เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา, ภาพ : ภัทรสุดา พิบูลย์

ประโยชน์ของแว่นตา นอกจากจะช่วยในเรื่องการมองเห็นแล้ว ยังสามารถสวมใส่ได้หลากหลายโอกาส คงจะดีไม่น้อยถ้าหากจะมีแว่นตาดีๆ สักอัน ที่สามารถทำให้การใส่แว่นตาธรรมดาๆ ดูมีความพิเศษมากขึ้น

ARTY&FERN แบรนด์แว่นตแฮนด์เมดจากสองนักออกแบบชาวไทยที่มีชื่อว่า “อานิกนันท์ เอี่ยมทอง หรือ เฟิร์น” และ “ชนะกันต์ อุโฆษกุล หรือ อาร์ต” ที่ผลิตแว่นตารูปแบบ Custom-made ซึ่งความพิเศษของแว่นตาชนิดนี้อยู่ที่ความสบายในการสวมใส่ และยังมั่นใจได้ว่า แว่นตาที่กำลังสวมใส่อยู่นั้น มีชิ้นเดียวในโลก

“อานิกนันท์ เอี่ยมทอง หรือ เฟิร์น” หนึ่งในเจ้าของแบรนด์ ARTY&FERN เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ก่อนหน้านี้เรียนจบทางด้านดีไซน์มา จึงได้มีโอกาสทำงานดีไซน์มาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่างานแฟชั่นเป็นงานดีไซน์แขนงหนึ่ง ประกอบกับความที่ตัวเธอเองชอบแว่นตาอยู่แล้ว จึงได้เริ่มหาข้อมูลและไปเรียนทำแว่นตาที่ต่างประเทศ จนกระทั่งได้กลับมาทำแบรนด์แว่นตาที่เป็นของตัวเองและพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็น ARTY&FERN จนถึงทุกวันนี้

แรงบันดาลใจในการทำงานเริ่มจากความชอบแว่นตาโดยส่วนตัวอยู่แล้ว และชอบแว่นตาทรงตาแมว (Cat Eye) มาก อย่างคอลเลคชั่นล่าสุดที่มีชื่อว่า “เนตรวิฬาร์” ก็ได้แรงบรรดาลใจมาจากสายพันธุ์แมวไทย ที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของสายพันธุ์และสีสัน และแต่ละสายพันธุ์ก็ยังมีคาแร็คเตอร์ที่แตกต่างกัน จึงได้หยิบเอาส่วนนี้มาเป็นหลักในการออกแบบ นอกจากนี้ยังได้นำเอาสีสันของแมวมาใช้เป็นลวดลายและ และตั้งชื่อมาจากสายพันธ์แมวไทยอีกด้วย

“ชื่อแบรนด์ ARTY&FERN มาจากชื่อเฟิร์นเองกับหุ้นส่วนที่ชื่อว่าอาร์ต คอนเซ็ปต์ของแบรนด์จะมี 2 ส่วน คือส่วนของแว่น Custom-made ที่ต้องมีการวัดหน้าเพื่อออกแบบให้เข้ากับสรีระของลูกค้าและความพึงพอใจในเรื่องของรูปทรง หลังจากนั้นค่อยผลิตออกมา โดยงานส่วนนี้จะเป็นงานแฮนด์เมด ซึ่งเฟิร์นทำเองทุกชิ้น และอีกส่วนค่อนข้างมาทางสายแฟชั่น อย่างเช่นคอลเลคชั่นแมวไทย เป็นคอลเลคชั่นแว่นกันแดดที่มันไม่ใช่แค่แว่นตาธรรมดา แต่จะมีสตอรี่ มีเรื่องราว และสร้างสรรค์มาจากไอเดีย”

อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง

“อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง” เล่าต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้เรียนทางด้านดีไซน์ งานที่ทำจึงเป็นงานกราฟิกดีไซเนอร์ ส่วนอาร์ตจะทำเกี่ยวกับสายโฆษณา

