กรมวิชาการเกษตร ตอกย้ำความมั่นใจราชาผลไม้ไทยไร้โควิด ยันควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางตามมาตรการองค์การอนามัยโลก ฮุบตำแหน่งแชมป์ผลไม้จีนนำเข้าประเทศมากสุด ปี 2563 โกยรายได้เข้าไทยกว่า 6 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ใส่เกียร์เดินหน้าตรวจเข้มข้นระดมเจ้าหน้าที่กรมลุยให้บริการเพิ่มจากเดิม 2 เท่า ดันส่งออกฉลุย

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ในภาคตะวันออกให้ผลผลิต โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งจะมีผลผลิตออกมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน โดยประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนผลสดที่ใหญ่สุดของไทย ซึ่งจากรายงานของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พบว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนผลสดจากไทยปริมาณทั้งสิ้น 575,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 69,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทุเรียนครองแชมป์ผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีนแซงหน้าการนำเข้าเชอรี่ผลสดทั้งปริมาณและมูลค่า

ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงไป 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่มูลค่ากลับเพิ่มมากขึ้นถึง 44 เปอร์เซ็นต์ โดยทุเรียนมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 23% เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าผลไม้หลักทั้งหมดจากต่างประเทศของจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ทุเรียนไทยจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนก็ตาม แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรติดตามผลการดำเนินงานการส่งออกในฤดูกาลผลิต 2564 อย่างใกล้ชิด

เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอข่าวว่าประเทศจีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทย สาเหตุจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทุเรียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ประสานงานกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่งและได้รับหนังสือตอบยืนยันกลับมาว่ารัฐบาลจีนไม่เคยระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทย เนื่องจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่อย่างใด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จีนจะยังไม่เคยตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสินค้าเกษตรจากไทยแต่กรมวิชาการเกษตรก็ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่จีนยอมรับและแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำเอกสารการดำเนินการดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีนส่งให้สำนักงานศุลกากรของจีนทราบแล้ว

พร้อมกับยืนยันว่าไทยได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยดำเนินการตามแนวทางของ WHO และ FAO เพื่อตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลไม้ไทยในปี 2564

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ

“ในปี 2564 นี้ กรมวิชาการเกษตร ไม่เพียงแต่จะเข้มงวดการตรวจศัตรูพืชในผลผลิตเท่านั้น แต่ยังเน้นการตรวจทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) ร่วมกับหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก จัดเจ้าหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้บริการเพิ่มจากเดิมจำนวนถึง 2 เท่า เพื่อปฏิบัติงานออกใบรับรองสุขอนามัยพืชร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชให้เป็นด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย สวพ.6 จะรับภารกิจหลักตรวจทุเรียนอ่อนและกำกับดูแลการใช้ใบรับรอง GAP ของผู้ส่งออก เพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออกที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละปีจำนวนมาก รวมทั้งยังสามารถรักษาตลาดทุเรียนไทยในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทยได้ต่อไป”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กรมเจรจาฯ ชี้ทุเรียนไทยยังสดใสท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำยอดส่งออกไปจีน 4 เดือนแรกพุ่ง 78% ไทยยังเป็นที่ 1 ของโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า การส่งออกทุเรียนสดของไทยขยายตัวได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย (สัดส่วนการส่งออก 72%) ที่มีการบริโภคสูงแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการส่งออกในช่วงดังกล่าว ขยายตัวถึง 78% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 567 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนสู่ตลาดโลกในภาพรวมขยายตัว 30% มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 788 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยยังเป็นแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับที่ 1 ของโลก นำหน้าฮ่องกงและมาเลเซียหลายเท่าตัว

นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้การส่งออกทุเรียนของไทยเติบโต เพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ทำให้ทุเรียนไทยมีโอกาสส่งออกและแข่งขันมากขึ้น ปัจจุบันทุเรียนไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ บรูไน อินเดีย ชิลี และเปรู เหลือเพียง 2 ประเทศ คือ มาเลเซียและเกาหลีใต้ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยอยู่ ทำให้ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดสู่ตลาดโลกรวม 1,465 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน อาเซียน และฮ่องกง โดยการส่งออกทุเรียนไปยัง 3 ตลาดหลักนี้ มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 98% ของการส่งออกทุเรียนของไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยในปี 2562 กับปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ พบว่า มูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักที่เป็นคู่เอฟทีเอเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะตลาดจีน เพิ่มขึ้นถึง 2,832,366% เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ที่พบว่าทุเรียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงมากเป็นอันดับต้น

fruit-4362852_960_720

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา เล่าว่า จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเป็นเมืองเกษตรที่ผลิตสินค้าสำคัญๆ หลายชนิด ทั้งไม้ผลจำพวกมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง สินค้าปศุสัตว์ ประมง และโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์สาลิกา ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดพังงามีพื้นที่ปลูกทุเรียนสาลิกา ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้ชื่อเสียงของทุเรียนสาลิกากำลังเป็นที่รู้จักและมีผู้บริโภคที่ต้องการลิ้มลองทุเรียนขึ้นชื่อพันธุ์นี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในปีนี้สภาพอากาศจะไม่อำนวย ทุเรียนยืนต้นตายไปบางส่วน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

ลักษณะและจุดเด่นของทุเรียนสาลิกานั้น เนื่องจากเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและชอบอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในเขตจังหวัดพังงาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังทนทานต่อโรคใบติด ต้านทานโรครากเน่าโคนเน่า ประกอบกับพื้นที่ปลูกเป็นที่เนินและไหล่เขา จึงมักไม่ค่อยเจอปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า ลักษณะผลของทุเรียนสาลิกานั้นค่อนข้างกลม คล้ายกับลูกแอปเปิ้ล ซึ่งสามารถตั้งได้โดยไม่ล้ม มีความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตร รวมขั้วผล มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกผลบาง มีหนามสั้นและค่อนข้างถี่ ลักษณะผลดิบเปลือกจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่สีจะอ่อนลงเล็กน้อย และมีสีน้ำตาลอ่อนบริเวณร่องพู (สีสนิม)

เมล็ดภายในส่วนใหญ่เป็นเมล็ดลีบและมีขนาดเล็กเกือบทั้งหมด ผลสุกเหมาะสำหรับรับประทานเมื่ออายุ 110 วัน หลังดอกบาน หรือประมาณ 90 วัน หลังติดผล เกษตรกรนิยมตัดผลทุเรียนเมื่อแก่จัด และเมื่อเริ่มมีกลิ่นหอมก็ให้แกะรับประทานได้ทันที อย่าปล่อยให้ทุเรียนร่วงหล่นเอง เนื้อในจะเละ รสชาติไม่อร่อย ผลทุเรียนสาลิกาที่ตัดได้อายุพอดีจะมีรสชาติหวานมัน และมีความหวานมากกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ แต่ละพูมีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองทอง เส้นใยละเอียด เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์คงไว้ แต่กลิ่นไม่ฉุน น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ย ประมาณ 1.3-1.5 กิโลกรัม ขนาดผลใหญ่สุดไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม ให้ผลผลิตได้เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 4-5 ปี

คุณธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา เจ้าของสวนทุเรียนสาลิการายใหญ่ที่สุดของอำเภอกะปง ให้ข้อมูลว่า สำหรับแปลงที่ลงไปเยี่ยมชม สวนมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด ประมาณ 5 ไร่ จำนวน 83 ต้น ผลผลิตโดยเฉลี่ย ต้นละ 50 ผล น้ำหนักประมาณ ผลละ 1.2-2.5 กิโลกรัม หรือคิดง่ายๆ ประมาณไร่ละ 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท ทุเรียนพันธุ์ “สาลิกา” หรือที่เรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “เรียนสากา” เป็นทุเรียนที่มีต้นกำเนิดที่อำเภอกะปง มีรสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลืองทอง เนื้อเนียน กากใยน้อย เมล็ดเล็กลีบ เนื้อหนา และมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และผลเล็กเหมาะที่จะรับลประทาน 1-2 คน ต่อผล

ทุเรียนพันธุ์นี้เป็นพืชอัตลักษณ์ของชาวพังงา เป็นพืชสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ และเป็นพืชรับแขก จนมีคำกล่าวขานที่ว่า “ถ้ามาพังงาแล้วไม่ได้ชิมทุเรียนสาลิกา เหมือนมาไม่ถึงเมืองพังงา” ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสาลิกาในอำเภอกะปง ได้รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ปรึกษาหารือ พัฒนาคุณภาพผลผลิต และจัดการตลาด โดยมีสมาชิกแกนนำประมาณ 20 คน โดยกลุ่มเครือข่ายพยายามแนะนำสมาชิกในเรื่องการตัดทุเรียนให้ได้อายุพอดี จะได้ทุเรียนคุณภาพที่ดี เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคผิดหวัง และเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดย

การทำ QR Code เพื่อรับรองคุณภาพ และตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ การจัดจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์ และร่วมกับสภาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด บริษัทประชารัฐ ขอจดทะเบียนเป็นสินค้า GI ซึ่งกำลังจะได้หนังสือรับรองในเร็ววัน ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมุ่งสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรยุคประเทศไทย 4.0

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

นิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา พร้อมหัวหน้ากลุ่ม ฝ่าย นักวิชาการงานไม้ผลในระดับ
19

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ของหวานในมื้อที่กินทุเรียนสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินข้าวมันไก่ 2 จาน หรือเท่ากับการกินอาหาร 2 มื้อ นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อย เพราะการกินทุเรียนปริมาณมาก หรือกินทุเรียนบ่อยๆ จะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดของผู้ป่วยได้

“ทั้งนี้ ควรกินทุเรียนสลับกับการกินผลไม้ที่หลากหลายชนิดในแต่ละวัน เช่น กินทุเรียนคู่กับมังคุด เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีน้ำในปริมาณมาก จึงทำให้มีฤทธิ์เย็นช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง และสารต้านการอักเสบ ช่วยแก้ร้อนใน เหมาะกับการกินคู่กับทุเรียน อย่างไรก็ดี ทุเรียนไม่ได้เป็นผลไม้ต้องห้าม หากอยากกินหรือชอบกิน สามารถกินได้ แต่กินในปริมาณที่เหมาะสม”นพ.สราวุฒิกล่าว

ตลาดทุเรียนพลิกล็อก ยอดออร์เดอร์ส่งออกจีนพุ่ง หลังโควิด-19 สงบ พาณิชย์ชี้ไตรมาสแรกตลาดจีนโต 90% มูลค่า 8.4 พันล้าน พ่อค้าแย่งซื้อ ล้งจีนหน้าใหม่เพิ่ม 300 ราย แห่ขายออนไลน์ ทำราคาหน้าสวน “จันทบุรี-ตราด” ขยับแรง 105-110 บาท/ก.ก. ราคาขายปลีก 150-170 บาท/ก.ก. ส่วนทุเรียนตกไซซ์แพงไปด้วย
โรงงานแปรรูปหวั่นต้นทุนพุ่ง

“ทุเรียน” เป็นผลไม้ไทยระดับแถวหน้าที่ครองใจผู้บริโภคชาวจีนมานาน ส่งผลให้ที่ผ่านมาทุเรียนมีราคาสูงขึ้น จากปัจจัยการส่งออกในปริมาณที่มาก ทำให้ราคาบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562 มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้ราคาทุเรียนคงลดต่ำลง แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ราคาทุเรียนขายปลีกแบบไม่แกะเปลือกยังมีราคาสูงถึง กก.ละ 150-170 บาท ใกล้เคียงกับปีก่อน

ราคาพุ่งต้นฤดู

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด เปิดเผยว่า ราคาทุเรียนปีนี้สูงมาก เนื่องจากตลาดจีนยังมีความต้องการในปริมาณที่สูง หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนเริ่มสงบ แม้การขนส่งทางบกจะไม่สะดวก แต่ผู้ประกอบการก็ปรับตัวหันมาขนส่งทางเรือแทน

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูราคาในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้อีกครั้ง จะลดต่ำลงหรือไม่ เพราะทุเรียนภาคตะวันออกกำลังเข้าสู่ช่วงพีก รวมถึงผลผลิตในภาคใต้เริ่มออกมาสมทบด้วย ราคาหน้าสวนจะต่ำกว่า 100 บาทหรือไม่ ต้องคอยจับตา เพราะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทุเรียนตกไซซ์ราคาสูงไปด้วย และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานแปรรูปที่ทำทุเรียนแช่แข็ง หรือการแปรรูปอื่น ๆ ที่อาจมีต้นทุนสูงขึ้น อาจสู้ราคาไม่ไหว

จากข้อมูลระบุว่า ราคาทุเรียนตกไซซ์ปี 2562 ตกกิโลกรัมละ 50-70 บาท ผู้ประกอบการจึงประสบภาวะขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตทุเรียนแช่แข็ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้เนื้อทุเรียนมากถึง 4-4.5 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 200-280 บาท ประกอบกับระยะหลังชาวจีนเข้ามาช้อนซื้อทุเรียนตกไซซ์ในช่วงที่ราคาถูกลง แล้วส่งไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่ประเทศจีน แล้วค่อยผลิตออกมาขายในต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย

ล่าสุด สหกรณ์ได้หันมาส่งออกทุเรียนผลสดกันบ้างแล้ว อีกปัญหาที่ต้องระวังคือ ราคาที่สูงขึ้นนั้น อาจไม่ใช่ราคาที่แท้จริง ถ้าเกษตรกรไม่พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพราะจีนเข้มงวดมากเรื่องการรับรองสวนทุเรียนต้องได้มาตรฐาน GAP ส่วนโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP

“ก่อนโควิดจะระบาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ส่งออกไทยวิตกว่า ยอดขายทุเรียนไปตลาดจีนจะลดลงมาก จึงเตรียมแผนทำทุเรียนแช่แข็งแทนการส่งออกผลสดไปจีนแทน แต่ปรากฏว่าราคาตลาดกลับสูงขึ้นเร็ว ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงต้นฤดู” นายวุฒิพงศ์กล่าว

ล้งใหม่แย่งซื้อ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกทุเรียนไปจีนในรูปแบบการค้าออนไลน์ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ราคาทุเรียนสูงกว่าปี 2562 มาตั้งแต่ต้นฤดู แม้จะมีผลผลิตทยอยออกมากแล้ว แต่ราคายังไม่ลดลงตาม ปัจจุบันราคาพันธุ์หมอนทองกิโลกรัมละ 105-110 บาท คาดว่าปีนี้ราคาจะไม่ลดต่ำกว่า 100 บาท

ขณะที่ทุเรียนตกไซซ์ก็ราคาสูงถึง 80-90 บาท เนื่องจากทุเรียนกระจายตัวออกหลายรุ่น ทำให้ปริมาณไม่ล้นตลาด ที่สำคัญ “ล้ง” หรือผู้ประกอบการชาวจีนมีการแข่งขันกันสูงมาก ถึงขั้นแย่งกันซื้อ ปัจจุบันมีล้งเพิ่มขึ้นรวมแล้วเกือบ 300 ล้ง

“ที่ผ่านมาการส่งออกทุเรียนไปจีน ติดปัญหาเรื่องขนส่งล่าช้า เมื่อต้นเดือนเมษายนมีรถขนส่งไปติดที่ด่านโหยวอี้กวน 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ทุเรียนแตกเสียหาย ขายออนไลน์ไม่ได้ ขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท เมื่อมีการเจรจากำหนดวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้เปิดด่านเพิ่มอีก 2 ด่าน คือ ด่านรถไฟผิงเสียงและด่านตงซิน ทำให้สินค้ากระจายได้ 3 ด่าน ระบบขนส่งจึงคล่องตัว จากเดิมมีรถติดค้างใช้เวลาเดินทางถึง 9 วัน ตอนนี้เหลือเพียง 3 วัน จึงต้องเร่งใช้เส้นทางผ่านด่านที่เปิดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

วอนรัฐหาตลาดใหม่

นายณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ รองประธานทุเรียนแปลงใหญ่จันทบุรี กล่าวว่า ปีนี้มีทุเรียน 2-3 รุ่น ช่วงรอยต่อทุเรียนแต่ละรุ่น ผลผลิตจะขาดช่วง ทำให้ราคาพุ่งขึ้น 10-15 บาทจากราคาปกติ เช่น ตอนนี้ราคา 105-110 บาท จะเพิ่มเป็น 120 บาท ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ทุเรียนจันทบุรียังอยู่ 50-55% และเดือนพฤษภาคมจะออกมากสุด ปีนี้ล้งรับซื้อเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แย่งกันซื้อถึงขั้นเหมาสวนใหญ่ ๆ ไว้ก่อน ราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท ปีที่แล้วราคาต่ำเฉลี่ยกิโลกรัมละ 70-80 บาท ปีนี้สูงกว่าปีก่อนและไม่น่าจะต่ำกว่า 100 บาท เพราะขนส่งน่าจะคล่องตัวขึ้น

แม้จีนจะเจอวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่มีผลต่อการส่งออกทุเรียน เพราะพ่อค้าจีนเข้ามาเหมาซื้อไปก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว เพราะเชื่อว่าคุณสมบัติของเนื้อทุเรียนมีกำมะถัน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นป้องกันเชื้อไวรัสได้

“ปัญหาที่พบ บางล้งไม่ได้จดทะเบียนหรือผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน จึงมีเล็ดลอดส่งทุเรียนอ่อนปะปนไป ซึ่งเป็นผลเสียต่อมาตรฐานของทุเรียนไทย และล้งจีนก็เป็นผู้กำหนดราคาทุเรียนตั้งแต่ต้นทางไปปลายทาง เกษตรกรไทยจึงเสียเปรียบ หากมีการซื้อกดราคาในอนาคต ภาครัฐต้องหาตลาดใหม่ ๆ เป็นทางเลือกให้ผลไม้ไทย ทั้งทุเรียน มังคุด เพื่อแก้ปัญหาด้านการตลาด” นายณรงค์สิชณ์กล่าว

ส่งออก Q1 โต 90%

รายงานข่าวจากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2563 (26 มีนาคม 2563) ระบุว่า ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก 3 จังหวัด จันทบุรี ตราด ระยอง ปี 2563 ผลผลิตเพิ่มขึ้น 54,492 ตันหรือ 11% จากปี 2562 ผลผลิต 495,543 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 550,035 ตัน จันทบุรี ปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 41,154 ตันหรือ 12.13%

จากปี 2562 ผลผลิต 339,292 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 380,446 ตัน ตราดปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 7,018 ตันหรือ 14.57% จากปี 2562 ผลผลิต 48,158 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 55,176 ตัน ระยอง ปี 2563 ผลผลิตเพิ่ม 6,320 ตันหรือ 5.85% จากปี 2562 ผลผลิต 108,093 ตัน ปี 2563 ผลผลิต 114,413 ตัน

ผลผลิต 3 จังหวัดจะออกมากช่วงเดือนเมษายน ปริมาณ 171,951 ตันหรือ 31.26% เดือนพฤษภาคม ปริมาณ 208,485 ตันหรือ 37.90% เดือนมิถุนายน ปริมาณ 98,565 ตันหรือ 17.92%

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่าส่งออกสินค้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งในไตรมาส 1/2563 มีมูลค่า 8,492 ล้านบาท เพิ่ม 25.78% โดยส่งออกไปตลาดจีนเป็นอันดับ 1

คิดเป็น 66.94% ของการส่งออกทั้งหมด ด้วยมูลค่า 5,685 ล้านบาท และมีอัตราขยายตัวเพิ่ม 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออก 2,986 ล้านบาท รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 1,524 ล้านบาท ลดลง 34.69% ฮ่องกง มูลค่า 1,137 ล้านบาท ลดลง 11% สหรัฐ 70.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และไต้หวัน 27.60 ล้านบาท ลดลง 4.35%

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ระแส “ทุเรียนฟีเวอร์” ที่ขณะนี้ได้ไต่ระดับดีกรีไปจนจะถึงขีดสุดอยู่รอมร่อ เอาเป็นว่าใครไม่ได้ไปกินทุเรียนที่จันทบุรีปีนี้ เรียกว่า “ตกเทรนด์” เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายไปเลย อาจพูดคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง!!

ว่าด้วยเรื่องทุเรียนเมืองจันท์ “จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี หลังประกาศกลยุทธ์บวกผลักดันนโยบาย สร้างจันทบุรีเป็น “มหานครแห่งผลไม้” แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว ซึ่งรัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็รับปาก และรับลงมือปฏิบัตินำพาชาวจีนหลายสิบคนจากหลายๆ เมืองจากประเทศจีนนั่งเครื่องบินเดินทางมาซื้อทุเรียนถึงแหล่งเพาะปลูก ซึ่งแหล่งสำคัญหนีไม่พ้นจังหวัดจันทบุรีนี่เอง

นอกจากการเดินทางบุกซื้อถึงที่แล้ว ยังมีบริการ “ทุเรียนเดลิเวอรี่” รับจัดหาและส่งทุเรียนถึงบ้านโดย “อาลีบาบา” อีกด้วย ทำเอาทุเรียนเมืองจันท์คุณภาพดีหลายแสนลูกเวลานี้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนที่จังหวัดจันทบุรีเลยตกอยู่ในสภาพทุเรียนขาดแคลน หาเกรดเอลำบาก อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีทุเรียนดีๆ ให้กินกัน ของดีก็ยังมีอยู่ที่เมืองจันท์เพียงแต่ว่า “มีน้อย” พอเข้าเดือนมิถุนายนปลายๆ เดือน ทุเรียนก็จะเริ่มวายแล้ว

ประธานหอการค้าจันทบุรีเล่าว่า ด้วยความที่จังหวัดจันทบุรีเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ มีอายุกว่า 300 ปี ซึ่งที่เรียกชุมชนริมน้ำนั้นเป็นการเรียกรวม 3 ชุมชนเข้าด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนท่าหลวง, ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง ย่านนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะชุมชนท่าหลวงซึ่งเป็นพื้นที่รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองจันทบุรี พ.ศ.2419 และยังเป็นพื้นที่รวมหลากหลายวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าขายสมัยนั้น

