ผมไปได้ผักกาดดองต้นงามๆ มาจากตลาดริมทางแถบเขางู ราชบุรี ลองมานึกไล่ดูว่าจะทำอะไรกินดี ก็มีได้ตั้งแต่ผัดไข่ ต้มจืดซี่โครงหมู แกงเหลืองใส่หอยแครง ยำกินกับข้าวต้ม หรือจะเอามาต้มกับมะระจีนจนเปื่อยนุ่ม แบบที่ร้านข้าวต้มเก่าแก่ย่านถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เขาเรียกของเขาว่า “จับฉ่ายเซี่ยงไฮ้” ก็ยังได้

แต่แล้วผมไปเจออีกสูตรหนึ่ง คือต้มผักกาดดองนี้กับปลาช่อนทอด หรือหมูกรอบก็ได้ ปรุงรสด้วยน้ำดองผักกาดและเต้าหู้ยี้สีแดงๆ ใส่พริกชี้ฟ้าพอให้ออกรสเผ็ดนิดๆ สูตรนี้ให้ต้มจนเปื่อยนุ่ม ออกแนวจับฉ่ายที่รสเข้มขึ้นมาหน่อย

การปรุงโดยใช้เต้าหู้ยี้แดงเป็นตัวทำเค็มนี้คงมีอีกมากมายหลายสูตรครับ ที่ผมเห็นแล้วอยากลองทำมากๆ ก็คือต้มเส้นแกงร้อน (วุ้นเส้น) ในน้ำกะทิแบบครบเครื่อง เน้นปรุงเต้าหู้ยี้เสียจนน้ำซุปนั้นออกสีชมพูสวยทีเดียว

แถมมีอีกสูตร ในหนังสือ ครัวย่าหยา (พ.ศ.2553) ของคุณนวพร เรืองสกุล คือ “เย็นตาโฟ” เธอต้มกระดูกหมู ผักกาดดอง เต้าหู้ทอด ลูกชิ้นปลารวมกันจนสุก ปรุงรสด้วยต้นหอมซอย กระเทียมเจียว เต้าหู้ยี้ และน้ำส้มพริกตำ

เย็นตาโฟแบบนี้เป็นซุปใส แต่ผมคิดว่าคงน่าสนใจดี ถ้าเราจะต้มต่อไปจนกระทั่งส่วนผสมทั้งหมดเปื่อยนุ่ม ให้เหมือนที่เขาต้มกับปลาช่อนทอด คือให้น้ำขลุกขลิก เข้าเนื้อ คล้ายจับฉ่ายที่น้ำน้อยๆ หน่อยไปเลย

ตกลงใจแล้วก็เริ่มกิจการของเราได้ โดยหั่นผักกาดดองเป็นชิ้นใหญ่หน่อย น้ำดองเก็บไว้สำหรับคอยเติมให้ได้รสและกลิ่นอย่างที่ต้องการ

ทอดเต้าหู้แข็ง หมูสามชั้น ซี่โครงหมู พอให้ผิวตึงๆ นะครับ ไม่ต้องถึงกับแห้งแข็ง

เตรียมกระเทียมกลีบใหญ่ พริกแห้งเม็ดใหญ่ แล้วก็น้ำตาลอ้อย ซีอิ๊วขาวไว้ปรุงรสเพิ่ม

เอาก้อนเต้าหู้ยี้มาบี้ให้ละเอียด ผสมกับน้ำสีแดงๆ ในโหลของมัน จะได้น้ำสีชมพูข้นๆ ที่เติมกลิ่นเติมรสหลักๆ ให้สำรับนี้ครับ

ถ้าชอบกลิ่นเหล้าปรุงรสอาหาร จะใช้สาโท เหล้าจีน หรือเหล้าแดงแบบจีนแคะมาปรุงเพิ่มก็ได้

เอาทั้งหมดที่ว่านี้ใส่หม้อใบใหญ่ ยกตั้งเตาไฟ เติมน้ำให้ท่วม ทีนี้ปล่อยให้เดือด แล้วคอยชิมรสชาติให้อ่อนให้เข้มตามที่ต้องการ ถ้าน้ำแห้งก็เติมทีละน้อยครับ ต้มเคี่ยวไฟอ่อนไปนานราว 2 ชั่วโมง ผักกาดดองจะเปื่อยนุ่มพร้อมๆ กับเต้าหู้ หมูสามชั้น และซี่โครง พอให้เหลือน้ำขลุกขลิกๆ รสชาติของเต้าหู้ยี้ น้ำดองผักกาด ซีอิ๊วขาว จะเค็มกลมกล่อมเมื่อตัดด้วยรสหวานของน้ำตาลอ้อยแต่พอเหมาะพอดี ตรงนี้ต้องอาศัยลิ้นใครลิ้นมัน ฝีมือใครฝีมือมันล่ะครับ

2

ปกติสูตรต้มเต้าหู้ยี้จะใช้เต้าหู้ยี้ชนิดสีแดงจัด แต่ถ้าเราอยากได้กลิ่นน้ำดองผักด้วย เมื่อเติมน้ำดอง ก็จำต้องลดปริมาณเต้าหู้ยี้ลง ไม่งั้นเดี๋ยวจะเค็มไปกันใหญ่สิครับ สีจึงอาจไม่แดงสวยสมใจ บางคนต้องใช้ตัวช่วย เช่น แก่นไม้ฝาง หรือสีผสมอาหารเติมอีกเล็กน้อย แต่หากไม่ใช่เรื่องที่เราเห็นว่าสลักสำคัญอะไร ก็ไม่ต้องใส่หรอกครับ เพราะเท่าที่ทำมานี้ ก็จะได้สีน้ำตาลปนแดงกึ่งอ่อนกึ่งเข้ม ยังไงก็สีไม่เหมือนน้ำพะโล้หรือต้มเค็มทั่วไปแน่

ถ้าจะให้ดี เมื่อเปื่อยแล้ว ทิ้งข้ามวันหรือข้ามคืน ค่อยมาอุ่นกินในมื้อถัดไป แม้เราปรุงรสไว้อ่อนๆ แต่มันก็จะยิ่งกลมนัวเข้าเนื้อ อร่อยขึ้นไปอีก

ใครชอบกลิ่นน้ำดองผักหรือกลิ่นเต้าหู้ยี้มากกว่ากัน ก็ลงมือปรุงถ่วงรสให้ได้อย่างใจเลยทีเดียวนะครับหม้อนี้

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ผมอยากเดาว่า ชื่อบ้านนามเมืองของอำเภอ “อัมพวา” จังหวัดสมุทรสงครามนั้น น่าจะมาจากต้นอัมพวา (Cynometra cauliflora) ที่มีเพื่อนร่วมสายพันธุ์ทางภาคใต้ คือ ส้มคางคก และมะเปรียง ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกันมากจนแทบแยกไม่ออก มันเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมที่ให้ผลทรงเสี้ยว ผิวนุ่มขรุขระ เนื้อในสีเขียวอ่อนแกมเหลืองที่หุ้มเมล็ดแบนๆ เพียงเมล็ดเดียวนั้นมีรสเปรี้ยวเจือฝาดหวานละมุน คนชอบเปรี้ยวจะเอาลูกดิบมากินเปล่าๆ หรือจิ้มกะปิก็ย่อมจี๊ดจ๊าดสะใจแน่นอน

แต่ก่อน ย่านนี้คงมีต้นอัมพวาขึ้นหนาแน่นมากพอที่คนจะเอามาหมายเรียกเป็นชื่อตำบลหมู่บ้านของตนนะครับ แต่ปัจจุบัน เท่าที่ผมพอเห็นลูกอัมพวาอยู่บ้างก็คือที่ “ตลาดร่มหุบ” ริมทางรถไฟกลางเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม แม่ค้าจะเอาใส่จานเล็กๆ มาขายเป็นของแปลก ที่ตามสายตานักท่องเที่ยวซึ่งกินแต่ผลไม้กระแสหลัก คงแค่ชี้ชวนกันดู หัวเราะคิกคัก แล้วก็ผ่านเลยไปเท่านั้นเอง

ขนาดในตำราอาหารของคนแม่กลอง อย่างเช่น เล่มตำรับอาหารเมืองสมุทรสงคราม ของคุณอารีย์ นักดนตรี ก็ไม่ปรากฏสูตรกับข้าวที่เข้าลูกอัมพวาแต่อย่างใด เรียกว่าอัมพวานั้นคงไม่มีหน้าที่ทางอาหารมาเป็นเวลานานพอดูทีเดียว

หรือจะไม่เคยมีมาก่อนเลย ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

เผอิญผมได้ลูกอัมพวามาถุงหนึ่ง พอได้ลองปอกเปลือก ผ่าฝานชิมรสดูแล้ว ก็คิดถึงสูตรกับข้าวอย่างหนึ่งวาบขึ้นมา เนื้ออัมพวานั้นแน่นๆ ครับ เปรี้ยวสดชื่น เหมือนมะขามอ่อนนิ่มๆ ที่มีกลิ่นของชมพู่มะเหมี่ยวเจือบางๆ ผมนึกถึงการเอามันแทรกแทนเข้าไปในกับข้าวยอดฮิตของคนแม่กลอง คือ ปลาทูต้มมะดัน เลยทีเดียว

คงไม่ต้องอธิบายปลาทูต้มมะดันนะครับ สูตรมาตรฐานสุดสุด คือเขาแค่เอาปลาทูนึ่งมาต้มกับลูกมะดัน แต่ครั้งนี้ ไหนๆ ก็ปรับแปลงกันแบบซึ่งๆ หน้าแล้ว ผมขอใช้ปลาทูสดเลยก็แล้วกันครับ น่าจะได้กลิ่นรสความสดนุ่มของเนื้อปลาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

เราต้มน้ำในหม้อจนเดือด ปรุงด้วยเกลือ กระเทียมทุบ และลูกอัมพวาสดๆ โดยเราเกลาๆ ผิวเปลือกออก แคะเมล็ดออก แล้วจะใส่ทั้งชิ้นใหญ่ หั่นซอยเล็กๆ หรือตำในครกจนเกือบๆ แหลกก็ได้ แล้วแต่ว่าเราชอบให้ชิ้นลูกอัมพวาแบบไหนลอยอยู่ในต้มของเราหม้อนี้น่ะครับ

ต้มไปราว 15 นาที หรือจนอัมพวาสุกนุ่ม คายรสเปรี้ยวหอมเจือฝาดน้อยๆ ออกมา จึงใส่ปลาทูสด

เนื้อปลาจะสุกพอดีกับที่อัมพวาคายรสออกมาเจือน้ำต้มในหม้อจนได้รสเปรี้ยวอมฝาดละมุนละไม ชิมและปรุงรสเค็มหวานด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ให้ได้อย่างที่ต้องการ

เพียงแค่นี้ ก็ดูเหมือนเราได้สร้างสรรค์สูตรกับข้าวพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ได้แก่  ปลาทูแม่กลอง ลูกอัมพวา ถ้าใช้เกลือสมุทรและน้ำตาลมะพร้าวของย่านนั้นด้วยก็ยิ่งใช่เลย ใครมาถามว่านี่คืออะไร เรายืดอกตอบได้ทันทีว่า นี่คือสูตรกับข้าว “รสแท้ของแม่กลอง” แบบสุดสุด แล้วถ้าเขาแย้งว่าไม่เห็นเคยได้ยินที่ไหนนี่ เราก็จงถือโอกาสเล่าเรื่องลูกอัมพวาให้เขาฟังเสียเลยนะครับ

หลังจากนี้ เมื่อใดเราสวมสถานะ “นักท่องเที่ยว” แล้วเห็นลูกอัมพวาในจานใบเล็กของแม่ค้าตลาดร่มหุบ เราย่อมไม่เพียงชี้ชวนกันดูในหมู่เพื่อนด้วยความประหลาดใจในรูปทรงอันแปลกประหลาดของมัน หากทว่าสามารถซื้อหามาปรุงกับข้าวที่อาจเอ่ยอ้างได้เต็มปาก ว่านี่คือ “รสแม่กลอง” ที่วางอยู่บนวัตถุดิบท้องถิ่นจริงๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

“ปลาทูต้มอัมพวา” ของเรานี้ ถ้าทำดีๆ มันอร่อยไม่แพ้ปลาทูต้มมะดันหรอกครับ

ที่มา : เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน                                                                                                                                                                                                                                                                                    ผู้เขียน : กฤช เหลือลมัย

อยากบอกว่า สำหรับคนที่ชอบเดินดูวัตถุดิบอาหารแปลกๆ ตามตลาดสด จงอย่าได้วางใจตลาดชนบทต่างจังหวัดทุกแห่งที่เห็น ไม่ว่ามันจะเล็กแค่ไหนก็ตาม ความประมาทอาจทำให้พลาดโอกาสทองที่ไม่แน่ว่าจะหวนมาอีกในเร็ววันหรือไม่เอาได้ง่ายๆ เลยนะครับ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกือบขับรถผ่านตลาดเล็กๆ บนถนนสาย 21 ริมทางหลวงช่วงบ้านเพนียด-สี่แยกวังเพลิง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ไป แต่ครั้นเปลี่ยนใจวกรถลงไปเดินดู ก็พบ “ของดี” เข้าให้อย่างไม่นึกฝัน นั่นคือมีคนเอา “ลูกกำจัด” (Zanthoxylum acanthopodium) หรือที่บางแห่งเรียก “มะข่วง” บ้าง “พริกพราน” บ้าง มาขายเป็นกำ ราคากำละ 20 บาท แถมเป็นลูกสดๆ เสียด้วยซี

กำจัดเป็นพืชให้กลิ่นหอมในตระกูลเดียวกับมะแขว่นที่คนเหนือรู้จักดี ผมเองเคยเห็นที่ร้านค้าริมทาง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ใช้ใส่ในน้ำพริกเผาและพริกแกงป่าแบบสูตรกะเหรี่ยงโพล่วง แล้วก็เคยมีวางขายที่ตลาดพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วย

ลูกกำจัดที่ผมซื้อมานี้ เก็บมาจากต้นสูงในป่าดิบบนภูเขาแถบอำเภอหนองม่วง จังหวัดสระบุรี คนขายบอกว่า ให้ลอกเอาเปลือกไปตำน้ำพริกเผา หรือใส่ในพริกแกง เป็นอันว่าใช้เหมือนกะเหรี่ยงสวนผึ้งเลย เขาว่ามันจะติดผลในช่วงนี้แหละ รสและกลิ่นนั้นคล้ายผิวมะกรูด ช่วยให้น้ำพริกมีกลิ่นหอมหวนชวนกิน

ผมเลยคิดว่าจะลองตำน้ำพริกเผาแบบบ้านๆ ใส่ลูกกำจัดกินสักครกหนึ่งครับ ใครโชคดีได้ลูกกำจัด (หรือได้มะแขว่น, ฮั่วเจีย, ลูกละมาด ซึ่งเป็นลูกไม้ในตระกูลเดียวกัน) สดๆ มา ก็มาลองกันดู เราแค่เพิ่มลูกกำจัดเข้าไปในสูตรน้ำพริกเผาตามปกติเท่านั้นเอง

แล้วน้ำพริกเผาปกติเขาทำกันยังไงล่ะ? ไม่ยากครับ ถ้าเอาตามที่ผมทำนี้ ก็เริ่มจากปอกหอมแดง หั่นซอยไว้ เกลาๆ กลีบกระเทียม ตำพอแตก เด็ดก้านพริกแห้งเม็ดเล็ก-เม็ดใหญ่ คัดกุ้งแห้งเนื้อดีๆ ไว้ สี่อย่างนี้เราเอาใส่จาน ยกไปตั้งตากแดดแรงๆ สัก 2-3 ชั่วโมง พอเห็นว่าหอมแดงและกระเทียมแห้งลงบ้างแล้ว ก็เอาคั่วในกระทะไฟกลางจนสุกหอม โดยคั่วทีละอย่าง

ตอนคั่วพริกแห้ง ต้องเอาให้เกือบๆ ไหม้เลยเชียวนะครับ

น้ำพริกเผามักต้องเข้ากะปิ เราก็เอากะปิมาห่อใบตอง หรือใบข่า ใบขมิ้น นาบกับกระทะให้สุกเกรียม

รสเปรี้ยวของน้ำพริกเผาแบบบ้านๆ มักใช้เนื้อมะขามเปียกสับ มันจะทำให้เก็บได้นาน ไม่บูดเสียง่ายเหมือนใช้น้ำคั้นมะขามเปียก

กุ้งแห้งที่คั่วไว้นั้นก็เอาลงครกป่นเสียให้ละเอียด

ถ้าชอบให้มีรสหวานติดปลายลิ้นนิดๆ เราก็เตรียมน้ำตาลปี๊บไว้สักเล็กน้อย

ลูกกำจัด

ส่วนของสำคัญ ได้แก่ลูกกำจัดนั้น แกะเอาแต่เปลือก (บางคนใช้เม็ดในสีดำๆ ปนด้วยบ้าง) ใช้ไม่ต้องมากครับ เพราะอะไรเดี๋ยวมีเฉลยตอนท้าย

การตำน้ำพริกเผานั้นก็จะต้องมีขั้นตอนเรียงลำดับการใส่ เพราะของที่จะตำนั้นป่นให้แหลกยากง่ายต่างกันไป ปกติคือตำพริกแห้งทั้งเม็ดใหญ่เม็ดเล็กพอหยาบๆ ก่อน ตามด้วยหอมแดง กระเทียม กุ้งแห้ง มะขามเปียกสับ น้ำตาล แล้วก็กะปิ อาจเหยาะน้ำปลาด้วย เพื่อให้มีความอ่อนตัว ไม่แค่นแข็งจนเกินไป

แต่เนื่องด้วยน้ำพริกครกนี้มีของสำคัญ คือเปลือกลูกกำจัด ซึ่งตำให้แหลกยากมาก จึงต้องใส่เปลือกลูกกำจัดสดนี้ตำย้ำๆ ให้แหลกเสียแต่แรกเลยทีเดียว จากนั้นจึงค่อยใส่พริกแห้ง หอมแดง ฯลฯ ตำต่อตามขั้นตอนปกติ

“น้ำพริกกำจัด” ครกนี้ ผมตั้งใจตำให้แห้ง ไว้คลุกข้าวกินแนมกับปลาสลิดทอด ไข่เป็ดต้ม ใครจะกินกับผักสดอะไรก็ได้ครับ แต่มื้อนี้ ผมกินกับถั่วฝักยาวอินทรีย์จากอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ลูกฉิ่งจากสวนเมืองนนทบุรี และมะเดื่อป่าลูกโตที่ปลูกไว้หน้าบ้าน นับว่าดูบ้านๆ สมกับความพื้นบ้านของน้ำพริกเผาครกนี้จริงๆ เลย

ผิวเปลือกเม็ดกำจัดมีกลิ่นฉุนซ่า หอมเปรี้ยวๆ ชื่นใจ แต่คุณสมบัติอีกอย่างคือมันทำให้ลิ้นชา ถ้ากินเปล่าๆ จะชาไปพักหนึ่งเลยแหละครับ นี่เองคือเหตุผลที่บอกว่าอย่าใส่มากเกินไป

อย่างไรก็ดี ความฉุนหอมและอาการซ่าชาลิ้นนี้ อาจจะคือเสน่ห์ของลูกกำจัด ที่เร้าความรู้สึกอยากอาหารให้เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวก็ได้ครับ

ที่มา        เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน

ผู้เขียน    กฤช เหลือลมัย

ผมมีหนังสือสูตรอาหารรวมเล่มของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ อยู่เล่มหนึ่ง คือ อร่อยต้นตำรับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สำนักพิมพ์อมรินทร์พิมพ์ออกมาในปี พ.ศ.2547 เป็นสูตรกับข้าวโบราณที่คุณแม่ของคุณชายเคยทำให้ท่านกินสมัยท่านยังเด็กๆ และสูตรที่ท่านประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นจนสร้างชื่อเสียงให้ท่าน เช่น ไข่คุณชาย ข้าวผัดคุณชาย ส่วนใหญ่เป็นสูตรง่ายๆ ซึ่ง “ทำรับประทานกันตามบ้านใหญ่ๆ ของคหบดี เศรษฐี และขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนวังเจ้านายในสมัยก่อน”

คุณชายได้เล่าไว้ตอนหนึ่งอย่างชวนคิด ว่าเครื่องปรุงของแต่ละแห่งแต่ละที่นั้น มักเป็นตำรับเดียวกัน ไม่ผิดเพี้ยน แต่ “จะเหนือกว่ากันก็ด้วยรสมือเท่านั้น”

มีอยู่สูตรหนึ่งในเล่มนี้ ที่เมื่อแรกได้อ่าน ผมสงสัยมาก คือ “ผัดเผ็ดเนื้อสับใบจันทน์” เพราะรูปประกอบนั้นใช้ใบยี่หร่า ซึ่งคนเหนือมักเรียกว่าใบจันทร์ จันท์หอม (จันท์หมาวอดก็มีเรียก) ทว่าในหมายเหตุท้ายสูตร คุณชายถนัดศรีเขียนว่า “ส่วนใบจันทน์ถ้าหาไม่ได้ให้ใส่ใบยี่หร่าแทน”

ถ้าอย่างนั้น “ใบจันทน์” ของคุณชายก็ต้องไม่ใช่ใบยี่หร่าสิครับ

เมื่อลองสืบค้นดู ปรากฏว่า ผักไผ่ (Vietnamese Coriander) หรือ ผักแพว หรือ พริกม้า นั้น มีที่เรียกกันว่า จันทน์หอม หรือ ใบจันทน์ เช่นกัน แถมยังมีคนเขียนสูตรผัดปลาดุกใส่ผักแพวไว้ด้วย ดังนั้นผมจึงขอเดาว่า สูตรในหนังสืออร่อยต้นตำรับฯ ของคุณชายถนัดศรีนี้น่าจะใช้ผักแพว แต่ตอนถ่ายภาพประกอบคงหาไม่ได้ เลยใช้ ใบยี่หร่า แทน

ผมเชื่อว่า นอกจากกินสดๆ กับป่น กับลาบแซ่บๆ แล้ว คงเคยมีคนเอาผักแพวหรือใบจันทน์มาใส่ผัดเผ็ดน้อยตัวเต็มที กระทะนี้ก็เลยนับเป็นการแนะนำชักชวนให้ลองทำตามสูตรของกูรูนักชิม พหูสูตด้านอาหารคนสำคัญของเมืองไทยนะครับ และขอถือโอกาสกล่าวอำลาท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เครื่องปรุงนั้น คุณชายถนัดศรีบอกว่า มี “เนื้อวัวสับหรือบด 3 ขีด เครื่องแกงเผ็ด 2 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูสับละเอียด 1 ช้อนชา ใบจันทน์ 10 ใบ น้ำปลา 1/2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนชา น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ พริกไทยสดรูดเอาแต่เม็ด 6-7 ช่อ”

ส่วนวิธีปรุง ท่านเขียนอธิบายไว้อย่างกระชับรวบรัดชัดเจน “ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน เอาเครื่องแกงเผ็ดลงผัดให้หอม ใส่เนื้อสับ ผัดให้เข้ากัน อย่าสุกมาก ถ้าแห้งไปให้เติมน้ำเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล พริกขี้หนูสับ ตามด้วยพริกไทยสด ชิมดู ได้รสที่ชอบแล้วใส่ใบจันทน์ที่หั่นหยาบๆ ลงไปผัดอีกครั้ง ตักใส่จาน”

ผัดเผ็ดกระทะนี้ ผมลองทำตามทั้งเครื่องปรุงและวิธีปรุงของคุณชายแบบเกือบจะเป๊ะๆ ที่ว่าเกือบ ก็เพราะนิสัยคนทำกับข้าวนั้นย่อมอดไม่ได้ที่จะเพิ่มๆ ลดๆ เปลี่ยนๆ อะไรนิดๆ หน่อยๆ แบบที่ตัวเองชอบ แม้ว่าสูตรเดิมจะลงตัวขนาดไหนก็ตาม นี่ทำให้ผมคิดว่า เราต่างไม่ควรจะหวงสูตรอาหาร (แบบที่คน “โบราณ” บางสายเป็นเช่นนั้น) หรอกครับ เพราะต่อให้บอกจดกันละเอียดลออเพียงใด คนทำก็คงอดไม่ได้ที่จะพลิกแพลงไปอยู่ดีแหละ นี่ยังไม่นับว่า อย่างไรเสีย คุณภาพวัตถุดิบแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน สมดังคำของคุณชายที่ว่า ฝีมือปรุงกับข้าวนั้น “จะเหนือกว่ากันก็ด้วยรสมือเท่านั้น” ไงครับ

1

ผมลดพริกแกงเผ็ดลงนิดหน่อย กับเพิ่มใบจันทน์ขึ้นอีกสองเท่าตัว เปลี่ยนจากน้ำมันพืชเป็นน้ำมันหมูที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ ดังนั้นผัดเผ็ดกระทะนี้ของผมย่อมจะมีกลิ่นข่าตะไคร้ผิวมะกรูดอ่อนลงไปหน่อย ทว่ากลิ่นหอมฉุนร้อนอันรุนแรงของใบจันทน์จะโดดเด่นขึ้นมามากกว่า

คุณชายถนัดศรีเขียนบอกไว้ว่า ผัดเผ็ดกระทะนี้ “รับประทานหน้าหนาวเรียกเหงื่อดีนัก” หน้าหนาวที่จะมาถึงนี้ แม้จะไม่ได้อ่านงานเขียนของคุณชายอีกแล้ว แถมเมื่อได้ยินเสียงเพลงกลิ่นดอกโศก วานลมจูบ หรือสักวาลาจาก อ้อยอิ่งขึ้นมาก็คงยิ่งหวนหาอาลัยอาวรณ์ แต่หากได้ลงมือผัดเผ็ดเนื้อสับใบจันทน์สักกระทะ กินกับข้าวสวยร้อนๆ แนมไข่เจียวคุณชายสักจาน น้ำปลาพริกขี้หนูมะนาวถ้วยเล็กๆ สักถ้วยหนึ่ง

ก็คงหายคิดถึงคุณชาย-ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ไปได้บ้างกระมังครับ..

ที่มา : มติชน รายวัน

ผู้เขียน : กฤช เหลือลมัย

เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ไปกินข้าวเย็นที่ร้านอาหารอีสานแถบเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งธนบุรี กับรุ่นพี่ที่เคารพนับถือ แล้วมีคนสั่งแกงแบบลาวๆ ชามหนึ่งมากินกัน พอได้กิน ก็ระลึกชาติขึ้นมา ว่าเราไม่ได้ทำแกงนี้กินมานานแค่ไหนแล้วนะ ทั้งๆ เป็นของอร่อย ทำง่าย แถมมีประโยชน์มากๆ

สำรับที่ว่านี้ก็คือ แกงเห็ดรวมŽ ครับ เหมาะกับช่วงต้นถึงกลางฤดูฝน เพราะตอนนี้ตลาดสดบ้านๆ ยังพอมีเห็ดป่าเห็ดทุ่งหลายชนิดขายให้กินอยู่ หรือแม้แต่กรณีคนเมือง เดี๋ยวนี้ผมก็เห็นว่า ไม่ว่าจะตามซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือรถพุ่มพวงที่วิ่งเข้าออกขายกับข้าวสดตามหมู่บ้านจัดสรร มักมีเห็ดขายทั้งแบบแยกชนิดและแบบรวมหลายอย่างในแพคเดียว นับว่าสะดวกแก่การทำแกงนี้มากเลย

คนที่ชอบอาหารอีสาน แล้วชอบแกงอีสานรสอ่อน โปร่ง เบา อยากกินผักกินเห็ดเยอะๆ รับรองว่าไม่ผิดหวัง สูตรที่จะชวนทำวันนี้นับว่าพื้นฐานที่สุดแล้วล่ะครับ

น้ำแกงหลักเราใช้น้ำคั้นใบย่านาง ซึ่งแม้เดี๋ยวนี้เริ่มมีขายสำเร็จเป็นถุงๆ แต่หากเลือกได้ ผมอยากให้หาซื้อใบสดมาล้างให้สะอาด ใส่กะละมัง เติมน้ำ แล้วขยำคั้นด้วยมือไปจนน้ำข้นเขียวอื๋อ ค่อยกรองเอาใบยุ่ยๆ ที่กลายเป็นกากสีขาวซีดๆ นั้นทิ้งไป

ข้นกว่า เขียวกว่า หอมกว่าเยอะครับ ไม่เชื่อก็ลองดู

ของอื่นๆ ก็มีพริกแกง ซึ่งใช้แค่หอมแดง พริกขี้หนูอีสาน (พริกโพน) กับตะไคร้หั่นท่อน เอาลงตำรวมในครกพอแตกๆ ก็ได้แล้ว

เห็ดอะไรที่อยากกิน เอามาล้าง หั่นเป็นชิ้นๆ ตามใจชอบ

ความหอมของน้ำแกง นอกจากตะไคร้ในพริกแกงแล้ว เราใช้ต้นหอม ใบแมงลัก และยอดชะอม

รสหวานแบบธรรมชาติๆ มาจากฟักทองมันๆ หน่อไม้ต้ม และบวบหอมครับ

หม้อนี้ ผมปรุงเค็มด้วยเกลือและน้ำปลา แต่ลูกอีสานตัวจริงเสียงจริงคงพึงใจน้ำปลาร้ามากกว่า ก็เลือกใช้ได้ตามชอบ

ไม่ต้องใส่เนื้อสัตว์อะไรหรอกนะครับ เห็ด ฯลฯ และผักหญ้าสดๆ ขนาดนี้ย่อมจะให้รสหวานโปร่งๆ แบบที่หากเรากินจนคุ้นลิ้นไปสักพัก ทีนี้ต่อไปจะโหยหาเลยเชียวแหละ

เริ่มทำโดยยกหม้อน้ำคั้นใบย่านางเขียวอื๋อนั้นตั้งไฟ ใส่พริกแกง หน่อไม้ เกลือ น้ำปลา ต้มเคี่ยวไฟอ่อนไปสัก 10 นาที จึงเริ่มใส่ฟักทอง กับเห็ดที่เนื้อไม่เละ อย่างเช่นเห็ดหูหนู เห็ดฟาง

ดูว่าชิ้นฟักทองเริ่มสุกไล่จากผิวเข้าไปได้สักครึ่งหนึ่ง จึงใส่บวบหอม ยอดชะอม และต้นหอม

พอบวบเริ่มนุ่ม ซึ่งหมายความว่าฟักทองใกล้สุกเต็มที่ ใส่เห็ดดอกอ่อนที่เหลือ และใบแมงลัก ชิมรสให้เค็มอ่อนๆ โดยเติมเกลือหรือน้ำปลา

1
3

ถ้าเพิ่งทำครั้งแรกอาจแปลกใจ ทำไมรสหวานมันมาจากไหน ก็มาจากเห็ด หน่อไม้ บวบ และโดยเฉพาะฟักทองนั่นเองครับ เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์อะไรมาชิงรส แกงนี้จะออกโปร่งๆ รสอ่อนๆ และทำให้ลิ้นเรารับรู้รสผักและเห็ดสดๆ ได้อย่างเต็มที่

ไม่กี่อึดใจหลังใส่ใบแมงลัก กลิ่นหอมอบอวลอันเป็นเอกลักษณ์ของแกงอีสานจะโชยขึ้นมาจนแทบอดใจไม่ไหว ยกลงกินได้เลยครับ

แกงที่เราลงมือคั้นใบย่านางเองจะน้ำเขียวอื๋อ หอมหวาน ได้ความสดใหม่จริงๆ สูตรที่ทำนี้เป็นแบบง่ายที่สุด บางคนอาจเพิ่มข้าวเบือ (ข้าวเหนียวแช่น้ำจนพอง) โขลกในพริกแกงนิดหน่อย หรือละลายน้ำแป้งข้าวเหนียวใส่ตอนใกล้เสร็จ เพื่อเพิ่มความข้นของน้ำแกงได้

ใครจะเพิ่ม จะลด สลับสับเปลี่ยนผักสดหรื อเห็ดก็คงสนุกดี แต่ขอให้ลองคิดถึงรส กลิ่น และความ เบาŽ อันเป็นเอกลักษณ์ของแกงเห็ดรวมนี้ไว้สักหน่อย เพราะถ้าเราใช้ผักกลิ่นแรงๆ บางทีมันก็อาจ หนักŽ เกินไปสำหรับแกงที่ไม่ได้ปรุงใส่เนื้อสัตว์น่ะครับ

อย่างไรก็ดี ทัพพีเมื่ออยู่ในมือเรา เดี๋ยวเราก็รู้เองแหละครับ ว่าเราชอบกินรสอะไรยังไงแบบไหน

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

เวลาเรานึกถึง “น้ำพริกกะปิ” สำรับเครื่องจิ้มที่นิยมกินกันมาแถบภาคกลาง ส่วนใหญ่เรามักนึกถึงแต่ว่าต้องตำส่วนผสมในครก ให้ได้ความหยาบความละเอียดตามแต่ชอบ แต่ความจริงนั้น กะปิเป็นวัตถุดิบอาหารหมักดองที่ทำกันตั้งแต่แถบชายทะเลภาคใต้ยันริมแม่น้ำในเขตภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย ดังนั้น ก็เลยมีสูตรเครื่องจิ้มที่เข้ากะปิหลายแบบ แถมทำกันหลายวิธี ในหลายพื้นที่ด้วย

เช่น แถบภาคใต้มี “น้ำชุบหยำ” ที่ขยำส่วนผสมทั้งพริกสด กะปิ หอมแดงหรือกระเทียม เนื้อมะนาว น้ำตาล ด้วยมือลุ่นๆ เลยทีเดียว แล้วต้องขยำกันจนขึ้นฟอง จึงจะถือว่าอร่อย

สูตรที่มักเรียกกันว่า “น้ำพริกโจร” ก็เช่นกันนะครับ แค่เอาช้อนบี้ๆ ให้เข้ากัน ก็กินได้แล้ว นัยว่าโจรเจ้าของสูตรต้องรีบทำรีบกิน หาไม่ประเดี๋ยวจะหนีตำรวจไม่ทัน

ผมไปอ่านพบสูตรเครื่องจิ้มกะปิของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในหนังสือตำราแม่ครัวหัวป่าก์ที่ท่านเขียนตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเข้าสูตรหนึ่ง น่าสนใจมาก เลยลองทำ “กะปิพล่าอีกอย่างหนึ่ง” (ผมสะกดตามต้นฉบับของท่าน) ก็คือกะปิพล่านั่นแหละครับ วัตถุดิบเป็นชุดเดียวกับน้ำพริกกะปินั่นเอง แต่ที่ผมคิดว่าเป็นเสน่ห์ของกะปิพล่าสูตรนี้ คือท่านระบุให้ใช้ ส้มซ่า (Bitter orange) ทั้งผิวและน้ำของมันปรุงรสเปรี้ยวหอมฉุนร่วมกับน้ำมะนาวด้วย

ท่านเริ่มปรุงโดยตำกุ้งแห้งป่นนิดหน่อยเข้ากับกะปิดีๆ แล้วก็บีบน้ำมะนาว น้ำส้มซ่า เติมน้ำตาลหม้อ (น้ำตาลปี๊บ) เคล้าให้เข้ากัน จะได้เนื้อกะปิปรุงเป็นสามรส หน้าตาเขละๆ พอนึกออกใช่ไหมครับ

ทีนี้หั่นซอยหอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู (ในตำราให้ใช้พริกชี้ฟ้าด้วย) และผิวส้มซ่า เอาลงไปคลุกให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย ยกไปกินได้

มีหมายเหตุต่อท้ายด้วยครับ ว่า “กะปิพล่านี้ต้องให้ข้น ระวังอย่าให้เหลวได้ สำหรับกับผักดิบ ฤๅคลุกเข้า (ข้าว) รับประทาน ถ้ายังจืด จะเดาะน้ำเคยบ้างสักนิดหน่อยก็ได้”

จะเห็นว่า ทำง่ายมากๆ นะครับ ผมก็เลยลองทำดูตามขั้นตอนที่เขียนเล่ามานี้เลยทีเดียว ชั่วแต่ว่า ผมหาตัวสำคัญ คือ “ส้มซ่า” ไม่ได้ จึงได้อาศัยรสและกลิ่นเปรี้ยวเจือหอมที่มีความเป็นอื่นจากมะนาวเอาจากลูกมะกรูดครับ โดยผมปอกผิวลูกมะกรูดออก (เอาไปตำพริกแกงเขียวหวาน) จนหมด แล้วจึงหั่นเสี้ยว บีบเอาน้ำหอมๆ นั้นมาใช้

การปอกผิวก่อน ก็เพื่อไม่ให้กลิ่นฉุนของน้ำมันหอมระเหยปนลงไปมากเกิน จนกระทั่งเฝื่อนขมน่ะครับ เพราะน้ำมันฉุนของผิวมะกรูดนั้นแรงกว่าส้มซ่า หรือแม้กระทั่งมะนาวมาก แต่น้ำมะกรูดหอมซ่านกว่ามะนาว ดังจะเห็นว่าแม่ครัวสมัยก่อนเลือกใช้น้ำมะกรูดแต่งกลิ่นและรสเปรี้ยวในสำรับหลายอย่าง เช่น น้ำพริกขนมจีน เป็นต้น

1

เมื่อได้ลองทำแล้ว ก็คิดว่าความต่างจากน้ำพริกกะปิ หากจะมีอยู่บ้าง คือกะปิพล่าสามารถใส่หอมแดงหรือกระเทียมได้มากกว่าเวลาเราตำน้ำพริก และถ้าคลุกให้เข้ากันเร็วๆ ก็จะมีเนื้อมีหนังเป็นชิ้นๆ เห็นชัดๆ แถมเวลาเคี้ยวถูกแต่ละชิ้น ก็ได้รสชาติดิบๆ สดๆ มากกว่าน้ำพริกกะปิ ที่เรามักโขลกเข้ากันในครกจนค่อนข้างละเอียด

ท่านผู้หญิงเปลี่ยนยังบอกว่า กะปิพล่านี้ “รับประทานกับผักดิบและหมูหวาน ปลาดุกย่าง ฤๅไข่เค็ม” และถ้า “ไม่ชอบเผ็ดก็ไม่ต้องใช้พริก” เลยทีเดียว

สำหรับผม แค่กินกับข้าวสวยร้อนๆ ปลาช่อนนาย่างแห้งๆ ผักสดกรอบๆ ไข่ต้มยางมะตูม ก็พอควรแก่การแล้วล่ะครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ผมเคยอ่านที่อาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว ผู้รอบรู้เรื่องวัฒนธรรมเมืองเพชรเขียนไว้นานแล้ว ถึงคำคล้องจองของคนเพชรบุรี ที่ว่า ปลาเค้าแกงหน่อไม้สด ปลากดแกงหน่อไม้ดอง หมูหองแกงหน่อไม้แห้งŽ ครั้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีโอกาสได้เรียนถามเรื่องนี้กับตัวอาจารย์ เลยรู้ว่า คำคล้องจองสั้นๆ นี้ อาจารย์เคยเห็นเขียนด้วยลายมือบนแผ่นกระดาษ อยู่ในตู้ไม้บานกระจก ภายในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ซึ่งท่าน พระครูสุวรรณศิลปาคม เจ้าอาวาสในสมัยนั้นบอกอาจารย์ว่า เป็น อาหารโบราณที่คนเมืองเพชรกินกันมาแต่เดิมŽ

ใครจะเป็นผู้ผูกคำชุดนี้ก็ไม่ทราบได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดอยากจะลองทำกินดูบ้าง ผมก็พบว่า จะแผงผักแบบลาวในตลาดสดก็ดี หรือรถพุ่มพวงที่วิ่งเข้าออกตามตรอกซอกซอยหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองก็ดี มักมี ปลากดŽ ตัวย่อมๆ ขายให้เราเสมอ ราคาก็ไม่แพง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมลองถามแม่ค้าว่า แล้วคนเขาซื้อไปทำอะไรกินกันจ๊ะ

“ย่างก็ได้ ต้มใส่ใบแต้วใบชะมวงก็ได้จ้ะ ฉันเห็นบางคนเขาเอาไปแกงกับหน่อไม้ดอง น่าอร่อยนะ”Ž นั่นไง ไม่ต้องเป็นคนเพชรก็ดูจะรู้จักสำรับนี้กันดี

วันหนึ่ง ผมเห็นเขียงปลาในหมู่บ้านเอาปลากดคังแม่น้ำโขงตัวใหญ่มากมาหั่นขายเป็นชิ้นๆ เลยคิดว่าจะลอง “ปลากดแกงหน่อไม้ดอง”Ž ของชาวเมืองเพชรสักหม้อหนึ่งครับ

เราก็จัดแจงแล่เอาแต่เนื้อปลา หั่นเป็นก้อนๆ ส่วนก้างนั้นอย่าเพิ่งโยนทิ้ง เก็บไว้ต้มน้ำซุปก่อน

พ้นจากปลากด ก็หน่อไม้ดองแหละครับ ที่ค่อนข้างจะหาอร่อยๆ ยากสักหน่อย ต้องเลือกอ่อนๆ ดองนานจนเปรี้ยวได้ที่ กระบวนการดองสะอาด จนน้ำดองนั้นใส หอม สามารถใช้ปรุงรสเปรี้ยวรสเค็มในหม้อแกงได้ทีเดียว

พริกแกงหม้อนี้ ผมใช้พริกแกงเผ็ดจากตลาดนัดอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ที่จริงเราจะใช้ของที่ไหนก็แล้วแต่ชอบ เพียงแต่ไม่ควรมีส่วนผสมของเครื่องเทศอย่างลูกผักชี ยี่หร่า ลูกกระวาน กานพลู ฯลฯ เดี๋ยวรสชาติจะเตลิดเปิดเปิงเกินไป

อย่างอื่นๆ ก็มีกะทิสด น้ำปลา น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลอ้อย แล้วก็ใบมะกรูด แค่นี้เอง

แม่ครัวเมืองเพชรจะเริ่มแกงอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ผมเริ่มโดยตั้งหม้อหางกะทิจนเดือดบนเตาไฟกลาง เติมเกลือเล็กน้อย เอาก้างปลาใส่ต้มไปราว 20 นาที จึงตักออก เป็นอันได้ซุปก้างปลารสหวานอ่อนๆ มา ทีนี้ก็เติมกะทิอีกนิด กะปิอีกหน่อย กับใส่หน่อไม้พร้อมน้ำดองลงไปเคี่ยวต่อราว 15 นาที กลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้จะโชยขึ้นมา ผสานกลิ่นกะปิจางๆ ที่สุกในน้ำกะทิ แค่นี้ก็ชวนให้ตักไปกินแล้ว แต่ไม่ได้นะครับ เราต้องไปต่อ แข็งใจใส่พริกแกงเผ็ดลงไปเลย

เคี่ยวอีกราว 10 นาที ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ตอนนี้พริกแกงจะสุกหอม พร้อมๆ กับกะทิบางส่วนเริ่มแตกมัน มีมันสีแดงๆ ลอยขึ้นมา ที่เราต้องทำ คือคะเนด้วยสายตาดูว่า ปริมาณเนื้อปลาที่เราจะใส่ในอีกไม่กี่อึดใจนี้ กับน้ำแกงในหม้อ มันได้สัดส่วนพอดีกันหรือเปล่า อันนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการทำกับข้าวให้สนุกน่ะครับ ถ้าเราคิดว่าน้ำแกงน้อยไป ก็เพิ่มกะทิหรือน้ำเปล่าเข้าไปให้ได้ความข้นความใสอย่างที่ชอบ

2

เมื่อแกงเดือดอีกครั้ง ใส่เนื้อปลาลงไปเลยครับ เอาทัพพีกดๆ ให้จมน้ำแกงทั่วถึงกัน ใส่ใบมะกรูดฉีกสักครึ่งหนึ่งก่อน แล้วปล่อยให้เดือดไป 5 นาที เนื้อปลากดแม่น้ำชิ้นใหญ่ๆ แบบนี้ ถึงจะสุกช้าไปบ้าง แต่ไม่เละแน่นอนครับ

พอกลิ่นหอมๆ มันๆ ของเนื้อปลากดโชยแทรกกลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้ขึ้นมา ก็เป็นอันใช้ได้ล่ะครับ ใส่ใบมะกรูดที่เหลือ ชิมรสครั้งสุดท้าย ดูว่าทั้งรส กลิ่น ความข้นของน้ำแกงได้อย่างที่ต้องการแล้ว ก็ยกลง กินได้เลย

หากไม่มีปลากดแม่น้ำโขงตัวโตๆ แบบที่ผมใช้ ก็เลือกปลากดตัวย่อมๆ แทน อาจหั่นครึ่ง หรือใช้ทั้งตัวก็ได้ ปลาตัวเล็กๆ จะได้เปรียบตรงที่เนื้อมันนิ่ม นุ่มละมุนกว่า

ครั้งต่อไป ถ้าได้ปลาเค้า จะมาชวนทำ ปลาเค้าแกงหน่อไม้สดŽ นะครับ

 

การต่อยอดจากสูตรของ ประยูร จรรยาวงษ์

ใครก็ตามที่ชอบทำอาหาร คงเคยรู้สึกเหมือนผมบ้างไม่มากก็น้อย คือรู้สึกว่า สูตรอาหารบางสำรับนั้น มันแสนที่จะลงตัว พอเหมาะพอดี ไม่มีขาดมีเกิน กินครั้งใดก็อร่อย ทั้งอยากกินไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด จนพาลสงสัยว่าคนคิดเขาคิดขึ้นมาได้ตอนไหนอย่างไรเอาเลยทีเดียว

สูตรหนึ่งที่ผมยอมใจมานาน ก็คือ “หมูตุ๋นปลาเค็ม” ของ คุณประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนผู้ยิ่งยง ซึ่งแม้ท่านล่วงลับไปแล้วเมื่อ 27 ปีก่อน ทว่ารสมือของท่านในหมูตุ๋นฯ หม้อนี้ย่อมจะส่งต่อไปยังใครต่อใครอีกมากมายไม่มีวันจบสิ้น คุณประยูรใช้หมูสามชั้นติดหนัง ตุ๋นในหม้อน้ำมัน กับปลาสละเค็ม ตะไคร้ กระเทียม พริกไทย ปรุงด้วยซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรส จนน้ำแห้ง หมูเดือดฉ่า ผิวนอกเกรียมน้ำมันนิดๆ

กลิ่นและรสเปรี้ยวซ่าของตะไคร้ ผสานกับกระเทียมพริกไทยสุกหอมในน้ำมันของชิ้นหมูเกรียม ซึ่งพลอยซึมซับรสเค็มลึกๆ ของปลาเค็มไว้อย่างเต็มที่ แถมมีซีอิ๊วขาวแต่งรสให้มีสีสันขึ้นอีก มันทำให้แม้ผมจะเคยพยายามลองเพิ่ม ลด ดัดแปลงวิธีปรุงและวัตถุดิบบางตัวให้ต่างออกไปบ้าง ทว่าก็ไม่อาจสร้างหมูตุ๋นปลาเค็มหม้อใหม่ที่พอเทียบเคียงสูตรคุณประยูรได้เลยจริงๆ

ผมจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เรา “ขอยืม” มาใช้กับสำรับที่ใกล้เคียงกันน่าจะดี เช่น หมูพะโล้ โดยนึกเชื่อมโยงไปถึงขาหมูพะโล้สูตรหนึ่งซึ่งพ่อครัวใส่ปลาเค็มต้มรวมไปในหม้อด้วย กับนึกถึงพะโล้ที่บ้านเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งแทนที่จะใช้ไข่เป็ดไข่ไก่ เขาก็ใช้ไข่นกกระทาแทน

บางที การที่เราพออธิบายได้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะต้มผัดแกงทอด ฯลฯ ต่อไปนี้ มันมี “ราก” ที่อ้างอิงได้ พูดง่ายๆ คือไม่ได้มั่วนิ่ม ก็ช่วยเรียกความมั่นใจได้ไม่น้อยนะครับ

