรือธาตุเป็นห้อง ก่ออิฐเรียบ มีการประดับด้วยเสากลมที่วางคั่นอยู่เป็นระยะๆ บัวหัวเสาทำเป็นรูปกลม ซึ่งเหมือนกับที่พบในส่วนเรือนธาตุขององค์พระธาตุพนมนั่นเอง

“หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมีรูปร่างคล้ายกับปราสาทในศิลปะจาม ที่สร้างในสมัยฮั่วล่าย (Hoa-Lai) และดงเดือง (Doug Doung) ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 คือกว่าพันปีมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเสาติดผนังขององค์พระธาตุพนมมีแถบลวดลายประดับอยู่ตรงกลางเสา เหมือนกับที่พบตามปราสาทในศิลปะจามเป็นอย่างมาก”

วิวัฒนาการรูปแบบพระธาตุพนม

 

อย่างไรก็ตาม การบูรณะมาแล้วหลายครั้งของพระธาตุพนมทำให้องค์พระธาตุมีรูปแบบศิลปะที่แตกต่างจากของเดิมไปอยู่มาก โดยการบูรณะครั้งที่สำคัญเห็นจะเป็นสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระชาวลาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นบูรณะครั้งที่ 3 เมื่อราว พ.ศ.2233-2235 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในส่วนของเรือนยอด ที่กลายเป็นศิลปะล้านช้าง

การบูรณะสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นใน พ.ศ.2483 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า สร้างเสริมครอบพระธาตุพนมองค์เดิม และตกแต่งด้วยลวดลายแบบเครื่องคอนกรีตสกุลช่างภาคกลาง การบูรณะครั้งนั้นส่งผลให้ยอดพระธาตุพนมสูงขึ้นไปอีก 10 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ก่อนความสูงนี้จะทำให้พระธาตุพนมพังทลายลงในปี พ.ศ.2518 ทำให้พบพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ในผอบแก้ว มีสีขาวแวววาวคล้ายกับแก้วผลึก ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่และมีพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ 8 องค์

จากนั้นกรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จ และได้จัดงานสมโภชพระอุรังคธาตุขึ้น 7 วัน 7 คืน ซึ่งในงานนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีด้วย

ร่องรอยรูปทรงเดิมของพระธาตุพนมในสมัยหนึ่งที่เรายังสามารถหาชมได้คือที่ “พระธาตุเรณู” อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งเป็นพระธาตุก่ออิฐถือปูน สร้างในปี พ.ศ.2461 โดย อ.เม้า วงษา และอุปัชฌาย์อินทร์ โดยรูปแบบของพระธาตุเรณูนั้นจำลองมาจากรูปทรงเดิมของพระธาตุพนม (องค์ก่อนบูรณะในปี 2483) แต่มีขนาดเล็กกว่า สูงประมาณ 35 เมตร ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน รวมทั้งของมีค่าที่เจ้าเมืองและประชาชนมีศรัทธาบริจาค

พระธาตุเรณู รูปแบบพระธาตุจำลองจากพระธาตุพนมองค์เดิม

ความน่าสนใจไม่เพียงอยู่ที่พระธาตุเรณูองค์สีชมพูสวยงามแปลกตาเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่บริเวณที่ตั้งของพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ในถิ่นฐานของ “เรณูนคร” ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวภูไทหรือผู้ไท ที่มาตั้งถิ่นฐานเมื่อราวปลายศตวรรษที่ 24 และยังคงอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ประเพณีการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ และการฟ้อนรำผู้ไท เป็นต้น

โบราณสถานอีกแห่งที่หากไปเยือนพระธาตุพนมแล้วไม่แวะชมไม่ได้ก็คือ “วัดหัวเวียงรังษี” ตั้งอยู่ใน อ.ธาตุพนม ความน่าสนใจคือ สิม หรือพระอุโบสถที่วัดนี้เป็นสิมศิลปะล้านช้าง ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เนื่องจากอิฐที่ก่อสิมนั้นเป็นรุ่นเดียวกัน ภายในสิมเหนือช่องหน้าต่างมีจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติ และรามเกียรติ์ ที่ความพิเศษคือรูปแบบจิตรกรรมนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างล้านช้างและกรุงเทพฯ

‘สิม’ หรือพระอุโบสถวัดหัวเวียงรังษี จ.นครพนม

กลับเข้ามาสู่เรื่องพระธาตุในแดนอีสาน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าพระธาตุพนมนั้นแรกเริ่มเดิมทีนั้นน่าจะเป็นศิลปะแบบเขมร-จาม แต่ร่องรอยของศิลปะเขมรที่เห็นได้ชัดเจนในแถบอีสานเหนือนั้นอยู่ที่ จ.สกลนคร มากกว่า หนึ่งในนั้นคือพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองชาวสกลฯก็คือ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุสีขาวเรียบ ไม่มีลวดลาย ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง ตามตำนานเล่าว่าพระธาตุเชิงชุมแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชาวเมืองหนองหาร จ.สกลนคร มีหลักฐานคือรอยพระพุทธบาท ที่เป็นที่เคารพของชาวเมืองหนองหารทุกคน

พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

ถึงแม้รูปแบบของพระธาตุเชิงชุมที่เห็นในปัจจุบันจะเป็นศิลปะล้านช้าง แต่จากหลักฐานซึ่งก็คือจารึกอักษรขอมบริเวณซุ้มประตูด้านล่างของพระธาตุ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระธาตุเชิงชุมนั้นเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ดังนั้น ในอดีตสกลนครก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีชาวขอมโบราณอาศัยอยู่

จารึกอักษรขอมที่ซุ้มประตูด้านล่างของพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร

หลักฐานที่ช่วยยืนยันการอยู่อาศัยของชาวขอมโบราณในสกลนครอีกชิ้นก็คือ “พระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งเป็นปราสาทก่อด้วยหินทราย น่าจะได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน หรือสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 สิ่งที่น่าสนใจของพระธาตุนารายณ์เจงเวงนั้นนอกจากจะอยู่ที่ตัวปราสาทแล้ว ยังอยู่ที่แผ่นทับหลังที่สลักเป็นรูปพระกฤษณะกำลังประลองกำลังกับสิงห์ และหน้าบันเป็นรูปพระศิวนาฏราช (ฟ้อนรำ) รวมทั้งรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

พระธาตุนารายณ์เจงเวง

พระธาตุอีกแห่งในสกลนครที่เป็นศิลปะแบบบาปวนก็คือ “พระธาตุดุม” ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวงแต่องค์เล็กกว่า โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์กลางเท่านั้น ที่น่าสนใจคือทับหลังที่อยู่บริเวณเหนือประตูหลอก ซึ่งหลังจากบูรณะแล้วเหลือทับหลังอยู่เพียงด้านเดียวคือด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นลวดลายรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง สิงห์ และใบไม้ม้วน

พระธาตุดุม จ.สกลนคร ศิลปะแบบบาปวน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16

ศิลปะเขมรในนครพนมอีกแห่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “สะพานขอม” หรือสะพานหิน ที่พบแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อด้วยศิลาแลง แต่เดิมเชื่อว่าเป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหานหลวง โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นิพนธ์เกี่ยวกับสะพานขอมแห่งนี้ไว้ด้วย

สะพานขอมหรือสะพานหิน พบแห่งเดียวในประเทศไทยที่จังหวัดสกลนคร

ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นพันๆ มาแล้ว ผ่านมาถึงล้านช้าง จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่า “นครพนม” และ “สกลนคร” เป็นดินแดนแห่งแรงศรัทธาในอีสานเหนือที่มีการผันแปรทางวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตคงต้องไปสัมผัสให้ได้!!!


“มติชนอคาเดมี” จัดทริปเดินทาง ชวนทุกท่านสักการะพระธาตุแดนอีสาน ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ สัมผัสศิลปะขอม-จาม ในทัวร์ ไหว้ 2 พระธาตุแดนอีสาน ฟังตำนาน “อุรังคธาตุ-นาคนคร” ริมโขง วันที่ 19-20 มกราคม 2562 นำชมและบรรยายโดย ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดี-ผู้วิเคราะห์สมบัติในองค์พระธาตุพนม ราคา 9,500 บาท (ไป-กลับเครื่องบิน พักโรงแรมหรูริมแม่น้ำโขง)

อ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_21931

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy

มติชนอคาเดมี ชวนไปทริปศิลปวัฒนธรรม ตามรอยศิลปะจามและศิลปะเขมรในอีสานเหนือ กับทัวร์ “ไหว้ 2 พระธาตุแดนอีสาน ตำนาน ‘อุรังคธาตุ-นาคนคร’ ริมโขง” จ.สกลนคร-นครพนม (2 วัน 1 คืน)

พาเยือนถิ่นนาคา สักการะ อุรังคธาตุ ชมสถูปสถานศิลปะจามที่ พระธาตุพนม ฟังเรื่องราวการบูรณะอันเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์สองฝั่งโขง ยลทรงเดิมของพระธาตุพนมที่ พระธาตุเรณู พร้อมม่วนคักๆ กับการแสดงรำภูไท

ลัดเลาะ สกลนคร ย้อนอดีตสู่เมืองหนองหารหลวง ชมร่องรอยศิลปะขอมที่ #พระธาตุเชิงชุม สัมผัสวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุดุม และชมสะพานหินแห่งเดียวในไทยที่ #สะพานขอม

ยังมีความน่าสนใจรออยู่อีกเพียบ!

นำชมและบรรยายโดย “ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์” นักโบราณคดี-ผู้วิเคราะห์สมบัติในองค์พระธาตุพนม

กำหนดเดินทางวันที่ 19-20 มกราคม 2562 (2 วัน 1 คืน)
ราคา 9,500 บาท

คลิกอ่านโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2rk0mFD

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy