เรื่อง : ธฤต อังคณาพาณิช

ากพูดถึง “สตาร์ตอัพ” หรือนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น รวมไปถึงนักลงทุนหลายรายก็เริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้นเช่นกัน

รู้จักสตาร์ทอัพ

สตาร์ตอัพคือกลุ่มผู้ทำธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่คิดต่างและเข้ามาท้าทายธุรกิจเจ้าตลาดเดิม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างสตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงก็ไล่มาตั้งแต่เฟซบุ๊ก กูเกิล อูเบอร์ อาลีบาบา และอื่นๆ อีกเพียบ

แม้ว่าสตาร์ตอัพจะหมายถึงกลุ่มทุนหน้าใหม่แต่ก็ไม่ได้เหมือนกับการทำ SMEs อย่างการเปิดร้านกาแฟ เพราะสตาร์ตตอัพจะมีเป้าหมายอยู่ที่การคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามา Disrupt หรือว่าเข้ามามีอิทธิพลอย่างการแย่งลูกค้าจากตลาดเดิม ด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ

มีคำนิยามสตาร์ตอัพจาก “สตีฟ แบลงค์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ตอัพว่า “a startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model” หรือแปลได้ว่าธุรกิจที่ทำซ้ำ ๆ ได้ และมีอัตราการเติบโตที่สูง สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าธุรกิจสตาร์ตอัพจะสร้างกำไรมหาศาลหากประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่สตาร์ตอัพเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจ๊งสูงมาก จากธุรกิจ 90% จะเหลือรอดอยู่เพียง 10% เท่านั้น เพราะโดยมากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะไม่มีประสบการณ์มากนัก การที่จะไปสู้กับกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีฐานแข็งแกร่งกว่าจึงเป็นไปได้ยาก ถ้าธุรกิจที่ทำไม่ได้เจ๋งจริง ๆ รวมถึงต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากการสร้างธุรกิจแบบนี้จำเป็นต้องยอมขาดทุนในช่วงเริ่มต้น เพื่อที่จะทำให้คนติดแบรนด์ใหม่

เห็นได้จากแอปพลิเคชั่นเรียกรถที่ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเองสักคันเดียวอย่าง “อูเบอร์” ที่ในช่วงเริ่มเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ก็ต้องสู้กับกลุ่มแท็กซี่ ใช้โปรโมชันลดแลกแจกแถมมากมาย เพื่อทำให้คนติดแบรนด์และแย่งผู้ใช้จากกลุ่มแท็กซี่เดิม ซึ่งในบางธุรกิจก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบอูเบอร์ ลงทุนไปหากไม่ดีพอ หากหมดโปรโมชั่น ผู้ใช้ก็จะกลับไปใช้แบรนด์เดิม

ดังนั้น การลงทุนในสตาร์ตอัพจึงเรียกได้ว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เมื่อพลาดไปแล้วก็ไม่สามารถถอนทุนคืนได้เลย เปรียบเหมือนการซื้อหวยที่มีโอกาสเสียมากกว่าได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่การทำธุรกิจสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หากสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับโลกได้ที่เลยทีเดียว ยิ่งมีสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็จะพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด

500 TukTuks ที่พึ่งพิงของเหล่าสตาร์ตอัพไทย

อย่างที่ได้กล่าวไป การทำธุรกิจสตาร์ตอัพจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนก้อนใหญ่ที่คอยประคองไม่ให้ธุรกิจที่เปรียบเสมือนต้นอ่อนเพิ่งเริ่มงอกถูกขาใหญ่เหยียบเละไปก่อน การจัดตั้งกองทุนที่ดีจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพรายใหม่มีโอกาสรอดมากขึ้นอีกด้วย

ในต่างประเทศจะมีการตั้งกองทุนมากมาย โดยเฉพาะจากกูเกิล ที่มีโครงการสตาร์ตอัพอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการที่สตาร์ตอัพในไทยจะประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องมีกองทุนเพิ่มขึ้นอีก

กองทุนของสตาร์ตอัพมีชื่อเรียกว่า VC ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Venture Capital” หมายถึง ธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนระยะยาวประมาณ 3-5 ปี ซึ่งลงทุนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของกิจการในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง นอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน รวมถึงการให้คำปรึกษา ช่วยชี้แนวทางในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจที่ได้รับเงินร่วมลงทุน สามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

หนึ่งในกองทุนสตาร์ตอัพไทยที่มีชื่อเสียงก็คือ 500 TukTuks ซึ่งเป็น VC เครือข่ายของกลุ่ม 500 Startups จากซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้บริหารอย่าง “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” และ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวกองทุนก้อนที่สองร่วมกับเซ็นทรัลไปเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ตั้งกองทุนมาได้ประมาณสามปี

เปิดกองทุนก้อน2หนุนสตาร์ตอัพไทยก้าวสู่เอเชีย

สำหรับกองทุนก้อนที่สองนี้ เป็นกองทุนที่ 500 TukTuks ได้จับมือกับเครือเซ็นทรัล, เครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด และกลุ่มธุรกิจ TCP (เรดบูลส์) ร่วมระดมทุนในกองทุนที่สองอย่าง 500 TukTuks II โดยที่หวังว่าจะสามารถผลักดันสตาร์ตอัพไทยให้ก้าวเข้าไปสู่ระดับเอเชียได้ และร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ

“กระทิง-เรืองโรจน์” เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เปิดกองทุนแรก ก็มี VC ที่สนใจเข้ามาลงทุนอีกกว่า 50 บริษัท จนถึงตอนนี้ระดมทุนในรอบถัดไปได้ทั้งหมดเกือบ 7,000 ล้านบาท ช่วยสร้างการจ้างเงินเกือบ 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

กระทิงเล่าต่ออีกว่า ในเวลานี้สตาร์ตอัพไทยยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะโต กองทุนกองหนึ่งมีอายุ 10 ปี ถ้าหากสามารถคืนกำไรได้ภายใน 10 ปี ก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มีสัญญาณที่ดีจากกลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนในกลุ่มแรก ที่เริ่มจะคืนกำไรกลับมาบ้างแล้ว

“ตอนนี้มีประมาณ 3-4 บริษัทที่ส่งเงินกลับมาแล้วประมาณเกือบ 300 ล้านบาท ถ้าคืนกำไรมา 5 บริษัทก็จะได้เงินมาประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราก็คาดหวังว่าบริษัทจะทำกำไรกลับมาเรื่อย ๆ จนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,315 ล้านบาท)” กระทิง-เรืองโรจน์กล่าว

และว่า กองทุน 500 TukTuks เองถือกำเนิดขึ้นมาจากกองทุนสตาร์ตอัพอย่าง 500 starts up อีกทีหนึ่ง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการทำของการทำสตาร์ตอัพก็คือการลอกโมเดลธุรกิจของต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาให้หมด เรียกว่าเหมือนเป๊ะๆ เลยก็ได้ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ต่อยอดออกมาเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ เพราะนักลงทุนอาจมองว่าธุรกิจใหม่เอี่ยมมีความเสี่ยงมากเกินไปจนไม่อยากลงทุน ดังนั้นการลอกโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้วมาก่อนจึงจำเป็นสำหรับสตาร์ตอัพ

“ผมยกตัวอย่างสตาร์ตอัพจากจีนอย่าง Alibaba ที่ตอนแรกก็ลอกโมเดลของ Amazon และ Tensen ซึ่งในปัจจุบันเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก ๆ สตาร์ตอัพไทยก็ต้องเรียนรู้ที่จะนำโมเดลธุรกิจเหล่านี้มาใช้ ” กระทิงกล่าว

ทั้งนี้ ในกองทุน 500 TukTuks II จะเน้นไปที่การทำ Disruptive digital ซึ่งว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่สามารถมีอิทธิพลกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ได้ จะไม่เหมือนกับกองทุนแรกที่เน้นไปที่การลอกโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้แห็นธุรกิจสตาร์ตอัพระดับ Unicorn(สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ก็เป็นได้

“ที่เรามาทำกองทุนนี้ก็เพราะว่าอยากจะได้เห็นสตาร์ตอัพที่เป็นฝีมือของคนรุ่นใหม่เข้ามา ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหากมีสตาร์ตอัพที่ดีมากขึ้น ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย บนความหวังว่าจะเห็นสตาร์ตอัพไทยเติบโตสู่ระดับเอเชีย” กระทิงกล่าวปิดท้าย

สำหรับนักลงทุน คำว่า Capital Gains Tax หรือ ภาษีที่เก็บจากกำไรในการลงทุน ด้วยอัตราภาษีที่สูงอาจจะส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะไปลงทุนและนักลงทุนบางคนก็ยังมีความคิดว่าการลงทุนต้องเสียภาษี แต่บางประเทศในโลกก็ยังไม่มีการเก็บภาษีหรือเก็บภาษีจำนวนไม่มาก

วันนี้จะพาไปรู้จัก 9 ประเทศสวรรค์สำหรับนักลงทุนที่ไม่เก็บภาษีจากการลงทุน ตามข้อมูลของ nomadcapitalist มีดังนี้

  1. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หนึ่งในศูนย์กลางด้านการธนาคารและร้านค้าที่มีชื่อเสียงของโลก และเป็นประเทศที่ไม่ได้มีการเก็บภาษีจากกำไรในการลงทุน ซึ่งถือว่ากำไรจากการขายสินทรัพย์ส่วนตัวจะไม่เสียภาษี ในขณะที่กำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเสียภาษีจากรายได้ โดยสวิตเซอร์แลนด์มีอัตราภาษีที่ก้าวหน้า หมายถึงถ้าคุณเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ เป็นเวลานาน อัตราการเสียภาษีจะยิ่งถูกลงกว่าเดิม

  1. ประเทศสิงคโปร์

เป็นประเทศที่มีแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกการเสียภาษีจากกำไรอีกด้วย ยิ่งทำให้ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นไปอีก ทำให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในสิงคโปร์ได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้นโยบายด้านการเงินของสิงคโปร์จะเข้มงวดสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่รวมทั้งชาวต่างชาติก็ตาม แต่ประเทศนี้ก็นับว่าเป็นประเทศที่นักลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม

  1. หมู่เกาะเคย์แมน

เป็นศูนย์กลางด้านการเงินและธนาคาร เนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมใดๆ แม้ว่าอาจจะมีการเก็บภาษีจากหน่วยงานอื่นๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมู่เกาะแห่งนี้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากมีคุณภาพในการดำเนินชีวิตที่ดี พร้อมทั้งยังมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนอีกด้วย

  1. ประเทศโมนาโก

เป็นประเทศแห่งความมั่งคั่ง ประชาชนมีการดำรงชีวิตที่ดี ถือได้ว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนเลยทีเดียว เนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีจากกำไร ยกเว้นว่าคุณเป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศส ที่จะต้องเสียภาษี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนรวมทั้งผู้ประกอบการมีตัวเลือกที่หลากหลายในการลงทุนอีกด้วย

5. ประเทศเบลเยียม

ถึงแม้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบภาษีเข้มงวด แต่ก็ไม่ได้มีการเก็บภาษีจากกำไร โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศฝรั่งเศสได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่เบลเยียม เนื่องจากฝรั่งเศสมีการเก็บภาษีที่สูง ขณะที่เบลเยี่ยมไม่มีการเก็บภาษีจากกำไรจากการลงทุน แต่ก็มีบางกรณีที่มีการยกเว้นและอาจมีการเสียภาษี

  1. ประเทศมาเลเซีย

เป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีการเสียภาษีจากกำไร ซึ่งได้ยกเลิกภาษีเงินได้จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2007 นอกจากนี้ ยังใช้ระบบภาษีอาณาเขตมากกว่าระบบภาษีที่อยู่อาศัย กล่าวคือ รายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในมาเลเซียไม่ต้องเสียภาษี รวมถึงรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ โดยกฎหมายระบุว่า ผู้ซึ่งมิได้มีถิ่นพำนักประจำในประเทศ (non-resident) หากไม่ต้องการจ่ายภาษีสินทรัพย์ 30% จะต้องถือสินทรัพย์นั้นๆ อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป

  1. ประเทศนิวซีแลนด์

นอกจากมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ก็ยังเป็นประเทศที่มีเสรีในด้านการค้า ถ้าจะนึกถึงการเสียภาษีแล้วละก็ ลืมไปได้เลย เพราะที่นี่ไม่มีการเสียภาษีจากกำไร หากคุณเป็นนักลงทุนและชอบการลงทุน จึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากไม่มีการบังคับการจ่ายภาษีจากตราสารทุน รวมถึงการลงทุนในด้านอื่นๆ

  1. ประเทศเบลีซ

ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของอเมริกากลางริมทะเลแคริบเบียน เป็นประเทศขนาดเล็ก มีธรรมชาติสวยงามเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศเบลีซมีการพิจารณาเกี่ยวกับการทำโครงการที่พักอาศัยที่ผ่านการรับรอง ให้สามารถสมัครให้ง่ายขึ้นด้วยหวังว่า จะสามารถแข่งขันกับห้าโครงการเกี่ยวกับที่พักอาศัยในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ได้ เนื่องจากเบลีซไม่มีการเก็บภาษีจากกำไรสำหรับผู้อยู่อาศัย

