จุดประกายความคิด พัฒนาวัสดุจากท้องถิ่น ปั้น “งานดีไซน์ไทย” ก้าวไกลสู่ตลาดสากล

Content พาเพลิน

เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา, ภาพ : ภัทรสุดา พิบูลย์

คงจะดีไม่น้อยถ้าสินค้าที่ผลิตเองกับมือเป็นที่ยอมรับและได้ส่งออกไปสู่สายตาของคนทั่วโลก แต่การที่จะพัฒนาแบรนด์ให้ก้าวไกลไปสู่ระดับสากลนั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาผลงานรวมถึงตัวของนักออกแบบเอง หรือแม้แต่การวางแผนการตลาด ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้แบรนด์สินค้ามีความแข็งแกร่งและมั่นคง

จะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร ไปดูแนวคิดจากนักออกแบบทั้ง 4 ท่าน ในวงเสวนาเรื่อง “Innovative, Creativity Sparked Local to Global” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2562

วัสดุไทยน่าสนใจเพียบ

“เดชา อรรจนานันท์” เจ้าของแบรนด์ Thinkk Studio กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักออกแบบว่า ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ Thinkk Studio ได้เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในมาก่อน ด้วยความที่มีใจรักในการออกแบบผลิตสินค้าอยู่แล้ว และพบว่าเมืองไทยมีวัตถุดิบหลายอย่างที่ค่อนข้างน่าสนใจ ผู้ประกอบการมีฝีมือ จึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้ และนำมาสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบขึ้นมาเพื่อจัดแสดงและเข้าร่วมโครงการ Talent Thai & Designers’Room ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

“วัตถุดิบท้องถิ่นหลายอย่างในประเทศไทย ถ้ามีการผลักดันและยกระดับให้มีคุณค่า ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและเรียกความสนใจจากชาวต่างชาติมากขึ้นกว่าเดิม การทำงานกับวัสดุจากธรรมชาติมักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของคุณภาพที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งนวัตกรรมก็ได้เข้ามาช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้มีคุณภาพ และผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าไปได้ดียิ่งขึ้น” เดชากล่าว

“เวทีของประเทศถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก หากมีการเตรียมพร้อมก่อนที่โอกาสจะมาถึง ก็จะทำให้แบรนด์ไปได้ไกล ไปได้เร็วกว่าเดิม ส่วนผลงานของแบรนด์ Thinkk Studio จะมีอยู่ 2 อย่างคือ Design Studio และตัวงานหลักที่มีชื่อว่า Thinkk สามารถไปชมได้ที่ชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้า siam discovery” เดชากล่าวทิ้งท้าย

ดึงเอกลักษณ์ไทยดีไซน์ให้ตรงกลุ่ม

ด้าน “กรกต อารมณ์ดี” เจ้าของแบรนด์ Korakot กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นนักเรียนศิลปะมาก่อน ได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับหัตถกรรมพื้นบ้าน จนทำให้เริ่มสนใจว่าวจุฬาปักเป้า ภายหลังจึงลองศึกษาเรื่องราวของว่าวจุฬาจากคุณปู่ และนำเทคนิคเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ และประติมากรรม เนื่องจากมองว่าถ้าเป็นประติมากรรมอย่างเดียวอาจทำให้งานที่ทำเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันยากเกินไป จึงไปเข้าร่วมทำงานศิลปะตกแต่งอาคารสถานที่ และฝึกปรือฝีมือโดยการลงมือทำเองทุกอย่าง โดยจะนำงานหัตถกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง หลังจากนั้นก็ได้ส่งไปประกวดโครงการ Talent Thai ซึ่งถือเปนโอกาสที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนมีวันนี้

“สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของประเทศไทยคือวัฒนธรรมของทั้ง 4 ภาค ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของความเป็นภูธร ที่หยิบเอามาผสมผสานกับวิถีคนเมือง นับว่าเป็นอัตลักษณ์ของไทยที่มีความโดดเด่น และสร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก” กรกตกล่าว และว่า ทุกแบรนด์ที่มาจากประเทศไทยมีโอกาสเติบโตแน่นอน เพราะประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น เพียงแต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าสินค้าของแต่ละแบรนด์นั้นตรงกับคนกลุ่มไหน ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าได้มากขึ้น ถือเป็นการสร้างโอกาส และสร้างช่องทางการขายให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

“ข้อดีของการใช้นวัตกรรมเข้ามาในผลงานคือการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงตามตลาดที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องใช้โลหะเข้ามาเกี่ยวข้องในงานด้วย รวมถึงต้องทำงานเป็นระบบ มีทีมทำงานอย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นทีมวิศวกรหรือสถาปนิก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การผลิตสินค้าสามารถก้าวไกลกว่าเดิม” กรกตกล่าวทิ้งท้าย

ให้แรงกดดันเวลาทำสิ่งที่ชอบเป็นตัวจุดประกาย

ขณะที่ “วิริยา เตชะไพฑูรย์” จากแบรนด์ QOYA กล่าวว่า ตนมีความสนใจทางด้านแฟชั่นอยู่แล้ว และมักจะตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองเป็นประจำ หลังจากนั้นเริ่มมีเพื่อนสนใจและขอซื้อ จนกระทั่งมีรีสอร์ตมาติดต่อขอให้ออกแบบเสื้อผ้าเพื่อเอาไปวางในรีสอร์ต จึงนึกถึงจุดเด่นของประเทศไทยนั่นก็คือทะเลและภูเขา ภายหลังจึงคิดชื่อแบรนด์ ทำโลโก้ จนกระทั่งการทำออกมาจนแล้วเสร็จเป็นคอลเลกชั่นก็ได้ขายยกเซ็ทให้กับทางรีสอร์ต นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลือกที่จะทำอาชีพนี้

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยวางแผนและไม่เคยคิดว่าแบรนด์ของตนจะมีชื่อเสียง แต่การจุดประกายคือแรงกดดันในการทำงานจากสิ่งที่ชอบและอยากทำออกมาให้ดีที่สุด จนทำให้ค่อยๆ ตกผลึกในตัวเอง และโอกาสในการเติบโตก็เข้ามาหาตัวเราเองในที่สุด” วิริยาระบุ

วิริยายังกล่าวอีกว่า แบรนด์ QOYA เป็นแบรนด์ที่มุ่งเน้นให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และสามารถกันน้ำได้ ซึ่งถือเป็นเป็นนวัตกรรมในตัวดีไซเนอร์เองที่จะทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาและไปรอดในอนาคต ซึ่งยุคนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับงานฝีมือมากขึ้น ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถเติบโตได้ที่ไทยแค่ที่เดียว ทำให้ชาวต่างชาติสนใจมากยิ่งขึ้น นั่นถือคือโอกาสที่ผู้ประกอบการหรือนักออกแบบทุกคนต้องคว้าไว้

“สิ่งสำคัญที่นักออกแบบควรทำ คือต้องปรับปรุงตัวเองและฝึกการขาย ฝึกการคำนวณต้นทุน กำไร และการฝึกทำงานฝึกเข้าสังคมด้วย ผลงานแบรนด์ QOYA จะมีการเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ในเดือนหน้า โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูในอินสตาแกรมที่มีชื่อว่า qoya.vacation” วิริยากล่าวทิ้งท้าย

จะเป็นนักออกแบบ ต้องหาสิ่งที่ชอบให้เจอ

ปิดท้ายที่ “วลงค์กร เทียนเพิ่มพูน” เจ้าของแบรนด์ PATAPiAN กล่าวว่า การจะเป็นนักออกแบบ สิ่งแรกทุกคนต้องถามตัวเองคือชอบอะไร ซึ่งตนเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ ชอบการทับซ้อนของเส้น และหลงใหลในเสน่ห์ของการจักสาน จึงได้เริ่มพัฒนาของที่มีอยู่ในประเทศเราให้เกิดความร่วมสมัยขึ้น

วลงค์กรกล่าวว่า การที่จะทำอะไรสักอย่าง ควรที่จะซื่อสัตย์กับตนเอง และหาสิ่งที่ชอบให้เจอ เพราะถ้ารักในสิ่งที่ทำ สิ่งนั้นย่อมออกมาดี ถ้าได้ตื่นขึ้นมาแล้วทำงานที่ชอบ ก็จะทำให้มีแพชชั่นในการทำงานในทุกๆ วัน

ถือเป็นพูดคุยที่ได้ประสบการณ์ดีๆ รวมถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์ชื่อดังของทั้ง 4 แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถ้ามีพรสวรรค์ในการทำผลงาน และมีพรแสวงในการพัฒนาสินค้า เชื่อว่าความสำเร็จคงรออยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน