ชวนค้นคว้าหาคำตอบ ชัยนาท เมืองหน้าด่าน 3 แคว้นโบราณ (สุพรรณภูมิ-กรุงศรีอยุธยา-สุโขทัย) เหตุใดใครๆ ต่างปรารถนาได้มาครอบครอง?

มติชนอคาเดมี ชวนตามรอย แพรกศรีราชา เมืองโบราณที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว ในทัวร์ “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

ชมและสัมผัส ศิลปะผสมผสาน โบราณวัตถุหาดูยาก อาทิ หลวงพ่อฉาย ที่มีการจารึกเรื่องราวไว้หลังพระพุทธรูป, พระพิมพ์สมัยต่างๆ, ศิลาจารึกวัดพระบรมธาตุ

สักการะ หลวงพ่อธรรมจักร แห่งวัดธรรมามูล ที่ ร.5 ต้องเสด็จฯ ถึง 3 ครั้ง, หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปศิลปะล้านนา อิทธิพลสุโขทัย, เจดีย์วัดพระแก้ว ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งเจดีย์”, พระวิหารเก้าห้อง ที่ตอนนี้เหลือเพียงเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี แหล่งจัดแสดงพระพิมพ์มากที่สุดในประเทศไทย!!! ฯลฯ

ทริปนี้เดินทางไปกับ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ รามคำแหง ที่จะมาไขคำตอบ ความสำคัญของ “ชัยนาท-สรรคบุรี” แบบเจาะลึก

กำหนดเดินทางวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ราคา 2,800 บาท

คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2Q5oOZJ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy

ใครก็ตามที่เดินทางไปจังหวัดชัยนาทในฐานะนักท่องเที่ยว นอกจากปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งป่าเขาลำเนาไพร ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งชุมชนโบราณแล้ว หมุดหมายอีกอันที่พลาดไม่ได้คือเรื่องของอาหารการกิน เพราะ “ชัยนาท” ได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคกลาง เช่นเดียวกับสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา

พื้นที่มากกว่าครึ่งของจังหวัดเป็นพื้นที่ปลูกข้าว แค่กำลังการผลิตของโรงสีในจังหวัดชัยนาทก็สามารถสีข้าวได้ปีละ 3.5 ล้านตันข้าวเปลือกเข้าไปแล้ว ชาวบ้านและชุมชนของชัยนาทจึงอยู่กินกันอย่างอุดมสมบูรณ์ บวกกับความเป็นชุมชนมาตั้งแต่โบราณ ชัยนาทจึงเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในการทำอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะ “การทำขนม”

ขึ้นชื่อว่าขนมไทย ไม่ว่าเป็นของจังหวัดไหน มักมีรูปแบบและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เจือปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น การนำวัสดุธรรมชาติหรือวัตถุดิบตามธรรมชาติมาใช้ในการทำหรือปรุง หรือการตกแต่ง ซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับขนมไทยเมื่อเปรียบเทียบกับขนมหวานชาติอื่น องค์ประกอบหลักที่เป็นความแตกต่างของขนมไทย คือการใช้วัตถุดิบในธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม เช่น มะพร้าวและกะทิ ข้าวและแป้ง ถั่วและงา กลิ่นหอมจากเทียนอบและดอกไม้ตามธรรมชาติ ตลอดจนการใช้สีสันในการทำขนมก็เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากใบเตย สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีเหลืองจากขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น สีแดงจากครั่ง สีดําจากกาบมะพร้าวเผาไฟ เป็นต้น ข้อสำคัญของที่กล่าวมานี้ล้วนแต่มีอยู่แล้วภายในท้องถิ่น

ในจังหวัดชัยนาทแทบจะทุกอำเภอจะมีการทำขนมพื้นถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเริ่มจาก “กระยาสารท” ของชุมชน อ.มโนรมย์ ต.วัดโคก สืบทอดมาจากขนมกระยาสารทตั้งแต่สมัยสุโขทัย รากศัพท์ของคําว่า “สารท” จริงๆ แล้วเป็นคำในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า “ฤดูใบไม้ร่วง” หรือช่วงระยะปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนําผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะ และขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดี ซึ่งประเพณีแบบนี้ก็มีในแถบประเทศจีนและยุโรปตอนเหนือด้วย

ชาวบ้านร่วมกันกวนกระยาสารท

สำหรับประเทศไทยแล้ว ประเพณีนี้มาแพร่หลายในช่วงสมัยสุโขทัย มาพร้อมกับพราหมณ์ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย แต่ช่วงเวลาตามประเพณีของอินเดียเป็นช่วงที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวงของไทย ชาวบ้านจึงเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่ เอามาคั่ว แล้วตำให้เมล็ดข้าวแบน เรียกว่า “ข้าวเม่า”

ความเชื่อของ “ขนมกระยาสารท” มีอยู่ 2 ตำราด้วยกัน ตําราหนึ่งกล่าวว่ามีพี่น้องอยู่ 2 คนชื่อ “มหากาล” เป็นผู้พี่ ส่วน “จุลกาล” เป็นผู้น้อง ทั้งสองทํานาปลูกข้าวสาลีร่วมกันบนที่นาผืนเดียวกัน จุลกาลนั้นเห็นว่าข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นมีรสหวานอร่อย จึงอยากนำข้าวนั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ ไปปรึกษากับมหากาลพี่ชาย แต่มหากาลไม่เห็นด้วย ในที่สุดจึงต้องแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วน ของใครของมัน เพื่อให้ต่างคนต่างนำข้าวไปใช้กิจอันใดก็ได้

จุลกาลนั้นได้นำเมล็ดข้าวที่กำลังตั้งท้องมาผ่าแล้วต้มกับน้ำนมสด ใส่เนย ใส่น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายกรวด เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารแล้ว จุลกาลได้ทูลความปรารถนาของตนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้บรรลุธรรมวิเศษก่อนใคร หลังจากนั้นเมื่อกลับไปถึงบ้าน ก็พบว่านาข้าวสาลีของตนนั้นออกรวงอุดมสมบูรณ์ สวยงาม จนเก็บเกี่ยวไป 9 ครั้ง ก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างนั้นตลอด

อีกตํานานหนึ่ง เล่าว่าสมัยหนึ่งสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มีเปรตตนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระสงฆ์ ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู เปรตตนนั้นได้เผยความจริงว่าตนเคยเป็นพระสงฆ์ แต่มีความโลภ จึงต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต แล้วเปรตก็ขอพระราชทาน “กระยาสารท” จากพระเจ้าอชาติศัตรู ซึ่งปรุงแต่งด้วยของ 7 อย่าง ได้แก่ น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำนมวัว เพื่อประทังความหิวโหย

ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทําขนมกระยาสารทแล้วกรวดน้ำอุทิศให้แก่เปรตตามที่ขอไว้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับเดือนกันยายน ชาวบ้านจะกวนกระยาสารททําบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ จนกลายเป็นประเพณีสารทไทย หรือเทศกาลกวนขนมกระยาสารทจนถึงทุกวันนี้

กระยาสารทหรือข้าวกระยาสารท ตามประเพณีดั้งเดิมของไทย จะกวนกันในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ที่เรียกว่า “กระยาสารท” นั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกเทศกาลนี้ว่า “สารทลาว” ภาคกลางหรือทั่ว ๆ ไป เรียก “สารทไทย” จะนิยมทําขนมขึ้นมาชนิดหนึ่ง เรียกว่า “กระยาสารท” มีลักษณะคล้ายๆ กัน ประกอบด้วยข้าวตอก ถั่วลิสง งา ข้าวเม่า น้ำตาล กะทิ แบะแซ เป็นต้น

