500 TukTuks กับกองทุนก้อนที่ 2 บนความหวังอยากเห็นสตาร์ตอัพไทยโตก้าวกระโดด

Business ธุรกิจ

เรื่อง : ธฤต อังคณาพาณิช

ากพูดถึง “สตาร์ตอัพ” หรือนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ในช่วงไม่กี่ปีนี้ รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น รวมไปถึงนักลงทุนหลายรายก็เริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้นเช่นกัน

รู้จักสตาร์ทอัพ

สตาร์ตอัพคือกลุ่มผู้ทำธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่คิดต่างและเข้ามาท้าทายธุรกิจเจ้าตลาดเดิม โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างสตาร์ตอัพที่มีชื่อเสียงก็ไล่มาตั้งแต่เฟซบุ๊ก กูเกิล อูเบอร์ อาลีบาบา และอื่นๆ อีกเพียบ

แม้ว่าสตาร์ตอัพจะหมายถึงกลุ่มทุนหน้าใหม่แต่ก็ไม่ได้เหมือนกับการทำ SMEs อย่างการเปิดร้านกาแฟ เพราะสตาร์ตตอัพจะมีเป้าหมายอยู่ที่การคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามา Disrupt หรือว่าเข้ามามีอิทธิพลอย่างการแย่งลูกค้าจากตลาดเดิม ด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ

มีคำนิยามสตาร์ตอัพจาก “สตีฟ แบลงค์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ตอัพว่า “a startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model” หรือแปลได้ว่าธุรกิจที่ทำซ้ำ ๆ ได้ และมีอัตราการเติบโตที่สูง สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าธุรกิจสตาร์ตอัพจะสร้างกำไรมหาศาลหากประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่สตาร์ตอัพเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจ๊งสูงมาก จากธุรกิจ 90% จะเหลือรอดอยู่เพียง 10% เท่านั้น เพราะโดยมากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะไม่มีประสบการณ์มากนัก การที่จะไปสู้กับกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีฐานแข็งแกร่งกว่าจึงเป็นไปได้ยาก ถ้าธุรกิจที่ทำไม่ได้เจ๋งจริง ๆ รวมถึงต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากการสร้างธุรกิจแบบนี้จำเป็นต้องยอมขาดทุนในช่วงเริ่มต้น เพื่อที่จะทำให้คนติดแบรนด์ใหม่

เห็นได้จากแอปพลิเคชั่นเรียกรถที่ไม่ได้มีรถเป็นของตัวเองสักคันเดียวอย่าง “อูเบอร์” ที่ในช่วงเริ่มเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ก็ต้องสู้กับกลุ่มแท็กซี่ ใช้โปรโมชันลดแลกแจกแถมมากมาย เพื่อทำให้คนติดแบรนด์และแย่งผู้ใช้จากกลุ่มแท็กซี่เดิม ซึ่งในบางธุรกิจก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบอูเบอร์ ลงทุนไปหากไม่ดีพอ หากหมดโปรโมชั่น ผู้ใช้ก็จะกลับไปใช้แบรนด์เดิม

ดังนั้น การลงทุนในสตาร์ตอัพจึงเรียกได้ว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก เมื่อพลาดไปแล้วก็ไม่สามารถถอนทุนคืนได้เลย เปรียบเหมือนการซื้อหวยที่มีโอกาสเสียมากกว่าได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่การทำธุรกิจสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หากสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับโลกได้ที่เลยทีเดียว ยิ่งมีสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ โลกก็จะพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด

500 TukTuks ที่พึ่งพิงของเหล่าสตาร์ตอัพไทย

อย่างที่ได้กล่าวไป การทำธุรกิจสตาร์ตอัพจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนก้อนใหญ่ที่คอยประคองไม่ให้ธุรกิจที่เปรียบเสมือนต้นอ่อนเพิ่งเริ่มงอกถูกขาใหญ่เหยียบเละไปก่อน การจัดตั้งกองทุนที่ดีจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพรายใหม่มีโอกาสรอดมากขึ้นอีกด้วย

ในต่างประเทศจะมีการตั้งกองทุนมากมาย โดยเฉพาะจากกูเกิล ที่มีโครงการสตาร์ตอัพอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการที่สตาร์ตอัพในไทยจะประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องมีกองทุนเพิ่มขึ้นอีก

กองทุนของสตาร์ตอัพมีชื่อเรียกว่า VC ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Venture Capital” หมายถึง ธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนระยะยาวประมาณ 3-5 ปี ซึ่งลงทุนเหมือนเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของกิจการในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง นอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน รวมถึงการให้คำปรึกษา ช่วยชี้แนวทางในด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจที่ได้รับเงินร่วมลงทุน สามารถที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล

หนึ่งในกองทุนสตาร์ตอัพไทยที่มีชื่อเสียงก็คือ 500 TukTuks ซึ่งเป็น VC เครือข่ายของกลุ่ม 500 Startups จากซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้บริหารอย่าง “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” และ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวกองทุนก้อนที่สองร่วมกับเซ็นทรัลไปเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ตั้งกองทุนมาได้ประมาณสามปี

เปิดกองทุนก้อน2หนุนสตาร์ตอัพไทยก้าวสู่เอเชีย

สำหรับกองทุนก้อนที่สองนี้ เป็นกองทุนที่ 500 TukTuks ได้จับมือกับเครือเซ็นทรัล, เครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด และกลุ่มธุรกิจ TCP (เรดบูลส์) ร่วมระดมทุนในกองทุนที่สองอย่าง 500 TukTuks II โดยที่หวังว่าจะสามารถผลักดันสตาร์ตอัพไทยให้ก้าวเข้าไปสู่ระดับเอเชียได้ และร่วมสร้างระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ

“กระทิง-เรืองโรจน์” เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เปิดกองทุนแรก ก็มี VC ที่สนใจเข้ามาลงทุนอีกกว่า 50 บริษัท จนถึงตอนนี้ระดมทุนในรอบถัดไปได้ทั้งหมดเกือบ 7,000 ล้านบาท ช่วยสร้างการจ้างเงินเกือบ 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

กระทิงเล่าต่ออีกว่า ในเวลานี้สตาร์ตอัพไทยยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะโต กองทุนกองหนึ่งมีอายุ 10 ปี ถ้าหากสามารถคืนกำไรได้ภายใน 10 ปี ก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มีสัญญาณที่ดีจากกลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนในกลุ่มแรก ที่เริ่มจะคืนกำไรกลับมาบ้างแล้ว

“ตอนนี้มีประมาณ 3-4 บริษัทที่ส่งเงินกลับมาแล้วประมาณเกือบ 300 ล้านบาท ถ้าคืนกำไรมา 5 บริษัทก็จะได้เงินมาประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราก็คาดหวังว่าบริษัทจะทำกำไรกลับมาเรื่อย ๆ จนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,315 ล้านบาท)” กระทิง-เรืองโรจน์กล่าว

และว่า กองทุน 500 TukTuks เองถือกำเนิดขึ้นมาจากกองทุนสตาร์ตอัพอย่าง 500 starts up อีกทีหนึ่ง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการทำของการทำสตาร์ตอัพก็คือการลอกโมเดลธุรกิจของต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาให้หมด เรียกว่าเหมือนเป๊ะๆ เลยก็ได้ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ต่อยอดออกมาเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ เพราะนักลงทุนอาจมองว่าธุรกิจใหม่เอี่ยมมีความเสี่ยงมากเกินไปจนไม่อยากลงทุน ดังนั้นการลอกโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้วมาก่อนจึงจำเป็นสำหรับสตาร์ตอัพ

“ผมยกตัวอย่างสตาร์ตอัพจากจีนอย่าง Alibaba ที่ตอนแรกก็ลอกโมเดลของ Amazon และ Tensen ซึ่งในปัจจุบันเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก ๆ สตาร์ตอัพไทยก็ต้องเรียนรู้ที่จะนำโมเดลธุรกิจเหล่านี้มาใช้ ” กระทิงกล่าว

ทั้งนี้ ในกองทุน 500 TukTuks II จะเน้นไปที่การทำ Disruptive digital ซึ่งว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่สามารถมีอิทธิพลกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ได้ จะไม่เหมือนกับกองทุนแรกที่เน้นไปที่การลอกโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้แห็นธุรกิจสตาร์ตอัพระดับ Unicorn(สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ก็เป็นได้

“ที่เรามาทำกองทุนนี้ก็เพราะว่าอยากจะได้เห็นสตาร์ตอัพที่เป็นฝีมือของคนรุ่นใหม่เข้ามา ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหากมีสตาร์ตอัพที่ดีมากขึ้น ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย บนความหวังว่าจะเห็นสตาร์ตอัพไทยเติบโตสู่ระดับเอเชีย” กระทิงกล่าวปิดท้าย