“ผลงานที่ชอบที่สุดคือโปรเจ็กต์ที่มีชื่อ ว่า ‘รีไซแคท’ เป็นแว่นตาที่ทำจากวัสดุเหลือใช้จากการทำแว่นอันเก่า นำมาออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรูปร่างหน้าตาของแมวจรจัด ซึ่งรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายจะนำไปบริจาคให้กับช่วยมูลนิธิแมว”

แว่นตาของแบรนด์ ARTY&FERN มีวางขายที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ เกษรวิลเลจ ไอคอนสยาม และร้านขายของดีไซน์ ลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ ARTY&FERN จะเป็นชาวต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น คอลเล็คชั่น “เนตรวิฬาร์” ที่วางขายอยู่ ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเอเชีย เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศจีน

“การที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยก็ต้องการหาสินค้าที่มาจากนักออกแบบไทย เพื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไทย ถ้ายิ่งเห็นว่ามันมีไอเดียมีสตอรี่ที่เกี่ยวกับความเป็นไทยเข้ามาก็ยิ่งทำให้ชาวต่างชาติยิ่งชอบ” อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง ระบุ

แน่นอนว่ากว่าจะออกแบบผลงานแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งดีไซเนอร์ก็มีช่วงเวลาที่ “สมองตัน” ซึ่ง เฟิร์น-อานิกนันท์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมองตันเป็นเรื่องธรรมดาของทุกอาชีพ ถ้าโฟกัสกับงานมากเกินไปก็จะถึงจุดที่ทำให้คิดอะไรไม่ออก แต่สำหรับนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ ถ้าต้องการพักหรือคิดอะไรไม่ออก ควรต้องออกไปหาแรงบันดาลใจจากข้างนอก อาจจะเป็นการเดินทาง การไปเที่ยวสถานที่ที่เราอยากไป หรือไปดูหนังฟังเพลง กิจกรรมเหล่านี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เราและผลักให้ทำงานต่อไปได้

ถึงแม้ตอนนี้สินค้าของแบรนด์ ARTY&FERN จะเรียกได้ว่าได้รับการตอบรักที่ค่อนข้างดี แต่เธอบอกว่านี่เป็นการเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

“คำว่าประสบความสำเร็จสำหรับนักออกแบบแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนจะวางเป้าหมายไว้ที่จุดไหน แต่สำหรับตัวเฟิร์นเองเพิ่งจะทำแบรนด์นี้มาได้จะประมาณ 4-5 ปี และทำ Custom-made มาแค่ 2 ปี ซึ่งถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ที่เห็นได้คือธุรกิจที่ทำมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับเราในตอนนี้ก็ค่อนข้างพอใจแล้ว เรียกว่าประสบความสำเร็จไปอีกระดับนึง ก้าวไปแล้วอีกก้าวนึงมากกว่า ซึ่งก็ยังอยากพัฒนาให้มันโตได้มากกว่านี้”

สำหรับแผนงานในอนาคต อานิกนันท์ระบุว่าจะพัฒนาในเรื่องของกระบวนการและทำให้คุณภาพของแว่นตา custom-made ให้ดียิ่งขึ้น เพราะงานทุกชิ้นเกิดจากความตั้งใจและใส่ใจจริง จึงได้ผลิตเองกับมือทุกชิ้น ขณะที่แว่นคอลเลคชั่นใหม่ก็จะออกมาเรื่อยๆ แน่นอน

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “สำหรับคนที่อยากเป็นดีไซเนอร์ เชื่อว่าคนเหล่านี้รู้ตัวอยู่แล้วว่าชอบอะไร ชอบดีไซน์งานประเภทไหน และสนใจอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นเป็นเรื่องของไอเดียมากกว่า การจะสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้นั้น ใช้แค่ความชอบคงไม่พอ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ขยันสร้างความแตกต่าง มีไอเดีย มีแนวคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น กล้าคิดกล้าทำ ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”

นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สามารถดึงเอาแพชชั่นของตนเอง ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของชิ้นงานที่มีความสร้างสรรค์ บ่งบอกถึงความเป็นตัวเองและยังสอดแทรกเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไปได้อย่างลงตัว

เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา, ภาพ : ภัทรสุดา พิบูลย์

คงจะดีไม่น้อยถ้าสินค้าที่ผลิตเองกับมือเป็นที่ยอมรับและได้ส่งออกไปสู่สายตาของคนทั่วโลก แต่การที่จะพัฒนาแบรนด์ให้ก้าวไกลไปสู่ระดับสากลนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาผลงานรวมถึงตัวของนักออกแบบเอง หรือแม้แต่การวางแผนการตลาด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้แบรนด์สินค้ามีความแข็งแกร่งและมั่นคง

จะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร ไปดูแนวคิดจากนักออกแบบทั้ง 4 ท่าน ในวงเสวนาเรื่อง “Innovative, Creativity Sparked Local to Global” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2562

วัสดุไทยน่าสนใจเพียบ

“เดชา อรรจนานันท์” เจ้าของแบรนด์ Thinkk Studio กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักออกแบบว่า ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ Thinkk Studio ได้เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในมาก่อน ด้วยความที่มีใจรักในการออกแบบผลิตสินค้าอยู่แล้ว และพบว่าเมืองไทยมีวัตถุดิบหลายอย่างที่ค่อนข้างน่าสนใจ ผู้ประกอบการมีฝีมือ จึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้ และนำมาสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบขึ้นมาเพื่อจัดแสดงและเข้าร่วมโครงการ Talent Thai & Designers’Room ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

“วัตถุดิบท้องถิ่นหลายอย่างในประเทศไทย ถ้ามีการผลักดันและยกระดับให้มีคุณค่า ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและเรียกความสนใจจากชาวต่างชาติมากขึ้นกว่าเดิม การทำงานกับวัสดุจากธรรมชาติมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของคุณภาพที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งนวัตกรรมก็ได้เข้ามาช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้มีคุณภาพ และผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าไปได้ดียิ่งขึ้น” เดชากล่าว

“เวทีของประเทศถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก หากมีการเตรียมพร้อมก่อนที่โอกาสจะมาถึง ก็จะทำให้แบรนด์ไปได้ไกล ไปได้เร็วกว่าเดิม ส่วนผลงานของแบรนด์ Thinkk Studio จะมีอยู่ 2 อย่างคือ Design Studio และตัวงานหลักที่มีชื่อว่า Thinkk สามารถไปชมได้ที่ชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้า siam discovery” เดชากล่าวทิ้งท้าย

ดึงเอกลักษณ์ไทยดีไซน์ให้ตรงกลุ่ม

ด้าน “กรกต อารมณ์ดี” เจ้าของแบรนด์ Korakot กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นนักเรียนศิลปะมาก่อน ได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับหัตถกรรมพื้นบ้าน จนทำให้เริ่มสนใจว่าวจุฬาปักเป้า ภายหลังจึงลองศึกษาเรื่องราวของว่าวจุฬาจากคุณปู่ และนำเทคนิคเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ และประติมากรรม เนื่องจากมองว่าถ้าเป็นประติมากรรมอย่างเดียวอาจทำให้งานที่ทำเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันยากเกินไป จึงไปเข้าร่วมทำงานศิลปะตกแต่งอาคารสถานที่ และฝึกปรือฝีมือโดยการลงมือทำเองทุกอย่าง โดยจะนำงานหัตถกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง หลังจากนั้นก็ได้ส่งไปประกวดโครงการ Talent Thai ซึ่งถือเปนโอกาสที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนมีวันนี้

“สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของประเทศไทยคือวัฒนธรรมของทั้ง 4 ภาค ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของความเป็นภูธร ที่หยิบเอามาผสมผสานกับวิถีคนเมือง นับว่าเป็นอัตลักษณ์ของไทยที่มีความโดดเด่น และสร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก” กรกตกล่าว และว่า ทุกแบรนด์ที่มาจากประเทศไทยมีโอกาสเติบโตแน่นอน เพราะประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น เพียงแต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าสินค้าของแต่ละแบรนด์นั้นตรงกับคนกลุ่มไหน ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าได้มากขึ้น ถือเป็นการสร้างโอกาส และสร้างช่องทางการขายให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

“ข้อดีของการใช้นวัตกรรมเข้ามาในผลงานคือการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงตามตลาดที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องใช้โลหะเข้ามาเกี่ยวข้องในงานด้วย รวมถึงต้องทำงานเป็นระบบ มีทีมทำงานอย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นทีมวิศวกรหรือสถาปนิก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การผลิตสินค้าสามารถก้าวไกลกว่าเดิม” กรกตกล่าวทิ้งท้าย

ให้แรงกดดันเวลาทำสิ่งที่ชอบเป็นตัวจุดประกาย

ขณะที่ “วิริยา เตชะไพฑูรย์” จากแบรนด์ QOYA กล่าวว่า ตนมีความสนใจทางด้านแฟชั่นอยู่แล้ว และมักจะตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองเป็นประจำ หลังจากนั้นเริ่มมีเพื่อนสนใจและขอซื้อ จนกระทั่งมีรีสอร์ตมาติดต่อขอให้ออกแบบเสื้อผ้าเพื่อเอาไปวางในรีสอร์ต จึงนึกถึงจุดเด่นของประเทศไทยนั่นก็คือทะเลและภูเขา ภายหลังจึงคิดชื่อแบรนด์ ทำโลโก้ จนกระทั่งการทำออกมาจนแล้วเสร็จเป็นคอลเลกชั่นก็ได้ขายยกเซ็ทให้กับทางรีสอร์ต นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลือกที่จะทำอาชีพนี้

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยวางแผนและไม่เคยคิดว่าแบรนด์ของตนจะมีชื่อเสียง แต่การจุดประกายคือแรงกดดันในการทำงานจากสิ่งที่ชอบและอยากทำออกมาให้ดีที่สุด จนทำให้ค่อยๆ ตกผลึกในตัวเอง และโอกาสในการเติบโตก็เข้ามาหาตัวเราเองในที่สุด” วิริยาระบุ

วิริยายังกล่าวอีกว่า แบรนด์ QOYA เป็นแบรนด์ที่มุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และสามารถกันน้ำได้ ซึ่งถือเป็นเป็นนวัตกรรมในตัวดีไซเนอร์เองที่จะทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาและไปรอดในอนาคต ซึ่งยุคนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับงานฝีมือมากขึ้น ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถเติบโตได้ที่ไทยแค่ที่เดียว ทำให้ชาวต่างชาติสนใจมากยิ่งขึ้น นั่นถือคือโอกาสที่ผู้ประกอบการหรือนักออกแบบทุกคนต้องคว้าไว้

“สิ่งสำคัญที่นักออกแบบควรทำ คือต้องปรับปรุงตัวเองและฝึกการขาย ฝึกการคำนวณต้นทุน กำไร และการฝึกทำงานฝึกเข้าสังคมด้วย ผลงานแบรนด์ QOYA จะมีการเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ในเดือนหน้า โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูในอินสตาแกรมที่มีชื่อว่า qoya.vacation” วิริยากล่าวทิ้งท้าย