กระยาสารทที่กวนเสร็จแล้ว

“กระยาสารท” มีส่วนผสมหลายอย่าง ล้วนแต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงทั้งสิ้น ได้แก่ ถั่วลิสง มีโปรตีนสูง, ข้าวเม่า ข้าวตอก มะพร้าว มีคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนน้ำตาลและแบะแซ มีกลูโคส-คาร์โบไฮเดรตมาก และ งา มีวิตามินบี 1 เนื่องจาก “กระยาสารท” มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ การรับประทานมากๆ จะมีผลต่อสุขภาพ

สำหรับสูตรการทำกระยาสารทของชุมชน อ.มโนรมย์ ต.วัดโคก (หนึ่งกระทะใบบัว) มีดังนี้ เครื่องปรุงและส่วนผสม ข้าวตอก 1 กก. ถั่วลิสง 6 กก. งาขาวคั่ว 5 กก. ข้าวเม่า 12 กก. แบะแซ 8 กก. น้ำตาลปี๊บ 15 กก. และกะทิ 12 กก.

วิธีทํา-นําถั่วลิสง งา ข้าวเม่ามาคั่วให้สุกพอประมาณแล้วพักไว้ นำกะทิมาเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บจนน้ำตาลละลาย ใส่แบะแซลงไปผสม เคี่ยวให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันจนเหนียวเป็นยางมะตูม จากนั้นนำถั่วลิสง ข้าวตอก ข้าวเม่าที่คั่วเตรียมไว้ใส่ลงไปคนให้เข้ากันดี เคี่ยวไปเรื่อยๆ โดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 30 นาที แล้วตักใส่ถาดสี่เหลี่ยมพักไว้ พออุ่นตัดเป็นสี่เหลี่ยม พักไว้ให้เย็นพร้อมรับประทาน

สมัยโบราณคนไทยจะทําขนมก็เฉพาะในวาระสําคัญเท่านั้น เป็นต้นว่างานทําบุญ เทศกาลสําคัญ หรือตอบรับแขกสําคัญ เพราะขนมบางชนิดจําเป็นต้องใช้กำลังคน อาศัยเวลาในการทําพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นขนมประเพณี ขนมเนื่องในงานแต่งงาน

ที่ อ.สรรพยา ต.ในเมือง จ.ชัยนาท มีขนมอร่อยขึ้นชื่อคือ “ขนมกง” กล่าวได้ว่าขนมกงอยู่คู่คนไทยมาช้านาน เพราะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยเป็นคนมีลักษณะนิสัยใจเย็น รักสงบ และมีฝีมือเชิงศิลปะ เพราะการทำขนมกงต้องใจเย็น เนื่องจากมีหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือต้องมีฝีมือเชิงศิลปะ เป็นเพราะขนมกงเป็นขนมหน้าตาธรรมดาๆ ทําด้วยแป้ง น้ำตาล และมะพร้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ต้องทำออกมาให้น่ารับประทานได้อย่างคาดไม่ถึง

ขนมกง ปั้นเป็นรูปทรงกลมล้อเกวียน

ที่เรียกชื่อ “ขนมกง” สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะของขนมที่เป็นวงกลมเหมือนกงเกวียน และมีกากบาทผ่านกลางเรียกว่า “กํา” บางแห่งจึงมีความหมายว่าเป็นกงกำกงเกวียน กล่าวคือ วงกลมภายนอกหมายถึงการหมุนเวียน เปลี่ยนแปลงชีวิต ส่วนกากบาทที่เรียกว่า “กํา” นั้น เป็นการยึดมั่นความมั่นคงของชีวิต ดังนั้น ขนมกงเมื่อรับประทานแล้วจะทำให้รุ่งเรือง มั่นคง และก้าวหน้าในชีวิต

ความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของขนมกงอยู่ที่รสชาติหอม หวานมัน และมีคุณค่าทางโภชนาการจากถั่วและแป้ง ซึ่งได้ทั้งโปรตีนและพลังงาน สำหรับขนมกงของ อ.สรรพยา ต.ในเมือง จ.ชัยนาท หากอยากได้กินของอร่อยก็ต้องฝีมือชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านวัดคงคาราม ต.โพนางดําตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ใครสนใจซื้อหาโทรศัพท์สอบถามกันได้ 056-430390 ,และ 089-9646032

ขนมกงที่ทอดเสร็จแล้ว

นอกจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าครึ่งแล้ว จ.ชัยนาท ยังมีทำไร่ข้าวโพดด้วย ดังนั้นขนมขึ้นชื่ออีกอย่างของชุมชนบ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง จึงเป็น “ขนมข้าวโพด” หรือจะพูดให้ถูกต้อง คือขนมข้าวโพดเป็นขนมที่ชาวชุมชนลาวครั่ง บ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ได้ทำรับประทานกันในหมู่บ้านและงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน โดยนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัดต่างๆ ชุมชนลาวครั่งมีความเชื่อว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีทั้งคาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ สามารถช่วยให้คนที่รับประทานมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว หน้าตาสดใส ไม่เป็นโรคกระเพาะ

ขนมข้าวโพดจะประกอบด้วยแป้งข้าวโพด น้ำตาล นํามากวนให้เข้ากัน แล้วนำใบข้าวโพดมาห่อและนึ่งให้สุก มีรสชาติอร่อย หวาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน ซึ่งถือว่าเป็นขนมของพื้นบ้านกุดจอก สามารถหารับประทานได้ที่บ้านกุดจอกที่เดียวเท่านั้น ขนมข้าวโพดยังเป็นขนมพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบในหมู่บ้าน และทุกบ้านสามารถทำไว้รับประทานได้เองในครอบครัว ถือเป็นขนมประจำชุมชนไปแล้ว สำหรับกลุ่มที่ทำขนมกงจนของดีโอท็อปในจังหวัด คือนางสมควร จบศรี อยู่ ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท

นอกจากขนมข้าวโพดแสนอร่อยแล้ว ที่ชุมชนบ้านกุดจอก อ.หนองมะโมง ยังมีการทำ “ขนมชั้นครั่ง” ฟังชื่อแล้วออกจะน่ากลัวกว่าน่ากิน แต่ที่จริงแล้วความอร่อยการันตีได้จากผู้ที่เคยลิ้มลองมาแล้ว ขนมชั้นครั่งมีเรื่องราวสืบเนื่องมาจากชุมชนบ้านกุดจอก เป็นชุมชนอพยพจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านกุดจอกประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว เมื่อมาอยู่เป็นชุมชนก็ได้นำวัฒนธรรมประเพณีนวมทั้งการทำอาหารมาประกอบอาชีพค้าขายในชุมชนด้วย หนึ่งในนั้นมี “ขนมชั้นครั่ง” รวมอยู่ด้วย ต่อมาได้แพร่หลายไปสู่ที่อื่นๆ กลายเป็นอาหารในงานมงคลต่างๆ และเป็นอาหารหวานประจำชุมชนที่ได้รับการยอมรับมาจนทุกวันนี้

