ระหว่างทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดละแวก ประเทศกัมพูชา อดีตราชธานีเขมรเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว สองข้างทางดูสภาพไม่ต่างจากชนบทในประเทศไทยเท่าใดนัก บางช่วงแห้งแล้ง แต่บางช่วงก็เขียวขจีด้วยทุ่งนาข้าว รถวิ่งไปบนถนนที่สวนกันสองเลน มีไหล่ทางพอให้เบี่ยงหลบกันได้นิดหน่อย ขณะเดียวกันท้องของคนบนรถร้องส่งเสียงโครกครากด้วยความหิว หน้าปัดนาฬิกาเตือนว่าถึงเวลาต้องกินอาหารเที่ยงแล้ว แต่มองไปทางไหนพอจะหาร้านอาหารสักแห่งเพื่อเข้าไปฝากท้อง ก็สุดยากเย็นเหลือกำลัง  มีก็แต่อาหารรถเข็น หรือไม่ก็เพิงข้าวแกงที่รอบๆ เป็นฝุ่นฟุ้งกระจาย  กระทั่งรถวิ่งมาถึงเส้นทางกึ่งกลางเมืองละแวกและเมืองอุดงมีชัย จึงกวาดสายตาเห็นร้านอาหารบรรยากาศเข้าท่า สะอาดสะอ้านพอสมควร  ชื่อร้าน “Krong Loung” อ่านออกเสียงอย่างไรก็แล้วแต่สะดวก แต่ในหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูงขอเรียกง่ายๆ แบบสำเนียงไทย ว่า “คลองหลวง”

ทางเข้าหน้าร้านคลองหลวง เป็นแผงย่างอะไรสักอย่างควันโขมง  หนแรกมองผ่านๆ นึกว่าไก่ย่าง แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ กลับเป็นตัวลักษณะคล้าย “กบ”  สอบถามแม่ค้าที่ยืนปิ้งย่างอยู่ว่าเป็นตัวอะไร  เธอส่งเสียงภาษาเขมรบอกว่า “kangkeb muoy” เพื่อนคนเขมรที่ไปด้วยกันรีบบอกว่า “แปลว่า กบ”  แต่อาหารชนิดนี้เรียกว่าอะไรเธอก็ไม่รู้เหมือนกัน พอสอบถามเอากับแม่ค้าก็รู้สึกยากลำบากในการทำความเข้าใจ เอาเป็นว่ามันคือ “กบย่างยัดไส้” อาหารชนิดหนึ่งของคนกัมพูชา

หรือเรียกว่า “ก็องแก๊บ บ๊ก” วิธีการทำคือนำกบมาล้างทำความสะอาด ลอกหนังออก แล้วสับให้ละเอียดทั้งตัว ไม่ว่าขากบ หัวกบ จากนั้นนำเครื่องเทศมาคลุกเคล้าผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนเครื่องเทศมีอะไรบ้างก็ยากจะรู้ เพราะการเรียกชื่อเครื่องเทศของคนไทยและคนกัมพูชาแตกต่างกัน เมื่อผสมกันดีแล้วก็นำไปยัดใส่เข้าในท้องกบอีกตัวที่ไม่ได้สับ นำไปย่างไฟกลางๆ  เวลาย่างกบจะพองๆ ด้วนๆ  ไม่มีขา ไม่มีหัว ดูไม่รู้ว่าเป็นกบ แม่ค้าบอกว่าสิ่งที่จะทำให้กบย่างอร่อยก็คือเครื่องเทศ ที่ทั้งหมักและทาเวลาย่าง ยิ่งตอนใกล้สุกจะส่งกลิ่นหอมหวนชวนกินยิ่งนัก

เพื่อให้เข้าถึงรสชาติของกบย่างอย่างแท้จริง จึงสั่งไปลองสองตัวร้อนๆ กำลังกิน คำแรกเมื่อหยิบเข้าปาก ให้รสชาติออก

กบย่างยัดไส้
ต้องลองทานดูแล้วจะติดใจ

มันๆ เพราะใส่ถั่วลิสงเข้าไปด้วย และมีกลิ่นเครื่องเทศ แต่รสไม่จัด โดยรวมรสชาติกินได้เพลินๆ ดี เหมาะเป็นกับแกล้มมากกว่าเป็นกับข้าว ใครอยากรู้รสชาติกบย่างยัดไส้ของคนเขมรเป็นเช่นไร  หากมีโอกาสไปกัมพูชาก็ต้องไปลองด้วยตัวเอง

จะว่าไปอาหารเขมรนั้นมีหลากหลายเช่นเดียวกับอาหารไทย ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น วัฒนธรรมการกิน การปรุง อาหารเขมรโดยมากไม่นิยมพริก รสเผ็ดโดยมากได้จากพริกไทย หลังๆ มาเริ่มปรากฏพริกบนโต๊ะอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังนิยมพริกไทย เพื่อให้ได้รสเผ็ดอยู่ดี  อาหารเขมรปัจจุบันได้รับอิทธิพลด้านการปรุงอาหารจากจีน เวียดนาม ไทย ตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศสอยู่ด้วย  ส่วนการกินดั้งเดิมของคนเขมรก็เปิบด้วยมือเหมือนคนไทย  ชาวเขมรโชคดีที่มีทะเลสาบเขมร ซึ่งมีปลาอุดมสมบูรณ์และรสชาติดีมาก ทุกวันนี้คนเขมรกินปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ  และยังมีกุ้ง หอย ปู กบ ตะพาบ เต่า ให้หามากินได้อีกด้วย เล่าลือกันว่า “ปลากรอบ”เป็นของดีของวิเศษของประเทศกัมพูชา  นอกจากนี้ ไม่เว้นแม้แต่พืชผัก มีทั้งปลูกเองจากสวน จากไร่ และผักจากป่า

ชาวกัมพูชานิยมกินปลากรอบโดยนำมายำกับมะกอก  นำมาย่างหรือนำมาแกง ปลาแห้งก็แกงใส่ผัก เช่น ฟักเขียว หรือตำน้ำพริก สำหรับน้ำพริกเขมรไม่มีพริกเป็นส่วนผสม ดูคล้ายตำป่นปลาบ้านเราแต่ไม่มีสีแดงของพริก ใส่พริกไทยดำพอแหลกเพื่อให้ได้รสเผ็ดร้อน กินแกล้มผักจิ้ม ชาวเขมรนิยมนำ “ปลาม้า” มาทำเค็ม เนื้อปลาม้าเค็มสับผสมกับหมูสับและไข่ ตีรวมกันนำมานึ่งหรือจะทอดก็ได้  กินแกล้มกับผักนานาชนิด สามารถใช้ปลาร้าแทนปลาม้าเค็มได้ แต่ปลาร้าจะเหมาะกับนึ่งเท่านั้น  ชาวเขมรชอบกิน “ปลาชะโด” มากกว่าชาวไทย อาหารที่ปรุงด้วยปลาชะโดที่ขึ้นโต๊ะบ่อยมากคือ “มจูญวน”

ไข่เจียวกัมพูชา
ป่นปลา หรือน้ำพริกกินกับผักต่างๆ

“มจู” นั้น คือแกงชนิดหนึ่งที่มีรสชาติเปรี้ยวนำ  สูตรมจูญวนนี้อาจเป็นสูตรของญวน เป็นแกงน้ำใส ที่เปรี้ยวด้วยรสมะเขือเทศดิบ (ชาวเขมรไม่นิยมรับประทานมะเขือเทศสุก) สับปะรด ส้มมะขามเปียก เหง้าบัวหลวง บ้างก็ใส่ฟักเขียว แล้วตอกไข่ใส่ลงไป โรยหน้าด้วยโหระพา ผักชีฝรั่ง ผักแขยง ใบหอม ที่ซอยรวมกัน ตามด้วยกระเทียมเจียว น้ำแกงเปรี้ยวแซมความหวานจากเนื้อปลา ชาวเขมรมีวิธีดับคาวของปลาด้วยการนำเนื้อปลามาผัดกับน้ำมัน เพื่อกำจัดเมือกปลาเสียก่อน จะทำให้มีกลิ่นหอมขึ้นด้วย สามารถใช้ปลาช่อนตัวโตๆ ปรุงได้ หรือปลาทะเลก็อร่อยดี

มจูอีกอย่างคือ  “มจูเกรือง”  ใส่เครื่องข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระชาย อย่างละนิดอย่างละหน่อย ตำพอแหลก ชูรสเปรี้ยวด้วยมะขามเปียก หรือลูกมะสังก็บุบใส่ไปด้วย มีแยกย่อยอีก

สองสามชนิด คือ ชนิดที่ใส่ใบมะดัน และชนิดที่ใส่ใบส้มลมเพื่อให้ได้รสเปรี้ยว ใส่ผักแต่น้อย บางคนก็ใส่ผักบุ้ง หรือพริกฝรั่ง หัวหอมฝรั่ง ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ตามใจชอบ กระดูกซี่โครงหมูก็ไม่เลว

ยังมีแกงผักรวมอีกชนิดหนึ่ง “กอโก” ไม่ใส่กะทิ ใช้เนื้อหมู เป็ด ไก่ หรือปลา ที่นิยมคือปลาดุก ใส่ผักรวมหลายชนิด ซึ่งในตลาดจะมีคนผสมผักพวกนี้ขายเอาไว้เลยสำหรับทำแกงชนิดนี้โดยเฉพาะ  ประกอบด้วยใบตำลึง มะเขือพวง ใบมะรุม ใบมะยม ขนุนอ่อน มะละกอสับ กล้วยดิบ ยอดมะระขี้นก ฯลฯ เครื่องแกงมีตะไคร้ ข่า ขมิ้น ตำพอแหลก  คนพนมเปญจะผัดเนื้อกับเครื่องแกงก่อนแล้วจึงตามด้วยลงผัก แต่คนต่างจังหวัดไม่นิยมผัดเนื้อด้วยน้ำมันเหมือนพนมเปญ แต่จะคั่วแห้งก่อน และนิยมใส่ปลาร้าลงไปด้วย  กิริยาการคั่วการกวนนี้เองเป็นที่มาของชื่ออาหาร “โก” แปลว่า กวน และถ้าจะให้วิเศษจริงๆ ควรต้องมีลูกตาลอ่อนฝานผสมลงไปด้วย รสชาติดีเป็นที่นิยมอย่างมาก

หอยแครงชาวเขมรนำมาผัดกับน้ำมะขามเปียก ไม่แกะเปลือกหอยออก ใส่ใบโหระพา ส่วน “ห่อหมก”  เขมรใส่ใบมะยมแทนใบยอ สะเดาก็นิยมนำมายำรับประทานนอกเหนือจากเป็นผักแนม ส่วนยำ ลาบ พล่า ก็มี มักปรุงสุกๆ ดิบๆ ประเพณีเดียวกับอาหารอีสาน แต่ก็ยังเจือรสนิยมของคนเขมรคือไม่เผ็ด  เนื้อสัตว์บางชนิดนำมาผัดเครื่องแกง แต่เครื่องแกงไม่มีพริก จึงมีสีออกเหลืองปนเขียวอ่อน แถมมีถั่วลิสงคั่วตำผสมเครื่องแกงลงไปด้วย ผัดกับเนื้อกุ้ง เนื้อกบ หรือเนื้อสัตว์อื่นตามใจชอบ  พลิกแพลงกันได้ และด้วยของป่าหาไม่ยากนัก เนื้อสัตว์ป่าบางชนิดก็จะขึ้นโต๊ะภายใต้ชื่ออาหารเหล่านี้

“ปรอฮา” เป็นแกงที่เผ็ดที่สุดในเมนูอาหารเขมร  ใช้เนื้อปลา เครื่องแกงมีกระชาย ตะไคร้ มีผักคือเผือก มะละกอ ฟักทอง ใบพริก ใส่พริกสองสามเม็ดก็เผ็ดน้ำหูน้ำตาไหลกันแล้ว ใส่ปลาร้าด้วย ชื่อนี้ได้มาจากรสชาติที่เผ็ดร้อน บางท่านแปลชื่อแกงชนิดนี้ว่า  แกงเลียง  หากมีโอกาสได้กินลองพิจารณาดูก็แล้วกันว่าเหมือนหรือไม่  สำหรับ “ขนมจีน” นั้น  มีน้ำยาอยู่ 2-3 ชนิด แต่ที่นิยมที่สุดคือ น้ำยาปลาช่อน ปลาชะโด  น้ำยาเป็นสีเขียวเพราะเครื่องแกงไม่มีพริกแดงแห้งผสมเหมือนบ้านเรา  ของดีต้องมีไข่ปลาลอยติดขอบหม้อ  กินกับเหมือดซึ่งก็มีเต็มถาดตามเคย เช่น มะละกอสับ ดอกผักตบชวา หัวปลี ดอกโสน ถั่วงอก ถั่วฝักยาว แตงกวา สายบัว ผักชีล้อม  ส่วนวิธีการกินชาวเขมรใช้ตะเกียบคีบขนมจีนเข้าปาก ดูแปลกตาดี

อิทธิพลอาหารฝรั่งก็มีเช่นกัน ตอนเช้าจะมี “ขนมปังปะเต” ซึ่งคล้ายคลึงกับขนมปังฝรั่งเศส ใส่ไส้แฮม หมูยอ ต้นหอม เนื้อบด นิยมกินเป็นอาหารเช้า บางทีก็ใช้ขนมปังบิจิ้มแกงกะหรี่  ซึ่งก็หน้าตาคล้ายมัสมั่นของเรา “ก๋วยเตี๋ยว”  ชาวเขมรก็นิยมกินยามเช้า ที่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวไทย คือจะมีกุ้ง หมูยอ และใบผักกาดหอมรองก้นถ้วย ที่พิลึกคือจะมีผงชูรสใส่ถ้วยขนาดเล็กวางบนโต๊ะด้วยหากลูกค้าอยากจะเติม น้ำส้มสายชูเขมรนั้นมักดองพริกเป็นเม็ดๆ แต่ไม่เห็นมีใครตักพริกกิน มีแป้งสีขาวขุ่นก้นกระปุก ไม่แน่ใจว่าทำด้วยอะไรบ้าง

ในตอนเย็นมีร้านอาหารยอดนิยม คือ “ซุปหม้อดิน”  ใช้เนื้อวัว คล้ายคลึงกับสุกี้ยากี้  มีเครื่องปรุงลูกชิ้นเนื้อ บะหมี่ ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ฟองเต้าหู้ ไข่ไก่ ฯลฯ พร้อมน้ำจิ้มคล้ายๆ น้ำพริกเผาและน้ำจิ้มสีน้ำตาล ไม่ทราบว่าปรุงด้วยอะไรบ้าง

ปลาทอดกระเทียม (ปลาเนื้ออ่อน) พร้อมน้ำจิ้ม
ปลาเปรี้ยวหวาน จะไม่ใส่พริก แต่มีพริกใส่ถ้วยมาให้ต่างหาก ถ้าอยากกินเผ็ด

หรือหากจะอยากนั่งริมถนนกินเครื่องในวัวนึ่ง จิ้มกับน้ำปลาร้าปรุง แกล้มผักบุ้งจักเป็นเส้น เป็นกับแกล้มเหล้ายาก็สุนทรีย์ไม่น้อย  ที่เบาท้องกว่านั้นคือ  “ลอดช่องผัด”  ทำเส้นเป็นทรงเดียวกับลอดช่องบ้านเรา แต่กินเป็นของคาว  ผัดกับถั่วงอกเหมือนผัดหมี่  แต่เวลาใส่ไข่จะดาวต่างหาก แล้วโปะลงมาบนลอดช่องผัด

ยามเย็นคนพนมเปญนิยมนั่งรถมอเตอร์ไซค์เล่นริมแม่น้ำ อาหารกินเล่นรับลมยามเย็นริมแม่น้ำหน้าพระบรมราชวัง คือ “ไข่ตายโคม”  ซึ่งเป็นไข่เป็ด  จะมีให้เลือก 19 วัน หรือ 20, 21, 22 วัน ถ้าจำนวนวันมากจะเห็นตัวลูกเป็ดชัดเจนกว่า แล้วแต่จะชอบ เจาะไข่ หากมีน้ำในไข่ก็ยกซดก่อนแล้วจึงเหยาะน้ำจิ้มใส่ ซึ่งทำด้วยพริกไทยดำตำ น้ำปลา มะนาว แกล้มผักไผ่  ซึ่งเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนเพื่อดับคาว  นอกจากนี้ ยังมี “ไข่นกกระทาต้ม”  (แต่เขมรเรียกว่าไข่นกคุ่ม) ไข่เต่าดิบ  ซึ่งเค้ากินกันดิบๆ   “ส้มตำ”  เป็นอาหารไทยหน้าใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาไม่นาน ตำใส่กะปิ ไม่เผ็ด รองพื้นจานด้วยใบชะพลู ผักบุ้งจักเป็นเส้นแช่น้ำจนงอนเช้งกะเด๊ะ แล้วจึงราดด้วยส้มตำข้างบน ใช้ตะเกียบคีบกิน

นอกเหนือจากนี้แล้ว เขมรก็มีอาหารง่ายๆ พื้นๆ เช่น อาหารปิ้งย่าง  กรรมวิธีไม่ยุ่งยาก แต่ได้รสชาติสดๆ จากธรรมชาติ  อาหารบางอย่างก็ดูใกล้เคียงกันกับไทย เช่น พวกผัดผัก ต้มจืด พะโล้ ซึ่งคงเป็นอาหารจีนมาก่อน ไข่ลูกเขยก็พบเห็นขายในตลาด แต่น้ำราดไม่ข้นเหนียวด้วยมะขามเปียกแบบบ้านเรา ดูใสๆ โหรงเหรง  ชาวเขมรดูจะชอบอาหารรสเปรี้ยวนำเป็นพิเศษ ไม่ใช่เปรี้ยวจี๊ดแบบมะนาว  แต่เป็นเปรี้ยวกลมกล่อม ความหวานนั้นได้จากเนื้อสัตว์มากกว่าน้ำตาล  ขณะที่คนไทยกินเผ็ดและกินหวานนำ

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นความรู้ผสมผสานกัน จากทั้งในตำราและในเรื่องราวที่พบเห็นจริง เอาเป็นมาหากมีโอกาสเดินทางไปประเทศกัมพูชา ลองสอดส่ายสายตามองหาว่าอาหารเขมรที่กล่าวมานั้น พอจะหากินที่ไหนได้บ้าง แล้วลองลิ้มชิมกันดู อย่างน้อยจะได้รู้ด้วยตัวเอง ว่าอาหารการกินประเทศเพื่อนบ้านของเรา เป็นแบบไหน อย่างไร เข้าตำราสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ก็ไม่เท่าหยิบเข้าปาก…

าพปราสาทหินตั้งตระหง่าน ดูมีมนต์ขลัง หรือภาพสลักนางอัปษรภายในบริเวณปราสาทเขมร น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยเห็นกันมาบ้าง กับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “นครวัด” แห่งเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

แต่จริงๆ แล้วโบราณสถานอันชวนอัศจรรย์ของเขมรไม่เพียงอยู่ที่นครวัด หรืออีกที่ที่คนรู้จักดีอย่างนครธมเท่านั้น แต่ยังมีจุดอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น “มหาปราสาทบันทายฉมาร์” ศาสนสถานในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร หรือ “กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก” ที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าก่อนที่เขมรจะย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองพระนคร

“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย-เขมร เล่าให้ “มติชนอคาเดมี” ฟังว่า บันทายฉมาร์ หรือตัวปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นศาสนสถานสำคัญสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถึงแม้ลักษณะการก่อสร้างเป็นตัวปราสาทหินก็จริง แต่ว่าโดยรอบก็มีฐานะเป็นเมือง

“สมัยก่อนเราเรียกตรงนั้นว่าพุทไธสมัน ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารโบราณและแผนที่เก่า ซึ่งเป็นแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยรัชกาลที่ 2 หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย จึงกล่าวได้ว่าบันทายฉมาร์เป็นปราสาทที่คนไทยเรารู้จักมานานแล้ว เพียงแต่ต่อมาภาษาเขมรเรียกว่าปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งแปลว่าป้อมเล็ก ที่นี่เป็นศาสนสถานสำคัญที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้นอกเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรสและขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม ซึ่งจะมีศรีนทรกุมารที่เป็นโอรส มีรายชื่อปรากฏอยู่ในจารึกของปราสาทบันทายฉมาร์”

สิ่งที่น่าไปชมในบันทายฉมาร์คือภาพสลักที่ระเบียงปราสาท ซึ่งเป็นภาพสลักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คล้ายกับที่นครธม หรือปราสาทบายนที่เมืองพระนคร โดยมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือ มีภาพสลักที่เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันกร คือมีพระกรออกมามากมายเป็นพันๆ กร

นอกจากนี้ ยังมีปราสาทที่บนยอดเป็นพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่สร้างอยู่นอกเมืองพระนคร เพราะฉะนั้นปราสาทบันทายฉมาร์ก็เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเขมรโบราณที่อยู่นอกเมืองพระนคร ที่หลายคนอาจยังไม่เคยไปสัมผัส ไม่เคยไปรับรู้ แต่เชื่อเถอว่ามีความน่าสนใจ เพราะแม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เคยส่งขุนนางไทยไปดูปราสาทพุทไธสมัน ให้ไปดูนครวัดนครธม เพื่อที่จะจำลองแบบมาที่ในประเทศไทยด้วย

ส่วนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก อ.ศานติ บอกว่า ที่นี่เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ที่เรียกกันว่ากลุ่มปราสาทนั้นเพราะว่าสมโบร์ไพรกุกมีฐานะเป็นเมืองหลวง ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะย้ายราชธานีไปอยู่เมืองพระนครที่เสียมเรียบ เพราะฉะนั้นก็ถือว่ามีความเก่าแก่มากกว่านครวัด นครธม เสียอีก

“โบราณสถานที่สมโบร์ไพรกุกนั้นมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 หรือ 1,400 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นร่องรอยของศิลปะอินเดียที่ส่งอิทธิพลเข้าไปในเขมรตั้งแต่ยุคแรกๆ เราจะเห็นความคลี่คลายของศิลปกรรมที่นั่น ที่สำคัญคือสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นราชธานีสำคัญที่ปรากฏในเอกสารของทั้งกัมพูชาในจารึก และปรากฏอยู่เอกสารของจีนที่เข้ามาในสมัยราชวงศ์สุย ที่บันทึกเรื่องราวของราชอาณาจักรเจนละ และบอกว่าราชธานีของพระเจ้าอีศานวรมันนั้นอยู่ที่อีศานปุระ จึงกล่าวได้ว่าสมโบร์ไพรกุกนั้นเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรเขมรโบราณที่นึง”

จะมีเรื่องราวให้ค้นคว้ามากขนาดไหน คงต้องไปสัมผัสของจริงกันในทัวร์ “บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมเรียบ ความลับหลังกำแพงศิลา” ที่นอกจากพาเยือนบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุกแล้ว ก็ยังไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปชมโบราณสถานในเมืองพระนครอย่าง “นครวัด” และ “นครธม” โดยนครวัดคือศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระองค์เอง ส่วนนครธมก็มีฐานะเป็นเมืองหลวงโบราณ ซึ่งไทยเราเรียกกันมาแต่อดีตว่านครหลวง

“จริงๆ แล้วที่เราไปศึกษาของกัมพูชา เราจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือศาสนสถานหรือโบราณสถานของกัมพูชานั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับของไทยเหมือนกัน หลายๆ อย่างถือว่าเป็นต้นแบบของเรา และการที่เราไปเรียนรู้กัมพูชาในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่ากัมพูชาถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เพราะฉะนั้นการที่เราเรียนรู้เพื่อนบ้านเราได้อย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเราและเพื่อนของเราได้ดียิ่งขึ้น”

รศ.ดร.ศานติยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้หลายคนอาจจะเคยไปกัมพูชากันมาแล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปเราก็จะพยายามนำเสนอในมิติต่างๆ ในแง่มุมใหม่ๆ พยายามที่จะไปให้เห็นภาพ หรือได้เกิดความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน โดยการที่เราไปครั้งนี้เราจะเห็นตั้งแต่ปราสาทยุคแรก คือตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงยุคสุดท้าย และช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เท่ากับแทบจะได้เรียนรู้ศิลปกรรมเขมรตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคสุดท้าย ตั้งแต่ก่อนพระนคร จนถึงสมัยพระนคร ที่จะสืบเนื่องมาสัมพันธ์กับศิลปกรรมของไทยด้วย