เมื่อเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ทำให้การค้าขายเกิดขึ้นตามแนวชุมชมติดริมน้ำ ส่งผลให้ที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ท่าจอดเรือสินค้า” หลายแห่ง และมีการติดต่อไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้าทั้งภายในและนอกชุมชนกันอย่างคึกคัก รวมไปถึงการซื้อขายผลไม้ คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ฯลฯ อีกทั้งเมื่อก่อนการอยู่อาศัยสองฝั่งแม่น้ำนั้นต้องติดต่อกันด้วยเรือ โดยใช้เรือพายและแจวข้ามแม่น้ำในการไปมาหาสู่กัน เนื่องจากยังไม่มีสะพานอย่างทุกวันนี้ ยิ่งทำให้ในปัจจุบันที่นี่จึงยังมีท่าน้ำต่างๆ เกิดขึ้น ในชุมชน ตั้งแต่หัวถนนต่อเนื่องจนถึงสุดถนน ซึ่งบางบ้านที่อยู่ติดริมน้ำก็ยังใช้หลังบ้านตัวเองเป็นที่อาบน้ำ ล้างจาน และทำกิจวัตรต่างๆ อยู่ถึงทุกวันนี้

ท่าน้ำนั้นมีทั้งท่าน้ำสาธารณะและท่าน้ำส่วนตัว แต่ท่าน้ำที่สำคัญมีทั้งหมด 7 ท่าด้วยกัน คือ ท่าหลวง อยู่บริเวณหัวสะพานวัดจันทนาราม ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ท่าหมอทอด ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย ท่าประชานิยม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนประชานิยม ท่าแม่ผ่องศรี ตั้งอยู่บริเวณตรอกใกล้ร้านขายยาจังกวนอัน ท่าศาลเจ้าที่ ท่าวัดโรมันคาทอลิก ท่าตาโท ตั้งอยู่ท้ายสุดของชุมชน

และเป็นมาตั้งแต่โบราณแล้วว่าจันทบุรีเป็นเมืองแห่งผลไม้ นิยมปลูกกันมากทั้งมังคุด ทุเรียน สละ เงาะ และพืชผักอื่นๆ ล้วนเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย อาทิ พริกไทยและยางพารา

ประธานหอการค้าบอกอีกว่า เนื่องจากจันทบุรีมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับปลูกผลไม้เหล่านี้ ทำให้จังหวัดจันทบุรีมีผลไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย ผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของจันทบุรี คือ สละเนินวง ปลูกกันมากในบริเวณค่ายเนินวง ต.บางกะจะ ผลไม้ของจังหวัดจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลไม้ของจังหวัดในแต่ละปีจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้น ปริมาณผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปีนั้นก็จะมีปริมาณลดลง

“โดยเฉพาะเรื่องของทุเรียนนั้น ยุคก่อนสมัยที่ยังไม่มีรถใช้กัน ชาวสวนจากบ้านเนินยาง บ้านคมบาง โป่งแรด ท่าใหม่ เขาต้องขนย้ายทุเรียนกันด้วยการหาบมาขายที่ตลาดมาตั้งแต่ตี 4 ใช้เวลาเดินทางด้วยความยากลำบากมากกว่าจะมาถึง ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพราะฉะนั้นสมัยก่อนกว่าจะได้กินทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับทุเรียนที่นำมาขายสมัยก่อนจะมีจุดซื้อขายอยู่ที่ศาลาปากแซง ศาลาแดง เกาะล้อมชะนีโรงสีนายเหม็ง (ตรงข้ามท่าแม่ผ่อง) นี่คือเรื่องราวในอดีตของจันทบุรี ดินแดนแห่งมหานครผลไม้” ประธานหอการค้าสรุป