ถ้ามั่นใจกันแล้ว ก็เริ่มทำ “หมูพะโล้ปลาเค็ม” ของเราเลยดีกว่า ค่อยๆ เตรียมไปทีละอย่างครับ เช่นว่า หั่นหมูเป็นชิ้นใหญ่ๆ ต้มไข่นกกระทาในหม้อน้ำจนสุก ปอกเปลือกไว้

ทอดปลาอินทรีเค็ม แล้วทำใจแข็งไว้ อย่าได้ซอยพริกซอยหอมบีบมะนาวลงไปเป็นอันขาด เดี๋ยวเผลอกินหมดซะก่อน

ทอดเต้าหู้แข็งพอให้ผิวนอกเกรียมๆ

ตัดตะไคร้ ทุบพอแตก หัวกระเทียมปอกเปลือกแค่เกลาๆ เอาปลายมีดจิ้มให้เป็นรูทั้งหัว

เตรียมรากผักชี เกลือ พริกไทยดำบุบ น้ำตาลอ้อย และซีอิ๊วดำหวานดำเค็ม เพื่อ “แปลงร่าง” สูตรของคุณประยูรให้มีความเป็นพะโล้มากขึ้น

ผมเพิ่มพริกขี้หนูแห้งเม็ดใหญ่ เพื่อให้มีรสเผ็ดแหลมแทรกบ้างนิดหน่อยด้วยครับ

พอเตรียมครบแล้ว ก็เอาชิ้นหมูสามชั้นลงผัดในกระทะน้ำมัน เติมเกลือ ซีอิ๊วดำหวานดำเค็ม เพื่อย้อมสีหมูให้คล้ำสวยสักครู่ จึงวางชิ้นปลาเค็มให้เข้าที่เข้าทาง สลับด้วยหัวกระเทียม พริกไทย รากผักชี พริกแห้ง และท่อนตะไคร้ทุบ แล้วเติมน้ำให้ท่วม ทยอยใส่เต้าหู้ทอด ไข่นกกระทา เติมน้ำตาลปรุงรสหวานได้อีกหน่อยถ้าชอบ

ต้มรุมไฟอ่อนไปราว 2 ชั่วโมง คอยเติมน้ำไว้อย่าให้แห้ง กับชิมให้ได้รสเค็มหวานอย่างที่ต้องการ ทั้งหมู ปลาเค็ม เครื่องปรุง และน้ำพะโล้จะค่อยๆ จัดการตัวเองให้รสชาติกลมกลืนกัน โดยที่เราไม่ต้องห่วงเรื่องการปรุงสักเท่าไหร่หรอกครับ

พอหมูสามชั้นเปื่อยนุ่มดีแล้ว มันจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของตะไคร้ เจือรสเค็มลึกๆ และกลิ่นยั่วยวนของปลาเค็มอบอวลไปทั้งหม้อ แถมไข่นกกระทาก็ให้เนื้อสัมผัสกรุบกรอบที่แปลกออกไป มีรสเผ็ดพริกแซมแทรกเล็กน้อย เรียกว่าจิตวิญญาณของกับข้าวหลายจานดูจะมารวมกันอยู่ที่นี่

พะโล้ของเราหม้อนี้ ถึงจะแปลก แต่ย่อมอร่อยถูกปากแน่นอนครับ

3
4
ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

ผมจำได้ว่า ก่อนที่ผลไม้อย่างสละจะมาฮิตติดอันดับอย่างทุกวันนี้ เราเคยมี ระกำ (Salacca) กินกันทั่วไป

ถ้าอยากกินแบบเป็นผลไม้ ก็ต้องเสาะหา “ระกำหวาน” กัน เพราะระกำปกตินั้นรสเปรี้ยวจัด กลิ่นหอม เหมาะแก่การปรุงกับข้าวมากๆ

เราจะพบสูตรอาหารที่เข้าระกำในตำราโบราณหลายอย่าง เช่น ข้าวผัดระกำ ตลอดจนน้ำพริกครกต่างๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยเฉพาะแกงคั่วที่รัชกาลที่ 2 รจนาไว้ในกาพย์เห่เรือของพระองค์ บทที่ว่า “เหลือรู้หมูป่าต้ม แกงคั่วส้มใส่ระกำฯ” ที่แค่อ่านแล้วจินตนาการรสชาติตาม ก็อร่อยจะแย่แล้วล่ะครับ

เผลอไม่ทันไร บ้านเมืองก็เต็มไปด้วยสละ ขณะที่ระกำเปรี้ยวกลับหายากมากๆ ขนาดในตลาดเมืองจันทบุรีที่เคยมีขายแน่ๆ เดี๋ยวนี้ผมพบว่าก็ชักไม่ค่อยแน่ซะแล้วสิ

อาหารย่อมมีอายุของมัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตัวแปรมากมาย ทั้งรสชาติ (ที่อาจไม่ถูกลิ้นคนรุ่นใหม่) ความสนิทใจ (วิธีปรุงอาจดูไม่ “สะอาด” พอ) ไหนจะปัญหาเรื่องวัตถุดิบ (ของที่เคยมีเริ่มสาบสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ) อาหารที่มีระกำเป็นส่วนประกอบก็เข้าข่ายประการหลังนี้เอง

อย่างไรก็ดี การที่ผมยังไปได้ระกำเปรี้ยวจี๊ดมาจากตลาดคลองด่าน สมุทรปราการ เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ก็แสดงว่าโอกาสที่จะรำลึกความหลัง ทั้งแนะนำท้าทายให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานลองกินของอร่อยสำรับโบราณๆ ยังพอมีอยู่ คือไอ้การที่คนชอบกินระกำไปได้ระกำเปรี้ยวๆ มานี่มันคือสวรรค์จริงๆ นะครับ น้องสาวที่คุ้นเคยกันคนหนึ่ง เธอแค่ทำน้ำปลาพริกขี้หนูหอมแดง ชักน้ำมะนาวออก ใส่เนื้อระกำเปรี้ยวฝานซอยเยอะๆ เข้าไปแทน แค่นั้นก็สามารถกินไข่ต้มยางมะตูม ปลาทูนึ่งทอด กับข้าวสวยร้อนๆ ได้เป็นชามๆ อย่างชนิดน่าตกอกตกใจ

ระกำเป็นไม้ป่าชายเลน ป่าชุ่มชื้นๆ ดังนั้น จึงอาจยังพอมีบ้างแถบชายทะเลภาคตะวันออก ป่าพรุภาคกลาง และปักษ์ใต้ โดยเฉพาะย่านปักษ์ใต้นั้น อาจโชคดีได้ “หลุมพี” ลูกไม้ตระกูลใกล้เคียงกัน รสเปรี้ยวจัดๆ มากินให้แปลกลิ้นอีกด้วยน่ะครับ

เปลือกระกำแม้มีหนามแข็งๆ เล็กๆ แต่ก็ปอกง่าย เราเอามีดคมๆ ฝานเนื้อออกจากเมล็ดเป็นริ้วๆ แค่นี้ก็เอาไปทำกับข้าวกินได้แล้ว ผมเลือกรำลึกความหลังด้วยสำรับง่ายๆ พื้นๆ ก็คือ “น้ำพริกระกำ” ครับ ได้แก่น้ำพริกกะปิที่เราใช้รสเปรี้ยวของระกำแทนมะนาวหรือของเปรี้ยวอื่นใดทั้งหมดนั่นแหละ

ฝานเนื้อระกำไว้แล้วใช่ไหมครับ งั้นก็เริ่มบรรเลงกันเลย

ตำกระเทียมไทยกลีบเล็ก หอมแดง เกลือ กะปิดีๆ ที่เราชอบกิน กับพริกขี้หนูสวนสีเขียวสีแดงสัก 4-5 เม็ดในครกหินจนละเอียด ให้เป็นโครงหลักของน้ำพริกครกนี้เสียก่อน

ทีนี้ อยากกินเผ็ดมากเผ็ดน้อยล่ะครับ ถ้าชอบเผ็ด ก็เพิ่มพริกขี้หนูลงตำอีกให้เกือบๆ ละเอียด ควักน้ำตาลปี๊บใส่สักหน่อยหนึ่ง ตามด้วยเนื้อระกำ เอาสากบดเคล้า ตำขยอกๆ จนเข้ากันกับเนื้อน้ำพริก แต่ไม่ต้องให้แหลกมากนะครับ เติมน้ำปลา และน้ำเปล่า เพื่อให้มีความข้นใสตามต้องการ