การเดินทางครั้งนี้ นำชมโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ออกเดินทางวันที่ 14-16 กันยายน 2561 ราคา 25,000 บาท (อ่านรายละเอียดโปรแกรมการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_18009)


สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี
Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichonacademy

อาหารเขมรหรือกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านมาก ทั้งไทย เวียดนาม รวมทั้งจีนและฝรั่งเศส อาหารในสำรับกับข้าวเขมรนั้นหากดูผ่านๆ จะคิดว่าเป็นอาหารไทย เพราะหลายๆ อย่างเหมือนกันทุกประการ ลองไปดู 5 อาหารจานเด็ด ที่คุณก็สามารถทำกินเองได้ที่บ้านกัน

1.อะม็อก เตรย ห่อหมกเขมร

ใครที่ไปเขมรคงได้เห็นอาหารอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อเป็นอาหารแนะนำในร้านอาหารของเขมร อาหารชนิดนั้นคือ “อะม็อก”ชาวไทยทุกคนเมื่อได้เห็นคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า…”ห่อหมก” นี่นา ใช่แล้วค่ะ อะม็อกก็คือห่อหมกนั่นเอง เป็นอาหารฮิตติดลมบนที่ชาวขแมร์ภูมิใจนำเสนอ ถึงขนาดยกย่องให้เป็นอาหารประจำชาติ

ชาวเขมรกล่าวว่าอะม็อกนี้เป็นอาหารที่กินกันมาแต่โบราณ ไม่ว่าไทยรับจากเขมรหรือเขมรรับจากไทย ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าทั้งสองชาติได้มีการถ่ายเททางวัฒนธรรมมาตั่งแต่อดีตกาล ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-13 จักรวรรดิกัมพูชาได้ขยายอาณาเจตครอบคลุมดินแดนไปถึงลาว เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 สยามได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาจนถึงเมืองเสียมราฐอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงนครวัด จนเขมรต้องย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงพนมเปญ สยามครอบครองอยู่นานถึง 400 ปี ในช่วงนี้เองน่าจะเป็นช่วงที่เขมรรับเอาอาหารการกินของไทยมา

ประเทศกัมพูชานั้นมีปลาน้ำจืดอุดมสมบูรณ์จากแหล่งน้ำใหญ่คือแม่น้ำโขง โดยเฉพาะโตนเลสาบซึ่งเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก ถ้าเทียบต่อลูกบาศก์กิโลเมตรแล้วโตนเลสาบมีปลามากกว่าในมหาสมุทรแอตแลนติกถึงสิบเท่า ปลาที่นิยมมาทำห่อหมกจึงเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก และปลาหนังชนิดอื่นๆ เรามาทำ “อะม็อก เตรย” หรือห่อหมกปลากันค่ะ

เครื่องแกงภาษาเขมรเรียกว่า “เกรือง” เครื่องแกงที่ใช้ทำอะม็อกคือเครื่องแกงเหลือง แต่จะเพิ่มกระชายเข้าไปด้วย ประกอบไปด้วยหอมแดง กระเทียม ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ผิวมะกรูด และกระชาย จะสังเกตได้ว่าไม่มีพริกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะอาหารในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในปัจจุบันแม้มีการใส่พริกแห้งลงไปในเครื่องแกงด้วย แต่ก็เป็นเพียงปริมาณน้อยเพราะชาวเขมรไม่กินเผ็ดจัดอย่างไทย

เมื่อตำเครื่องแกงแล้วก็มาเตรียมปลา นำเนื้อปลามาหั่นเป็นชิ้น ใส่เครื่องแกงลงไป ตามด้วยกะทิ และไข่ ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลโตนดแล้วกวนให้เข้ากัน เตรียมกระทงใบตองรองก้นด้วยใบยอ ตักส่วนผสมอะม็อกใส่ลงไป นำไปนึ่งให้สุก หยอดหน้าด้วยกะทิ โรยใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้าซอย นึ่งต่อสักครู่ก็พร้อมรับประทาน

ส่วนผสม

ปลาน้ำจืด ไข่ กระทิ น้ำปลา น้ำตาลโตนด

เครื่องแกง : พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ผิวมะกรูด และกระชาย

ใบมะกรูด พริกชี้ฟ้าแดง

กระทงใบตอง

วิธีทำ

1.ตำพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ผิวมะกรูด

2.หั่นเนื้อปลาเป็นชิ้นใส่เครื่องแกง กะทิ ไข่ น้ำปลา น้ำตาลโตนด กวนให้เข้ากัน

3.ตักส่วนผสมอะม็อกใส่กระทงนึ่งจนสุกราดกระทิ โรยใบมะกรูด พริกซอยนึ่งสักครู่


2.ปลาฮ็อก กะติ น้ำพริกปลาร้ากะทิเขมร

“ปราฮ็อก กะติ” คือน้ำพริกปลาร้ากะทิเขมร สำรับกับข้าวของเขมรและไทยนั้นใกล้เคียงกันมาก ผู้ที่เคยไปเยือนประเทศกัมพูชาอาจนึกแปลกใจที่เห็นอาหารหลายอย่างหน้าตาเหมือนไทย โดยเฉพาะแกงต่างๆ และห่อหมก นอกจากนี้ชาวเขมรยังกินข้าวกับน้ำพริกด้วย น้ำพริกของเขมรที่เป็นที่นิยมคือน้ำพริกปลาร้าที่เรียกว่า “ปราฮ็อก กะติ” แปลว่า ปลาร้ากะทิ ดังนั้น ส่วนผสมหลักของน้ำพริกถ้วยนี้จึงต้องมีปลาร้าและกะทิอย่างแน่นอน

ชาวเขมรจะทำน้ำพริกโดยเริ่มจากการตำเครื่องแกงที่เรียกว่า “เกรือง” เครื่องแกงที่ใช้ทำปราฮ็อก กะติ คือเครื่องแกงเหลือง อันประกอบไปด้วย หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า ขมิ้น และผิวมะกรูด นำใส่ครกตำให้ละเอียด