จากกรณีที่เพจดังในพื้นที่พัทยาได้โพสต์ภาพการขายทุเรียนในรูปแบบใหม่ขายแต่เนื้อ ไม่ขายเปลือก โดยผู้ที่โพสต์ตามเพจ “สุทธิดา สุวรรณนาใจ” โพสต์ข้อความว่า 3,000 บาทไม่ขาย ขายเพียง ก.ก.ละ 350 บาท หมอนทองเนื้อดี ไม่มีเปลือก เนื้อสวย รสชาติอร่อย ขีดละ 35 บาทเท่านั้น พิกัดหน้าวัดหนองเกตุใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยพบว่าโพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จนมีคนมากดไลค์เป็นจำนวนมาก พร้อมสอบถามเส้นทางกันไปยังร้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มีรายงานว่า วันที่ 11 พ.ค. จากการลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ที่ร้านของผู้สื่อข่าว พบว่ามีประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก พากันเดินทางมาที่ร้ายขายทุเรียนจนทำให้บรรยากาศการซื้อขายทุเรียนคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน นางไพรินทร์ จันทร์มี แม่ค้าขายทุเรียนรายนี้ เปิดเผยว่า สำหรับไอเดียที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากว่า ปัจจุบันทุเรียนขายยาก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลือกเนื้อไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเนื้อแข็ง บางคนกรอบนอกนุ่มใน บางคนชอบทานเนื้อนิ่ม เวลาขายให้ลูกค้าแต่ละคนก็ต้องเจาะทุกเรียนมากกว่า 3-4 ลูก กว่าจะได้เนื้อที่ถูกใจลูกค้า และที่ผ่านมาฝนตกอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าจึงไม่ค่อยออกมาซื้อทุกเรียนกินกัน ทำให้ทุเรียนที่เอามาขายใช้เวลามากกว่า 2-3 วันจึงจะหมด บางทีหากขายไม่ทันเนื้อทุเรียนก็จะเละไม่เหมาะกับการรับประทาน

จึงมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะขายสินค้าได้ และขายให้เนื้อทุเรียนเป็นที่ถูกใจลูกค้า จึงลองแกะทุเรียนเพื่อขายแต่เนื้อโดยไม่รวมเปลือกชั่งกิโลขายเหมือนร้านทั่วไป กรณีนี้จะทำให้ลูกค้ามีสิทธิได้เลือกเนื้อทุเรียนที่ชอบได้ตามความพอใจ

จากนั้นจึงมาคิดว่าจะขายที่ราคาเท่าไหร่ โดยไม่ได้เน้นกำไรมากนัก แต่เน้นการขายเร็ว ขายไวก็เลยกำหนดไว้ที่ราคากิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้ขายมาเป็นวันที่ 3 แล้ว และหลังจากที่บุตรสาวได้โพสต์เรื่องลงในโลกโซเชียล ก็ทำให้มีลูกค้าสนใจจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาเลือกซื้อทุเรียนกันอย่างต่อเนื่อง จนทุเรียนแทบจะสุกไม่ทันกันเลยทีเดียว

ด้าน คุณภัทราพร ศรีรารัตน์ ลูกค้าซื้อทุเรียน เผยว่า เปิดเพจมาเห็นก็เลยตามมาซื้อกิน ซึ่งวันนี้ซื้อไปมากถึง 3 กิโลกรัม ซึ่งธรรมดาก็เป็นคนที่ชอบทานทุเรียนอยู่แล้ว และก็พบว่าทุเรียนที่ซื้อไปมีเนื้อดีมาก ได้กินตามที่ต้องการได้ทุกเม็ด ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเจอทุเรียนที่เละบ้าง แข็งบ้าง ในลูกเดียวกัน บางลูกมีไม่กี่พู กินได้จริงๆไม่กี่เม็ด ถึงแม้ว่าราคาขายทั้งลูกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ120 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับซื้อแบบแต่เนื้ออาจจะดูแพงกว่า แต่สำหรับส่วนตัวเองก็ถือว่าคุ้มค่าได้กินเนื้อทุเรียนที่ตัวเองชอบ

ขณะที่ คุณเบญจรัตน์ ศรีเรือง ลูกค้าทุเรียนอีกรายเดินทางมาจากต่างพื้นที่ ด้วยเปิดเพจพบจึงอยากจะลองมาเลือกซื้อทุเรียนแบบไม่มีเปลือกดู และได้ไปกว่า 2 กิโล โดยต้องบอกว่าชอบมากที่สามารถเลือกเนื้อทุเรียนได้เอง เนื้อสวยหวาน และที่สำคัญคือสามารถเลือกได้ตามใจ ส่วนราคาที่ทางร้านขายที่กิโลกรัมละ 350 และ 450 บาท นั้นถือว่าไม่แพง ถ้าเทียบกับเนื้อทุเรียนที่ได้ทาน เพราะคุณภาพสามารถเลือกได้มากกว่าซื้อเป็นลูก และก็อยากให้ร้านทุเรียนร้านอื่นๆทำแบบนี้บ้างคือขายทุเรียนแต่เนื้อ เหมือนการแสดงความจริงใจกับลูกค้า