จะเป็นนักออกแบบ ต้องหาสิ่งที่ชอบให้เจอ

ปิดท้ายที่ “วลงค์กร เทียนเพิ่มพูน” เจ้าของแบรนด์ PATAPiAN กล่าวว่า การจะเป็นนักออกแบบ สิ่งแรกทุกคนต้องถามตัวเองคือชอบอะไร ซึ่งตนเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ ชอบการทับซ้อนของเส้น และหลงใหลในเสน่ห์ของการจักสาน จึงได้เริ่มพัฒนาของที่มีอยู่ในประเทศเราให้เกิดความร่วมสมัยขึ้น

วลงค์กรกล่าวว่า การที่จะทำอะไรสักอย่าง ควรที่จะซื่อสัตย์กับตนเอง และหาสิ่งที่ชอบให้เจอ เพราะถ้ารักในสิ่งที่ทำ สิ่งนั้นย่อมออกมาดี ถ้าได้ตื่นขึ้นมาแล้วทำงานที่ชอบ ก็จะทำให้มีแพชชั่นในการทำงานในทุกๆ วัน

ถือเป็นพูดคุยที่ได้ประสบการณ์ดีๆ รวมถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์ชื่อดังของทั้ง 4 แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถ้ามีพรสวรรค์ในการทำผลงาน และมีพรแสวงในการพัฒนาสินค้า เชื่อว่าความสำเร็จคงรออยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปตามความรวดเร็วของเทคโนโลยี งานสร้างสรรค์แบบเก่าจึงถูกทดแทนด้วยวิธีการแบบใหม่มากขึ้น หากเราจะเลือกหยิบ จับ ปรับ ผสม เอางานหัตถกรรมไทยและภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมมาต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัย ก็จะสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ได้สืบต่อเล่าขานและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

โดยทางโครงการ Talent Thai & Designers’ Room โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้มีการสร้างสรรค์ผลงานและต่อยอดงานหัตถกรรมศิลปะความเป็นไทยผ่านความรักความหลงไหลในแบบฉบับของตัวเองมาให้ทุกคนได้รู้จัก

นวยนาด – NUAYNARD

จากอาชีพนักเขียนทำงานในเมืองกรุงจับมือคนรักย้ายทัพมาอยู่โคราช หยิบยกเอาวัตถุดิบจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นน้ำซับธรรมชาติจากดินและน้ำฝนจากฟ้า มาลองผิดลองถูกสร้างสรรค์เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่มีชื่อสุดน่ารักว่า “นวยนาด”

ปุ้ม – นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ ว่าน – ปกาสิต เนตรนคร ได้เล่าให้ฟังว่า แบรนด์นวยนาดมีสตูดิโออยู่ที่หมู่บ้านซับศรีจันทร์ จังหวัดนครราชสีมา จุดเริ่มต้นมาจาก ระบบสาธารณูปโภคของหมู่บ้านนี้ยังไม่ดีเท่าไหร่ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะนิยมรองน้ำฝนไว้ใช้ และแหล่งน้ำสำคัญในหมู่บ้านก็คือน้ำซับ ก็คือน้ำที่ผุดขึ้นมาจากดิน เมื่อถึงหน้าน้ำแล้ง ชาวบ้านจะดูดน้ำซับนี้มาใช้ ก็คือเราจะ ได้น้ำที่มาจากฟ้าและดินมาใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ของเราเลยใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้ำฝนเป็นหลัก

“ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เราทำคือสบู่ก้อน ไม่มีกลิ่น เป็นธรรมชาติเพียวๆ เลยเริ่มมองวัตถุดิบในแถบอีสาน เช่น คราม, ย่านาง เราก็เอามาทำเป็นสบู่ย่านาง นอกจากนี้ยังมีสบู่เหล้าอุหมักข้าวกล้อง ทำมาจากสุราแช่เป็นของพื้นบ้านของคนอีสาน สบู่ไวน์หมักเม้า ทำมาจากหมักเม้า”

ที่ได้ยินว่าเราพูดถึงหมู่บ้านซับศรีจางบ่อยๆ เพราะเราต้องการให้คนได้รู้จักและเห็นว่าที่นี่มีของดี

“เราเอาทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ เราจึงอยากคืนคุณค่าบางอย่างกลับไปผ่านทางแบรนด์นวยนาด”

แบรนด์นวยนาดยังมีชื่อคอลเลคชั่นน่าสนใจ อย่างเช่น น้ำอบกลิ่นชื่นจิต ชื่นใจ มาส์กตื่นก่อนพระอาทิตย์หลับก่อนพระจันทร์ จากที่เริ่มทำเพราะเป็นคนชอบมาส์กหน้า การมาส์กเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ทำให้เราได้พักผ่อนได้หลับตา ตื่นก่อนพระอาทิตย์ก็จะมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะตื่นตั้งตีสี่ตีห้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ หลับก่อนพระจันทร์ก็คือนอนให้เร็วขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ

พาตาเพียร – PATAPIAN

PATAPAIN เป็นแบรนด์ที่ใช้งานออกแบบมาเพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถกรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย โดย จั้ม – วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล และ ก้อย – สุพัตรา เกริกสกุล ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ PATAPIAN จักสานร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ว่า “แบรนด์ PATAPIAN ก่อตั้งมาได้กว่า 5 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากความชอบของเราสองคน ที่สนใจในงานจักสานอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้จำกัดความว่างานสาน เป็นงานถักทออย่างเดียวแต่เรามองถึงความเป็นศิลปะความทับซ้อนของแสง เราเลยถ่ายทอดงานของเราออกมาในมุมมองในแบบของตัวเราเองคืองานดีไซน์ที่มันแตกต่างออกไป แบบสไตล์คอนเทโพลารี่”

“อย่างวัสดุของเราใช้ไม้ไผ่จากหลายจังหวัดในประเทศไทย เช่น จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ผลงานต่างๆ ที่เห็นก็มาจากฝีมือคนในชุมชนด้วย ถึงแม้งานของเราจะมีดีไซน์ที่แปลกใหม่ แต่การสานแบบนี้ก็ต้องอาศัยการสานที่เป็นไทยเดิมเข้ามาเป็นพื้นฐาน แต่งานแบบนี้ต้องอาศัยคนที่เค้ารักเค้าชอบมากกว่า เราเลือกจากเค้าชอบงานจริงๆ จากนั้นมันไม่ยากละ”

ที่ตั้งชื่อว่าแบรนด์ปาตาเพียรเพราะมันเป็นความทรงจำในวัยเด็ก ที่เราได้เห็นงานจักสานครั้งแรก และมันเป็นความหมายของความอุดมสมบูรณ์

MAISON CRAFT

เมย์ – เมทินี รัตนไชย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ MAISON CRAFT สาวหาดใหญ่ที่หลงใหลในงานหัตถกรรมทำมือแบบไทยๆ จากการไปคลุกคลีกับคนในชุมชนจนอยากจะช่วยพัฒนาให้งานหัตกรรมของคนไทยไปสู่ตลาดโลก วันนี้แบรนด์ MAISON CRAFT มาได้ไกลและเป็นที่รู้จักในวงการงานออกแบบได้อย่างรวดเร็ว

“หลายคนเมื่อพูดถึงงานหัตถกรรม จะรู้สึกของความเป็นชุมชนนึกถึงสินค้าบ้านๆ งานจักสาน ที่มันเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ยาก เราต้องการให้คนสมัยใหม่ยังเห็นว่างานคราฟท์มันเก๋ มันควรมีอยู่ในบ้าน”

“ความงามของสินค้าไม่ได้อยู่ที่วัสดุ แต่อยู่ที่วิถีชุมชนของเขา ซึ่งการจะได้มาแต่ละงานคราฟท์ มันมีการปฏิสัมพันธ์ของชุมชน ทำให้เห็นว่าความน่ารักของชุมชนยังอยู่ รู้สึกว่าเราควรจะรักษางานหัตถกรรมแบบนี้เพื่อให้ชุมชนยังสามารถทำใน Know How ที่เค้ามี ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของบ้านเราจริงๆ”