สำหรับ “ครั่ง” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งอาศัยในฉำฉา ในอดีตกลุ่มผู้ทอผ้าจะใช้ครั่งในการย้อมผ้าไหม ซึ่งให้ “สีแดง” เป็นสีย้อมจากธรรมชาติ หรือมีการนำครั่งไปใช้ในการส่งพัสดุไปรษณีย์ เมื่อผูกเชือกแล้วต้องหยอดครั่ง ป้องกันไม่ให้เชือกลื่นไหล ที่นึกไม่ถึงคือยังนำไปใช้ในการแต่งสีอาหารคาว อาหารหวาน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาหลากหลายของบรรพบุรุษไทย ตัวอย่างขนมหวานที่นิยมของบ้านกุดจอก คือ “ขนมชั้นครั่ง”

ซึ่งตามเคล็ดแล้วนิยมทํา 9 ชั้น หมายถึงความก้าวหน้า เลื่อนชั้น เลื่อนเงินเดือน หรือเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ ในทางสังคมนั้นชาวชุมชนบ้านกุดจอกนําขมนชั้นครั่งมาใช้ในงานประเพณีมงคล เพราะมีสีแดง และยังหมายถึงความเจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เนื่องจากการทำขนมชั้นจะต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ ตั้งแต่การขูดมะพร้าว นวดแป้ง นึ่งขนม ต้องร่วมมือกันทำเนื่องจากเป็นขนมที่ใช้เวลาในการนึ่งแต่ละชั้นจนครบ 9 ชั้น

วิธีการทำเริ่มจากวิธีละลายสีครั่ง โดยนำส่วนผสมครั่ง 4 ขีด ใบเหมือด 10 ใบ น้ำ 10 ลิตร ก่อนอื่นนําครั่งไปผึ่งลมให้แห้ง ล้างใบเหมือดให้สะอาด จากนั้นใส่ครั่งพร้อมใบเหมือดลงในหม้อต้มเติมน้ำใช้ความร้อนปานกลาง เคี่ยวประมาณ 15 นาที หรือจนครั่งละลายดีให้เคี่ยวต่อไปอีกประมาณ 10 นาที ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง นำน้ำครั่งที่ต้มแล้วไปตากแดด 1 วัน จึงนำน้ำครั่งที่ได้ไปผสมแป้งต่อไป

การทำขนมชั้นมีส่วนผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม มะพร้าวขูด น้ำตาลทราย น้ำครั่ง นำมะพร้าวมาขูดคั้นเอาแต่หัวกะทิ นําแป้งทั้งสามชนิดและน้ำตาลทรายใส่ภาชนะสำหรับนวดแป้ง นวดให้เข้ากัน สลับกับการเติมหัวกะทิลงกันไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลทรายหมด ประมาณ 4-5 ครั้ง หมักแป้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเทหัวกะทิที่เหลือทั้งหมดลงในแป้ง คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน กรองแป้งด้วยผ้าขาวบาง และแบ่งแป้งที่กรองแล้วใส่ภาชนะเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำน้ำครั่งผสมลงในแป้ง จะได้สีแดง อีกส่วนหนึ่งเป็นสีขาว นําถาดสี่เหลี่ยมขนาดกลางทาน้ำมัน ใส่รังถึงนึ่งให้ถาดร้อนจัด ตักแป้งสีแดงใส่ถาด นึ่งแป้งให้สุก ประมาณ 15 นาที ตักแป้งสีขาวใส่ นึ่งแป้งให้สุกเช่นเดียวกัน ตักแป้งสีแดงและแป้งสีขาวสลับกันไปจนครบ 9 ชั้น นึ่งครั้งสุดท้ายให้นานกว่าทุกชั้น จนสุกทั่วกันดี ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อขนมชั้นเย็นจึงตัดเป็นรูปตามที่ต้องการ

“ขนมสอดไส้ใบเตย” หารับประทานได้น้อยไม่ค่อยมีขายมากนัก แต่ที่ชุมชน อ.วัดสิงห์ ต.มะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ขึ้นชื่อเรื่องการทำขนมสอดไส้ใบเตย ขนมไทยที่สามารถนําไปใช้ในงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี “ขนมสอดไส้ใบเตย” วิธีทำไม่ยุ่งยาก รวมทั้งวัตถุดิบและส่วนผสมก็หาง่าย ส่วนประกอบอาหาร มีกะทิ น้ำตาล มะพร้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งสลิ่ม ใบเตย ใบตอง

เริ่มวิธีทําไส้ ใส่มะพร้าวทึนทึกกับน้ำตาลลงกระทะ ตั้งไฟ กวนจนเหนียว ยกลง พออุ่นปั้นเป็นก้อนกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. นําไปอบควันเทียน

ขนมสอดไส้ใบเตย

วิธีทําแป้ง นวดแป้งกับหัวกะทิและน้ำใบเตยจนแป้งเหนียวนุ่ม แบ่งแป้งปั้นเป็นก้อนกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว แผ่แป้งให้เป็นแผ่นกลม นำไส้ใส่ รวบแป้งหุ้มไส้ ต้มน้ำให้เดือด ใส่แป้งที่ใส่ไส้แล้วต้มให้สุก เมื่อลอยตัวตักขึ้น จึงนำไปใส่ตรงกลางหน้ากะทิที่ตักใส่ถ้วย ถ้าไม่มีเวลาว่างจะทำ สามารถติดต่อซื้อหาได้ที่ บุญนพา ศุภรัตน์ บ้านเลขที่ 110 หมู่ 1 ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

“ขนมห่อใบตาล” ของชุมชนบ้านหนองต่อ อ.หันคา ต.หันคา จ.ชัยนาท เป็นอีกแห่งที่ขึ้นชื่อว่าทำขนมตาลอร่อย ซึ่ง “ขนมตาล” ถือเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิม ทำมาจากเนื้อตาล มะพร้าว แป้ง และน้ำตาล มีคุณค่าทางอาหารและให้ประโยชน์ต่อร่างกายมาก แต่ปัจจุบันโอกาสที่จะได้รับประทานขนมตาลหรือโอกาสในการได้ทําขนมตาลนั้น มีความยากลําบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการตัดต้นตาลทิ้งและให้ความสําคัญกับต้นตาลน้อยลง ทำให้ต้นตาลบางพื้นที่หมดไป บางแห่งก็จะมีเหลือเฉพาะที่เท่านั้น

โอกาสในการทําขนมตาลหรือโอกาสที่จะได้รับประทานขนมตาลนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงที่ต้นตาลจะให้ผลผลิตลูกตาลมากน้อยขนาดไหน และไม่แน่นอนว่าต้นตาลจะให้ผลผลิตทุกครั้งเสมอไป บางฤดูกาลหาลูกตาลได้ยากมาก กระบวนการทําส่วนผสมมีความยุ่งยาก และส่วนมากกลุ่มลูกค้าโดยทั่วไปจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่นิยม เพราะไม่รู้จัก รูปลักษณ์การบรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดใจ

ดังนั้น ชุมชนบ้านหนองต่อ อ.หันคา ต.หันคา จึงหาวิธีห่อขนมตาลให้ดูแปลกตาไปจากการห่อแบบเดิมๆ หรือใช้ถุงพลาสติก ด้วยการใช้ใบตาลห่อขนมตาล จึงมีคนที่นิยมเรียกติดปากว่า “ขนมตาลหรือขนมใบตาล” หรือ “ขนมตาลโบราณ” นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์และสืบทอดการทําขนมตาลโบราณ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำเป็น

ขนมตาลโบราณ ประกอบด้วยลูกตาลสุก แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เกลือ มะพร้าวขูดใช้โรยหน้า กะทิสด(ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องปรุง) เริ่มทำจากตัดใบตาล (ใบยอดอ่อน)เตรียมไว้ตามจำนวนที่ต้องการ นำใบตาลที่เตรียมไว้มาพับตัดให้เข้ารูป จากนั้นนําใบตาลไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วลนด้วยไฟอ่อนๆ ขั้นต่อมานําลูกตาลสุกมาล้างน้ำให้สะอาด ปอกลูกตาลแล้วยีเอาแต่เนื้อ นำเนื้อตาลใส่ผ้าขาวบางทิ้งไว้ให้แห้ง

ขั้นต่อมาอีกนำนําเนื้อตาล น้ำตาลทราย กะทิ ผสมให้เข้ากันแล้วใส่ในเครื่องปั่น ปั่นให้เหนียมนำไปเก็บในตู้เย็นประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วนำมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า คนให้เข้ากัน ใส่เกลือและผงฟูเล็กน้อยนำไปแช่ตู้เย็นอีก 8 ชั่วโมง จากนั้นนำมาตักใส่ลงในใบตาลที่เตรียมไว้ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะต่อหนึ่งห่อ โดยด้วยมะพร้าวหูตึงขูดเส้น เสร็จแล้วนําไปนึ่งที่น้ำร้อนกำลังเดือดทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาทีจนสุดีพร้อมรับประทาน

ชัยนาทยังมี “ข้าวเกรียบอ่อน” ของชุมชนวัดสิงห์ ต.บ่อแร่ อ.วัดสิงห์ การทำเริ่มต้นขึ้นโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านทำขนมไว้กินเอง แต่เมื่อผู้สูงอายุเหล่านั้นล้มหายตายจากไปจึงหากินไม่ได้ บรรดาลูกหลานในรุ่นหลังจึงคิดอยากลองทำขึ้นมาใหม่ ทั้งทำกินเองและแจกจ่ายญาติพี่น้องในหมู่บ้าน กระทั่งคิดลองทำขายบ้างก็ปรากฏว่าขายได้และยังขายดีด้วย จึงเกิดเป็น “ขนมข้าวเกรียบอ่อน” ทำขายประจำที่ตลาดนัดบ่อแร่ ต.บ่อแร่ อ.วัดสิงห์ ทุกวันเสาร์ รวมทั้งรับสั่งทําตามงานบุญต่างๆ

ข้าวเกรียบอ่อน

ขนมข้าวเกรียบอ่อนถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าหน้าตา สีสัน ดูไปก็คล้ายขนมถั่วแปบ แต่ความแตกต่างของขนมทั้งสองชนิดอยู่ตรงที่แป้งที่นํามาใช้ทำขนม แป้งที่ใช้ทำขนมถั่วแปบจะใช้แป้งข้าวเหนียว ส่วนขนมข้าวเกรียบอ่อนจะใช้แป้งข้าวเจ้ากับแป้งมันผสมกัน

การทำไม่ยากเกินไปนัก โดยนำแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งมันคนให้เข้ากัน ผสมน้ำเย็นลงไป คนไปเรื่อยๆจนแป้งเหนียว แล้วผสมสีลงไปในแป้งดังกล่าวคนให้เข้ากัน ผสมงาขาวและน้ำตาล คนต่อไปให้เข้ากัน จากนั้นใส่น้ำลงในหม้อประมาณค่อนหม้อตั้งไฟให้เดือด ตักแป้งที่ผสมไว้ละเลงบนผ้าขาวบาง แผ่ให้เป็นแผ่นกลมๆ บางๆ เกลี่ยให้ทั่ว แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 2 นาที เปิดฝาเมื่อแป้งสุกแล้ว ใส่ถั่วเขียวหรือไส้ที่เตรียมไว้ลงไปกลางแป้ง ใช้พายจุ่มน้ำแซะแป้งพับเป็นรูปครึ่งวงกลม เสร็จแล้วแซะแป้งขึ้นตักออกจากหม้อ รับประทานได้

ยังมีขนมพื้นบ้านของชัยนาทอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้นำมาเสนอ แต่ละอย่างไม่เพียงแต่รสชาติอร่อย สะอาด แต่ยังเป็นขนมของกินที่หาเป็นของฝากญาติมิตรเพื่อนฝูง และยังสามารถสั่งทำหรือสั่งซื้อทำบุญในโอกาส งานประเพณีต่างๆ ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนและชาวบ้าน เป็นการช่วยเหลือสังคมและอนุรักษ์ของกินพื้นบ้านที่มีอยู่ไม่ให้สูญหาย

“ชัยนาท” ในความเห็นของคนทั่วไปมักมองว่าเป็นเมืองผ่าน เป็นเมืองเงียบๆ ไม่มีความน่าสนใจอะไร ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น “ชัยนาท” ในประวัติศาสตร์ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

พื้นที่บริเวณที่ตั้งของจังหวัดชัยนาท จากคำอธิบายของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ ว่าความสำคัญแบ่งออกเป็นสองตอน คือตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ชัยนาท ลงมาถึงอ่างทอง เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ส่วนจาก จ.อ่างทอง ถึงเพชรบุรี ชลบุรี เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าการกระจายของบ้านเมืองในปลายยุคเหล็กลงมา กระจายอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่แรกเริ่มมาเลย แล้วค่อยมาไฮไลท์ที่ลพบุรี อยุธยา ตอนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระปรางค์วัดสองพี่น้อง ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น

คำอธิบายของอาจารย์ศรีศักร ยังบอกว่า ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงชัยนาท จะแตกออกเป็นแพรกหลายแพรก มีทั้งลำน้ำใหญ่และลำน้ำเล็ก พอมาถึงพุทธศตวรรษ 19-20 เริ่มเกิดดอนขึ้นมา จึงทำให้เกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นมาตามลำดับ และเริ่มเห็นชัดเจนตอนยุคทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เรื่อยมาจนเข้าพุทธศตวรรษที่ 17-18 มีเรือนครัวกระจายอยู่แทบทุกลำน้ำ และเกิดเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมา ไปยึดหัวหาดตามแม่น้ำสำคัญ เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่น้ำน้อย และเมืองเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นเมืองร่วมสมัยกับอยุธยา ละโว้ สุพรรณบุรี พอมาถึงชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยามีอีกลำมาแทรกคือแม่น้ำน้อย เริ่มแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดพระบรมธาตุ จึงทำให้เกิดเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองแพรกศรีราชา

“เมืองนี้โดดเด่นมาก ร่วมสมัยกับสุพรรณบุรีและอโยธยา ถือว่าเป็นนครรัฐที่สำคัญ ซึ่งในตอนนั้นมีสามเมืองด้วยกัน ได้แก่ สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา และเมืองอโยธยา”