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา นายชนิด ยอดแก้ว ประธานสภาเกษตรกรอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมที่วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ผลิตเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่าจะช่วยป้องกันการนำทุเรียนอ่อนออกขายในท้องตลาด พร้อมส่งเสริมทุเรียนคลองลอยที่มีคุณภาพดีให้ขายดียิ่งๆ ขึ้นไป

นายชนิดกล่าวถึงปัญหาที่ผ่านมาว่า มีพ่อค้าทุเรียนจากต่างพื้นที่ เข้ามาซื้อในคลองลอยแบบเหมาสวนล่วงหน้า เมื่อทุเรียนเริ่มจะเก็บเกี่ยวได้ พ่อค้าบางรายฉวยโอกาสตัดทุเรียนอ่อนออกไปจำหน่ายก่อน เพื่อที่จะให้ได้ราคา แต่ทุเรียนอ่อนไม่มีคุณภาพทำให้ราคาตก สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร

ต่อไปนี้การตัดทุเรียนคลองลอย จะสามารถวัดระดับคุณภาพของทุเรียนได้ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เครื่องมือนี้ในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อป้องกัน และใช้กฎหมายควบคุมควบคู่อย่างเคร่งครัด

ด้านนายปราโมทย์ แก้วชูใส นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอบางสะพาน กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนที่วิทยาลัยการอาชีพบางสะพานได้ผลิตสำเร็จในครั้งนี้ จะนำมาใช้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทุเรียนคลองลอยที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียง

ปัจจุบันมีการปลูกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ปีที่ผ่านมามีผลผลิตประมาณ 2,000 ตัน ดังนั้นเครื่องวัดคุณภาพทุเรียน ที่วิทยาลัยการอาชีพบางสะพานผลิตได้ เป็นเรื่องที่ดีที่น่าส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ให้แพร่หลายต่อไป

สำหรับอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน นายจิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน พร้อมด้วยนักศึกษา ร่วมกันผลิตโครงงานนวัตกรรมและงานวิจัยของนักศึกษาวิทยาลัย จนประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน ที่มีความถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด ชนะเลิศระดับตัวแทนภาคกลาง และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมโดดเด่นระดับชาติ ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2560 ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ

นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประกอบด้วย นายเมธี ขำพวง, นายพันทิวา คำแก้ว และนายสมทรง แจ้งอักษร จากแผนกวิชาเทคนิคการผลิต ใช้เวลาคิดค้น 3 เดือน เครื่องมือวัดคุณภาพทุเรียน มีลักษณะคล้ายเข็มฉีดยา เมื่อแทงเข็มลงไปในพูทุเรียน อุปกรณ์จัะส่งสัญญาณไปตรง scale 5 ของเนื้อทุเรียน ที่ระบุไว้ 3 ระดับ

โดยสีแดงหมายถึงทุเรียนดิบ สีเหลืองหมายถึงทุเรียนห่าม และสีเขียวหมายถึงทุเรียนสุก อุปกรณ์นี้ใช้งานง่ายและสามารถทราบผลได้ในทันที ปัจจุบันมีการตั้งราคาไว้ที่ 1,000 บาทเท่านั้น ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากทั้งเกษตรกรและพ่อค้า

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

พูดถึงเค้กทุเรียนหลายคนคงนึกไปถึงการเอาทุเรียนจริงๆ มาทำเป็นเค้ก แต่เค้กทุเรียนในคลิปนี้ไม่เหมือนเค้กทุเรียนอื่นๆ เพราะทำออกมาเหมือนจริงสุดๆ ชนิดที่ดูภายนอกอาจดูไม่ออกเลย จนเมื่อใช้มีดตัดเค้กผ่าลงไป ก็พบกับหนามทุเรียนสุดนุ่มนิ่ม แถมภายในยังเป็นตัวเค้กช็อกโกแลตสลับชั้นกับครีม

ทั้งนี้ วิดีโอดังกล่าวโพสต์โดยเฟซบุ๊กเพจ แซบแบบ “บ้านๆ” ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ระบุว่าเหมือนจริงมาก เอาใจคนที่อยากกินทั้งเค้กและทุเรียน

เข้าฤดูกาลผลไม้อย่างทุเรียนแล้ว หลายคนคงจะเริ่มซื้อหามากินกันบ้าง ถึงแม้จะเป็นผลไม้แสนอร่อย แต่ก็มีข้อควรระวังในการกิน เพื่อให้ได้รับพลังงานในระดับที่พอดี ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไปดูคำแนะนำการกินทุเรียนให้พอดีจากกรมอนามัยกัน

ที่มา เพจเฟซบุ๊กกระทรวงสาธารณสุข