ในการทำงานแต่ละชิ้น ตนเองจะเข้าไปถึงชุมชนปรับและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน “เราจะไม่พยายามเอาความเป็นคนเมืองไปใส่ให้กับเขา แต่เราพยายามนำสิ่งที่เขาเป็นมาร้อยเรียง สิ่งใหม่ให้กับเขา ในรูปแบบงานที่ออกมา”

โดยได้รับผลตอบรับจากคนในชุมชนในด้านบวกที่ว่า เขาดีใจมาก คือต้องบอกก่อนว่าการทำงานกับชุมชนจะมีความยากตรงที่ว่า เราเป็นคนต่างถิ่น เข้าไปครั้งแรกคุยกันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่เราเข้าไปด้วยความจริงใจ เราอยากเข้าไปเพื่อพัฒนา ถึงแม้จะไม่ใช่สินค้าของจังหวัดบ้านเราเองก็ตาม แต่เรามองว่ามันเป็นสินค้าของประเทศไทยของเรา เลยคิดว่าอยากจะพัฒนาสินค้าของเค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ เลยทำให้ความจริงใจของเราที่สื่อสารกับเค้าเลยเริ่มเกิดความเชื่อใจเรา

เราเชื่อว่าในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทศมีของดีประจำท้องถิ่นของตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะจับจุดได้ถูกทางและนำมาปรับให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกิมมิกน่าสนใจอย่าง 3 แบรนด์นี้ได้อย่างไร ว่าแล้วก็ออกไปมองหาของดีเจ๋งๆ ใกล้ตัวมาสร้างสรรค์ผลงานกันบ้างดีกว่า

Another Story ผู้นำแห่งอาณาจักรไลฟ์สไตล์สุดฮิปพร้อมนำคุณไปพบกับคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดจาก PAOLA NAVONE ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวอิตาเลียน ที่ตั้งใจรังสรรค์ผลงาน PASTA & PASTA ชุดเครื่องครัวอันสะดุดตาภายใต้ Serax แบรนด์สัญชาติเบลเยียม ที่มาพร้อมลวดลายสุดชิคไม่ซ้ำใคร พร้อมเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยให้แฟนพันธุ์แท้พาสตาเลือกช้อปมาครอบครอง

คอลเลคชั่น PASTA & PASTA จะพาคุณหวนรำลึกไปยังอิตาลีในยุค 1960 ที่ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อิตาเลียนชื่อดัง La Dolce Vita ซึ่งเป็นยุคแห่งต้นกำเนิดของพาสตา โดยมีความสำคัญในศาสตร์การปรุงอาหารของอิตาลีที่ทุกมื้ออาหารจะขาดพาสตาไปไม่ได้ รวมไปถึงเป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันอบอุ่นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โดยคอลเลคชั่นนี้ได้ใช้โทนสีเรียบๆ ด้วยสีดำและขาวแต่โดดเด่นจากลวดลายเก๋ไก๋แปลกตา ในการใช้เทคนิคลายแพทเทิร์นจากการสะบัดพู่กันและฝีแปรงแบบไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลายปริ้นท์ที่อินเทรนด์ในยุค 60 มาแต่งแต้มลวดลายให้กับภาชนะต่างๆ อาทิ ลายทาง และลาย polka dot และด้วยไอเดียนี้เองจึงนำมาสู่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุดเครื่องครัวอันโดดเด่น ที่ดีไซน์เนอร์ PAOLA NAVONE และ Another Story ตั้งใจออกแบบและคัดสรรในทุกกระบวนการเพื่อนำคุณไปร่วมตื่นตาตื่นใจกับการเปิดประสบการณ์ลิ้มลองพาสตาพร้อมสัมผัสความอภิรมย์ในงานศิลปะในคราวเดียวกัน