การเติมน้ำนี้ ยังเป็นเคล็ดลับการ “ดึงกลิ่น” เครื่องน้ำพริกในครกให้ฉุนหอมขึ้นมาด้วย

 

2

ถามว่ามะนาวสักซีกก็จะไม่บีบเจียวหรือ? ไม่ต้องครับ หากว่าระกำของเราเปรี้ยวพอ จงอย่าให้รสเปรี้ยวอื่นใดแม้แต่น้อยนิดมากลบเบียดรสและกลิ่นอันแสนเสน่ห์ของระกำเลยเชียว

เนื้อระกำนิ่มๆ ยังทำให้น้ำพริกครกนี้เป็นน้ำพริกผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสเนียนมากๆ ครับ ผมกินแกล้มปลาทูนึ่งอบในกระทะเคลือบ จนกระทั่งเกรียมหอมดี แล้วก็ผักสด อันมีมะเขือเปราะ ดอกไพล ยอดกระถิน ยอดมะตูมแขก ใบมันปู ใบเหมียง ใบมะกรูดอ่อน เม็ดสะตอดิบ นับเป็นการกินผักสดอย่างรื่นรมย์อีกครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ

ใครที่ยังไม่เคยกิน อยากให้ลองลิ้มชิมระกำเปรี้ยวดูครับ เผื่อจะติดใจจนช่วยกันเรียกร้อง กดดัน ตลอดจนพยายามเที่ยวเสาะแสวงหามากิน จนมันกลับมามีขายทั่วไปอีกครั้งหนึ่งน่ะครับ

ที่มาเสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียนกฤช เหลือลมัย

จากคอลัมน์ กฤช เหลือลมัย นสพ.มติชน

มีคนเล่าให้ฟังอย่างชวนน้ำลายสอ ว่าได้ไปกิน หมูหวาน ที่ปักษ์ใต้ เป็นหมูหวานที่ “หวาน” มาก แต่กินโดยราดน้ำมะนาวบีบสด ซึ่งแช่หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย จนเปรี้ยวเผ็ดจี๊ดๆ ลงไปจนชุ่มโชก เลยทำให้รสเปรี้ยวเผ็ดนี้ไปตัดรสหวานจัดและความมันของหมูหวานได้พอดิบพอดี ชนิดที่ว่ากลับมาแล้วก็ยังลืมรสนั้นไม่ลงเอาเลย

ได้ยินแบบนี้เข้า ก็เลยจะต้องลองทำหมูหวานกินสักหน่อยล่ะครับผม

คนชอบกินอาหารไทยภาคกลางคงนึกออกว่า เราจะพบหมูหวานได้ไม่ยาก เวลาสั่งข้าวคลุกกะปิมากิน หรือใครไปงานเลี้ยงตามโรงแรม ที่เขาชอบเลี้ยงน้ำพริกลงเรือเพื่อให้ดูเป็นสำรับไทยๆ นั้น ก็จะต้องมีหมูหวานไว้ราดหน้าทุกครั้งไป ตามร้านข้าวแกงยิ่งต้องมีแทบทุกร้าน เพราะมันเอาไว้กินตัดเผ็ดตัดเค็ม ตลอดจนคอยเติมรสหวานให้กับข้าวอื่นๆ ในลักษณะของวัฒนธรรมการกินแนมแบบครัวไทยได้ดี

การที่เป็นของยอดนิยมแบบนี้ มันจึงมีหลายสูตรด้วยกัน ลองสืบค้นตำรากับข้าวดูเถิดครับ จะมีทั้งแบบที่หั่นยาว หั่นแบน หั่นชิ้นลูกเต๋า ใส่ได้ตั้งแต่น้ำปลา ซีอิ๊วดำหวานดำเค็ม เต้าเจี้ยวบด บ้างใส่หอมแดงซอย แต่บ้างก็ชอบกลิ่นกระเทียมพริกไทยรากผักชี ฯลฯ เรียกว่าทำยังไงก็ไม่มีทาง “ผิดสูตร” ไปได้หรอกครับ แค่ให้เป็นเนื้อหมูมันหมู มีรสหวานนำเค็มตามเป็นหลัก อยากใส่อะไรที่เราชอบเป็นการปรุงกลิ่น ก็ปรับใส่ได้เลย

วิธีของผมนั้นง่ายมาก คือเราก็ซื้อหมูสามชั้นมา หั่นท่อนสั้นๆ เอาลงต้มในหม้อน้ำเดือดที่ใส่เกลือหน่อยหนึ่ง นานราว 5 นาที ก็ตักขึ้นมาทิ้งไว้ให้เย็น เฉือนส่วนหนังออก แล้วหั่นอีกทีเป็นชิ้นค่อนข้างหนา เอาใส่กลับลงไปต้มต่อใช้ไฟอ่อนๆ

พอดีผมไปได้ข่าแก่พันธุ์พื้นเมือง เนื้อแข็งๆ แง่งใหญ่ๆ กลิ่นฉุนซ่ามากๆ มา เลยอยากให้หมูหวานหม้อนี้มีกลิ่นข่าหอมๆ แบบที่คนจีนมักชอบเอาข่าใส่ปรุงในสำรับอาหารหลายอย่าง เช่นว่า ดองผักกาดเขียวก็ใส่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อสูตรโบราณๆ นั้นแทบจะมีแต่ข่ากับท่อนอ้อยเลยทีเดียว ขนาดน้ำส้มพริกดองปรุงซุปเนื้อวัว เขายังตำข่าแก่ใส่ไปด้วย ผมเลยเอาบ้าง ทุบๆ ใส่หม้อต้มหมูไปหลายชิ้นทีเดียว

ทีนี้หันมาตำกระเทียม พริกไทย รากผักชีให้ละเอียด เอาลงผัดในกระทะ ใส่น้ำมันนิดเดียว สุกหอมดีแล้วตักใส่หม้อหมู

ควักน้ำตาลปี๊บใส่ลงคั่วในกระทะใบเดิม จนกระทั่งละลายเหลวหนืดเป็นสีน้ำตาลไหม้ กวาดใส่หม้อหมูตามไป

ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วดำเค็ม

จากนี้ จะไปทำกิจธุระอะไรก่อนก็ได้ เพราะต้องต้มไปจนชิ้นหมูสามชั้นของเรานี้เปื่อยนุ่ม สีน้ำตาลแดงจับส่วนเนื้อหมู และมันหมูนั้นเล่า ก็ใสวาววับ รสชาติความหวาน เค็ม หอมกลิ่นข่าและเครื่องตำซึมแทรกกำซาบไปทั่วหมูทุกชิ้น อย่างน้อยก็ราวๆ สองชั่วโมงแหละครับ แค่ต้องคอยเติมน้ำบ้าง ถ้าเห็นว่าแห้งนัก

เมื่อได้ที่ น้ำจะข้นงวด กลิ่นหอมของน้ำตาลไหม้ลอยขึ้นมาเตะจมูก เป็นอันใช้ได้ล่ะครับ

หุงข้าวแล้วใช่ไหม? งั้นก็ซอยหอม (ผมใช้หอมแดงอินทรีย์จากราษีไศล ศรีสระเกษ) พริกขี้หนูสวนแบบละเอียดๆ ใส่ถ้วย บีบมะนาวตามไปให้ชุ่มท่วมเลยนะครับ ขยอกน้ำปลาดีๆ ผสมแค่นิดเดียวพอ

ด้วยของง่ายๆ แค่นี้แหละ ก็จะทำให้อิ่มแปล้ไปได้หนึ่งมื้อ เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี จะเอาไปกินแนมกับกับข้าวอย่างอื่นก็แสนง่ายดาย ถ้ามีผักสด อย่างแตงกวา ถั่วฝักยาว หรือก้านเซลเลอรี่กินแนมด้วยจะสดชื่นมาก

แถมใครจะลองเอาหมูหวานไปทำอะไรต่อ อย่างเช่นใส่ผัดผักไฟแดง ปรุงรสในยำผักก้านกรอบๆ หรือโรยหน้าก๋วยเตี๋ยวแห้งบางชาม ก็น่าจะไม่เลวหรอกครับ