สาลิกา! สุดยอดทุเรียนพื้นเมือง อันดับ 1 ภาคใต้ หวานมัน สีเหลืองทอง ปลูกที่พังงา

Business ธุรกิจ

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา เล่าว่า จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเป็นเมืองเกษตรที่ผลิตสินค้าสำคัญๆ หลายชนิด ทั้งไม้ผลจำพวกมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง สินค้าปศุสัตว์ ประมง และโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์สาลิกา ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดพังงามีพื้นที่ปลูกทุเรียนสาลิกา ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้ชื่อเสียงของทุเรียนสาลิกากำลังเป็นที่รู้จักและมีผู้บริโภคที่ต้องการลิ้มลองทุเรียนขึ้นชื่อพันธุ์นี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในปีนี้สภาพอากาศจะไม่อำนวย ทุเรียนยืนต้นตายไปบางส่วน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

ลักษณะและจุดเด่นของทุเรียนสาลิกานั้น เนื่องจากเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและชอบอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในเขตจังหวัดพังงาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังทนทานต่อโรคใบติด ต้านทานโรครากเน่าโคนเน่า ประกอบกับพื้นที่ปลูกเป็นที่เนินและไหล่เขา จึงมักไม่ค่อยเจอปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า ลักษณะผลของทุเรียนสาลิกานั้นค่อนข้างกลม คล้ายกับลูกแอปเปิ้ล ซึ่งสามารถตั้งได้โดยไม่ล้ม มีความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตร รวมขั้วผล มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกผลบาง มีหนามสั้นและค่อนข้างถี่ ลักษณะผลดิบเปลือกจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่สีจะอ่อนลงเล็กน้อย และมีสีน้ำตาลอ่อนบริเวณร่องพู (สีสนิม)

เมล็ดภายในส่วนใหญ่เป็นเมล็ดลีบและมีขนาดเล็กเกือบทั้งหมด ผลสุกเหมาะสำหรับรับประทานเมื่ออายุ 110 วัน หลังดอกบาน หรือประมาณ 90 วัน หลังติดผล เกษตรกรนิยมตัดผลทุเรียนเมื่อแก่จัด และเมื่อเริ่มมีกลิ่นหอมก็ให้แกะรับประทานได้ทันที อย่าปล่อยให้ทุเรียนร่วงหล่นเอง เนื้อในจะเละ รสชาติไม่อร่อย ผลทุเรียนสาลิกาที่ตัดได้อายุพอดีจะมีรสชาติหวานมัน และมีความหวานมากกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ แต่ละพูมีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองทอง เส้นใยละเอียด เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์คงไว้ แต่กลิ่นไม่ฉุน น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ย ประมาณ 1.3-1.5 กิโลกรัม ขนาดผลใหญ่สุดไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม ให้ผลผลิตได้เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 4-5 ปี

คุณธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา เจ้าของสวนทุเรียนสาลิการายใหญ่ที่สุดของอำเภอกะปง ให้ข้อมูลว่า สำหรับแปลงที่ลงไปเยี่ยมชม สวนมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด ประมาณ 5 ไร่ จำนวน 83 ต้น ผลผลิตโดยเฉลี่ย ต้นละ 50 ผล น้ำหนักประมาณ ผลละ 1.2-2.5 กิโลกรัม หรือคิดง่ายๆ ประมาณไร่ละ 1,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท ทุเรียนพันธุ์ “สาลิกา” หรือที่เรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “เรียนสากา” เป็นทุเรียนที่มีต้นกำเนิดที่อำเภอกะปง มีรสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลืองทอง เนื้อเนียน กากใยน้อย เมล็ดเล็กลีบ เนื้อหนา และมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และผลเล็กเหมาะที่จะรับลประทาน 1-2 คน ต่อผล

ทุเรียนพันธุ์นี้เป็นพืชอัตลักษณ์ของชาวพังงา เป็นพืชสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ และเป็นพืชรับแขก จนมีคำกล่าวขานที่ว่า “ถ้ามาพังงาแล้วไม่ได้ชิมทุเรียนสาลิกา เหมือนมาไม่ถึงเมืองพังงา” ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสาลิกาในอำเภอกะปง ได้รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ปรึกษาหารือ พัฒนาคุณภาพผลผลิต และจัดการตลาด โดยมีสมาชิกแกนนำประมาณ 20 คน โดยกลุ่มเครือข่ายพยายามแนะนำสมาชิกในเรื่องการตัดทุเรียนให้ได้อายุพอดี จะได้ทุเรียนคุณภาพที่ดี เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคผิดหวัง และเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดย

การทำ QR Code เพื่อรับรองคุณภาพ และตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ การจัดจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์ และร่วมกับสภาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด บริษัทประชารัฐ ขอจดทะเบียนเป็นสินค้า GI ซึ่งกำลังจะได้หนังสือรับรองในเร็ววัน ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมุ่งสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรยุคประเทศไทย 4.0

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

นิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา พร้อมหัวหน้ากลุ่ม ฝ่าย นักวิชาการงานไม้ผลในระดับ
19