เปิดตำนาน กว่าจะได้กิน…ทุเรียนเมืองจันท์

Food Story อาหาร

ระแส “ทุเรียนฟีเวอร์” ที่ขณะนี้ได้ไต่ระดับดีกรีไปจนจะถึงขีดสุดอยู่รอมร่อ เอาเป็นว่าใครไม่ได้ไปกินทุเรียนที่จันทบุรีปีนี้ เรียกว่า “ตกเทรนด์” เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายไปเลย อาจพูดคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง!!

ว่าด้วยเรื่องทุเรียนเมืองจันท์ “จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี หลังประกาศกลยุทธ์บวกผลักดันนโยบาย สร้างจันทบุรีเป็น “มหานครแห่งผลไม้” แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว ซึ่งรัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็รับปาก และรับลงมือปฏิบัตินำพาชาวจีนหลายสิบคนจากหลายๆ เมืองจากประเทศจีนนั่งเครื่องบินเดินทางมาซื้อทุเรียนถึงแหล่งเพาะปลูก ซึ่งแหล่งสำคัญหนีไม่พ้นจังหวัดจันทบุรีนี่เอง

นอกจากการเดินทางบุกซื้อถึงที่แล้ว ยังมีบริการ “ทุเรียนเดลิเวอรี่” รับจัดหาและส่งทุเรียนถึงบ้านโดย “อาลีบาบา” อีกด้วย ทำเอาทุเรียนเมืองจันท์คุณภาพดีหลายแสนลูกเวลานี้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนที่จังหวัดจันทบุรีเลยตกอยู่ในสภาพทุเรียนขาดแคลน หาเกรดเอลำบาก อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีทุเรียนดีๆ ให้กินกัน ของดีก็ยังมีอยู่ที่เมืองจันท์เพียงแต่ว่า “มีน้อย” พอเข้าเดือนมิถุนายนปลายๆ เดือน ทุเรียนก็จะเริ่มวายแล้ว

ประธานหอการค้าจันทบุรีเล่าว่า ด้วยความที่จังหวัดจันทบุรีเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ มีอายุกว่า 300 ปี ซึ่งที่เรียกชุมชนริมน้ำนั้นเป็นการเรียกรวม 3 ชุมชนเข้าด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนท่าหลวง, ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง ย่านนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะชุมชนท่าหลวงซึ่งเป็นพื้นที่รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองจันทบุรี พ.ศ.2419 และยังเป็นพื้นที่รวมหลากหลายวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าขายสมัยนั้น

เมื่อเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ทำให้การค้าขายเกิดขึ้นตามแนวชุมชมติดริมน้ำ ส่งผลให้ที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ท่าจอดเรือสินค้า” หลายแห่ง และมีการติดต่อไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้าทั้งภายในและนอกชุมชนกันอย่างคึกคัก รวมไปถึงการซื้อขายผลไม้ คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ฯลฯ อีกทั้งเมื่อก่อนการอยู่อาศัยสองฝั่งแม่น้ำนั้นต้องติดต่อกันด้วยเรือ โดยใช้เรือพายและแจวข้ามแม่น้ำในการไปมาหาสู่กัน เนื่องจากยังไม่มีสะพานอย่างทุกวันนี้ ยิ่งทำให้ในปัจจุบันที่นี่จึงยังมีท่าน้ำต่างๆ เกิดขึ้น ในชุมชน ตั้งแต่หัวถนนต่อเนื่องจนถึงสุดถนน ซึ่งบางบ้านที่อยู่ติดริมน้ำก็ยังใช้หลังบ้านตัวเองเป็นที่อาบน้ำ ล้างจาน และทำกิจวัตรต่างๆ อยู่ถึงทุกวันนี้

ท่าน้ำนั้นมีทั้งท่าน้ำสาธารณะและท่าน้ำส่วนตัว แต่ท่าน้ำที่สำคัญมีทั้งหมด 7 ท่าด้วยกัน คือ ท่าหลวง อยู่บริเวณหัวสะพานวัดจันทนาราม ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ท่าหมอทอด ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย ท่าประชานิยม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนประชานิยม ท่าแม่ผ่องศรี ตั้งอยู่บริเวณตรอกใกล้ร้านขายยาจังกวนอัน ท่าศาลเจ้าที่ ท่าวัดโรมันคาทอลิก ท่าตาโท ตั้งอยู่ท้ายสุดของชุมชน

และเป็นมาตั้งแต่โบราณแล้วว่าจันทบุรีเป็นเมืองแห่งผลไม้ นิยมปลูกกันมากทั้งมังคุด ทุเรียน สละ เงาะ และพืชผักอื่นๆ ล้วนเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย อาทิ พริกไทยและยางพารา

ประธานหอการค้าบอกอีกว่า เนื่องจากจันทบุรีมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับปลูกผลไม้เหล่านี้ ทำให้จังหวัดจันทบุรีมีผลไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย ผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของจันทบุรี คือ สละเนินวง ปลูกกันมากในบริเวณค่ายเนินวง ต.บางกะจะ ผลไม้ของจังหวัดจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลไม้ของจังหวัดในแต่ละปีจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้น ปริมาณผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปีนั้นก็จะมีปริมาณลดลง

“โดยเฉพาะเรื่องของทุเรียนนั้น ยุคก่อนสมัยที่ยังไม่มีรถใช้กัน ชาวสวนจากบ้านเนินยาง บ้านคมบาง โป่งแรด ท่าใหม่ เขาต้องขนย้ายทุเรียนกันด้วยการหาบมาขายที่ตลาดมาตั้งแต่ตี 4 ใช้เวลาเดินทางด้วยความยากลำบากมากกว่าจะมาถึง ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพราะฉะนั้นสมัยก่อนกว่าจะได้กินทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับทุเรียนที่นำมาขายสมัยก่อนจะมีจุดซื้อขายอยู่ที่ศาลาปากแซง ศาลาแดง เกาะล้อมชะนีโรงสีนายเหม็ง (ตรงข้ามท่าแม่ผ่อง) นี่คือเรื่องราวในอดีตของจันทบุรี ดินแดนแห่งมหานครผลไม้” ประธานหอการค้าสรุป