  1. ฮ่องกง

เป็นดินแดนเสรีทางการค้าที่ดีที่สุดในโลกมาหลายปีแล้ว เนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีจากกำไรในการลงทุน นับว่าเป็นแหล่งที่น่าลงทุนที่สุดสำหรับนักลงทุน รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มาพักอาศัย สำหรับบริษัทในฮ่องกง พนักงานที่ได้รับหุ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จะต้องเสียภาษีซึ่งจะอยู่ภายใต้อัตราภาษีเงินได้ของฮ่องกง ถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติ และมีแผนที่จะออกนอกฮ่องกง ก่อนที่คุณจะได้รับกำไรจากหุ้นนั้นคุณจะต้องจ่ายภาษีในฮ่องกงและจีน ซึ่งการเสียภาษีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้อนแบบพิเศษของฮ่องกง

 

Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี่) หรือที่ใครๆ หลายคนรู้จักในชื่อว่า “สกุลเงินดิจิตอล” ถือได้ว่าเป็นกระแสที่มาแรงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นช่องทางการลงทุนใหม่ ที่หากประสบผลสำเร็จจริงๆ ขึ้นมา ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนกลับมาสูงมากเลย แต่ก็ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุดทางเลือกหนึ่งเลยทีเดียว

ดังนั้น นักลงทุนที่ยังไม่เข้าใจว่า Crypto คืออะไรกันแน่ จึงต้องศึกษาให้รู้จักกันก่อนว่าสิ่งนี้คืออะไร และเมื่อคิดจะเข้าไปลงทุนต้องรู้สิ่งใดกันบ้าง

1. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานให้ละเอียด
ไม่ว่าเราจะลงทุนอะไร ก็ควรที่จะศึกษาให้ละเอียด อย่างคริปโตเราก็ต้องรู้ที่มาที่ไปของเหรียญ เช่น บิทคอยน์ ถือเป็นเหรียญแรกที่ถือกำเนิดขึ้น คนมีความต้องการซื้อขาย ทำให้ราคาของมันมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น เป็นต้น

2. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
เพราะมีผลกระทบต่อราคาการซื้อขาย การติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มีความเชื่อถือได้ สามารถช่วยวิเคราะห์ทิศทางของราคาเหรียญได้แม่นยำ เช่น ข่าวที่ประเทศจีนแบนคริปโต ทำให้ราคาเหรียญร่วงตก เป็นต้น

3. ไม่ควรลงทุนตามกระแส หรือ คำบอกเล่าจากคนอื่นๆ
มีหลายคนที่ได้ยินหรือฟังคนอื่นพูดต่อๆ กันมา ว่าลงตัวนี้สิ กำไรหลายเท่าตัวเลยนะ ก็ลงตามคำบอกเล่าโดยไม่มีความรู้หรือข้อมูลใดๆ ที่นำมาวิเคราะห์ ทำให้การลงทุนเกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมาก หรือเรียกได้ว่า “เม่าพร้อมตาย” อาการนี้น่าเป็นห่วงสุดๆ บอกเลย!

4. ควรลงทุน 1-5% จากรายได้ที่เข้ามา ลงทุนหมดหน้าตัก 100% เลยไม่ได้เหรอ?
เผื่อได้กำไรเท่าตัว คิดแบบนั้นคิดผิด! เพราะทำให้ล้มละลายมาแล้วหลายคน มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ ซึ่งเราไม่แนะนำให้ลงทุนแบบนั้น การลงทุนที่ดีควรแบ่งจากรายได้ที่เข้ามา ที่สามารถปล่อยทิ้งไว้ระยะยาวได้ (เงินเย็น) แบบนี้จะทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะเรารู้จักแบ่งสัดส่วนเงินได้เป็นอย่างดี เป็นเงินที่ถึงเสียไป ก็ไม่เสียหาย

5. ไม่ควรมองข้ามสกุลเงินอื่นๆ
ไม่เพียงแต่บิทคอยน์เท่านั้น ที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่ยังมีเหรียญอื่นที่น่าลงทุนไม่แพ้กัน เช่น Ethereum เป็นเหรียญอันดับสอง ที่มีฟีเจอร์เด่นเป็น Smart Contract ทำให้ได้รับความนิยม, Ripple เป็นเหรียญที่มีธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเข้าร่วมมากมาย ในประเทศไทยก็มี SCB ที่เข้าร่วม เราจะเห็นได้ว่าเหรียญแต่ละเหรียญนั้น มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เรามีตัวเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

6. การลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลมีความเสี่ยง
ยอมรับว่าความผันผวนเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน เราไม่สามารถที่จะหลีกหนีความผันผวนหรือความเสี่ยงไปได้ เพราะตลาดมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามข่าวต่างๆ และยังไม่มีกฎหมายออกมายอมรับ หรือปัจจัยต่างๆ นอกเหนือการควบคุมของผู้ลงทุน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือต้องทำใจยอมรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นให้ได้ เมื่อเลือกที่จะลงทุน ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ควรศึกษาให้ดีก่อนการลงทุน