น่าแปลกที่เขาจะไม่ใส่พริกลงไปตำรวมกันในเครื่องแกงด้วยกันแบบเรา แต่เขาจะนำพริกแห้งไปแช่น้ำ แล้วนำพริกที่แช่น้ำจนนุ่มแล้วมาสับบนเขียงแยกไว้ ซึ่งอาจจะง่ายต่อการกำหนดรสเผ็ด ส่วนฉันนั้นจัดทุกอย่างใส่ครกตำพร้อมกันไปเลยเช่นเดียวกับตำพริกแกงไทยซึ่งสะดวกกว่า เพราะอย่างไรเสียทั้งหมดนี้ก็ต้องมาผัดรวมกันในกระทะอยู่ดี

เตรียมสับหมูและปลาร้ารอไว้ สิ่งที่ต้องเตรียมอีกอย่างคือ “มะสังมะสังเป็นผลไม้รสเปรี้ยวอมหวาน มีเปลือกแข็ง วิธีใช้คือทุบให้เปลือกแตกตักเอาแต่เนื้อในสับให้ละเอียดเตรียมพร้อมไว้ มะสังนี้ใส่เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวในน้ำพริก ฉันเชื่อว่าในยุคสมัยนี้เราคงหามะสังได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น หากหาไม่ได้ก็ไม่ต้องตกใจ เราสามารถใส่มะนาวแทนได้ โดยบีบมะนาวลงไปในขั้นตอนสุดท้าย หรือจะใช้น้ำมะขามเปียกแทนก็ได้

เมื่อเตรียมวัตถุดิบครบก็ตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อย เมื่อน้ำมันร้อนใส่เครื่องแกงลงไปผัดจนหอม แล้วใส่พริกแห้งที่สับหรือตำไว้แล้วลงไปผัดให้เข้ากัน เติมน้ำกะทิ เมื่อเดือดจึงใส่ปลาร้าสับที่แกะเอาก้างออกแล้วและหมูสับลงไป เติมน้ำสต็อก เคี่ยวไฟอ่อนๆ สัก 15 นาที ปรุงรสด้วยน้ำตาลโตนด หากปลาร้าเค็มไม่พอให้เติมน้ำปลาหรือเกลือ แล้วใส่มะสัง เคี่ยวไฟรุมๆ อีกสักพักจนเหลือน้ำขลุกขลิก จึงใส่มะเขือพวงและใบมะกรูดซอยลงไป รอจนมะเขือพวงสุกก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ จะได้น้ำพริกปลาร้ากะทิครบรสกลิ่นหอมยวนใจมาไว้กินแนมกับผักสดต่างๆ ส่วนจะเป็นผักอะไรนั้นไม่จำกัด อาจเป็นผักตามฤดูกาล หรือผักพื้นฐานที่กินกับน้ำพริกใดๆ ก็อร่อยคือ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และผักชี อย่าลืมข้าวสวยร้อนๆ หม้อโต เพราะงานนี้คงได้คดข้าวกันหลายจาน

ส่วนผสม

ปลาร้า

หมูสับ

กะทิ

น้ำมัน

น้ำปลา น้ำตาลโตนด

เครื่องแกงเหลือง : หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า ขมิ้น ผิวมะกรูด

พริกแห้ง

มะสัง หรือมะนาว

มะเขือพวง และใบมะกรูด

แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักชี

วิธีทำ

1.ตำเครื่องแกงเหลือง

2.พริกแห้งแช่น้ำแล้วตำหรือสับ

3.ตั้งกระทะใส่น้ำมันใส่เครื่องแกงลงไปผัดจนหอมตามด้วยพริกแห้งตำเติมน้ำกะทิ เมื่อเดือดจึงใส่ปลาร้าสับและหมูสับลงไปเติมน้ำสต็อก เคี่ยวไฟอ่อนๆปรุงรสด้วยน้ำตาลโตนด น้ำปลาใส่เนื้อมะสังสับเคี่ยวไฟรุมๆ สักพักใส่มะเขือพวง และใบมะกรูดซอยลงไป

4.เสิร์ฟพร้อมผักสด


3.ซัมลอรื กอโก แกงฆ่าผัว

“ซัมลอร์ กองโก” หมายถึงแกงที่คนเข้ากัน หรือบางทีเรียกว่า “ซัมลอร์มวยร้อยมุก” ซึ่งหมายถึงแกงที่มีส่วนผสมร้อยอย่าง เพราะว่าแกงมีส่วนผสมของผักหลายชนิด ฝรั่งถึงกับเรียกว่า “ราตาตูยเขมร” ราคาตูยเป็นสตูว์ผักแบบโปรวองซาล มีต้นกำเนิดจากเมืองนีซ แต่ราตาตูยของเขมรนี้แตกต่างจากแบบฝรั่งเศสแน่นอนเพราะใส่ปลาร้า

แกงนี้มีตำนานเล่ากันว่า แม่บ้านขแมร์นางหนึ่งเกิดเอือมระอาสามีขี้เมาที่อยู่กินด้วยกันมานาน วันๆ เอาแต่ตบตีนางเป็นประจำเมื่อเมรัยออกฤทธิ์ นางจึงวางแผนกำจัดสามีตน ด้วยการปรุงแกงโดยเก็บผักเก็บหญ้าสารพัดชนิดมาใส่ลงไป แล้วใส่ข้าวคั่วลงไปคนทุกอย่างให้เข้ากันเพื่อกลบเกลื่อนไม่ให้รู้ว่าใส่อะไรลงไปบ้าง กะให้สามีกินให้ตายๆ ไป เมื่อสามีเมาแอ๋กลับมาตามปกติ นางจึงยกสำรับเสิร์ฟ สามีก็กินไปโดยไม่ได้เอะใจอะไรเช้าวันรุ่งขึ้นนางตื่นมาก็พบว่าสามียังเป็นปกติสุขดี ออกไปทำไร่ไถนาได้เช่นเคย ตกเย็นสามีตัวดีกลับถึงบ้านยังร้องขอนางให้ทำแกงอย่างเมื่อวานให้กินอีก นางก็ทำให้กินอีกหลายมื้อ รอเวลาว่าเมื่อไหร่สามีนางจะตายสักที แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ตาย ยิ่งนานยิ่งแข็งแรงขึ้นและนิสัยก็ดีขึ้นด้วย แกงนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แกงฆ่าผัว” (ซัมเลอร์ ซัมหลับปะได)—ฆ่าผัวให้เป็นคนดีนั่นเอง ใครมีสามีขี้เมาจะลองใช้วิธีนี้ดูบ้างก็ได้นะคะ ได้ผลอย่างไรมาบอกกันบ้างนะ

เครื่องปรุงมีดังนี้ ฟักทอง มะละกอดิบ มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือพวง ยอดมะระ กล้วยดิบ และผักอื่นๆ ตามชอบ ใครจะใส่ให้ครบร้อยอย่างก็ได้นะคะ เนื้อสัตว์นั้นจะใส่ปลาดุกและหมูสามชั้น ส่วนเครื่องแกงจะเป็นแกงเขียวหวานของเขมรที่ทำมาจากหอม กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น เกลือ ตำให้แหลกรอไว้

วิธีทำเริ่มจากตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใส่หมูสามชั้นลงไปผัดให้พอเหลืองตามด้วยเครื่องแกงลงไปผัดให้หอม ใส่ปลาดุกลงไป แล้วตามด้วยปลาร้าผัดให้เข้ากัน ถึงตอนนี้กลิ่นก็หอมฟุ้งเชียว ใครจะว่าเหม็นก็ช่างเขา ตักเนื้อปลาออกมาพักไว้ เติมน้ำลงไป เมื่อเดือดปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลโตนด ทยอยใส่ผักต่างๆ ลงไป อันไหนสุกยากก็ใส่ลงไปก่อน เมื่อผักสุกดีแล้วก็เอาเนื้อปลาดุกใส่กลับลงไป ใส่ข้าวคั่วลงไปคนให้เข้ากัน ตั้งไฟให้เดือดอีกครั้งทุบพริกขี้หนูลงไปสัก 2-3 เม็ดให้พอมีรสเผ็ด ตักใส่ชามกินกับข้าวสวยร้อนๆ รับรองผัวรักผัวหลง

ส่วนผสม

ปลาดุก หมูสามชั้น

ฟักทอง มะละกอดิบ มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือพวง ยอดมะระ กล้วยดิบ และผักอื่นๆ

เครื่องแกงเขียว : หอม กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น เกลือ

ปลาร้า ข้าวคั่ว พริกขี้หนู

น้ำปลา น้ำตาลโตนด

วิธีทำ

1.โขลกเครื่องแกง

2.หั่นหมูและปลาเป็นชิ้นตั้งกระทะใส่น้ำมันใส่หมูสามชั้นลงไปผัดตามด้วยเครื่องแกงใส่ปลาดุกปลาร้าลงไปผัดตักเนื้อปลาออกพักไว้

3.เติมน้ำลงไปต้มให้เดือดปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลโตนดใส่ผักต่างๆเอาเนื้อปลาดุกใส่กลับลงไป ใส่ข้าวคั่วคนให้เข้ากันตั้งไฟให้เดือดอีกครั้งทุบพริกขี้หนูใส่


4.กระดาม ชสา มเรจ ขเจย ปูผัดพริกไทยอ่อนกัมปอต

“กะดาม ชา มเรจ ขเจย” แปลว่าปูผัดพริกไทยเขียว ซึ่งหมายถึงปูผัดพริกไทยอ่อนเมืองกัมปอตนั่นเอง ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ต้องลิ้มลองหากได้มาเที่ยวแถบเมืองชายทะเลในแถบเมืองแกบ กัมปอต และกำปงโสม เพราะมีวัตถุดิบสดๆ จากทะเลอ่าวไทย

เมืองกัมปอตนี้เป็นจังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ของกัมพูชา มีอาณาเขตติดทะเลอ่าวไทย ปัจจุบันเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่สวยงาม ในอดีตนั้นเมืองกัมปอตเคยเป็นเมืองท่าทางทะเลที่สำคัญ และเป็นเมืองที่พักของฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม แต่สิ่งที่โด่งดังที่สุดของเมืองนี้คือ “พริกไทยกัมปอต” พริกไทยจากเมืองนี้มีคุณภาพถึงกับได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาพริกไทย และยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา เพราะมีดิน น้ำ อากาศที่เหมาะสม พริกไทยกัมปอตที่ขึ้นชื่อนั้นปลูกในจังหวัดกัมปอต และจังหวัดแกบ นอกจากนี้ พริกไทยกัมปอตเป็นผลิตภัณฑ์แรกของกัมพูชาที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ดั้งนั้น พริกไทยที่ปลูกจากแหล่งอื่นนอกจากกัมปอตและแกบ ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นพริกไทยกัมปอต

โจวต้ากวนนักสำรวจชาวจีนที่ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการสำรวจในกัมพูชา บันทึกของเขาได้รับการยอมรับว่าแม่นยำ ในบันทึกนั้นได้มีการกล่าวถึงการปลูกพริกไทย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามีการปลูกพริกไทยที่นั่นมาหลายร้อยปี

ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส เมืองกัมปอตนั้นรุ่งเรืองเพราะพริกไทย มีผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ และพริกไทยจากเมืองกัมปอตกลายเป็นเครื่องเทศชั้นสูงที่นิยมกันในภัตตาคารฝรั่งเศส เมนูอาหารหลายอย่างระบุชัดเจนว่าใส่พริกไทยกัมปอต เช่น สเต็กซอสพริกไทยอ่อน

ปูผัดพริกไทยกัมปอตนั้นเมื่อมีปูสดๆ เนื้อแน่นและพริกไทยชั้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

วิธีทำเริ่มจากการตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใส่กระเทียมสับลงไปผัดให้หอม ใส่เนื้อปูหั่นเป็นชิ้นๆ ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา ปิดฝาสักพักจนเปลือกปูเปลี่ยนเป็นสีแดงแสดงว่าสุกแล้วจึงใส่พริกไทยอ่อนและต้นหอมลงไป ผัดอีกสามสี่ทีเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

ส่วนผสม

ปูทะเล

น้ำมัน กระเทียม น้ำปลา

พริกไทยอ่อน ต้นหอม

วิธีทำ

1.สับปูเป็นชิ้น

2.สับกระเทียม หั่นต้นหอมเป็นท่อน

3.ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน ใส่กระเทียมสับลงไปผัดใส่ปู น้ำปลา คลุกเคล้าให้ทั่ว ปิดฝาอบให้สุกใส่พริกไทยอ่อนและต้นหอมลงไปผัดให้เข้ากัน


5.นมบันจ๊ก ซัมลอร์ขแมร์ ขนมจีนน้ำยาเขมร

“นมบันจ๊ก” คือขนมจีน “ซัมลอร์ขแมร์” คือน้ำแกงเขมร ดังนั้น “นมบันจ๊ก ซัมลอร์ขแมร์” จึงหมายถึงขนมจีนน้ำยาของเขมร มีลักษณะคล้ายๆ ขนมจีนน้ำยาไทย น้ำยานี้สามารถทำได้สองแบบคือ น้ำยากะทิ และน้ำยาแบบไม่ใส่กะทิ คล้ายๆ กับน้ำยาป่าของไทย

ขนมจีนน้ำยาเขมรนั้นจะหาบขาย หรือตั้งแผงขายตามตลาดแบบบ้านเรา นมบันจ๊กเป็นอาหารจานเดียวที่นิยมกินกันทั่วของชาวเขมร และเป็นอาหารที่ทำกันในเทศกาลงานบุญต่างๆ มีลักษณะคล้ายๆ กับขนมจีนน้ำยาของไทย ชาวอุษาคเนย์นั้นอยู่ในวัฒนธรรมข้าว การกินข้าวและผลผลิตจากข้าวเช่นขนมจีนนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในภูมิภาคนี้ อาจจะบอกได้ไม่ชัดว่าขนมจีนนั้นมีต้นกำเนิดจากชาติใด เพราะพบว่ามีการกินขนมจีนมาตั้งแต่ในจีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็มีอาหารเส้นที่คล้ายขนมจีนแต่เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนในประเทศไทยนั้นเชื่อกันว่าเรารับขนมจีนมาจากชาวมอญ มอญเรียกขนมจีนว่า “คะนอม”

การปรุงนมบันจ๊ก ซัมเลอร์ขแมร์นั้นเริ่มจากการตั้งหม้อใส่น้ำและเกลือเล็กน้อย ใส่ปลาลงไปต้มปลาที่นิยมจะเป็นปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุกและปลาช่อน ระหว่างรอปลาสุกก็หันมาเตรียมเครื่องแกงเขียวอันประกอบด้วยกระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น ตำให้พอละเอียด เมื่อปลาสุกดีแล้วก็นำมาแกะเอาแต่เนื้อ แล้วเทเนื้อปลาลงใส่ครกตำเบาๆ ให้เข้ากับเครื่องแกง จากนั้นต้มน้ำต้มปลาให้เดือดอีกครั้ง ละลายเครื่องแกงและเนื้อปลาลงไป ใส่ปลาร้า ถ้าเค็มไม่พอให้ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำปลา เมื่อเดือดอีกครั้งก็ฉีกใบมะกรูดใส่ลงไป แล้วตบท้ายด้วยต้นหอม แบบนี้คือ “น้ำยาป่า” ที่ไม่ใส่กะทิ ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมกันโดยทั่วไป

ถ้าจะทำแบบ “น้ำยากะทิ” ให้เริ่มจากการนำหม้อขึ้นตั้งใส่กะทิลงไปในส่วนผสมเครื่องแกงและเนื้อปลาลงไปผัดกับกะทิให้หอมจึงเติมน้ำต้มปลาลงไป ใส่ปลาร้า แล้วปรุงตามขั้นตอนเหมือนข้างต้น น้ำยากะทิของเขมรจะใส่กะทิเพียงเล็กน้อย จึงมีน้ำแกงค่อนข้างใส ไม่ได้เข้มข้นแบบไทย น้ำยาที่ใส่กะทินี้จะนิยมในเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และเมืองกัมปอต

เมื่อน้ำยาเสร็จแล้วก็หยิบขนมจีนใส่จาน ราดน้ำยาร้อนๆ กินแนมกับผักสกต่างๆ ที่เขมรเรียกว่า “ละบอย” ได้แก่ ถั่วฝักยาว ถั่งงอกดิบ มะละกอซอยเป็นเส้น แตงกวา หัวปลี ผักกระเฉด สายบัว ใบแมงลัก และผักอื่นๆ ตามฤดูกาล จะเห็นได้ว่าน้ำยาของเขมรนั้นไม่เผ็ดเพราะไม่ได้ใส่พริกเลย หากชอบรสเผ็ดจะโรยพริกป่นใส่ลงไปในจานทีหลัง บ้างก็บีบมะนาวลงไปสักเสี้ยวด้วย

ส่วนผสม

ขนมจีน

ปลาดุกหรือปลาช่อน น้ำ

เครื่องแกงเขียว:กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น

ปลาร้า เกลือ น้ำปลา

ใบมะกรูด ต้นหอม

ละบอย: ถั่วฝักยาว ถั่งงอกดิบ มะละกอซอย แตงกวา หัวปลี ผักกระเฉด สายบัว ใบแมงลัก

พริกป่น มะนาว

วิธีทำ

1.โขลกเครื่องแกง

2.ตั้งหม้อใส่น้ำ เกลือ ต้มให้เดือดใส่ปลาลงไปต้มแกะเอาแต่เนื้อปลา

3.เอาเนื้อปลาใส่ครก ตำให้เข้ากับเครื่องแกง

4.ต้มน้ำต้มปลาให้เดือดอีกครั้งละลายเครื่องแกงและปลาลงไปใส่ปลาร้า เกลือ และน้ำปลาเมื่อเดือดฉีกใบมะกรูดและใส่ต้นหอมหั่นท่อน


ที่มา หนังสือโอชาอาเซียน สนพ.มติชน

เตรียมตัวให้พร้อม!! มติชนอคาเดมีพาเยือนกัมพูชา กับทัวร์ “บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมเรียบ ความลับหลังกำแพงศิลา”

พาชมมหาปราสาทบันทายฉมาร์ กับเรื่องราวประวัติศาสตร์การสงครามสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7, กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก กลุ่มของศาสนสถานที่เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรเจนละในสมัยพระเจ้าอีศานวรมัน

นอกจากนี้ยังพายลเมืองพระนคร หรือนครธม ชมปราสาทบรายน ศูนย์กลางนครธม สุดยอดของปราสาทเขมรในยุคเสื่อม, พระราชวังหลวง ที่ประกอบไปด้วยปราสาทพิมานอากาศ ลานช้าง ลานครุฑ และปราสาทนาคพัน และชมความอลังการของปราสททนครวัด หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก!!

นำชมโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กมติชนอคาเดมี เร็วๆ นี้!!!