จังหวัดชัยนาทปัจจุบัน มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกอำเภอ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่าน อ.มโนรมย์ วัดสิงห์ เมืองชัยนาท และสรรพยา แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่าน อ.วัดสิงห์ และ อ.หันคา แม่น้ำน้อย ไหลผ่าน อ.สรรคบุรี และยังมีคลองชลประทานผ่านพื้นที่ต่างๆ อีก ได้แก่ คลองอนุศาสนนันท์ คลองมหาราช คลองพลเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรกรรม นอกจากเป็นพื้นที่ราบแล้ว ชัยนาทยังมีเนินเขาเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ที่สำคัญ ได้แก่ เขาธรรมามูล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด เขาพลอง เขาขยาย เขากระดี่ เขาใหญ่เขารัก เขาดิน เขาหลัก เขาไก่ห้อย เขาสารพัดดี เขาราวเทียน เขาสรรพยา เขาพนมเกิน เขาน้อย และเขาแก้ว

บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า

การเกิดของเมืองชัยนาทในสมัยโบราณ มีหลายข้อสันนิษฐาน ในหนังสือประวัติศาสตร์มหาดไทย มีระบุว่าน่าจะปรากฏราวๆ ปี พ.ศ. 1702 เมื่อมีการทำสงครามระหว่างกษัตริย์เมืองเมาและอาณาจักรโยนก เจ้าเมืองโยนกแพ้ศึกต้องอพยพผู้คนลงมาอยู่ที่เมืองแปป (กำแพงเพชรเดิม) แล้วมาสร้างเมืองไตรตรึงค์ ที่ตำบลแพรกศรีราชา หลังจากนั้นคงจะสร้าง “เมืองชัยนาท” ขึ้น ขณะที่บางข้อสันนิษฐาน บอกว่าน่าจะสร้างในสมัยพญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ.1860-1897 ซึ่งในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงปรากฏแต่ชื่อ “เมืองแพรก” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “เมืองแพรก” หรือ “เมืองสรรคบุรี “ เมืองที่อยู่ใกล้ “เมืองชัยนาท” จนถึงกับจะเรียกว่าเป็นเมืองเดียวกันก็ได้

เจดีย์ที่วัดโตนดหลาย เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานจากหนังสือชินกาลมาลี และตำนานพระพุทธสิหิงค์ ที่กล่าวถึงเมืองชัยนาทภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย และยังมีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงชื่อ “เมืองชัยนาทบุรี” ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ตรงกับ พ.ศ.1897 อย่างไรก็ตาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบันทึกกล่าวถึง “เมืองชัยนาทบุรี” ว่าได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวง

ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจเป็นข้อสันนิษฐานจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ และลิลิตยวนพ่าย มีการระบุชื่อเมืองชัยนาท แต่ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับกันในวงการประวัติศาตร์ไทย ว่าชื่อ “ชัยนาท” ในหนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองสองแคว หาใช่เมืองชัยนาทที่เป็นจังหวัดชัยนาทในปัจจุบันไม่ และมีหลักฐานเพิ่มขึ้นคือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ สุโขทัย กล่าวว่าเจ้าสามพระยาเคยเสด็จมาทำบุญที่เมืองสุโขทัยพร้อมกับพระมารดาและน้า เวลาที่เสด็จมาทำบุญที่สุโขทัยนั้นเป็นเวลาที่ทรงครองอยู่ที่เมืองชัยนาทในฐานะลูกหลวง การที่เจ้าสามพระยาทรงมีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัยด้วย จึงสมเหตุผลว่าทรงได้ครองเมืองชัยนาท ซึ่งคือเมืองที่พิษณุโลกหรือเมืองสองแควเดิมนั่นเอง

เจ้ายี่พระยา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งไปปาฐกถาที่ อ.สรรคบุรี ปี 2510 สันนิษฐานว่าสาเหตุที่สถาปนาให้เมือง “ชัยนาทบุรี” เป็นเมืองลูกหลวงนั้น อาจเป็นเหตุผลทางทหารมากกว่าอย่างอื่น นับแต่สมัยที่สมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ อาจยังไม่ไว้วางใจราชอาณาจักรทางฝ่ายเหนือ ดังนั้น จึงทรงให้พระราชโอรส 3 พระองค์ ไปครองหัวเมืองรอบๆ กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยรับสถานการณ์ โดยให้เจ้าอ้ายไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่ไปครองเมืองสรรคบุรี และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทบุรี

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังกล่าวไว้อีกว่า เมืองชัยนาทมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงนั้น แต่จะดำรงตำแหน่งสำคัญนี้นานเท่าไหร่ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ตามหลักฐานใน พ.ร.บ.ศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งว่ากันว่าออกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรฯ พ.ศ.2121-2136 เมืองชัยนาทได้ลดฐานะลงไปเป็นเมืองจัตวา ขณะที่ระบุถึงเมืองเอกมีอยู่เพียงสองเมือง คือเมืองพิษณุโลก ในภาคเหนือ และเมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ จึงนับว่าช่วงนี้เมืองชัยนาทได้ขาดความสำคัญด้านทหารและด้านเศรษฐกิจไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เมืองชัยนาทจึงค่อยๆ เล็กลง

เจดีย์วัดพระบรมธาตุ คล้ายกับเจดีย์แบบศรีวิชัย

มาในสมัยกรุงธนบุรี เมืองชัยนาทยังคงเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีกล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นมาตั้งค่ายที่ “เมืองชัยนาท” เพื่อขับไล่พม่า ซึ่งกำลังรบติดพันกับกองทัพไทยที่เขตเมืองนครสวรรค์ กองทัพของพระเจ้าตากไล่ติดตามทัพพม่าและตีข้าศึกพ่ายไปในที่สุด

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ให้สร้างศาลากลางจังหวัดชัยนาทขึ้นที่ ต.บ้านกล้วย ต่อมารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงจัดตั้งการปกครองเป็นแบมณฑลเทศาภิบาล ให้ยุบและรวมหัวเมืองทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิง คือ เมืองชัยนาท สรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองพยุหคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก รวม 8 หัวเมือง ขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาลและตั้งที่ว่าการ “มณฑลนครสวรรค์”

รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯมาถึงเมืองชัยนาท ภาพจากวัดธรรมามูล

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 8 ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และยินยอมให้ญี่ปุ่นยกกองทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่า และยอมให้ใช้ท่าเรือที่จังหวัดชัยนาท เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงสัมภาระไปยังฐานบินตาคลีนานถึง 4 ปีเศษ ขณะเดียวกันเมืองชัยนาทก็เป็นเขตปฏิบัติของหน่วยก่อวินาศกรรมสังกัดขบวนการเสรีไทยด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมืองชัยนาทตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญบนลำน้ำถึงสามสาย จึงเป็นเมืองเก่าแก่ทางตอนเหนือของภาคกลาง และตั้งอยู่ระหว่างกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ยามใดที่กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจก็จะยึดเอาเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่าน แต่ยามใดที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง “ชัยนาท” ก็จะกลายเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองที่ใช้สะสมเสบียงอาหารและอาวุธในการรบระหว่างไทยและพม่า เป็นสมรภูมิสงครามทุกยุคทุกสมัย ดังนี้แล้ว ความน่าสนใจของ “เมืองชัยนาท” จะไม่ลงไปศึกษาหาความจริงได้อย่างไร?


รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล “ชัยนาท-สรรคบุรี” รอยต่อสองวัฒนธรรม

“ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ จ.ชัยนาท ในปัจจุบัน จะมีเมืองโบราณอยู่สองเมืองสำคัญ คือเมืองแพรกศรีมหาราชา ปัจจุบันคือ อ.สรรคบุรี เมืองที่สองคือชัยนาท ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมเมืองแพรกศรีมหาราชามีความสำคัญมาก ถือเป็นเมืองลูกหลวงของสุพรรณภูมิ เพราะตอนนั้นราชวงศ์สุพรรณ ตั้งเมืองที่เมืองสุพรรณ เมืองแพรกศรีมหาราชาก็เท่ากับเป็นเมืองอันดับสองรองจากสุพรรณ สิ่งที่น่าสังเกตคือเราจะพบว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นสมัยอยุธยาตอนต้น จะไปพบที่แพรกศรีมหาราชาทั้งสิ้น และองค์ก็ใหญ่พอสมควร..

..เมืองแพรกศรีราชานั้น ตั้งเมืองอยู่สองฝั่งแม่น้ำน้อย มีคลองควายตัดเป็นสี่แยก ฉะนั้นที่เรียกว่า “แพรก” ในภาษาเขมรแปลว่า “ทางแยก” ปากแพรกก็คือปากทางแยก ต่อมาเนื่องจากวงศ์สุพรรณให้ความสำคัญกับตัวพระนครศรีอยุธยามากยิ่งขึ้น และย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่อยุธยา เมืองแพรกศรีราชาจึงลดความสำคัญลง เพราะไม่ได้คุมเส้นทางผ่านแล้ว ดังนั้น ทางเส้นใหม่ที่กรุงศรีอยุธยาต้องเซ็ตขึ้นใหม่ก็คือ “ชัยนาท” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา..”

วิหารเก้าห้อง ที่วัดมหาธาตุ

“..หากจะพูดถึงตำแหน่งเมืองชัยนาทเก่าครั้งกรุงเก่า คืออยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถามว่าทำไมต้องตั้งตรงจุดนี้ ก็เพราะว่าตรงนี้มันคุมทางแยกลำน้ำใหญ่หลายสาย แม้กระทั่งทางปากคลองมะขามเฒ่าที่ไหลไปเป็นแม่น้ำสุพรรณและแม่น้ำท่าจีน และปากแม่น้ำน้อย เพราะฉะนั้นเมืองชัยนาทจึงตั้งอยู่ที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เมืองชัยนาทที่พบในหลักฐานจารึกวัดส่องคบ (พ.ศ.1952-1953) บอกว่าเมืองชัยนาทชื่อเดิม คือ “เมืองไชยสถาน” ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น “ชัยนาท” เปลี่ยนเมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ชื่อชัยนาทในสมัยโบราณ หมายถึงเมืองพิษณุโลก เพราะฉะนั้นหมายความว่า ที่ “ไชยสถาน” เปลี่ยนไปเป็นชัยนาท ก็เมื่อ “ชัยนาท” เปลี่ยนชื่อมาเป็นพิษณุโลก ไชยสถานจึงเปลี่ยนมาเป็นชัยนาท ซึ่งหลักฐานตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเปลี่ยนช่วงรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถลงมา เพราะว่าชัยนาทเปลี่ยนเป็นพิษณุโลก คือช่วงพระบรมไตรโลกนาถ..”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

“ความสำคัญของชัยนาท พบว่าในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อหงสาวดียกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาก็ต้องมาแวะพักทัพที่ชัยนาทก่อน แล้วก็ค่อยยกทัพเดินลงไป ชัยนาทหลังเสียกรุงครั้งที่ 1 น่าจะลดความสำคัญลง ทั้งอยุธยาตอนต้นและอยุธยาตอนกลาง เพราะเราไม่ค่อยพบโบราณสถานขนาดใหญ่ในเขตชัยนาทนี้ ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เข้าใจว่าในตอนนั้นทางราชสำนักมุ่งเน้นไปที่หัวเมืองที่จะลงไปทางเพชรบุรี ออกไปตะนาวศรี เมืองมะริด มากกว่า และที่สำคัญคือเวลาหงสาวดียกทัพมา จะประชุมทัพอยู่แถวเส้นทางนิยมที่สุดคือทางด่านเจดีย์สามองค์ เพราะฉะนั้น ชัยนาทจึงไม่ใช่ทางยุทธศาสตร์แล้ว”

เจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุ รูปแบบเดียวกับที่ลพบุรี

สำหรับ “ชัยนาท” ในปัจจุบัน อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ รามคำแหง ผู้นี้บอกว่าชัยนาทในปัจจุบันอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าใจว่าน่าจะย้ายเมืองคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ถามว่าทำไม ก็เพราะเวลาพม่ายกทัพมาทางฝั่งตะวันตก เท่ากับมีแม่น้ำเจ้าพระยามาคั่นรับศึกกับพม่า

“..ความสำคัญของชัยนาท นอกจากเป็นเมืองสำคัญแล้ว ยังพบว่าชัยนาทเป็นเมืองส่งเหล็กเข้ากรุงศรีอยุธยาด้วย แล้วทำไมชัยนาทถึงดร็อปลงไปอีก เหตุผลคือมีทางรถไฟเกิดขึ้นแล้วไม่ผ่านชัยนาท แต่ไปปากน้ำโพ นครสวรรค์ เมืองก็ไปเจริญอยู่ปากน้ำโพอย่างเดียว ชัยนาทก็เล็กลง ฟีบลง ยิ่งตอนหลังถนนพหลโยธินก็ไม่ผ่านอีก ก็ยิ่งฟีบไปเลย ดีไม่ดียังเล็กกว่าตัวเมืองอู่ทองด้วยซ้ำไป นั่นแหละ..เป็นเรื่องของชัยนาททุกวันนี้”

การเดินทางไป “สรรคบุรี-ชัยนาท” ครั้งนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์แจงคร่าวๆ ว่าเส้นทางหลักที่จะไปดู คือ “วัดมหาธาตุ” ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองแพรก และตั้งอยู่กลางเมือง

มหาธาตุเจดีย์ ที่วัดมหาธาตุ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น

“..ยอดเจดีย์ของพระธาตุองค์นี้ทลายลงไปตั้งนานแล้ว แม้รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ก็ไม่มียอดแล้ว แต่วัดมหาธาตุแห่งนี้จะพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรเยอะมาก อีกอย่างคือชุมชนแถวนี้ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เพราะเลยเมืองแพรกศรีราชาไปหน่อยเป็นเมืองดงคอนแล้ว ซึ่งดงคอนเป็นเมืองชุมทางศูนย์กลางเก่า เข้าใจว่าเกิดดงคอนก่อนแล้วย้ายมาเมืองแพรกศรีราชา ความเจริญก็ตามมา แล้วไปดู “วัดพระแก้ว” ที่เจอทัพหลังเขมร วัดพระแก้วเมืองสรรค์เป็นกลุ่มเจดีย์ที่นิยมมากในซีกตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเจดีย์แบบนี้เป็นเจดีย์ที่พัฒนามาจากสมัยทวารวดี”

ทับหลังที่ติดอยู่กับหลังหลวงพ่อฉาย ที่วัดพระแก้ว

อาจารย์รุ่งโรจน์ตบท้ายด้วยข้อคิดเห็นแบบจี๊ดๆ เมื่อถามถึงการจัดการกับเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองโบราณว่าควรทำอย่างไร

“จริงๆ แล้ว เมืองโบราณทุกเมืองในประเทศไทยขาดการศึกษาอย่างเป็นหลักเป็นฐานไปแทบทั้งหมด ไม่ใช่ชัยนาทเมืองเดียว เมืองสุพรรณบุรีใหญ่กว่าชัยนาทอีก ยังไม่มีการศึกษาเลย ไม่ต้องอะไรมาก เอาแค่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถามว่าผังเมืองโบราณของกรุงเทพฯ เป็นยังไง ยังใบ้กันอยู่เลย เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องปกติของคนไทยที่เขาไม่ค่อยสนใจทางด้านนี้เท่าไหร่”

เจดีย์ที่วัดพระแก้ว รูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทอง ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีเจดีย์” ของไทย

“.. จริงๆ ถามว่าชัยนาทมันเป็นประวัติศาสตร์ซีกหนึ่งของวงศ์สุพรรณ อย่าลืมนะครับว่าแพรกศรีมหาราชา เป็นรอยต่อแดนกับพระบางคือนครสวรรค์ เพราะฉะนั้น ตรงนี้คล้ายว่าเป็นพื้นที่ที่สบกันระหว่างสองวัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน เพราะฉะนั้น สิ่งของที่พบตอนบนจะพบที่เมืองแพรกบ้าง ขณะที่คาแรกเตอร์ของเมืองแพรกก็ไปพบแถวเมืองพระบางก็มี แลกกันไปแลกกันมา..”

ที่กล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเพียงเสี้ยวเดียว ถึงความสำคัญของชัยนาท-สรรคบุรี ส่วนเรื่องราวอันหลากหลายและข้อคิดเห็นที่จะทำให้มอง “ชัยนาท” เปลี่ยนไปจากความคิดและความเข้าใจแบบเดิมๆ นั้นจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามไปฟังในพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มเดินทางในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 รายการทัวร์กับมติชนอคาเดมี ตอน “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

คลิกอ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://bit.ly/2Q5oOZJ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy

“สรรคบุรี” เมืองเล็กๆ ใน จ.ชัยนาท ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าค้นหาเพียบ ด้วยเป็นเมืองโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อมโยงกับสุโขทัย สุพรรณภูมิ และอยุธยา จึงเกิดศิลปกรรมที่มีการผสมผสาน สวยงามแปลกตาและหาไม่ได้ที่ไหน

“มติชนอคาเดมี” เอาใจคอประวัติศาสตร์ จัดทริปพิเศษ “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พาชมโบราณสถานที่น่าสนใจใน จ.ชัยนาท หลายที่หลายแห่ง ยังเป็นที่ที่น้อยคนนักจะรู้จัก เราลองมาดูกันว่า 7 UNSEEN พลาดไม่ได้ในทัวร์ครั้งนี้มีอะไรกันบ้าง?

1.”เจดีย์ทรงดอกบัวตูม” ที่วัดโตนดหลาย

วัดโตนดหลาย ภายในประดิษฐานเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบของงานศิลปกรรมที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยในช่วงเวลานั้นด้วย

2.”พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง” ที่วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ หรือวัดมหาธาตุเมืองสรรค์ วัดเก่าแก่คู่เมืองสรรคบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยา และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ประธานที่เหลือเพียงส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้น, ปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองซึ่งคล้ายกับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีหมู่เจดีย์รายทรงแปดเหลี่ยมและพระวิหารซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง ที่ตอนนี้เหลือเพียงเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วนเท่านั้น

3.”ราชินีแห่งเจดีย์” ที่วัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว แต่เดิมมีชื่อว่าวัดป่าแก้ว ภายในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะอู่ทอง คือมีลักษณะเด่นคือฐานเป็นสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นที่สามเป็นทรงแปดเหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังต่อยอดด้วยเจดีย์ทรงกรวยกลม ในแต่ละชั้นจะมีซุ้มพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ บรมครูทางด้านศิลปะไทย ถึงกับยกย่องว่าสถูปของวัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีนี้เป็น “ราชินีแห่งเจดีย์” ในประเทศไทยเลยทีเดียว

4.”หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปศิลปะล้านนา

หลวงพ่อเพชรนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย

ภายในพิพิธภันฑ์ยังจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงพระพิมพ์สมัยต่างๆ ซึ่งหาชมได้ยาก

5.”พระบรมธาตุเจดีย์” เจดีย์ที่มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง เป็นศาสนสถานที่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมาซ่อมแซมภายหลัง โดยมีหลักฐานเป็นศิลาจารึกที่อยู่ติดกับฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุเจดีย์ กล่าวถึงการเฉลิมฉลองบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ชมพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีรูปแบบศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมลดระดับขึ้นไปต่อกับระฆังคว่ำ และทั้งสี่ด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก และยังมีเจดีย์เล็กจิ๋วประดับอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุคล้ายกับเจดีย์แบบศรีวิชัย

6.”วัดธรรมามูล” วัดที่ ร.5 เคยเสด็จฯมาถึง 3 ครั้ง

วัดธรรมมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนเนินเขาธรรมามูลริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นจารึกว่ารัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จฯมาสักการะถึง ‘หลวงพ่อธรรมจักร’ถึง 3 ครั้ง

หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท ปางห้ามญาติ ศิลปะผสมผสานระหว่างอยุธยาและสุโขทัย ที่พระหัตถ์ปรากฏลายธรรมจักร และประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้

ส่วนริมแม่นํ้าบริเวณหน้าวัดมีความเชื่อว่าเป็นนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่เคยนำไปใช้ในพระราชพิธีถือนํ้าพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย

7.ชม “พระปรางค์แบบอยุธยาตอนต้น” ที่วัดสองพี่น้อง

วัดสองพี่น้อง วัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยา ชมพระปรางค์แบบอยุธยาตอนต้นที่ยังหลงเหลือลวดลายปูนปั้นให้เห็นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สนใจไปทริปเส้นทางชมประวัติศาสตร์ชัยนาทกับมติชนอคาเดมี คลิกอ่านโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_21610 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy

เมืองชัยนาทบุรีมีอาณาเขตคลุม2ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา คือรวมทั้งฝั่งตัวจ.ชัยนาทในปัจจุบันด้วย เพราะมีร่องรอยของวัดที่เกิดขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-20 ลงมาหลายวัด เช่น วัดส่องคบ ที่พบจารึกที่เจ้าเมืองขุนเพชรสารสร้างสถูปบรรจุพระธาตุและเอ่ยชื่อเมืองใหญ่2เมืองในยุคนั้น คือเมืองสุพรรณภูมิและเมืองอโยธยา

เมืองชัยนาทที่ปากแม่น้ำน้อย คงเป็นเมืองบริวารของเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งอยู่ตามลำน้ำน้อยลงมาในเขต อ.สรรคบุรี คือเมืองสรรคบุรี หรือแพรกศรีราชา ซึ่งสรรคบุรีคงเป็นชื่อเมืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางลงมา แต่ก่อนหน้านี้คือแพรกศรีราชา

โบราณสถานที่พบโดยเฉพาะบรรดาพระสถูปเจดีย์เป็นของที่มีมาแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 ก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา เป็นสถูปเจดีย์ในศิลปะแบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ ที่พบในบริเวณเมืองสำคัญร่วมสมัย เช่น เมืองลพบุรี สุพรรณภูมิ และอโยธยา

เมืองแพรกศรีราชามีชื่อกล่าวถึงในจารึกสุโขทัยหลักที่1 ครั้งพ่อขุนรามคำแหงความสัมพันธ์กับทางสุโขทัยนั้น สะท้อนให้เห็นจากรูปแบบพระพุทธรูปปูนปั้นในซุ้มทิศของ “พระปรางค์วัดสองพี่น้อง” และพระสถูปทรงดอกบัวตูมในวัดโตนดหลายในเขตเมือง แต่ที่สำคัญเมืองแพรกศรีราชาเป็นถิ่นกำเนิดที่สำคัญของพระพุทธรูปแบบอู่ทองที่มีความงดงามกว่าที่อื่นๆ

ในเขตวัดมหาธาตุอันเป็นวัดสำคัญกลางเมืองแพรกศรีราชา มีการนำพระพุทธรูปศิลาทั้งในแบบอู่ทอง ลพบุรี และทวารวดีมาตั้งไว้ตามระเบียงคด โดยเฉพาะพระพุทธรูปแบบทวารวดีและลพบุรีนั้นเป็นของที่ได้รวบรวมจากที่อื่นในละแวกใกล้เคียง

ในการสำรวจพบว่า บริเวณใต้เมืองแพรกศรีราชาลงมารวม4กิโลเมตร มีร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีคูน้ำคันดินล้อมแห่งหนึ่งในเขตบ้านดงคอน แต่ปัจจุบันการสร้างถนนและคลองชลประทานผ่าน ได้ทำลายเมืองโบราณแห่งนี้จนหมดไป

ในการสำรวจศึกษาแต่ก่อนพบว่าชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีหนองและสระน้ำมากมาย มีโคกเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคกปราสาท” พบอิฐสมัยทวารวดีขนาดใหญ่กว่าที่เคยพบในแห่งอื่นๆ พบชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับฐานและพระสถูปรูปคนแคระ พบกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีสมัยลพบุรี แล้วพบตุ๊กตารูปสิงห์ ชิ้นส่วนภาชนะมีลวดลายสมัยทวารวดี ตะกรันเหล็กแวดินเผา ลูกปัดนานาชนิด

แต่ที่สำคัญคือ “เหรียญเงิน” แบบทวารวดีที่มีจารึกพระราชาและพระราชเทวีศรีทวารวดี รวมทั้งรูปลายสัญลักษณ์ต่างๆอีกมากมาย อันแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นเมืองสำคัญ เมื่อเมืองร้างไปแล้ว บรรดาศาสนาทั้งหลายได้ถูกโยกย้ายไปอยู่เมืองต่างๆในสมัยหลังลงมา

โดยเฉพาะเมืองแพรกศรีราชา ณ วัดพระแก้ว อันเป็นวัดนอกเมืองแพรกศรีราชาแห่งหนึ่ง ที่มีพระสถูปเจดีย์แบบอโยธยา-สุพรรณภูมิที่สวยที่สุดนั้น มีพระพุทธรูปหินทรายสีแดงตั้งเป็นพระประธานของพระวิหาร คนเรียก “หลวงพ่อฉาย” เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองที่สลักขึ้นจากแท่งศิลาทรายที่เคยเป็นทับหลังของปราสาทของในสมัยลพบุรี นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งที่น่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่บ้านดงคอน

ความสำคัญของพระพุทธรูปหลวงพ่อฉายองค์นี้คือ การสะท้อนให้เห็นถึงการสืบเนื่องจากทับหลังสมัยลพบุรีลงสู่ศิลปะอู่ทองอันเป็นศิลปะของพระพุทธรูปในคติพุทธเถรวาทที่พัฒนาขึ้นแทนพุทธศาสนามหายานสมัยลพบุรี ในสมัยก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา

จากความสัมพันธ์ของโบราณสถานวัตถุระหว่างเมืองดงคอนและเมืองแพรกศรีราชานี้ ทำให้อาจตีความได้ว่าเมืองแพรกศรีราชาน่าจะเป็นเมืองแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ตอนปลาย ที่สืบทอดความสำคัญของบ้านเมืองสมัยทวารวดี-ลพบุรีจากเมืองดงคอน

การเกิดเมืองแพรกศรีราชานี้ สัมพันธ์กับการย้ายเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เคยใช้มาแต่สมัยทวารวดีมายังลำแม่น้ำน้อย ที่สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาบ้านเมืองในยุคหลังๆ จนถึงสมัยอยุธยานั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามลำน้ำน้อยและลำน้ำเจ้าพระยาที่อยู่กันมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองแพรกศรีราชานับเป็นเมืองชุมชนการคมนาคมทางน้ำที่สามารถเดินทางลงมาตามลำน้ำน้อยที่ไปรวมกับลำน้ำเจ้าพระยาในเขตจ.ชัยนาทก็ได้ หรือเดินทางตามลำคลองบัวไปยังลำน้ำท่าจีนหรือสุพรรณบุรีก็ได้ นั่นคือเมืองแพรกศรีราชาติดต่อโดยทางน้ำไปยังเมืองสุพรรณบุรีและเมืองอยุธยา และสามารถออกสู่ทะเลที่อ่าวไทยได้ทั้ง2แม่น้ำ

ตำแหน่งของเมืองแพรกศรีราชาที่แวดล้อมไปด้วยบ้านเมืองเก่าแต่สมัยทวารวดี-ลพบุรี ตั้งแต่นครสวรรค์และชัยนาทลงมานี้ เมื่อเชื่อมโยงให้ดีแล้ว อาจนำไปสู่การค้นพบรัฐโบราณในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ที่มีกล่าวถึงในเอกสารจีนสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ที่เรียกว่า “เจนลีฟู”ได้

การเกิดขึ้นของเมืองแพรกศรีราชาและเส้นทางคมนาคมทางน้ำนั้นคงพัฒนาขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่18ตอนปลาย อันนับเนื่องในสมัยลพบุรีลงมา แต่บ้านเมืองสมัยทวารวดีที่มีอยู่นั้นคงใช้เส้นทางคมนาคมตามลำน้ำเก่าที่ผ่านเมืองเดิมไป เช่นเมืองอินทร์บุรี ที่มีลำน้ำแม่ลาไหลผ่านกึ่งกลางแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงเมืองสิงห์บุรีที่วัดพระนอนจักรสีห์และเมืองพรหมบุรี

ส่วนบ้านเมืองสมัยทวารวดี เช่น เมืองดงคอนที่อยู่ระหว่างกลางขนาบด้วยแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีนทางตะวันตกนั้น ก็มีเส้นทางน้ำที่ยาวต่อเนื่องไปจนถึงเขต จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา ลำน้ำเก่าที่สำคัญคือ คลองสีบัวทอง ที่มีร่องรอยของต้นน้ำมาแต่หนองระหานในเขตบ้านหนองระหาน ผ่านบ้านแหลมข่อย และบ้านไม้แดงมายังบ้านดงคอน

ข้อมูลจาก : หนังสือสร้างบ้านแปงเมือง โดย ศรีศักร วัลลิโภดม จัดพิมพ์โดยศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน

______________________________________________________________________________

มติชนอคาเดมี ชวนย้อนรอยเมืองโบราณ ไปกับ ทัวร์ “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

เดินทางวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2561

นำชมและบรรยายโดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ราคา 2,800 บาท

.

คลิกอ่านโปรแกรมเดินทาง>>>>> https://bit.ly/2Q5oOZJ

.

สำรองที่นั่งติดต่อ  มติชนอคาเดมี  

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124                            

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

สอบถามทาง Inbox Facebook : คลิกที่นี่ได้เลย m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือ line : @matichonacademy คลิกhttps://line.me/R/ti/p/%40matichonacademy